‘ประชัย’ เตือน!! ‘แบงค์ชาติ’ คุมค่าเงินบาท ให้จริงจัง ก่อนกลียุคทางเศรษฐกิจ ชี้!! คนจนได้รับผลกระทบ

(8 ธ.ค. 67) นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ได้วิเคราะห์สถานการณ์ค่าเงินบาทเป็นตอนที่ 21ว่า ข่าวสารการปิดโรงงานโรงแล้วโรงเล่า ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นอย่างท่วมท้นยากที่ธปท.และรัฐบาลจะแก้ไขได้ ตามที่เครดิตบูโรและธปท.ได้แถลงไว้นั้น  เหตุเนื่องมาจาก ธปท.ปฏิบัติหน้าที่รักษาเสถียรภาพเงินบาทอย่างเสรีนิยมโดยปล่อยให้ค่าเงินบาทขึ้นลงตามธรรมชาติหรือตามยถากรรมแล้วแต่ผู้ก่อการร้ายนิวยอร์กจะปั่นขึ้นเท่าที่พวกมันต้องการทั้งๆที่ช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาประเทศคู่แข่งทางการค้าของเราเช่น จีน เวียดนาม เกาหลีใต้ ต่างปล่อยให้ค่าเงินของเขาอ่อนค่ากว่าเราเป็น 10% ขึ้นไป แม้แต่ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์อินเด็กซ์ ค่าเงินบาทก็แข็งกว่า 18.93% ทำให้สินค้าส่งออกแพงกว่าของคู่แข่ง

ขณะเดียวกันราคาสินค้านำเข้าจากคู่แข่งทางการค้าราคาคิดเป็นเงินบาทกลับถูกกว่าของเรา เป็นเหตุให้สินค้าส่งออกขาดทุน ขณะเดียวกันสินค้านำเข้าก็ถูกกว่าต้นทุนการผลิตจากโรงงานภายในประเทศทำให้ต้องปิดโรงงานโรงแล้วโรงเล่า คนงานตกงานเป็นสิบล้านคน

สำหรับสินค้าปฐมภูมิก็เช่นกัน สินค้าต่างประเทศที่มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ด้อยค่ากว่าเงินบาท ทำให้ราคาสินค้าที่เกษตรกรและฟาร์มปศุสัตว์ในประเทศได้รับตกต่ำลง เงินที่จะจับจ่ายซื้อสินค้าหายไปมาก ภาษีที่รัฐบาลเก็บได้ต่ำกว่างบประมาณแผ่นดิน หนี้สินครัวเรือนและหนี้สินไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นยากแก่การแก้ไข สถาบันการเงินได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงซึ่ง ธปท.รู้เป็นอย่างดีตามรายงานของ ธปท.และเครดิตบูโรที่แนบมาอาจทำให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยต้มยำกุ้งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดย world bank อาจสั่งแช่แข็งสถาบันการเงินและปัจจัยการผลิตทั้งประเทศแล้วหั่นศพแยกอวัยวะศพขายให้ผู้ก่อการร้ายนิวยอร์กและพวกในราคาเท่าเศษเนื้อไปทำกำไร 

แต่ครั้งนี้คงจะเกิดกลียุคเพราะคนจนที่ได้รับผลกระทบมีมากอาชญากรรมเต็มบ้านเต็มเมืองเพราะคนไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย ตามสมควร

ขอวอนให้ ธปท.อย่าประมาททำการรักษาเสถียรภาพเงินบาทอย่างจริงจังอย่างน้อยบาทควรอ่อนลง

ก.11.5%เหมือนเงินหยวนจีน
หรือ

ข. 18.93%เหมือนกับดอลลาร์อินเด็กซ์
หรือ

ค.
16.67+24.5=41.17% เหมือนกับเงินวอนเกาหลีใต้
หรือ

ง.  83.26%เหมือนกับเงินดองเวียดนาม
(หมายเหตุ:ข้อ ค.และข้อ ง.อ่อนมากเกินไป)

ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ การปิดโรงงาน การว่าจ้างแรงงาน คนว่างงาน
การบริโภคภายในประเทศ หนี้ครัวเรือนและหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ GDP โต 3-5%


ที่มา : Naewna