Sunday, 19 May 2024
EducationNewsAgencyforAll

ผลการศึกษานำร่องของสหรัฐฯ ชี้ โควิด-19 แพร่กระจายในโรงเรียนยาก หากโรงเรียนให้ความสำคัญกับมาตรการเฝ้าระวังทางสาธารณสุข อาทิ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม และล้างมือเป็นประจำ

การศึกษานำร่องในรัฐมิสซูรีของสหรัฐชี้ว่า การแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในโรงเรียนเป็นเรื่องยาก แม้มีกลุ่มผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หากโรงเรียนให้ความสำคัญกับมาตรการเฝ้าระวังทางสาธารณสุข อาทิ การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม และการล้างมือเป็นประจำ

การศึกษานำร่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เซนต์หลุยส์ (WUSTL) และหน่วยงานท้องถิ่นอื่นๆ ครอบคลุมโรงเรียน 57 แห่งในรัฐมิสซูรี โดยโรงเรียนทุกแห่งกำหนดให้นักเรียน ครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และผู้มาเยือน สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในพื้นที่โรงเรียนหรือบนรถบัส

มาตรการด้านความปลอดภัยอื่นๆ ได้แก่ การให้ความสำคัญกับสุขอนามัยของมือ การทำความสะอาดสิ่งอำนวยความสะดวกแบบครบวงจร การรักษาระยะห่างในห้องเรียน การตรวจคัดกรองอาการโรคโควิด-19 ทุกวัน การติดตั้งสิ่งกีดขวางทางกายภาพระหว่างครูและนักเรียน การเสนอทางเลือกในการเรียนทางออนไลน์ และการระบายอากาศเพิ่มเติม

กลุ่มผู้เข้าร่วมการศึกษานำร่องครั้งนี้ครอบคลุมประชาชน 193 คนจาก 22 โรงเรียนของกลุ่มข้างต้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผู้มีผลตรวจโรคโควิด-19 เป็นบวก 37 ราย แบ่งเป็นนักเรียน 24 ราย (ร้อยละ 65) และครูหรือเจ้าหน้าที่ 13 ราย (ร้อยละ 35) และเป็นผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย 156 ราย แบ่งเป็นนักเรียน 137 ราย (ร้อยละ 88) และครูหรือเจ้าหน้าที่ 19 ราย (ร้อยละ 12)

บรรดาผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย 102 ราย ที่ดำเนินการตรวจโรคโควิด-19 ด้วยวิธีทดสอบน้ำลาย มีเพียงสองรายเท่านั้นที่มีผลตรวจโรคเป็นบวก ซึ่งบ่งชี้ว่าการแพร่เชื้อขั้นทุติยภูมิในโรงเรียนมีโอกาสเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ดี ยังไม่ตรวจพบการแพร่ระบาดในโรงเรียนที่เข้าร่วม แม้อัตราการแพร่กระจายในชุมชนจะอยู่ในระดับสูงเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน แม้กระทั่งโรงเรียนในเมืองสปริงฟิลด์ที่อนุญาตให้ผู้มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยบางคนยังคงอยู่ในโรงเรียนได้

"โรงเรียนสามารถเปิดการเรียนการสอนได้อย่างปลอดภัยในช่วงของการแพร่ระบาด หากปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน" เจสัน นิวแลนด์ ศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน หนึ่งในผู้นำวิจัย กล่าว "การศึกษานำร่องแสดงให้เห็นถึงอัตราการแพร่เชื้อในโรงเรียนในระดับต่ำและไม่มีการถ่ายทอดจากนักเรียนสู่ครู แม้การศึกษาครั้งนี้จะดำเนินในเดือนธันวาคม ซึ่งมีอัตราการแพร่กระจายในชุมชนระดับสูงก็ตาม"

นอกจากนี้ คณะนักวิจัยจะดำเนินการวัดระยะห่างระหว่างโต๊ะในห้องเรียนในอนาคต เพื่อประเมินว่าจะสามารถผ่อนปรนกฎระยะห่างทางสังคม 6 ฟุต (180 เซนติเมตร) ในโรงเรียนได้หรือไม่ ทั้งยังจะส่งแบบสำรวจไปยังผู้ปกครอง ครู อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ เพื่อประเมินความเครียดและสุขภาพจิตระหว่างการกักตัวด้วย

ทั้งนี้ การศึกษานำร่องครั้งนี้ได้รับการเผยแพร่ในรายงานการเจ็บป่วยและเสียชีวิตรายสัปดาห์ (MMWR) ของ CDC เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา


ขอบคุณที่มา: https://www.ryt9.com/s/iq47/3209874

ใครอยากเพิ่มสกิลภาษาอังกฤษ พลาดไม่ได้!! สถาบันภาษา ม.ธรรมศาสตร์ (ศูนย์ท่าพระจันทร์) เปิด ‘โครงการอบรมภาษาอังกฤษสำหรับบุคคลทั่วไป’

โดยมีทั้งคอร์สแบบปูพื้นฐาน คอร์สอัปสกิล รวมถึงคอร์สเตรียมสอบ ซึ่งทุกคอร์สจะทำการเรียนการสอนที่ศูนย์ท่าพระจันทร์ หากใครสนใจ สามารถดูรายละเอียดด้านล่างได้เลย

คอร์สที่เปิดสอน

1.) หลักสูตรทักษะการฟัง-การพูด (Listening – Speaking)  ระดับ 1, 2, 3

2.) หลักสูตรทักษะการใช้ไวยากรณ์ (Grammar for Better English) ระดับ 1, 2, 3

3.) หลักสูตรทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ (Strategic Reading)  ระดับ 1,2

4.) หลักสูตรการเขียน (Writing) : Essay, Paragraph, Report and Propasal Writing for Careers

5.) หลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการทำงาน (English for Work) ระดับ 1, 2

6.) หลักสูตรการแปลเบื้องต้น (Introduction to Translation)

7.) หลักสูตรเตรียมสอบ (Test-Preparation Courses): Computer-based tests, การอ่าน, คำศัพท์, การอ่าน, ไวยากรณ์,  IELTS, TOEIC

- มีทั้งหลักสูตรภาษาอังกฤษพื้นฐาน 30 ชั่วโมง และหลักสูตรการเตรียมสอบ 60 ชั่วโมง (แล้วแต่คอร์ส)

- ค่าเรียน: 2,900 - 4,900 บาท (แล้วแต่คอร์ส)

- มีโปรมา 4 จ่าย 3

- เริ่มอบรมวันที่ 24 เมษายน - วันที่ 27 มิถุนายน 2564 (มีทั้งหลักสูตรเรียนวันธรรมดา, วันเสาร์ และอาทิตย์ *ตารางเรียนแต่ละคอร์สจะไม่เหมือนกัน ดูตารางเรียนได้ที่ http://public.litu.tu.ac.th/view/post/43

สมัครอบรม

- สมัครอบรมได้ที่ https://apply.litu.tu.ac.th/login

- ใบสมัคร: https://bit.ly/3lwjPyh

- หมดเขตวันที่ 16 เมษายน 2564 หรือจนกว่าจะเต็ม

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับรายละเอียดคอร์ส รวมถึงการสมัครเรียน กรุณาติดต่อไปที่

-Facebook: Language Institute Thammasat University

-โทรศัพท์ : 02-613-3101-3

-Email : [email protected]

-ที่อยู่ : สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 ถนนพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวังเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

อ่านรายละเอียดคอร์สฉบับเต็มที่ http://public.litu.tu.ac.th/view/post/43


ขอบคุณที่มา: https://www.facebook.com/OneMoreCoursebyDekD/posts/284385673057287

Saturday School หรือโรงเรียนวันเสาร์ ไม่มุ่งเน้นวิชาการ แต่มุ่งเน้นพัฒนา Soft Skill โดยวัดผลจากการจัดแสดงผลงานของเด็ก ๆ แทนการจัดอันดับหรือการแข่งขัน

ยังมีอะไรอีก ที่สำคัญต่อชีวิต และโรงเรียนไม่ได้สอน

เมื่อครั้งคุณยีราฟเป็นอาสาสมัคร Teach for Thailand ได้มีโอกาสเห็นศักยภาพมากมายในตัวเด็ก ๆ ในโครงการ แต่โรงเรียนสายสามัญกลับยังไม่มีหลักสูตรรองรับ คุณยีราฟเล่าว่า เห็นเด็กมีความสามารถหลายด้าน เช่น เด็กบางคนวาดรูปสวยมาก บางคนทำกิจกรรมกับผู้คนเก่ง บางคนเขียนโปรแกรมเก่ง หรือบางคนเต้นเก่ง หรืออาจจะพูดเก่ง แต่ในโรงเรียนกลับไม่มีวิชาเหล่านี้

คุณยีราฟจึงดึงครูอาสาที่ความสามารถเหมือนกับเด็กเหล่านั้นมาร่วมงาน และต่อยอดขยายผลจากการเป็นครูอาสามาเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิ ที่ชื่อว่า Saturday School มูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์

ประสบการณ์ตั้งแต่ได้เป็นครูอาสา ทำให้คุณยีราฟเล็งเห็นความสามารถที่หลากหลายของเด็ก ที่หลักสูตรโรงเรียนในปัจจุบัน ยังไม่สามารถรองรับเด็ก ๆ เหล่านั้นให้สามารถต่อยอดความถนัดที่เค้ามีอยู่แล้วได้ โรงเรียนวันเสาร์ จึงไม่มุ่งเน้นวิชาการ แต่มุ่งเน้นพัฒนา Soft Skill โดยวัดผลจากการจัดแสดงผลงานของเด็ก ๆ แทนการจัดอันดับหรือการแข่งขัน

Soft Skill ที่โรงเรียนวันเสาร์มุ่งเน้นนั้น มี 4 ทักษะด้วยกัน คือ

  1. Self-Awareness การรู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง
  2. Resilience ความสามารถในการปรับตัว ความยืดหยุ่น เรียนรู้แล้วลุกเร็ว
  3. Growth Mindset ความเชื่อว่าตัวเองทำได้
  4. Potential Behavior คือความมีจิตใจที่จะทำเพื่อสังคม

ในกระบวนการเรียนรู้ของโรงเรียนวันเสาร์นั้น คุณยีราฟใช้ Design Thinking มาปรับใช้และเอาวิธีคิดแบบ Ownership หรือความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของมาจับ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในขณะเดียวกันก็เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นด้วย

ปัจจุบันโรงเรียนวันเสาร์จะเข้าไปเป็นพันธมิตรกับโรงเรียนต่าง ๆ ที่สนใจให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมนอกเหนือจากโรงเรียน โดยมีระดับชั้นมัธยมต้นเป็นโปรแกรมหลัก เด็ก ๆ ในโปรแกรมยังสามารถชวนเพื่อนจากโรงเรียนอื่นมาร่วมเข้าโปรแกรมได้ด้วยเช่นกัน

หากคุณคือคนหนึ่งที่เชื่อว่าการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด ในขณะที่เวลาของความเป็นเด็กนั้นมีจำกัด เราคงไม่สามารถเอาเวลาไปเรียนอะไรที่สุดท้ายแล้วไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ได้ และยังมีอะไรอีกมากมายที่ในรั้วโรงเรียนไม่ได้สอน

เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่และลูกทุกคนค่ะ


สามารถย้อนไปฟังการ LIVE หัวข้อที่น่าสนใจเหล่านี้เพิ่มเติมได้ที่ เพจดีต่อลูก

หัวข้อ : โรงเรียนวันเสาร์ “วิชาที่โรงเรียนไม่ได้สอน”

Link https://www.facebook.com/299800753872915/videos/466518634738895

เขียนและเรียบเรียงเรื่องโดย: พิมพ์นารา สุวรรณไตรย์ 

กระทรวงศึกษาธิการ หารือร่วมกับผู้แทนกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติยูนิเซฟ ประเทศไทย สร้างความร่วมมือด้านการจัดการศึกษาสำหรับเด็กเล็ก เน้นการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ยกระดับความรู้เรื่องทักษะดิจิทัล

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รักษา รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับนางคิม คยองซัน ผู้แทนกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติยูนิเซฟ ประเทศไทย ว่า จากการหารือยูนิเซฟมีความสนใจเรื่องการศึกษาของเด็กปฐมวัย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และยูนิเซฟจะมีความร่วมด้านการจัดการศึกษาสำหรับเด็กเล็กมากขึ้น เช่น การดูแลความปลอดภัย การจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เป็นต้น ซึ่งตนได้พูดถึงเรื่องที่ ศธ.ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กลุ่มครูได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นกลุ่มแรก ๆ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่เด็กนักเรียน

นอกจากนี้ยูนิเซฟยังให้ความสนใจการศึกษาของเด็กชนเผ่าและเด็กด้อยโอกาส รวมถึงได้แสดงความคิดเห็นว่าจะทำอย่างไรที่จะให้ครูและนักเรียนได้ยกระดับความรู้เรื่องทักษะดิจิทัลให้มากขึ้น ซึ่งตนได้ชี้แจงว่าขณะนี้ ศธ.ได้เลือกโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกลในพื้นที่จังหวัดเลยและจังหวัดกาญจนบุรีอย่างละ 1 แห่ง เพื่อนำมาเป็นโรงเรียนนำร่องในการบริหารจัดการด้านการศึกษาด้วยการเติมทักษะดิจิทัล ห้องเรียนเทคโนโลยี ครูผู้สอนด้านภาษาอังกฤษ ในการเป็นต้นแบบให้เด็กในโรงเรียนเหล่านี้มีความรู้ด้านดิจิทัลและเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีหน่วยงานภาคเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนนุนการดำเนินงานให้ โดยการนำร่องดังกล่าวจะมีการประเมินผล 3 - 6 เดือนว่าเด็กในโรงเรียนขนาดเล็กมีทักษะการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้นหรือไม่

“สำหรับความร่วมมือในอนาคตที่จะทำให้การทำงานระหว่างยูนิเซฟและ ศธ.มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้น ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าการทำงานของยูนิเซฟด้านการศึกษาส่วนใหญ่จะเป็นความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องส่งผลให้การดำเนินงานมีความกระจัดกระจายไม่เห็นการติดตามผลงานเท่าที่ควร ดังนั้น จึงมีข้อสรุปว่าอยากให้ยูนิเซฟจัดทำเป็นวารสาร เพื่อรวบรวมการดำเนินงานของยูนิเซฟในรูปแบบต่างๆ มารวมไว้ที่เดียวกัน ซึ่งจะทำให้สังคมได้รับทราบการทำงานของยูนิเซฟมากขึ้น”รมช.ศธ.กล่าว


ที่มา: https://www.thaipost.net/main/detail/96887

ปฏิทินการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปีการศึกษา 2564 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

รับสมัคร

ประเภททั่วไป 16 - 20 เม.ย. 64

ประเภทเงื่อนไขพิเศษ (ถ้ามี) 16 - 20 เม.ย. 64

จับฉลาก

ประเภททั่วไป 24 เม.ย. 64

ประกาศผล

ประเภททั่วไป 24 เม.ย. 64

ประเภทเงื่อนไขพิเศษ (ถ้ามี) 24 เม.ย. 64

รายงานตัว

ประเภททั่วไป 24 เม.ย. 64

ประเภทเงื่อนไขพิเศษ (ถ้ามี) 24 เม.ย. 64

มอบตัว

ประเภททั่วไป 1 พ.ค. 64

ประเภทเงื่อนไขพิเศษ (ถ้ามี) 1 พ.ค. 64

รายละเอียดเพิ่มเติม: http://plan.bopp-obec.info/Home/

รับสมัคร

ประเภททั่วไป 16 - 20 เม.ย. 64

ประเภทเงื่อนไขพิเศษ (ถ้ามี) 16 - 20 เม.ย. 64

จับฉลาก

ประเภททั่วไป 24 เม.ย. 64

ประกาศผล

ประเภททั่วไป 24 เม.ย. 64

ประเภทเงื่อนไขพิเศษ (ถ้ามี) 24 เม.ย. 64

รายงานตัว

ประเภททั่วไป 24 เม.ย. 64

ประเภทเงื่อนไขพิเศษ (ถ้ามี) 24 เม.ย. 64

มอบตัว

ประเภททั่วไป 1 พ.ค. 64

ประเภทเงื่อนไขพิเศษ (ถ้ามี) 1 พ.ค. 64

รายละเอียดเพิ่มเติม: http://plan.bopp-obec.info/Home/

 

คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ม.ขอนแก่น นำร่อง เปิดหลักสูตรเรียนปริญญาตรีล่วงหน้า ให้นักเรียน ม.ปลายลงเรียนสะสมหน่วยกิต เพื่อค้นหาความชอบและความถนัด ลดระยะเวลาเรียนในมหาวิทยาลัย

คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดการปฐมนิเทศผู้เรียนในหลักสูตรการจัดการศึกษาตลอดชีวิต ระดับปริญญาตรี : KKBS PRE-B (Pre-Bachelor Degree) ภายใต้โครงการ “เรียนปริญญาตรีล่วงหน้า แบบสะสมหน่วยกิต ในหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต วิชาเอกการตลาด และวิชาเอกการจัดการ ผู้ประกอบการพาณิชย์และนวัตกรรม” 

โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ เป็นประธานในพิธีเปิดการปฐมนิเทศ และบรรยายพิเศษเรื่องนโยบายการจัดการศึกษาตลอดชีวิตของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมี รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี เป็นผู้กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุม 1-2 ชั้น 6 คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ปัจจุบันโลกเข้าสู่ยุคการแข่งขันทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยี มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ตามกระแสการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 อย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อวิถีการดำรงชีวิตของทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติรอบด้านจึงเป็นความท้าทายที่สำคัญยิ่ง

ด้วยเหตุนี้ การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เป็นรูปแบบการจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ในยุคปัจจุบัน ที่ให้ผู้เรียนได้ค้นหาตัวตนว่ามีความชอบและความถนัดในศาสตร์ใดขององค์ความรู้ด้านการบริหารและการบัญชี โดยเปิดโอกาสให้เรียนในรายวิชา ป.ตรี ล่วงหน้าแบบสะสมหน่วยกิต เพื่อเตรียมความพร้อมในทักษะด้านการบริหารธุรกิจและการบัญชีให้แก่ผู้เรียน และฉายภาพให้เห็นถึงกระบวนทัศน์ใหม่ของระบบนิเวศของธุรกิจยุคใหม่ (Ecosystem of The New Paradigm of Business) ได้อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน (Creativity and Sustainability)

รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มข.กล่าวว่า คณะบริหารธุรกิจและการบัญชีได้มีการจัดทำโครงการเรียนรู้ล่วงหน้าและการเตรียมความพร้อมสู่โลกธุรกิจกับ Khon Kaen Business School สถาบันการศึกษาชั้นนำและเป็นเลิศด้านบริหารธุรกิจและการบัญชีที่ได้มาตรฐานสากล หลักสูตรฯ นี้ได้ถูกริเริ่มขึ้นเพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีศักยภาพสูงทางด้านวิชาการ ได้เตรียมความพร้อมการเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษา โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลงทะเบียนเลือกเรียนในรายวิชาต่าง ๆ ของหลักสูตรในระดับปริญญาตรีของคณะฯ ได้ล่วงหน้า

ทั้งนี้ เพื่อให้นักศึกษาได้ค้นหาตัวตนว่ามีความชอบและความถนัดด้านใด รวมทั้งสามารถลดระยะเวลาเรียนในมหาวิทยาลัย เก็บสะสมหน่วยกิตได้ ได้รับประกาศนียบัตรในการผ่านเข้าร่วมการเรียนของแต่ละวิชา โดยได้รับสมัครและคัดเลือกนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและเทียบเท่า

ทั้งนี้ มีผู้รายงานตัวลงทะเบียนทั้งสิ้นจำนวน 33 คน โดยแบ่งเป็นผู้เรียนในหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต วิชาเอกการตลาดจำนวน 18 คน หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต วิชาเอกการจัดการผู้ประกอบการ พาณิชย์และนวัตกรรม จำนวน 21 คน และลงทะเบียนเรียนทั้งสองหลักสูตร จำนวน 6 คน แบ่งเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 4 คน มัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 21 คน และมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 8 คน ซึ่งมาจากโรงเรียนมัธยมศึกษาในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นส่วนใหญ่ ด้วยการจัดหลักสูตรนี้ถือเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยขอนแก่น และหลักสูตรได้มุ่งเน้นการฝึกปฏิบัติจริงในสถานประกอบการอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มข. กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบของการจัดการศึกษาตลอดชีวิต (แบบรายวิชา) หลักสูตรปริญญาตรี เป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าได้ค้นหาตัวตนว่ามีความชอบและความถนัดในศาสตร์ทางด้านบริหารธุรกิจและการบัญชี อีกทั้งยังเป็นการเรียนล่วงหน้าในระดับปริญญาตรีของคณะบริหารธุรกิจและการบัญชีเพื่อสะสมหน่วยกิตและเทียบโอนได้

นับว่าการจัดการศึกษาตลอดชีวิตเป็นการจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต Lifelong Education โดยเป็นการจัดการศึกษาในรูปแบบในระบบ Formal Education การศึกษานอกระบบ Non-Formal Education และการศึกษาตามอัธยาศัย Informal Education มุ่งให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง Self Directed Learning และสามารถพัฒนาตนเองให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของโลก ซึ่งเป็นนโยบายหนึ่งในของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

โดยมีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชีได้ดำเนินการเป็นหน่วยงานแรก ในการเปิดรับสมัครการจัดการศึกษาตลอดชีวิต (แบบรายวิชา) หลักสูตรปริญญาในการปฐมนิเทศครั้งนี้นักเรียนจะได้ทราบถึงแผนการเรียน และกระบวนการจัดการเรียนการสอนตลอดหลักสูตร ทำให้สามารถวางแผนการเรียนได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning ) ในรูปแบบสะสมหน่วยกิต (Credit banks) ของหลักสูตรการจัดการศึกษาตลอดชีวิตในระดับปริญญาตรี

นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักเรียนระดับมัธยมปลายที่มีศักยภาพสูงทางด้านวิชาการ ได้เตรียมความพร้อมต่อการเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษา โดยสามารถลงทะเบียนเลือกเรียนในรายวิชาต่างๆ ของหลักสูตรในระดับปริญญาตรีของคณะฯ ได้ล่วงหน้า เพื่อให้ค้นหาตัวตนว่ามีความชอบและความถนัดในศาสตร์ใดขององค์ความรู้ด้านการบริหารและการบัญชี ทำให้เห็นภาพและเข้าใจรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ก่อนมุ่งตรงสู่อาชีพในภาคธุรกิจหรือเพื่อเป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่ตนเองสนใจในอนาคต ตามแนวความคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต สามารถอยู่ในระบบนิเวศของธุรกิจยุคใหม่ได้อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน


ที่มา: https://mgronline.com/smes/detail/9640000027520

ส่องค่าเทอม 8 โรงเรียนนานาชาติชั้นนำของประเทศไทย ตั้งแต่เข้าเรียนปีแรก จนถึงเรียนจบ คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองจะต้องเตรียมเงินไว้เท่าไหร่ ไปดูกันเลย!!

โรงเรียนนานาชาติกรุงเทพ : International School Bangkok

เริ่มตั้งแต่ Pre-Kindergarten - Grade 12 (เรียนทั้งหมด 14 ปี)

รวม 12,780,000 บาท

โรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพฯ : King's College International School Bangkok

เริ่มตั้งแต่ Pre–nursery - Grade 12 (เรียนทั้งหมด 16 ปี)

รวม 12,775,000 บาท

โรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ : Harrow International School

เริ่มตั้งแต่ Pre–nursery - Year 13 (เรียนทั้งหมด 16 ปี)

รวม 12,434,100 บาท

โรงเรียนนานาชาตินิสท์ : NIST International School

เริ่มตั้งแต่ Early Year 1 - Year 13 (เรียนทั้งหมด 15 ปี)

รวม 11,547,100 บาท

โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี่ : Shrewsbury International School

เริ่มตั้งแต่ Early Year 1 - Year 13 (เรียนทั้งหมด 15 ปี)

รวม 10,672,200 บาท

โรงเรียนนานาชาติร่วมฤดี : Ruamrudee International School

เริ่มตั้งแต่ Kindergarten 1 - Grade 12 (เรียนทั้งหมด 15 ปี)

รวม 10,346,000 บาท

โรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนา : Bangkok Patana School

เริ่มตั้งแต่ Nursery - Year 13 (เรียนทั้งหมด 16 ปี)

รวม 10,307,000 บาท

โรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ : Bangkok Prep International School

เริ่มตั้งแต่ Nursery - Year 13 (เรียนทั้งหมด 15 ปี)

รวม 8,403,000 บาท

**ราคาข้างต้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ โปรดตรวจสอบกับทางโรงเรียนอีกครั้งก่อนส่งลูกเรียน


ขอบคุณที่มา: https://www.facebook.com/TidRhooTH/posts/219129443065285

 

ครม. อนุมัติทุนโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ กรอบวงเงินรวม 1,654 ล้านบาท เร่งผลิตครูฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ ที่มีศักยภาพสูง สอดคล้องกับการเรียนรู้ยุคใหม่

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (24 มีนาคม 2564) ว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติทุนโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ระยะที่ 4 (พ.ศ.2560 - 2567) กรอบวงเงินรวม 1,654 ล้านบาท ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ เพื่อสร้างบุคลากรครูคุณภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เข้าสู่ระบบได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตครูระดับปริญญาโทที่มีความสามารถพิเศษวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ ให้เป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ยุคใหม่ มีความสามารถในการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้กับนักเรียนระดับระดับมัธยมศึกษา สำหรับรูปแบบและจำนวนทุนการผลิตครู แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1.) ทุนระดับปริญญาตรี – โท ปีละ 150 ทุน รวม 600 ทุน ระยะเวลารับทุน 6 ปี ดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 – 2573 รวมระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี

2.) ทุนระดับปริญญาโท ปีละ 150 ทุน รวม 600 ทุน ระยะเวลารับทุน 2 ปี ดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 – 2569 รวมระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี

โครงการนี้ใช้งบประมาณจำนวน 1,654 ล้านบาท โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จะขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีผ่านกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยการทำความตกลงในรายละเอียดร่วมกับสำนักงบประมาณต่อไป

สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ คือ

1.) ส่งเสริมให้ผู้ที่มีศักยภาพระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี สมัครรับทุนโครงการเพื่อเป็นครูเพิ่มขึ้น

2.) มีครูผู้สอนวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ ที่ มีศักยภาพสูงในการจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐานเพิ่มขึ้น

3.) มีปริมาณครูผู้สอนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพเพียงพอต่อการทดแทนบุคลากรที่เกษียณอายุราชการและโยกย้ายภูมิลำเนา


ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/normal_news/473333?as=

สมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชน กังวลมหา’ลัยแห่เปิด ปวส. ดึงเด็กเรียนวิชาชีพชดเชยนักศึกษาลด ชี้ต้องมีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาด วอน รมว.ศธ. คนใหม่พัฒนาอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐ และเอกชน

นายอดิศร สินประสงค์ นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.) เปิดเผยว่า สวทอ.หวังว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คนใหม่ จะดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง โดยเฉพาะการพัฒนาอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐ และเอกชน เพราะปัจจุบันการพัฒนาอาชีวะยังเป็นแค่นโยบาย และวาทะกรรม แต่ยังไม่เห็นการพัฒนาใดๆ ที่เป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ ศธ.กำลังทำให้นโยบายเพิ่มผู้เรียนอาชีวะนั้น พลิกด้าน เพราะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะสร้างห้องเรียนอาชีพ ซึ่งอาจขาดครู เครื่องมือ และขาดความพร้อม อาจเป็นแค่การเพิ่มจำนวนผู้เรียน แต่ไม่ได้เพิ่มคุณภาพ ซึ่งเรื่องนี้ทาง สวทอ.กังวลมาก และจะนำเรื่องนี้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) วันที่ 25 มีนาคม พิจารณา และเสนอแนะต่อไป

นายอดิศรกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สวทอ.กังวลกรณีที่ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทยอยเปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) โดยต้องขออนุญาตใช้หลักสูตร ปวส.ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เข้าใจว่าเพราะมหาวิทยาลัยอยากเพิ่มจำนวนผู้เรียน เนื่องจากปัจจุบันผู้เรียนลดลง แต่กังวลว่ามหาวิทยาลัยจะเข้าใจ มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนหรือไม่ และกลัวว่าอาจไม่เท่าเทียมในเรื่องครูผู้สอน

เพราะครูที่จะสอนในสถานศึกษาสังกัด สอศ.โดยเฉพาะครูวิชาชีพ ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จึงจะสอนนักเรียนนักศึกษาได้ แต่ถ้ามหาวิทยาลัยสอนระดับ ปวส.ครูผู้สอนจต้องมีใบอนุญาตฯ หรือไม่ และจำนวนการผลิต รวมถึง คุณภาพปลายทางที่จบการศึกษา จะได้มาตรฐานของอาชีวศึกษาหรือไม่

“ผมเห็นด้วยที่จะให้หน่วยงานอื่นๆ ร่วมจัดการเรียนการสอนด้านสายอาชีพ แต่ขอให้มีคุณภาพ ไม่ใช่แค่ต้องการเพิ่มจำนวนผู้เรียนเท่านั้น และขอให้ผลิตตรงกับความต้องการของตลาดด้วย เพราะทุกวันนี้มีหลายหน่วยงานที่จัดการเรียนการสอน เช่น สถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) สถานศึกษาสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) สถานศึกษาสังกัดกระทรวงกลาโหม ล่าสุดคือ สพฐ.ต้องการเปิดห้องเรียนสายอาชีพ และมหาวิทยาลัย จึงกังวลเรื่องการผลิตคนที่แต่ละหน่วยงานต่างมุ่งผลิต แต่ไม่สนใจคุณภาพปลายทางจะส่งผลกระทบในอนาคตอย่างไร ซึ่งผมจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุม กอศ.ด้วย” นายอดิศร กล่าว

นายอดิศรกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อยากให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่ เห็นความสำคัญของครูอาชีวะเอกชน และช่วยผลักดันให้ครูอาชีวะเอกชนได้รับเงินเดือน 15,000 บาทด้วย เพราะตั้งแต่สถานศึกษาอาชีวะเอกชนย้ายมาสังกัด สอศ. 5 ปี แต่ครูอาชีวะเอกชนยังไม่ได้รับการสนับสนุน และผลักดันให้ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเลย ขณะที่ครูเอกชนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กลับได้รับการสนับสนุน และขึ้นเงินเดือนเป็น 15,000 บาท มา 3 ปีแล้ว


ที่มา: https://www.matichon.co.th/education/news_2638335

ในอนาคตผู้เรียนในระดับอุดมศึกษาจะลดลง แต่จะมีกลุ่มคนทำงาน และผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องมีภารกิจในการพัฒนาคนกลุ่มนี้ ด้วยการ Reskill Upskill รวมถึงการพัฒนา New Skill เพื่อการประกอบอาชีพ

แนวโน้มที่คาดการณ์กันว่า ในอนาคตมหาวิทยาลัยทุกแห่งจะประสบปัญหามีผู้เรียนลดจำนวนลง หลายแห่งจึงเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ด้วยการนำระบบการเรียนแบบออนไลน์มาช่วย เพิ่มความยืดหยุ่นในการเรียนการสอน เปิดสาขาวิชาทางเลือกเฉพาะกลุ่ม และหันไปสอนหลักสูตรระยะสั้นให้คนในวัยทำงาน หรือกระทั่งคนในวัยเกษียณมากขึ้น หรือเปิดโอกาสให้คนวัยทำงาน เข้ามาสังเกตการณ์การเรียนการสอนในบางวิชา

จากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในรอบปีที่ผ่านมา หลายมหาวิทยาลัยได้จำนวนผู้เรียนไม่เป็นไปตามเป้าในการรับนิสิตนักศึกษา จากเด็กที่เข้าเรียนในระบบมัธยมศึกษาจะสอบเข้าในระดับอุดมศึกษา มีจำนวนน้อยกว่าจำนวนที่มหาลัยเปิดรับ แต่ในทางกลับกัน ประชาชนทั่วไปหรือคนในวัยทำงาน รวมถึงคนที่เกษียณอายุไปสู่ผู้สูงอายุในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งคนกลุ่มวัยทำงานนี้ เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศรวมคือ การนำไปสู่การหาเลี้ยงชีพของตัวเอง เห็นภาพชัดขึ้น ในช่วงปี 63 ที่ผ่านมาที่เราเจอกับสถานการณ์ Covid-19 มีผลต่อการทำงาน ของคนในวัยทำงานเป็นอย่างมากบางบริษัท

ในอนาคตก็จะมีผู้เรียนในระดับอุดมศึกษาลดลงแต่จะมีกลุ่มคนทำงาน และผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น นอกจาการสร้างบัณฑิตแล้ว สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องมีภารกิจในการพัฒนาคนกลุ่มนี้ ด้วยการ Reskill Upskill รวมถึงการพัฒนา New Skill เพื่อการนำไปพัฒนางานเดิม ประกอบอาชีพ หรือเป้าสู่การเป็นผู้ประกอบการเอง

ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาคน ทุกช่วงวัย รวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต การสร้าง ออกแบบหลักสูตร Non Degree จะช่วยได้อีกทาง และหาก Non Degree ที่ได้เรียนนั้น สามารถนำไปสู่ Degree ได้ โดยมีระบบการเทียบโอน หรือ ระบบสะสมหน่วยกิต ที่เรียกว่าธนาคารหน่วยกิต (Credit bank) รวมถึงการเทียบโอนประสบการณ์ ก็จะเป็นการเปิดโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างแท้จริง  เป็นการเรียนการสอนแบบนอกเหนือจากภาคปกติ เรียนจบได้ใบประกาศนียบัตร

หลักสูตร Non Degree เพื่อการ Reskill Upskill ในการเรียนรู้ตลอดชีวิต นั้น ต้องเปิดโอกาสให้แก่คนทุกวัยทุกช่วงอายุ ไม่ว่าจะเป็นคนวัยทำงานหรือคนวัยเกษียณ คือ เรียนวิชาที่นำไปใช้งานได้จริง สำหรับประกอบอาชีพ ไม่ได้เน้นเชิงวิชาการหรือเชิงทฤษฎีเหมือนภาคปกติ เป็นวิชาสำหรับประกอบอาชีพเสริม เช่น การทำการเกษตรแนวใหม่ การเลี้ยงปลาสวยงามหรือปลาเศรษฐกิจ

การเรียนที่ออกแบบขึ้นนั้น จะศึกษาความต้องการของตลาด เราจะทำผลิตภัณฑ์อะไรที่ตอบโจทย์กับตลาด หลังจากนั้นก็เริ่มลงมือปฎิบัติจริง หรือเรียนรู้ในสถานประกอบการ เป้าหมายของการเรียน คือ คิดเป็น วางแผนเป็น และแก้ปัญหาเป็น สู่การเป็นผู้ประกอบการ สร้างรายได้ ได้อีกด้วย

วิทยาลัยบูรณาการศาสตร์ ม.เกษตร เปิด Non Degree รองรับคนทุกช่วงวัย หลายชุดวิชา อาทิ ชุดวิชาการสร้างความสุขของสังคมผู้สูงวัย เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยากทำธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งต้องมีจิตวิทยาในการดูแลผู้สูงอายุให้ผู้สูงอายุมีความสุข เพื่อตอบโจทย์สังคมสูงวัย อีกกลุ่มก็คือหลักสูตรการดูแลเด็กปฐมวัยช่วงก่อนเข้าโรงเรียน สำหรับโรงเรียนอนุบาลภาคเอกชนที่มักจะไม่ค่อยมีอาจารย์ที่จบทางด้านปฐมวัยหรือด้านศึกษาศาสตร์โดยตรง

“วิชาเหล่านี้สามารถนำไปสะสมเป็นปริญญาตรีอีก 1 ใบได้ หลักสูตร Non Degree เราให้หน่วยกิตไว้ประมาณ 20 หน่วย และเรามีโครงการธนาคารหน่วยกิต ซึ่งเมื่อคุณจบ 1 ชุดวิชา แล้วคุณก็จะเก็บหน่วยกิตได้ 20 หน่วย และเมื่อคุณเรียนเพิ่มอีก 1 ชุดวิชา ก็จะได้อีก 20 หน่วย โดยใครที่จบปริญญาตรีมาแล้วก็สามารถใช้เทียบเป็นอีก 1 ปริญญาได้เลย”


เขียนโดย ผศ.ดร.ธานินทร์ คงศิลา อาจารย์ภาควิชาส่งเสริม และนิเทศศาสตร์เกษตร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top