Saturday, 19 April 2025
Nestle

กรณีศึกษา Nestle ถอนตัวออกจากเมียนมา   สะท้อน!! ไม่มีใครทำร้ายชาติเราได้เท่าคนในชาติตัวเอง

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีข่าวที่ดังไปทั่วเมียนมาเมื่อบริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่อย่าง Nestle ที่ตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1991 ถอนตัวออกจากเมียนมา โดยมีแถลงการออกมาจากทาง Nestle ว่าทางบริษัทจะยุติการดำเนินการทั้งสายโรงงานและการปฏิบัติงานในส่วนของออฟฟิศทั้งหมด  

ข่าวนี้สร้างแรงกระเพื่อมต่อเศรษฐกิจของเมียนมาพอสมควร โดยทาง Nestle อ้างว่าการที่บริษัทตัดสินใจเช่นนี้เป็นเพราะบริษัทมีปัญหาในเรื่องการนำเข้าและปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน 

พออ่านมาถึงจุดนี้ คือต้องมาเอ๊ะ เดี๋ยวก่อน….เราควรมาดูข้อมูลรอบตัวของข่าวนี้ก่อนดีไหม? เริ่ม!!

ข้อแรก Nestle เป็นบริษัทของสวิตเซอร์แลนด์ แต่การดำเนินการของ Nestle เมียนมานั้นอยู่ภายใต้การดำเนินการของ Nestle สาขาประเทศไทย ซึ่งสวิตเซอร์แลนด์เป็น 1 ในประเทศคู่ค้าของกลุ่ม EU ที่ทำการแซงชันเมียนมา โดยการแซงชันของ EU นั้น นอกจากเน้นไปที่ตัวบุคคลแล้วยังเน้นไปยังกลุ่มธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของเช่น อัญมณี เหมืองแร่ น้ำมันและก๊าซรวมถึงป่าไม้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าธุรกิจเหล่านั้นได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแซงชันดังกล่าว โดยเฉพาะธุรกิจน้ำมันและก๊าซในเมียนมาที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีคนนอกในการผลิตและแปรรูป  

จึงไม่แปลกที่ธุรกิจของประเทศในกลุ่มดังกล่าวจะโดนกดดันจากฝั่งเมียนมา ซึ่งบางธุรกิจเช่นธุรกิจผลิตวัตถุดิบบางอย่างของสัญชาติอเมริกันก็เลือกที่จะปิดตัวเองเลย ซึ่งแม้บริษัทเหล่านั้นอาจจะมีการทำ Political Insurance ไว้ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเงินสินไหมจะทดแทนกับมูลค่าที่ลงทุนและโอกาสทางการตลาดที่เสียไปได้หรือไม่

กลับมาที่ Nestle เมียนมา ก็ต้องขอปรบมือให้ทีมบริหารที่ใช้ความพยายามในการผลักดัน เพราะตลอดระยะเวลา 2 ปีในขณะที่หลายๆ บริษัท ทั้งบริษัทที่เป็นของชาวต่างชาติก็ดี หรือของคนเมียนมาเองก็ดี ต่างทยอยปิดตัวลงจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น แทบจะเรียกได้ว่า Nestle เป็นบริษัทท้ายๆ ที่ใช้เหตุผลนี้มาปิดบริษัท เพราะตอนนี้ก็เหมือนเหตุการณ์ที่เป็นวิกฤตต่างๆ เริ่มคลี่คลายลงแล้ว ซึ่งสังเกตได้จากหลายๆ บริษัทในเขตนิคมเองก็เปิดมากขึ้น  

อย่างไรก็ดีด้วยประเด็นของการที่ประเทศในกลุ่มอียูมีนโยบายแซงชันเมียนมา จึงเป็นอะไรที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เนสเล่ ที่เจ้าของคือ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งผู้เป็นคู่ค้ารายสำคัญของกลุ่มประเทศอียูจะโดนบีบให้ปฏิบัติตามด้วยก็ไม่แปลก เพราะหากเทียบความสูญเสียที่เกิดขึ้นในเมียนมากับมูลค่าที่จะสูญเสียในยุโรปนั้น Nestle บริษัทแม่เลือกไม่ยากเลยที่จะเลือกปิดโรงงาน ลอยแพคนงานเมียนมาและหันกลับมาใช้ระบบตัวแทนจำหน่ายที่เป็นบริษัทเมียนมาแทน  

ประณาม Nestle ไม่ยอมถอนธุรกิจออกจากรัสเซีย โวย 'สนับสนุนสงคราม-ท่อน้ำเลี้ยง' ให้ ศก.หมีขาว

หน่วยงานป้องกันคอร์รัปชันแห่งชาติของยูเครน (NACP) จะไม่ทน ได้ออกแถลงการณ์ประณาม ให้ Nestle เครือบริษัทผู้ผลิตอาหารยักษ์ใหญ่สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ เป็นผู้สนับสนุนสงครามข้ามชาติรายใหญ่ของโลก เนื่องจาก Nestle ไม่ยอมถอนธุรกิจออกจากรัสเซียตามที่รัฐบาลยูเครนกดดัน 

Nestle เป็นบริษัทผลิตอาหารที่มีแบรนด์ชื่อดังในเครือมากกว่า 2,000 แบรนด์ทั่วโลก และติดตลาด เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เช่น Nescafé, Milo, Kit-Kat หรือ Maggi เป็นต้น และเป็นอีกบริษัทข้ามชาติที่มาลงทุนสร้างฐานโรงงานในรัสเซีย ผลิตสินค้าบริโภคเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง แม้ธุรกิจต่างชาติหลายแห่งประกาศยกเลิก แห่ถอนกิจการออกจากรัสเซียหลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนแล้วก็ตาม

นี่จึงสร้างความไม่พอใจกับรัฐบาลยูเครน ที่ต้องการให้บริษัทต่างชาติร่วมกันถอนกิจการออกจากรัสเซียเพื่อสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อรัฐบาลมอสโก แต่ถึงกระนั้นก็ตาม บริษัท Nestle กลับเพิกเฉย ไม่กล้าสละตลาดรัสเซียที่สร้างผลกำไรให้แก่บริษัทเพียง 2% จากรายได้ทั้งหมดทั่วโลก 

หากย้อนไปช่วงเริ่มต้นสงครามรัสเซีย-ยูเครน โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนเคยเรียกร้องให้บริษัท Nestle ถอนกิจการทั้งหมดออกจากรัสเซีย หลังจากที่มีบริษัทข้ามชาติกว่า 400 แห่ง ประกาศปิดกิจการโดยยอมทิ้งสินทรัพย์ และเงินลงทุนหลักหมื่นล้าน เพื่อแสดงจุดยืนร่วมคว่ำบาตรรัสเซีย

โดยครั้งนั้น Nestle ตอบสนองข้อเรียกร้องของรัฐบาลยูเครนด้วยการระงับการนำเข้า และ ส่งออกสินค้าของ Nestle ไปยังตลาดรัสเซียหลายพันรายการ รวมทั้งยกเลิกการโฆษณาสินค้า และ แผนการลงทุนเพิ่มเติมในรัสเซียทั้งหมด แต่ยังคงดำเนินกิจการในรัสเซียต่อไป โดยจะบริจาคเงินช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์จากสงครามให้แก่ยูเครนแทน ด้านผู้นำยูเครนจึงออกมาตอบโต้ว่า บริษัท Nestle ยังแสดงจุดยืนไม่มากพอ ให้สมกับสโลแกนของบริษัท "Good Food, Good Life" แต่เลือกที่จะคบค้ากับรัสเซีย ที่เป็นรัฐก่อการร้าย

และจนถึงวันนี้ Nestle ก็ยังคงดำเนินกิจการในรัสเซียอย่างต่อเนื่อง แถมยังสร้างความได้เปรียบทางการตลาด หลังจากที่บริษัทคู่แข่งอื่น ๆ ถอนกิจการออกจากรัสเซียไปแล้ว จึงทำให้ทุกวันนี้ สินค้าของ Neslte ครองตลาดในรัสเซีย ทุกชั้นวางสินค้าตามห้างสรรพสินค้า และ ซูเปอร์มาร์เก็ต ล้วนเต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์ของ Nestle 

เป็นเหตุให้รัฐบาลยูเครนทนไม่ไหว จึงออกแถลงการณ์ออกสื่อผ่านหน่วยงานป้องกันคอร์รัปชัน ประณามการทำธุรกิจของ Nestle ที่มีส่วนสนับสนุนสงครามระหว่างประเทศ ด้วยการเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้แก่เศรษฐกิจของรัสเซีย

อีกทั้งได้ยกประเด็นจุดยืนของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งแม้สวิตเซอร์แลนด์จะประกาศวางตัวเป็นกลางในสงคราม แต่ก็ทำการค้ากับรัฐบาลนาซีเยอรมัน พร้อม ๆ กับส่งออกสินค้าของตนไปยังประเทศที่ต่อต้านฮิตเลอร์ไปพร้อม ๆ กันด้วย เป็นจุดยืนแบบ 2 หน้าเพื่อผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น ทำให้รู้ว่าบริษัทสวิตเซอร์แลนด์แห่งนี้ไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย 

ด้าน Nestle ออกมาตอบโต้ ถึงสาเหตุที่ยังคงดำเนินกิจการต่อในรัสเซีย เพราะโรงงานของตนในรัสเซียมีพนักงานกว่า 7,000 คน และไม่อยากปิดโรงงาน ลอยแพพนักงานเหล่านั้น อีกทั้งประชาชนชาวรัสเซียยังต้องการสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในประเทศ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกิจการสงคราม บริษัทจึงตัดสินใจดำเนินธุรกิจในรัสเซียต่อไป 

ไม่ว่าทางยูเครนจะพอใจในคำตอบของ Nestle หรือไม่ แต่ก็ยังมีบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่อีกไม่น้อยที่ยังประกอบกิจการในรัสเซีย อาทิ PepsiCo, Unilever และ Procter & Gamble เป็นต้น โดยเน้นผลิตสินค้าบริโภคที่จำเป็นสำหรับประชาชนทั่วไป อย่าง อาหาร เครื่องดื่ม นมผง ผ้าอ้อม เป็นต้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top