นายกประยุทธ์ฯ หนุน ปลูกไม้มีค่า ใช้เป็นหลักประกันกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ และช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มรายได้
นายกรัฐมนตรี ชวนคนไทยร่วมปลูกไม้มีค่า เพื่อใช้เป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน อีกทั้งช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเชิญชวนปลูกป่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี ค.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ปี ค.ศ. 2065 มอบหมายกรมป่าไม้แจกกล้าไม้เต็มอัตรา พร้อมย้ำรับได้เลยที่ศูนย์เพาะชำกล้าไม้ใกล้บ้าน
ตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ควบคู่กับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการผลักดันให้มีทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ให้เป็นไปตามเป้าหมายนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี พ.ศ. 2580 อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงแสดงเจตนารมณ์ของประเทศไทย ต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) ที่จะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และทุกวิถีทาง ที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Greenhouse Gas Emission ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการสนองตามนโยบายดังกล่าว รณรงค์ส่งเสริมปลูกต้นไม้ยืนต้นมูลค่าสูงในที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง เพิ่มป่า เพิ่มรายได้ กรมป่าไม้ได้จัดทำเมนูส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า จำนวน 5 โครงการ โดยยืนยันว่าไม้ที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ไม่เป็นไม้หวงห้าม ตัดแปรรูป ขายได้ พร้อมจัดบริการพิเศษ ออกแนวทางในการสำแดง และออกหนังสือรับรองไม้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนไว้แล้ว
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สนับสนุนให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการเร่งรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ช่วยป้องกันและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ลดมลภาวะเป็นพิษจากฝุ่นและหมอกควัน อีกทั้งเพื่อเป็นการออมและสร้างรายได้ เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ด้วยสามารถนำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักค้ำประกันกับสถาบันการเงินได้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศกฎกระทรวงตามมาตรา 8(6) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 และสอดรับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดให้มีพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ร้อยละ 15 ของพื้นที่ประเทศ
รมว.ทส. กล่าวต่อไปว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้กรมป่าไม้ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการส่งเสริมการปลูกต้นไม้เศรษฐกิจ ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กรมป่าไม้มีโครงการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ จำนวน 5 โครงการ ที่พร้อมให้ผู้สนใจได้เลือกเข้าร่วม เพื่อให้ตรงตามความต้องการ ประกอบด้วย หนึ่ง โครงการส่งเสริมไม้โตเร็วเพื่ออุตสาหกรรม สนับสนุนเงินอุดหนุน 3,000 บาทต่อไร่ โดยแบ่งจ่ายภายใน 3 ปี แบ่งเป็นปีที่ 1 : 1,500 บาท ปีที่ 2 : 800 บาท ปีที่ 3 : 700 บาท พร้อมสนับสนุนกล้าไม้ 300 ต้นต่อไร่ พื้นที่ 1 - 30 ไร่ ตามบัญชีชนิดไม้ 13 ชนิด เช่น ไม้ยูคาลิปตัส ไผ่ทุกชนิด สอง โครงการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจในพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้น 3 , 4 และ 5 ก่อนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 (คทช.) สนับสนุนเงินอุดหนุน 3,000 บาทต่อไร่ โดยแบ่งจ่ายภายใน 3 ปี แบ่งเป็นปีที่ 1 : 1,500 บาท ปีที่ 2 : 800 บาท ปีที่ 3 : 700 บาท และสนับสนุนกล้าไม้ 225 ต้นต่อไร่ ตามบัญชีชนิดไม้ 51 ชนิด สาม โครงการสนับสนุนการปลูกไม้เศรษฐกิจ สนับสนุนเงินอุดหนุน 1,000 บาทต่อไร่ เมื่อมีการปลูกต้นไม้ครบตามจำนวน ไม่น้อยกว่า 100 ต้นต่อไร่ พื้นที่ 1 - 30 ไร่ ตามบัญชีชนิดไม้ 38 ชนิด เช่น สัก ประดู่ป่า สี่ โครงการส่งเสริมการปลูกไม้โตเร็วเพื่อพลังงานทดแทน สนับสนุนกล้าไม้ 800 ต้นต่อไร่ พื้นที่ 1 - 30 ไร่ ตามบัญชีชนิดไม้ 6 ชนิด เช่น ไม้ยูคาลิปตัส กระถินยักษ์ และ ห้า โครงการส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจในพื้นที่ยางพาราและพื้นที่เกษตรกรรมสนับสนุนกล้าไม้ 50 ต้นต่อไร่ พื้นที่ 1 - 30 ไร่ เช่น สัก ประดู่ป่า ตะเคียนทอง
