Tuesday, 30 April 2024
EducationNewsAgencyforAll

คำคมการศึกษา ประจำวันที่ 10 สิงหาคม 2564

#คำคมการศึกษา ประจำวันที่ 10 สิงหาคม 2564

✏️หากมีคนประสบประมาทว่า คุณจะประสบความสำเร็จได้แค่ไหน จงก้าวหน้าให้ไกล จนคนเหล่านั้นไม่ได้ยินเสียงคำตอบของคุณ

ในปัจจุบันได้มีการนำสมุนไพรไทยอย่าง “ฟ้าทะลายโจร” มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอัตราสูงขึ้นในทุกวัน เป็นที่น่าพึงพอใจอย่างมากในทางการแพทย์ ตัวฟ้าละลายโจรนั้นสามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและหายจากโรคระบาดนี้ได้อย่างรวดเร็ว

ในช่วงนี้การระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากจะมีแนวโน้มที่ไม่ลดลงแล้ว ยังเพิ่มขึ้นแบบน่าใจหายอีกด้วยครับ ท่ามกลางการโจมตีผลงานรัฐบาลในเรื่องของการใช้วัคซีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการ หรือแม้กระทั่งคุณภาพของวัคซีน จนชาวบ้านระดับรากหญ้าหลาย ๆ ราย ไม่กล้าที่จะฉีดวัคซีน ถ้ามีเงินหน่อยก็เลือกที่จะรอวัคซีนทางเลือก ที่โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเริ่มให้มีการเปิดจองไปแล้ว 

ในส่วนของการจัดการ พอรัฐบาลมีมาตรการสั่งปิดแคมป์คนงานหลาย ๆ แห่งในกรุงเทพฯ ก็กลับกลายเป็นว่าทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานจำนวนมากไปยังต่างจังหวัดเพื่อกลับภูมิลำเนา ส่งผลให้ในต่างจังหวัดที่สถานการณ์เริ่มจะคลี่คลายแล้วกลับมารุนแรงขึ้นอีก และมีคลัสเตอร์ที่น่าเป็นห่วงที่สุดเพิ่มขึ้นมาคือคลัสเตอร์ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เนื่องจากการกระจายลงไปสู่เด็กเล็กที่ค่อนข้างลำบากมากในเรื่องของการดูแลตัวเอง 
ท่ามกลางกระแสอันเลวร้ายของโควิด-19 ก็มีอีกกระแสหนึ่งเกิดขึ้นมา นั้นคือกระแสที่ว่าด้วยแพทย์ทางเลือก คือ การใช้ฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยรู้จักกันมานาน อาจจะมีสรรพคุณในการป้องกัน และรักษาไวรัสโควิด-19 ได้ สำหรับวันนี้เราจะมาดูรายละเอียดของเรื่องนี้กันครับ 

ก่อนอื่นเรามารู้จักพืชสมุนไพรที่ว่าด้วยฟ้าทะลายโจรกันก่อน ฟ้าทะลายโจรมีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Andrographis paniculata (Burm.f.) Wall.ex Nees และชื่อสามัญคือ Kariyat , The Creat ทั้งนี้นอกจากชื่อฟ้าทะลายโจร แล้วยัง มีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก ตามแต่ละพื้นที่ เช่น หญ้ากันงู น้ำลายพังพอน ฟ้าสาง เขยตายยายคลุม สามสิบดี เมฆทะลาย ฟ้าสะท้าน เป็นต้น ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของฟ้าทะลายโจร เป็นไม้ประเภทล้มลุก มีความสูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร ทุกส่วนของฟ้าทะลายโจรจะมีรสขม กิ่งเป็นใบสี่เหลี่ยม ใบเป็นประเภทใบเดี่ยว แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอก ช่อ ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ ส่วนที่ใช้เป็นสมุนไพรใช้ได้หลายส่วน ทั้งต้น ใบสด ใบแห้ง ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (บัญชียาจากสมุนไพร) กระทรวงสาธารณสุข ในรูปแบบยาเดี่ยว ลักษณะส่วนประกอบทางเคมีของฟ้าทะลายโจร มีสารเคมีประกอบอยู่หลายประเภท แต่ที่เป็นสารที่สำคัญในการออกฤทธิ์ คือ สารกลุ่ม Lactone ได้แก่ สารแอดโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) สารนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neo-andrographolide) สาร 14-ดีอ๊อกซี่แอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-andrographolide) 

โดยสรรพคุณหลักของฟ้าทะลายโจรคือ ใช้บรรเทาอาการไข้หวัด แก้ไอและเจ็บคอ ทั้งนี้ในประเทศไทยมีหน่วยงานที่ศึกษาเรื่องการใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาไวรัสโควิด-19 อย่างจริงจังคือโรงพยาบาลอภัยภูเบศร โดยได้ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการศึกษาวิจัยถึงกลไกในการต้านโควิด-19 ของฟ้าทะลายโจร ทั้งนี้จากผลการศึกษาพบว่าสารแอนโดรกราโฟไลด์ ซึ่งเป็นสารสำคัญในฟ้าทะลายโจร มีความสามารถในการยับยั้งกระบวนการติดเชื้อไวรัสของเซลล์ปอดในมนุษย์ได้ โดยผ่านกลไกที่สำคัญ คือ การยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในทุกระยะ จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาการใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นยารักษาและป้องกันโควิด-19 ได้ โดยสามารถใช้เป็นยาเดี่ยว หรือใช้ควบรวมกับสูตรยามาตรฐาน ในการรักษาผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ ปัจจุบันผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ Journal of  Natural Products ซึ่งเป็นผลการศึกษาที่เกิดขึ้นในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น 

อย่างไรก็ตามเนื่องจากไวรัสโควิด-19 เป็นโรคอุบัติชนิดใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นมา ในการพัฒนายาที่มาใช้ในการรักษานั้น จะต้องมีการศึกษา วิจัย และค้นคว้าให้มีความลึกซึ้งมากกว่านี้ และอาจใช้ระยะเวลาในการศึกษา เพราะการใช้ยาแต่ละชนิดในการรักษาหรือป้องกันโรคนั้นจะต้องศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการใช้ยาชนิดนั้นที่อาจเกิดขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีการศึกษาในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น แต่ที่มีการศึกษาและเป็นที่ยอมรับอย่างชัดเจนแล้วคือการรับประทานฟ้าทะลายโจรจะช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคหวัดได้ ส่วนจะใช้ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ คงต้องมีการศึกษากันในระยะต่อไป เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น 

แต่แม้จะยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน 100% ยืนยันได้ว่าฟ้าทะลายโจรสามารถป้องกันหรือรักษาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ก็ตาม การรับประทานฟ้าทะลายโจรก็เป็นประโยชน์ต่อเราอยู่แล้ว ในเรื่องของการป้องกันการเป็นหวัดได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะหาพืชสมุนไพรที่ชื่อฟ้าทะลายโจรมารับประทาน ก็ไม่เกิดความเสียหายอะไร นอกจากจะป้องกันการเป็นหวัดได้แล้ว เผลอ ๆ อาจจะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายเราในการป้องกันโควิด-19 ท่ามกลางกระแสความสับสนในเรื่องของการใช้วัคซีน ได้อีกด้วยก็เป็นได้ครับ


เขียนโดย: ผศ.ดร.สุทัศน์ จันบัวลา อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

เราจะสร้างบรรยากาศในบ้านให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างไร? สร้างบรรยากาศครอบครัวให้ดี ให้รู้สึกปลอดภัย ไม่ว่าข้างนอกบ้านจะเป็นอย่างไร ทุกคนก็มีความสุขได้

มีคำกล่าวหนึ่ง ผู้หญิงคือผู้สร้างโลก บ้านจะมีความสุขหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสุขของผู้หญิง (ภรรยา) แต่บังเอิญว่าความสุขของผู้หญิง (ภรรยา) ขึ้นอยู่กับความรักของผู้ชาย (สามี) สิ่งที่คุณกระทำต่อภรรยามีผลต่อลูกคุณเสมอ จึงขอฝากถึงคุณผู้ชายว่า รักภรรยาคุณให้มากๆ นะ แบ่งเบาภาระภรรยาให้มากๆ เข้าอกเข้าใจในความเป็นภรรยา ในความเป็นแม่ และในความเป็นผู้หญิงของเธอ ถ้าคุณอยากมีครอบครัวที่อบอุ่น และมีความสุขที่แท้จริง

พวกเราอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลง ทุกๆ ครอบครัวต่างเผชิญกับความไม่แน่นอน การออกนอกบ้านคือสัญลักษณ์ของความไม่ปลอดภัย สิ่งแวดล้อมไม่น่าไว้วางใจ โรคระบาดทำให้ทุกคนต้องกลับเข้าบ้าน  บ้านคือพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับทุกคนในเวลานี้ ประเด็นก็คือ เราจะสร้างบรรยากาศบ้านให้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยได้อย่างไร ในที่นี้คงไม่พูดถึงความสะอาด แต่เราจะขอพูดในมุมของความรู้สึกมากกว่า

จากผลงานวิจัย เมื่อบรรยากาศในบ้านไม่ปลอดภัย มีความขัดแย้ง หรือเสียงทะเลาะ ด่าทอ ร่างกายและจิตใจของลูก จะตอบสนองอัตโนมัติในการรวบรวมพลังงานร่างกายทั้งหมดเพื่อความพร้อมในการรับมือ และการป้องกันตัวเอง แทนที่จะได้ใช้พลังงานที่มีนำไปหล่อเลี้ยงสมอง ให้สมองและจิตวิญญาณเติบโตพัฒนาก้าวหน้า กลับต้องมาเสียพลังงานกับเรื่องความไม่ปลอดภัยในครอบครัว

จากประสบการณ์ตรง ทั้งพ่อและแม่ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว คิดว่าลูกรับได้ ลูกแข็งแรงมากพอ ไม่น่าจะเป็นไรมาก จริงๆ แล้วมีผลกระทบค่ะ ทั้งคำพูด การกระทำ การควบคุม ความหวังดี ความเหมาะสม การตัดสินใจ ที่ไม่เคยถามถึงความความรู้สึกและความสุข บ่อยครั้งที่การทะเลาะทำให้อีกคนเจ็บปวด ไม่สบายใจ ไม่พอใจ เสียใจ โกรธ เคียดแค้น และทุกข์ใจ

การที่คนในครอบครัวเก็บกดความรู้สึกเหล่านี้ไว้นานๆ ทำให้สุขกายและสุขภาพจิตทรุดโทรม นอนไม่หลับ หงุดหงิด อารมณ์เปราะ กังวล ว้าวุ่นใจ สงสัยลังเล  เจ็บป่วยง่าย โรคแปลกๆ จะเกิดขึ้น ไปหาหมอก็ไม่หาย แต่คุณเชื่อไหมว่าโรคเหล่านี้จะหายไปเมื่อสถานการณ์และบรรยากาศกลับมาเป็นปกติ  ด้วยการที่พ่อแม่ลูกให้อภัยกันและกัน กล่าวขอโทษกัน เราทำผิดเราต้องขอโทษ  เขายอมรับผิด เรายกโทษให้  ทำเพื่อทุกคน ทำให้บรรยากาศกลับมาเป็นปกติ ไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่งแต่ทำเพื่อครอบครัว

โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ผิดคือผิดถูกคือถูก พ่อแม่ทำผิดต้องขอโทษ แต่ก็มีอีกกรณีที่เอาคำขอโทษขออภัยมาเป็นเกมในการทำผิดซ้ำๆ คำขอโทษ ขอภัย ก็ไม่มีค่าอะไร เพราะแค่พูดออกไปงั้นๆ แต่ไม่คิดที่จะแก้ไขปรับปรุง แถมยังทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก อันนี้ก็คงต้องแก้ที่นิสัยและทัศนคติในการใช้ชีวิตส่วนตัว

ถ้าครอบครัวคุณอยู่ในบรรยากาศของความขัดแย้งและการทะเลาะ และยังแก้ไขไม่ได้ จงพูดให้ลูกเข้าใจว่าพ่อแม่ก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีรักโลภโกรธหลง มีทั้งดีและไม่ดี ให้ลูกจดจำในส่วนที่ดีๆ ของพ่อกับแม่ไปนะ ส่วนที่ไม่ดีที่เป็นข้อบกพร่องก็ไม่ต้องเอาอย่าง สอนให้ลูกรู้จักแยกแยะ 

เมื่อทุกคนร่วมมือเป็นทีมเดียวกัน สร้างบรรยากาศครอบครัวให้ดี ให้รู้สึกปลอดภัย ไม่ว่าข้างนอกบ้านจะเป็นอย่างไร ทุกคนก็มีความสุขได้ โดยเฉพาะถ้าภรรยามีความสุข บ้านก็มีความสุข สามีก็มีความสุข ลูกๆ ก็มีความสุขอย่างแท้จริง สนับสนุนสร้างครอบครัวอบอุ่นด้วยการมีผัวเดียวเมียเดียวค่ะ 

.

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิง
https://today.line.me/th/v2/article/k6MwRo
https://aboutmom.co/interview/benjarat-jongcharusphan/22044/
https://adaymagazine.com/domestic-violence-during-pandemic

Coding คืออะไร เมื่อไหร่เด็กไทยจะได้เรียน? | เปิด(ปม)ภาคการศึกษา EP.4

ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เครื่องมืออิเล็กทรอนิคต่างๆ ที่แลดูหน้าตาแปลกประหลาดขึ้นทุกวัน เรา....เข้าสู่สังคมยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง แล้วเด็กยุคนี้ พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงรึเปล่าว การศึกษาในห้องเรียนพร้อมตั้งรับกับเรื่องพวกนี้รึยัง ภาษาคอมพิวเตอร์ หรือ Coding เด็ก ๆ รู้จักกันไหม แล้วเมื่อไหร่เด็กไทยจะได้เรียน Coding คืออะไร?

Coding คือ การเขียนชุดคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย “โค้ด (Code)” เพื่อให้โปรแกรมทำตามคำสั่ง อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการสั่งงานคอมพิวเตอร์ให้ทำตามที่เราต้องการ โดยการใช้ภาษาของคอมพิวเตอร์ เช่น C++, PHP, Java หรือ Python
เรียน Coding ได้อะไร?

เป็นทักษะที่ช่วยให้เด็กคิดทุกเรื่องอย่างเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งจะส่งผลให้เกิดทักษะการแก้ปัญหา คือ สามารถแตกปัญหาออกเป็นส่วน ๆ เพื่อหาสาเหตุและวิธีแก้ไขในแต่ละส่วนไปทีละเปลาะ อีกทั้งในแต่ละขั้นตอนการเขียนโค้ดจะได้เรียนรู้ระบบการวางแผน เมื่อฝึกฝนไปสักพักก็จะทำให้เข้าใจหลักการและจับประเด็นได้ดีขึ้น

รศ. ยืน ภู่วรวรรณ นักวิชาการด้านคอมพิวเตอร์ เคยอธิบายเรื่องนี้ว่า โค้ด คือรหัส การทำสัญลักษณ์ ส่วนการโค้ดดิ้ง คือ การเขียนสัญลักษณ์ บอกลำดับขั้นตอน ความคิด เพื่อการสื่อสารให้เข้าใจตรงกัน เช่น การแต่งเพลง การวางลําดับตัวโน๊ตดนตรี 

การเรียนโค้ดดิ้ง ไม่ใช่ให้เด็ก ๆ โตขึ้นไปทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ แต่คือการปลูกฝังกระบวนการความคิด ลำดับขั้นตอน และแนวทางการแก้ปัญหา ให้เด็ก ๆ นำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น ความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ถือเป็นทักษะพื้นฐาน ที่มีความสำคัญเทียบเท่าพอ ๆ กับการอ่านออก เขียนได้ เลยทีเดียว

คุณส้ม สิริพิลาส แจ่มประวิทย์ ผู้ประสานงานโครงการ Oracle Academy ปี 2015 - 2019 ได้จัดฝึกอบรมบุคลากรครู นักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านเทคโนโลยี  ได้ให้ข้อมูลกับ THE STUDY TIMES ว่า กว่า 50% ของครูผู้สอน ที่เป็นหัวใจสำคัญนั้น ไม่มีพื้นฐานในเรื่อง Coding สิ่งที่ต่างไปคือ mindset ของคนที่อยู่ในวงการการศึกษา  

มองว่าอาชีวะเป็นความรู้ที่ลดระดับ ลงมาจากอุดมศึกษา แต่ความเป็นจริงนั้น ครูอาชีวะมีความรู้ที่ตรงกับสายงาน เด็กมีศักยภาพสามารถตอบโจทย์ของตลาดแรงงานได้ เป็นอย่างดี 

หลายองค์กรทั่วโลก กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านนี้ หากเด็กไทยได้เริ่มต้นเรียนรู้ทักษะภาษาคอมพิวเตอร์ หรือ Coding ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็อาจเป็นส่วนสำคัญให้เด็กมีโอกาส ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน โดยไม่จำเป็นต้องมุ่งสู่สายสามัญตามค่านิยม

.

.

“Podcar” เป็นระบบขนส่งสาธารณะที่สามารถไปถึงจุดหมายได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วและมีความเป็นส่วนตัวเปรียบเสมือนการนำบริการแบบรถไฟฟ้ารวมกับรถแท๊กซี่ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยแก้ไขปัญหาจราจรได้อย่างดีอีกด้วย

หลายท่านน่าจะได้เคยดูหนังแนววิทยาศาสตร์โลกอนาคต เนื้อหาในเรื่องมียานพาหนะส่วนตัวมารับในเวลาที่ต้องการ และไปจุดหมายตามที่ต้องการโดยอัตโนมัติ ระหว่างทางก็นั่งคุยกันไปโดยไม่ต้องกังวลกับการควบคุมยานพาหนะนั้น ดูเหมือนว่าเรื่องแบบนี้น่าจะเกิดขึ้นในโลกอนาคต แต่ความเป็นจริงแล้วได้มีระบบขนส่งแบบนี้เปิดใช้งานจริงมานานกว่าสี่สิบปีแล้ว ในชื่อที่เรียกว่า “Podcar”

ในช่วงปี 1950 ประเทศสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาการขยายตัวของเมืองอย่างกระจัดกระจาย คือเกิดชุมชนใหม่ในแถบชานเมือง แต่คนยังต้องเข้ามาทำงานในใจกลางเมืองด้วยการขับรถยนต์ จึงส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ทางรัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเพื่อใช้แก้ปัญหานี้ และในช่วงนั้นได้มีการวิจัยรูปแบบการขนส่งต่าง ๆ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาจราจร หนึ่งในนั้นก็มีแนวคิดว่าผู้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ใช่ระบบขนส่งมวลชนเพราะไม่สะดวกและไม่เป็นส่วนตัวเหมือนกับการใช้รถยนต์ จึงมีการพัฒนาระบบขนส่ง Private Public Transit (PRT) ขึ้น

ระบบ PRT เป็นยานพาหนะขนาดเล็กที่จุผู้โดยสารได้ 2-6 คน หากจุผู้โดยสารมากกว่านั้นจะถูกเรียกว่า Group Rapid Transport (GRT) หรือเรียกอีกชื่อว่า Podcar ตามรูปทรงของรถ ระบบของ Podcar ถูกออกแบบมาให้วิ่งไปตามเส้นทางที่กำหนดและจอดตามจุดที่ต้องการโดยอัตโนมัติ และสิ่งที่แตกต่างจากระบบขนส่งสาธารณะทั่วไป คือ สามารถไปถึงจุดหมายโดยไม่ต้องจอดแวะระหว่างทาง จึงใช้ระยะทางเวลาเดินทางน้อยกว่า และระบบยังมีความยืดหยุ่นในการให้บริการ คือ ในช่วงที่ผู้โดยสารใช้บริการมากสามารถกำหนดตารางการเดินรถเหมือนระบบขนส่งสาธารณะทั่วไป และช่วงที่ผู้โดยสารน้อยก็สามารถเรียกรถเพื่อใช้บริการได้ตามต้องการ ระบบเหมือนนี้จึงเหมือนรถแท็กซี่รวมกับระบบรถไฟฟ้า หรือเหมือนกับลิฟท์ส่วนตัวที่วิ่งในแนวราบและไม่ต้องจอดรับส่งระหว่างทาง 

Podcar เริ่มใช้ครั้งแรกในปี 1975 ที่เมือง Morgantown ในรัฐเวสต์เวอร์จิเนียของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเมืองแห่งนี้ตั้งอยู่เชิงเขาและมีประชากรอยู่ประมาณ 30,000 คน นอกจากนั้นยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนียที่มีนักศึกษาและคนทำงานอยู่จำนวนมาก ด้วยข้อจำกัดของสภาพภูมิประเทศจึงทำให้อาคารเรียนกระจายอยู่ทั่วเมือง แต่เดิมทางมหาวิทยาลัยจัดรถโดยสารรับส่งนักศึกษาระหว่างอาคารเรียนที่อยู่คนละฝั่งของตัวเมือง แต่ก็ต้องประสบกับปัญหาสภาพจราจรที่ติดขัด จึงมองว่าแนวคิดของ PRT น่าจะเหมาะกับการแก้ไขปัญหานี้มากกว่าระบบขนส่งอื่น โดยระบบนี้มีทั้งหมด 5 สถานี ระยะทางรวม 13.2 กิโลเมตร รถมีทั้งหมด 73 คัน และถูกออกแบบให้จุผู้โดยสารได้ 20 คน

ต่อมาในปี 1979 ได้เริ่มใช้ระบบ PRT แห่งที่สองในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยดุ๊ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นระบบขนส่งที่เชื่อมระหว่างอาคารสองแห่งกับอาคารจอดรถ แต่ต้องยกเลิกการใช้งานและทำลายเส้นทางทิ้งเนื่องจากการขยายอาคารในโรงพยาบาล

หากเป็นระบบ PRT ที่ดูทันสมัยขึ้นมาหน่อยก็คงเป็นเส้นทาง ParkShuttle ที่เปิดให้บริการในปี 1999 ที่วิ่งด้วยรถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ บนเส้นทางถนนเฉพาะที่ฝังระบบนำทางไว้ใต้พื้นถนน เชื่อมระหว่างสถานีรถไฟไฟฟ้า Kralingse Zoom กับ Rivium Business Park ในเมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์โดยมีระยะทางรวม 1.8 กิโลเมตร ระบบนี้มีสถานีทั้งหมด 5 แห่ง และในปี 2021 มีโครงการขยายเส้นทางโดยใช้รถยนต์อัตโนมัติวิ่งบนถนนสาธารณะ

นอกจากนั้นยังมีการนำระบบ PRT มาใช้ในการรับส่งผู้โดยสารในสนามบิน เช่น การรับส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสาร 5 กับอาคารจอดรถของสนามบินฮีทโธรว์ในอังกฤษ โดยใช้ระบบของ ULTra  ที่เป็น Podcar ขนาดเล็กจุผู้โดยสารได้ 4 คน วิ่งไปตามเส้นทางเฉพาะที่มีระยะทางยาว 3.9 กิโลเมตร และสนามบินแห่งใหม่ในนครเชิงตูของจีน ก็ใช้ระบบ PRT ของ ULTra ในการรับส่งผู้โดยสารเองระหว่างอาคารผู้โดยสารสองหลังกับอาคารจอดรถ คาดว่าจะเริ่มใช้งานในปี 2021

ในเกาหลีใต้เองก็นำระบบ PRT มาใช้ในแหล่งท่องเที่ยว โดยระบบ SkyCube ถูกนำมาใช้ในเขตอนุรักษ์ของเมือง Suncheon เนื่องจากต้องการรักษาสภาพแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวเพราะระบบนี้ไม่มีการปล่อยมลพิษและเสียงรบกวนจากการก็วิ่งน้อยเพราะใช้ล้อยาง รวมถึงออกแบบให้เป็นทางยกระดับเพื่อให้นักท่องเที่ยวเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามตลอดสองข้างทาง

ถ้าระบบขนส่งนี้มีข้อดีหลายอย่าง แต่ทำไมถึงยังมีใช้เพียงแค่ไม่กี่แห่งในโลก นั้นเพราะในอดีตระบบนี้ไม่เหมาะกับการใช้ในเมืองใหญ่หรือมีผู้โดยสารจำนวนมาก เพราะความสามารถในการขนส่งผู้โดยสารต่อชั่วโมงน้อยกว่าระบบขนส่งหลัก เช่น รถไฟฟ้าหรือรถใต้ดิน และหากสร้างในเมืองขนาดเล็กที่มีจำนวนผู้โดยสารเหมาะสมกับการใช้งาน ก็ต้องพบกับปัญหาการลงทุนที่สูงเมื่อเทียบกับการใช้รถเมล์แบบปกติ นอกจากนั้นความยืดหยุ่นและความสะดวกสบายในการใช้งานยังไม่เท่ากับการใช้รถแท็กซี่ที่ให้บริการรับส่งได้ถึงจุดหมายปลายทาง (Door to door) ระบบนี้จึงอาจเหมาะกับการรับส่งระหว่างอาคารในเส้นทางที่ไม่ไกลมากเช่นในสนามบิน

แต่ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในปัจจุบัน อาจจะนำเทคโนโลยีรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติมาผสมเข้ากับระบบ PRT เช่น โครงการ ParkShuttle ในเนเธอร์แลนด์ เพื่อทำให้ต้นทุนการก่อสร้างเส้นทางลดต่ำลง และแนวโน้มการเกิดขึ้นของเมืองใหม่ไร้มลพิษที่มีเป้าหมายให้เป็นเมืองปลอดรถยนต์ อย่างโครงการ Ajman City ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตต์ ที่มีแผนใช้ระบบ PRT เป็นระบบขนส่งรองเชื่อมต่อกับระบบขนส่งหลักเพื่อขนส่งผู้คนไปถึงจุดหมายที่ต้องการ โดยมีโครงข่ายเส้นทางรวมระยะทาง 120 กิโลเมตร รวมถึงแนวโน้วค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทุนที่สำคัญของระบบขนส่งสาธารณะ จึงอาจส่งผลให้ในอนาคตอันไม่ไกลนี้เราน่าจะได้เห็น PRT หรือ Podcar ใช้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น

.

เขียนโดย : อาจารย์ ศรัณย์ ดั่นสถิตย์
อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา 


ข้อมูลอ้างอิง 
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Personal_rapid_transit
https://transportation.wvu.edu/prt 
https://today.duke.edu/2017/12/remembering-duke%E2%80%99s-railway https://www.2getthere.eu/projects/rivium/
https://newsroom.posco.com/en/koreas-first-personal-rapid-transit-prt-skycube/
https://www.zatran.com/en/technology/personal-rapid-transit-prt/
https://www.bloomberg.com/news/articles/2014-09-19/personal-rapid-transit-is-probably-never-going-to-happen
https://www.wired.com/2008/10/personal-pod-1/
https://www.bloomberg.com/news/articles/2013-01-15/would-more-drivers-use-mass-transit-if-it-mimicked-private-cars

 

เรื่องที่พ่อแม่อาจมองข้ามไป!! เมื่อ COVID-19 พาเด็กออกห่างจากธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก พ่อแม่ต้องดูแลอย่างไร?

จากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อคนทุกช่วงวัย ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กๆ สิ่งที่ส่งผลกระทบโดยตรงคือเรื่องของสุขภาพ แต่ยังมีผลกระทบทางอ้อมที่คุณพ่อคุณแม่อาจมองข้ามไป ‘ครูเบิร์ด’ จากเพจปั้นลูกปลูกรัก ได้ร่วมพูดคุยในหัวข้อ "ความเครียด และการดูแลเด็ก" ในช่วง COVID ระบาดหนัก ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ เมื่อ COVID-19 พาเด็กออกห่างจากธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กอย่างไร? 

งานวิจัยจากต่างประเทศ พบว่า เด็กๆ ที่เติบโตในสิ่งแวดล้อมที่เป็นสีเขียว เช่น สวน ต้นไม้ จะทำให้เด็กมีไอคิวที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 2-3 คะแนน ส่วนเด็กที่ไม่ได้เติบโตในสิ่งแวดล้อมสีเขียวเลย เด็กกลุ่มนี้จะมีไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 40% หมายความว่า เด็ก 100 คนที่ไม่ได้เติบโตในธรรมชาติ 40 คนจะมีคะแนนไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เป็นการยืนยันว่าเด็กที่เติบโตในพื้นที่สีเขียวจะทำให้ไอคิวดีขึ้น และยังมีงานวิจัยที่บอกว่านอกจากไอคิวที่ดีขึ้นแล้ว ยังมีเรื่องเกี่ยวกับ Cognitive skill, EF และ Working memory ที่ดีขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นธรรมชาติจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาทักษะต่างๆ ได้อย่างรอบด้าน

ครูเบิร์ดกล่าวว่า การเรียนรู้ในธรรมชาติเป็นการเรียนรู้แบบเปิด เด็กๆ สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ตามที่อยากเรียนได้เอง โดยที่คุณครูไม่ต้องคอยนำ เพราะธรรมชาติเป็นครูที่ดีสำหรับเด็กในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ แต่เมื่อ COVID-19 เข้ามา เด็กๆ ถูกแยกออกจากธรรมชาติมากขึ้น ข้อมูลทางวิชาการของมหิดล พูดถึงเด็กในช่วงวัยนี้ว่าเป็นช่วง Indoor Generation คือ 90% ของชีวิตอยู่กับอาคาร สิ่งแวดล้อมเทียมที่ถูกสร้างขึ้นมา ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะอายุสั้นลงในอนาคต เพราะการที่เด็กถูกจำกัดอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ทำให้การสร้างภูมิคุ้มกันลดน้อยลง การเรียนรู้ต่างๆ แคบลง เรียนรู้แค่ผ่านโทรศัพท์มือถือ สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กขาดโอกาสในการพัฒนา

การที่เด็กถูกแยกออกจากธรรมชาติทำให้เด็กเกิดความเครียดมากขึ้น พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าจะดูแลเด็กอย่างไร ซึ่งครูเบิร์ดแนะนำว่า สิ่งหนึ่งที่สามารถทำได้ คือการควบคุมอารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่เอง เพราะกฎในการดูแลเด็ก คือ Action = Reaction ถ้าคุณพ่อคุณแม่อารมณ์เสียใส่ลูก ลูกก็จะสะท้อนอารมณ์เสียนั้นกลับมา อีกสิ่งที่สำคัญคือ พ่อแม่ต้องเข้าใจในตัวเด็ก ว่าเด็กมีพฤติกรรมหรือมีธรรมชาติเป็นอย่างไร จัดตารางเวลาให้กับเด็กๆ โดยที่ต้องยอมรับธรรมชาติของเด็ก อาทิ

•  เด็กเป็นนักสำรวจ เป็นวัยที่ชอบมองหาสิ่งใหม่ๆ สนใจสิ่งต่างๆ ช่างค้นหา การยอมรับในสิ่งนี้จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ลดความเครียดลง

•  เมื่อเด็กสำรวจเสร็จจะเกิดความคุ้นชินกับสถานที่ รู้สึกปลอดภัย เด็กจะเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีแบบแผนในชีวิตขึ้น นำไปสู่ตารางเวลา การที่เด็กมีตารางเวลาที่แน่ชัดจะช่วยให้เด็กสามารถดำเนินชีวิตหรืออยู่ในพื้นที่นั้นๆ ได้อย่างมีความสุข ลดความเครียดลง  

ซึ่งการจะช่วยไม่ให้เด็กไม่เบื่อ พ่อแม่ต้องมีกิจกรรม มีงานให้ทำ เพื่อไม่ให้เด็กเกิดความฟุ้งซ่าน อย่าปล่อยให้เด็กว่าง พยายามจัดตารางเวลาให้เด็กมีกิจกรรมทำ เช่น วาดรูป ระบายสี ทำขนม รดน้ำต้นไม้ ให้อาหารสัตว์เลี้ยง

ครูเบิร์ดฝากทิ้งท้ายว่า COVID-19 เป็นสถานการณ์ที่ทุกคนต้องเผชิญ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ สิ่งที่พอทำได้คือการอยู่ร่วมกับมันอย่างมีความสุข อาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตใหม่ บาลานซ์ระหว่างสุขภาพและการดูแลลูกๆ ให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดทั้งกับตัวพ่อแม่และตัวลูก


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก
หัวข้อ : ความเครียด และการดูแลเด็ก #COVID
Link : https://www.facebook.com/299800753872915/videos/1643706599351050 
เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: ภารวี สุภามาลา

อยู่บ้านนาน แต่ร่างห้ามพัง!! จัดท่านั่ง Work From Home อย่างไร? ไม่ให้เสียสุขภาพ

ด้วยสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้หลายออฟฟิศปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน จากเดิมที่พนักงานทุกคนต้องนั่งทำงานในออฟฟิศ ก็เปลี่ยนมาเป็น Work From Home คือสามารถทำงานหรือประชุมผ่านโน้ตบุ๊กหรือคอมพิวเตอร์จากที่ใดก็ได้ ซึ่งภาวะเหล่านี้น่าจะส่งผลกระทบกับพวกเราทุกคนไปอีกนานจนกว่าการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จะดีขึ้น

อย่างไรก็ตามการนั่งทำงานผ่านโน้ตบุ๊กหรือคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน การใช้งานกล้ามเนื้อซ้ำ ๆ รวมทั้งการจัดระเบียบร่างกายที่ไม่ถูกต้องย่อมทำให้เกิดการเมื่อยล้า และนำไปสู่อาการปวดเมื่อยได้ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ โดยอาการปวดเมื่อยดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าการทำงานที่ออฟฟิศในสถานการณ์ปกติ ดังนั้นหากมีการจัดท่าทางที่เหมาะสมขณะใช้โน้ตบุ๊กหรือคอมพิวเตอร์ จะมีส่วนช่วยคลายความเจ็บปวดจากการ Work From Home ได้

สำรวจตัวเองกันหน่อย
คุณกำลังนั่งท่าแบบนี้หรือเปล่า ??

ท่านั่งที่ไม่เหมาะสม : ไหล่ห่อ หลังค่อม ศีรษะยื่นไปข้างหน้า เท้าลอยจากพื้น
ระดับความสูงของที่พักแขนไม่เท่ากับความสูงของโต๊ะ ส่งผลให้เกิดภาวะเกร็งของกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ 

การจัดระเบียบร่างกายที่เหมาะสมขณะนั่งทำงาน

ศีรษะ ตั้งตรง ไม่ก้มหรือเงยจนเกินไป ควรวางหน้าจอให้อยู่ในระดับสายตา ห่างออกไประมาณ 2.5 ฟุต 

คอ ตั้งตรงแล้ว ไม่เอียงคอหรือหันไปด้านใดด้านหนึ่ง

หลัง นั่งพิงพนักเก้าอี้ ไม่แอ่นหรืองอหลัง อาจมีหมอนใบเล็ก ๆ รองรับส่วนโค้งบริเวณหลังส่วนล่าง

แขนและข้อศอก แขนแนบชิดกับลำตัว วางแขนลงบนที่พักแขนให้แขนทำมุม 90 องศา ข้อศอกและข้อมือควรอยู่ในระนาบเดียวกัน 

ขา วางต้นขาแนบชิดไปกับที่นั่ง และปล่อยขาลงไปให้เท้าแนบพื้น 

เข่า งอเข่า 90 องศา  

เท้า วางเท้าบนพื้นให้เต็มฝ่าเท้า ถ้าหากเท้าไม่ถึงพื้นให้หาอะไรมารองหรือปรับระดับเก้าอี้ลง

มาดู 9 ข้อควรปฏิบัติง่าย ๆ ขณะนั่งทำงาน แล้วลองไปปรับใช้กันดูดีกว่า 

1.) นั่งทำงานในที่มีแสงสว่างเพียงพอ ไม่ควรให้แสงสะท้อนจากภายนอกสะท้อนเข้าตาโดยตรง ควรใช้แสงไฟแบบเดย์ไลท์หรือไฟสีขาว

2.) ปรับสภาพแวดล้อมโต๊ะทำงานให้คอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊กอยู่ทางด้านหน้าและปรับให้หน้าจออยู่ในระดับเดียวกับสายตา

3.) เลือกเก้าอี้ที่มีเบาะที่นั่งสามารถรองรับต้นขาได้พอดีและมีที่พักแขนอยู่ในระดับเดียวกับโต๊ะ

4.) ปรับระดับความสูงเก้าอี้ให้พอเหมาะ เมื่อนั่งแล้วเข่างอทำมุม 90 องศา เท้าวางบนพื้นได้เต็มฝ่าเท้า หากเท้าไม่ถึงพื้นสามารถหาที่พักเท้ามาวางได้

5.) ไม่วางเมาส์หรือคีย์บอร์ดไกลเกินไปเพราะทำให้ต้องเอื้อมแขนหรือก้มหลัง

6.) ขณะนั่งทำงานควรนั่งหลังชิดพนักพิงหรือพิงเอนหลังเล็กน้อย

7.) ควรเปลี่ยนอิริยาบถทุก 45-50 นาที 

8.) พักสายตาจากหน้าจอบ้าง การจ้องหน้าจอนาน ๆ ทำให้ตาแห้ง ลองกระพริบตาถี่ ๆ หรือมองออกไปในระยะไกล

9.) หมั่นยืดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า แขน ไหล่

.

เขียนโดย: กภ.คณิต คล้ายแจ้ง นักกายภาพบำบัด ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลศิริราช


ข้อมูลอ้างอิง
https://www.bangkokhospital.com/content/work-from-home-and-office-syndrome
https://www.ergonomicshelp.com/blog/working-from-home-ergonomics
https://www.bbc.com/worklife/article/20200508-how-to-work-from-home-comfortably-ergonomic-tips-covid-19

การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของคนยุคใหม่อาจจะต้องอาศัยการบอกต่อหรือการแสดงความคิดเห็นต่อการบริโภคหรืออุปโภคสินค้านั้น ๆ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและสามารถตัดสินใจซื้อได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมีผลต่อสินค้าที่จะสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว

การบอกต่อ (word-of-mouth) เป็นการตลาดภาคพลเมือง (citizen marketing) คือการที่ผู้บริโภครีวิวสินค้าและบริการด้วยความสมัครใจ โดยใช้ความรู้และประสบการณ์ของตนเอง โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าด้วยความคิดเห็น บทวิเคราะห์ รูปภาพ วิดิโอ หรือจัดทำเป็นโพสต์ในโซเชียลมีเดีย หรือในเว็บไซต์ แต่ความหมายของ “การตลาดภาคพลเมือง” ไม่ได้หมายถึง การชักชวนให้ซื้อสินค้าและบริการเท่านั้น เพราะการรีวิวสินค้าโดยกลุ่มผู้บริโภค อาจจะนำไปสู่การปฎิเสธ หรือการต่อต้านสินค้าและบริการได้เช่นกัน 

การตลาดภาคพลเมือง มีพลัง และมีอิทธิพลอย่างมาก เพราะมาจากคนทั่วไปที่ใช้สินค้าและบริการ ความคิดเห็นต่าง ๆ จึงมีความเป็นอิสระ ไม่ได้มาจากชุดคำพูดที่เอเจนซีโฆษณาสร้างสรรค์ให้ หรือไม่ได้มาจากนักเขียนรีวิว ที่ได้รับค่าตอบแทนจากเจ้าของสินค้าและบริการ

เมื่อมีการรีวิวจากผู้ซื้อหลาย ๆ ราย ที่ให้รายละเอียดต่าง ๆ โดยมีเจตนาที่จะแจ้งให้ผู้คนทั่วไปที่กำลังสนใจในสินค้าหรือบริการได้ทราบถึง ข้อดี ข้อเสีย ความพึงพอใจ ความผิดหวังในคุณภาพและการใช้งาน

ในกลุ่มผลิตภัณฑ์นั้น สินค้าอุปโภคบริโภคที่อยู่ในตลาดมายาวนาน ผู้ใช้จำนวนมากอาจมีความภักดีในสินค้า (brand loyalty) ในระดับระดับหนึ่ง จากประสบการณ์ส่วนตัวที่พอใจในคุณภาพ จึงไม่มีการรีวิวตัวผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในตลาดมานานหลายปีมากนัก แต่หากเป็นสินค้าชนิดใหม่ ที่เพิ่งปรากฎในตลาด จะมีการรีวิวมากมาย จากผู้ที่ได้ลองซื้อมาใช้ รีวิวเหล่านี้ มีผลต่อความสำเร็จของสินค้า

ผู้ที่รีวิวสินค้าและบริการเหล่านี้ ใช้สิทธิของผู้บริโภคในการวิจารณ์ได้อย่างเต็มที่ โดยอาจแชร์ความไม่พอใจ ความแตกต่างจากความคาดหวังและกฎเกณฑ์ส่วนตัว ลักษณะสินค้าที่ไม่ตรงปก บางครั้งมีการแนะให้ปรับปรุงสินค้าราวกับเป็นผู้มีส่วนในการออกแบบและวางแผนการตลาดของผลิตภัณฑ์ จนถือว่าเป็นผู้บริโภคที่เรียกว่า proactive consumer หรือผู้บริโภคเชิงรุก หรือ prosumer (producer+consumer)

การรีวิวสินค้านั้น เป็นการบอกต่อ (word-of-mouth) ชนิดหนึ่ง ในอดีต การบอกต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคน จนเกิดการรับรู้ในกลุ่มใหญ่ขึ้นนั้นใช้เวลานาน จากหนึ่งคนกว่าจะรู้กันทั้งหมู่บ้าน จนรู้กันทั่วจังหวัดและประเทศอาจต้องใช้เวลาเป็นปี แต่ในยุคดิจิทัล การสื่อสารด้วยโซเชียลมีเดียและอินเตอร์เน็ต ทำให้การบอกต่อ ในลักษณะของการรีวิว ใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีที่จะรับรู้กันได้ทั้งโลก !!

การทำการตลาดภาคพลเมือง โดยผู้บริโภคเชิงรุกนั้น สร้างผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบได้รุนแรง มีพลังไม่แพ้การโฆษณาที่ใช้งบประมาณมหาศาล

เหตุการณ์ที่แสดงถึงผลกระทบด้านลบต่อสินค้าและบริการ ที่เริ่มต้นโดย citizen marketing มีให้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงเวลาที่สังคมแตกแยก แบ่งฟาก และนำการเมืองเข้ามาปนกับนโยบายการดำเนินธุรกิจ เห็นได้จากเหตุการณ์ที่ผลิตภัณฑ์ขนมปัง ฟาร์มนมสด ร้านสุกี้ ร้านชาไต้หวัน และสินค้าอื่น ๆ ที่ประกาศตัวว่า ไม่ยินดีให้บริการ “สลิ่ม” ไม่ว่านโยบายที่เชื่อมธุรกิจเข้ากับจุดยืนทางการเมืองดังกล่าว จะมาจากเจ้าของผลิตภัณฑ์เอง หรือคนอื่นถือวิสาสะจัดชุดข้อมูลให้เอง การบอกต่อของสังคมและกลุ่มผู้บริโภค ทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจอย่างชัดเจน สินค้าเหลือค้างบนชั้นวางในร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายนมและไอศครีม ซึ่งเคยเป็นจุดท่องเที่ยวยอดนิยม กลายเป็นลูกค้าลดฮวบ 
Citizen marketing ทำโดยผู้ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจ และไม่แคร์ว่า ยอดขายจะลด หรือลูกค้าจะหดหาย เพราะไม่ใช่ปัญหาของนักการตลาดภาคพลเมือง ซึ่งโฟกัสไปที่การกระจายข้อมูลให้กว้างที่สุด แรงที่สุด และเร็วที่สุด 

ในขณะที่นักการตลาดมืออาชีพ จะต้องเก็บข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายในมิติต่าง ๆ เช่น เพศ อายุ การศึกษา รายได้ รสนิยม ไลฟสไตล์ เพื่อนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคอย่างรอบคอบ นักการตลาดพลเมืองมองสินค้าและบริการแบบแบน ๆ เท่านั้นคือ “เชียร์” หรือ “ต่อต้าน”

การทำการตลาดโดยแสดงการกีดกัน หรือเลือกผู้บริโภค (discriminatory marketing) มีอยู่รอบตัวแต่เราไม่ได้สร้างประเด็น เช่น การตั้งราคาสินค้าให้สูงย่อมเป็นการแบ่งชนชั้น การที่ร้านอาหารตั้งราคาอาหารสูงลิ่ว แม้ว่าคุณภาพและปริมาณอาหารจะไม่ได้ต่างจากร้านทั่วไปมากนัก ถือว่าเป็นการคัดเลือกลูกค้า ร้านกาแฟก็เช่นกัน การทำการตลาดแบบกีดกัน เป็นการเลือกอย่างเต็มใจของผู้ผลิตสินค้าและผู้ให้บริการ การตั้งราคาสินค้าแพงย่อมมียอดขายน้อยกว่าสินค้าราคาถูกกว่า ร้านอาหารราคาแพง ได้ลูกค้าที่มีกำลังซื้อมากกว่า แต่ต้องรับแรงกดดันและการคาดหวังของผู้จ่ายเงินเช่นกัน

ในยุคที่บรรยากาศของสังคมเต็มไปด้วยความคับข้องใจทางการเมือง จุดยืนทางการเมืองถูกนำมาใช้ในลักษณะ การตลาดแบบกีดกันมากขึ้น เช่น

>> โรงแรมที่เชียงใหม่ ประกาศตัวว่าไม่ต้อนรับสลิ่ม 
>> ร้านอาหารย่านซอยอารีย์ในกรุงเทพฯ ประกาศตัวว่าพนักงานที่ร้านไม่พูด “นะจ๊ะ” เพื่อเหน็บนายกรัฐมนตรี ถ้าลูกค้าได้ยินขอให้แจ้งทางร้าน จะไล่พนักงานออก 
>> แท็กซี่ติดสติกเกอร์ด้านข้างรถว่า “ไม่รับตำรวจและทหาร” 
>> ร้านขายเนื้อสัตว์และผักสดในตลาด แขวนป้ายประกาศไว้ว่า “ไม่ขายให้ทหารและตำรวจในเครื่องแบบ”

การประกาศแบบกีดกันกลุ่มลูกค้า เป็นสิทธิที่เจ้าของธุรกิจทำได้โดยไม่มีข้อห้าม และเมื่อมี citizen marketing เข้าร่วมช่วยทำการตลาด โดยการบอกต่อ ความต้องการที่จะกีดกันลูกค้ากลุ่มที่ไม่ชอบก็ได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วเช่นกัน แต่ในขณะที่การกีดกันด้วยราคานั้น สามารถปรับเปลี่ยน แก้ไขไปตามสถานการณ์โดยรอบ เช่น สภาพเศรษฐกิจ โดยการลดราคาให้ถูกกว่าเดิม หรือออกสินค้ารุ่นใหม่ในราคาใหม่

แต่การกีดกันกลุ่มผู้บริโภคด้วยทัศนคติทางการเมือง นอกจากกลุ่มที่ระบุแล้ว ยังมีผลทำให้กลุ่มผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่ฝักใฝ่การเมืองฝ่ายใด เลี่ยงที่จะใช้บริการนั้นด้วย เพราะความรู้สึกว่าผู้ประกอบธุรกิจไม่รู้จักแยกแยะ และกังวลว่า การไปใช้บริการทั้งในร้านอาหาร พักในโรงแรม หรือขึ้นแท็กซี่ อาจไม่รื่นรมย์ ต้องระวังตัวทั้งคำพูด การแต่งกาย และพฤติกรรมต่าง ๆ จึงขอตัดปัญหาโดยการเลือกผู้ให้บริการรายอื่น และการตีตราให้ธุรกิจนั้นจะเป็นที่จดจำไปอีกนาน แม้จะกลับลำภายหลัง ก็ยากที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้
ผู้ประกอบธุรกิจ เชื่อมั่นว่าจะดำเนินธุรกิจเชิงกีดกันกลุ่มผู้บริโภค ควรตั้งชื่อร้านอาหาร โรงแรม และสินค้าต่าง ๆ ให้ชัดเจนไปเลยว่าต้องการลูกค้ากลุ่มไหน สีไหน วัยไหน นอกจากจะให้ความสะดวกแก่กลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ต้องการแล้ว ยังช่วยเรียกกลุ่มที่ต้องการให้มาสนับสนุนธุรกิจด้วย

ในต่างประเทศเช่นในสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค โดยร้านอาหารไม่สามารถปฎิเสธลูกค้าด้วยพื้นฐานของ เพศสภาพ เชื้อชาติ สีผิว หรือศาสนา แต่ร้านอาหารมีสิทธิปฎิเสธลูกค้าที่แต่งกายไม่เหมาะสม หรือมีลักษณะที่อาจมีผลกระทบต่อลูกค้าอื่น ๆ ได้ และมีการฟ้องร้องระหว่างร้านอาหารและลูกค้าที่ถูกปฎิเสธ มากมายตลอดมา
การปฎิเสธกลุ่มลูกค้าในเมืองไทย คงไม่ถึงกับขึ้นโรงขึ้นศาล แต่น่าจับตามองเป็นกรณีศึกษา ว่าจะไปต่อได้ตลอดไปจนกลายเป็นแนวทางการตลาดที่ได้รับความนิยมหรือไม่


เขียนโดย : แพท แสงธรรม นักวิชาการอิสระ ด้าน Communication facilitator และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านอื่น ๆ ระยะเวลามากกว่า 23 ปี

???? เตรียมพบรายการใหม่จาก THE STUDY TIMES รายการ "Click on Crazy" ????

???? เตรียมพบรายการใหม่จาก THE STUDY TIMES จ้าาาาา

???? รายการ "Click on Crazy"

"ระเบิดการเรียนรู้ คิดนอกกรอบ พัฒนาอย่างสร้างสรรค์และทันสมัย "????

พูดคุยกับแขกรับเชิญสุดแสนจะไม่ธรรมดา ปลดปล่อย Passion สุด Crazy !!

พบพิธีกรน้องใหม่สุดน่ารักของเรา "แองจี้ THE STUDY TIMES" ????

ติดตาม Click on Crazy ได้ทาง

Facebook : THE STUDY TIMES

YouTube : THE STUDY TIMES


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top