Monday, 7 July 2025
GoodVoice

ททท. ผนึก EVA Air ขยายความร่วมมือต่อเนื่อง หนุนไทยสู่จุดหมายปลายทางยอดนิยมระดับโลก

'ศศิกานต์' เผย 'ททท. ร่วมกับ EVA Air ขยายความร่วมมือ 4 ปี' เดินหน้าผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมระดับโลก

เมื่อวานนี้ (20 พ.ย.67) น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเดินหน้ายกระดับเสริมมาตรการขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ EVA Air ร่วมลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent: LOI) ขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 ปี กระตุ้นตลาดหลัก ทั้งระยะใกล้และระยะไกล ผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air และร่วมผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมระดับโลก

น.ส.ศศิกานต์ กล่าวว่า การขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่าง ททท. และ EVA Air ครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากความร่วมมือครั้งก่อนในปี พ.ศ.2566 ด้วยศักยภาพของพันธมิตรสายการบิน EVA Air ที่มีเครือข่ายและบริการที่ครอบคลุมกลุ่มตลาดเป้าหมายทั่วโลก ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออก อเมริกาเหนือและยุโรป สามารถอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมายังประเทศไทยได้อย่างสะดวกสบายและเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ ไม่เพียงเท่านั้น ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องนี้ จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถนำเสนอเสน่ห์ไทย วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม และมิตรไมตรีอันอบอุ่นของคนไทยไปทั่วโลก รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจด้านการท่องเที่ยว ขยายฐานตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพ และส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

“ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องของ EVA Air และ ททท. จะนำมาซึ่งประโยชน์แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ทั้งสร้างโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและยกระดับประสบการณ์การเดินทาง ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในการสะท้อนศักยภาพของประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวแก่กลุ่มนักท่องเที่ยวตลาดคุณภาพและกลุ่มตลาดใหม่” น.ส.ศศิกานต์ กล่าว

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ หารือผู้บริหาร Nokia ชวนร่วมพัฒนา 5G Application - จัดตั้ง Nokia Innovation Center ส่งเสริมทักษะแรงงานดิจิทัลในไทย 

เมื่อวันที่ (19 พ.ย.67) ตามเวลาสาธารณรัฐฟินแลนด์ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงดีอี และ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองอำนวยการใหญ่ พร้อมคณะทำงานเข้าเยี่ยมชม Nokia Executive Experience Center ศูนย์แสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม 5G/6G, IoT, Private Wireless, Cloud, Network Automation ณ เมืองเฮลซิงกิ โดยมี Mr. Karol Mattila, Head of Government Relations, Nokia ให้การต้อนรับ

โดย นายประเสริฐ พร้อมคณะได้รับฟังการบรรยายภารกิจการดำเนินงานของ Nokia Executive Experience Center และรับชม Tech Showcases ต่าง ๆ โดย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ได้เชิญชวน Nokia ร่วมพัฒนา หรือมีส่วนในการร่วมลงทุน 5G Application ในไทย และจัดตั้ง Nokia Innovation Center ในพื้นที่ Thailand Digital Valley อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อร่วมส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่แรงงานและนักศึกษา พร้อมระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และมีนโยบาย Go Cloud First ที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและรัฐสามารถเข้าถึงคลาวด์ มีการมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ใช้ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำจัดทำหลักสูตรที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยี และมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับทักษะดิจิทัลแก่กำลังคนและบุคลากรของประเทศ

จากนั้นนายประเสริฐ พร้อมด้วย นางสาวชวนาถ ทั่งสัมพันธ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐฟินแลนด์ และเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ เข้าเยี่ยมคารวะ Mr. Ville Tavio, Minister for Foreign Trade and Development ณ Ministry for Foreign Affairs of Finland พร้อมหารือแนวทางการสานต่อความร่วมมือการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัล และการสนับสนุนการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทย

ทั้งนี้มีการหารือประเด็นการพิจารณาต่ออายุบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่ลงนามไว้ระหว่าง กระทรวงดีอี กับ The Ministry of Transport and Communications ฟินแลนด์ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 และมีการต่ออายุเมื่อปี 2565 แต่ปัจจุบัน MOU ดังกล่าวหมดอายุไปเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยเนื้อหาเดิมให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการพัฒนาทักษะดิจิทัล การแบ่งปันข้อมูล และการลงทุนด้านเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยมีความประสงค์ให้เกิดการต่ออายุบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว และจะเพิ่มเติมเนื้อหาด้านจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติของไทย อาทิ การสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การยกระดับระบบนิเวศดิจิทัลสตาร์ทอัพ และการเชิญชวนให้บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของฟินแลนด์เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

โดยกรณีดังกล่าว Mr. Tavio เห็นด้วยและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือต่อเนื่อง พร้อมแสดงความเห็นในประเด็นการสนับสนุนการลงทุนว่า นอกเหนือจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของฟินแลนด์อย่าง Nokia ที่มีการลงทุนและดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยแล้ว ยังมีการลงทุนอื่น เช่น การตั้งฐานการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของ Salo Tech (Thailand) Ltd. บริษัทโซลาร์เซลล์สัญชาติฟินแลนด์ที่เข้ามาลงทุนและดำเนินกิจการในจังหวัดระยอง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างไทยและฟินแลนด์ โดยความร่วมมือดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาด้านพลังงานสะอาด และเมืองอัจฉริยะ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังแสดงความมุ่งมั่นที่จะผลักดันความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (Thai – EU FTA) ในด้านเศรษฐกิจและการค้าดิจิทัล ซึ่งจะช่วยรองรับและผลักดันนโยบายการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของกระทรวงอีกด้วย

‘พีระพันธุ์’ แจ้งข่าวดี!! ผลิตชุดโซลาร์รูฟติดบ้านราคาถูกสำเร็จ ตั้งเป้าวางขายปีหน้า หวังช่วยประชาชนพ้นบ่วงค่าไฟแพง

‘พีระพันธุ์’ แจ้งข่าวดี!! ก.พลังงาน สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ผลิตต้นแบบอุปกรณ์ระบบโซลาร์ราคาถูกสำเร็จ ตั้งเป้าวางจำหน่ายปีหน้า ปลดภาระค่าไฟประชาชน 

เมื่อวันที่ (20 พ.ย. 67) ที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางไปตรวจราชการ ณ  ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี  เพื่อเยี่ยมชมการทดสอบเครื่อง Inverter ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักของระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์  ที่เป็นผลงานการออกแบบของ นายทวีชัย ไกรดวง หรือ ครูน้อย พร้อมเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการทดสอบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (EMC) และห้องปฏิบัติการทดสอบแบตเตอรี่ โดยมีคณะผู้บริหาร สวทช.ให้การต้อนรับ

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า การมาตรวจราชการครั้งนี้เกี่ยวเนื่องกับการลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนตามที่ตนได้เคยกล่าวไว้ 2 เรื่อง  นั่นคือ การปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์ รูฟ ให้ทำได้สะดวกรวดเร็วขึ้น  และการจัดหาอุปกรณ์สำหรับผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่ประชาชนในราคาถูก  เพราะถึงแม้กระทรวงพลังงานจะพยายามตรึงค่าไฟไว้ที่ระดับ 4.18 บาท โดยไม่ได้ขยับขึ้นมาตลอด แต่ตนเข้าใจว่าปัญหาค่าไฟก็ยังเป็นภาระของพี่น้องประชาชนอยู่ ดังนั้น สิ่งที่จะลดปัญหาตรงนี้ได้อย่างยั่งยืน ก็คือ การปรับปรุงกฎหมาย และการจัดหาอุปกรณ์ระบบโซลาร์ราคาถูก ซึ่งเป็นการลงทุนเพียงครั้งเดียวแต่สามารถประหยัดค่าไฟไปได้มาก

“ปัจจุบัน อุปกรณ์เกี่ยวกับระบบโซลาร์ในท้องตลาดมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้น สิ่งที่ผมจะทำต่อเนื่องจากการปรับปรุงกฎหมาย ก็คือ การผลิตอุปกรณ์ระบบโซลาร์เซลล์ ที่เรียกกันว่า โซล่า รูฟ  ออกจำหน่ายให้กับประชาชนในราคาถูก และถือเป็นครั้งแรกของกระทรวงพลังงานที่มีนโยบายในแนวทางนี้  โดยล่าสุด คณะทำงานของกระทรวงพลังงานได้ผลิตต้นแบบของเครื่องอินเวอร์เตอร์ (Inverter)  ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้สำเร็จแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณภาพ ความเสถียร และความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยเราตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวอย่างครบชุดเพื่อจำหน่ายให้กับพี่น้องประชาชนได้ในปี 2568 ที่จะถึงนี้” นายพีระพันธุ์กล่าว

สำหรับอุปกรณ์ต้นแบบที่นำมาทดสอบครั้งนี้ เป็นผลงานการออกแบบของ นายทวีชัย ไกรดวง หรือ ครูน้อย  ซึ่งเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์หลายอย่างเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชน และเป็นหนึ่งในคณะทำงานของกระทรวงพลังงาน  โดยเครื่อง Inverter ต้นแบบนี้สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้ในราคาต่ำกว่าท้องตลาด

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานมีนโยบายที่จะส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และมีแผนที่จะจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับพี่น้องประชาชนในราคาถูกในปี  2568 เพื่อช่วยลดภาระจากปัญหาค่าไฟแพงอีกทางหนึ่ง

"สิ่งที่ผมได้พูดไป  ผมทำจริงทุกเรื่อง กระทรวงพลังงานภายใต้การดำเนินนโยบายตามแนวทาง รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง ของผม พูดจริง ทำจริงทุกเรื่อง และพร้อมทำให้เห็น ผมมั่นใจว่า เมื่อกฎหมายมี อุปกรณ์มี  พี่น้องประชาชนจะสามารถหลุดพ้นจากปัญหาภาระค่าไฟที่เป็นอยู่ได้อย่างแน่นอน “ นายพีระพันธุ์ กล่าว

'ดร. เฉลิมชัย' แถลงในนามประเทศไทยเวที COP29 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มขีดความสามารถรับมือโลกเดือดให้กับประเทศกำลังพัฒนา 


ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งชแวดล้อม (รมว.ทส.) หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในเวทีการประชุมระดับสูง (Resumed high-level segment) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP 29) ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน 

โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และคณะผู้บริหารกระทรวงฯ เข้าร่วมการประชุมฯ


ดร.เฉลิมชัย ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย แสดงความมุ่งมั่นในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด และที่ผ่านมาได้เผชิญกับภัยพิบัติด้านสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงเศรษฐกิจและความหลากหลายทางชีวภาพ ในขณะที่ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของทั้งโลก แต่ยังคงมุ่งมั่นยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเต็มความสามารถ บนหลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง เพื่อบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกตามกรอบ NDC 2030 ให้ได้ 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากการดำเนินงานใน 5 สาขา ได้แก่ พลังงาน คมนาคม การจัดการของเสียชุมชนและน้ำเสียอุตสาหกรรม กระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และการเกษตร โดยมีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนเพื่อรองรับการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งเร่งดำเนินงานไปสู่ NDC 3.0 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ต่ำกว่า 270 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2035 จากปีฐาน 2019  มุ่งสู่การลดก๊าซเรือนกระจกจากค่าการปล่อยจริง ควบคู่ไปกับการจัดทำแผนการลงทุนสีเขียว รวมถึงเร่งเพิ่มการดูดกลับของภาคป่าไม้ให้ได้ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2037 


ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยได้มุ่งเน้นบูรณาการแผนการปรับตัวระดับชาติ ให้เชื่อมโยงกับการดำเนินงานระดับท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมใน 6 สาขา ได้แก่ การจัดการน้ำ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว การสาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าในระดับพื้นที่ รวมไปถึงการเร่งฟื้นฟูและคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง และที่สำคัญได้ขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติในทุกระดับอย่างเป็นระบบและบูรณาการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายภายใต้ความตกลงปารีส ด้วยการผลักดันกลไกความเป็นหุ้นส่วนภาครัฐ เอกชนและประชาชน 

โดยการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย 2024  เพื่อเสริมพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อีกทั้งเร่งผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสร้างการดำเนินงานอย่างสมดุล ทั้งด้านกลไกราคาคาร์บอน และกองทุนการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ที่มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน 


สำหรับการประชุม COP 29 นี้ ประเทศไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ข้อตัดสินใจในการระดมเงินตามเป้าหมายทางการเงินใหม่ รวมถึงจะได้ความชัดเจนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ แนวทางและข้อกำหนดในการเข้าถึงกองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหาย เพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศกลุ่มเปราะบาง มีขีดความสามารถในการขับเคลื่อนการดำเนินงานได้อย่างรวดเร็วและเต็มประสิทธิภาพ ตลอดจนมีศักยภาพในการเผชิญความเสี่ยงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างเหมาะสม และเชื่อว่าห้วงเวลานี้จะเป็นห้วงเวลาสำคัญในการกำหนดทิศทางดำเนินงานสร้างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายของความตกลงปารีสได้อย่างแข็งแกร่ง รวมถึงขอเรียกร้องให้ประชาคมโลกมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แสดงความมุ่งมั่นอย่างจริงใจ ที่จะร่วมกันรักษาโลกใบนี้ให้คงอยู่เพื่อให้อนุชนรุ่นต่อไปได้อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน

เปิดงาน TAIWAN EXPO 2024 ยกขบวน 170 บริษัทชั้นนำ ครบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

(21 พ.ย.67) กรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน ร่วมกับสภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกไต้หวัน เปิดตัว TAIWAN EXPO 2024 in Thailand อย่างเป็นทางการ ภายใต้แนวคิด 'Advancing Smart New Southbound' โดยงานนี้รวมบริษัทชั้นนำจากไต้หวันกว่า 170 บริษัท แบ่งเป็น 10 โซน และ 6 พื้นที่จัดแสดงหลัก ครอบคลุมหลากหลายด้าน เช่น Smart Manufacturing, Smart Medical, Smart Lifestyle, Circular Economy และ Culture & Tourism  

ภายในงานยังมีการประชุมสัมมนาด้านอุตสาหกรรม กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ และโซน TAIWAN SELECT ซึ่งนำเสนออาหารเพื่อสุขภาพและกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม เช่น การทำโคมไฟ 12 นักษัตรแบบไต้หวัน และการย้อมสีธรรมชาติจากพืชพื้นเมือง ซึ่งได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากผู้เข้าชมงาน  

นางซินเทีย เจียง อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน กล่าวถึงศักยภาพของประเทศไทยในฐานะจุดหมายสำคัญของการลงทุนจากต่างประเทศ ด้วยตำแหน่งที่ตั้งเชิงกลยุทธ์ สภาพแวดล้อมการลงทุนที่ดี และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่แข่งขันได้ เธอเน้นว่าไต้หวันมีความเชี่ยวชาญด้านเซมิคอนดักเตอร์ การผลิตอัจฉริยะ การดูแลสุขภาพอัจฉริยะ และเทคโนโลยีสีเขียว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย พร้อมสร้างโอกาสความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม  

นายจาง จวิ้น ฝู ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือด้านการศึกษาและวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการแลกเปลี่ยนนักศึกษาไทยในไต้หวันเพิ่มขึ้น 4 เท่าในรอบ 10 ปี ขณะที่นักศึกษาไต้หวันในไทยเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า พร้อมย้ำถึงศักยภาพของทั้งสองประเทศในการเป็นหุ้นส่วนธุรกิจเพื่ออนาคตที่ชาญฉลาดและยั่งยืน  

นายเจมส์ ซี. เฮฟ. ฮวง ประธานสภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกไต้หวัน (TAITRA) กล่าวว่า TAIWAN EXPO เป็นเวทีสำคัญในการแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยในปีนี้มุ่งเน้นด้าน Smart Manufacturing และ Circular Economy ที่จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายของไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึงพัฒนาการรีไซเคิลและบรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน  

ในด้าน Smart Medical โรงพยาบาลชั้นนำของไต้หวัน เช่น Changhua Christian Hospital และ Taipei Wanfang Hospital ได้นำเสนอโซลูชันการแพทย์อัจฉริยะ พร้อมจำลองห้องผู้ป่วยอัจฉริยะที่สะท้อนถึงอนาคตของการดูแลสุขภาพ  

TAIWAN EXPO 2024 มีกิจกรรมพิเศษ อาทิ การสัมมนาด้าน Smart Healthcare และ Circular Economy รวมถึงกิจกรรมจับคู่ธุรกิจและเวิร์กช็อปพิเศษ เช่น การย้อมสีธรรมชาติ นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและไทย  

งาน TAIWAN EXPO 2024 in Thailand จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.00-18.00 น. ณ ฮอลล์ 5 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย!

'ทักษิณ' ชี้!! ปัจจัยทำเศรษฐกิจไทยไม่ขยายตัวช่วง 10 ปี เหตุ ‘แบงก์ชาติ’ คุมเข้มปล่อยกู้ทำเม็ดเงินในระบบเหือดหาย

(22 พ.ย.67) 'ทักษิณ' แชร์มุมมองเศรษฐกิจและจุดยืนไทยบนเวทีโลกผ่านการประชุมซีอีโอ Forbes ชี้ นโยบายแบงก์ชาติเป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจไทย เหตุเข้มงวดปล่อยกู้เกินไปทำเงินในระบบเหือดหาย พร้อมระบุไทยไร้ข้อขัดแย้งพร้อมรับการลงทุนใหม่ หนุนสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และศูนย์กลางดิจิทัล

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมพูดคุยกับสตีฟ ฟอร์บส์ ประธานและบรรณาธิการบริหาร Forbes Media ปิดท้ายช่วงกาล่าดินเนอร์ในงานประชุมซีอีโอระดับโลก 'Forbes Global CEO Conference' ครั้งที่ 22 จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ภายใต้ธีม 'New Paradigm' เจาะลึกถึงโลกอนาคตที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยกรุงเทพธุรกิจรายงานว่ามีผู้นำทางธุรกิจที่ทรงอิทธิพลจากทั่วโลกไว้กว่า 400 คน 

นายทักษิณ กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่เศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาขยายตัวได้ไม่มาก เป็นเพราะความระมัดระวังมากเกินไปของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการควบคุมธนาคารพาณิชย์เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติทางการเงินขึ้นอีกครั้งเหมือนในปี 2540 และอีกสาเหตุหนึ่งคือขณะนี้ภาคการผลิตของไทยมีแต่อุตสาหกรรมที่กำลังลับฟ้า หรืออยู่ในช่วง Sunset 

ในกรณีของธนาคารกลาง ซึ่งควรจะมีหน้าที่หลัก 2 อย่าง คือ การดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และการดูแลธนาคารพาณิชย์ แต่บางครั้งพวกเขามีความเข้มงวดมากเกินไป ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่ จนทำให้เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจแห้งเหือด 

“แน่นอนว่าธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระ แต่พวกเขาก็ควรจะต้องรับฟังด้วย คนที่ทำงานในธนาคารกลางเป็นคนมีความสามารถ เรียนได้เกรด 4 และจบด็อกเตอร์ แต่พวกเขาจะต้องเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และมองในมุมของภาคธุรกิจด้วย เช่นเดียวกับนโยบายของทรัมป์ในการตั้งคณะกรรมการเงาเพื่อตรวจสอบการทำงานของธนาคารกลางสหรัฐ”

นายทักษิณ กล่าวถึงแนวทางหนึ่งในการศึกษาแนวคิดการออกเหรียญ Stable Coin เงินบาท ที่มีพันธบัตรหนุนหลัง ซึ่งจะเป็นแนวทางในการเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยเหรียญดังกล่าวสามารถนำไปใช้แลกเปลี่ยนได้ แต่จะไม่ได้ผลตอบแทน ขณะที่หากถือเหรียญเก็บไว้จะได้รับดอกเบี้ย

ชี้ทางรอดธุรกิจเล็ก
นายทักษิณ กล่าวว่า ไอเดียที่ดีและการมีโมเดลธุรกิจที่ขายได้เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก หลังจากนั้นเงินจะตามมาเอง เม็ดเงินที่มีอยู่มากมายบนโลกต้องการลงทุนกับสิ่งที่จะสร้างผลตอบแทนให้ ซึ่งถ้าธุรกิจเหล่านี้มีพื้นฐานที่ดี เชื่อว่าเงินลงทุนจะไหลมาสู่ธุรกิจได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ที่ธุรกิจไทยต้องแข่งขันกับสินค้าจีน ซึ่งได้เปรียบเรื่องต้นทุน เนื่องจากมีปริมาณการผลิตจำนวนมากทำให้ประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ดังนั้นธุรกิจไทยจะต้องมีวิธีคิดอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างสิ่งที่แตกต่างและแข่งขันได้

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเองจะต้องปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศเช่นกัน โดยการให้ธุรกิจต่างชาติที่ต้องการขายสินค้าให้กับคนไทยต้องจดทะเบียนให้ถูกต้องและเสียภาษี นอกจากนั้นสินค้าที่ขายให้คนไทยจะต้องผ่านมาตรฐานเช่นเดียวกับสินค้าที่ผลิตในประเทศเพื่อความเป็นธรรม

เล็งปฏิรูประบบภาษี
นายทักษิณ กล่าวว่า รัฐบาลปัจจุบันมีแนวคิดในการปฏิรูปภาษีทั้งระบบเพื่อจะได้จัดเก็บภาษีได้มากขึ้น แต่จะต้องไม่ใช้วิธีการเพิ่มอัตราภาษีเงินได้ โดยจะต้องพิจารณาอัตราภาษีเงินได้ที่สามารถแข่งขันได้ และมีระบบการคืนภาษีให้กับคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ หรือระบบที่เรียกว่า Negative Income Tax โดยการปฏิรูปภาษีจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปทีละส่วนเพื่อไม่ให้กระทบกับคนจำนวนมาก

“หลักก็คือ ถ้าอยากเก็บภาษีได้มากขึ้น ต้องมีข้อเรียกร้องที่น้อยลง ซึ่งการลดอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้จะทำให้คนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และการจัดเก็บภาษีจะต้องครอบคลุมกลุ่มคนมากขึ้นด้วย”

ทั้งนี้ การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พิสูจน์แล้วว่าสามารถทำให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 

เตรียมรับกำแพงภาษีสหรัฐ
นายทักษิณ กล่าวว่า มาตรการกีดกันทางการค้า ด้วยกำแพงภาษีที่สูงขึ้น ตามนโยบายของทรัมป์ที่จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้า 20% จากประเทศที่เกินดุลการค้า และเพิ่มขึ้น 60% สำหรับสินค้าจีน มองว่าสุดท้ายแล้วผลชาวอเมริกันจะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น

“เชื่อว่ามาตรการ Protectionism ภายใต้การนำของทรัมป์จะยิ่งเข้มงวด และจะทำให้การค้าโลกถดถอยกลับไป 50 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะเป็นยุคของโลกาภิวัตน์”

สำหรับจุดยืนของประเทศไทย มองว่าเราไม่ต้องการความขัดแย้ง ท่ามกลางการแข่งขันก็สามารถร่วมมือกันในด้านใดด้านหนึ่งได้ เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-จีน ซึ่งมีจุดที่ต้องร่วมมือกัน แม้จะแข่งขันกันอยู่ก็ตาม

“จากนี้ไปเริ่มเห็นสัญญาณว่าหลายอุตสาหกรรมทั้งจากสหรัฐและจีนต้องการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ไร้ข้อขัดแย้ง อีกทั้งไทยยังมีโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าที่เพียงพอ มีที่ดินปริมาณมากที่ยังสามารถพัฒนาได้ มีแรงงานฝีมือ และการเพิ่มมาตรการภาษีที่จูงใจ”

อย่างไรก็ตาม อัตราค่าไฟฟ้าของไทยยังอยู่ในระดับสูงเกินไป หากสามารถปฏิรูปราคาพลังงาน โดยหักลบภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ได้ และเชื่อว่าจะทำให้ไทยน่าดึงดูดมากขึ้น รวมทั้งเมื่อมีการลงทุนในไฟฟ้าพลังงานสะอาด และ Smart Grid

นายทักษิณ กล่าวทิ้งท้ายว่า ใน 5 ปีข้างหน้ามี 2 เรื่องหลักที่ไทยต้องทำคือ 1.การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซอฟต์พาวเวอร์ และธุรกิจการบริหาร และ 2.การสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ดึงดูดอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เอไอ และดาต้าเซ็นเตอร์เข้ามาลงทุนในประเทศ

The Maverick Academy ซีรีส์ทำอาหารสุดมันส์ ถ่ายทำในไทย โดยกลุ่มดุสิตธานี

(22 พ.ย.67) กลุ่มดุสิตธานี ประกาศบทบาทในฐานะหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของ The Maverick Academy ซีรีส์การแข่งขันทำอาหารสุดแหวกแนว ที่จัดโดยเชฟมิชลินสตาร์ชื่อดัง อัลวิน เหลียง (Alvin Leung) หรือที่รู้จักในนาม The Demon Chef สตรีมมิ่งบนแพลตฟอร์ม Netflix ทั้งหมด 5 ตอน เผยเป็นการถ่ายทำในประเทศไทย โดยใช้สถานที่ของวิทยาลัยดุสิตธานี และ The Food School มั่นใจโชว์ศักยภาพและความเป็นเลิศด้านอาหาร งานบริการและการศึกษาด้านอาหารและโรงแรมของไทยสู่สายตาชาวโลก

ซีรีส์แข่งขันทำอาหาร The Maverick Academy ผลิตโดย AR Asia Productions เป็นการนำเสนอความท้าทายในการแข่งทำอาหารที่เต็มไปด้วยการเดิมพันและความเฉียบแหลมทางธุรกิจ โดยนำเชฟมากความสามารถ 8 คนจากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มารวมตัวกัน รวมถึงอาจารย์วู้ดดี้-อาจารย์วุฒิศักดิ์ สิมโฮง อาจารย์ผู้สอนการทำอาหารที่วิทยาลัยดุสิตธานี กรุงเทพฯ ในภารกิจค้นหาอัจฉริยะด้านการทำอาหารคนต่อไปที่จะร่วมฝึกงานกับเชฟอัลวิน เหลียง พร้อมรับโอกาสในการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจของเขา

เชฟอัลวิน เป็นเชฟชาวฮ่องกง-แคนาดา ที่เกิดในอังกฤษและเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ เขาได้รับการยกย่องเรื่องสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ของ 'X-Treme Chinese Cuisine' โดยเขาได้ปรับแปลงอาหารจีนให้ทันสมัยและนำเสนอรสชาติใหม่ ๆ ในร้านอาหารทั่วโลก ปัจจุบันเขาคว้าดาวมิชลิน 2 ดวงที่ Bo Innovation ในฮ่องกง นอกจากนี้ยังได้รับการยอมรับในฐานะผู้ตัดสินรายการ MasterChef Canada ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญและความหลงใหลในความเป็นเลิศด้านการทำอาหารของเขา

เชฟอัลวินเข้าร่วมใน The Maverick Academy โดยมีเชฟอีริก ชอง (Eric Chong) ผู้เคยผ่านการฝึกงานกับเชฟอัลวินเป็นคนแรก และเป็นผู้ชนะรายการ MasterChef Canada ฤดูกาลแรก มาเป็นผู้ร่วมดำเนินรายการ อีกทั้งยังมีผู้มีชื่อเสียงด้านการทำอาหารมากมายมาเป็นที่ปรึกษาและผู้ตัดสิน รวมถึงเชฟและเจ้าของร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ในกรุงเทพฯ พร้อมด้วย มร. เอเดรียน รูดิน (Adrian Rudin) กรรมการผู้จัดการโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ที่เพิ่งปรับโฉมใหม่ ซึ่งได้รับเกียรติให้เป็นกรรมการตัดสินในอีพีที่ 4

ขณะถ่ายทำในประเทศไทย ผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดได้เข้าพักที่โรงแรม ASAI Bangkok Chinatown หนึ่งในโรงแรมเครือดุสิตที่เปี่ยมชีวิตชีวาใจกลางไชน่าทาวน์ ย่านอันน่าหลงใหลของกรุงเทพฯ โดยถูกออกแบบมาเพื่อเชื่อมโยงนักเดินทางให้เข้ากับประสบการณ์ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ที่พักที่เน้นไลฟ์สไตล์แห่งนี้เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับผู้เข้าแข่งขันในการพักผ่อนและเติมพลังระหว่างการถ่ายทำที่ท้าทายทั้งด้านทักษะการทำอาหาร ความคิดสร้างสรรค์ และจิตวิญญาณผู้ประกอบการของเหล่าผู้เข้าแข่งขัน

การแข่งขันยังใช้สิ่งอำนวยความสะดวกอันล้ำสมัยของวิทยาลัยดุสิตธานี สถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกและใหญ่ที่สุดของไทยรวมถึง The Food School โรงเรียนสอนทำอาหารข้ามชาติแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 สถาบันสอนทำอาหาร ได้แก่ Tsuji ประเทศญี่ปุ่น ALMA ประเทศอิตาลี และวิทยาลัยดุสิตธานี ประเทศไทย โดยสถาบันเหล่านี้ล้วนมีชื่อเสียงในด้านโปรแกรมการทำอาหารและการโรงแรม ซึ่งเป็นการส่งมอบสถานที่จัดการแข่งขันที่สมบูรณ์แบบให้แก่ผู้เข้าแข่งขันได้แสดงทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของตนเอง

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังได้แสดงบทบาทที่ยอดเยี่ยมในฐานะเจ้าภาพและผู้สนับสนุนหลักของการแข่งขัน โดยมีผู้เข้าแข่งขัน 3 คน เมนเทอร์ 4 คน และพันธมิตรผู้สนับสนุน 4 คนที่มาจากประเทศไทย ซึ่งกลุ่มดุสิตธานีมีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทในการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการทำอาหาร พร้อมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้กับเชฟรุ่นต่อไปทั้งในประเทศไทยและในเวทีระดับโลก

และในอีพี 4 เหล่าผู้เข้าแข่งขันต่างก็ตื่นเต้นไปกับการเยือนร้านอาหารบ้านดุสิตธานี กับโจทย์การแข่งขันที่ 'ศุภจี สุธรรมพันธุ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ต้องการให้พวกเขาสร้างสรรค์เมนูที่ถ่ายทอดประสบการณ์และแก่นแท้สุดพิเศษของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ แห่งใหม่ ที่เพิ่งกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง โดยพวกเขาต้องใช้แรงบันดาลใจจากห้องอาหารไทย 'เบญจรงค์' ห้องอาหารเวียดนาม 'เธียนดอง' และห้องอาหารสไตล์ละตินอเมริกา 'โนมาดา'  ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายความสามารถของพวกเขาอย่างมาก

“การสนับสนุน The Maverick Academy ของกลุ่มดุสิตธานี ตอกย้ำความทุ่มเทของเราสู่ความเป็นเลิศในด้านศิลปะการประกอบอาหาร การบริการส่วนบุคคล และการศึกษาด้านการโรงแรม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ดุสิตธานี กล่าว

'ศุภจี' มั่นใจว่า ด้วยรูปแบบที่มีชีวิตชีวา การดึงดูดผู้ชมที่หลากหลาย และผู้มีความสามารถด้านการทำอาหารที่น่าตื่นเต้นจากประเทศไทย รายการนี้ทำหน้าที่เป็นเวทีที่ยอดเยี่ยมในการสนับสนุนความเป็นเลิศด้านการทำอาหารในประเทศไทย และสะท้อนถึงมรดกทางอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักรไทยอีกด้วย

The Maverick Academy ทั้ง 5 EP พร้อมให้รับชมได้แล้วทาง Netflix

มาม่าเผย เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ ก็ยังขายดี เหตุลูกค้าหลักมาม่าไม่ได้รวยขึ้น

(22 พ.ย.67) บนเวทีเสวนา 'THAILAND 2025 โอกาส-ความหวัง-ความจริง' ที่จัดโดยประชาชาติธุรกิจ นาย นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 'มาม่า' กล่าวในตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยมีอายุถึง 50 ปีแล้ว และยังคงเป็นเทรนด์อย่างต่อเนื่อง แม้ยอดบริโภคต่อคนจะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ

โดยเมื่อ 2 ปีก่อน คนไทยบริโภคเฉลี่ย 52 ซองต่อปี ปัจจุบันเพิ่มเป็น 55 ซองต่อปี แม้ว่าธุรกิจนี้ยังจะไม่อยู่ในช่วงขาลง แต่ก็ต้องมีการพัฒนาโปรดักส์ใหม่ ๆ ควบคู่ไปกับการโฟกัสผลิตภัณฑ์หลัก ทั้งนี้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถูกจำกัดเรื่องราคา โดยในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา มีการปรับราคาขายเพียง 3 ครั้ง ครั้งละ 1 บาท ในปี 2541, 2551 และล่าสุดในปี 2565  

นายพันธ์กล่าวว่า ช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเกาหลี เริ่มเข้ามาทำตลาดในไทย ขายในราคาสูงถึง 35-45 บาท ทำให้แบ่งส่วนตลาดไปมาก แต่ในทางกลับกัน กลับเป็นโอกาสให้ 'มาม่า' ปรับกลยุทธ์ใหม่ โดยรีแบรนด์สินค้า เช่น 'มาม่าโอเค' ในราคาซองละ 15 บาท ซึ่งได้รับความนิยมสูงจนมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 10%  

“มาม่าโอเคไม่ได้เป็นสินค้าราคาแพง แต่เป็นสินค้าที่คุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศ คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ และยังเข้าถึงกลุ่มคนอายุ 30 ปีขึ้นไปได้ดี รวมถึงการเปิดร้าน ‘มาม่าสเตชั่น’ ที่อาร์ซีเอ ซึ่งมียอดขายดีมาก” นายพันธ์กล่าว  

ปัจจุบัน มาม่ายังครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในธุรกิจที่มีผู้เล่นไม่กี่ราย เพราะสามารถบริหารต้นทุนได้ดี แม้กำไรจะน้อย ถือเป็นจุดแข็งในการดำเนินธุรกิจ  

เมื่อถามถึงผลกระทบหากเศรษฐกิจดีขึ้น นายพันธ์ระบุว่า “ผมไม่กังวล เพราะกลุ่มลูกค้าหลักของมาม่ายังมีรายได้จำกัด และต้องเผชิญกับภาระรายจ่าย แม้รายได้จะเพิ่มขึ้นก็มีโอกาสสร้างหนี้มากขึ้น รัฐควรแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ พร้อมให้ความรู้เรื่องการออม”  

อย่างไรก็ตาม นายพันธ์ยอมรับว่าปัญหาใหญ่ของมาม่าคือการสร้างบุคลากรใหม่ “เด็กยุคนี้ไม่สนใจทำงานในบริษัท เราต้องสร้างบรรยากาศที่น่าทำงานให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันมาม่าไม่ติด 1 ใน 50 บริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากทำงาน”

'พิชัย' จับมือ 'แคทเธอรีน ไท' ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ที่เปรู ดันไทยเป็นฐานผลิตสินค้าอุตสาหกรรมใหม่สหรัฐฯ ดันต่ออายุ GSP หลุดบัญชี Wacth List พร้อมเตรียมพบคณะสภาธุรกิจสหรัฐฯ - อาเซียน (USABC) 25 พ.ย.นี้

(22 พ.ย.67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในระหว่างเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปคและการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ตนและคณะได้หารือกับนางแคทเธอรีน ไท ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า โดยเฉพาะการผลักดันการต่ออายุโครงการ GSP และส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ นอกจากนี้ในวันที่ 25 พ.ย. 2567 นายพิชัยยังมีกำหนดพบกับทัพนักธุรกิจ จากสภาธุรกิจสหรัฐฯ - อาเซียน (USABC) จำนวนกว่า 50 คน จากบริษัทชั้นนำของสหรัฐ อาทิ Amazon, Apple, Boeing, Citi, Google, Mastercard และ Seagate ที่กระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือแนวทางสนับสนุนนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ในการยกระดับเศรษฐกิจไทย พร้อมทั้งต่อยอดการเป็นพันธมิตรทางการค้ากับไทยต่อไปในอนาคต 

โดยในการหารือกับ นางแคทเธอรีน ไท ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ นายพิชัย เปิดเผยว่า ไทยและสหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งไทยพร้อมร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ระหว่างกัน โดยในการหารือไทยได้แสดงความยินดีต่อการสรุปผลแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) ที่ทั้งสองประเทศได้ดำเนินการร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การปลดไทยออกจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List) ซึ่งสหรัฐก็ได้เสนอว่าจะรีบดำเนินการให้เพราะไทยได้ทำตามที่สหรัฐต้องการ และรับปากว่าจะเอาไทยออกจาก Watch List ในเร็วๆนี้  นอกจากนี้ ไทยขอให้สหรัฐฯ พิจารณาเร่งรัดการต่ออายุการให้สิทธิ GSP ที่ได้หมดอายุไปเมื่อปลายปี 2563 ให้เสร็จโดยเร็ว เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศ ซึ่งสหรัฐรับที่จะนำกลับมาดำเนินการให้ไทย 

โดยไทยได้แจ้งสหรัฐฯ ว่าพร้อมเป็นพันธมิตรด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการเป็นฐานการผลิตในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของสหรัฐฯ เช่น ดิจิทัล AI อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ ผมได้ขอบคุณบริษัทดิจิทัลสัญชาติสหรัฐฯ อย่างบริษัท Google และ Amazon ที่ได้ยืนยันแผนการลงทุนในธุรกิจ Data Center และ Cloud Service ในไทย ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจดิจิทัลของภูมิภาค พร้อมทั้งได้เชิญชวนบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ อื่นๆ เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มอีกปลายเดือนนี้

“ตนจะเดินทางไปงานสหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งจะมีโอกาสได้เจอกับผู้นำทางการค้า ซึ่งได้ใช้โอกาสนี้พูดคุยกันไว้ก่อนแล้ว ซึ่งจะเป็นการไปพูดคุยว่าไทยเป็นมิตร และบริษัทในสหรัฐจะมาลงทุนในไทยเยอะ จึงควรจะเอื้อประโยชน์ให้ไทย ซึ่งหากจะเกิดสงครามการค้า ให้มองข้ามไทยไป นี่คือแนวทางของกระทรวงพาณิชย์ซึ่งทางท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ก็ให้นโยบายในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุด” นายพิชัย กล่าว

ซึ่งก่อนหน้านี้นายพิชัยได้ นำคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ประชุมกับอัครราชทูต(ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานพาณิชย์ ณ กรุงวอชิงตัน ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ในภูมิภาคอเมริกาและลาตินอเมริกา และผู้นำเข้าสินค้าไทยรายใหญ่ของสหรัฐฯ ที่นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อติดตามสถานการณ์การค้าในตลาดสหรัฐฯ ทำงานเป็นทีมพาณิชย์เชิงรุก ตามนโยบายของรัฐบาล เร่งหาโอกาสทางการค้า การลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่ไทย ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ยินดีส่งเสริมแก้ไขอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนให้กับผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน

‘เอกนัฏ’ สั่ง ทบทวนมาตรฐานหม้อแปลงไฟฟ้า ด้าน สมอ. เตรียมประกาศใช้ 5 ม.ค. 68 นี้

เมื่อวันที่ (21 พ.ย.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้กำชับให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งกำหนดมาตรฐาน รวมทั้งทบทวนมาตรฐานที่มีส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ  ของประเทศที่มีอายุมากกว่า 5 ปี เช่น มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับกระบวนการผลิตในปัจจุบัน โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้นำมาตรฐานไปใช้ยกระดับคุณภาพสินค้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และให้หน่วยงานที่มีภารกิจโดยตรง ได้นำมาตรฐานไปใช้ในการอ้างอิงในการปฏิบัติงาน เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นต้น 

โดยมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ สมอ. แก้ไขเรียบร้อยแล้วและกำลังจะมีผลใช้งานตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2568 เป็นต้นไป คือ มาตรฐาน 'หม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง' ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เปลี่ยนกระแสไฟเพื่อให้เหมาะสมกับระบบส่งกำลังไฟฟ้า โดยมีความสำคัญที่สุดในบรรดาอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมด เพราะหากหม้อแปลงไฟฟ้าเกิดการขัดข้องหรือชำรุดเสียหาย จะส่งผลกระทบต่อการใช้ไฟของประชาชน และกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก ซึ่งการทบทวนมาตรฐานดังกล่าวในครั้งนี้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และเป็นการเปิดโอกาสทางการค้าในตลาดต่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการไทยมากยิ่งขึ้น

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ได้ประกาศใช้มาตรฐานหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังมาตั้งแต่ปี 2524 และได้มีการทบทวนมาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง โดยประกาศใช้ครั้งที่ 2 ปี 2543 และครั้งที่ 3 ปี 2567 ที่จะมีผลใช้งานในวันที่ 5 มกราคม 2568 นี้ การทบทวนมาตรฐานในครั้งนี้ เพื่อให้ทันสมัยสอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน โดยการอ้างอิงตามมาตรฐาน IEC และแก้ไขขอบข่ายให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้มีคุณลักษณะตามมาตรฐานสากล และสามารถนำไปใช้งานร่วมกับมาตรฐานด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ ครอบคลุมหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้งานภายในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ โรงงานอุตสาหกรรม และอาคารสถานที่ต่าง ๆ ฯลฯ ไม่ครอบคลุมหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดเล็กที่เคลื่อนที่ได้ เช่น หม้อแปลงติดตั้งบนเครื่องฉุดลาก หม้อแปลงสำหรับงานเหมือง หรือหม้อแปลงไฟฟ้าสำหรับใช้งานในน้ำ เป็นต้น และมีการแก้ไขข้อกำหนดในสภาวการณ์ใช้งานให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดจากอุณหภูมิแวดล้อม รวมทั้งแก้ไขมาตรฐานวิธีการทดสอบให้สอดคล้องกับวิธีทดสอบตามมาตรฐานสากลด้วย

สำหรับการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในการนำมาตรฐานไปใช้ สมอ. ได้เชิญผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 200 ราย เช่น การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรมโรงงานอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการ เข้าร่วมสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ในวันนี้ (21 พฤศจิกายน 2567) เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในข้อกำหนดของมาตรฐานหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังฉบับใหม่ มอก. 384 เล่ม 1-2567 และการตรวจติดตามภายหลังได้รับใบอนุญาต รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการยื่นขอรับการรับรองตามมาตรฐานดังกล่าวให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น เลขาธิการ สมอ. กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top