Thursday, 10 July 2025
Econbiz

เปิดผลกระทบโควิดทำแรงงานท่องเที่ยวตกงาน 2 ล้านคน

น.ส.ผกากรอง เทพรักษ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ทำให้ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีการเปิดบริการปกติเพียง 50% เท่านั้น โดยมีปิดกิจการชั่วคราว 35% เพิ่มขึ้นจากการระบาดในระลอกก่อน 22% และในจำนวนนี้มีกลุ่มที่ปิดกิจการถาวรถึง 4% เพิ่มขึ้นจากการระบาดในระลอกก่อน 1% โดยกิจการที่ปิดกิจการถาวรมากที่สุด คือ ร้านขายของที่ระลึก รองลงมาคือ สปา นวดแผนไทย, สถานบันเทิง และโรงแรม 

ทั้งนี้จากการสำรวจสถานภาพการประกอบกิจการ พบว่า ในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ แม้ว่าในภาพรวมธุรกิจต่าง ๆ จะเปิดบริการได้ 50% โดยเฉพาะบริการขนส่ง ซึ่งมีการเปิดบริการมากถึง 85% แต่ก็ไม่มีคนเข้าไปใช้ หรือเข้าไปใช้น้อยมาก ขณะที่การปิดกิจการชั่วคราวนั้น จากการสำรวจพบว่าธุรกิจประเภทต่าง ๆ มีสัดส่วนการปิดกิจการชั่วคราวเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ด้านสถานบันเทิงในช่วงของการสำรวจเป็นช่วงที่มีการปิดกิจการชั่วคราวค่อนข้างมาก โดยมีการเปิดบริการปกติเพียงแค่ 3% เท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงบางส่วนหันไปทำอาชีพอย่างอื่นแทน 

ส่วนรายได้ของธุรกิจนั้น พบว่ากว่า 75% มีรายได้ไม่เกิน 10% อีกทั้งสถานประกอบการ 68% มีจำนวนพนักงานเหลืออยู่ไม่ถึงครึ่ง ส่วนเงินเดือนและการจ่ายค่าจ้างปรับลดลงเหลือ 65% จากไตรมาสก่อนที่ได้ 70% โดย 60% ของสถานประกอบการท่องเที่ยวที่ยังเปิดอยู่จ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่พนักงานไม่เกิน 50% จากที่เคยจ่าย ซึ่งสถานประกอบการที่ยังเปิดบริการในไตรมาสนี้ 74% มีทุนสำรองให้ใช้ได้อีกไม่เกิน 6 เดือน สะท้อนให้ในเห็นว่า หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น คาดว่าอีก 6 เดือนข้างหน้า จะมีสถานประกอบการเหลือรอดอยู่เพียงประมาณ 13% ของทั้งประเทศเท่านั้น

“หากดูภาวการณ์จ้างงานโดยเฉลี่ยของไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ก็ปรับลดลงโดยจำนวนพนักงานลดลงจาก 52% เหลือ 51% หมายความว่า ในระบบแรงงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งมีแรงงานอยู่ 4.2 ล้านคน ตอนนี้ถูกให้ออกจากงานไป 49% หรือประมาณ 2 ล้านคนแล้ว ส่วนการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวไตรมาสที่ 2 ปี 64 อยู่ที่ระดับ 11 ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากที่สุด และต่ำกว่าไตรมาสที่ผ่านมาในระดับมาก แต่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับ 33 ในไตรมาสที่ 3” 

ครม.ไฟเขียวขยายเวลาสินเชื่อช่วยเอสเอ็มอีถึงสิ้นปี

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบทบทวนมติครม. เพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยขยายระยะเวลาการดำเนินการโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอกบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ปรับปรุงการดำเนินโครงการซอฟต์โลน ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย และโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเอสเอ็มอี  มีที่มีเงินสำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว ทั้งนี้แยกเป็น

1.โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด -19 โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยจะขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อจากเดิมวันที่ 30 มิ.ย. 64 ออกไปเป็นวันที่ 30 ธ.ค. 64

2. ปรับปรุงโครงการซอฟต์โลน ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย โดยธนาคารออมสิน ทั้งขยายระยะเวลากู้ จากเดิมไม่เกิน 5 ปี เป็นไม่เกิน 7 ปี ขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้น จากเดิมสูงสุดไม่เกิน 1 ปี เป็นสูงสุดไม่เกิน 2 ปี และขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อจากเดิมวันที่ 30 มิ.ย.  64 ออกไปเป็นวันที่ 30 ธ.ค. 64

3. ปรับปรุงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเอสเอ็มอี สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว โดยธนาคารออมสิน ทั้งขยายกลุ่มเป้าหมายโครงการฯ ครอบคลุมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการโควิด ระลอกใหม่ เช่น ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจการเดินทางและขนส่ง ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจสปาและนวดแผนไทย ธุรกิจการเดินทางและขนส่ง ธุรกิจโรงเรียนเอกชน หรือผู้ประกอบการในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด ตามที่ธนาคารออมสินเห็นสมควร 

พร้อมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์วงเงินสินเชื่อต่อรายกรณีผู้กู้เป็นนิติบุคคล จากเดิมพิจารณารายได้รวมของงบการเงินปีล่าสุด (รอบบัญชีปี 62) เป็นพิจารณารายได้รวมของงบการเงินปีล่าสุด (รอบบัญชีปี 62 หรือปี 63 แล้วแต่กรณีใดสูงกว่า) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของเอสเอ็มอี 

พร้อมปรับปรุงการพิจารณาหลักประกันการกู้เงินจากเดิมไม่รับหลักประกันที่ไม่มีสภาพคล่อง เช่น ที่ดินที่ไม่มีทางเข้า-ออก ที่ดินที่มีบ่อน้ำ หรือถูกขุดหน้าดิน ที่ดินใต้แนวเสาไฟฟ้าแรงสูง ที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวน เป็นต้น เป็นไม่รับหลักประกันที่ไม่มีสภาพคล่องตามที่ธนาคารออกสินกำหนด เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี และขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อจากเดิมวันที่ 30 มิ.ย.64 ออกไปเป็นวันที่ 30 ธ.ค. 64

“กห.จับมือ กษ.” ช่วยเกษตรกรรับซื้อและกระจายสินค้าการเกษตร 42 พื้นที่ทั่วประเทศ 

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม (กห.) และ นาย ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)ได้เป็นผู้แทนระหว่างกระทรวง กห.และ กษ. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรและการสนับสนุนพื้นที่จำหน่ายและกระจายผลผลิตทางการเกษตร

บันทึกข้อตกลงดังกล่าว เป็นการยืนยันความร่วมมือของทั้งสองกระทรวงในการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรและสนับสนุนพื้นที่จำหน่ายและกระจายผลผลิตการเกษตร เช่น ผลผลิตทางปศุสัตว์ การประมง ผักผลไม้ตามฤดูกาล ผลิตภัณฑ์นม ไข่ สินค้าเกษตรอินทรีย์ และผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญอื่น ๆ เป็นต้น 

โดย กระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการจัดการผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นไปตามกลไกลทางการตลาดเป็นลำดับแรก เมื่อผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาดและมีราคาตกต่ำ กระทรวงกลาโหมโดยทุกเหล่าทัพพร้อมให้การสนับสนุนการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรกระจายให้กับหน่วยทหารทั่วประเทศ รวมทั้งสนับสนุนพื้นที่จำหน่าย กระจายสินค้าการเกษตรให้กับประชาชนในชุมชนต่าง ๆ รอบหน่วยทหารทุกเหล่าทัพ จำนวน 42 พื้นที่ 26 จว.ทั่วประเทศ  โดยในขั้นต้นจะเร่งดำเนินการในพื้นที่นำร่องกระจายผลผลิตทางการเกษตรใน 6 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, นครสวรรค์, สุราษฎร์ธานี, กระบี่ และสงขลา

โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากระทรวงกลาโหม โดยทุกเหล่าทัพได้สนับสนุน กระทรวงเกษตรฯ รับซื้อสินค้าการเกษตรและสนับสนุนพื้นที่จำหน่ายและกระจายผลผลิตการเกษตร ช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่องที่ผ่านมา ทั้งนี้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว จะสามารถสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตร ลดค่าขนส่งและกระจายสินค้าการเกษตรได้เร็วขึ้น ในราคาที่เป็นธรรมกับทั้งเกษตรกรและประชาชน เพื่อบรรเทาผลกระทบ กรณีผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาด และมีราคาตกต่ำ อันเนื่องมาจากสถานการณ์ต่างๆตามนโยบายของรัฐบาลที่เป็นรูปธรรม
 

กรมประมง เร่งออก Seabook แรงงานต่างด้าว 

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ประชุมครม. ได้มีมติเห็นชอบตามแนวทางการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว โดยให้กรมประมงใช้อำนาจตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต่ออายุหนังสือคนประจำเรือ (Seabook เล่มเหลือง) ให้กับแรงงานต่างด้าวที่ได้รับหนังสือคนประจำเรือ ตามมติครม. เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 ออกไปอีก 1 ปี นับแต่วันที่หนังสือคนประจำเรือเดิมสิ้นอายุ 

ทั้งนี้ ล่าสุดนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมประมงดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน โดยในวันที่ 1 กรกฎาคม นี้ กรมประมงจะได้จัดประชุมร่วมกับสำนักงานประมงจังหวัดชายทะเล สมาคมการประมงชายทะเลในพื้นที่ทั้ง 22 จังหวัด และสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เพื่อเร่งดำเนินการต่ออายุหนังสือคนประจำเรือให้เสร็จสิ้นต่อไป

สำหรับแรงงานต่างด้าวที่จะขอต่ออายุหนังสือคนประจำเรือ (Seabook เล่มเหลือง) จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้ 

1.) ต้องเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับหนังสือคนประจำเรือตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2563  

2.) เจ้าของเรือได้จัดทำหนังสือสัญญาจ้างตามแบบที่กำหนดในประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการฯ ได้ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของสัญญาจ้างและลงลายมือชื่อกำกับไว้ 

3.) คนต่างด้าวต้องมีใบรับรองการตรวจสุขภาพซึ่งครอบคลุมถึงการตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการประกันสุขภาพมีอายุคุ้มครองอย่างน้อยหนึ่งปี ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว 

4.) คนต่างด้าวจะต้องยื่นคำขอจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด หรือสถานที่อื่นที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกำหนด ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับใบรับคำขอต่ออายุหนังสือคนประจำเรือจากกรมประมง 

"บิ๊กตู่" เตรียมลงพื้นที่ภูเก็ต 1 ก.ค. นี้ นำร่องเปิดประเทศ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” คาดการณ์รับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 100,000 คน ในไตรมาส 3 นี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐ เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีกำหนดลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดภูเก็ต ตรวจเยี่ยมระบบการคัดกรองผู้เดินทางเข้าออกจังหวัดภูเก็ตทางบก ทั้งยานพาหนะ บุคคล และเอกสารต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดเศรษฐกิจท่องเที่ยวตามโครงการ Phuket Sandbox จังหวัดภูเก็ต ณ ด่านตรวจภูเก็ต จากนั้น จะเป็นประธานประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินการมาตรการต่าง ๆ ภายใต้โครงการ Phuket Sandbox ร่วมกับส่วนราชการ และภาคเอกชน ณ โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ อำเภอเมืองภูเก็ต และเปิดโครงการ “ฮักไทย ฮักภูเก็ต” (HUG THAIS HUG PHUKET) ภายใต้โครงการ “ฮักไทย” ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ภูเก็ต อำเภอเมืองภูเก็ต และตรวจเยี่ยมความพร้อมการอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว  ณ อุทยานแห่งชาติสิรินาถ โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะตรวจเยี่ยมการคัดกรองผู้เดินทางเข้าออกจังหวัดภูเก็ตทางอากาศ และให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศตามโครงการ Phuket Sandbox ที่สนามบินนานาชาติภูเก็ตด้วยก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานครในเย็นวันเดียวกัน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ช่วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ให้สามารถกลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว เพิ่มโอกาสการจ้างงาน ต่อยอดสินค้าบริการ ในธุรกิจกิจการท่องเที่ยวในระดับต่าง ๆ รวมถึงการลงทุนด้วย ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่ไปกับ New Normal หรือการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย เพื่อให้การท่องเที่ยวของไทยกลับมาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไป รัฐบาลโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประมาณการณ์นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ภายใต้โครงการ Phuket Sandbox จำนวน 100,000 คน ในไตรมาส 3 (เดือน ก.ค. - ก.ย. 64) ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้อยู่ที่ 8.9 พันล้านบาท    

ทั้งนี้ ตลอดเดือนกรกฎาคม 2564 มียอดจอง Booking ของผู้โดยสารที่จะเข้ามา Phuket Sandbox ประมาณ 11,894 คน ข้อมูลจาก 6 สายการบิน แบ่งเป็นผู้โดยสารขาเข้าประมาณ 8,281 คน ขาออก 3,613 คน คาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินทั้งหมดประมาณ 426 เที่ยวบิน เฉลี่ยที่ประมาณ 13 เที่ยวบิน/วัน 

อย่างไรก็ตาม ศบค. ได้กำหนดแผนการชะลอหรือยกเลิกโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ กรณีสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง หากมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 90 ราย/สัปดาห์ ในลักษณะการกระจายโรคในจังหวัดทั้ง 3 อำเภอ และมากกว่า 6 ตำบล ที่มีการระบาดเกิน 3 คลัสเตอร์ หรือมีการระบาดในวงกว้างที่หาสาเหตุหรือความเชื่อมโยงไม่ได้ รวมทั้งความพร้อมในการรองรับผู้ป่วย กรณีมีผู้ติดเชื้อครองเตียงโรงพยาบาล ตั้งแต่ 80% ของศักยภาพของจังหวัดที่มีการพบการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์แบบวงกว้าง แบบควบคุมไม่ได้ ด้วย

อนึ่ง จังหวัดภูเก็ตได้ออกกำหนดมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รองรับการเปิดเมือง Phuket Sandbox ดังต่อไปนี้

1.) การเดินทางเข้าภูเก็ตจากต่างประเทศ ดังนี้ เดินทางจากประเทศที่กำหนด โดยพำนักในประเทศที่กำหนดอย่างน้อย 21 วัน มีหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (COE) ได้รับวัคซีนครบโดส อย่างน้อย 14 วัน กรณีเด็กอายุน้อยกว่า 6 ขวบ สามารถเดินทางได้โดยไม่ต้องมีใบรับรองว่าไม่มีเชื้อโควิด-19 ในระยะเวลา 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง มีกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งรวมถึงกรณีโรคโควิด-19 ในวงเงินไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ผ่านการตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PRC ใน 3 ระยะเวลาดังต่อไปนี้ ครั้งที่ 1 ณ วันที่เดินทางถึงภูเก็ต (วันที่ 0) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 6-7 และครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 12-13 หลังจากเข้าพักในโรงแรมที่ได้รับมาตรฐาน SHA+ (SHA Plus) ในจังหวัดภูเก็ตเป็นระยะเวลา 14 คืน จึงสามารถเดินทางออกไปจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศไทยได้ ติดตั้งแอปพลิเคชัน Thailand Plus และ Tracing Application : Morchana เมื่อเดินทางออกจากภูเก็ตเมื่อครบ 14 วัน โดยต้องมีหลักฐานยืนยันการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่แสดงว่าตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 ตลอดระยะเวลา 14 คืนที่พำนักอยู่ในจังหวัดภูเก็ต

2.) การเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตจากภายในประเทศ ดังนี้

(1) ต้องเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบ 2 เข็ม หรือครบโดสตามจำนวนวัคซีนแต่ละชนิด หรือได้รับวัคซีนชนิด AstraZeneca จำนวน 1 เข็ม มาแล้วเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน หรือผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการ RT-PCR หรือวิธีการ Antigen Test ผลเป็นลบอายุไม่เกิน 7 วันก่อนการเดินทางหากเป็นผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 และได้รับการรักษาหายมาแล้วไม่เกิน 90 วัน และต้องมีหนังสือรับรองการได้รับการรักษา (ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อ 1-2)  ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ภายในจังหวัดภูเก็ตและไม่จำเป็นต้องอยู่ภูเก็ตถึง 14 วัน 

ธปท. ชี้ โควิดระลอกสาม พาแรงงานตกงาน แถมทักษะหาย

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทย ในเดือนพ.ค. ได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ระลอก 3 จนทำให้เครื่องชี้การบริโภคลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนในทุกหมวดการใช้จ่าย กิจกรรมทางเศรษฐกิจ รายได้ของภาคครัวเรือน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลง แม้มาตรการภาครัฐจะช่วยพยุงกำลังซื้อภาคครัวเรือนได้บางส่วน 

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่ ส่วนมาตรการควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด (สีแดงเข้ม) ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาครตั้งแต่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ยอมรับว่ามาตรการเหล่านี้มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่ง  ธปท. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและประเมินผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจอีกครั้ง

ทั้งนี้ ธปท. ยอมรับว่า ยังมีความกังวลสถานการณ์การระบาดของโควิดจะยืดเยื้อ เป็นปัจจัยกดดันสำคัญต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคแรงงาน มีอัตราการว่างงานนานกว่าที่คาด และอาจจะกลายเป็นแผลเป็นที่แก้ได้ยากขึ้นในอนาคต เนื่องจากแรงงานบางส่วนที่ไม่ได้ทำงานเป็นระยะเวลานานอาจจะสูญเสียทักษะไปเพราะฉะนั้นเมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นก็ต้องเร่งฟื้นฟูทักษะให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยว

รอเลยพรุ่งนี้เงินเข้าแล้ว “คนละครึ่ง” 1,500 บาท

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ซึ่งจะเริ่มโอนเงินให้ในวันที่ 1 ก.ค. นี้ ว่า กระทรวงการคลังพร้อมโอนเงินโครงการคนละครึ่ง เข้าแอปพลิเคชันเป๋าตัง ให้ผู้มีสิทธิ 25.5 ล้านคน ได้เริ่มใช้วันแรก 1 ก.ค. นี้ เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ในการโอนเงินลงไปให้นั้น ในรอบแรกจะโอนก่อน 1,500 บาท เพื่อใช้จ่ายระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย. 64 และรอบที่ 2 โอนวันที่ 1 ต.ค. อีก 1,500 บาท เพื่อใช้เดือน ต.ค.-ธ.ค. 64

ส่วนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้จะเริ่มใช้จ่ายได้ 1 ก.ค. นี้ เช่นกัน โดยมีผู้ผ่านสิทธิแล้ว 4.2 แสนคน และคลังยังได้ปรับเงื่อนไขให้สามารถใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 10,000 บาท ซึ่งจะเสนอ ครม. เพื่อให้เริ่มทันวันที่ 15 ก.ค. นี้ เพื่อจูงใจให้คนเข้ามาร่วมโครงการมากขึ้น

ทั้งนี้ คลังขอย้ำว่าสำหรับประชาชนที่ได้รับเอสเอ็มเอส ระบุข้อความลงทะเบียนสำเร็จ โปรดใช้สิทธิผ่านแอปเป๋าตัง เริ่มวันที่ 1 ก.ค. 64 หากเข้าแอปพลิเคชันเป๋าตัง แล้วขึ้นข้อความว่าไม่พบข้อมูลการลงทะเบียน หรือระบบกำลังดำเนินการตรวจสอบ ขอให้อัปเดตแอปพลิเคชันเป๋าตัง เป็นเวอร์ชันล่าสุดก่อนเข้าใช้งาน เมื่ออัปเดตแอปพลิเคชันเป๋าตังเป็นเวอร์ชั่นปัจจุบันแล้ว จะได้รับข้อความ โครงการคนละครึ่ง สามารถใช้ได้ 1 ก.ค. 64


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

บอร์ดสับปะรดไฟเขียวแผนดันส่งออก สร้างมูลค่าเพิ่ม

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ เห็นชอบแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมสับปะรด โดยให้กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เร่งรัดการปรับปรุงบันทึกข้อตกลงด้านการจ้างงานแรงงานระยะสั้นในภาคการเกษตรกับประเทศ ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม และนำกลับมารายงานให้ที่ประชุมทราบ

ทั้งนี้ยังเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านสับปะรด พ.ศ. 2563-2565 ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพและบริหารจัดการผลิต เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมแปรรูป เพิ่มศักยภาพการส่งออก โดยที่ประชุมเน้นย้ำถึงการใช้นโยบายเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ/Bio เศรษฐกิจหมุนเวียน/Circular และเศรษฐกิจสีเขียว/Green) ของรัฐบาลเป็นแนวทางการดำเนินการของทุกภาคส่วน ส่งเสริมการนำนวัตกรรมมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสับปะรด เพื่อเกิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้เตรียมพร้อมการบริหารจัดการผลผลิตสับปะรดช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งคาดว่าจะมีผลผลิตออกมามากในช่วง ต.ค. - ธ.ค. ทั้งนี้ 10 จังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตสับปะรดของประเทศ ได้มีความพร้อมในเรื่องนี้อยู่แล้ว เป็นการดำเนินการของคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ร่วมกับหลายกระทรวง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ได้จัดคณะทำงานด้านการตลาดระดับจังหวัด ที่จะมาเป็นหลักในการกระจายผลผลิต การเพิ่มช่องทางการขายonline และ offline การส่งเสริมการบริโภค การเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า การทำสัญญาข้อตกลงกับโรงงานแปรรูป การส่งเสริมการแปรรูป

สำหรับการส่งออกสับปะรดรวมทุกผลิตภัณฑ์ ตัวเลขช่วง ม.ค.- เม.ย. 64 มีมูลค่า 6.64 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากในช่วงเดียวกันของปี 63 ที่มีมูลค่า 5.83 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14.14 % อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มการส่งออกจะดีขึ้น แต่หากเทียบกับช่วงก่อนปี 2562 พบว่ามีมูลค่าลดลง 

เริ่มแล้วภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ เที่ยวแรก 24 คนจากยูเออี

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า เที่ยวบินแรกที่เดินทางเข้ามาถึงภูเก็ต ในวันที่ 1 ก.ค. 2564 คือ เที่ยวบิน EY 430 ของสายการบินเอทิฮัด แอร์เวย์ ซึ่งบินมาจากเมืองอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ลงแตะพื้นท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต เวลา 11.09 น. ถือเป็นเที่ยวบินแรกที่นำนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วเข้าประเทศไทยโดยไม่ถูกกักตัว ตามโครงการภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์ ที่เริ่มต้นเป็นวันแรก 

สำหรับผู้โดยสารที่มาเที่ยวบินนี้ ได้ถือใบอนุญาตเดินทางเข้าประเทศ (COE) ตามโครงการภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์ มีจำนวน 24 คน โดยกลุ่มนี้เมื่อมาถึงจะถูกทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR จากนั้นจะขึ้นรถไปยังโรงแรม และต้องรออยู่ในห้องพัก หากผลตรวจออกมาเป็นลบหรือไม่ติดเชื้อ จึงจะออกมานอกห้องพักได้ และสามารถเดินทางไปได้ทั่วเกาะภูเก็ต 

ทั้งนี้ในวันแรกของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มีนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเดินทางมากับ 4 สายการบิน ได้แก่ เอทิฮัด, กาตาร์ แอร์เวย์ส, แอล อัล อิสราเอล แอร์ไลน์ และสิงคโปร์ แอร์ไลน์ รวมจำนวน 300 คน ซึ่งได้ COE ทั้งหมด 100% สามารถเข้าพักในโรงแรมที่ได้มาตรฐาน SHA PLUS แม้จำนวนนักท่องเที่ยวในวันแรกจะลดลงจากที่เคยประเมินไว้ เพราะออก COE ให้ไม่ทัน ทำให้นักท่องเที่ยวเลื่อนการเดินทางเข้าภูเก็ต แต่หลังจากนี้จะทยอยเข้ามามากขึ้น

ออมสิน ขยายความช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจร้านอาหาร พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน จากเดิมที่ให้สิทธิ์เฉพาะธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ แจ้งเข้าร่วมมาตรการได้ถึง 23 ก.ค. นี้

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรง รัฐจำเป็นต้องประกาศยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นขึ้น โดยรัฐบาลและกระทรวงการคลังมอบนโยบายให้ธนาคารออมสิน ขยายความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบกิจการร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบ ธนาคารจึงปรับเกณฑ์มาตรการยกเว้นการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เงินงวดเป็นศูนย์ ตลอด 6 เดือน โดยเปิดให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจที่ได้นำเงินกู้ไปประกอบกิจการร้านอาหาร สามารถขอเข้าร่วมมาตรการนี้ได้ด้วย จากเดิมที่ให้สิทธิ์เฉพาะธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์

ทั้งนี้ ผู้ประกอบกิจการร้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจธนาคารออมสิน วงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 250 ล้านบาท และมีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน สามารถขอเข้าร่วมมาตรการฯ เพื่อรับสิทธิ์ยกเว้นการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย มีผลตั้งแต่งวดเดือนกรกฎาคม-เดือนธันวาคม 2564 โดยแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่บัดนี้ ที่สาขาธนาคารออมสิน หรือศูนย์สินเชื่อธุรกิจลูกค้า SMEs ที่ได้ติดต่อขอสินเชื่อไว้ หมดเขตแจ้งความประสงค์วันที่ 23 กรกฎาคม 2564

อนึ่ง ที่ผ่านมาธนาคารได้จัดทำมาตรการยกเว้นการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการ SMEs โรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งจะหมดเขตให้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการในวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 เช่นเดียวกัน โดยธนาคารมีเป้าหมายเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการ ให้สามารถประคับประคองธุรกิจจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะคลี่คลาย และกิจการกลับมามีรายได้อีกครั้ง


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top