Tuesday, 13 May 2025
Lite

29 กรกฎาคม ของทุกปี รำลึก ‘วันภาษาไทยแห่งชาติ’ ตามแนวพระราชดำรัส ‘ในหลวง ร.9’ หวังคนไทย 'รู้คุณค่า-รักษาบริสุทธิ์' ในการออกเสียงภาษาที่ถูกต้อง

วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันที่คนไทยควรตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ อันเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมทางภาษาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

วันภาษาไทยแห่งชาติ มีขึ้นเพื่อรำลึกถึงความสำคัญของภาษาไทย ในราวปี พ.ศ. 1826 พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ ‘ลายสือไทย’ ขึ้นเป็นครั้งแรก ดัดแปลงมาจากอักษรมอญและเขมร มีพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ เพื่อใช้แทนความหมายและเสียงต่าง ๆ ในภาษาไทย ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็น ‘อักษรไทย’ ที่เราใช้กันในปัจจุบันนั่นเอง

สำหรับวันภาษาไทยแห่งชาติ ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2542 โดยมีความเป็นมาจากเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชดำเนินไปอภิปรายหัวข้อ ‘ปัญหาการใช้คำไทย’ ในการประชุมวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 พระองค์ท่านทรงแสดงความห่วงใยในภาษาไทย โดยทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า…

“เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียงคือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้ สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่าย ๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่า ๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก”

ต่อมาในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 เป็นวันเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติลงความเห็นให้ วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น ‘วันภาษาไทยแห่งชาติ’ และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

30 กรกฎาคม พ.ศ. 2470 ‘โชคสองชั้น’ ภาพยนตร์ฝีมือคนไทยเรื่องแรก ถูกนำเข้าฉาย ณ โรงภาพยนตร์พัฒนากร

‘โชคสองชั้น’ เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก ที่สร้างและผลิตโดยคนไทยทั้งหมด เป็นภาพยนตร์เงียบ ถ่ายทำด้วยฟิล์มขาว-ดำขนาด 35 มม. ผลิตโดย กรุงเทพ ภาพยนตร์ บริษัท (ต่อมา คือ บริษัท ภาพยนตร์ศรีกรุง ของมานิต วสุวัต ร่วมกับคณะนักหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ และศรีกรุง)

อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์ ‘โชคสองชั้น’ เข้าฉายครั้งแรกเมื่อ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2470 ที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร มีจำนวนผู้ชมสูงสุด 4 คืน กับ 1 วัน เท่ากับ 12,130 คน ทำลายสถิติเมื่อ 4 ปีก่อนหน้า ของภาพยนตร์เรื่อง ‘นางสาวสุวรรณ’ ปัจจุบันหนังเรื่องนี้ได้รับความเสียหายจากความเสื่อมสภาพ โดยหอสมุดแห่งชาติได้ค้นพบฟิล์มและพิมพ์สำเนาใหม่เอาไว้ได้เพียง 42 ฟุต คิดเป็นภาพนิ่งทั้งหมด 1,319 ภาพ รวมความยาวประมาณ 1 นาที

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2555 เนื่องในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทยของหอภาพยนตร์ ขณะมีอายุเก่าแก่ที่สุด 85 ปี ในบรรดา 25 เรื่อง

31 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 ถือกำเนิด ‘แท็กซี่’ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ยุคนั้นเรียก 'รถไมล์' ช่วยทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 ให้มีอาชีพหลังปลดราชการ

วันนี้ในอดีต 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 ประเทศไทยเริ่มมี ‘แท็กซี่’ ให้บริการเป็นครั้งแรก โดย พระยาเทพหัสดินร่วมกับพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ เป็นผู้ก่อตั้ง ‘บริษัท แท็กซี่สยาม’ ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อช่วยทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่ 1 ให้มีอาชีพหลังจากปลดจากราชการ โดยนำเอารถเก๋งออสติน (Austin) ขนาดเล็กออกวิ่งรับจ้าง โดยติดป้ายรับจ้างไว้ข้างหน้า-หลังของตัวรถ โดยมีรถให้บริการ 14 คัน คิดค่าบริการตามไมล์ ไมล์ละ 0.15 บาท หรือ 15 สตางค์ (1 ไมล์ = 1.609344 กิโลเมตร) ซึ่งนับว่าแพงมากเมื่อเทียบกับราคาค่าโดยสารในปัจจุบัน ในสมัยนั้นจึงนิยมเรียกกันว่า ‘รถไมล์’ เพราะเก็บค่าโดยสารตามเลขไมล์ระยะทางที่วิ่ง โดยใช้รถยนต์ยี่ห้อออสติน แต่ประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากค่าโดยสารแพง ผู้คนยังไม่คุ้นเคยจึงไม่ยอมนั่ง ประกอบกับเมืองกรุงเทพฯ ยังมีขนาดเล็ก และมีรถรับจ้างอื่น ๆ อยู่มากและราคาถูกกว่าจึงต้องล้มเลิกกิจการไป 

จนกระทั่งปี 2490 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เจ้าของธุรกิจเอกชนบางราย ได้เริ่มการฟื้นฟูกิจการแท็กซี่ในประเทศไทยขึ้นมาใหม่ โดยในช่วงแรกจะนิยมใช้รถยนต์ยี่ห้อเรโนลต์ (Renault) สมัยนั้นจึงเรียก ‘แท็กซี่’ ว่า ‘เรโนลต์’ ได้รับความนิยมจากคนทั่วไปเป็นอย่างมาก เนื่องจากสะดวกรวดเร็วกว่ารถจักรยานสามล้อถีบซึ่งมีชุกชุมในยุคนั้น ด้วยเหตุนี้ทำให้อาชีพขับรถแท็กซี่เป็นที่ฮือฮา มีผู้นำรถเก๋งไปทำเป็นรถแท็กซี่กันมากขึ้นจนระบาดไปต่างจังหวัด จนต้องมีการควบคุมกำหนดจำนวนรถ ต่อมารถแท็กซี่ เปลี่ยนกลับมานิยมยี่ห้อออสติน ตามด้วยรถดัทสัน, บลูเบิร์ด, และโตโยต้าในที่สุด

อย่างไรก็ตาม เมื่อก่อนป้ายทะเบียนของรถประเภทแท็กซี่จะมีราคาแพงเป็นหลักแสนบาท จึงทำให้ผู้ให้บริการใช้รถยนต์แท็กซี่นานหลายสิบปี จนมีสภาพชำรุดทรุดโทรมเพื่อให้คุ้มทุนค่าป้ายทะเบียน 'แท็กซี่’

และในสมัยก่อน กฎหมายไม่ได้บังคับให้มีการติดมิเตอร์ การจ่ายค่าโดยสารจึงเป็นไปตามการต่อรองระหว่างผู้โดยสารและผู้ให้บริการ เมื่อยุคสมัยผ่านไป ในช่วงเวลาหนึ่ง 'แท็กซี่' กลายเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาจราจรจากการจอดต่อรองราคาดังกล่าว 

ดังนั้นในปี 2535 จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยมีการออกกฎหมายให้รถแท็กซี่ที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เป็นต้นไป ‘ต้องติดมิเตอร์’ อีกทั้งกรมการขนส่งทางบกยังได้เปลี่ยนระบบป้ายทะเบียนแท็กซี่ ให้จดทะเบียนได้ในราคาถูกลงจากเดิม (เป็นหลักพันบาท) แต่จำกัดอายุของรถแท็กซี่ไว้มิให้เกิน 12 ปี หากเกินจากนี้จะต้องปลดประจำการไม่สามารถเป็นรถแท็กซี่ได้อีก และยังได้สั่งให้เปลี่ยนสีรถแท็กซี่บุคคล จากสี ‘ดำ-เหลือง’ ในระบบป้ายแบบเก่า เป็นสี ‘เขียว-เหลือง’ ในระบบป้ายแบบจำกัดอายุ

ปัจจุบันแท็กซี่ในเมืองไทยเป็นรถปรับอากาศ ติดมิเตอร์คิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทางและเวลา โดยเริ่มต้นที่ 35 บาท พร้อมทั้งมีวิทยุสื่อสาร บางคันอาจมีทีวีให้ดูในระหว่างการเดินทางด้วย

1 สิงหาคม พ.ศ. 2367 ‘พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว’ ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เถลิงถวัลยราชสมบัติ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี

‘พระราชพิธีบรมราชาภิเษก’ เป็นพระราชพิธีราชาภิเษกที่พระมหากษัตริย์ไทยได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการด้วยการถวายน้ำอภิเษก โดยแบ่งออกเป็น 2 พระราชพิธีสำคัญคือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นการผสมผสานกันระหว่างธรรมเนียมของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ ซึ่งต้องย้อนกลับไปหลายศตวรรษ โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบไปด้วย พระราชพิธีสรงพระมูรธาภิเษก พระราชพิธีถวายน้ำอภิเษก พระราชพิธีถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และการสถาปนาพระราชินี และพระราชวงศ์ ส่วนพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร เป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นโดยเหล่าสมาชิกของราชวงศ์ในพระบรมมหาราชวัง

ภายหลังจากประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จสิ้นแล้ว พระมหากษัตริย์จะประทับพระที่นั่งราชยานพุดตานทองไปประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะและเสด็จไปสักการะพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชบูรพการี

อย่างไรก็ตาม สำหรับวันที่ 1 ของเดือนสิงหาคมปี 2567 นี้ หากย้อนกลับเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2367 ‘พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ 3 ทรงประกอบ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เถลิงถวัลยราชสมบัติ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรีอย่างเต็มกระบวนการเยี่ยงอย่างบรรพราชประเพณีสืบ ๆ มา หลังจากที่เสด็จเสวยราชสมบัติต่อจาก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367

ทั้งนี้ พระองค์ทรงเป็นราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 กับ เจ้าจอมมารดาเรียม เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 ก่อนที่จะขึ้นครองราชย์ได้ทรงรับราชการหลายตำแหน่ง อาทิ กำกับราชการกรมท่าและกรมตำรวจ ทรงว่าราชการกรมพระคลังมหาสมบัติ เป็นแม่กองกำกับลูกขุน ณ ศาลหลวงและตุลาการทุกศาล ทรงค้าขายทางสำเภาจีน นำเงินรายได้เข้าท้องพระคลังเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังได้ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนา รวบรวมสรรพตำราวิทยาการต่าง ๆ พัฒนาการเศรษฐกิจไทยหลาย ๆ ด้าน โดยการเจริญสัญญาทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศ ทำให้รัฐมั่งคั่งเป็นอันมาก

‘ลิซ่า’ ปังไม่หยุด ‘ROCKSTAR’ ประสบความสำเร็จต่อเนื่อง กวาดยอดขายแตะ 1 แสนยูนิต ในสหรัฐฯ เทียบเท่ามูลค่า 4.6 ลบ.

(18 ก.ค. 67) ตามรายงานระบุว่า ‘ROCKSTAR’ ผลงานเดี่ยวล่าสุดของ ‘ลิซ่า’ ทำยอดขายได้ 100,000 ยูนิตในสหรัฐอเมริกา ตลาดเพลงที่ใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้ ROCKSTAR กลายเป็นเพลงที่ 4 ของลิซ่าที่ทำได้ตามหลัง ‘Lalisa’ และ ‘Money’ ที่เคยทำไว้ได้เมื่อปี 2021 รวมถึงเพลง ‘SHOONG!’ ที่ร่วมงานกับ แทยัง BigBang ก็ทำได้เมื่อปี 2024

การนับยอดขายแบบยูนิต เป็นการขายเพลงในรูปแบบดิจิทัล ที่ทำตามระบบ DSP (Digital Service Providers) ที่นับทั้งการสตรีมมิงและการดาวน์โหลดจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเพลง

โดยการดาวน์โหลดเพลง 1 ครั้ง นับเป็น 1 ยูนิต ส่วนการสตรีมมิง 1,500 ครั้ง จึงจะนับเป็น 1 ยูนิต อย่างไรก็ตามหากคิดเป็นตัวเงินที่การดาวน์โหลด 1 ครั้งใน iTunes จะมีราคา 1.29 ดอลลาร์ หรือประมาณ 46.34 บาท นั่นหมายความว่า 100,000 ยูนิตที่ทำได้ในอเมริกาก็มีมูลค่าอยู่ที่ 4.6 ล้านบาท

ROCKSTAR ของลิซ่านับว่าประสบความสำเร็จในตลาดอเมริกา ซึ่งเธอนับเป็นศิลปินที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ แต่สามารถนำเพลงภาษาอังกฤษของเธอเข้ามาติดท็อปชาร์ตได้ โดยเปิดตัว Rockstar อยู่ที่อันดับ 70 บนชาร์ต Hot 100 ซึ่งเป็นการจัดอันดับเพลงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา

ROCKSTAR กลายเป็นเพลงเดี่ยวที่ติดชาร์ตสูงสุดของลิซ่าบน Hot 100 โดยสามารถแซงหน้าเพลงก่อนหน้านี้ของเธอ LALISA (ซึ่งขึ้นสูงสุดที่อันดับ 84) และ MONEY (อันดับ 90) ได้สำเร็จ

นอกจากนี้ ROCKSTAR ยังเดบิวต์ที่อันดับ 1 บนชาร์ต Global Excl. U.S. ของ Billboard อันดับ 4 บนชาร์ต Global 200 อันดับ 2 บนชาร์ต Rap Digital Song Sales อันดับ 7 บนชาร์ต Digital Song Sales หลัก และอันดับ 19 บนชาร์ต Hot Rap Songs

ขณะเดียวกัน ลิซ่ายังกลับเข้ามาในชาร์ต Artist 100 ของ Billboard อีกครั้งที่อันดับ 84 นับเป็นสัปดาห์ที่สองที่เธอปรากฏบนชาร์ตนี้

2 สิงหาคม พ.ศ. 2413 ‘Tower Subway’ รถไฟใต้ดินสายแรกของโลก เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ที่กรุงลอนดอน

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2413 ทาวเวอร์ ซับเวย์ (Tower Subway) รถไฟใต้ดินสายแรกของโลก เปิดให้บริการที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยมีลักษณะเป็นอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเทมส์ (Thames) ซึ่งมี 2 สถานีคือ ทาวเวอร์ ฮิลล์ (Tower hill) และ ไวน์ เลน (Vine lane) โดยรถไฟใต้ดินสายนี้ได้ชื่อมาจาก ‘หอคอยแห่งลอนดอน’ (Tower of London)

ทั้งนี้ อุโมงค์ออกแบบและก่อสร้างโดย เจมส์ เกรทีด (James Henry Greathead) ส่วนเปลือกอุโมงค์ออกแบบโดย ปีเตอร์ บาร์โลว์ (Peter William Barlow) และมีลูกชายของบาร์โลว์คือ ปีเตอร์ บาร์โลว์ จูเนียร์(Peter W. Barlow Jr.) เป็นวิศวกรควบคุมงานก่อสร้าง ซึ่งเริ่มก่อสร้างในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2412 โดยขุดอุโมงค์รถไฟด้วยเครื่องจักรไฮดรอลิก ลึกประมาณ 18 เมตรใต้ผืนดิน ในระยะแรกอุโมงค์ยาวเพียง 410 เมตร กว้าง 2.1 เมตร รางกว้าง 76.2 เซนติเมตร ใช้เครื่องจักรไอน้ำขนาด 4 แรงม้าเป็นตัวลากรถเคเบิลคาร์ ขนาด 12 ที่นั่ง ใช้เวลาโดยสารเที่ยวละประมาณ 70 วินาที

หลังจากเปิดใช้งานได้ประมาณ 3 เดือน ก็ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เพราะความคับแคบและไม่สะดวกของสถานี ประชาชนจึงนิยมเดินเท้ามากกว่า ต่อมาในที่สุดทางการจึงปรับปรุงใหม่ นำลิฟต์มาแทนบันได เปลี่ยนเครื่องจักรไอน้ำเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้รถไฟฟ้าใต้ดินสายนี้กลับมาได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง โดยมีผู้โดยสารกว่า 2 หมื่นคนต่อสัปดาห์ ก่อนจะคลายความนิยมไปหลังจากมีการก่อสร้างสะพาน ’ทาวเวอร์ บริดจ์‘ (Tower Bridge) ในปีพ.ศ. 2437 เนื่องจากไม่ต้องเสียเงินเหมือนรถไฟฟ้า ไม่นานก็ขาดทุนจนรัฐบาลต้องขายกิจการให้เอกชนดำเนินการต่อ ก่อนจะปิดการใช้งานในปีพ.ศ. 2441

‘ลิซ่า’ ขึ้นแท่น House Ambassador ของ Louis Vuitton สมมงแฟชันไอคอน หยิบจับอะไรก็เป็นเสน่ห์ไปหมด

(23 ก.ค. 67) จากเพจเฟซบุ๊ก ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า..

“#LouisVuitton แต่งตั้ง #LISA เป็น #HouseAmbassador อย่างเป็นทางการ

ขึ้นแท่นเฮาส์แอมบาสเดอร์คนใหม่อย่างเป็นทางการสำหรับศิลปินสาวมากความสามารถชาวไทย ‘ลิซ่า’ หรือ ลลิษา มโนบาล ของแบรนด์หรูสัญชาติฝรั่งเศส ‘Louis Vuitton’ ที่อยู่ในเครือ LVMH หลังจากก่อนหน้านี้ลิซ่าก็โพสต์ภาพเธอคู่กับสินค้าจากแบรนด์ลงอินสตาแกรมส่วนตัวอยู่เป็นระยะ

ทางด้าน Nicolas Ghesquière อาร์ทิสติกไดเรกเตอร์แผนกคอลเลกชันสุภาพสตรีของ Louis Vuitton กล่าวในงานแถลงข่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นมากที่จะได้ร่วมงานกับลิซ่าในฐานะที่เธอเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ เพราะเธอมีจิตวิญญาณที่กล้าหาญและมีเสน่ห์อย่างน่าเหลือเชื่อ

‘เธอมีความกล้าหาญและสร้างสรรค์ในด้านดนตรีพอ ๆ กับแฟชันของเธอ จึงถือว่าเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้ร่วมเดินทางไปกับเธอในการเดินทางครั้งนี้’ Nicolas Ghesquière กล่าว”

‘Rockstar’ ของ ‘ลิซ่า’ ทำสถิติยอดสตรีมมิ่ง Spotify แตะร้อยล้านเร็วที่สุด หลังใช้เวลาเพียงแค่ 23 วัน แซงหน้า ‘จีซู’ ที่สร้างผลงานไว้ 31 วัน

(24 ก.ค.67) เป็นเจ้าแม่สถิติตัวจริงสำหรับ 'ลิซ่า ลลิษา มโนบาล' หรือ 'ลิซ่า BlackPink' ที่ล่าสุดสามารถพาเพลง Rockstar สร้างสถิติใหม่ทำยอดสตรีมมิ่งแตะ 100 ล้านได้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ ตามรายงานระบุว่าเพลง Rockstar ของ ‘ลิซ่า’ สามารถทำยอดสตรีมมิ่ง 100 ล้านครั้งได้ในเวลาเพียง 23 วัน กลายเป็นศิลปินเดี่ยวหญิงเค-ป็อปที่ทำยอดสตรีมมิงถึง 100 ล้านครั้งได้ไวที่สุด โดยใช้เวลาทั้งสิ้นเพียงแค่ 23 วัน แซงหน้าสถิติเดิมของเพื่อนร่วมวงอย่าง ‘จีซู’ ที่ผลงานเพลง Flower เคยทำไว้ด้วยสถิติ 31 วัน

อย่างไรก็ตาม ผลงานเพลงของ ‘ลิซ่า’ ก่อนหน้านี้ ก็ครองสถิติยอดสตรีมสูงเช่นกัน โดย MONEY แตะ 100 ล้านใน 38 วันอยู่ที่อันดับ 3 ตามด้วยอันดับ 4 LALISA อยู่ที่ 46 วัน ในขณะที่ On The Ground ของ ‘โรเซ่’ และ Spot! ที่ ‘เจนนี่’ ร่วมงานกับ ‘Sico’ ก็อยู่ที่อันดับ 5 ในเวลา 71 วัน

ส่วนยอดสตรีมมิ่งเพลงของ ‘ลิซ่า’ ใน Spotify นั้นนับว่าได้รับความนิยมอย่างมาก

- Money 1.2 พันล้านสตรีม
- Lalisa 521 ล้านสตรีม
- SG ที่ร่วมงานกับ ดีเจสเนค, โอซูนา, เมแกน ที สตอลเลียน 294 ล้านสตรีม
- Shoong! ร่วมงานกับ แทยัง 164 ล้านสตรีม
- Rockstar 103 ล้านสตรีม

3 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ‘ในหลวง-พระราชินี’ เสด็จฯ เปิด ‘สวนป่าเบญจกิติ’ ระยะ 2-3 พื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมชาวกรุงฯ

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 2-3 ณ สวนสาธารณะเบญจกิติ ถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย กรุงเทพฯ โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสันติ พร้อมพัฒน์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมข้าราชการ เฝ้า ฯ รับเสด็จ

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล จากนั้นเสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังแท่นพิธีทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายสวนเบญจกิติ โดยถ่ายทอดผ่านจอมอนิเตอร์ แล้วเสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวาย เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ) ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565

ต่อมา เสด็จฯ ไปยังบริเวณจัดนิทรรศการ ‘สวนป่าเบญจกิติ’ ทอดพระเนตรนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสวนป่าระยะที่ 2-3 ในสวนสาธารณะเบญจกิติ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงปลูกต้นรวงผึ้ง จำนวน 1 ต้น เมื่อสมควรแก่เวลาเสด็จฯ กลับ

ทั้งนี้ โครงการจัดสร้างสวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 2-3 ดำเนินการออกแบบภายใต้แนวคิดในการสืบสานพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการปลูกป่าในใจคน ด้วยการเป็นสวนป่าสำหรับคนเมือง (Urban Forest) ที่เชื่อมโยงและเอื้อต่อการเข้ามาทำกิจกรรมและใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิตของ คนเมือง เป็นแหล่งเรียนรู้มีชีวิต ที่สร้างความผูกพันและสำนึกรักในคุณค่าของป่า น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วม และสำนึกหวงแหนดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ในการออกแบบได้เน้นให้มีพื้นที่สวนป่ามากที่สุด มีพื้นที่ป่าและพื้นที่น้ำร้อยละ 85 โดยปลูกต้นไม้เพิ่ม ในพื้นที่โครงการฯ กว่า 7,000 ต้น มีพรรณไม้ประมาณ 350 ชนิด ทั้งไม้ใหญ่ ไม้พุ่ม ไม้คลุมดิน และไม้น้ำ และเพื่อให้สวนป่าแห่งนี้สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองจึงได้ออกแบบให้มีบึงน้ำจำนวน 4 บึง สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 128,000 ลูกบาศก์เมตร ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครต่อไปในอนาคต

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในโครงการได้ใช้ระบบบำบัดน้ำแบบบึงประดิษฐ์ โดยใช้กระบวนการทางธรรมชาติของระบบรากพืชชุ่มน้ำ และได้ออกแบบบ่อดักตะกอน ซึ่งเป็นจุดแรกในการรับน้ำจากคลองไผ่สิงโต มีสารแขวนลอยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำจากคลองไผ่สิงโต เพื่อนำมาใช้รดน้ำต้นไม้ในโครงการ อีกทั้งมีเส้นทางเดิน ทางวิ่ง ทางจักรยาน ระยะทางรวม 4 กิโลเมตร มีทางเดินศึกษาธรรมชาติลัดเลาะไปตามต้นไม้ใหญ่และบึงน้ำ มีการออกแบบทางเดินลอยฟ้า (Sky Walk) ความสูง 5-8 เมตร ที่สามารถมองเห็นมุมมองในระยะสูงเป็นอีกหนึ่งจุดไฮไลท์ของสวนที่สามารถให้ทุก ๆ คน เดินเชื่อมไปยังส่วนอื่น ๆ ของพื้นที่สวนป่าได้ในส่วนของงานสถาปัตยกรรมได้ออกแบบอาคารโรงงานผลิตยาสูบเดิมให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต การเรียนรู้ที่หลากหลาย

มีพื้นที่สำหรับการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สำหรับอาคารโกดังเดิมจำนวน 3 หลัง ได้ปรับปรุงเป็นอาคารกีฬา และได้เปิดพื้นที่กลางอาคารทั้ง 4 หลัง ให้โปร่งโล่งและปลูกต้นไม้เพิ่มกลางอาคารโดยใช้แนวคิดออกแบบอาคารเขียว เป็นพื้นที่ที่ประชาชนได้ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน

โดยสวนป่าแห่งนี้เป็นสวนที่แสดงให้เห็นถึงการน้อมนำพระราชดำริมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับปวงชนชาวไทยที่สร้างการตระหนักรู้ถึงการอยู่ร่วมกันระหว่าง คน สัตว์ ป่า การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน สวนแห่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ประชาชนชาวไทยได้มีส่วนร่วมแสดงความจงรักภักดี ต่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 และกรมธนารักษ์ คาดหวังว่า สวนป่าแห่งนี้จะช่วยให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งความสุขต่อไปได้

'บุ๋ม ปนัดดา' ทุ่มเงินเก็บซื้อที่ดิน สร้างมูลนิธิช่วยเหลือประชาชน เผยจุดเปลี่ยนชีวิตที่หันมาทำงานเพื่อสังคม เพราะ 'ลูก'

(25 ก.ค.67) นักแสดงและพิธีกรมากความสามารถที่มีความสุขในการต่อสู้เพื่อสังคม ‘บุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี’ มาเปิดใจในรายการ WOODY FM เล่าจุดเปลี่ยนชีวิตที่ผันตัวทำงานเพื่อสังคมจนก่อได้ตั้งมูลนิธิองค์กรทำดี โดยปัจจุบันขอใช้ชีวิตคู่อย่างเรียบง่าย และล่าสุดได้เปิดเผยว่าทุ่มเงินเก็บซื้อที่ดินช่วยคนอื่น สร้างมูลนิธิให้เป็นสมบัติของประเทศ โดยระบุว่า..

>> จุดเปลี่ยนจากเดิมที่ทำงานเพื่อตัวเอง เปลี่ยนเป็นทำงานเพื่อผู้อื่น คือตอนไหน?
บุ๋ม ปนัดดา : จุดเปลี่ยนคือปี 2557 คือก่อนหน้านั้นก็ทำงานในมุมของนางงามคนหนึ่งที่ช่วยงานการกุศลหรืออะไรอยู่แล้ว คือในปี 2557 มีข่าวข่มขืนบนรถไฟแล้วหันไปมองลูกสาวตัวเองแล้วก็คิดว่าทำไมมีเรื่องร้ายแรงแบบนี้ได้ แล้วอนาคตของลูกสาวจะมีใครปกป้องเขาได้

ถ้าวันหนึ่งเราไม่อยู่ คนที่เป็นแม่อย่างเราจะสามารถทำอะไรเพื่อปกป้องอนาคตเขาได้ ก็เลยหันมาดูกฎหมาย ศึกษาจริงจังทุกอย่างเลย ชีวิตเปลี่ยนเลย ก็เลยมาดูว่ากฎหมายเกี่ยวกับผู้หญิงไม่มีเปลี่ยนมา 30 ปี

ซึ่งก่อนหน้าบุ๋มไม่ใช่ว่าไม่มีใครขอเปลี่ยนนะ เขาไปประท้วงหน้าสภา คือเขาพยายามทำแล้ว เพียงแต่ว่าในมุมของบุ๋มวันนั้น เรามีพลังของสื่อ ความเป็นดาราด้วยก็เลยทำให้พลังมันแรงมาก กลายเป็นว่าน่าจะเป็นดาราคนแรกเลยมั้งที่ทำเรื่องเปลี่ยนกฎหมาย ก็เลยมีเรื่องอื่น ๆ ตามมา ความช่วยเหลือจากผู้หญิงด้วยกัน เรื่องของคดีความอะไรอย่างนี้เข้ามา

กลายเป็นว่าเราเริ่มอินกับมัน แล้วรู้สึกดีที่ได้ช่วย รู้สึกดีที่เป็นพลังให้พวกเขา รู้สึกดีที่บางทีเขาแจ้งความมาเป็นปีแต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือเลย กลับกลายเป็นว่าแสงสว่างที่เรามี หรือเสียงดังที่เรามีมันกลายเป็นพลังให้กับเขา หาความยุติธรรมเพิ่มเติมให้กับเขา รู้สึกดีจัง เราเลยต้องทำในวันที่ฉันยังดังอยู่ เลยกลายเป็นมูลนิธิที่ใหญ่ระดับประเทศ ชื่อว่า มูลนิธิองค์กรทำดี

>> ใช้เวลากี่เปอร์เซ็นต์ของชีวิตเรา?
บุ๋ม ปนัดดา : ตอนนี้ 70% เลยค่ะ เพราะว่าตื่นมาหรือขณะที่นอน มันกลายเป็นว่าเคสวันนี้วิ่งรถกี่คัน ไปต่างจังหวัดโรงพยาบาลขอความร่วมมือมา หรือมีเคสขมขื่นจัดการยังไง มันหลายอย่างมากเลย

>> เวลาเอาเรื่องของชาวบ้านมาใส่สมองของเรา มีวิธีระบายยังไงได้บ้าง เพราะคุณก็อินกับทุกเรื่อง?
บุ๋ม ปนัดดา : อินจริงแต่ตัดได้เร็วค่ะ เพราะว่าถ้าตัดไม่เร็วนะ ซึมเศร้าแน่นอนค่ะ เหมือนน้องหลาย ๆ คนที่เคยเข้ามาช่วย พอรับฟังเรื่องราวเยอะ ๆ ตัดไม่ได้ แม่หนูขอหยุดนะ มีเยอะเลย แต่สำหรับตัวเรากลับกลายเป็นว่าตัดได้ง่ายมาก เพราะว่าเรารู้สึกว่าทุกเคสสำคัญหมด

เราแสดงความเสียใจนะ แต่ชีวิตยังต้อง Go On ยังต้องมีเคสอื่นที่เราต้องมีสติในการดูแลรักษาเขา และดูแลครอบครัวของเราเองด้วย มองว่าเรื่องเกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา

>> ทำไมคุณถึงกลายเป็นคนที่เรียบง่าย ทั้งที่สมัยก่อนต้องเป็นข่าว?
บุ๋ม ปนัดดา : สมัยก่อนหรือสมัยนี้บางทีโพสต์อะไรก็เป็นข่าวแล้ว เพียงแต่ว่าพอเป็นเรื่องของคุณก๊อต (สามี) เขาบอกว่าเขาเป็นคนนอกวงการบันเทิง ไม่อยากอยู่ในแสงสีเท่าไหร่ ขอใช้ชีวิตเงียบ ๆ ขอเลี้ยงลูกด้วยความสงบ เราก็เข้าใจ มันขึ้นอยู่กับอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ว่าเขาอยากอยู่ในแสงสีมากแค่ไหน ไม่ใช่ว่าไม่มีรายการเชิญเขาไปนะ มีเยอะมากเลย

>> ที่ผ่านมาบุ๋มทำเพื่อคนอื่นเยอะมาก เคยให้อะไรกับตัวเองไหม?
บุ๋ม ปนัดดา : พอเอาจริง ๆ ก็นึกไม่ออกว่าตัวเองอยากได้อะไรกับชีวิต เคยนั่งมองนาฬิกาหรู ๆ นั่งมองแบรนด์เนม สวยนะยากซื้อ แต่เรากลับรู้สึกว่าเอาตังค์ไปช่วยเด็กดีกว่า ลูกบุญธรรมยังต้องเรียน มูลนิธิยังต้องสร้าง เอาไปตรงนั้นก่อนคิดอย่างนี้ เดี๋ยวของฉันไว้ทีหลัง

คือเหตุผลหนึ่งที่คุณสามีที่เขามาขอเราแต่งงาน เพราะเขาบอกว่าชีวิตบุ๋มเหมือนทำเพื่อคนอื่นเยอะมากเลย เพื่อครอบครัวของบุ๋มเอง เพื่อคนรอบข้าง เพื่อลูกน้อง เพื่อมูลนิธิ และเพื่อประชาชนอีก แต่ไม่มีอะไรเลยที่บุ๋มเคยพูดว่าจะทำอะไรเพื่อตัวเอง แต่มาวันนี้บุ๋มมีแล้วนะ

>> ทีมงานบอกว่าวันนี้บุ๋มจะประกาศให้พี่น้องชาวไทยรับทราบเกี่ยวกับเรื่องอนาคตที่วางเอาไว้และตัดสินใจว่าจะทำ?
บุ๋ม ปนัดดา : บุ๋มเพิ่งเอาเงินเก็บก้อนที่เก็บเอาไว้ไปซื้อที่ดินตรงรังสิตคลอง 8 จะทำมูลนิธิองค์กรทำดี แบบที่มี Shelter สำหรับผู้หญิง มีโรงทาน มีสวนปฏิบัติธรรม แล้วก็เป็นมูลนิธิที่ใช้วิ่งรถช่วยเหลือประชาชน จะทำตรงนั้นแล้วก็ทิ้งไว้ให้เป็นสมบัติของประเทศชาติค่ะ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top