Tuesday, 13 May 2025
Lite

21 กันยายน ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันประมงแห่งชาติ’ สนับสนุนคนทำอาชีพประมง ตระหนักถึงความสำคัญ พร้อมสร้างขวัญกำลังใจให้ชาวประมงไทย

วันประมงแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 21 กันยายนของทุกปี เพื่อเป็นการสนับสนุนในการทำอาชีพประมง และเป็นที่ระลึก สร้างขวัญกำลังใจในการประกอบอาชีพของชาวประมงไทย

จุดเริ่มต้นของ ‘วันประมงแห่งชาติ’ เกิดจาก ‘สหกรณ์ประมงสมุทรสาคร’ ได้ทําหนังสือลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 ถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เสนอให้รัฐบาลกําหนดวันประมงแห่งชาติขึ้น เพื่อให้เป็นกําลังใจในการประกอบอาชีพและอาสาปกป้องประเทศทางด้านทะเล 

นายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้พิจารณา ซึ่งได้มอบให้ ‘กรมประมง’ เป็นผู้รับเรื่อง เนื่องจากเกี่ยวข้องโดยตรง 

นอกจากนี้สํานักเลขาธิการฯ ได้ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ สั่งการให้ราชบัณฑิตยสถานและกรมศิลปากรร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมอีกด้วย กรมประมงจึงได้ประสานงานกับกองทัพเรือและมีความเห็นร่วมกันให้ ‘วันสงกรานต์’ ซึ่งประชาชนชาวไทยยึดถือเสมือนเป็นวันขึ้นปีใหม่มาตั้งแต่อดีต เป็นวันที่หยุดปฏิบัติภารกิจประจําวัน ในวันดังกล่าว เพื่อไปทําบุญตักบาตร ปล่อยนก ปล่อยปลา เพื่อความเป็นสิริมงคลและในวันนี้ทางราชการได้ถือว่าเป็น ‘วันขยายพันธุ์ปลาแห่งชาติ’ โดยสนับสนุนให้ประชาชนนําพันธุ์ปลาไปปล่อย ตามแหล่งน้ำต่าง ๆ ในโอกาสที่วันนี้เป็นวันสําคัญวันหนึ่งโดยมีศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงสมควร กําหนดให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็น ‘วันประมงแห่งชาติ’ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา 

นอกจากนี้ยังเห็นสมควรให้หยุดทําการประมง มีการปล่อยปลาในแหล่งน้ำต่าง ๆ รวมทั้งในทะเลด้วย เพื่อเป็นการชดเชยสําหรับการที่ได้ทําการประมงมาตลอดปี 

แต่ในปัจจุบันกรมประมงพิจารณาแล้วเห็นว่าสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยโดยรวมในช่วง เดือนเมษายนแล้งมากในทุกจังหวัด แหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำต่าง ๆ มีปริมาณค่อนข้างน้อย ดังนั้นการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในช่วงวันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นช่วงอุณหภูมิอากาศสูงมากพันธุ์สัตว์น้ำ ที่กรมประมงเตรียมมาให้ประชาชนปล่อยมีอัตราการตายสูง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นฤดูฝน แหล่งน้ำต่าง ๆ มีปริมาณน้ำมาก สภาพทางธรรมชาติของแหล่งน้ำเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อน 

กอปรกับวันที่ 21 กันยายน เป็น ‘วันสถาปนากรมประมง’ ดังนั้นเพื่อเป็นการรําลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชโองการเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2469 ตั้ง ‘กรมรักษาสัตว์น้ำ’ ขึ้น ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘กรมประมง’ ดังนั้นจึงมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2549 กําหนดให้เปลี่ยน ‘วันประมงแห่งชาติ’ จากเดิมวันที่ 13 เมษายน เป็นวันที่ 21 กันยายนของทุกปี ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยให้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา

22 กันยายน ‘วันสงขลานครินทร์’ รำลึก ‘ในหลวง ร.9’ พระราชทานชื่อ ‘มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์’ ตามพระนามฐานันดรศักดิ์ ‘สมเด็จพระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์’

วันที่ 22 กันยายน ของทุกปี เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งคือ ‘วันสงขลานครินทร์’ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยภาคใต้ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2510 ว่า ‘สงขลานครินทร์’ ตามพระนามฐานันดรศักดิ์ของสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ที่ได้ทรงดำรงพระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์เป็น ‘กรมหลวงสงขลานครินทร์’

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2505 รัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่ภาคใต้ โดยเริ่มต้นจากการจัดตั้ง ‘วิทยาลัยศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์’ เพื่อรอการพัฒนาขึ้นเป็นระดับมหาวิทยาลัย 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติหลักการในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในภาคใต้ขึ้นที่ ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยจะใช้เป็นที่ตั้งของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และใช้ชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า ‘มหาวิทยาลัยภาคใต้’ ซึ่งมีสำนักงานชั่วคราวของมหาวิทยาลัยอยู่ที่อาคารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (อาคารคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน)

หลังจากนั้น คณะกรรมการพัฒนาภาคใต้ โดย พันเอก (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขอพระราชทานชื่อให้แก่มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่มหาวิทยาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า ‘มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์’ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2510 ตามพระนามทรงกรมของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก คือ ‘กรมหลวงสงขลานครินทร์’ และใช้อักษรย่อ ‘ม.อ.’ คืออักษรย่อมาจากพระนาม ‘มหิดลอดุลเดช’ อันเป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ และทรงพระราชทานตราประจำพระองค์ เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย

ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงถือว่าวันที่ 22 กันยายนของทุกปีเป็น ‘วันสงขลานครินทร์’

ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2511 ได้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ขึ้น มหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้วันที่ 13 มีนาคมของทุกปีเป็น ‘วันสถาปนามหาวิทยาลัย’

มหาวิทยาลัยมีคติพจน์ว่า ‘ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศจะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์’ ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย คือ ดอกศรีตรัง สีประจำมหาวิทยาลัย คือ สีน้ำเงิน

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อักษรย่อ ม.อ. ไม่ใช่ มอ. ชื่อภาษาอังกฤษ Prince of Songkla University อักษรย่อ PSU (ภาษาอังกฤษใช้ Songkla ซึ่งเขียนเหมือนพระนามประจำพระองค์ แตกต่างจากจังหวัดสงขลาที่ปัจจุบันใช้ภาษาอังกฤษ Songkhla)

23 กันยายน ของทุกปี ‘วันภาษามือโลก’ (International Day of Sign Languages) ตระหนักถึงความสำคัญของภาษามือ-สิทธิผู้พิการทางการได้ยิน

23 กันยายน ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันภาษามือโลก’ โดยองค์การสหประชาชาติ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ภาษามือ รวมไปถึงเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสิทธิมนุษยชนของคนหูหนวก

นอกจากนี้วันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1951 ก็เป็นวันก่อตั้งสมาคมคนหูหนวกโลก หรือ WFD ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงเลือกวันที่ 23 กันยายน เป็นวันภาษามือโลก (International Day of Sign Languages) โดยปรากฏขึ้นอย่างเป็นทางการในงานสัปดาห์คนหูหนวกแห่งชาติ ซึ่งจัดในปี ค.ศ. 2018

จุดประสงค์ในการก่อตั้งวันภาษามือโลก เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ภาษามือ รวมไปถึงเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสิทธิมนุษยชนของคนหูหนวกด้วย โดยข้อมูลจากสมาคมคนหูหนวกโลก (WDF) เผยว่า ปัจจุบันมีผู้พิการทางการได้ยินมากกว่า 70 ล้านคนทั่วโลก และกว่า 80% อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา นั่นหมายความว่า มีภาษามือกว่า 300 ภาษาที่ใช้อยู่ตอนนี้ ซึ่งถือว่ามีความหลากหลายอย่างมาก และเราก็ไม่ควรมองข้ามภาษามือเหล่านี้

ภาษามือของแต่ละประเทศมีวิวัฒนาการที่เป็นอิสระจากกัน คนที่อยากเรียนภาษามือก็จะเข้าเรียนในโรงเรียนโสตศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนผู้พิการทางการได้ยิน ดังนั้นภาษามือของแต่ละประเทศก็จะแตกต่างจากกัน แม้แต่ประเทศที่มีภาษาพูดใกล้เคียงกันอย่างเช่น สหราชอาณาจักรกับสหรัฐอเมริกา ก็มีภาษามือที่แตกต่างกันลิบลับ จนใช้สื่อสารระหว่างกันไม่ได้ 

ในปีค.ศ. 1973 สมาคมคนหูหนวกโลก (World Federation of the Deaf) ริเริ่มเผยแพร่ชุดคำศัพท์ภาษามือมาตรฐานที่เรียกกันว่า ‘ภาษามือสากล’ เพื่อที่จะให้เป็นภาษากลางของภาษามือ เช่นเดียวกับภาษาเอสเปอรันโตที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นภาษากลางในโลกของภาษาพูด ทุกวันนี้ในการประชุมระดับนานาชาติ บางครั้งก็ใช้ภาษามือสากลเป็นภาษาหลัก

และเพื่อให้คนหูหนวกสามารถรับรู้ข่าวสารและสามารถเสพสื่อได้อย่างเข้าใจ ทำให้ในปัจจุบันรายการต่าง ๆ ทั้งรายการข่าวและสื่อบันเทิงมักมีล่ามภาษามือคอยบรรยายอยู่มุมล่างขวามือของจอเสมอ

24 กันยายน วันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันไทย

‘วันมหิดล’ ตรงกับวันที่ 24 กันยายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า ‘พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย’ คณะแพทยศาสตร์สิริราชพยาบาล ได้ขนานนามวันอันเป็นที่ระลึกสำคัญนี้ว่า ‘วันมหิดล’ เพื่อเป็นการถวายสักการะ

‘สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก’ ทรงพระราชสมภพวันที่ 1 มกราคม (ตามปฏิทินเก่าคือ ปี พ.ศ. 2434 แต่ตามปฏิทินใหม่คือ ปี พ.ศ. 2435) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระเชษฐา และพระเชษฐภคินีที่ประสูติร่วมพระราชมารดา 7 พระองค์

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (รัชกาลที่ 8) และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) และเป็นพระอัยกาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (รัชกาลที่ 10)

พระองค์มีคุณูปการแก่กิจการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของประเทศไทย ประชาชนโดยทั่วไปคุ้นเคยกับพระนามว่า ‘กรมหลวงสงขลานครินทร์’ หรือ ‘พระราชบิดา’ และบางครั้งก็ปรากฏพระนามว่า ‘เจ้าฟ้าทหารเรือ’ และ ‘พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย’ ส่วนชาวต่างประเทศเรียกพระนามว่า ‘เจ้าฟ้ามหิดล’

หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระองค์ทรงพระประชวร ต้องประทับในพระตำหนักวังสระปทุม และสวรรคตเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 เวลา 16.45 น. เมื่อพระชนมายุ 37 พรรษา 8 เดือน 23 วัน

ด้วยความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผู้ที่เคยได้รับพระกรุณาในด้านต่าง ๆ จากพระองค์ จึงได้รวบรวมเงินจัดสร้างพระรูปประดิษฐานไว้ ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยมอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้าง มี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ควบคุม

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2493 และ ในวันที่ 24 กันยายนปีเดียวกัน นักศึกษาแพทย์ได้ริเริ่มจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ โดยมีพิธีวางพวงมาลา ถวายบังคมพระรูป อ่านคำสดุดีพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประกาศให้วัน ที่ 24 กันยายน ของทุกปีเป็น ‘วันมหิดล’ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 เป็นต้นมา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในฐานะพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย

‘แอ๊ด คาราบาว’ เปิดตัวสามแขกรับเชิญสุดพิเศษ ‘หงา – ฮิวโก้ – ลิเดีย’ ร่วมแจมใน ADD BAO ACOUSTIC CONCERT 5 ตุลา นี้ ที่ธันเดอร์โดม

(21 ก.ย.67) ใกล้เข้ามาทุกที สำหรับคอนเสิร์ต ADD BAO ACOUSTIC CONCRET (แอ๊ด บาว อะคูสติก คอนเสิร์ต) เดี่ยวคอนเสิร์ตอคูสติกของศิลปินตำนานเพลงเพื่อชีวิต ‘แอ๊ด คาราบาว’ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 5 ตุลาคมนี้ ณ ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี เรียกได้ว่าเป็นคอนเสิร์ตที่เจ้าตัวทุ่มเทการซ้อมโชว์อย่างหนัก เพื่อแฟนเพลงทุกคน คอนเสิร์ตครั้งนี้ แฟน ๆ ยังจะได้พบกับแขกรับเชิญสุดพิเศษจาก 3 ศิลปินคุณภาพแห่งวงการเพลง หงา สุรชัย จันทิมาธร, ฮิวโก้ จุลจักร จักรพงษ์ และ ลิเดีย ศรัณย์รัชต์ ดีน ที่โคจรมาพบกัน เตรียมสร้างปรากฏการณ์ความสุขสุดยิ่งใหญ่ ในคอนเสิร์ตสุดพิเศษ รูปแบบเวอร์ชั่นอคูสติก โดย แอ๊ด คาราบาว ยังนั่งแท่นควบตำแหน่งโชว์ไดเรกเตอร์ด้วยตัวเอง

ADD BAO ACOUSTIC CONCRET (แอ๊ด บาว อะคูสติก คอนเสิร์ต) จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม นี้ ณ ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี จำหน่ายบัตรแล้วทาง Counter Service All Ticket ในร้าน 7-Eleven ทุกสาขาทั่วประเทศ และเว็บไซต์ AllTicket บัตรราคา 1500 , 3000 และ 4000 บาท พิเศษเฉพาะบัตร 4,000 ได้รับเสื้อที่ระลึก ADD BAO ACOUSTIC ที่หน้างาน 

ติดตามรายละเอียดได้ทางแฟนเพจ ‘ล้อมวงมันส์ Fun Network’ แฟนเพลง แอ๊ด คาราบาว ไม่ควรพลาด!!  

เปิดเลนส์ 'Alex and Coni' ยูทูบเบอร์สายท่องเที่ยวต่างชาติ 'ประเทศไทย' ดินแดนแห่งความฝันที่ทำให้พวกเขาหลงเสน่ห์

(23 ก.ย. 67) ไม่นานมานี้ จากช่องยูทูบ 'Alex and Coni' (Alex ชาวเยอรมนี และ Coni ชาวอาร์เจนตินา) คู่รักผู้ชื่นชอบและหลงเสน่ห์ความเป็นไทย ได้นำเสนอคลิปสารคดีเกี่ยวกับเมืองไทย ที่ถ่ายทอดออกมาในแบบที่คนไทยเองได้เห็นแล้วยังต้องทึ่งกับมุมมองของไทยที่แสนงดงาม ทั้งสถานที่ วัฒนธรรม ผู้คน

ทั้งนี้ หากสังเกตให้ดี นับวันประเทศไทย และการท่องเที่ยวไทย จะยิ่งครองใจชาวต่างชาติที่มีโอกาสได้พลัดหลงเข้ามาต้องมนต์เสน่ห์แห่งดินแดนสยาม ดูได้จากชาวต่างชาติจำนวนมาก เริ่มทำคลิปท่องเที่ยวไทย ซึ่งเปรียบเสมือนการโปรโมตไทยจากใจคนที่ได้สัมผัสจริง ๆ มากขึ้น เช่นเดียวกันกับ ช่องยูทูบ Alex and Coni (Alex ชาวเยอรมนี และ Coni ชาวอาร์เจนตินา) 

สำหรับ Alex and Coni ทั้งสองมองว่า เมืองไทยเปรียบเสมือนดินแดนแห่งความฝันที่ต้องจดจำ ที่อยากค้นหา หลังจากได้มีโอกาสสัมผัสเมืองไทยในมิติที่ลึกขึ้น

ทั้งนี้ โดยพื้นฐาน Alex and Coni นั้นเป็นผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวในเชิงของคุณค่า ที่แฝงไปด้วยเรื่องราวทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย และถ่ายทอดออกมาผ่านคลิป ด้วยมุมมองต่าง ๆ ดังนี้...

พวกเขามักจะออกสำรวจเมืองผ่านที่มีชีวิตชีวา: หาดทรายที่เงียบสงบ และสิ่งมหัศจรรย์โบราณด้วยภาพโดรนในโรงภาพยนตร์และการตัดต่ออย่างมืออาชีพ 

พวกเขามักถ่ายทอดความรู้เชิงวัฒนธรรม: เจาะลึกประวัติศาสตร์, ประเพณี, และประสบการณ์ในท้อง ถิ่นซึ่งทำให้จุดหมายปลายทางแต่ละแห่งไม่ซ้ำกัน

พวกเขามักถ่ายทอดจากประสบการณ์จริง: โดยติดต่อกับคนท้องถิ่น และเปิดฉากการผจญภัยที่น่าตื่นตาตื่นใจด้วยตัวเองเสมอ

และพวกเขามักถ่ายทอดเนื้อหาเกี่ยวกับการศึกษาและแรงบันดาลใจ: เรียนรู้เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวและได้รับแรงบันดาลใจในการสำรวจโลกผ่านเรื่องราวที่ให้ความรู้และน่าสนใจออกมาเป็นเนื้อหาภาพสวยงาม

นี่คือความน่าสนใจหลังจากคลิปที่ทั้งคู่ได้เริ่มปรากฏสู่สายตาคนไทย เพราะนี่ไม่ใช่แค่การรีวิวไทยแบบผ่านๆ แต่เป็นการนำเสนอประเทศไทยแบบตั้งใจในมิติต่าง ๆ แบบที่คนไทยจำนวนมากยังไม่เคยไปสัมผัสเลยด้วยซ้ำ ตั้งแต่ที่เริ่มอัปเดตคลิปลง YouTube / TikTok และ Instagram ตั้งแต่ 20 มี.ค.2023

ล่าสุดคลิปวิดีโอในชื่อ 'ประเทศไทย | ดินแดนแห่งความฝันที่ถูกลืม' (https://youtu.be/Upn-O-M5Mic?si=u_ZG4yf84UIgYdDm) ซึ่งนำเสนอออกมาเหมือนงานสารคดีชั้นยอดนั้น ก็เหมือนกระจกสะท้อนเมืองไทยในทุกมิติไปสู่สายตาชาวโลก

ตั้งแต่เหนือที่เต็มไปด้วยความวิจิตรแห่งวัดดังภายใต้สถาปัตยกรรมที่อ่อนช้อย งดงาม พร้อมเรื่องราวแห่งที่มาที่ไปอันน่าจดจำ พาดผ่านไปยังภาคใต้ของไทย ที่อุดมไปด้วย ทะเล หาดทราย แสงอาทิตย์ ที่สร้างคลื่นขนาดใหญ่กลืนหัวใจทุกนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีโอกาสได้ทอดกายลงทุกแนบทุกหยดทะเลไทยในแดนใต้

นอกจากนี้ ‘รอยยิ้มแห่งสยาม’ ยังเป็นความงดงามที่ Alex and Coni ได้สัมผัสผ่านน้ำใจคนไทย ที่แทบจะกล้าพูดว่า ชาติใดในโลกก็ยังยากจะเทียบได้ในส่วนนี้

แน่นอนว่า วัฒนธรรมไทย อาหารไทย ความทันสมัยแบบร่วมสมัยของแต่ละจังหวัด และความปลอดภัยในสยามประเทศ ก็เป็นอีกจุดเด่นสำคัญที่ทำให้พวกเขาทั้งสอง ยังคงท่องเที่ยวอยู่ในบ้านเราอย่างต่อเนื่อง

เห็นต่างชาติชื่นชมบ้านเราขนาดนี้ คนไทยก็ขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้ผลงานดี ๆ นี้ มีผู้ติดตามมากขึ้น ๆ

อย่าพลาดวิดีโอใหม่ ๆ ของพวกเขา 'Alex and Coni' ได้ที่ Instagram และ TikTok @alexandconi / YouTube www.youtube.com/@alexandconi

25 กันยายน พ.ศ. 2541 วันสถาปนา ‘มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง’ รำลึกถึง ‘สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี’

‘มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง’ เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาลตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2541 ภายหลังการเรียกร้องของชาวจังหวัดเชียงรายที่ต้องการมีมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น และเพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงใช้พระราชสมัญญา ‘แม่ฟ้าหลวง’ เป็นชื่อมหาวิทยาลัย

หลังจากที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ประชาชนชาวเชียงรายร่วมกับหน่วยราชการในจังหวัดเชียงรายเห็นพ้องต้องกันว่า โดยที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ไพศาลต่ออาณาประชาราษฎร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนชาวเชียงรายที่ได้ทรงเลือกจังหวัดเชียงรายเป็นสถานที่สร้างพระตำหนัก หรือบ้านหลังแรกของพระองค์ และทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งได้นำความเจริญรุ่งเรือง มายังจังหวัดและประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง

ฉะนั้น เพื่อแสดงความจงรักภักดีตลอดจนเพื่อสนองพระราชปณิธานของพระองค์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาคน จึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงรายต่อรัฐบาลที่มีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรีการดำเนินการเพื่อการจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงราย ได้มีความคืบหน้าเป็นลำดับ รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2539 ให้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่จังหวัดเชียงราย โดยอาจยกฐานะสถาบันราชภัฏเชียงรายขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยก็ได้

ต่อมารัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีมติใหม่ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ในจังหวัดเชียงราย และได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2541 ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับงบประมาณในการดำเนินการเพื่อการเตรียมการจัดตั้ง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2541 และงบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างมหาวิทยาลัยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2542 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,325 ล้านบาท การก่อสร้างตามโครงการระยะแรกเสร็จสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 5 ปี บนพื้นที่ 4,997 ไร่ ณ บริเวณดอยแง่ม อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

‘พิมพ์มาดา’ ร่วมไว้อาลัย ‘อ๋อม อรรคพันธ์’ หลังจากไปด้วยโรคมะเร็ง พร้อมแชร์ความน่ากลัวของมะเร็ง แนะทุกคนใส่ใจ-ตรวจสุขภาพ

(23 ก.ย. 67) หลังจากที่โรคมะเร็งร้ายได้คร่าชีวิตพระเอกชื่อดัง 'อ๋อม อรรคพันธ์ นะมาตร์' จากไปอย่างไม่มีวันกลับในวัยเพียง 39 ปี สร้างความตกใจให้กับเพื่อน ๆ ในวงการบันเทิง รวมไปถึงเหล่าแฟนละครของพระเอกชื่อดัง 

ด้าน 'พิมพ์' พิมพ์มาดา บริรักษ์ศุภกร หรือ พิมพ์  ZAZA นักร้อง-นักแสดงชื่อดังที่เคยป่วยโรคมะเร็ง ได้ออกมาโพสต์อินสตาแกรมส่วนตัว @pimmada พร้อมระบุข้อความว่า… 

"ไม่มีโอกาสได้รู้จักคุณอ๋อมส่วนตัว แต่พิมพ์ก็เป็นคนนึงที่เคยสัมผัสกับโรคนี้ มันน่ากลัวค่ะ มันพรากคนที่เรารักไปนักต่อนัก พิมพ์ยังคงเป็นผู้โชคดี แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก ยังคงขอเป็นกระบอกเสียงให้ทุกคนใส่ใจสุขภาพ อย่าละเลยนะคะ ไปตรวจสุขภาพกันค่ะ ขอส่งคุณอ๋อมไปพักผ่อนในที่ที่สบายที่สุด เสียใจกับครอบครัวด้วยนะคะ"

26 กันยายน พ.ศ. 2430 ‘ไทย-ญี่ปุ่น’ ลงนามปฏิญญาทางพระราชไมตรี จุดเริ่มความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ

ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทย มีประวัติยาวนานหลายร้อยปี แต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการโดยการลงนามในปฏิญญาทางไมตรี และการพาณิชย์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2430

จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์อันดีในครั้งนั้น ได้ทำให้ไทยและญี่ปุ่น มีระดับความใกล้ชิดที่ราบรื่น จนเกิดความร่วมมือของทั้งสองประเทศครอบคลุมทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ และไทยเองก็ได้มุ่งกระชับความสัมพันธ์ และความร่วมมือกับญี่ปุ่นให้พัฒนาไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ (strategic and economic partnership)

โดยมีการเยือนสำคัญในระดับพระราชวงศ์ ที่สำคัญ คือในช่วงต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เพื่อทรงเจริญสัมพันธไมตรี พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และหนึ่งในประเทศที่พระองค์เลือกเสด็จพระราชดำเนินเยือน คือ ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2506

ในครั้งนั้น พระองค์ทรงเสด็จเยือนกรุงโตเกียว เมืองนาโงยา จังหวัดเกียวโต และนารา และฝ่ายญี่ปุ่นได้ถวายการต้อนรับ ด้วยการนำเสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงงานผลิตกล้องถ่ายรูป และวิทยุ เพื่อทอดพระเนตรเทคโนโลยีการผลิตของญี่ปุ่น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าฝ่ายญี่ปุ่นทราบถึงความสนพระราชหฤทัยของพระองค์เป็นอย่างดี

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่นในครั้งนั้น เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพระราชไมตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ

โดยการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ เพื่อทรงตอบแทนพระราชไมตรี มกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ พร้อมด้วยเจ้าหญิงมิชิโกะ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2507 ซึ่งในครั้งนั้นมีเหตุการณ์อันเป็นที่ระลึกแห่งพระราชไมตรี และพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และนับเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ขณะที่ความสัมพันธ์ระดับประชาชนของทั้งสองประเทศก็มีความใกล้ชิดแนบแน่น โดยปัจจุบัน มีชาวไทยที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่นในปี 2019 ประมาณ 86,666 คน ในขณะที่มีชาวญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ในประเทศไทยในปี 2021 จำนวน 82,574 คน 

27 กันยายน พ.ศ. 2448 ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก เสนอสมการก้องโลก ‘E=mc2’ เป็นครั้งแรก

27 กันยายน ค.ศ. 1905 (พ.ศ. 2448) อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก เผยแพร่บทความเรื่อง ‘Does the Inertia of a Body Depend Upon Its Energy Content ?’ (จริงหรือไม่ที่ความเฉื่อยขึ้นอยู่กับพลังงานภายในของวัตถุ) เป็นครั้งแรก ซึ่งได้นำเสนอสมการก้องโลก E=mc2 สมการนี้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างมวลและพลังงาน อธิบายได้ว่า เมื่อให้พลังงานกับมวลเพื่อให้มีความเร็วเพิ่มขึ้น มวลนั้นก็จะมีค่าเพิ่มขึ้นด้วย จากทฤษฎีนี้ทำให้นำสู่ผลที่ว่าไม่มีอะไรเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าแสง หลักการนี้จึงเป็นหลักการเบื้องต้นของ ‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป’ (theory of relativity) 

แม้ว่าไอน์สไตน์จะใช้เวลาเพียงแค่ 4 เดือน ในการสร้างผลงานปฏิวัติโลกด้วยผลงานเด่น ๆ 3 ผลงานในปีนี้ คือ ‘ปรากฏการณ์โฟโตอิเลกตริก’ (Photoelectric Effect) / ‘การเคลื่อนที่แบบบราวเนียน’ (Brownian Motion) และ ‘ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ’ (special relativity) แต่โลกต้องใช้เวลาอีกหลายทศวรรษเพื่อทำความเข้าใจและเห็นคุณค่าในผลงานเหล่านี้ 

ต่อมาได้มีการประกาศให้ปี 2448 เป็นปีมหัศจรรย์ของไอน์สไตน์และในปี 2548 วงการวิทยาศาสตร์โลกได้ประกาศให้เป็น ‘ปีฟิสิกส์โลก’ (World Year of Physics 2005) และมีการจัดงานฉลองครบรอบ 1 ศตวรรษปีมหัศจรรย์ไอน์สไตน์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top