Tuesday, 21 May 2024
Lite

วันฉัตรมงคล ๔ พฤษภาคม ทรงพระเจริญ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหาร และพนักงาน สำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES

วันฉัตรมงคล ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรีและราชอาณาจักรไทย

ในหลวงรัชกาลที่ 10 โปรดให้ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ พระบรมมหาราชวัง มีการเฉลิมพระปรมาภิไธยตามพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว" และมีพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป"

ทั้งนี้ คำว่า 'ฉัตรมงคล' หมายความว่า พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร จะกระทำในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องสมบูรณ์ โดยพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า 'พระบาท' นำหน้า 'สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว' และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า 'พระบรมราชโองการ' และอีกประการหนึ่งคือ ยังไม่มีการใช้ นพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น

รู้จัก 'สถานีรถไฟบ้านส้อง' สุราษฎร์ธานี ผ่านมุมคนถิ่น พิกัดเซฟชีวิตคุณยายในเสี้ยววินาที ที่ 'บิ๊กตู่' ต้องขอเยี่ยมเยียน

(5 พ.ค. 66) โด่งดังถึงขั้นที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์ พรรครวมไทยสร้างชาติ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ต้องถือโอกาสเข้าไปให้กำลังใจ นายฐิติพงศ์ พิริพล นายสถานีรถไฟบ้านส้อง อ.เวียงสระ ด้วยตนเอง หลังจากเจ้าตัวได้เสี่ยงชีวิตเข้าช่วยหญิงสูงอายุพิการทางการได้ยินและเป็นใบ้ ขณะเดินข้ามตัดหน้าขบวนรถไฟล่องใต้ ขบวนที่ 85 กรุงเทพอภิวัฒน์-นครศรีธรรมมราช ที่กำลังแล่นเข้าเทียบชานชาลาสถานีรถไฟบ้านส้อง จนรอดชีวิตจากการถูกชนอย่างหวุดหวิด โดยเป็นการมาให้กำลังใจในระหว่างลงพื้นที่หาเสียงในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

สำหรับสถานีรถไฟบ้านส้องถือเป็นอีกสถานีเก่าแก่ที่มีเรื่องราวดี ๆ มากมาย โดยล่าสุด ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'Somchaidiy' ได้โพสต์ข้อความน่าประทับใจของสถานีแห่งนี้ ว่า...

ได้ดูข่าวนายสถานีรถไฟ ช่วยชีวิตคุณยายเสี้ยววินาทีก่อนรถไฟจะมาถึง

6 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ในหลวง ร.9 เสด็จฯ พร้อมด้วยกรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดสระสุวรรณชาด ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันนี้ เมื่อ 18 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดสระสุวรรณชาด ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานสระว่ายน้ำสำหรับการรักษาแบบธาราบำบัด ให้สุนัขที่ป่วยด้วยโรคข้อกระดูก และโรคระบบประสาท จำนวน 2 สระ โดยพระราชทานเงินรายได้จากการจำหน่ายเสื้อคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง พร้อมทั้งพระราชทานชื่อสระว่ายน้ำว่า ‘สระสุวรรณชาด’ ตามชื่อของ ‘คุณทองแดง’ โดยเริ่มทำการก่อสร้างเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2548 ในการสร้างสระนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานคำแนะนำในการออกแบบตามหลักวิชาการและได้ใช้สระว่ายน้ำของสุนัขทรงเลี้ยงมาเป็นต้นแบบ ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2548

7 พฤษภาคม พ.ศ. 2419 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ประชาชนคนไทยรู้จัก ‘พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท’ กันเป็นอย่างดี ซึ่งในวันนี้เมื่อ 147 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ขึ้นอย่างเป็นทางการ

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นท้องพระโรง การณ์นี้ได้มีการว่าจ้าง นายยอน คลูนิช ชาวอังกฤษ เป็นนายช่างหลวงออกแบบพระที่นั่งฯ 

ทั้งนี้เป็นการออกแบบที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทย กับสถาปัตยกรรมยุโรป โดยตัวอาคารพระที่นั่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมยุโรป แต่หลังคาพระที่นั่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย จนเป็นที่มาของชื่อ ‘ฝรั่งสวมชฎา’ 

8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดแรกของไทย

วันนี้ เมื่อ 149 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดแรกของไทยขึ้นบริหารประเทศ เรียกการบริหารงานของรัฐมนตรีชุดนี้ว่า สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงแต่งตั้งสภาขึ้น 2 สภา คือ 1. สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) (รัฐมนตรีสภา) มีสมาชิกจำนวน 12 คน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 ทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ-ออกกฎหมาย 

2. สภาที่ปฤกษาในพระองค์ (ที่ปรึกษาในพระองค์) หรือ ปรีวีเคาน์ซิล (Privy Council) มีสมาชิกจำนวน 49 คน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2417 สมาชิกส่วนใหญ่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและดูแลบ้านเมือง-ราษฎรต่างพระเนตรพระกรรณ

ถือเป็นต้นกำเนิดของคณะบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงไว้วางพระราชหฤทัยและเป็นที่ปรึกษาพระเจ้าแผ่นดิน 

สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ประกอบไปด้วย สมาชิกผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นพระยาจำนวน 12 คน มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาและความคิดเห็นต่าง ๆ ในด้านนิติบัญญัติ และเมื่อข้อราชการใดที่ประชุมสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินมีมติเห็นชอบ ก็ให้ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

‘กระเป๋าย่านลิเภา’ ในสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี งานหัตถศิลป์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระพันปีหลวง

(8 พ.ค. 66) ภายหลังจาก ‘พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว’ และ ‘สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี’ เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหราชอาณาจักรตามคำทูลเชิญของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

มีอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึง นอกเหนือพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นสิ่งที่หัวข้อสนทนาและถกถามกันในหมู่ชาวต่างชาติ นั่นก็คือ ‘กระเป๋าทรงถือ’ ที่สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี ทรงเลือกถือ นั่นเอง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีชาวอังกฤษได้เขียนโพสต์ลงในทวิตเตอร์ระบุว่า "That purse is fabulous. Anyone know who made it?" มีความหมายประมาณว่า ‘กระเป๋าใบนั้นช่างสวยเลิศเหลือเชื่อ ใครก็ได้บอกหน่อยว่าใครทำ’ 

หลังจากนั้นก็มีชาวไทยหลายคนเข้าไปตอบข้อความนั้น โดยสรุปในความรวมได้ว่า ‘กระเป๋าทรงถือ’ ของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี เป็นงานหัตถกรรมจากย่านลิเภา งานหัตถศิลป์ฝีมือคนไทยจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ต่อมาเพจเฟซบุ๊ก ‘มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ’ ได้โพสต์ข้อความอธิบายเกี่ยวกับ ‘กระเป๋าย่านลิเภา’ โดยระบุว่า…

“กระเป๋าย่านลิเภา คือ เครื่องจักสานชนิดหนึ่งที่สานโดยเส้นย่านลิเภาซึ่งเป็นพืชในสกุลเฟิร์นหรือไม้เถาชนิดหนึ่ง (ไม้เถาเรียกย่านลิเภาในภาษาปักษ์ใต้) ส่วนใหญ่พบในป่าทางภาคใต้ของประเทศไทย เส้นย่านลิเภา มีความเหนียวทนทานเหมาะที่จะทำกระเป๋า

ซึ่งกว่าเราจะได้ผลิตภัณฑ์จักสานย่านลิเภาแต่ละชิ้นนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย เพราะต้องใช้ความอดทนบวกกับทักษะฝีมือ ถือเป็นงานหัตถกรรมที่มีกรรมวิธียุ่งยากซับซ้อนไม่แพ้งานหัตถกรรมชนิดอื่น

#มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ #จักสาน #ย่านลิเภา”

ทางด้านผู้ใช้เพจ ‘ดร ณัชร สยามวาลา Nash Siamwalla, PhD’ ก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงประเด็นนี้เช่นกัน โดยระบุว่า...

“😍🙏 เห็นแล้วนึกถึงตอนเด็ก ที่ทันเห็นสมเด็จพระพันปีหลวงทรงพระราชทานคำแนะนำช่วยชาวบ้านนำกระเป๋าย่านลิเภานี้สู่สายตาชาวโลกครับ ตอนนั้นเป็นวันเฉลิมฯ 12 ส.ค. ที่ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทต่อมหาสมาคมที่เข้าไปถวายพระพรที่ตำหนักดุสิตาลัย คุณหญิงย่าเข้าเฝ้าฯ ด้วยจำแม่นเลยเห็นในถ่ายทอดสด พระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรมีมากมายจาระไนไม่หมด เห็นมากับตา สัมผัสมาด้วยตนเอง 😊🙏❤️”

9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ไทยกับฝรั่งเศส ลงนามอนุสัญญาโตเกียว หลังสิ้นสุดกรณีพิพาทสงครามอินโดจีน

วันนี้ในอดีต เมื่อ 82 ปีก่อน ไทยกับฝรั่งเศส ลงนามในอนุสัญญาสันติภาพระหว่างกันที่กรุงโตเกียว หลังสิ้นสุดกรณีพิพาทสงครามอินโดจีน ผลทำให้ไทยได้ดินแดนฝั่งขวาของหลวงพระบาง จำปาศักดิ์ ศรีโสภณ พระตะบอง และดินแดนในกัมพูชาคืนมาจากฝรั่งเศส 

แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ไทยมีความจำเป็นต้องเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ จึงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประเทศมหาอำนาจและฝรั่งเศสที่เป็นฝ่ายชนะสงคราม นำไปสู่ ความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่เรียกกันว่า 'ความตกลงวอชิงตัน' มีผลให้อนุสัญญากรุงโตเกียวสิ้นสุดลง โดยไทยต้องคืนดินแดน อินโดจีน ที่ได้มาทั้งหมดให้กับประเทศฝรั่งเศสตามเดิม 

‘ลิซ่า’ ขึ้นแท่นศิลปินเดี่ยวเค-ป็อปคนแรก ที่มีสถิติกินเนส เวิลด์ เรคคอร์ดมากที่สุด

‘ลิซ่า BlackPink’ สร้างสถิติไม่หยุดหย่อนอีกแล้วในฐานะศิลปินเดี่ยว เพราะล่าสุดทาง กินเนส เวิลด์ เรคคอร์ด ได้ยืนยันสถิติอย่างเป็นทางการว่าเธอคือศิลปินเดี่ยวเค-ป็อปคนแรกที่สร้างสถิติได้มากที่สุด แซงหน้า ‘ไซ’ อดีตรุ่นพี่ร่วมค่าย

หลังจากที่ ลิซ่า ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BlackPink ได้รับการขนานนามจากสื่อยกเป็น ศิลปินเดี่ยวที่โดดเด่นที่สุดในรอบทศวรรษ, การมีผลงานติดท็อปชาร์ตหลัก ๆ ทั่วโลก, รวมถึงท็อปสูงสุดของทั้ง YouTube, Spotify และ iTunes รวมถึงแพลตฟอร์มอื่น ๆ ด้วยผลงานเพียงแค่ 2 เพลง พร้อมทั้งขึ้นรับรางวัลจากสถาบันต่าง ๆ มาอย่างมากมาย และล่าสุด กินเนสฯ ได้บันทึกชื่อของเธอเพิ่มอีก 2 สถิติอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว

โดยเริ่มจากสถิติใหม่อย่าง ศิลปินหญิงเดี่ยวเค-ป็อปที่มียอดสตรีมใน Spotify แตะ พันล้านได้เร็วที่สุดทั้งจากผลงานเพลง LALISA, Money และ SG (ร่วมงานกับ ดีเจสเนค, โอซูนา และ เมแกน ที สตอลเลียน ) ซึ่งถูกบันทึกสถิตินี้ไว้เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2022

ตามมาด้วย กินเนส เวิลด์ เรคคอร์ด ได้ยืนยันว่า อัลบั้ม LALISA ยังเป็นอัลบั้มศิลปินเดี่ยวเค-ป็อป ที่มียอดสตรีมใน Spotify ถึง พันล้าน ซึ่งถูกบันทึกเอาไว้เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2023 นับเป็นเวลา 595 วันหลังจากปล่อยผลงานอัลบั้มแรกออกมา

10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ คร่าชีวิตคนรวม 188 ราย

ครบรอบ 30 ปี โศกนาฏกรรมครั้งร้ายแรง กับเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ ย่านพุทธมณฑล สาย 4 คร่าชีวิตผู้คนรวม 188 ราย

เหตุเพลิงไหม้โรงงานเคเดอร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 เวลา 16.00 น. ที่ โรงงานของบริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ จำกัด ถนนพุทธมณฑล สาย 4 อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นโรงงานผลิตสินค้าของเล่นสำหรับเด็กส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ตุ๊กตา เป็นต้น นับเป็นเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง โดยมีผู้เสียชีวิตรวม 188 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีก 469 คน 

ก่อนหน้านี้ โรงงานของเล่นดังกล่าว เคยเกิดเพลิงไหม้อาคารแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2532 เพลิงไหม้บริเวณชั้น 3 อาคารได้รับความเสียหายมาก สาเหตุเกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าเสื่อมไฟฟ้าลัดวงจร ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2534 เพลิงไหม้ที่โรงเก็บตุ๊กตา และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2536 เกิดเพลิงไหม้อาคารหลังที่ 3 ชั้น 2 และชั้น 3 ทำให้สินค้าได้รับความเสียหาย

จากการสืบสวน พบว่าเพลิงไหม้ครั้งนี้เกิดจากการก่อสร้างที่ไม่ได้ตามมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรม และไม่มีการซักซ้อมการรับมือกับอัคคีภัยให้แก่พนักงาน ภายหลังเกิดเพลิงไหม้ ประมาณ 15 นาที โรงงานก็ได้ยุบตัวพังทลายลงมา นอกจากนี้ยังพบว่า โรงงานดังกล่าวไม่ได้สร้างบันไดหนีไฟ หรือสำรองเอาไว้ ประตูทางเข้า-ออกมีน้อย และคับแคบเกินกว่ากฎหมายกำหนด ไม่มีระบบการเตือนภัยที่สมบูรณ์และได้มาตรฐาน 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากพนักงานรักษาความปลอดภัยได้ปิดประตูโรงงาน เพราะกลัวคนงานจะขโมยทรัพย์สินในอาคาร เจ้าหน้าที่ระบุว่าสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้เกิดจากคนงานทิ้งก้นบุหรี่ไว้ แล้วเกิดการติดไฟกับผ้าในโรงงาน

สืบเนื่องจากเหตุการณ์นี้ รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี เป็น วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2540

11 พฤษภาคม ของทุกปี ‘วันปรีดี พนมยงค์’ ผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย

11 พฤษภาคม ‘วันปรีดี พนมยงค์’ เป็นวันคล้ายวันเกิดของ ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสคนแรกของไทย ผู้สร้างคุณูปการมากมายทั้งด้านการเมือง กฎหมาย การศึกษา จนได้รับยกย่องจากยูเนสโกว่าเป็นบุคคลสำคัญของโลก

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ หรือ อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 ณ บ้านวัดพนมยงค์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นับว่าเป็นบุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทย โดยเป็นทั้งผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย 3 สมัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ อีกหลายสมัย ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (27 มิถุนายน 2477) และเป็นผู้ประศาสน์การคนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัย (ในระหว่างปี 2477-2495) ทั้งนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ยังเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และได้รับยกย่องเป็นรัฐบุรุษอาวุโสคนแรกของประเทศไทย แต่ต่อมา ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต้องยุติบทบาททางการเมืองหลังการสวรรคตของในหลวง รัชกาลที่ 8 โดยถูกกล่าวหาจากขั้วตรงข้ามทางการเมืองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว

และเมื่อครั้งรัฐประหารปี พ.ศ. 2490 ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ รวมระยะเวลากว่า 30 ปี โดยไม่ได้กลับสู่ประเทศไทย แต่ระหว่างลี้ภัยทางการเมืองนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ฟ้องร้องผู้ใส่ความหมิ่นประมาท ปรากฏว่าชนะทุกคดี และได้รับการรับรองจากทางราชการตลอดจนเงินบำนาญและหนังสือเดินทางของประเทศไทย กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 บนโต๊ะทำงาน ขณะกำลังเขียนหนังสืออยู่ในบ้านพัก ที่ประเทศฝรั่งเศส สิริรวมอายุ 83 ปี


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top