Tuesday, 18 June 2024
Lite

13 มกราคม วันการบินแห่งชาติ

วันนี้เป็นวัน ‘การบินแห่งชาติ’ โดยถือว่าเป็นวันสำคัญต่อกิจการการบินของประเทศ ซึ่งที่มาของวันนี้ สืบย้อนกลับไปราว 110 ปี ในปี พ.ศ. 2454 จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้นำความกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ถึงความจำเป็นและประโยชน์ของเครื่องบิน ที่มีไว้เพื่อป้องกันประเทศ

ต่อมาจึงมีคำสั่งให้นายทหาร 3 นายไปฝึกวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส พร้อมกันนั้น ทางการยังได้สั่งซื้อเครื่องบินจากฝรั่งเศสเป็นครั้งแรกจำนวน 7 ลำ กระทั่งนายทหารนักบินทั้ง 3 นายสำเร็จการศึกษากลับมา ก็ได้ทดลองบินเป็นครั้งแรกในประเทศ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ซึ่งผลการขับเป็นไปด้วยดี ท่ามกลางเสียงชื่นชมของผู้ชมจำนวนมากที่มารอชม

ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาแผนกการบินขึ้นในกระทรวงกลาโหม เป็นผลให้กิจการการบินไทยได้รับการพัฒนาขึ้นตามลำดับ กระทั่งเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จทอดพระเนตรการบิน โดยมีนายทหารนักบินขึ้นแสดงการบินถวายและโปรยกระดาษถวายพระพรชัยมงคล

เวลาผันผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อกิจการการบินของชาติ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 13 มกราคมของทุกปี เป็นวันการบินแห่งชาติ โดยเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา ทั้งนี้เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นผู้ริเริ่มและมีสายพระเนตรยาวไกลต่อกิจการการบิน กระทั่งได้รับการพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน

 

เช็กเงื่อนไข ใครได้ ใครอด เงินเยียวยา 3,500 จาก ‘โครงการเราชนะ’

ฮือฮาท่ามกลางลมหนาว เห็นจะเป็นข่าว ‘โครงการเราชนะ’ ที่นายกฯ และครม. เคาะกันออกมาแล้วว่า จะจ่ายเงินเยียวยาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดระลอกสอง คนละ 3,500 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน

งานนี้เหมือนได้ตัวช่วยเป็นไออุ่นท่ามกลางลมหนาว แถมจำนวนผู้ที่ได้รับสิทธิ์หนนี้ ยังครอบคลุมประชาชนไปทั้งประเทศ ทุกระดับ กว่า 40 ล้านคน โดยรัฐจะใช้ฐานข้อมูลการลงทะเบียนจาก ‘โครงการเราไม่ทิ้งกัน’ มาเป็นข้อมูลพิจารณา

ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนใหม่ จะมีแค่เฉพาะกลุ่มเกษตรกร ที่ลงทะเบียนเยียวยาเกษตรไปรอบที่แล้วประมาณ 7 ล้านคน ที่จะต้องลงทะเบียนใหม่ เพราะข้อมูลไม่ได้อยู่ในระบบที่เชื่อมกับโครงการนี้

ย้ำอีกทีว่าไม่ต้องกังวลเรื่องการแย่งสิทธิ หรือที่เรียกว่า มาก่อนได้ก่อน เพราะโครงการนี้จุดประสงค์คือ เยียวยาทุกคนที่ควรได้รับการช่วยเหลือ ถ้าเคยอยู่ในระบบไหน ที่รัฐมีข้อมูลอยู่แล้ว ขอแค่รอให้ระบบคัดกรองว่า ‘เข้าเกณฑ์’ ก็พร้อมโอนได้ทันที คาดว่าจะมีผลปลายเดือนมกราคม หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้นไป

เอาเป็นว่า ตอนนี้รอรายละเอียดความชัดเจนหลังจาก ครม.อนุมัติในวันที่ 19 มกราคมอย่างเป็นทางการเสียก่อน แต่เบื้องต้นมาเช็กดูเงื่อนไขไปพลางๆ ว่าเราเป็นผู้ที่เข้าข่าย หรือไม่เข้าข่าย การรับเงิน 3,500 บาท กันเสียก่อน เช็กกันซะให้ชัวร์ๆ ว่าเงินเยียวยาหนนี้ เรามีสิทธิ์หรือไม่!? ไปดู!

14 มกราคม ค.ศ. 2016 ‘อลัน ริคแมน’ ศาสตราจารย์เซเวอรัส สเนป แห่งภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์ เสียชีวิต

วันที่ 14 มกราคมของเมื่อ 5 ปีก่อน คอหนังหลายคนพากันใจหายไปตาม ๆ กัน เมื่อมีข่าวช็อก นักแสดงคนดัง ‘อลัน ริคแมน’ เสียชีวิต

หลายคนรู้จักเขาในฐานะนักแสดงมากความสามารถ ผู้คว่ำหวอดในวงการภาพยนตร์มากว่า 40 ปี แต่สำหรับแฟนหนังแนวแฟนตาซี นักแสดงคนนี้ คือศาตราจารย์ผมยาว ผู้มีบุคลิกลึกลับ นามว่า ‘เซเวอรัส สเนป’ แห่งมหากาพย์ภาพยนตร์เรื่องยิ่งใหญ่ แฮร์รี่ พอตเตอร์ นั่นเอง

อลัน ริคแมน เป็นชาวอังกฤษโดยกำเนิด เขาเคยเป็นนักออกแบบกราฟิก ก่อนที่จะตัดสินใจเรียนการแสดงเพิ่มเติม และก้าวเข้าสู่แวดวงการแสดง จนเริ่มเป็นที่รู้จักจากหนังเรื่อง Les Liaisons Dangereuses ในปี ค.ศ. 1985 รวมถึงได้รับบทบาทตัวร้ายที่โดดเด่นในหนังเรื่องดังอย่าง Die Hard

ชื่อของ อลัน ริคแมน มาโด่งดังเป็นพลุแตกอีกครั้ง จากการที่เขาเข้ามารับบทบาทเป็นหนึ่งในอาจารย์ของโรงเรียนพ่อมด ‘ฮอกวอตส์’ ในหนังแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งตัวละคร ‘สเนป’ ทำให้คนดูต้องติดตามความลึกลับของเขา ถือเป็นตัวละครในหนังแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่หลายคนจดจำได้ดี

กระทั่งในวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 2016 จู่ ๆ ก็เกิดมีข่าวร้ายกับวงการฮอลลีวู้ด เมื่อมีรายงานข่าวว่า อลัน ริคแมน เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน ในวัย 69 ปี แต่ถึงแม้ตัวจะจากไป ชื่อเสียงและความสามารถ โดยเฉพาะกับภาพศาสตราจารย์สเนป ก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของแฟน ๆ อยู่เสมอ

1 ปีกับโควิด-19 มีเหล่านักรบเสื้อกาวน์มากมาย และนี่คือ ‘5 แนวรบหมอสู้โควิด’ ที่คนไทยทั้งประเทศสุดคุ้นเคย!!

เป็นเวลากว่า 1 ปีมาแล้ว ที่โควิด-19 เข้ามาในประเทศไทยแล้วไม่ยอมจากไปไหนเสียที โดยเรื่องหนึ่งที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี คือการมีคุณหมอออกมาแถลงสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงอีกหลาย ๆ ท่านที่ออกไปสู้รบกับเจ้าเชื้อไวรัสชนิดนี้ ในบรรดาคุณหมอเหล่านี้ มี 5 นักรบเสื้อกาวน์ ที่เรามักจะได้เจอกันอยู่บ่อย ๆ ถึงตรงนี้ คงไม่มีคำไหนจะเอ่ยได้ดีเท่า ’ขอบคุณ’

ขอบคุณคุณหมอทั้ง 5 และมากไปกว่านั้น ขอบคุณ ‘เหล่าคุณหมอและบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน’ ที่มีส่วนร่วมในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ขอเป็นกำลังใจให้เหล่าคุณหมอ สู้ต่อไป แล้วพวกเราจะตอบแทนด้วยการดูแลตัวเองอย่างดีเช่นกัน!!

15 มกราคม พ.ศ. 2551 บันทึกสำคัญหน้าทีวีไทย เมื่อ ‘ไอทีวี’ ถูกยุติออกอากาศ เป็นที่มาการเปลี่ยนผ่านสู่สถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ ‘ไทยพีบีเอส’

วันนี้เมื่อ 13 ปีก่อน ถือเป็นอีกหนึ่งบทหน้าบันทึกของวงการโทรทัศน์เมืองไทย เมื่อสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ถูกยุติออกอากาศ พร้อมเปลี่ยนผ่านไปสู่สถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ที่มีชื่อว่า สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

 

กล่าวถึงสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 โดยการเรียกร้องของประชาชนในยุคนั้น ที่ต้องการสื่อที่นำเสนอข่าวได้โดย ‘อิสระ’ กระทั่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้เปิดการให้สัมปทานช่องใหม่ โดยต้องมีสัดส่วนรายการข่าวและสาระ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และรายการบันเทิง ไม่เกินร้อยละ 30

 

สถานีโทรทัศน์ไอทีวี เริ่มออกอากาศ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 เริ่มด้วยรายการข่าวภาคค่ำ โดยสร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้กับสื่อโทรทัศน์ไทย ด้านการนำเสนอข่าวที่มีความตรงไปตรงมา รวดเร็วฉับไว วิเคราะห์ลึก แต่ต่อมาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ปี พ.ศ. 2540 ได้มีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้น จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนการแก้ไขสัมปทาน รวมทั้งสัดส่วนของรายการแต่เดิมที่ตกลงกับสปน.

 

ด้วยประเด็นนี้เอง จึงนำมาซึ่งการถูกฟ้องร้อง ผลพวงจากคดี เป็นเหตุให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ต้องจ่ายค่าสัมปทานเท่าเดิมที่ตัวเลข 1,000 ล้านบาทต่อปี พร้อมกับถูกปรับย้อนหลังอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อเวลาผ่าน ทางสถานีไม่สามารถจ่ายเงินดังกล่าวได้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ยกเลิกสัญญาสัมปทานสถานี รวมระยะเวลาการออกอากาศทั้งสิ้น 10 ปี 8 เดือน 6 วัน 5 ชั่วโมง

 

ผลจากการยกเลิกสัมปทาน ทำให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ถูกโอนย้ายไปสังกัดกรมประชาสัมพันธ์นับตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2550 กระทั่งสถานีเดิมถูกเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า ‘ทีวีสาธารณะ’ โดยในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551 สถานีโทรทัศน์ไอทีวีเดิม ก็ได้ถูกเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นทีวีสาธารณะเต็มตัว พร้อมกับชื่อใหม่ว่า สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS-Thai Public Broadcasting Service) และทำการออกอากาศต่อเนื่องจนถึงวันนี้ 13 ปีมาแล้ว

 

มาเลย์เตรียมยื่นจดลิขสิทธิ์เมนู ‘เสือร้องไห้’ แต่ถูกคัดค้านเพราะหลายฝ่ายรู้ว่ามาจากอาหารไทย

เมื่อไม่นานมานี้ มีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในประเทศมาเลเซีย ได้ทำการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “เสือร้องไห้” (ฮารีมาอู เมอนางิส) โดยอ้างเป็นมรดกทางภูมิปัญญา และกระทรวงวัฒนธรรมของชาวมาเลย์ รวมถึงชาวมาเลย์ไม่เห็นด้วย เพราะรู้ว่าเมนูนี้มีต้นกำเนิดในไทยมากกว่า

ล่าสุดจึงมีการชะลอรับรองคำขอจดทะเบียนเป็นที่เรียบร้อย ด้วยสาเหตุเป็นเรื่องละเอียดอ่อน


Cr. FB Ball Sathapat

@Cake_journey

16 มกราคม วันครูแห่งชาติ...วันแห่งการน้อมระลึกถึงผู้ให้ความรู้และการพัฒนา

 

‘ไม่มีใคร ไม่มีครู’ แม้จะไม่ใช่ประโยคที่สามารถยืนยันได้ร้อยเปอร์เซนต์ แต่เชื่อว่า คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า ‘ไม่เคยมีครู’ และในวันนี้ ก็ถือเป็นวันสำคัญ โดยถูกกำหนดให้เป็น ‘วันครูแห่งชาติ’

 

ที่มาของวันสำคัญวันนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2488 ประเทศไทยมีการประกาศพระราชบัญญัติครูขึ้นมาในราชกิจจานุเบกษา กระทั่งเวลาผ่านมาอีกราว 11 ปี คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ให้วันที่ 16 มกราคม ของทุกปี เป็น ‘วันครูแห่งชาติ’ และได้มีการจัดงานวันครูขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500

 

โดยจุดประสงค์ในการมีวันครู เพื่อให้นักเรียนได้ระลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ ที่ได้อบรมสั่งสอนเรามาตั้งแต่เด็ก ทำให้คน ๆ หนึ่ง กลายเป็นคนดีรู้วิชา ครูจึงเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญ และถือเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้สังคมก้าวหน้า ตลอดจนตั้งอยู่บนจริยธรรมความดี

 

โลกอาจจะหมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน ทำให้ทุกวันนี้เราสามารถเรียนหนังสือผ่านสื่อออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย แต่ความสำคัญของครูก็ไม่ได้ลดน้อยลงไป เพราะตราบใดที่มนุษย์ยังต้องเรียนรู้ คำว่า ‘ครู’ ก็ยังคงมีความหมายตลอดไป

 

17 มกราคม พ.ศ. 2417 ‘อิน-จัน’ แฝดสยามที่สร้างความมหัศจรรย์ให้กับโลก เสียชีวิตลงในวัย 63 ปี

วันนี้เมื่อกว่า 147 ปีมาแล้ว ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง เมื่อ ‘อิน-จัน’ แฝดสยามที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก เสียชีวิตลงในวัย 63 ปี

แม้เวลาจะผ่านมานานนับร้อยปี แต่ชื่อเสียงของ ‘อิน-จัน’ ยังคงถูกพูดถึงกันอยู่เสมอ พวกเขาเป็นฝาแฝดที่มีลักษณะแปลกไปกว่าแฝดทั่วไป ที่ไม่ใช่เพียงมีใบหน้าที่เหมือนกัน แต่พวกเขายังมีร่างกายส่วนบนติดกัน

‘อิน - จัน’ เกิดที่จังหวัดสมุทรสงคราม ในสมัยรัชกาลที่ 2 โดยมีบิดาเป็นชาวจีนอพยพ และมารดาเป็นคนไทย โดยทั้งคู่มีร่างกายที่ติดกันมาตั้งแต่แรกเกิด ตามปกติของฝาแฝดลักษณะนี้ มักจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา แต่อิน-จันกลับสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเรื่อยมา

วันหนึ่งมีชาวต่างชาติมาพบพวกเขาเข้า ด้วยความแปลกที่ไม่เคยพบเจอที่ไหน อิน-จัน จึงถูกพาออกเดินทางไปโชว์ตัวไกลถึงสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลังจากวันนั้น พวกเขาก็ออกตระเวณโชว์ตัวไปทั่วเป็นเวลานับ 10 ปี ในที่สุดจึงได้ไปลงหลักปักฐานชีวิตอยู่ต่างประเทศ พร้อมกับมีลูกหลาน และไม่ได้กลับมายังประเทศไทยอีกเลย

แม้จะมีร่างกายที่ติดกัน แต่ทั้งคู่มีนิสัยที่แตกต่างกัน อิน เป็นคนใจเย็น สุขุม ส่วนจันเป็นคนอารมณ์ร้อน และชอบดื่มเหล้า ทำให้เขามีโรคประจำตัวหลายโรค กระทั่งเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2417 จันก็เสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจวาย จากนั้นอีกราว ๆ 2 ชั่วโมงถัดมา อินก็ได้เสียชีวิตตามไปด้วย ผลจากการชันสูตร ระบุว่า อินต้องสูญเสียเม็ดเลือดแดงให้แก่จันที่เสียชีวิตไปแล้วผ่านทางเนื้อที่เชื่อมกันที่อกนั่นเอง

ความโด่งดังของแฝดสยามคู่แรกที่มีร่างกายติดกัน ทำให้ปัจจุบันที่พิพิธภัณฑ์ Mutter เมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา ยังเก็บ ‘ตับ’ ของทั้งคู่เอาไว้ ส่วนข้าวของเครื่องใช้ก็ยังคงถูกเก็บไว้ที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกาเช่นกัน ส่วนที่ประเทศไทยมีการสร้างอนุสรณ์สถานแฝดสยามอิน-จัน ที่จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อเป็นการระลึกถึงฝาแฝดที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยไปทั่วโลก

18 มกราคม ‘วันกองทัพไทย’ วันที่ระลึกสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา

วันนี้ถือเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยเป็นวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงชนะศึกยุทธหัตถีต่อพระมหาอุปราชา ถือเป็นการทำยุทธหัตถีที่มีความสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ตรงกับวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จุลศักราช 954

เมื่อกาลเวลาผันผ่าน ต่อมาจึงยกให้วันนี้เป็น ‘วันกองทัพไทย’ เพื่อสดุดีต่อพระปรีชาสามารถของพระองค์ โดยแรกเดิมที กำหนดให้ตรงกับวันที่ 8 เมษายนของทุกปี ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นวันที่ 25 มกราคม แต่เมื่อนักประวัติศาสตร์มาสืบย้อนดูอย่างละเอียดถี่ถ้วน พบว่า วันที่ทรงกระทำยุทธหัตถี น่าจะตรงกับวันที่ 18 มกราคมมากกว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2549 จึงได้ประกาศเปลี่ยนให้ ทุกวันที่ 18 มกราคม ถือเป็นวันกองทัพไทย แทน

โดยนอกจากเป็นวันแห่งกองทัพไทยแล้ว ยังอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช’ หรือ ‘วันยุทธหัตถี’ รวมทั้งยังเป็นวันสถาปนากระทรวงกลาโหมอีกด้วย

19 มกราคม พ.ศ. 2545 ครบรอบ 19 ปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

วันนี้เมื่อ 19 ปีก่อน เป็นวันสำคัญของเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

กล่าวถึง ‘ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ’ ชื่อ สุวรรณภูมิ มีความหมายว่า ‘แผ่นดินทอง’ อันเป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทาน โดยใช้แทนชื่อเดิมคือ ‘หนองงูเห่า’

นอกจากนี้ อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถูกออกแบบโดย เฮลมุต ยาห์น (Helmut Jahn) สถาปนิกชาวอเมริกัน-เยอรมัน มีโครงสร้างหลักประกอบด้วยเหล็กและแก้ว ซึ่งได้รับการกล่าวขานว่า เป็น ‘สถาปัตยกรรมแห่งศตวรรษที่ ๒๑’

ภายหลังจากเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2545 ต่อมาอีกราว 4 ปี สนามบินสุวรรณภูมิก็เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิถูกยกให้เป็นสนามบินที่มีการให้บริการสายการบินมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top