Monday, 19 May 2025
GDP

'กรณ์' แนะ!! แนวทางบรรเทาหนี้ครัวเรือนไทย หลังพุ่งแตะอันดับ 9 ของโลก ชี้!! ส่วนใหญ่ยืมมาเพื่อใช้จ่าย ไม่ใช่ลงทุนในสินทรัพย์ที่เพิ่มมูลค่า

เมื่อวานนี้ (4 ก.ย. 67) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ 'วิกฤตเศรษฐกิจไทยในวันที่ต้องรอด' ในงานประชุมใหญ่สมาคมอสังหาริมทรัพย์ฉะเชิงเทรา ที่จัดขึ้น ณ โรงแรมวันธาราเวลเนส รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล ต.คลองนา อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีสมาชิกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จากทั่วประเทศเข้าร่วม

โดยนายกรณ์ได้กล่าวถึงหนี้รัฐบาลว่ายังถือเป็นเรื่องที่น่าจะแบกรับได้ เมื่อเทียบกับภาระการชดใช้ดอกเบี้ยและเงินต้นของรัฐบาล ที่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของ GDP

แต่สิ่งที่กำลังเป็นปัญหาของรัฐบาลคือการที่หนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ซึ่งหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554-2556 พบว่า หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 50 เปอร์เซ็นต์ของ GDP เป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ในระยะเพียง 5 ปี ถือว่าเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับเกือบทุกประเทศในโลก

ขณะที่ในวันนี้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ประมาณ 86.9 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ซึ่งติดอยู่ในกลุ่มหนี้ครัวเรือนที่สูงที่สุดในโลก หรือติดอยู่ในลำดับที่ 9 ใน 10 ของโลก และที่น่าแปลกใจคือ ประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงที่สุด คือ สวิตเซอร์แลนด์ ที่เคยถูกมองว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยและไม่คิดว่าประชากรของประเทศนี้จะกู้หนี้ยืมสินมากเป็นอันดับ 1 ของโลก คือ 128.3 เปอร์เซ็นต์ของ GDP

“แต่เหตุใดคนสวิสจึงไม่เดือดร้อนในเรื่องของปัญหาหนี้ครัวเรือน นั่นก็เพราะ 99 เปอร์เซ็นต์ของหนี้สินคนสวิสคือ หนี้ซื้อบ้านซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ประเทศไทย หนี้ภาคครัวเรือนเป็นหนี้ที่ยืมมาเพื่อใช้จ่าย อีกทั้งรายได้ของประเทศไทยยังน้อย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้กำลังซื้อของคนไทยหายไป”

นายกรณ์ ยังเผยอีกว่า ที่ผ่านมาตนได้เคยฝากความเห็นไปยังรัฐบาล ‘เศรษฐา’ เกี่ยวกับเรื่องที่มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย แก้ปัญหาเรื่องหนี้ว่าปัญหาหนี้ต้องแก้ด้วยเงิน และกระทรวงที่มีเงินคือ กระทรวงการคลัง ที่มีธนาคารของรัฐอยู่ในมือจึงเหมาะจะเป็นเจ้าภาพ ทั้งธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.

แต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องหนี้จะแก้ได้โดยง่าย เพราะเป็นปัญหาที่สะสมมานาน และที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาหนี้ไม่ใช่การพักหนี้หรือยกหนี้ให้ แต่เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ลูกหนี้ ด้วยการทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นเราจะสามารถแบกรับภาระหนี้เหล่านี้ได้

“หาก GDP โตสัดส่วนหนี้ต่อ GDP จะค่อยๆ ลดลงไปเอง วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด คือทำให้ GDP โต ฉะนั้นประเด็นคือเราจะทำให้เศรษฐกิจของเราโตขึ้นได้อย่างไร ซึ่งจะต้องรอดูและให้เวลาต่อรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร เช่น การมีนโยบายส่งเสริมพัฒนาส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC ต่อหรือไม่ หรือจะหันไปสนใจในเรื่องแลนด์บริดจ์ที่เป็นนโยบายของรัฐบาลนี้โดยตรง”

ทั้งนี้ เหตุผลหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเมื่อ 40 ปีก่อนคือการที่ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย เนื่องจากญี่ปุ่นมีปัญหาด้านการค้ากับอเมริกา ขณะที่เงินเยนแข็งค่าเกินไปจึงต้องการส่งออกสินค้ากับประเทศที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเทียบกับสหรัฐฯ ที่ไม่ได้มีการปรับในระดับเดียวกับญี่ปุ่น

ซึ่งเงินบาทของไทยในขณะนั้นยังผูกอยู่กับเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงตรงกับความต้องการของนักลงทุนญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีการก่อสร้างทางอุตสาหกรรม จึงมีแรงงานที่เป็นปัจจัยในทางบวกกับประเทศไทยอย่างมาก

แต่ในวันนี้การลงทุนจากต่างประเทศของไทยลดลงเหลือแค่เพียงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น EEC จึงมีความสำคัญในการดึงการลงทุนให้ไหลกลับคืนเข้ามา

‘ผู้ว่าฯ ธปท.’ มอง!! การเติบโตเศรษฐกิจไทย ไม่ควรล่า ‘GDP’ แบบเดิมอีกต่อไป เผย!! ควรเน้นการเติบโตจากท้องถิ่น ชี้!! นี่คือ ‘กุญแจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน'

เมื่อวานนี้ (13 ก.ย.67) ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา ‘Big Heart Big Impact สร้างโอกาสคนตัวเล็ก..Power of Partnership จับมือไว้ไปด้วยกัน’ ที่จัดโดยสำนักข่าว Thaipublica ในหัวข้อ ‘สร้างไทยเข้มแข็งด้วยท้องถิ่นนิยม Localism Future of Thailand’ ว่า ประเทศไทยจะเติบโตแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไป ต้องหารูปแบบการเติบโตใหม่ ๆ ที่ต่างไปจากที่เราเคยเติบโต

ตัวสะท้อนที่เห็นชัด ว่าเราจะเติบโตแบบเดิมไม่ได้ ด้านแรก หากดูในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของจีดีพี ถือว่าไม่ได้สะท้อนเรื่องของความมั่งคั่งหรือรายได้ของครัวเรือนเท่าที่ควร 

โดยเฉพาะหากมองไปข้างหน้า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากปัญหาเชิงโครงสร้าง ดังนั้นแม้ตัวเลขจีดีพีเติบโต แต่ไม่ได้หมายความว่า รายได้หรือความมั่งคั่งของครัวเรือนหรือรายได้ต่างเพิ่มขึ้น 

ด้านที่สอง ในมุมของภาคธุรกิจ เห็นการกระจุกตัวค่อนข้างสูง โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ที่ 5% แต่มีสัดส่วนรายได้สูงถึงเกือบ 90% เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบกับก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 84-85%

สะท้อนการกระจุกตัวของรายได้ธุรกิจที่เพิ่มขึ้น มิหนำซ้ำ หากดูธุรกิจรายเล็กที่เพิ่งเกิดใหม่ และมีการก่อตั้งธุรกิจมาน้อยกว่า 5 ปีหลัก มีอัตราการปิดกิจการ หรือการตายที่เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนถึง Dynamic ที่เริ่มลดลง สะท้อนการกระจุกตัวสูงขึ้น

ด้านที่สาม ภายใต้บริบทของโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้อานิสงส์ที่ประเทศไทยเคยได้รับ ไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะ การพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศหรือ FDI ที่เข้ามาในประเทศ ที่ไทยหวังพึ่งแบบเดิมไม่ได้เหมือนเดิม หากดูมาร์เก็ตแชร์ของไทยเคยอยู่ที่ 0.57%  ซึ่งสูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม มาก แต่ปัจจุบัน FDI  เวียดนามแซงไทยไปมาก

สะท้อนให้เห็นว่าเราทำแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป ไม่เหมือนอดีตที่เรามีเสน่ห์แม้เรานั่งเฉยๆ เขาก็วิ่งมาหาเรา แต่ตอนนี้ไม่ใช่อีกต่อไป ดังนั้นประเทศไทยต้องปรับตัว ต้องออกแรงมากขึ้น จะหวังพึ่งต่างชาติไม่ได้เหมือนเดิม หมายความเราจำเป็นที่ต้องพึ่งความเข้มแข็งภายในของเรามากขึ้น

“เราไม่ควรโตแบบล่าตัวเลขอย่างเดียว ล่าจีดีพี ล่า FDI เพราะการเติบโตที่ผ่านมาก็ไม่ได้สะท้อนไปสู่เรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ตัวเลขที่ต้องล่าคือ ชีวิตความเป็นอยู่ของคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้คน ความมั่งคั่งของคน ที่เป็นสะท้อนคุณภาพของชีวิตความเป็นอยู่ของคน เช่น ตัวเลขสาธารณสุข การศึกษา และโอกาสต่างๆ เพราะตัวเลขวันนี้ไม่ได้สวยหรูเหมือนเมื่อก่อน”

ดังนั้นการเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น เข้มแข็งกว่าเดิม หรือเติบโตบนรูปแบบใหม่ ต้องอาศัยหลายๆ เรื่อง ภายใต้ More Local 

ด้านแรก เน้นการเติบโตแบบท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันประชากร 80% อยู่นอกพื้นที่ กทม./ปริมณฑล

ซึ่งต้องสร้างความมั่งคั่งนอกพื้นที่ และด้านที่สอง ธุรกิจประมาณ 80% อยู่นอกพื้นที่ กทม./ปริมณฑล ซึ่งหากดูสัดส่วนประชากรเมืองหลวง และเมืองรองมีช่องว่าง (Gap) มหาศาล และด้านที่สาม จากตัวเลข World Bank

สะท้อนว่าการเติบโตจีดีพีสูง แต่การเติบโตของประชากรเพียง 0.22% เท่านั้น 

อย่างไรก็ดี การเติบโตแบบท้องถิ่น จะต้องโตแบบแข่งขันได้ และเป็นการแข่งขันกับโลกได้ด้วย ไม่เฉพาะแข่งขันเฉพาะจังหวัดเท่านั้น แต่การเติบโตที่แข่งขันได้ ต้องก้าวข้ามหลายด้าน 

ซึ่งสิ่งที่ไม่ควรทำ หรือของที่ไม่ใช่

ด้านแรก การเติบโตโดยอาศัยความหนาแน่นของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เริ่มส่งผลกระทบ จากความหนาแน่นเหล่านี้แล้ว ทั้งความแออัด ต้นทุนที่สูงขึ้น ที่เริ่มเห็นจีดีพีต่อหัวของกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ชะลอตัวลง 

ด้านที่สอง นโยบายที่เน้นการกระจายความเจริญไปพื้นที่ต่างๆ ที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก เช่น การพยายามไปพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ  หรือ Special Economic Zone  เพื่อดึงดูดความมั่งคั่งการลงทุนต่าง ซึ่งจากการทำมาตั้งแต่ ปี 2558 พบว่ามีมูลค่าลงทุน หากเทียบกับสัดส่วนของมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในประเทศทั้งหมด ที่พบว่าอยู่เพียง 0.5% หรือไม่ถึง1%  ดังนั้นแม้นโยบายเหล่านี้ เป็นเจตนารมณ์ที่ดีของนโยบายรัฐ เพื่อหวังให้เกิดการกระจายความเจริญ แต่หากไม่ได้ศักยภาพต่างๆ นโยบายพวกนี้อาจเป็นนโยบายที่ไม่ใช่ 

ส่วนสิ่งที่ ‘ใช่’ คือ การสร้างท้องถิ่นสากลให้มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน จุดเด่นแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ทั้งทรัพยากร และประวัติศาสตร์ แต่จะต้องแข่งขันกับโลกได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ แต่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยการที่ทำให้ท้องถิ่นสากลได้ ต้องมี 5-6 เรื่อง 

1.เชื่อมกับตลาด แต่จากท้องถิ่นที่ไม่หนาแน่น กระจายไม่เยอะ ทำให้ต้นทุนจะต่ำได้น้อยมาก แต่กระแสออนไลน์จะทำให้การเชื่อมกับตลาดได้ง่ายขึ้น

2.สร้างมูลค่าเพิ่มโดยการหาจุดเด่น และเอกลักษณ์ 

3.ร่วมมือกับพันธมิตร (Partner) จะช่วยได้ โดยตัวเล็กจับมือกับตัวใหญ่ เพื่อสร้างโอกาสที่เป็น Win-Win

4.ทำให้เมืองรองโต ทำให้เกิดการเข้าถึงเมืองรอง สร้างการกระจุกตัวในเมืองใหม่ ๆ 

5.ให้ท้องถิ่นบริหารจัดการเองได้ เพราะอะไรที่จากส่วนกลางแบบ One size fits all จะไม่เหมาะกับทุกพื้นที่ เช่น ต่างประเทศที่พัฒนาได้ดี อาทิ เกาะเจจู ของเกาหลีที่ให้พื้นที่ออกนโยบายเอง ทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า จากเดิมอยู่ที่ 1,500 ดอลลาร์

6.สร้างระบบติดตาม ประเทศที่ทำได้ดี คือ เวียดนาม ที่มีการคำนวณความสามารถในการแข่งขันในแต่ละจังหวัด และแต่ละพื้นที่ โดยมีการสำรวจความเห็นนักลงทุนถึงกฎระเบียบการลงทุน และอุปสรรคมีอะไรบ้าง เพื่อพยายามให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน 

🔍ชวนส่อง คาดการณ์ 10 ประเทศ ที่จะมี GDP สูงที่สุดในปี 2050

เศรษฐกิจแข็งแกร่ง!! คาดการณ์ 10 ประเทศ ที่จะมี GDP สูงที่สุดในปี 2050 ‘ประเทศจีน’ นำโด่ง ติดอันดับ 1 ส่วน ‘อินเดีย’ ตามมาในอันดับ 2 และ ‘สหรัฐอเมริกา’ ติดอันดับ 3 ส่วนประเทศจะอยู่ในอันดับใดบ้างมาดูกัน!!

‘ไทย’ คว้าอันดับ 41 บนเวทีนวัตกรรมโลก และเป็นที่ 3 ใน ASEAN ด้านสัดส่วนการลงทุนวิจัย และนวัตกรรมต่อ GDP โดยเอกชน

(3 พ.ย. 67) ผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกในปี 2024  นับเป็นอันดับสูงสุดที่ประเทศไทยเคยได้รับในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา โดยประเทศไทยได้ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 41 ของโลกจากทั้งหมด 133 ประเทศ (ขยับดีขึ้น 2 อันดับจากปีก่อนหน้า) และยังคงอยู่อันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นรองประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย

ภาพรวมความสามารถทางนวัตกรรมของประเทศไทย มีพัฒนาการขยับอันดับทั้งปัจจัยทางเข้านวัตกรรม (Innovation input sub-index) และผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation output sub-index) สะท้อนให้เห็นถึงการขับเคลื่อนนวัตกรรมที่มาถูกทาง ปัจจัยชี้วัดความสามารถด้านนวัตกรรมที่ไทยมีความโดดเด่นที่สุดคือกลุ่มปัจจัยด้านระบบธุรกิจ โดยเฉพาะตัวชี้วัดสัดส่วนค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนาที่ลงทุนโดยองค์กรธุรกิจ (GERD financed by business, %) ยังคงเป็นปัจจัยที่ประเทศไทยมีความโดดเด่นเป็นอันดับ 1 ของโลกติดต่อกันมาเป็นปีที่ 5 ซึ่งสะท้อนให้เห็นการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศที่มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนองค์ประกอบตัวชี้วัดที่ต้องเร่งพัฒนา คือปัจจัยด้านการส่งออกบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารต่อการค้ารวม (ICT services exports, % total trade) สัดส่วนงบประมาณด้านการศึกษาต่อ GDP (Expenditure on education, % GDP) โดยมีปัจจัยอัตราของคุณครูในโรงเรียน (Pupil–teacher ratio, secondary) ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่ในตัวชี้วัดด้าน Human capital and research ที่ประเทศไทยต้องแก้ไขอย่างจริงจัง และอีกปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาคโรงงานอุตสาหกรรมคือ สัดส่วนการใช้พลังงานที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ (Low-carbon energy use, %) เพราะจะเห็นว่า Climate Tech ในอนาคตกำลังมีบทบาทอย่างมาก 

จากจุดที่เป็นความท้าทายทั้งหมดจะเห็นว่า หลายส่วนต้องเพิ่มการทำงานจากฝั่งภาครัฐ ในบทบาทของการเป็นผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม NIA จึงได้เชื่อมโยงความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมไปด้วยกัน โดยมีประเด็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะต้องเดินหน้าอย่างไร ตามไปดูกัน!

ประเด็นการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา สกสว. มองว่าต้องเร่งสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิจัยกับภาคเอกชนในการทำงานร่วมกัน เพื่อให้นักวิจัยเข้าใจภาคของตลาด ทั้งยังมองไปถึงความสำคัญในการพัฒนาภาคการศึกษา ทั้งด้านกำลังคนและในเชิงพื้นที่ โดยต้องสร้างการรับรู้ ส่งสัญญาณให้ภาคส่วนต่างๆ เชื่อมั่นในศักยภาพของนวัตกรรมไทยที่พัฒนาขึ้น 

ประเด็นการเร่งให้เกิดการขยายตลาดของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ และการทำแพลตฟอร์ม กระทรวงพาณิชย์ จะส่งเสริมให้เกิดการสร้างความร่วมมือกับเอกชน สร้างความรู้เกี่ยวกับการบริหาร และยังสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์จาก Data ที่มาจากการจดสิทธิบัตรทั่วโลก เพื่อคาดการณ์อนาคตถึงแนวโน้มตลาด นอกจากนั้นยังรวมถึงอีกเทรนด์ที่สำคัญ คือการผลักดันให้เกิดการทำธุรกิจในหลัก ESG ในลักษณะที่ไม่ใช่แค่รายใหญ่เท่านั้น แต่รายเล็กก็ต้องขานรับด้วย 

ประเด็นหลักสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรม โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เห็นสิ่งจำเป็นตั้งแต่การสร้างความเข้าใจถึงความสำคัญ และส่งเสริมให้เกิดการจดสิทธิบัตร ซึ่งที่ผ่านมามีกระบวนการอำนวยความสะดวกหลายอย่าง เช่น การใช้ AI เข้ามาช่วยเพิ่มความรวดเร็วและความแม่นยำ รวมถึงช่วยตอบคำถามเบื้องต้นต่างๆ นอกจากนี้ ยังมี Fast Track ทั้งในเรื่องเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตรต่างๆ โดยมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ การแพทย์และสาธารณสุข และอาหารแห่งอนาคต รวมถึงการปรับแก้กฎหมายเกี่ยวกับระบบสิทธิบัตรเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศมากขึ้น 

นอกจากนั้นยังมี ปัจจัยด้านผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ (Creative outputs) ซึ่งมีตัวชี้วัดจำนวนภาพยนตร์ขนาดยาวปานกลางระดับชาติที่ผลิตในประเทศโดยเฉลี่ยต่อประชากรในช่วงอายุ 15-69 ปี (National feature films/mn pop. 15-69) ที่อันดับมีการขยับขึ้น โดยภาพรวมแม้จะยังไม่สูงมากแต่ก็เป็นสิ่งที่ประเทศมีศักยภาพ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จึงมองว่าถึงเวลาเร่งเครื่องอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ Soft Power และส่งเสริมการทำงานระหว่างนักออกแบบและนักธุรกิจ ต่อยอดให้เกิดการนำสินทรัพย์ทางนวัตกรรมมาผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ นำอารมณ์ร่วมทางความรู้สึกที่เป็นจุดเด่นในการเล่าเรื่องมาประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีจุดขาย 

และส่วนสุดท้ายการจะเดินหน้าระบบนวัตกรรมไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก ต้องมีการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานระดับนานาชาติ เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือให้เกิดการกำหนดทิศทางและวางแผนเชิงนโยบายอย่างตรงจุด รวมไปถึงการเร่งสร้างวิสาหกิจรุ่นใหม่ที่จะสามารถเติบโตไปเป็นยูนิคอร์นได้สำเร็จ 

‘ประชัย’ เตือน!! ‘แบงค์ชาติ’ คุมค่าเงินบาท ให้จริงจัง ก่อนกลียุคทางเศรษฐกิจ ชี้!! คนจนได้รับผลกระทบ

(8 ธ.ค. 67) นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ได้วิเคราะห์สถานการณ์ค่าเงินบาทเป็นตอนที่ 21ว่า ข่าวสารการปิดโรงงานโรงแล้วโรงเล่า ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นอย่างท่วมท้นยากที่ธปท.และรัฐบาลจะแก้ไขได้ ตามที่เครดิตบูโรและธปท.ได้แถลงไว้นั้น  เหตุเนื่องมาจาก ธปท.ปฏิบัติหน้าที่รักษาเสถียรภาพเงินบาทอย่างเสรีนิยมโดยปล่อยให้ค่าเงินบาทขึ้นลงตามธรรมชาติหรือตามยถากรรมแล้วแต่ผู้ก่อการร้ายนิวยอร์กจะปั่นขึ้นเท่าที่พวกมันต้องการทั้งๆที่ช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาประเทศคู่แข่งทางการค้าของเราเช่น จีน เวียดนาม เกาหลีใต้ ต่างปล่อยให้ค่าเงินของเขาอ่อนค่ากว่าเราเป็น 10% ขึ้นไป แม้แต่ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์อินเด็กซ์ ค่าเงินบาทก็แข็งกว่า 18.93% ทำให้สินค้าส่งออกแพงกว่าของคู่แข่ง

ขณะเดียวกันราคาสินค้านำเข้าจากคู่แข่งทางการค้าราคาคิดเป็นเงินบาทกลับถูกกว่าของเรา เป็นเหตุให้สินค้าส่งออกขาดทุน ขณะเดียวกันสินค้านำเข้าก็ถูกกว่าต้นทุนการผลิตจากโรงงานภายในประเทศทำให้ต้องปิดโรงงานโรงแล้วโรงเล่า คนงานตกงานเป็นสิบล้านคน

สำหรับสินค้าปฐมภูมิก็เช่นกัน สินค้าต่างประเทศที่มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ด้อยค่ากว่าเงินบาท ทำให้ราคาสินค้าที่เกษตรกรและฟาร์มปศุสัตว์ในประเทศได้รับตกต่ำลง เงินที่จะจับจ่ายซื้อสินค้าหายไปมาก ภาษีที่รัฐบาลเก็บได้ต่ำกว่างบประมาณแผ่นดิน หนี้สินครัวเรือนและหนี้สินไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นยากแก่การแก้ไข สถาบันการเงินได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงซึ่ง ธปท.รู้เป็นอย่างดีตามรายงานของ ธปท.และเครดิตบูโรที่แนบมาอาจทำให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยต้มยำกุ้งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดย world bank อาจสั่งแช่แข็งสถาบันการเงินและปัจจัยการผลิตทั้งประเทศแล้วหั่นศพแยกอวัยวะศพขายให้ผู้ก่อการร้ายนิวยอร์กและพวกในราคาเท่าเศษเนื้อไปทำกำไร 

แต่ครั้งนี้คงจะเกิดกลียุคเพราะคนจนที่ได้รับผลกระทบมีมากอาชญากรรมเต็มบ้านเต็มเมืองเพราะคนไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย ตามสมควร

ขอวอนให้ ธปท.อย่าประมาททำการรักษาเสถียรภาพเงินบาทอย่างจริงจังอย่างน้อยบาทควรอ่อนลง

ก.11.5%เหมือนเงินหยวนจีน
หรือ

ข. 18.93%เหมือนกับดอลลาร์อินเด็กซ์
หรือ

ค.
16.67+24.5=41.17% เหมือนกับเงินวอนเกาหลีใต้
หรือ

ง.  83.26%เหมือนกับเงินดองเวียดนาม
(หมายเหตุ:ข้อ ค.และข้อ ง.อ่อนมากเกินไป)

ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ การปิดโรงงาน การว่าจ้างแรงงาน คนว่างงาน
การบริโภคภายในประเทศ หนี้ครัวเรือนและหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ GDP โต 3-5%

‘เอกนัฏ’ จ่อถกกรมโยธาฯ แก้ปัญหาผังเมือง รองรับการลงทุน หวังภาคอุตสาหกรรมช่วยดัน GDP ประเทศเพิ่มขึ้นอีก 1%

(3 มี.ค. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในระหว่างการประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา

โดยเป้าหมายหลักของการประชุม ได้แก่ การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมในปีนี้ ตั้งไว้เพิ่ม GDP ขึ้น 1% ให้ได้ภายในปี 2568 ขณะเดียวกันมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยเป้าหมายหลักคือลดขั้นตอนการอนุมัติโครงการ เร่งกระบวนการลงทุน และพัฒนาพื้นที่รองรับการลงทุนในอนาคตกว่า 50,000 ไร่

“ผมกำหนดเป้าหมาย KPIs เพิ่ม GDP ขึ้น 1% ภายในปี 2568 มุ่งเน้นลงทุนเพิ่มในอุตสาหกรรมใหม่ และอุตสาหกรรม สีเขียว การให้ความรู้ (knowledge) แก่บุคลากรให้มีทักษะรองรับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” นายเอกนัฏ กล่าว

นายเอกนัฏ กล่าวอีกว่า เตรียมร่างกฎหมายฉบับใหม่เพื่อบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม และขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นระบบ แก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายและขยะพลาสติก ซึ่งหากประชาชนพบปัญหาเกี่ยวกับโรงงานเถื่อน หรือโรงงานที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน สามารถแจ้งเรื่องได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ 'แจ้งอุต' 

ทั้งนี้ เมื่อได้รับแจ้งกระทรวงฯ จะส่งทีมเฉพาะกิจ 'ตรวจสุดซอย'ลงพื้นที่ตรวจสอบการประกอบกิจการที่ฝ่าฝืนกฎหมายทันทีและจะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดกับผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการกับธุรกิจสีเทาและส่งเสริมผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามกฎหมาย 

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ.รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กนอ. ปรับปรุงกระบวนการอนุมัติจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม จากเดิม 9 ขั้นตอนเหลือเพียง 8 ขั้นตอน เพื่อลดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในการดำเนินโครงการ รวมทั้งให้เร่งการอนุมัติโครงการโดยอนุญาตให้ประกาศพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้ ก่อนรายงาน EIA จะเห็นชอบ 

ปัจจุบันมีพื้นที่อุตสาหกรรมพร้อมขาย 23,662.45 ไร่ และมีพื้นที่เสนอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 4,959 ไร่ รวมถึงโครงการที่คาดว่าจะจัดตั้งหรือขยายในอนาคตอีก 27 โครงการ ในพื้นที่ EEC 71,243 ไร่  

โดยที่ผ่านมาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีการขยายธุรกิจและการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงานและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดย กนอ. ได้เร่งรัดกระบวนการขออนุญาตเรื่องการประกาศเขตเพื่อให้สามารถขายสินค้าได้เร็วขึ้น 

อย่างไรก็ตาม กนอ. พร้อมเป็นกลไกขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม โดยจะประสานความร่วมมือกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เพื่อแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกในการดำเนินโครงการต่างๆ ให้กับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อสร้างการเติบโต GDP ของภาคอุตสาหกรรมอย่างน้อย 1% ในปี 2568

เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา!! ‘ทรัมป์’ ขู่จะแซงชั่น ‘ปูติน’ ‘สีจิ้นผิง’ แอบอมยิ้ม!!

(8 มี.ค. 68) รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 'Aksornsri Phanishsarn' โดยมีใจความว่า ...

#จักรพรรดิทรัมป์ ชอบข่มขู่คนอื่น !! 7 มีนา 2025 โพสต์ขู่ #ปูติน อีกแล้ววววว #จอมยุทธ์ไร้กระบวนท่า แบบทรัมป์ชอบกลับลำ/เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแบบนี้ #สีจิ้นผิง แอบอมยิ้ม  

สงสัยทีมงานจักรพรรดิทรัมป์ไม่เคยโชว์ข้อมูลให้แก ลุงทรัมป์แกเลยไม่รู้ว่า การ sanction แบบนี้มันไม่กระทบรัสเซียจ้า

รัสเซียโดนแซงชั่นชุดใหญ่จากพวกฝรั่งรุมถล่มรัสเซีย แต่ตัวเลขเศรษฐกิจ GPD รัสเซียยังโตต่อเนื่อง ปี 2023-2024 แถมโตกว่า ฝรั่งยุโรปหลายประเทศ

รัสเซียมีจีนสุดซี้หนุนอยู่ค่า ทุบยังไงก็ไม่พัง

ฝรั่งยุโรปหลายประเทศซิค่ะ ไปแซงชั่นรัสเซีย แต่เศรษฐกิจตัวเองน่วมเองจ้า (ตย เศรษฐกิจเยอรมันย่ำแย่มากค่า)

GDP พุ่ง 4.1% เร็วที่สุดในกลุ่ม G20 รั้งอันดับ 3 ของโลก แม้เผชิญคว่ำบาตร

(25 มี.ค. 68) รัสเซียสร้างแรงสั่นสะเทือนให้เวทีเศรษฐกิจโลก หลังสามารถขึ้นเป็นอันดับ 3 ของประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในกลุ่ม G20 ประจำปี 2024 ด้วยอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 4.1% ติดต่อกันเป็นปีที่สอง ตามการวิเคราะห์ของ Sputnik International ที่อ้างอิงจากข้อมูลสถิติระดับประเทศ

อินเดียจะชะลอตัวจาก 8.8% ในปี 2023 ลงมาอยู่ที่ 6.7% ในปี 2024 แต่ก็ยังครองอันดับ 1 ของกลุ่ม G20 ตามมาด้วยจีน ซึ่งขยายตัว 5% เท่ากับอินโดนีเซีย ขณะที่รัสเซียไต่อันดับขึ้นมาอย่างแข็งแกร่ง แม้ต้องเผชิญมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ท่ามกลางแรงกดดันจากชาติตะวันตก เศรษฐกิจรัสเซียยังสามารถเติบโตได้อย่างโดดเด่น โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ 

1. การพึ่งพาตลาดภายในประเทศ – กระตุ้นการบริโภคและการผลิตภายใน ลดการพึ่งพาสินค้าจากต่างประเทศ 
2. การส่งออกพลังงานไปยังพันธมิตรใหม่ – หันไปทำการค้ากับจีน อินเดีย ตุรกี และประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งช่วยชดเชยตลาดที่สูญเสียจากการคว่ำบาตร 
3. การลงทุนภาครัฐในอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน – โครงการขนาดใหญ่ได้รับงบประมาณสนับสนุนต่อเนื่อง กระตุ้นเศรษฐกิจภายในให้เติบโต

นอกจากอินเดีย จีน อินโดนีเซีย และรัสเซียแล้ว บราซิล มาเป็นอันดับ 4 ด้วยอัตราการเติบโต 3.4% ขณะที่ ตุรกี อยู่อันดับ 5 ที่ 3.2%

ในทางกลับกัน เยอรมนีและอาร์เจนตินา เผชิญกับเศรษฐกิจหดตัวติดต่อกันเป็นปีที่สอง ซึ่งสะท้อนถึงความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจในบางส่วนของโลกตะวันตก ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ ความไม่แน่นอนทางการเมือง และผลกระทบจากความขัดแย้งในยูเครน

ความสำเร็จของรัสเซียในการรักษาการเติบโตสูงภายใต้แรงกดดันจากตะวันตก อาจสะท้อนให้เห็นแนวโน้มใหม่ของ การจัดระเบียบเศรษฐกิจโลก โดยประเทศที่เคยถูกมองว่า 'ถูกตัดขาด' จากระบบการเงินตะวันตก กลับสามารถปรับตัวและขยายเศรษฐกิจได้อย่างแข็งแกร่ง

สื่อดังเผยญี่ปุ่นเตรียมร่วงจาก 10 อันดับแรก GDP โลก ต่ำกว่า เกาหลีใต้ และรัสเซีย รายได้ต่อหัวลดลงเป็นประเทศรายได้กลางใน 50 ปี

(28 มี.ค. 68) สื่อเศรษฐกิจชื่อดังของญี่ปุ่น Nikkei ได้เผยรายงานจาก ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ เมื่อวานนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ไม่สดใสของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในอนาคต โดยคาดการณ์ว่า ในอีก 50 ปีข้างหน้า รายได้ต่อหัวของคนญี่ปุ่นจะร่วงลงอย่างรวดเร็วจนทำให้ประเทศตกไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่มี รายได้ปานกลาง

รายงานระบุอีกว่า GDP รวมของประเทศญี่ปุ่น จะลดลงอย่างรวดเร็วและ หลุดจาก 10 อันดับแรกของโลก ในอีก 50 ปีข้างหน้า คาดว่า GDP ที่แท้จริงโดยรวมของญี่ปุ่น จะลดลงจากอันดับที่ 4 ในปี 2024 (3.5 ล้านล้านดอลลาร์) ไปอยู่อันดับที่ 11 ในปี 2075 (4.4 ล้านล้านดอลลาร์) แม้ว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ แต่คาดว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2071–2075 จะอยู่ที่เพียง 0.3% เท่านั้น

และจะตกจาก อันดับที่ 29 ปัจจุบัน ไปยัง อันดับที่ 45 หมายความว่าญี่ปุ่นจะตกต่ำกว่า เกาหลีใต้และรัสเซีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งของประเทศอย่างรุนแรง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจได้ชี้ให้เห็นว่า การขาดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี AI เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถตามทันประเทศอื่นๆ ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจขาดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

นอกจากนี้ การลดลงของประชากร โดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่มีอายุสูงขึ้นและขาดแรงงานรุ่นใหม่ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นจะต้องเผชิญกับปัญหาของการขาดแคลนแรงงานและความยากลำบากในการรักษาฐานการผลิตในประเทศ

ผลการวิจัยนี้เตือนให้ญี่ปุ่นต้องเตรียมตัวรับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยการไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยี AI และการลดลงของประชากร อาจนำไปสู่การลดลงของการผลิตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเสียสมดุลในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

สิ่งที่น่ากังวลคือ ความสามารถในการแข่งขันของญี่ปุ่นในระดับโลก ที่จะลดลงตามลำดับ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างชาติ การจ้างงาน และการสร้างความมั่งคั่งในประเทศในระยะยาว

แม้จะมีการทำนายสถานการณ์เศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วง แต่รายงานยังระบุว่า ญี่ปุ่นยังคงมีโอกาสในการปรับตัว โดยการลงทุนในนวัตกรรม AI และการพัฒนานโยบายการขยายฐานแรงงาน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาด้านการผลิตและการจัดการทรัพยากรของประเทศ

อย่างไรก็ตาม หากญี่ปุ่นไม่สามารถปรับตัวได้ทันเวลา อาจทำให้ประเทศเผชิญกับการถดถอยทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวที่ยากจะกลับตัวได้

มาตรการภาษีใหม่ของ ‘ทรัมป์’ อาจทำ GDP โลกหดตัว 7 แสนล้านดอลลาร์ นักวิเคราะห์เตือนสหรัฐฯ เสี่ยงเจ็บหนักสุดจากต้นทุนสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น

(2 เม.ย. 68) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า มีการคาดการณ์ว่ามาตรการภาษีศุลกากรซึ่งกันและกันที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เตรียมประกาศในวันนี้อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก หากมีการบังคับใช้ทั่วโลก โดยนักวิเคราะห์เตือนสหรัฐฯ เองอาจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากต้นทุนสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น

ตามการรายงานจากแหล่งข่าวใกล้ชิดกับทำเนียบขาว มาตรการภาษีดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่การปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่า การดำเนินมาตรการนี้อาจนำไปสู่สงครามการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก

“การขึ้นภาษีศุลกากรจะทำให้สินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้น ส่งผลต่ออุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ และอาจกระทบไปถึงผู้บริโภคในที่สุด” ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์จากวอชิงตันกล่าว

โดยภาษีศุลกากรเพิ่มเติม 25% สำหรับรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์จะมีผลบังคับใช้ในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์เตือนว่าอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก สถาบันเศรษฐกิจกำลังพัฒนาแห่งองค์การการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ประเมินว่าภาษีศุลกากรซึ่งกันและกันทั่วโลก รวมถึงภาษีรถยนต์และภาษีสินค้าจีนที่เรียกเก็บก่อนหน้านี้ 20% จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลกลดลง 0.6% ในปี 2027

การลดลงดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าถึง 763 พันล้านดอลลาร์ (ราว 26.06 ล้านล้านบาท) โดยอ้างอิงจากการคาดการณ์ GDP โลกในปี 2027 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ 127 ล้านล้านดอลลาร์

สำหรับสหรัฐฯ นั้นคาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดย JETRO ประเมินว่า GDP ของประเทศจะลดลงถึง 2.7% ภายในปี 2027 นักวิเคราะห์ชี้ว่าต้นทุนสินค้านำเข้าที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเฉพาะบริษัทที่ต้องพึ่งพาชิ้นส่วนจากจีน ซึ่งอาจทำให้กำไรของธุรกิจในสหรัฐฯ ลดลง

หลายประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ อาจตอบโต้ด้วยการกำหนดภาษีศุลกากรตอบโต้สินค้าส่งออกของสหรัฐฯ ซึ่งจะยิ่งสร้างแรงกดดันให้กับภาคการค้าระหว่างประเทศ นักวิเคราะห์เตือนว่าหากเกิดสงครามการค้าครั้งใหญ่ขึ้น เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะยาว

ขณะเดียวกัน ผู้นำในภาคธุรกิจของสหรัฐฯ หลายคนได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายนี้ โดยระบุว่า การขึ้นภาษีศุลกากรอาจทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในตลาดโลก

ด้านประธานาธิบดีทรัมป์ ได้กล่าวถึงมาตรการภาษีดังกล่าวว่าเป็น “วันปลดปล่อย” โดยระบุว่าสหรัฐฯ จะหยุดยั้งไม่ให้ประเทศอื่น ๆ “แย่งงานของเรา แย่งทรัพย์สินของเรา และแย่งสิ่งของต่าง ๆ มากมายที่พวกเขาเคยแย่งกันมาตลอดหลายปี” 

ทั้งนี้ ทรัมป์และทีมที่ปรึกษาของเขาอ้างว่าการนำภาษีศุลกากรแบบตอบแทนมาใช้ จะช่วยให้สามารถแทนที่ภาษีเงินได้ด้วยภาษีนำเข้าเป็นแหล่งรายได้หลัก

ขณะที่ ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการค้าและการผลิตของทรัมป์กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า ภาษีศุลกากรใหม่ของทรัมป์ ซึ่งรวมถึงภาษีศุลกากรแบบตอบแทน จะสามารถสร้างรายได้ถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงทศวรรษหน้า

ทั้งนี้ ต้องรอดูว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะประกาศรายละเอียดของมาตรการภาษีศุลกากรดังกล่าวในลักษณะใด และจะมีการเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่รุนแรงหรือไม่


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top