Friday, 18 April 2025
ElonMusk

เทสลาเปิดโรงงานใหม่ในเซี่ยงไฮ้ รุกอีวีเต็มสูบ กำลังผลิต 10,000 หน่วยต่อปี

(11 ก.พ. 68) เทสลา (Tesla) ผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ เริ่มเดินเครื่องการผลิตที่โรงงานเมกะแฟกทอรีแห่งใหม่ในนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีนที่มุ่งผลิตเมกะแพ็ก (Megapack) หรือแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ถือเป็นการรุกขยายการดำเนินการของบริษัทในจีนอย่างมีนัยสำคัญ

รายงานระบุว่าโรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิตเมกะแพ็กขั้นต้น 10,000 อันต่อปี ซึ่งเทียบเท่าการกักเก็บพลังงานราว 40 กิกะวัตต์ชั่วโมง และจะช่วยสนับสนุนเป้าหมายการกักเก็บพลังงานทั่วโลกของเทสลา โดยมีการประมาณการว่าธุรกิจการกักเก็บพลังงานในปี 2025 จะเติบโตร้อยละ 50 เมื่อเทียบปีต่อปี

สำนักงานบริหารเขตพิเศษหลินกั่งของเขตการค้าเสรีนำร่อง (เซี่ยงไฮ้) แห่งประเทศจีน ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานเทสลา ระบุว่าโรงงานแห่งใหม่ครอบคลุมพื้นที่ราว 2 แสนตารางเมตร ใช้เงินลงทุนรวมราว 1.45 พันล้านหยวน (ราว 6.76 พันล้านบาท)

ทั้งนี้ โรงงานเมกะแพ็กแห่งใหม่สามารถเดินเครื่องการผลิตจำนวนมากได้ภายในเวลาเพียง 8 เดือนหลังจากเริ่มการก่อสร้าง ซึ่งถือเป็นตัวอย่างใหม่ของ “ความเร็วแบบเทสลา” ในจีน เนื่องจากโรงงานกิกะแฟกทอรี ซึ่งเป็นโรงงานแห่งแรกของเทสลาในเซี่ยงไฮ้ ใช้เวลาก่อสร้างจนเสร็จสิ้นและเปิดทำการภายในหนึ่งปีเมื่อปี 2019

ไมค์ สไนเดอร์ รองประธานเทสลา กล่าวระหว่างพิธีเปิดโรงงานฯ ว่าเราได้เห็นความเร็วอันน่าเหลือเชื่อของเซี่ยงไฮ้และเทสลาอีกครั้ง และมั่นใจว่าโรงงานแห่งใหม่จะเป็นรากฐานสำคัญของเครือข่ายการผลิตระดับโลกของเทสลา

'มัสก์' เล็งแจกเงินชาวอเมริกัน คนละ 1.5 แสนบาท หลัง DOGE ช่วยประหยัดงบแสนล้าน แต่เสี่ยงเงินเฟ้อ-ขัดกฎหมาย

(20 ก.พ. 68) อีลอน มัสก์ ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานด้านประสิทธิภาพรัฐบาล (DOGE) ได้จุดกระแสใหม่บนโซเชียลด้วยการเผยแนวคิดเงินปันผล  DOGE (DOGE Dividend) ซึ่งอาจมาในรูปแบบของเช็คกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 5,000 ดอลลาร์ ให้กับผู้เสียภาษีชาวอเมริกา โดยระบุว่า การมอบเงิน 5,000 ดอลลาร์นี้ เป็นผลพลอยได้จากการที่หน่วยงาน DOGE ของมัสก์สามารถประหยัดงบประมาณประเทศไปได้หลายแสนล้าน

แนวคิดนี้มาจากเจมส์ ฟิช แบ็ค ซีอีโอบริษัทการลงทุนและที่ปรึกษา DOGE ซึ่งเสนอให้จัดสรร 20% ของเงินออมที่คาดว่าจะเกิดจากนโยบาย DOGE ไปมอบเป็นเงินช่วยเหลือแก่ประชาชน โดยฟิชได้อ้างว่าหาก DOGE สามารถประหยัดงบประมาณรัฐบาลได้ถึง $2 ล้านล้าน ก็สามารถจัดสรร 20% หรือราว $400,000 ล้าน เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ 78 ล้านครัวเรือนที่เสียภาษีได้ในอัตรา $5,000 ต่อครัวเรือน

“เราต้องการทำให้ DOGE เป็นเรื่องจริงสำหรับชาวอเมริกันหลายล้านคน พวกเขาสมควรได้รับส่วนแบ่งจากเงินออมที่ DOGE จะช่วยให้เกิดขึ้นภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์” ฟิชแบ็คกล่าว

มัสก์ตอบรับแนวคิดนี้โดยกล่าวว่า เขาจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวยังต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญหลายประการ อาทิ 

การอนุมัติจากสภาคองเกรส การใช้เงินงบประมาณรัฐบาลต้องได้รับการอนุมัติจากฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งอาจมีการคัดค้านจากสมาชิกสภาคองเกรสที่ต้องการนำเงินไปใช้กับโครงการอื่น เช่น การลดหนี้สาธารณะ

นอกจากนั้นหากจ่ายเงินช่วยเหลือ5,000 ดอลลาร์ อาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ  โดยผู้เชี่ยวชาญด้านงบประมาณเตือนว่า การแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในปริมาณมหาศาลอาจทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่พรรครีพับลิกันเคยต่อต้านในช่วงการระบาดของโควิด-19 เพรสตัน แบรชเชอร์ นักวิจัยด้านนโยบายภาษีจาก Heritage Foundation กล่าวว่า “การลดรายจ่ายของรัฐบาลช่วยควบคุมเงินเฟ้อได้ แต่ถ้ารัฐบาลแจกเช็คกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินเฟ้อจะกลับมาอย่างหนัก”

นอกจากนี้ยังอาจติดปัญหาทางกฎหมาย เพราะโครงการ DOGE เองกำลังเผชิญกับการตรวจสอบทางกฎหมาย และผลลัพธ์ของคดีความที่เกี่ยวข้องอาจส่งผลกระทบต่อแนวคิดเงินปันผลนี้

ข้อเสนอนี้เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลทรัมป์กำลังพิจารณานโยบายลดภาษีในหลายรูปแบบ แต่ต้นทุนของมาตรการเหล่านี้อาจสูงถึง $5-11 ล้านล้าน ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเงินปันผล DOGE อาจต้องแข่งขันกับนโยบายอื่น เช่น การยกเลิกเก็บภาษีเงินได้จากค่าทิปและโอที แม้ว่าการได้รับเช็ค 5,000 ดอลลาร์ จะเป็นที่สนใจของประชาชนจำนวนมาก แต่ก็ยังมีความท้าทายทางกฎหมายและเศรษฐกิจที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ 

‘Elon Musk’ เรียกร้อง ให้ปิดสื่อของรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้ง ‘Radio Free Europe’ และ ‘Voice of America’

(16 มี.ค. 68) Elon Musk ผู้บริหารของสำนักงานเสริมสร้างประสิทธิภาพในภาครัฐ (D.O.G.E.) ระบุว่า ทั้ง 2 หน่วยงานนี้เป็นเพียง ‘กลุ่มคนหัวรุนแรงฝ่ายซ้ายที่วัน ๆ เอาแต่พูดกับตัวเอง’   

Elon Musk อภิมหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยีในฐานะผู้นำของ D.O.G.E. ได้เรียกร้องให้ปิดสถานีวิทยุของรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้ง Radio Free Europe/Radio Liberty (RFE/RL) และ Voice of America (VOA) เขากล่าวว่าสถานีวิทยุเหล่านี้ใช้เงินภาษีของประชาชนอย่างฟุ่มเฟือยและไม่ได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจอีกด้วย

Radio Liberty (RL) เริ่มออกอากาศเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 1953 โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้ชมในสหภาพโซเวียตโดยเฉพาะ ทั้งสององค์กรได้รวมกันเป็น RFE/RL ในปี 1976 โดยรวมการดำเนินงานของทั้งสองเข้าด้วยกัน

ส่วน VOA ก่อตั้งขึ้นในช่วงทศวรรษปี 1940 เพื่อต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อของนาซี และเปลี่ยนจุดเน้นมาที่สหภาพโซเวียตในปี 1947 ปัจจุบัน VOA ยังคงได้รับเงินทุนจากรัฐสภา และการบริหารจัดการอยู่ภายใต้การควบคุมโดยตรงจากรัฐบาลสหรัฐฯ โดยหน่วยงานที่ชื่อว่า สำนักงานสื่อโลกของสหรัฐฯ (USAGM) ซึ่งดูแลทั้ง VOA และ RFE/RL เป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ

Musk ตอบความคิดเห็นของ Richard Grenell ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดี Donald Trump  ของสหรัฐฯ ซึ่งได้วิจารณ์สื่อเหล่านี้ทางช่อง X “Radio Free Europe และ Voice of America เป็นสื่อที่จ่ายเงินโดยผู้เสียภาษีชาวอเมริกัน เป็นสื่อของรัฐ แต่สื่อเหล่านี้เต็มไปด้วยนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายจัด ผมทำงานกับนักข่าวเหล่านี้มาหลายสิบปีแล้ว มันเป็นสิ่งตกค้างจากอดีต เราไม่ต้องการสื่อที่รัฐบาลต้องจ่ายเงินให้” Grenell กล่าว

Musk ตอบความคิดเห็นของ Richard Grenell กลับทางช่อง X โดยระบุว่า “ใช่ ปิดพวกเขาเลย ตอนนี้ยุโรปเป็นอิสระแล้ว (ไม่นับรวมบริหารรับบาลที่ยังกดขี่) ไม่มีใครฟังพวกเขาอีกแล้ว เพราะเป็นเพียงกลุ่มคนหัวรุนแรงฝ่ายซ้ายที่บ้าคลั่งพูดแต่กับตัวเอง ในขณะที่เผาเงินภาษีของประชาชนสหรัฐฯ มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี”

เดิมที RFE/RL มีชื่อว่า ‘Radio Liberation from Bolshevism’ (การปลดปล่อยวิทยุจากลัทธิบอลเชวิค) ต่อมาสถานีดังกล่าวเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Radio Liberation’ ในปี 1956 และต่อมาใช้ชื่อปัจจุบันคือ Radio Liberty หลังจากเปลี่ยนนโยบายที่เน้นที่ “การปล่อยให้เสรี” มากกว่าเพียง “การปลดปล่อย” ในปี 2020 รัสเซียกำหนดให้ RFE/RL เป็น “สื่อตัวแทนต่างชาติ” และสั่งห้ามในปี 2022 โดยอ้างถึง “การเผยแพร่สื่อที่มีข้อมูลเท็จ” เกี่ยวกับความขัดแย้งในยูเครน Current Time ซึ่งเป็นบริษัทในเครือร่วมกับ VOA ถูกขึ้นบัญชีดำในรัสเซียในปี 2024

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้ง Musk และ Grenell ต่างก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับเงินทุนของรัฐบาลที่มอบให้กับองค์กรสื่อ โดยให้เหตุผลว่าไม่ควรใช้เงินภาษีของประชาชนเพื่อสนับสนุนองค์กรเหล่านี้ Musk ได้วิพากษ์วิจารณ์การจ่ายเงินของรัฐบาลกลางให้กับองค์กรสื่อต่าง ๆ เช่น Politico, Associated Press และ New York Times โดยมองว่าเป็นการใช้เงินภาษีของประชาชนอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ทีมงานของ Musk กำลังดำเนินการเพื่อยกเลิกการจ่ายเงินเหล่านี้ ตามคำกล่าวของ Karoline Leavitt โฆษกทำเนียบขาว รัฐบาลจ่ายเงินมากกว่า 8 ล้านดอลลาร์ในการอุดหนุน Politico

ในทำนองเดียวกัน Grenell ได้ประณามการใช้จ่ายของรัฐบาลในการอุดหนุนสื่อต่าง ๆ โดยสะท้อนจุดยืนของ Musk ที่ว่าควรยุติการระดมทุนนี้ทันที Grenell โพสต์บน X ว่า “รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องหยุดจ่ายเงินสำหรับการอุดหนุนสื่อ เดี๋ยวนี้”

VOA มีงบประมาณ 267.5 ล้านดอลลาร์สำหรับปี 2024 ในขณะที่ RFE/RL ดำเนินงานด้วยเงิน 142.2 ล้านดอลลาร์ สำหรับปี 2025 USAGM ขอเงินทุนทั้งหมด 950 ล้านดอลลาร์ โดยอ้างว่าเข้าถึงผู้ชมรายสัปดาห์ 427 ล้านคนใน 64 ภาษาในกว่า 100 ประเทศ

อ่าน: รู้จัก ‘สำนักงานเสริมสร้างประสิทธิภาพในภาครัฐ (D.O.G.E.)’ หน่วยงานระดับกระทรวงล่าสุดภายใต้รัฐบาล Trump ชุดใหม่ https://thestatestimes.com/post/2024122102


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top