เรื่องที่พ่อแม่อาจมองข้ามไป!! เมื่อ COVID-19 พาเด็กออกห่างจากธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก พ่อแม่ต้องดูแลอย่างไร?

จากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อคนทุกช่วงวัย ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กๆ สิ่งที่ส่งผลกระทบโดยตรงคือเรื่องของสุขภาพ แต่ยังมีผลกระทบทางอ้อมที่คุณพ่อคุณแม่อาจมองข้ามไป ‘ครูเบิร์ด’ จากเพจปั้นลูกปลูกรัก ได้ร่วมพูดคุยในหัวข้อ "ความเครียด และการดูแลเด็ก" ในช่วง COVID ระบาดหนัก ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ เมื่อ COVID-19 พาเด็กออกห่างจากธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กอย่างไร? 

งานวิจัยจากต่างประเทศ พบว่า เด็กๆ ที่เติบโตในสิ่งแวดล้อมที่เป็นสีเขียว เช่น สวน ต้นไม้ จะทำให้เด็กมีไอคิวที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 2-3 คะแนน ส่วนเด็กที่ไม่ได้เติบโตในสิ่งแวดล้อมสีเขียวเลย เด็กกลุ่มนี้จะมีไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 40% หมายความว่า เด็ก 100 คนที่ไม่ได้เติบโตในธรรมชาติ 40 คนจะมีคะแนนไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เป็นการยืนยันว่าเด็กที่เติบโตในพื้นที่สีเขียวจะทำให้ไอคิวดีขึ้น และยังมีงานวิจัยที่บอกว่านอกจากไอคิวที่ดีขึ้นแล้ว ยังมีเรื่องเกี่ยวกับ Cognitive skill, EF และ Working memory ที่ดีขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นธรรมชาติจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาทักษะต่างๆ ได้อย่างรอบด้าน

ครูเบิร์ดกล่าวว่า การเรียนรู้ในธรรมชาติเป็นการเรียนรู้แบบเปิด เด็กๆ สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ตามที่อยากเรียนได้เอง โดยที่คุณครูไม่ต้องคอยนำ เพราะธรรมชาติเป็นครูที่ดีสำหรับเด็กในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ แต่เมื่อ COVID-19 เข้ามา เด็กๆ ถูกแยกออกจากธรรมชาติมากขึ้น ข้อมูลทางวิชาการของมหิดล พูดถึงเด็กในช่วงวัยนี้ว่าเป็นช่วง Indoor Generation คือ 90% ของชีวิตอยู่กับอาคาร สิ่งแวดล้อมเทียมที่ถูกสร้างขึ้นมา ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะอายุสั้นลงในอนาคต เพราะการที่เด็กถูกจำกัดอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ทำให้การสร้างภูมิคุ้มกันลดน้อยลง การเรียนรู้ต่างๆ แคบลง เรียนรู้แค่ผ่านโทรศัพท์มือถือ สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กขาดโอกาสในการพัฒนา

การที่เด็กถูกแยกออกจากธรรมชาติทำให้เด็กเกิดความเครียดมากขึ้น พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าจะดูแลเด็กอย่างไร ซึ่งครูเบิร์ดแนะนำว่า สิ่งหนึ่งที่สามารถทำได้ คือการควบคุมอารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่เอง เพราะกฎในการดูแลเด็ก คือ Action = Reaction ถ้าคุณพ่อคุณแม่อารมณ์เสียใส่ลูก ลูกก็จะสะท้อนอารมณ์เสียนั้นกลับมา อีกสิ่งที่สำคัญคือ พ่อแม่ต้องเข้าใจในตัวเด็ก ว่าเด็กมีพฤติกรรมหรือมีธรรมชาติเป็นอย่างไร จัดตารางเวลาให้กับเด็กๆ โดยที่ต้องยอมรับธรรมชาติของเด็ก อาทิ

•  เด็กเป็นนักสำรวจ เป็นวัยที่ชอบมองหาสิ่งใหม่ๆ สนใจสิ่งต่างๆ ช่างค้นหา การยอมรับในสิ่งนี้จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ลดความเครียดลง

•  เมื่อเด็กสำรวจเสร็จจะเกิดความคุ้นชินกับสถานที่ รู้สึกปลอดภัย เด็กจะเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีแบบแผนในชีวิตขึ้น นำไปสู่ตารางเวลา การที่เด็กมีตารางเวลาที่แน่ชัดจะช่วยให้เด็กสามารถดำเนินชีวิตหรืออยู่ในพื้นที่นั้นๆ ได้อย่างมีความสุข ลดความเครียดลง  

ซึ่งการจะช่วยไม่ให้เด็กไม่เบื่อ พ่อแม่ต้องมีกิจกรรม มีงานให้ทำ เพื่อไม่ให้เด็กเกิดความฟุ้งซ่าน อย่าปล่อยให้เด็กว่าง พยายามจัดตารางเวลาให้เด็กมีกิจกรรมทำ เช่น วาดรูป ระบายสี ทำขนม รดน้ำต้นไม้ ให้อาหารสัตว์เลี้ยง

ครูเบิร์ดฝากทิ้งท้ายว่า COVID-19 เป็นสถานการณ์ที่ทุกคนต้องเผชิญ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ สิ่งที่พอทำได้คือการอยู่ร่วมกับมันอย่างมีความสุข อาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตใหม่ บาลานซ์ระหว่างสุขภาพและการดูแลลูกๆ ให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดทั้งกับตัวพ่อแม่และตัวลูก


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก
หัวข้อ : ความเครียด และการดูแลเด็ก #COVID
Link : https://www.facebook.com/299800753872915/videos/1643706599351050 
เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: ภารวี สุภามาลา