Wednesday, 9 July 2025
NewsFeed

เชื่อมสองเจริญ ‘สะพานกรุงเทพ’ และ ‘สะพานพระราม ๓’ สะพานเชื่อม ‘เจริญกรุง - เจริญนคร’

เจริญกรุง เจริญนคร
ชื่อถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งกรุงเทพและฝั่งธนบุรี

ถนนเจริญกรุงสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔
ถนนเจริญนครสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๘

ภาพนี้มองไม่เห็นถนน
แต่มองเห็นตึกรามบ้านช่องบนถนนเจริญกรุง ถนนเจริญนคร 
และแม่น้ำเจ้าพระยา

มองเห็นสะพานกรุงเทพและสะพานพระราม ๓ 
เชื่อมสองเจริญ

และเป็นสะพานที่ขึ้นทีไร
ก็อดใจที่จะหันเหลียวมอง เจริญกรุง เจริญนคร อันตื่นตาตื่นใจ ไม่ได้


ที่มา : https://www.facebook.com/photo/?fbid=510465683770428&set=a.242244413925891
 

นายกฯ นั่งหัวโต๊ะบอร์ดดีอี ย้ำกำกับดูแลความปลอดภัยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและดิจิทัล เผยสถิติ คนไทยใช้เน็ตกว่า 80%

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วม 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อที่ประชุมว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกยุคใหม่ ตามเทรนด์ของเทคโนโลยีและดิจิทัล ขณะที่ปัจจุบันระบบกำกับดูแลเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลกระจายอยู่ภายใต้หลายหน่วยงาน ดังนั้น จำเป็นที่ต้องมีการจัดการบูรณาการของทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถกำหนดมาตรการ ปรับปรุงกฎหมาย และมีการจัดทำกฎหมายที่เข้มแข็ง เพื่อกำกับดูแลด้านความปลอดภัยในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและดิจิทัล 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงใยเรื่องความปลอดภัย ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล และการทำธุรกรรมออนไลน์ เพราะมีทั้งโอกาสและความเสี่ยงคู่กันเสมอ ภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล ผู้ประกอบการจึงต้องช่วยกันดูแล ต้องระวังตั้งแต่วันนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายทั้งระบบ

น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับมติที่ประชุมที่สำคัญ ได้แก่ 1.รับทราบรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินงานตามแนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สิน หลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ล่าสุด บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ได้แจ้งความประสงค์ในการเช่าพื้นที่จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย สำหรับจัดตั้งสถานีดาวเทียมอ้างอิงสัญญาณ RFAT เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยอยู่ในขั้นตอนขออนุมัติลงนามในข้อตกลงเช่าพื้นที่ ส่วนการเช่าพื้นที่ ณ สถานีดาวเทียมไทยคม จ.นนทบุรี กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ ในส่วนของกรณีข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 ระหว่าง บมจ.ไทยคม และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (ผู้เรียกร้อง) ซึ่งเรียกร้องว่าไทยคม 7 และ 8 ไม่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน กับกระทรวงดิจิทัลฯ (ผู้คัดค้าน) ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการ โดยได้สืบพยานฝ่ายผู้เรียกร้องไปแล้วจำนวน 4 นัด เหลือการสืบพยานอีก 2 นัด ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ และหลังจากนั้นจะเป็นการสืบพยานฝ่ายผู้คัดค้านในเดือนมิถุนายน (ทั้งสิ้น 4 นัด)

2.รับทราบผลการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) โดยได้มีการอนุมัติโครงการตามมาตรา 26 (6) สำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทย ในส่วนของการต่อยอดการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G จำนวน 9 โครงการ รวมวงเงินกว่า 345 ล้านบาท รวมถึงเห็นชอบการเปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อรับการส่งเสริม สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือจากกองทุน ประจำปี 2565

3.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาค ขณะนี้คืบหน้าร้อยละ 90 ของระยะการดำเนินการทั้งโครงการ การจัดหาอุปกรณ์เพิ่มความจุโครงการโครงข่ายเชื่อมโยงไปยังชายแดนกับกัมพูชา ลาวและเมียนมา ขนาดความจุ 2300 Gbps ติดตั้งอุปกรณ์จำนวน 151 สถานีพร้อมระบบต่างๆที่จำเป็นเสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการร่วมก่อสร้างโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศเส้นใหม่ (ASIA Direct Cable: ADC) ร่วมกับสมาชิก 6 ประเทศได้แก่ ไทย จีน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และเวียดนาม

พาณิชย์ยันยังไม่ไฟเขียวขึ้นราคาสินค้า

ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมการค้าภายในได้มีการติดตามสถานการณ์ราคาและต้นทุนของสินค้าอุปโภคบริโภคมาโดยตลอด โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ หลังจากกรณีที่มีข่าวว่าสินค้าอุปโภคบริโภคบางชนิด เช่น ซอสปรุงรส และผงซักฟอก (ผลิตภัณฑ์ซักล้าง) ปรับขึ้นราคา โดยขณะนี้ยังไม่มีการอนุญาตให้ปรับขึ้นราคาสินค้าแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ต้นสัปดาห์หน้า กรมฯ จะเรียกผู้ผลิตสินค้ากลุ่มซอสปรุงรสและผงซักฟอก (ผลิตภัณฑ์ซักล้าง) เพื่อกำชับในเรื่องราคา รวมทั้งจะประชุมร่วมกับห้างค้าส่งค้าปลีก เพื่อติดตามสถานการณ์ราคาและปริมาณสินค้า และให้มีการเตรียมสตอกสินค้าให้เพียงพอต่อการจำหน่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ด้วย

'นายกฯ' แนะ!! ดูหนัง 'ล่าราชาคริปโต' ใน​ Netflix จะได้เข้าใจ 'วิกฤติ-โอกาส-ความเสี่ยงสูง'​

“บิ๊กตู่” ชวนดู Netflix เรื่อง Trust No One - ล่าราชาคริปโต ขอให้บอกมาเรื่องที่ยังไม่ดีรัฐบาลพร้อมแก้ไข ฟังปชช. ชี้หากปชช. ตอบรับทำได้หมด แต่ขอเข้าใจระบบการบริหารจัดการมันไม่ง่ายพร้อมขออย่าขยายสิ่งที่ไม่จริง ทำสับสนอลหม่านขึ้นไปอีก

1 เม.ย. 65 - ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 ว่า วันนี้เป็นการประชุมเรื่องดิจิทัล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทยที่จะพัฒนาให้เกิดความต่อเนื่อง ซึ่งเราได้เริ่มต้นมาหลายปีแล้ว วันนี้หากดูจากสถิติต่างๆ คนไทยเข้าถึงการใช้อินเทอร์เน็ต 80 กว่าเปอร์เซ็นต์สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของโลก ซึ่งตนได้เรียนรัฐมนตรีไปว่าที่เข้าถึงดิจิทัลเยอะ ได้ประโยชน์อะไรจากตรงนี้หรือไม่ อย่างน้อยก็ทำให้เกิดความรู้ รายได้ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นมากกว่าไปใช้ในเรื่องที่ไม่สร้างสรรค์

นายกฯ กล่าวว่า นี่คือการพัฒนา เราต้องหาให้เจอ หาเรื่องที่ดีอยู่แล้ว ที่มันดีขึ้นให้เจอเรื่องที่ยังไม่ดีไม่เรียบร้อยก็บอกมา รัฐบาลและหน่วยงานก็พร้อมที่จะแก้ไข เราต้องทำงานหลายอย่างไปด้วยกัน ขอให้กลับไปดูว่าวันนี้มีอะไรดีขึ้นหรือยัง หลายคนอาจจะยังไม่พอใจมันน่าจะดีกว่านี้ แต่ถ้าทุกคนเข้าไปสู่ในระบบการบริหารจัดการมันไม่ง่ายนักหรอก สิ่งสำคัญที่สุดทุกกิจกรรมมันมีห่วงโซ่ มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมากในแต่ละเรื่องจะทำอะไรก็แล้วแต่ต้องฟังประชาชน ถ้าประชาชนยอมรับ ตอบรับ สามารถทำได้หมด ก็จะเหลือปัญหาอย่างเดียวคือการจัดหางบประมาณให้เพียงพอ 

'อังกฤษ'​ อึ้ง!! หลังชวนอินเดียร่วมลดพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย แต่ถูกสวน!! 'ยุโรปซื้อน้ำมันรัสเซียมากกว่าอินเดียอีก'​

เมื่อ 31 มี.ค. 65 สื่ออินเดียได้รายงานข่าวการไปเยือนลอนดอนอย่างเป็นทางการของ เอส. ไจแชนการ์ รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย เพื่อประชุมหารือกับ ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศของฝั่งอังกฤษ ซึ่งประเด็นที่เป็นไฮไลต์ของการพูดคุยครั้งนี้ หนีไม่พ้นเรื่องมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของประเทศยุโรป จากกรณีการรุกรานยูเครน

โดยรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงของอังกฤษได้เน้นย้ำถึงเป้าหมายของอังกฤษที่จะลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเป็นการตอบโต้การกระทำของรัสเซีย และยังเป็นข้อตกลงร่วมกันในกลุ่มประเทศยุโรปเพื่อแสดงออกว่าจะยืนเคียงข้างชาวยูเครน

ลิซ ทรัสส์ กล่าวกับ ไจแชนการ์ว่า ถึงแม้ว่าอังกฤษไม่อาจบังคับให้ประเทศอื่นทำตามเป้าหมายของเรา และอินเดียก็เป็นประเทศเอกราช แต่ทางอังกฤษก็รู้ว่ารัสเซียได้เสนอขายน้ำมันให้รัฐบาลอินเดียในราคาพิเศษ จึงได้ตั้งคำถามว่า ทำไมอินเดียถึงยังสนใจรับข้อเสนอของรัสเซีย ประเทศที่ใช้กำลังทหารรุกรานประเทศอื่นอยู่อีก

แต่ทว่าสิ่งที่นาย เอส. ไจแชนการ์ ตอบกลับรัฐมนตรีหญิงของอังกฤษกลับมีประเด็นที่น่าสนใจ โดยเขามองว่า การรวมกลุ่มกันคว่ำบาตรรัสเซียดูเป็นเหมือนแคมเปญของทางฝั่งยุโรปมากกว่า และหากเทียบปริมาณการพึ่งพาน้ำมันของทางฝั่งยุโรปกับอินเดียนั้นก็มีความแตกต่างกันอย่างมาก 

เพราะที่ผ่านมา แหล่งน้ำมันที่อินเดียนำเข้ามาเกือบทั้งหมด มาจากประเทศทางตะวันออกกลาง มีประมาณ 7.5-8% นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา แล้วจึงตามด้วยรัสเซีย ซึ่งบางครั้งน้อยกว่า 1% เสียอีก 

แต่ในทางกลับกัน ประเทศทางฝั่งยุโรปต่างหากที่พึ่งพาพลังงานน้ำมันจากรัสเซียเป็นส่วนใหญ่ มิหนำซ้ำ ประเทศในยุโรปยังนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเพิ่มขึ้นอีกถึง 15% ในเดือนมีนาคมปีนี้ ซึ่งมากกว่าตอนก่อนเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเสียอีก

'พระครูแจ้'​ จัดให้!! เจ้าอาวาสวัดดังบางพลี จัดพิธีอุปสมบทหมู่ 24 รูป ถวายเป็นพระราชกุศล นายตำรวจระดับสูงร่วมบรรพชา

ณ วัดบางพลีใหญ่กลาง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ท่าน พระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ (พระครูแจ้) เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง ได้เมตตาเป็นประธานอุปถัมภ์ จัดพิธีบรรพชาอุปสมบทหมู่ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2 เมษายน

นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าจะได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการบำเพ็ญคุณงามความดี ถวายเป็นพระราชกุศล แด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ 1-2 เมษายน 2565 โดยมีนายตำรวจระดับสูงตลอดจนสื่อมวลชนร่วมบรรพชาอุปสมบทหมู่ในครั้งนี้ จำนวน 24 รูป

เกาะยอในความทรงจำ (๑) 

นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นักเขียนเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงความทรงจำเมื่อครั้งทำงานเก็บข้อมูลชีวิตชาวบ้านที่เกาะยอ จังหวัดสงขลา ว่า 

ดิฉันเข้าไปทำงานเก็บข้อมูลชีวิตชาวบ้านรอบทะเลสาบสงขลากับอ.เขมานันทะ น้องกิ๋ว-คุณปรัศนันท์ กังศศิเทียม และทีมงานคนอื่นๆ เป็นครั้งแรกเมื่อกลางปีพ.ศ. ๒๕๔๒ เขียนเป็นหนังสือ “ทะเลสาบสงขลา” และ “อนุทินทะเลสาบ” ให้กับ สำนักพิมพ์สุขภาพใจ แล้วหลังจากนั้น ในปีพ.ศ. ๒๕๔๔ ดิฉันก็ยังได้เข้าไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตผู้คนและวัฒนธรรมชาวบ้าน ที่เกาะยอ เมืองสงขลา ให้กลุ่มบริษัทแปลน เป็นช่วงที่ดิฉันและน้องกิ๋วพักอยู่สงขลาหลายเดือน นับเป็นความทรงจำที่ยิ้มได้เสมอเมื่อรำลึกถึง

หลังจากนั้น...นานครั้ง ดิฉันถึงมีโอกาสเข้าไปที่เกาะยออีกบ้าง หลักๆ คือไปที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เกาะยอ ที่จำได้และถ่ายภาพเก็บไว้ก็คือช่วงปีพ.ศ. ๒๕๔๘ และปีพ.ศ. ๒๕๕๙

มีเรื่องเกี่ยวกับเกาะยอ ที่ดิฉันเขียนไว้ในหนังสือ “อนุทินทะเลสาบ : บันทึกจากแผ่นดินของปู่-ทะเลของย่า” พิมพ์เผยแพร่ในปีพ.ศ. ๒๕๔๔ พลิกดูวันนี้มีหลายเรื่องที่เห็นว่ามีค่า สำหรับคนเกาะยอ-สงขลา รุ่นหลัง จึงนำมาขึ้นเพจ ให้ได้อ่านกัน

สำหรับภาพประกอบนั้น ดิฉันตั้งใจนำมาให้ได้ดูเปรียบเทียบ ๒ ช่วงในห้วงเวลาที่เปลี่ยนไป ภาพเก่านั้นถ่ายไว้เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๘ ภาพสีสดใสบันทึกไว้เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๙ 
ซึ่งบัดนี้ คงเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ในช่วงปัจจุบัน
ดูภาพ และอ่านเรื่องเกาะยอกันนะ
#เกาะยอ

"ผ้าดำดี ลูกสาวสวย" คือคำพังเพยที่ชาวสงขลาระบุกันถึงภาพของเกาะยอในวันวาน ผ้าที่ทอขึ้นจาก "ด้ายกุหลี" หรือเส้นไหมละเอียดสีดำ ด้วยฝีมือของสาวเกาะยอ ตาคม ผิวขาวนวล ตามเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนของบรรพบุรุษ ได้สร้างชื่อให้เกาะยอเป็นสถานที่อันโดดเด่นในบริเวณปากอ่าวทะเลสาบสงขลา ทั้งยังเป็นแหล่งของผลไม้อร่อยนานาพันธุ์ กระเบื้องดินเผามุงหลังคา และมาตุภูมิของอิงอร-นักเขียนผู้ใช้สำนวนภาษาประดุจปลายปากกาจุ่มหยาดน้ำผึ้ง

ธานี ไพโรจน์ภักดิ์ ชาวเกาะยอ กำนันวัย ๖๗ ปี เล่าว่า ๒-๓ ชั่วอายุคนก่อนนี้ คนเกาะยอส่วนใหญ่เป็นจีนฮกเกี้ยนอพยพมาจาก ต.น้ำน้อย อ.หาดใหญ่ และ ต.ทุ่งหวัง อ.เมืองสงขลา จีนสมัยนั้นแล่นเรือใบมาเห็นเกาะแห่งนี้ร่มรื่นน่าอยู่ มีที่ว่างไร้เจ้าของมากมาย จึงชวนกันมาตั้งรกราก พบว่ามีต้นยอขึ้นอยู่มาก ถึงเรียกกันว่า "เกาะยอ" มาแต่บัดนั้น

จีนเริ่มต้นชุมชนบนเกาะขึ้นที่บ้านนาถิ่น ได้เมียคนไทย พากันทำสวน ปลูกฝ้าย ปลูกครามย้อมผ้าตามถนัด สาวเกาะยอทอผ้าทุกครัวเรือน คิดค้นลายผ้าขึ้นอย่างมีแบบฉบับของตนเอง พื้นดำ น้ำเงินขัดลายยกดอกเป็นลายราชวัตร ลายลูกแก้ว ลายข้าวหลามตัด ลายดอกพริก ลายดอกก้านแย่ง ฯลฯ ทอทั้งผ้าพื้นสีเขียว สีน้ำเงิน เป็นโสร่งทั้งของหญิงและชาย จากฝ้ายเป็นด้ายกุหลีที่ละเอียดกว่าเส้นไหม จนมาถึงไหมเทียมโทเรในปัจจุบัน

ลักษณะโดดเด่นของผ้าเกาะยอก็คือ ความหนาคงทน สวยด้วยลายเฉพาะถิ่น ส่งขายไกลทั่วเมืองไทย เดี๋ยวนี้สาวเกาะยอยังทอผ้ากันอยู่กว่า ๒๐๐ ครอบครัว เสียงกี่กระตุกกึงกังยังกังวานอยู่ยามบ่าย เมื่อเดินผ่านลัดเลาะไปตามถนนคดเคี้ยวในเกาะ

ถนนที่เพิ่งลาดยางช่วงปีพ.ศ. ๒๕๒๗-๒๕๒๘ วกเวียนทับเส้นทางเดินโบราณที่เลี้ยวเลาะเข้าไปตามสวนผลไม้นานา เกาะยอเลื่องชื่อเรื่องผลไม้อร่อย เป็นที่โจษจันกันมานานแล้ว ดังหลักฐานในบันทึกของสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษี คราวเสด็จออกตรวจราชการภาคใต้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ว่า "อนึ่งที่ปากช่องทะเลสาบนั้นมีเกาะๆ หนึ่งชื่อเกาะยอ...มีสวนเรียงรายอยู่ในเกาะและรอบเกาะเป็นสวนผลไม้ หมาก มะพร้าว จำปาดะ ขนุน สะตอ พุมเรียง ละมุด ทุเรียน และมีสวนมัน ผักและพลูต่างๆ บริบูรณ์ มีบ้านราษฎรเจ้าของสวนเรียงราย" 

คุณตาประวิทย์ นพคุณ วัย ๘๖ ปี คนย่านถนนนครนอก อำเภอเมืองสงขลา ยืนยันด้วยรอยยิ้มและดวงตาเป็นประกายสดใสเมื่อเล่าถึงเกาะยอครั้งคุณตายังหนุ่มว่า "คนเกาะยอทำสวนทอผ้า ผู้หญิงเกาะยอตัวขาว เชื้อจีนสวยมากๆ ผลไม้เกาะยอขึ้นชื่อ มีทั้งสวา(ละมุด) จำปาดะ มะพร้าว ทุเรียน"

ร้อยกว่าปีหลังบันทึกของเจ้าฟ้าภาณุฯ ผลไม้เกาะยอยังอุดม ผ้าเกาะยอยังดี ลูกสาวชาวเกาะยอยังสวย กระเบื้องเกาะยอเท่านั้นที่กลายไปเป็นตำนาน

เรือนไทยใต้ซ่อนตัวอยู่หลังแมกไม้ครึ้ม แดดสว่างจับหลังคากระเบื้องดินเผา คือภาพงามยามเย็น บ่งบอกถึงวิถีชีวิตสงบเนิบช้า เรือนปั้นหยาทุกหลังที่ผ่านตา ล้วนมุงกระเบื้องเกาะยอ นอกจากจะให้ความงามอันกลมกลืนกับเรือกสวนรอบข้างแล้ว กระเบื้องเกาะยอยังแข็งแกร่ง คงทนอยู่ได้ถึง ๔๐-๕๐ ปี ขึ้นชื่อว่ามุงแล้วร่มเย็นอยู่สบาย ช่วงรุ่งเรืองคนเกาะยอตั้งเตาเผากระเบื้องกันราว ๑๐ เจ้า ขุดดินจากทุ่งนาปั้นกระเบื้อง อิฐ โอ่ง อ่าง กันตั้งแต่เดือนยี่ถึงเดือน ๑๑ มาหยุดเอาหน้ามรสุม ยามฝนชุก ชื้นแฉะจนตากกระเบื้องไม่ได้ คนเกาะยอเล่าว่า เคยบรรทุกกระเบื้องเป็นหมื่นๆ แผ่น ลงเรือใบ รอนแรมไปในเวิ้งทะเลสาบสงขลาแถบเมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง ขายไกลถึงเมืองตรัง ยะลา ปัตตานี นราธิวาส รุ่งเรืองมีชื่อเสียงโด่งดังถึงกลันตัน ตรังกานู ปีนัง สิงคโปร์ จนพวกพ่อค้าพากันเอาเรือสำเภา ๒ หลักขนาดใหญ่ออกทะเลลึก มาบรรทุกกระเบื้องไปขายเอง

กิจการกระเบื้องดินเผาเกาะยอเพิ่งมาสิ้นสูญไปเมื่อราว ๒๐ ปีนี้เอง วันเวลาเคลื่อนไป หากบ้านเก่าที่เคยใช้กระเบื้องเกาะยอกลับอยู่กันยาวนาน มุงหลังคามากว่า ๕๐ ปีไม่มีพัง แทบไม่ต้องซ่อมแซม บ้านใหม่ก็ถูกกระเบื้องโรงงาน ที่แม้จะมุงแล้วร้อนอบอ้าว ทั้งไม่คงทนเท่า แต่ราคาที่ถูกกว่า เบากว่า ใช้ไม้โครงหลังคาน้อยกว่าที่เข้ามาแทน ก็ทำให้ชาวบ้านสมัครใจหันไปใช้ของใหม่ที่ผลิตออกมาตีตลาด จนกระเบื้องเกาะยอค่อยๆ สูญสิ้นความนิยมไปโดยปริยาย คงเหลือเพียงกระเบื้องดินเผาของเมืองสงขลาก็แต่ที่บ้านท่านางหอม นอกเกาะยอห่างไกลออกไป ให้นึกถึงตำนานของบ้านหลังคากระเบื้องดินเผา สวยสงบในดงไม้ จารึกไว้ถึงวันวานอันรุ่งเรืองของ "เบื้องเกาะยอ" ในวันเวลานี้

เกาะยอในความทรงจำ (๒)

นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นักเขียนเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงความทรงจำเมื่อครั้งทำงานเก็บข้อมูลชีวิตชาวบ้านที่เกาะยอ จังหวัดสงขลา ว่า 

กุฏิวัดท้ายยอ เรื่องเล่าจากพ่อหลวง-พระครูมานพ อคฺคธมโม เจ้าอาวาสวัดท้ายยอ ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา เล่าไว้เมื่อกลางปี พ.ศ. ๒๕๔๒ 

“หมู่กุฏิที่วัดท้ายยอขึ้นทะเบียนกรมศิลปากรตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ กุฏิอายุกว่าสองร้อยปี เจ้าอาวาสองค์ที่ผ่านๆ มาท่านเก่งทางช่าง ทั้งสร้างทั้งซ่อมกันเอาไว้ พ่อหลวงเองได้วิชาช่างปลูกเรือนจากย่า พ่อของย่าเป็นช่าง ย่าจดจำมาถ่ายทอดให้ฟังหมด พอโตขึ้นมาก็มาเป็นลูกมือของพระอธิการเส้า ท่านให้ความรู้เรื่องเรือน ช่วยท่านยกไม้ ส่งไม้ อยู่หลายปี

เรือนคือมงคลวัตถุที่เป็นที่อยู่อาศัย เรือนโบราณจะมีสูตรในการสร้างเรียก “เรือนสูตร” ประกอบด้วย “มาตราสูตร” คือการวัดเป็นคืบเป็นศอกเพื่อออกสัดส่วนระยะเรือน และ “มงคลสูตร” คือศาสนธรรมคำสอน เป็นปริศนาธรรมควบคุมการออกสัดส่วนเรือน

อย่างพวกสัมมาอาชีวะจะปลูกเรือน ต้องตั้งจั่วก่อน คือออกสัดส่วนเรือนจากความสูงของจั่ว แต่ถ้าเป็นพวกนักเลงต้องตั้งเสาขึ้นก่อนให้มั่นคง แล้วชีวิตก็จะรุ่งเรืองไปตามแนวของแต่ละคน

โดยมากขนาดของเรือนจะใช้ร่างกายเจ้าของเรือนเป็นตัวกำหนดสัดส่วน อย่างพวกสัมมาอาชีวะตั้งจั่วก่อนนั้น จะต้องหาดั้ง (ความสูงของจั่ว) ก่อน เพราะดั้งเปรียบได้กับจมูกเป็นลมหายใจ ต้องเอาดั้งเจ้าของเรือน เพราะเจ้าเรือนจะต้องรักบ้านเท่าชีวิตตัว การหาดั้งใช้วิธีเอาไม้วัดตั้งบนหัวแม่โป้งนิ้วเท้าให้สูงขึ้นถึงหัวคิ้ว นั่นคือขนาดของดั้ง จากนั้นเอาดั้งเข้าสูตรทำจั่ว “หักดั้งตั้ง ๒ หนให้ชนกัน จันทันนั้นดั้งบวกคืบสืบสอดใส่”

เรือนคนแต่ละลักษณะก็ไม่เหมือนกัน อย่างเรือนกำนันกระดานพื้นหน้าห้องต้องมีสัญญาณเตือนภัย เหยียบปุ๊บต้องลั่นให้ได้ยิน จะได้รู้ตัว ป้องกันคนมาร้ายเพราะคนมาดีมักจะเรียกก่อน ส่วนเรือนเจ้าอาวาสกระดานหน้าห้องเหยียบแล้วต้องเงียบกริบ เพื่อชาวบ้านจะได้แอบดูได้ว่าพระทำอะไรอยู่ในห้อง

พ่อหลวงเกิดที่นี่ เกาะยอสมัยก่อนผลไม้อุดมสมบูรณ์มาก พวกขนมจากในเมืองขนมเปี๊ยะคนที่นี่ไม่กิน เพราะอาหารสมบูรณ์ กินข้าวกับน้ำผึ้งแล้ว เป็นคำพื้นของคนเฒ่าแก่ที่พูดติดปาก เพราะคนอิ่ม ไม่หิว ของกินบริบูรณ์ ขนาดไม้สร้างบ้านยังเป็นไม้ผล

เกาะยอทำอ่างดินเผามีชื่อ เขาพูดเป็นคำคล้องจองว่า สทิ้งทำหม้อ เกาะยอทำอ่าง หัวเขาค้าโพงพาง บ่อยางขายเคย เกาะยอทำกระเบื้องหลายแบบมีกระเบื้องหางแหลมมุงหลังคา กระเบื้องตีนเชิงชาย กระเบื้องกาบกล้วย กระเบื้องอกไก่สันหลังคา อิฐมีหลายขนาด เรียกอิฐหน้าวัว ของเกาะยอมีเอกลักษณ์ คือมีลายน้ำในเนื้ออิฐ เพราะเอาดินหลายที่มาผสมทำอิฐ เตาเผาอิฐสมัยเด็กๆ เห็นถึง ๘ เตา เด็กเกาะยอเมื่อก่อนไม่เล่นลงเลก็ขึ้นเขา เอาลูกหมากมาเล่นซัดราว 

สมัยก่อนเรือโดยสารคือนาฬิกาบอกเวลาของคนเกาะยอ ตี ๕ (๐๕.๐๐ น.) เรือยนต์ติดเครื่องวิ่งเกาะยอ-สงขลา เด็กตื่น พ่อแม่ลุกตั้งข้าวให้ลูกไปโรงเรียน ตี ๖ (๐๖.๐๐ น.) เรือออกจากท่า เด็กนักเรียนชายนั่งบนหลังคา นักเรียนหญิงนั่งในท้องเรือ พร้อมผลไม้จำนวนมาก จนต้องพ่วงเรือ ถึงสงขลาส่งเด็กแล้วก็รับครูมาสอนนักเรียนที่วัดท้ายยอ สองโมงเช้า (๐๘.๐๐ น.) พอดีโรงเรียนขึ้นเรือออกจากเกาะยออีกเที่ยว คราวนี้บรรทุกกุ้งปลาเต็มลำเรือไปส่งสงขลา จะสวนกับเรือที่ออกจากสงขลาตอนตี ๙ (๐๙.๐๐ น.) ถึงเกาะยอตี ๑๐ (๑๐.๐๐ น.) ได้พักเที่ยง บ่ายโมงเรือติดเครื่องไปสงขลา เด็กนักเรียนที่พักเที่ยงแล้ววิ่งเล่นอยู่ตามป่าได้ยินเสียงต้องรีบกลับห้องเรียน จากนั้นมีเรือออกตี ๓ (๑๕.๐๐ น.) จากสงขลามาเกาะยอ รับครูกลับไปสงขลา พอตี ๕ (๑๗.๐๐ น) เรือกลับมา พาเด็กนักเรียนจากสงขลามาส่งบ้าน เด็กเกาะยอต้องรีบขึ้นบ้าน เดิมมีแต่ป่า มืดเร็วกว่าเดี๋ยวนี้

กาลครั้งหนึ่ง ‘สาทร’ เคยขึ้นกับจังหวัด ‘พระประแดงบุรีศรีนครเขื่อนขันธ์’

กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว...
"สาทร" เคยขึ้นกับจังหวัด “พระประแดงบุรีศรีนครเขื่อนขันธ์"

จากมุมนี้ เห็นได้ว่าบางกระเจ้าที่พระประแดงไม่ไกลจากสาทรสักเท่าไร
มีการโอนสาทรขึ้นกับจังหวัดพระนคร ในปี พ.ศ. 2458

โอนพระโขนง ช่องนนทรี และโพงพางของจังหวัดพระประแดง มาขึ้นกับจังหวัดพระนคร ในปี พ.ศ. 2470


ที่มา : https://www.facebook.com/photo?fbid=529839138499749&set=a.242244413925891

ถนนสายแรกของธนบุรี ‘ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน’ เชื่อมความเจริญ ‘สะพานพุทธ’ สู่ ‘ดาวคะนอง’

ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน
ถนนสายที่ 1 ของธนบุรี (สะพานพุทธ-ดาวคะนอง)
โครงการเริ่มปี พ.ศ. 2472
รองรับสะพานพุทธข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมพระนครและธนบุรี

ก่อนหน้านั้น ธนบุรีเป็นเมืองน้ำ 100%
มีเพียงถนนคนเดินเล็กๆ
เค้าเล่าว่า สมัยนั้น หมาฝั่งธน ไม่เคยเห็นรถยนต์ ซึ่งน่าจะจริง 
เพราะฝั่งธนยังไม่มีถนนให้รถวิ่งได้เลย

ช่วงสะพานพุทธ-วงเวียนใหญ่ (รถไฟสายแม่กลอง) ใช้ชื่อถนนประชาธิปก

ช่วงวงเวียนใหญ่ (รถไฟสายแม่กลอง) ถึงดาวคะนองสร้างภายหลัง ในปีพ.ศ. 2482 ใช้ชื่อถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน

อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2497 

ทศวรรษ 251X - 252X รถติด สะพานพุทธวิกฤติ
เด็กนักเรียนฝั่งธนฯ เดินจากวงเวียนใหญ่ไปโรงเรียนศึกษานารี หรือเดินข้ามสะพานพุทธไปโรงเรียนสวนกุหลาบเร็วกว่าขึ้นรถเมล์

รัฐบาลยุคนั้น มีแผนทำโครงการรถไฟฟ้าลอยฟ้าลาวาลิน สายสะพานพุทธ-ดาวคะนอง แต่โครงการล่มสลาย เหลือแค่ซากสะพานสร้างค้างไว้ ทิ้งร้างกลางแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเวลา 30 ปี (เพิ่งมีการปรับปรุงเป็น "สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา" เปิดใช้งานปี พ.ศ. 2563)

พ.ศ. 2527 เปิดใช้สะพานพระปกเกล้า


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top