Sunday, 12 May 2024
NATO

‘ตุรเคีย’ ไฟเขียว ให้สัตยาบัน‘ฟินแลนด์’ ร่วมสมาชิกนาโต ด้าน ‘สวีเดน’ ยังรอลุ้น เลขาฯ วอน ตุรเคียเร่งรับรองโดยเร็ว

เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 66 สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า รัฐสภาตุรเคียลงมติให้สัตยาบันรับรองฟินแลนด์ เข้าร่วมเป็นสมาชิก องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) โดยฟินแลนด์จะได้รับการรับรองเข้าร่วมนาโตอย่างเป็นทางการและเป็นสมาชิกนาโตประเทศที่ 31 ในการประชุมสุดยอดผู้นำชาติสมาชิกนาโตครั้งถัดไป ในเดือน ก.ค.ที่จะถึงนี้

ขณะที่สวีเดน ซึ่งยื่นขอเข้าร่วมองค์การนาโตพร้อมกับฟินแลนด์ เมื่อเดือน พ.ค.2565 ได้รับรองจากสมาชิก 28 ประเทศ เหลือเพียงตุรเคียและฮังการีซึ่งมีประเด็นกระทบกระทั่งบานปลาย โดยตุรเคียไม่พอใจที่สวีเดนปฏิเสธการส่งกลุ่มนักรบชาวเคิร์ด ซึ่งตุรเคียเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังความพยายามในการก่อรัฐประหารโค่นอำนาจเมื่อปี 2559 กลับมาดำเนินคดี

อย่างไรก็ตาม นายเย็นส์ สต็อลเตินบาร์ก เลขาธิการองค์การนาโต เรียกร้องให้ชาติพันธมิตรเห็นพ้องกับกระบวนการให้สัตยาบันรับรองสวีเดน และหวังว่าจะได้ต้อนรับสวีเดนในฐานะสมาชิกเข้าสู่ครอบครัวนาโตโดยเร็วที่สุด


ที่มา : https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_7589876

จีน’ ออกโรงเตือน ‘สหรัฐฯ’ ตั้งกลุ่มพันธมิตรสไตล์ ‘นาโต’ มีแต่ทำ ‘เอเชีย-แปซิฟิก’ จมลงสู่วังวนแห่งความขัดแย้ง

เมื่อไม่นานนี้ รัฐมนตรีกลาโหมจีน เตือนการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรทางทหารสไตล์ ‘นาโต’ รังแต่จะทำให้ ‘เอเชีย-แปซิฟิก’ เจอกับวังวนความขัดแย้ง ย้ำโลกจะต้องเผชิญหายนะที่ไม่อาจทนทานได้ หากมีการเผชิญหน้ารุนแรงระหว่างจีนกับอเมริกา กระนั้น เขาก็ย้ำว่าประเทศของเขามุ่งแสวงหาการสนทนากันมากกว่าการเผชิญหน้า สำหรับทางด้านนายใหญ่เพนตากอน แสดงความไม่พอใจที่เรือจีนพุ่งตัดหน้าเรือพิฆาตของสหรัฐฯ ในระยะประชิด ขณะที่กองทัพปักกิ่งโต้ว่า อเมริกาและแคนาดาจงใจยั่วยุให้เกิดความเสี่ยงจากการร่วมกันเดินเรือผ่านช่องแคบไต้หวัน

‘หลี่ ช่างฝู’ รัฐมนตรีกลาโหมจีน กล่าวปราศรัยในเวทีประชุมความมั่นคง แชงกรีลา ไดอะล็อก ที่สิงคโปร์เมื่อวันอาทิตย์ (4 มิ.ย.) ว่า ความพยายามในการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรทางทหารในรูปแบบคล้ายกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ในเอเชีย-แปซิฟิกรังแต่จะทำให้ภูมิภาคนี้เผชิญวังวนความขัดแย้งและการเผชิญหน้า

การแสดงความคิดเห็นนี้ตอกย้ำคำวิจารณ์ของจีนต่อความพยายามของอเมริกาในการรวบรวมพันธมิตรในเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อต่อต้านอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของปักกิ่ง ขณะที่จีนตอบโต้ว่าเป็นความพยายามของวอชิงตันที่จะรักษาฐานะความเป็นเจ้าใหญ่เหนือใคร ๆ ของพวกเขาเอาไว้

ทั้งนี้ อเมริการิเริ่มผลักดันและเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มออคัส ที่ประกอบด้วยออสเตรเลียและอังกฤษ ตลอดจนกลุ่มควอด ที่มีทั้งออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น

หลี่เสริมว่า เอเชีย-แปซิฟิกวันนี้ต้องการการร่วมมือที่เปิดกว้างและครอบคลุมทุกประเทศ ไม่ใช่การจับกลุ่มยิบย่อยมาต่อต้านชาติอื่น

รัฐมนตรีกลาโหมจีนยังพยายามสร้างภาพให้อเมริกาเป็นผู้ปลุกปั่นให้เอเชียไร้เสถียรภาพ ขณะที่จีนต้องการผ่อนคลายสถานการณ์ โดยกล่าวว่า โลกใหญ่พอที่จีนและอเมริกาจะเติบโตไปพร้อมกัน นอกจากนั้น แม้มีระบบและหลาย ๆ อย่างต่างกัน แต่ไม่ได้ขัดขวางไม่ให้สองประเทศแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และการร่วมมือ และคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า หากเกิดความขัดแย้งหรือการเผชิญหน้ารุนแรงระหว่างจีนกับอเมริกา โลกจะต้องเผชิญหายนะที่ไม่อาจทนทานได้

ก่อนหน้านี้ ในวันเสาร์ (3 มิ.ย.) ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ที่ร่วมการประชุมแชงกรีลาที่จัดขึ้นที่สิงคโปร์ด้วยเช่นกัน ประณามจีนที่ปฏิเสธการจัดการหารือทางทหาร โดยระบุว่า การหารือเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดและการคำนวณผิดพลาด ไม่ใช่การให้รางวัล

วันเดียวกันนั้น กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แถลงว่า ได้ส่งเรือพิฆาตยูเอสเอส ชุงฮุน จากกองเรือที่ 7 แล่นผ่านช่องแคบไต้หวันพร้อมกับเรือฟริเกต เอชเอ็มซีเอส มอนทรีออลของแคนาดา และจีนตอบโต้ด้วยการส่งเรือลำหนึ่งเข้าประชิดเรือยูเอสเอส ชุงฮุน

ต่อมาในวันอาทิตย์ ออสตินกล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า อันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากเรือจีนพุ่งตัดหน้าเรือพิฆาตของอเมริกาในระยะห่างแค่ 46 เมตร พร้อมเรียกร้องให้ผู้นำจีนควบคุมการกระทำในลักษณะดังกล่าวที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

ทว่า กองทัพจีนวิจารณ์ว่า อเมริกาและแคนาดาจงใจยั่วยุให้เกิดความเสี่ยงจากการร่วมกันเดินเรือผ่านช่องแคบไต้หวันซึ่งเป็นน่านน้ำที่มีความอ่อนไหว

ทางฝ่ายหลี่สำทับว่า จีนจะไม่ยอมให้อเมริกาและพันธมิตรใช้ข้ออ้างของเสรีภาพในการเดินเรือเพื่อครองอำนาจครอบงำการเดินเรือ

ภายหลังการกล่าวปราศรัยของหลี่ นักวิชาการหลายคนได้ถามย้ำหลี่เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึงการที่จีนเพิ่มประจำการทางทะเลในทะเลจีนใต้ซึ่งมีข้อพิพาทด้านอธิปไตยกับหลายชาติ ปรากฏว่ารัฐมนตรีกลาโหมจีนไม่ได้ตอบคำถามตรงๆ แต่บอกว่า การเคลื่อนไหวของประเทศนอกภูมิภาคทำให้ความขัดแย้งลุกลาม

ทั้งนี้ ออสติน และหลี่จับมือและคุยกันสั้นๆ ในงานเลี้ยงอาหารค่ำเปิดประชุมในวันศุกร์ (2 มิ.ย.) แต่ไม่ได้หารือกันเป็นเรื่องเป็นราว โดยอเมริกานั้นเชิญหลี่พบปะหารือกับออสตินนอกการประชุมแชงกรีลา แต่ปักกิ่งปฏิเสธ

เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งของสหรัฐฯ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า วอชิงตันยังเสนอการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับล่าง แต่ปักกิ่งไม่ตอบกลับ

ขณะที่สมาชิกคนหนึ่งของคณะผู้แทนจีนบอกกับเอเอฟพีว่า เงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการหารือคือ อเมริกาต้องยกเลิกการแซงก์ชันหลี่ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2018 จากกรณีการซื้ออาวุธจากรัสเซีย

นอกจากนั้น ชุ่ย เทียนข่าย อดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำวอชิงตัน ยังให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวด้านนอกการประชุมแชงกรีลาเมื่อวันอาทิตย์เรียกร้องให้อเมริกาถอนปฏิบัติการทางทหารใกล้จีนเพื่อแสดง ‘ความสุจริตใจ’ หากต้องการฟื้นการเจรจาระดับสูง

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งก็มีสัญญาณบางประการเหมือนกัน ซึ่งแสดงว่าทั้งสองประเทศเริ่มมี ‘การสนทนา’ กันมากขึ้นในระดับเจ้าหน้าที่ระดับสูง

เป็นต้นว่า ‘วิลเลียม เบิร์นส์’ ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ได้เดินทางอย่างลับๆ ไปยังจีนเมื่อเดือนที่แล้ว เจ้าหน้าที่อเมริกันผู้หนึ่งประกาศเรื่องนี้เมื่อวันศุกร์ (2) ที่ผ่านมา

ขณะที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แดเนียล คริเทนบริงค์ ก็เดินทางไปจีนเมื่อวันอาทิตย์ (4) ในการเยือนซึ่งช่วงหลังๆ นี้เกิดขึ้นมาน้อยครั้ง
 

‘ตุรกี’ ไฟเขียว!! เปิดทางให้ ‘สวีเดน’ ร่วมเป็นสมาชิกใหม่นาโต พร้อมเร่งหารือกรณี ‘ยูเครน’ ขอร่วมพันธมิตรท่ามกลางภาวะสงคราม

(11 ก.ค. 66) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม นายเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกียินยอมที่จะส่งเรื่องการขอเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ของสวีเดนเข้าสู่รัฐสภาตุรกีให้เร็วที่สุด ถือเป็นการสิ้นสุดประเด็นขัดแย้งที่สร้างความตึงเครียดให้กับนาโตนานหลายเดือน ขณะที่การสู้รบในประเทศยูเครนยังคงดำเนินต่อไป

ทั้งประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ได้ยื่นขอเข้าเป็นสมาชิกนาโตเมื่อปีที่แล้ว เพื่อตอบสนองต่อการที่รัสเซียนำกำลังทหารเข้ารุกรานยูเครนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว แม้ฟินแลนด์ได้รับการอนุมัติให้เข้าเป็นสมาชิกของนาโตเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ทั้งประเทศตุรกีและฮังการียังคงขัดขวางการขอเข้าเป็นสมาชิกนาโตของสวีเดน ซึ่งทางสวีเดนเองก็กำลังเดินหน้าเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตในการประชุมผู้นำชาติสมาชิกที่จัดขึ้นที่กรุงวิลนีอุส เมืองหลวงของประเทศลิทัวเนีย ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 11 กรกฎาคม

นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโตกล่าวในการแถลงข่าวว่า “ผมมีความยินดีที่จะประกาศว่า ประธานาธิบดีแอร์โดอานได้เห็นพ้องที่จะยื่นพิธีสารการเข้าเป็นสมาชิกของสวีเดนไปยังสมัชชาแห่งชาติให้เร็วที่สุด และทำงานกับสมัชชาแห่งชาติอย่างใกล้ชิด เพื่อรับรองการให้สัตยาบัน”

ประธานาธิบดีแอร์โดอานของตุรกีและนายอุล์ฟ คริสเตอซ็อน นายกรัฐมนตรีสวีเดนมีการหารือกันนานหลายชั่วโมงก่อนหน้าการประชุมผู้นำนาโตเพื่อหวังที่จะฝ่าทางตันในประเด็นดังกล่าวระหว่างทั้งสองชาติ หลังก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีแอร์โดอานของตุรกีกล่าวหาว่าสวีเดนไม่ได้พยายามมากพอที่จะจัดการกับสมาชิกพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (พีเคเค) ที่ตุรกี สหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐฯ จัดให้เป็นองค์กรก่อการร้าย

นายกรัฐมนตรีคริสเตอซ็อนของสวีเดนกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “นี่คือวันที่ดีสำหรับสวีเดน” แถลงการณ์ร่วมที่ออกโดยทั้งสวีเดนและตุรกีระบุว่า สวีเดนได้เน้นย้ำว่าจะไม่สนับสนุนกลุ่มชาวเคิร์ดและจะสนับสนุนความพยายามในการเข้าเป็นสมาชิกอียูของตุรกี ขณะที่แอร์โดอานกล่าวว่า “อียูควรที่จะเปิดทางให้กับการขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกอียูของตุรกี ก่อนที่รัฐสภาตุรกีจะอนุมัติการขอเข้าเป็นสมาชิกนาโตของสวีเดน”

ก่อนหน้านี้ เสนาธิการของนายวิกเตอร์ ออร์บัน นายกรัฐมนตรีฮังการีได้กล่าวเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่าจะไม่ขัดขวางการให้สัตยาบันขอเข้าเป็นสมาชิกนาโตของสวีเดนอีกต่อไป ทำให้การยินยอมของตุรกีจะเป็นการกำจัดอุปสรรคสุดท้ายในการเข้าร่วมนาโตของสวีเดน

นอกจากประเด็นเรื่องสวีเดนแล้ว บรรดาผู้นำของชาติสมาชิกนาโตเตรียมที่จะมีการหารือกันในการประชุมผู้นำที่กรุงวิลนีอุส เพื่อหวังที่จะก้าวข้ามความแบ่งแยกในเรื่องการที่ประเทศยูเครนขอเข้าเป็นสมาชิกของนาโตเช่นกัน โดยในการประชุมดังกล่าวจะมีการพูดคุยกันถึงผลสะท้อนของการที่รัสเซียส่งกองทัพเข้ารุกรานยูเครน โดยบรรดาผู้นำชาติสมาชิกเตรียมที่จะอนุมัติแผนครอบคลุมที่ระบุว่า ชาติสมาชิกนาโตจะตอบสนองต่อการโจมตีของรัสเซียอย่างไร ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นาโตมีการร่างแผนในลักษณะดังกล่าวขึ้นมานับตั้งแต่ช่วงสิ้นสุดสงครามเย็น

ถึงแม้ว่าสมาชิกนาโตหลายคนเห็นพ้องกันว่า ยูเครนจะยังไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกของนาโตได้ ขณะที่ยังมีสงครามกับรัสเซีย แต่พวกเขายังคงเสียงแตกว่ายูเครนจะสามารถเข้าเป็นสมาชิกนาโตได้เร็วที่สุด เมื่อใดหลังสิ้นสุดสงครามและภายใต้เงื่อนไขใด ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครน ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย ได้กดดันให้นาโตกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการเข้าเป็นสมาชิกนาโตของยูเครนในแถลงการณ์ของที่ประชุม เพื่อที่ยูเครนจะสามารถเข้าเป็นสมาชิกนาโตได้หลังสิ้นสุดสงครามกับรัสเซีย

บรรดานักการทูตระบุว่า การยืนยันว่ายูเครนมีตำแหน่งอันชอบธรรมในนาโต และจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกทันทีเมื่อเงื่อนไขต่าง ๆ เอื้อต่อการเข้าเป็นสมาชิก จะเป็นหนึ่งในข้อความที่จะมีการพูดคุยกันสำหรับแถลงการณ์ของที่ประชุม นอกจากนั้นแล้ว การเจรจาต่าง ๆ จะให้ความสำคัญไปที่เงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิกนาโตของยูเครน และจะติดตามขั้นตอนการดำเนินการดังกล่าวอย่างไร

‘ยูเครน’ ผิดหวังอีกครั้ง หลัง ‘นาโต’ ไม่รับเข้าเป็นสมาชิก หรือเส้นทางการเข้าร่วมเป็นพันธมิตร 15 ปีจะสูญเปล่า?

(13 ก.ค. 66) ‘โวโลดิมีร์ เซเลนสกี’ ประธานาธิบดียูเครน ต้องเผชิญกับความผิดหวังอีกครั้ง เมื่อองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ ‘นาโต’ ออกแถลงการณ์ร่วมประเทศสมาชิกนาโต ปฏิเสธกำหนดกรอบเวลาชัดเจนรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำนาโต ที่กรุงวิลนีอุส ประเทศลิทัวเนีย ซึ่งผู้นำยูเครนหมายมั่นว่า เขาจะได้รับคำตอบที่ชัดเจน เกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิกนาโต เพื่อได้รับประกันด้านความปลอดภัยของชาติ จากการรุกรานของรัสเซีย

เพราะเหตุใดกลุ่มประเทศที่ให้การสนับสนุนกับยูเครนมากที่สุด เพื่อรับมือกับกองทัพรัสเซีย จึงไม่สามารถรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกได้ แม้ว่ายูเครนจะดำเนินการยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิกแบบเร่งด่วน และก่อนหน้านี้ ฟินแลนด์ก็ได้เข้าเป็นสมาชิกชาติที่ 31 ของกลุ่ม ส่วนสวีเดนก็จะได้เข้าเป็นสมาชิกเร็ว ๆ นี้ หลังได้รับการยอมรับจากตุรกีแล้ว

หนทางการเข้าเป็นสมาชิกนาโตของยูเครน ดูเหมือนจะหยุดชะงักเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำนาโต ณ บูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย เมื่อปี 2008 ที่การหามติเอกฉันท์ในการรับจอร์เจีย และยูเครน อดีตประเทศสหภาพโซเวียด เข้าเป็นสมาชิกนาโตนั้นล้มเหลว แต่ทั้ง 2 ประเทศได้รับข้อเสนอที่คลุมเครือในการสามารถเข้าเป็นพันธมิตรกลุ่มได้ในอนาคต โดยไม่กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนว่า พวกเขาจะได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรทางทหารที่ใหญ่สุดของโลกเมื่อไหร่

“ประตูยังเปิดอยู่ พวกเขาบอกกับเรา แต่พวกเขาไม่ได้บอกเรา ถึงหนทางในการหาประตูเหล่านี้ และวิธีการเข้าไปข้างใน” โอเล็กซี เรซนิคอฟ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมยูเครน กล่าว

ด้านยูเครน และจอร์เจียต่างพบว่า ในช่วงเวลานั้น ตัวเองกำลังตกอยู่ในสองสถานะ นั่นคือ สมาชิกนาโตในอนาคต ขณะเดียวกัน พวกเขาก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองใด ๆ จากชาติพันธมิตร โดยเฉพาะในมาตรา 5 ของนาโต ที่ระบุว่า “การโจมตีสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งของพันธมิตรนาโต จะเท่ากับการโจมตีสมาชิกทุกประเทศ”

นอกจากนี้ เมื่อ 15 ปีที่แล้ว วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียได้รับเชิญในฐานะแขกของนาโตเข้าร่วมประชุมครั้งดังกล่าว โดยเขาได้ส่งข้อความถึงนาโตอย่างชัดแจ้งว่า การเข้าเป็นสมาชิกนาโตของจอร์เจียและยูเครน ถือเป็น “ภัยคุกคามโดยตรงของรัสเซีย” หลังก่อนหน้านี้ อดีตผู้นำสหรัฐฯ อย่าง จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และบิล คลินตัน เคยให้สัญญากับรัสเซียว่า นาโตจะไม่ขยายอิทธิพลเข้าไปในกลุ่มประเทศที่เคยเป็นอดีตสหภาพโซเวียต

“สถานที่ที่อันตรายที่สุดสำหรับบรรดาประเทศเพื่อนบ้านของรัสเซีย คือการนั่งอยู่ในห้องรอคอยของนาโต และพวกเราก็ทำแบบนั้นกับจอร์เจีย และยูเครน เมื่อ 15 ปีที่แล้ว” มาร์กุส ซาห์คน่า รัฐมนตรีต่างประเทศเอสโตเนีย กล่าว

ทั้งนี้ การไม่ลงรอยกันของข้อตกลงในครั้งนั้น ทำให้จอร์เจีย และยูเครนตกเป็นเป้าของการรุกรานจากรัสเซีย เนื่องจากเป็นการยั่วยุปูตินให้ดำเนินการต่อต้านการขยายตัวของนาโตบนชายแดนของเขา และอาจเป็นเพราะความล้มเหลวอย่างชัดเจนของนาโตในการคุ้มครองความปลอดภัยที่จะสามารถครอบคลุมไปยังรัฐเหล่านี้ ส่งผลให้อีกไม่กี่เดือนต่อมา กองทัพรัสเซียได้ยึดออสเซเทียใต้และอับคาเซียของจอร์เจีย นอกจากนี้ ในปี 2014 รัสเซียก็ได้ผนวกดินแดนไครเมีย เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียด้วย

การตัดสินใจว่ายูเครนจะเข้าร่วมนาโตหรือไม่ เป็นหนึ่งในคำถามด้านความมั่นคงที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกมากที่สุดของยุโรป เพราะการตัดสินใจยอมรับยูเครนจะเป็นการขยายคำมั่นสัญญาอันศักดิ์สิทธิ์ในมาตรา 5 ของนาโต แม้ว่าการอ้างสิทธิ์ดังกล่าว จะไม่มีผลในทางกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ก็อาจจะทำให้บรรดาผู้นำชาติตะวันตกต้องเข้าสู่สงครามกับรัสเซีย ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์มากสุดของโลกในอนาคต และยังเสี่ยงทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ถ้ารัสเซียโจมตีประเทศเพื่อนบ้านอีกครั้ง

แม้ยูเครนจะได้แรงหนุนจากประเทศสมาชิกบางส่วนในการเข้าร่วมนาโต แต่สมาชิกบางประเทศก็ไม่เห็นด้วยที่จะรับยูเครนเข้ามา โดยเฉพาะโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าว CNN เมื่อวันอาทิตย์ (9 กรกฎาคม) ที่ผ่านมา ว่า ยูเครนยังไม่พร้อมที่จะเข้าสู่นาโต ยิ่งไปกว่านั้น พันธมิตรนาโตยังไม่พร้อมที่จะให้ยูเครนก้าวสู่ประวัติศาสตร์สำคัญในการเข้าร่วมกลุ่ม เพราะนั่นอาจจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดสงครามโดยตรงระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย

“ผมไม่คิดว่า จะมีมติเป็นเอกฉันท์ในนาโตว่า ควรจะนำยูเครนเข้าสู่ครอบครัวนาโตตอนนี้หรือไม่ ในช่วงเวลานี้ ที่อยู่ท่ามกลางสงคราม” ไบเดน กล่าว

ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวต่อว่า ชาติพันธมิตรจำเป็นต้องวางเส้นทางที่มีเหตุผลสำหรับการเป็นสมาชิกของยูเครน ที่ยังขาดข้อกำหนดบางประการในการเข้าร่วมนาโต รวมถึงความเป็นประชาธิปไตยด้วย

ขณะที่ ยูเครนได้เตือนบ่อยครั้งว่า ยูเครนกำลังต่อสู้ในสงครามของยุโรป เพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของรัสเซีย และยูเครนช่วยทำให้ศัตรูตัวฉกาจของนาโตอ่อนแอลง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่ยูเครนควรได้รับการรับประกันด้านความมั่นคงจากนาโตด้วย

“มันจะเป็นข้อความที่สำคัญที่จะบอกว่า นาโตไม่กลัวรัสเซีย” เซเลนสกี กล่าวให้สัมภาษณ์กับ ABC News เมื่อวันอาทิตย์ (9 กรกฎาคม) ที่ผ่านมา

ความเสี่ยงในการปะทะกับรัสเซียในอนาคตมีน้ำหนักอย่างมากในความคิดของนักวิเคราะห์หลายคน เบน ฟรีดแมน ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายของ Defense Priorities กล่าวว่า สหรัฐฯ ไม่ควรรับประกันด้านความมั่นคงให้แก่ยูเครน และไม่ควรทำในตอนนี้ ผ่านกลุ่มนาโต หรือ ช่องทางอื่น ๆ ที่จะรับประกันความมั่นคงทวิภาคีบางประเภท

ฟรีดแมน แย้งด้วยว่า แม้ยูเครนจะยืนหยัดต่อต้านอย่างกล้าหาญ แต่การพิจารณาถึงผลประโยชน์ในวงกว้างของสหรัฐฯ ต้องมาก่อน

“การรับประกันด้านความมั่นคงให้ยูเครนจะเป็นการกัดเซาะความมั่นคงของสหรัฐฯ ด้วยการเพิ่มความเสี่ยงอย่างเห็นได้ชัดในการทำสงครามกับรัสเซีย… นั่นคือความเสี่ยง แน่นอนว่า ทำให้สถานการณ์ด้านนิวเคลียร์เลวร้ายลง และเป็นความเสี่ยงที่สหรัฐฯ ไม่ได้อะไรเลยในแง่ของความมั่นคง

มีการถกเถียงกันทั้งในระยะสั้น และระยะยาวเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิกนาโตของยูเครน โดยไบเดน เตือนว่า การทำเช่นนั้น ในช่วงภาวะสงครามจะทำให้พันธมิตรนาโต ต้องปกป้องพันธมิตรใหม่ทันที เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่า การป้องกันโดยรวมของกลุ่มนั้นมีความหมาย

“ผมหมายความตามที่ผมพูด มันเป็นพันธสัญญาที่เราต้องทำทั้งหมดไม่ว่าอะไรก็ตาม ถ้าสงครามยังดำเนินอยู่ หากเป็นเช่นนั้น เราทั้งหมดจะเข้าสู่สงคราม เราจะต้องทำสงครามกับรัสเซีย” ไบเดน กล่าว

ขณะที่ ไมเคิล แมคคอล ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะคุยเรื่องยูเครนเข้าร่วมนาโตในทันที

“ประการแรก ยูเครนต้องชนะฝ่ายรุกราน ประการที่สอง ต้องมีการหยุดยิงและมีการเจรจาหาข้อยุติโดยสันติ เราไม่สามารถรับยูเครนเข้าร่วมนาโตได้ในทันที นั่นจะเป็นการผลักเราเข้าสู่สงครามกับรัสเซีย”

“ดังนั้น ผมคิดว่าบทสนทนาควรจะเกี่ยวกับข้อตกลงด้านความมั่นคงใดที่สามารถใช้กับยูเครนได้ เพื่อเป็นการบ่งชี้ถึงการที่ยูเครนจะเข้าสู่นาโต” เขาพูดพร้อมเสริมว่า “เราต้องระมัดระวังในการทำเช่นนี้” แมคคอล กล่าว

อย่างไรก็ตาม บทความจากสำนักข่าว CNN รายงานว่า การเสนอวันเข้าร่วมหลังสงครามสิ้นสุดให้แก่ยูเครน อาจก่อให้เกิดผลตีกลับได้เช่นกัน เพราะจะทำให้เครมลินมีเหตุผลที่จะไม่มีวันยุติความขัดแย้ง และสิ่งนี้จะทำลายความหวังอันริบหรี่ในการหาข้อยุติทางการเมืองหากกองทัพยูเครนยังไม่สามารถขับกองกำลังรัสเซียออกไปได้ทั้งหมด และเสี่ยงที่จะยิ่งเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับปูติน โดยจะยิ่งสร้างความชอบธรรมให้กับหนึ่งในเหตุผลของปูตินในการบุกยูเครน ที่เขากล่าวหาว่าชาติตะวันตกเป็นผู้จุดชนวนสงครามโดยใช้ยูเครนเป็นข้ออ้าง เพื่อทำให้อำนาจรัสเซียอ่อนแอ

นับตั้งแต่เกิดสงครามเป็นเวลานานกว่า 17 เดือน ชาติพันธมิตรนาโตได้ให้ความช่วยเหลือทางทหาร และทางด้านการเงินมูลค่ารวมแล้วกว่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 5.5 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ให้ความช่วยเหลือทางทหารไปมากกว่า 35,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.2 ล้านล้านบาท ล่าสุด ยังประกาศให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม ด้วยการติดอาวุธให้ยูเครนในการขับไล่รัสเซีย ในการตัดสินใจส่ง ‘ระเบิดพวง’ ซึ่งถูกห้ามใช้ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ตามอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง หรือ ‘Convention on Cluster Munitions : CCM’

ขณะที่ ชาวอเมริกันก็ตั้งคำถามว่า ทำไมในท้ายที่สุด ชาวอเมริกัน 330 ล้านคน จะต้องทำสงครามกับรัสเซีย เพื่อปกป้องยูเครน หากเข้าร่วมกับนาโต โดยหวั่นว่าจะเป็นการพาประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดูเหมือนกำลังกระทำการในสิ่งที่คล้ายกับลักษณะของสงครามตัวแทนในยูเครน

ถึงกระนั้น แม้ไบเดนจะออกมาเปลี่ยนจุดยืนการเร่งเข้าเป็นสมาชิกนาโตของยูเครน แต่เขาก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่า ประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐฯ จะปฏิบัติตามพันธกรณีในสนธิสัญญาหรือไม่ โดยโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบสหรัฐฯ ออกมาเตือนไบเดนว่า ไบเดนกำลังพาสหรัฐฯ เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 กับรัสเซีย พร้อมให้คำมั่นว่า เขาจะยุติสงครามในยูเครนภายใน 24 ชั่วโมง หากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ซึ่งความเห็นดังกล่าว ค่อนข้างที่จะให้ความเห็นอกเห็นใจต่อเป้าหมายของปูติน ซึ่งทรัมป์มีความสัมพันธ์ที่ดีกว่า

รัฐบาลทหาร 3 ชาติ ผุดไอเดียตั้ง ‘NATO แอฟริกา’ ผนึกกำลัง เสริมความมั่นคง ต้านทัพชาติตะวันตก

‘รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย’ น่าจะเป็นสุภาษิตที่ใช้ได้ทุกยุค ทุกสมัย ทุกสถานการณ์ และทุกประเทศจริงๆ เพราะมนุษย์เราไม่สามารถทำทุกอย่างคนเดียวได้ แม้แต่ชาติมหาอำนาจที่สุดของโลก ก็ยังต้องพึ่งพาประเทศอื่นๆ เพื่อเสริมพลังให้แก่ตน ไม่ทางใด ก็ทางหนึ่ง

เช่นเดียวกับประเทศที่กำลังมีปัญหาทางการเมืองอย่าง ‘ไนเจอร์’ ที่ตอนนี้ทั่วโลกกำลังจับตาถึงความมั่นคงของรัฐบาลทหาร ที่เพิ่งผ่านการยึดอำนาจมาหมาดๆ และกำลังถูกกดดันจากกองกำลังของ Economic Community of West African States (ECOWAS) พันธมิตรประเทศแอฟริกาอื่นๆที่ได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตก ขู่ว่าจะยกกองกำลังเข้า (รุกราน) แทรกแซงการเมืองในไนเจอร์

ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวด้วยโมเดล ‘โลกล้อมไนเจอร์’ ผ่านการใช้กองกำลังจากพันธมิตรหลายชาติในกาฬทวีป คู่ขนานไปกับการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ที่ดูยังไง ไนเจอร์หัวเดียวกระเทียมลีบ ไม่มีทางเอาชนะได้เลย

แต่ทว่าวันนี้ เราก็ได้เห็นการตอบโต้ที่น่าสนใจของกลุ่มประเทศในแถบซาเฮล ซึ่งตอนนี้กลายเป็น ‘แถบรัฐประหาร’ เนื่องจากมีการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนหลายครั้ง จนเป็นโดมิโนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่เพิ่งจะฟอร์มพันธมิตร 3 ชาติ ‘ไนเจอร์-มาลี-บูร์กินา ฟาโซ’ ก่อตั้งเป็น ‘Alliance of Sahel States’ พันธมิตรแห่งสหรัฐซาเฮล เป็นการรวมตัวกันของรัฐบาลทหาร 3 ชาติ ที่ล้วนแต่ก่อตั้งผ่านกระบวนการรัฐประหารมาเหมือนกัน ในช่วงเวลาไล่เรี่ยกัน อันประกอบด้วย

- พลเอก อับดุลราห์มาน ทะเชียนิ ผู้นำคณะทหารรัฐบาลของประเทศไนเจอร์ 
- พันเอก อัสซิมี โกยตา หัวหน้าคณะรัฐประหารของประเทศมาลี
- ร้อยเอก อิบราฮิม ทราโอเร หัวหน้าคณะรัฐประหาร และผู้นำเฉพาะกาลของประเทศบูร์กีนา ฟาโซ

โดยผู้นำทหารของทั้ง 3 ประเทศ ก็เห็นชอบที่จะจับมือกัน เพราะไหนๆ พวกเราก็เป็นพวกที่ใครๆ มองว่า ‘ฝนตก ขี้หมูไหล’ แล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องเสีย ซึ่งความเก๋ของพันธมิตร 3 ประสานแห่งซาเฮลนี้ มีการร่างข้อตกลงทางทหารร่วมกัน โดยการยกเอาโมเดลสนธิสัญญาของ ‘NATO’ มาแทบทั้งดุ้น

โดยเฉพาะข้อความในมาตรา 5 ของสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ที่ระบุว่า “หากมีการโจมตีชาติสมาชิกชาติใดก็ตาม ถือเป็นการโจมตีประเทศสมาชิกทั้งหมด ก็ปรากฏในมาตรา 6 ของข้อตกลงพันธมิตรสหรัฐซาเฮลเช่นกัน และรูปแบบการป้องกันแบบองค์รวม การจัดตั้งกองกำลังทางทหารร่วมกัน ก็คล้ายกับกองกำลัง NATO ที่ชาติสมาชิก สามารถยกกองทัพมาช่วยกันรบ หากมีการโจมตีดินแดนของชาติสมาชิก จะแตกต่างกันก็แค่ตอนนี้ NATO แห่งแอฟริกา ยังมีแค่ 3 ประเทศ”

ในตอนนี้การเคลื่อนไหวของทีมรัฐบาลทหาร 3 ชาติของภูมิภาคซาเฮล เป็นเรื่องที่น่าจับตาห่างๆ อย่างห่วงๆ เพราะจากปรากฏการณ์การเมืองโลกในยุคสมัยใหม่ หากประเทศใดมีการล้มล้างรัฐบาลพลเรือนด้วยการรัฐประหาร ประเทศนั้นมักถูกโดดเดี่ยวจากเวทีโลก จนกว่าจะเปลี่ยนผ่านสู่กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยอีกครั้ง

แต่สำหรับการฟอร์มพันธมิตรทีมรัฐประหารซาเฮลครั้งนี้ จะเรียกได้ว่าเป็นการ ‘เปิดหน้ารัฐบาลทหาร’ แบบไม่ต้องกระมิด กระเมี้ยนกันอีกแล้ว ที่ทำให้สถานภาพของรัฐบาลรักษาการณ์มีความมั่นคงขึ้น โดยเฉพาะศักยภาพในการต่อกรกับกองกำลังต่างชาติ ที่ต้องการเข้าแทรกแซงการเมืองในประเทศ

และหากโมเดล ‘NATO แห่งแอฟริกา’ สามารถรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลทหารของ 3 พันธมิตรได้จริง และอาจลากเอาชาติอื่นๆใน ‘แถบรัฐประหาร’ ทั้งหมดมารวมกลุ่มได้อีก กลายเป็นกองกำลังที่เป็นปึกแผ่น แข็งแกร่งที่สุดกลุ่มหนึ่งในภูมิภาคนี้ก็เป็นไปได้ และเท่ากับดับฝันฝรั่งเศสที่อาจต้องสูญเสียอิทธิพลในดินแดนแถบนี้ไปตลอดกาลด้วย

แต่จุดที่น่าเป็นห่วงคือ การตั้งอยู่ได้ของ NATO แอฟริกา อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการรัฐประหารในทวีปนี้ให้ขยายวงกว้างออกไปได้เรื่อยๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของประเทศในแอฟริกาทั้งหมด

อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย ในประเทศที่สูญเสียรัฐบาลพลเรือนจากการยึดอำนาจได้ สิ่งที่จะตามมาคือ กลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นชอบกับรัฐบาลทหาร จะถูกกวาดล้าง บีบให้พวกเขาต้องลงใต้ดิน และกลายเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลด้วยความรุนแรงเช่นกัน และมีแนวโน้มจะยกระดับเป็นกลุ่มก่อการร้าย ที่เป็นปัญหาใหญ่ในภูมิภาคแถบนี้ ให้เลวร้ายลงไปอีกนั่นเอง 
ถึงจะดูเป็นการมองโลกในแง่ร้ายไปหน่อย ก็ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ในซาเฮลยังน่าเป็นห่วง และคาดเดาอนาคตได้ยาก กับดินแดนคืบก็ทะเลทราย ศอกก็ทะเลทราย พอลองได้หลงแล้ว หาทางออกลำบากจริงๆ

‘ปูติน’ ลั่น!! รัสเซียไม่คิดขยายวงสงครามไปประเทศอื่น เผย เกือบปิดดีลยูเครนสำเร็จ แต่อีกฝ่ายถอยทัพไปก่อน

เมื่อไม่นานนี้ ในการให้สัมภาษณ์กับนักข่าวอเมริกันเป็นครั้งแรก ของ ประธานาธิบดี ‘วลาดิมีร์ ปูติน’ แห่งรัสเซีย ได้กล่าวยืนยันว่า รัสเซียจะต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตนเองจนถึงที่สุด แต่เขาไม่สนใจที่จะขยายวงสงครามยูเครนไปยังประเทศอื่นๆ อย่างโปแลนด์ หรือลัตเวีย

บทสัมภาษณ์ผู้นำรัสเซีย ความยาวกว่า 2 ชั่วโมง โดย ‘ทัคเกอร์ คาร์ลสัน’ อดีตพิธีกรรายการทอล์กโชว์แนวการเมืองชาวอเมริกัน ผู้เคยจัดรายการ Tucker Carlson Tonight ทางช่องฟ็อกซ์นิวส์ ที่คาร์ลสันเดินทางมาสัมภาษณ์ที่กรุงมอสโก ของรัสเซีย เมื่อวันอังคารที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่นำออกอากาศทาง tuckercarlson.com เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 ก.พ. ในช่วงหนึ่ง ปูตินกล่าวว่า ผู้นำตะวันตกตระหนักดีว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างความปราชัยทางยุทธศาสตร์ให้กับรัสเซีย และกำลังสงสัยว่าจะทำอย่างไรต่อไป ก่อนที่ปูตินจะกล่าวต่อไปว่า “เราพร้อมสำหรับการเจรจา”

เมื่อถูกคาร์ลสันถามถึงฉากทัศน์ที่ผู้นำรัสเซียจะส่งกองทหารรัสเซียเข้าไปยังโปแลนด์ ซึ่งเป็นชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) หรือไม่ ปูตินกล่าวตอบว่า “มีเพียงกรณีเดียวเท่านั้น หากโปแลนด์โจมตีรัสเซีย ทำไมน่ะเหรอ? เพราะเราไม่มีความสนใจโปแลนด์ ลัตเวีย หรือที่อื่นใด”

ทั้งนี้ ในการให้สัมภาษณ์ที่ปูตินพูดเป็นภาษารัสเซียและถูกพากย์ทับเป็นภาษาอังกฤษนั้น ปูตินเริ่มต้นด้วยการร่ายยาวถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของรัสเซียกับยูเครน โปแลนด์ และประเทศอื่นๆ และใช้เวลาส่วนหนึ่งไปกับการคร่ำครวญว่า ยูเครนใกล้จะบรรลุข้อตกลงเพื่อยุติสงครามแล้ว ในการเจรจาที่นครอิสตันบูลเมื่อเมษายนปี 2022 แต่อีกฝ่ายกลับถอยไป เมื่อทหารรัสเซียถอนกำลังออกจากพื้นที่ใกล้กรุงเคียฟ

ปูตินยังกล่าวถึงสหรัฐอเมริกาว่า มีประเด็นเร่งด่วนภายในประเทศที่ต้องกังวล

“จะดีกว่าไหมถ้าเจรจากับรัสเซีย? ทำข้อตกลง ได้เข้าใจสถานการณ์ที่กำลังพัฒนาไปในขณะนี้แล้ว โดยตระหนักว่ารัสเซียจะสู้เพื่อผลประโยชน์ของตนเองจนถึงที่สุด”

นอกจากนี้ ผู้นำรัสเซียยังกล่าวด้วยว่า เขาเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุข้อตกลงในการปล่อยตัว ‘นายอีแวน เกิร์ชโควิช’ นักข่าวอเมริกันของหนังสือพิมพ์เดอะ วอลสตรีทเจอร์นัล ที่ถูกจับกุมในประเทศรัสเซีย เมื่อเกือบ 1 ปีก่อนและกำลังรอการพิจารณาคดีในข้อหาจารกรรม โดยปูตินเปิดเผยว่า หน่วยปฏิบัติการพิเศษของรัสเซียและสหรัฐฯ กำลังหารือกันในคดีเกิร์ชโควิชอยู่ ซึ่งมีความคืบหน้าอยู่บ้าง

นับเป็นการให้สัมภาษณ์สื่อสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกของปูตินนับจากปี 2021 และก่อนที่สงครามรุกรานยูเครนของรัสเซียจะเปิดฉากขึ้นเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน

'ทรัมป์' ลั่น!! หากได้เป็นผู้นำอีกครั้ง  จะปล่อยรัสเซียขยี้ 'ชาตินาโต' ให้แหลก

(12 ก.พ.67) เพจ 'เดือดทะลักจุดแตก' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

ตามคำมั่น คือ ชาติสมาชิก 'นาโต' ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2% ของ GDP

แล้วถามว่าชาติสมาชิกทำตามนั้นหรือไม่ ก็ตามภาพถ้าสีแดง ๆ คือไม่ถึง 2% แต่ถ้าสีน้ำเงิน ๆ คือผ่าน 

แน่นอนว่าอเมริกาออกเยอะสุด (ภาพนี้เฉพาะฟากยุโรป ส่วนอเมริกาเหนือมีโน้ตไว้ข้างล่าง) 

คำถามคือทำไมอเมริกาต้องมาแบก นี่ไม่เคยมีใครตั้งแง่แบบนี้มาก่อน กระทั่ง โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี --- ถึงขั้นขู่จะเลิกควักกระเป๋าแล้วด้วยซ้ำ

พอเป็น โจ ไบเดน เรื่องนี้ก็เงียบไป เพราะไบเดนใช้ 'นาโต' เป็นเครื่องมือในการสร้างพล็อตให้ยูเครนเล่น และแล้วก็เกิดสงครามจนได้

ยังไงก็ตาม อย่าลืมว่ายุคทรัมป์ ไม่เกิดสงคราม (มีแต่สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี แต่ไม่ได้เป็น 'โปรดิวเซอร์' ให้เกิดสงครามที่รบกันแล้วเสียเลือดเนื้อจริง ๆ)

ทรัมป์ก็แค่เอะอะมะเทิ่งเรียกแขก ตามสไตล์ (แต่ทำจริงก็มีให้เห็นแล้วเหมือนกัน!)

มันไม่ได้แปลว่ารัสเซียจะบ้าจี้ แล้วทำอะไรทะเล่อทะล่า และน่าจะมองเป็นแง่ดีด้วยซ้ำ เพราะไอ้ที่ยูเครนซ่าส์จนรัสเซียต้องมาสั่งสอนก็ไม่ใช่เพราะ 'นาโต้' ให้ท้ายหรอกหรือ ... ? (ทั้ง ๆ ที่ยูเครน จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้เป็นสมาชิกเลยด้วยซ้ำ)

การที่อเมริกาออกหน้า ประกาศว่า ตัวใครตัวมันนะจ๊ะ ฉันไม่ยุ่ง ยิ่งทำให้แต่ล่ะชาติสมาชิกระมัดระวังเนื้อระวังตัว ไม่บุ่มบ่ามเกินงาม

โอกาสเกิดสงครามก็ยากขึ้น

ย้ำว่า!! อย่าลืมว่ายุคทรัมป์ ไม่มีสงคราม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top