"ชัยวุฒิ" ไหว้สิ่งศักสิทธิ์ ประจำกระทรวงดีอีเอสทำงานอย่างเป็นทางการวันแรก พร้อมมอบ 5 นโยบายผู้บริหารหน่วยงานกระทรวง กำชับ ทำงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เน้นประโยชน์ถึงประชาชนโดยตรง ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ป้องกันภัยทางโซเชียล
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวภายหลังเข้าสักการะศาลท้าวมหาพรหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประจำศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงดีอีเอส ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) อย่างเป็นทางการ โดยมีคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเข้าร่วม ว่า
งานที่จะทำก็คงเป็นงานตามนโยบายของกระทรวงดีอีเอสที่ดำเนินการอยู่แล้ว และมีสิ่งที่นายกรัฐมนตรีฝากมาให้ช่วยดำเนินการ ตนเองไม่ใช่นักเทคนิคและไม่ใช่นักกฎหมาย มีหลายสิ่งที่ไม่รู้ และรู้บางสิ่งที่ผู้บริหารอาจจะไม่รู้โดยเฉพาะเรื่องการเมือง จึงขอให้ทุกท่านช่วยกันทำงาน โดยพยายามให้ทุกอย่างลงไปถึงประชาชน เน้นการช่วยกันพัฒนาประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้แข่งขันได้กับต่างประเทศ และมีสิ่งใดที่จะต้องการผลักดันก็ขอให้ส่งเสริมให้เป็นรูปธรรม ขอให้ทุกคนทำงานให้เต็มที่ ขอให้ทำเพื่อพี่น้องประชาชน และขอให้ทำทุกอย่างให้ถูกกฎหมาย ไม่อยากให้มีการฟ้องร้องหรือเกิดความเสียหายกับรัฐบาล
สำหรับกรอบนโยบายในการขับเคลื่อนเบื้องต้นจะเน้นใน 5 เรื่องคือ
1.) การส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล อย่างทั่วถึง แพร่หลาย เป็นธรรม ในทุกมิติ
2.) การส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล อย่างแพร่หลาย ขจัดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ส่งเสริมการพัฒนา e-service ภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนเข้ารับบริการภาครัฐได้โดยสะดวก รวดเร็ว ไม่จำกัดสถานที่ เช่น การร่วมกับสรรพากรในการออกมาตรการทางภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบธุรกิจ, ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการอำนวยความสะดวกด้านใบอนุญาตทำงาน วีซ่า และการพักอาศัยสำหรับ digital talent (Visa and work permit for digital talent), การพัฒนาตลาดนวัตกรรมด้วยบัญชีนวัตกรรมดิจิทัล, การส่งเสริมให้เกิดระบบ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนในการใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน (Digital Identification) เป็นต้น
3.) จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จาก 5G การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และการสนับสนุนให้ประชาชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ใน internet
4.) การพัฒนาและบังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเข้าสู่โลกดิจิทัล (Trusted digital ecosystem) โดยเฉพาะเรื่อง การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
5.) การปกป้องคุ้มครองประชาชนจากการใช้ สื่อ social media และ internet ในทางมิชอบ