Saturday, 12 July 2025
Econbiz

“บิ๊กตู่” เตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยว Samui Plus Model เย็นนี้ ต่อยอดพื้นที่นำร่องจาก Phuket Sandbox 

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ช่วงเย็นวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดรับนักท่องเที่ยวภายใต้รูปแบบ Samui Plus Model (ผ่านระบบ Video Conference) ณ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี  โดยเป็นกิจกรรมการเปิดพื้นที่นำร่องเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า ภายใต้  Samui Plus Model  ซึ่งเป็นการขยายพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ได้รับวัคซีนแล้วเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยต่อยอดจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งได้เปิดโครงการไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา และจะขยายในพื้นที่อื่นที่มีศักยภาพด้วย  

“สำหรับการเปิด Samui Plus Model วันนี้ ช่วงเช้ามีพิธีต้อนรับ Experimental FAM Trip เที่ยวบินปฐมกฤษ์ PG 5125 BKK-USM ซึ่งเป็นตัวแทนเอเย่นต์และสื่อมวลชนต่างประเทศ  (ลอนดอน ปารีส แฟรงค์เฟิร์ต และฮ่องกง) ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเชิญมาในรูปแบบแฟมทริปด้วย และในช่วงเย็นเวลาประมาณ 19.00 น. ณ SEEN BEACH CLUB SAMUI อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายกรัฐมนตรี จะทำพิธีเปิด Samui Plus Model ผ่านระบบออนไลน์ พร้อมร่วมชมการแสดง 3D Mapping Performance ชุด Samui+ Top of Mind ซึ่งการเปิดกิจกรรมครั้งนี้จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของหมู่เกาะทะเลใต้ทั้งเกาะสมุย เกาะพงันและเกาะเต่า รวมถึงพื้นที่อื่นๆ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสาธารณสุขของนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ” นายอนุชากล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า Samui Plus Model และ Phuket Sandbox เป็นการเดินหน้าอย่างเป็นขั้นตอนตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศแนวทางเปิดประเทศไทยภายใน 120 วัน เพื่อฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายใต้การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเข็มงวดอีกด้วย ซึ่งตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาภูเก็ต ภายใต้โครงการ Phuket Sandbox ตั้งแต่วันที่1-14 ก.ค.นี้ รวมแล้ว 5,473 คน

รัฐบาลแจง อาชีพอิสระ สมัครประกันสังคม ม.40 เพื่อรับเยียวยา ตามมติ ครม. สร้างความมั่นคงระยะยาว ยืนยัน  ไม่ยุ่งยาก ไม่เป็นภาระ 

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า จาก กรณีที่มีมติครม.ให้มีมาตรการเยียวยาเร่งด่วนสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการ "ล็อกดาวน์" ในพื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัด ครอบคลุม 9 กลุ่มอาชีพ ซึ่งการเยียวยาในครั้งนี้ หากมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์แล้ว จะต้องเป็นผู้ประกันตนกองทุนประกันสังคมด้วย โดยผู้ประกันตนแต่ละมาตรา ไม่ว่าจะเป็น 33 , 39 และ40 จะได้รับการเยียวยาที่แตกต่างกันออกไปตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด และสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 จะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 1 เดือน

กรณีผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” ที่ไม่มีลูกจ้าง ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือฟรีแลนซ์ ที่ยังประกอบอาชีพอยู่ หากไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ยังคงมีสิทธิ์ได้รับการเยียวยา แต่จะต้องลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา40 เสียก่อน โดยเตรียมหลักฐานยื่นลงทะเบียนภายในเดือนนี้ (กรกฎาคม 2564) เพื่อรับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ซึ่งมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ไม่เป็นภาระ และยังถือว่าเป็นการสร้างความมั่นคงในชีวิตในระยะยาวอีกด้วย 

ทั้งนี้ผู้สมัครฯมี 3 ทางเลือกในการจ่ายเงินสมทบรายเดือนระยะยาว เพื่อรับการคุ้มครองที่ต่างกัน คือ ทางเลือกที่ 1 จ่าย 70 บาท ทางเลือกที่ 2 จ่าย 100 บาท ทางเลือกที่ 3 จ่าย 300 บาท มากไปกว่านั้น รัฐบาลได้ลดอัตราเงินสมทบประกันสังคมของผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้เหลือร้อยละ 60 ของเงินสมทบ (เดิม) เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ ส.ค. 64 – ม.ค. 65  ดังนี้

-ทางเลือกที่ 1 จากเดิมจ่ายในอัตรา 70 บาท/เดือน จ่ายอัตราใหม่ เป็น 42 บาท/เดือน คุ้มครองเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต

-ทางเลือกที่ 2 จากเดิมจ่ายในอัตรา 100 บาท/เดือน จ่ายอัตราใหม่เป็น 60 บาท/เดือน คุ้มครองเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ

-ทางเลือกที่ 3 จากจากเดิมจ่าย ในอัตรา 300 บาท/เดือน จ่ายอัตราใหม่เป็น 180 บาท/เดือน คุ้มครองเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ สงเคราะห์บุตร

สำหรับวิธีสมัคร สามารถทำได้ง่ายๆ ตามช่องทางดังนี้
- สมัครด้วยตนเอง ผ่านมือถือที่เว็บไซต์ www.sso.go.th (เมื่อกรอกข้อมูลครบ รอรับ SMS ยืนยัน)
- สมัครผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-11)
- สมัครผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
- สมัครผ่านเคาน์เตอร์บิ๊กซี (Big C)
- สมัครผ่านผู้แทนเครือข่ายประกันสังคม

น.ส.รัชดา กล่าวว่า เมื่อสมัครแล้วสามารถจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ม.40 ได้ทันที  ซึ่งนอกจะได้สิทธิ์ในการได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทสำหรับกลุ่มแรงงานอิสระที่เข้าข่ายใน 9 กลุ่มอาชีพ และอยู่ใน 10 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มแล้ว รัฐบาลหวังให้แรงงานและผู้ประกอบอาชีพอิสระเข้าสู่ระบบประกันสังคม ถือเป็นการออมในระยะยาวช่วยสร้างความมั่นคงในชีวิตด้วย ซึ่งสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศหรือสายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

“สุพัฒนพงษ์” ยันรัฐบาลพร้อมเยียวยาผู้รับผลกระทบทุกกลุ่ม

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนารีสตาร์ทเศรษฐกิจไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19 ว่า รัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ทุกวัน และเตรียมมาตรการไว้หลายชุดเพื่อใช้ช่วยเหลือเยียวยาหรือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม และพร้อมหยิบมาใช้ทันทีขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น การเยียวยารอบล่าสุดหลังจาก ศบค. ประกาศวันศุกร์ เพียงแค่วันจันทร์ก็มีมาตรการเยียวยาออกมาทันที จึงขอให้ประชาชนสบายใจได้ว่าเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้ดูแลและสั่งให้ติดตามเรื่องนี้ตลอดเวลา และหาทางหยุดวงจรการระบาดของโรคให้ได้

นายสุพัฒนพงษ์ ยังกล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจว่า แม้ในปัจจุบันประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากโควิดระบาด แต่เมื่อดูการลงทุนก็พบว่า มีแนวโน้มที่ดี เช่น คำขอรับการส่งเสริมลงทุนจากต่างประเทศ 6 เดือนในปีนี้ใกล้เคียงกับตัวเลขคำขอทั้งปีของปี 63 สะท้อนให้การย้ายฐานการลงทุน จนอาจได้เห็นตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นบวกได้อีกไม่นาน 

รวมทั้งในเร็ว ๆ นี้ จะเสนอครม.เห็นชอบการให้วีซ่าพิเศษกับคน 4 กลุ่ม คือ กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย กลุ่มเกษียณอายุจากต่างประเทศ กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ เข้ามาในไทยระยะยาวด้วย

ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยมาตรการเร่งด่วนพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นระยะเวลา 2 เดือน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ เห็นร่วมกันที่จะออกมาตรการเร่งด่วนด้วยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นระยะเวลา 2 เดือน ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งลูกหนี้ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการทั้งในพื้นที่ควบคุมฯ และนอกพื้นที่ควบคุมฯ ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป และเมื่อหมดระยะเวลาพักชำระหนี้แล้ว สถาบันการเงินจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ในทันที เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้

สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อม คือ ลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการได้ แต่รายได้ลดลงจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ สถาบันการเงินจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้ โดยการให้ความช่วยเหลือนี้ ลูกหนี้สามารถติดต่อกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อแสดงความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 หากลูกหนี้สามารถให้ข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนถึงผลกระทบของกิจการหรือการจ้างงาน จะทำให้การพิจารณาให้ความช่วยเหลือโดยเจ้าหนี้สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตามการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้มาตรการนี้ เป็นเพียงการเลื่อนการชำระออกไป ลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพและสามารถชำระหนี้ได้ จึงควรชำระหนี้ต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ภาระหนี้ในอนาคตเพิ่มขึ้นสูงเกินจำเป็น เช่นเดียวกับลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินอยู่ก่อนหน้า ที่ควรดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและยั่งยืนกว่า


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

'วีริศ' เผย 'นิคมฯ บางชัน' ผ่านการตรวจประเมินรับรองเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ Eco-Excellence ชี้พื้นที่สีเขียวรวมกันเกินร้อยละ 20 ของพื้นที่อุตสาหกรรม

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า นิคมอุตสาหกรรมบางชัน เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ได้ผ่านการตรวจประเมินรับรองจากคณะกรรมการตรวจประเมินเพื่อให้การรับรองการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ Eco-Excellence หรือนิคมอุตสาหกรรมที่สามารถพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนและคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมให้ยั่งยืน บนพื้นฐานความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดย กนอ. ได้แบ่งการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ Eco-Champion, ระดับ Eco-Excellence และระดับ Eco-World Class

โดยมีเป้าหมายระยะยาวในการยกระดับนิคมอุตสาหกรรม ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ.ทุกแห่งให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยปีนี้มีเป้าหมายยกระดับนิคมอุตสาหกรรมขึ้นสู่ระดับ Eco-Excellence จำนวน 3 แห่ง ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมบางชันเป็นหนึ่งในเป้าหมาย

ทั้งนี้ กนอ.ได้สร้างความตระหนักรู้ให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุดซึ่งเข้าใจว่าอาจมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังนั้น กนอ. กำลังเร่งหามาตรการจูงใจผู้ประกอบการว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง เพื่อไม่ใช่ขอความร่วมมือหรือความสมัครใจเพียงอย่างเดียวแต่จะทำให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมบางชันและโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม มีการจัดทำแนวป้องกันหรือพื้นที่แนวกันชนเชิงนิเวศ (Buffer Zone) หรือพื้นที่สีเขียวรวมกันมากกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่อุตสาหกรรม รวมทั้งดำเนินงานด้านการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน อาทิ จัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านการพัฒนาทักษะอาชีพให้ชุมชน ช่วยจัดหาช่องทางการจัดจำหน่าย จัดทำโครงการช่วยเหลืออุปกรณ์ประกอบการเลี้ยงเป็ด ไก่ และนำของเสียจากโรงงานผลิตอาหารมาปรับปรุงเพื่อสร้างมูลค่าเป็นอาหารสัตว์และลดมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ประชากรในชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม มีรายได้ต่อครัวเรือนสูงขึ้น

อีกทั้งมีการใช้วัตถุดิบ น้ำ พลังงาน และทรัพยากรอื่น ๆ ร่วมกัน (Symbiosis หรือ Circular economy) อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดการเกิดของเสีย และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้วย อีกทั้งโรงงานในนิคมฯ ยังมีการแลกเปลี่ยนหรือใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ หรือมีการแลกเปลี่ยนระหว่างโรงงานกับภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระบวนการกลั่นตัวทำละลายกลับมาใช้ใหม่ และกระบวนการแยกอะลูมิเนียมกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งลดค่าต้นทุนวัตถุดิบได้ประมาณ 5%

“กนอ.กำหนดวิสัยทัศน์การเป็นผู้นำการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมครบวงจรระดับภูมิภาค ด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน โดยใช้การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเป็นแนวทางหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมอย่างบูรณาการ ภายใต้กรอบ 5 มิติ คือ มิติกายภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติการบริหารจัดการ ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมด้วยความใส่ใจในผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเกิดเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมบนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวปิดท้าย


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

พาณิชย์ยังขอรอ สธ. เคาะชุดตรวจโควิด พร้อมหาช่องคุมราคา

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ ขอรอข้อมูลรายละเอียดชุดตรวจโควิด หรือ Rapid test หรือ Rapid Antigen test ทั้งหมดจาก อย.ว่าอนุญาตให้ผู้นำเข้ามาขึ้นทะเบียนกี่ราย ปริมาณเท่าได ราคาต้นทุนเท่าใด เพื่อพิจารณาว่าควรกำหนดราคาขายตามความเห็นของ อย.ในฐานะต้นเรื่องราคาเท่าไร ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถกำหนดเองได้เนื่องจากไม่มีพื้นฐานด้านเครื่องมือแพทย์ ดังนั้นเมื่อกระทรวงสาธารณสุขทำต้นเรื่องมาเสร็จแล้วทางกระทรวงพาณิชย์พร้อมดำเนินการต่อไป

สำหรับปัจจุบันชุดตรวจโควิด หรือ Rapid test หรือ Rapid Antigen test นั้น ถือเป็นเครื่องมือแพทย์ชนิดหนึ่งที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา( อย.) กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้และเบื้องต้นยังไม่ได้อนุญาตให้มีการขายในตลาดทั่วไปแต่ใช้ในเฉพาะในโรงพยาบาลสถานพยาบาลเท่าหรือคลีนิคเอกชนที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ส่วนการขายออนไลน์ ถือว่า ผิดกฎหมายเครื่องมือแพทย์ ทาง อย.จะเป็นผู้ดำเนินการเมื่อตรวจสอบพบ

ส่วนราคายาฟ้าทลายโจร ตอนนี้เป็นไปตามหลักกลไกตลาดพอมีความต้องการเยอะมากขึ้นราคาก็ขึ้น แต่รัฐบาลไม่ได้ละเลย สมุนไพรฟ้าทะลายโจรเป็นสินค้าเกษตรชนิดหนึ่ง เป็นพืชสมุนไพรผู้ปลูกที่ตรวจสอบทั้งหมดเป็นผู้ปลูกรายย่อยไม่ได้มีการขึ้นทะเบียน ส่วนปริมาณของวัตถุดิบการผลิตจึงไม่เสถียรขึ้นอยู่กับภาวะความต้องการของตลาดในแต่ละช่วง ด้านราคาก็เช่นเดียวกัน จะขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดแต่ละช่วง แต่เนื่องจากมีกรณีว่า ยาฟ้าทลายโจรสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับการรักษาโควิดได้

ขณะเดียวกัน อย.ก็ขึ้นเป็นบัญชียาหลัก โรงพยาบาลสามารถจ่ายให้กับผู้ป่วยและเบิกได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เช่นเดียวกับบัญชียาหลักอื่น ยาฟ้าทลายโจรจึงต้องขึ้นทะเบียนเป็นยาอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติยา ซึ่ง อย.กระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้โดยตรง

“บิ๊กตู่”Conference เปิดงาน  Samui Plus Model ยินดีชาวสมัย ที่ยังคงรักษาสถานะจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ประจำวันได้ หวังฟื้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและบริการให้กลับมาโดยเร็วที่สุด

พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดรับนักท่องเที่ยวภายใต้รูปแบบ Samui Plus Model ผ่านระบบ Video Conference โดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เป็นตัวแทนรัฐบาลอยู่ที่ริมชายหาดเฉวง เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมร่วมชมการแสดง 3D Mapping Performance ชุด Samui+ Top of Mind ซึ่งการเปิดกิจกรรมครั้งนี้จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของหมู่เกาะทะเลใต้ทั้งเกาะสมุย เกาะพงันและเกาะเต่า รวมถึงพื้นที่อื่นๆ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสาธารณสุขของนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ

นายพิพัฒน์ กล่าวรายงานว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พยายามขับเคลื่อนแนวทางการพลิกฟื้นเศรษฐกิจเพื่อพยุง ประคับประคอง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่ต้องเผชิญผลกระทบอันเลี่ยงไม่ได้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ขณะที่มาตรการความปลอดภัยทางสาธารณสุขก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ละเลยไม่ได้เช่นกัน ครม.เห็นชอบในหลักการแนวทางการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวนำร่องในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือ Samui Plus Model เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 โดยรูปแบบของ Samui Model Plus จะเป็นการเปิดพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นหมู่เกาะ สะดวกต่อการจำกัดพื้นที่ท่องเที่ยวและควบคุมการเข้า-ออก รวมทั้งสามารถจัดการเดินทางท่องเที่ยวได้แบบมีเงื่อนไข ในเส้นทางหรือพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น (Sealed route)

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีความมั่นใจในการบริหารจัดการของจังหวัดในแนวปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสาธารณสุข ประกอบกับมาตรการที่เข้มแข็งของภาคธุรกิจ บริการต่างๆ ภายในจังหวัด ที่มีความชัดเจน และสามารถเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี โดยจะนำมาซึ่งการปรับตัวให้เข้ากับการท่องเที่ยววิถีใหม่ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ 

“ยังเชื่อมั่นว่า การผลักดันทั้ง 3 เกาะ คือ เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่าโดยจังหวัดสุราษฎร์ธานี และภาคธุรกิจเอกชน จะยกระดับภาพลักษณ์ สร้างการรับรู้ของเกาะและความสอดรับกับทิศทางของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่จะส่งเสริมการตลาดต้นทาง จากตลาดที่ได้รับวัคซีนแล้ว เพื่อความปลอดภัยและอุ่นใจของคนในพื้นที่”

รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า สำหรับวันแรกของการเปิด Samui Plus Model มีผู้เดินทางที่เป็นตัวแทนเอเย่นต์และสื่อมวลชนต่างประเทศ จากลอนดอน ปารีส แฟรงค์เฟิร์ต และฮ่องกง ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเชิญมา ในรูปแบบแฟมทริป (Experimental FAM Trip) ซึ่งความสำเร็จนี้ ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรสายการบินบางกอกแอร์เวยส์ ที่สนับสนุนในการรับผู้โดยสารต่อเครื่องจากต่างประเทศเป็นการเฉพาะ (Dedicated Domestic Flight) เพิ่มโอกาสจากประเทศที่ไม่มีเที่ยวบินตรงเข้าสมุย ให้ได้มาสัมผัสประสบการณ์และมุมมองที่อาจแตกต่างไปจากเดิม แต่ยังคงมีความน่าสนใจในสายตานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและสุดท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ให้เกียรติในพิธีเปิด Samui Grand Opening ค่ำคืนนี้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การเปิดรับนักท่องเที่ยวภายใต้รูปแบบ Samui Plus Model ถือเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบแล้วมาท่องเที่ยวในไทย โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวของหมู่เกาะทะเลใต้ ทั้งเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า และพื้นที่อื่นๆที่กำหนด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสาธารณสุขของนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก ขอชื่นชมชาว จ.สุราษฎธานีที่รักษาสถานะจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้เป็นอย่างดี สะท้อนถึงการบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่เป็นไปตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ทั้งมาตรการเฝ้าระวังพื้นที่ มาตรการป้องกันควบคุมโรค มาตรการป้องกันส่วนบุคคล มาตรการด้านสังคมและการกำกับติดตาม รวมทั้งระบบการรายงาน การส่งต่อ และการรักษาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

 นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อย่างไรก็ตามสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สิ่งสำคัญคือการสื่อสารให้นักท่องเที่ยวเข้าใจถึงเงื่อนไขการท่องเที่ยวในเกาะสมุย เนื่องจากมีหลายประเด็นที่แตกต่างจากการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อก เช่น การกำหนดให้นักท่องเที่ยวอยู่ในที่พักช่วง 3 วันแรกภายใต้การดูแลร่วมกับโรงพยาบาลในพื้นที่ การสร้างความเข้าใจเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของบุคลากรที่เป็นพนักงานบริการ ด่านหน้า ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจคลายความกังวลต่อนักท่องเที่ยว ตลอดจนการสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยที่จะมาประเทศไทย ด้วยการส่งเสริมประชาสัมพันธ์เครื่องหมาย SHA Plus เพื่อการันตีความสะอาดปลอดภัยให้ผู้ประกอบการแหล่งท่องเที่ยว ตนเชื่อมั่นว่าประชาชน ผู้ประกอบการชาวเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จะสามารถผ่านสถานการณ์ความท้าทายนี้ไปได้ด้วยกัน ด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเทของเจ้าหน้าที่ทุกท่านทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชนในพื้นที่ที่เป็นส่วนสำคัญในการสื่อสารสร้างความเข้าใจ เน้นย้ำความพร้อมในพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นและเดินทางมาท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น เพื่อจะฟื้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและบริการของไทยให้กลับมาโดยเร็วที่สุด คืนรอยยิ้ม คืนความสุขกลับสู่คนไทยอีกครั้ง

รมว.เฮ้ง รับลูกนายก ลงพื้นที่ซาวด์เสียงเอกชน เดินมาตรการเยียวยาแรงงาน ตอบโจทย์ธุรกิจ 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ค.64 ได้ออกมาตรการช่วยเหลือแรงงานในระบบประกันสังคม และนอกระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการและมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด -19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้ง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเวลา 1 เดือนนั้น โดยประเภทกิจการที่ให้ความช่วยเหลือ จากเดิม 4 สาขา เพิ่มเติมเป็น 9 สาขานั้น ในเรื่องนี้ ท่านนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีความห่วงใยภาคแรงงานทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงได้สั่งการให้ผมลงพื้นที่รับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการและภาคเอกชน เพื่อเร่งขับเคลื่อนมาตรการโดยเร็ว ทั้งนี้ ผมได้กำชับให้สำนักงานประกันสังคมเร่งประชุมหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ความชัดเจนกำหนดรายละเอียด เงื่อนไขหลักเกณฑ์ให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในสัปดาห์หน้าให้ความเห็นชอบ เพื่อดำเนินการต่อไปได้ 

ขณะที่ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย 
(อีคอนไทย) กล่าวว่า โดยภาพรวมเห็นด้วยกับรูปแบบมาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด เป็นการจ่ายเงินเติมเพิ่มให้ผู้ประกอบการและแรงงานทั้งในและนอกระบบประกันสังคม วงเงิน 30,000 ล้านบาท แม้ยังไม่กำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจน แต่การช่วยเหลือในภาพรวมรอบนี้ถือว่าดี เพราะเป็นการช่วยเหลือทั้งลูกจ้างและนายจ้างในระบบและนอกระบบ 

ด้าน นายเกรียงไกร แก้วเกตุ ประธานสมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันสมาพันธ์มีสมาชิกกว่า 2,000 คน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ช่วงโควิดได้รับผลกระทบโดยตรง 
ทำให้รายได้ลดลง ดีใจมากที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือเยียวยา เห็นความสำคัญของพี่น้องแรงงาน โดยเฉพาะคนขับแท็กซี่ที่ต้องหาเช้ากินค่ำ เงินเยียวยาส่วนนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ สิ่งที่อยากให้ช่วยเหลือตอนนี้ ทำอย่างไรให้คนขับแท็กซี่มีสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองมากขึ้น เพราะส่วนใหญ่อายุประมาณ 65 ปี จึงต้องการหลักประกันความมั่นคงในชีวิตให้การเข้าถึงสวัสดิการจากรัฐในด้านสวัสดิการต่าง ๆ 

ส่วน นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ช่วงโควิดระบาดทำให้ผู้ได้รับผลกระทบไม่มีรายได้ แต่กระทรวงแรงงานทำให้ภาคธุรกิจมีกำลังใจขึ้น มีรายได้ ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ลูกจ้างนายจ้างกลับมามีความสุข เห็นคุณค่าของการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างร่วมไม้ร่วมมือกันสนับสนุนความช่วยเหลือในทุก ๆ ด้าน ในช่วงสถานการณ์โควิดเช่นนี้ โดยเฉพาะกรณีการปิดแคมป์คนงานเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้คนงานได้มีอาหารดี ๆ รับประทาน เราก็ได้เห็นมาตรการช่วยเหลือเยียวยาที่ออกมาอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงนี้ จึงต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยเป็นกำลังใจให้ข้าราชการ และคนทำงานทุกๆ คนที่ออกมาช่วยกัน เพื่อให้ทุกคนก้าวข้ามสถานการณ์ในครั้งนี้ไปด้วยกัน

นายกฯ สั่ง เร่งช่วยลูกหนี้พื้นที่ล็อกดาวน์ ให้ คลัง ถก แบงค์ชาติ หามาตรการผ่อนปรนด่วน

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการในที่ประชุม ครม. เมื่อ 13 ก.ค. 64 ให้รีบหารือกันโดยเร่งด่วน เพื่อหามาตรการผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย หรือการเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้า ทั้งที่เป็นประชาชนและผู้ประกอบการอย่างจริงจัง รวมถึงช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ 

นายธนกร กล่าวว่า ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ จึงร่วมกันออกออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 เดือน ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทั่วประเทศ ซึ่งได้แก่ ลูกหนี้ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัด และนอกพื้นที่ควบคุมแต่ต้องปิดกิจการจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 หรือเดือนสิงหาคมเป็นต้นไปแล้วแต่กรณี

นายธนกร กล่าวว่า สำหรับลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการได้แต่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อหมดระยะเวลาพักชำระหนี้แล้ว สถาบันการเงินจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ในทันที เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้ โดยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้มาตรการนี้ เป็นเพียงการเลื่อนการชำระออกไป ลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพและสามารถชำระหนี้ได้ ควรชำระหนี้ต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนี้ในอนาคตเพิ่มขึ้นสูงเกินจำเป็น 

นายธนกร กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือทั้งประชาชนและผู้ประกอบการหลายๆ มาตรการ โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เช่น สินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย ให้ผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและ Supply Chain สามารถกู้เงินกับธนาคารออมสิน วงเงินต่อรายอยู่ที่ 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ซึ่งตอนนี้ อนุมัติเงินกู้ไปแล้ว จำนวน 2,885 ราย วงเงินรวม 1,218 ล้านบาท

นายธนกร กล่าวว่า สินเชื่ออิ่มใจ ธนาคารออมสินให้กู้กับผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม วงเงินต่อราย อยู่ที่ 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก และสินเชื่อสำหรับ SMEs ขนาดย่อมและขนาดกลาง  ได้แก่ สินเชื่อ Extra cash โดย SME Bank ให้กู้กับ SMEs ขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น วงเงินรายละ 3 ล้านบาท ปัจจุบันอนุมัติแล้ว 4,283 ราย วงเงินรวม 7,335 ล้านบาท และสินเชื่อมีที่มีเงิน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการทั่วไป ได้แก่ มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู

สินมั่นคง หักดับ ยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด หลังเห็นยอดติดเชื้อพุ่งติดหลักหมื่นคนต่อวัน อ้างเป็นการบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ จึงใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ฯ แบบ เจอ จ่าย จบ

วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือแจ้งยกเลิกให้ความคุ้มครองประกันภัยโควิด แบบเจอ จ่าย จบ โดยในเอกสารระบุว่า

ด้วยผลสืบเนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อันเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง จึงนับเป็นภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุขในระดับที่ท้าทายจนไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์จะพัฒนาไปสู่จุดใด ส่งผลให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ต้องบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ

บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) จึงมีความจำเป็นต้องใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโคโรนาแบบ เจอ จ่าย จบ หรือ COVID 2 in 1 ตามแบบและข้อความ หมวดที่ 2 เงื่อนไขทั่วไป และข้อกำหนด ข้อ 2.4.3 และข้อ 2.5.1 โดยให้กรมธรรม์ประกันภัยข้างต้นสิ้นสุดความคุ้มครองทั้งฉบับ เมื่อล่วงพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ผู้เอาประกันได้รับหนังสือเป็นต้นไป และบริษัทฯ จะคืนค่าเบี้ยประกันภัยที่ได้รับมาแล้วแก่ผู้เอาประกันให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่กรมธรรม์ประกันภัยสิ้นผลบังคับ โดยหักเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ได้ใช้บังคับมาแล้วออกตามส่วน

การตัดสินใจดังกล่าว บริษัทฯ ได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบและเฝ้าติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยความห่วงใยมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทบทวนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการดำเนินธุรกิจ และการกำหนดทางเลือกและแนวทางที่จะช่วยให้บริษัทฯ สามารถบริหารทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อให้ความคุ้มครองและดูแลลูกค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการทั้งหมดของบริษัทฯ อันได้แก่ ประกันภัยรถยนต์ ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุและการเดินทาง และประกันภัยอื่น ๆ ได้อย่างดีที่สุดและยั่งยืนในระยะยาว

สินมั่นคงประกันภัย ขออภัยลูกค้าเป็นอย่างสูงที่ได้แจ้งยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ บริษัทประกันวินาศภัยหลายแห่ง ได้ทยอยเลิกขายประกันภัยโควิดแบบ เจอ จ่าย จบ แล้ว เนื่องจากสถานการณ์ระบาดรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่พบว่า มีบริษัทใดที่ทำการบอกเลิกกรมธรรม์ มีเพียงสินมั่นคงประกันภัย เท่านั้นที่ถอดใจก่อน

ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พบว่า ประกันภัยโควิด (ณ 15 มิ.ย. 2564) มีเบี้ยประกันรวม 9,070 ล้านบาท คิดจำนวนกรมธรรม์ทั้งหมด 26.41 ล้านกรมธรรม์ ยอดจ่ายเคลมประกันรวมกว่า 1,697 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2,095% จากสิ้นปี 2563 ที่มียอดเคลมเพียง 77.3 ล้านบาท โดยเฉพาะหลังจากช่วงระบาดโควิดระลอก 3 ยอดจ่ายเคลมเพิ่มขึ้นกว่า 770.26% จากสิ้นเดือน เม.ย. 2564 ที่มียอดเคลมเพียง 195 ล้านบาท โดยตัวเลขยอดเคลมสูงสุดเข้ามาในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2564


ที่มา : https://www.prachachat.net/finance/news-700771


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top