Thursday, 15 May 2025
Econbiz

โควิดระลอกใหม่ฉุดความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิ่งรอบ 8 เดือน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเม.ย. 2564 อยู่ที่ระดับ 84.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.3 ก่อน ถือเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนก.ย. 2563 หลังจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ อีกทั้งภาครัฐยังยกระดับมาตรการควบคุมโควิด-19 ให้เข้มงวดมากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงทั้งการค้าการลงทุน การเดินทางท่องเที่ยว ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น 

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 91.8 จากระดับ 94.0 ในเดือนก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่อาจยืดเยื้อและต้องใช้ระยะเวลานาน ขณะที่การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนยังมีความล่าช้าภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศยังไม่คลี่คลาย รวมทั้งสถานการณ์การเมืองของประเทศเพื่อนบ้านยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการส่งออกของไทย

อย่างไรก็ตามภาคเอกชนมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 4 ข้อ คือ 1. ขอให้ภาครัฐเร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สามให้ได้โดยเร็ว โดยใช้มาตรการล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและมีการแพร่ระบาดสูง 2. เร่งจัดซื้อและกระจายวัคซีนให้กับประชาชนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีน

3. ออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกที่สามอย่างเร่งด่วน ให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มและผู้ประกอบการเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และ 4. เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก

ประชาชน เฮ!! ก.แรงงาน จับมือ กทม. สปสช.ขยายตรวจโควิด-19 เชิงรุก ที่สนามไทย – ญี่ปุ่น ดินแดง ต่อไปจนถึง 31 พ.ค.นี้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย ก.แรงงาน บูรณาการร่วมกับมหาดไทย กทม. สปสช. ขยายเวลาตรวจโควิด-19 เชิงรุก แก่ผู้ประกันตน แรงงานนอกระบบและประชาชนทั่วไป เพื่อเร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ที่สนามไทย – ญี่ปุ่น ดินแดง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย ก.แรงงาน บูรณาการร่วมกับมหาดไทย กทม. สปสช. ขยายเวลาตรวจโควิด-19 เชิงรุก แก่ผู้ประกันตน แรงงานนอกระบบและประชาชนทั่วไป เพื่อเร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ที่สนามไทย – ญี่ปุ่น ดินแดง ต่อไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค.นี้ 

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ห่วงใยผู้ประกันตน แรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระและพี่น้องประชาชนทั่วไปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 เนื่องจากสภาพปัญหาในปัจจุบันได้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง และมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

จึงได้มีดำริกำชับให้กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขยายระยะเวลาของศูนย์คัดกรองหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ออกไปอีกจนถึงวันที่ 31 พ.ค.นี้ เพื่อให้สามารถตรวจคัดกรองโควิดเชิงรุกได้ครอบคลุมและเร่งคลี่คลายสถานการณ์การแพร่ระบาดโดยเร็ว ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้ให้กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม บูรณาการความร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด และกระทรวงสาธารณสุข โดย สปสช. ดำเนินการขยายระยะเวลาการตรวจโควิด – 19 เชิงรุก เพื่อผู้ประกันตนแรงงานนอกระบบ และพี่น้องประชาชนทั่วไปตามโครงการแรงงาน…เราสู้ด้วยกัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย – ญี่ปุ่น) เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร โดยให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น. โดยในแต่ละวันตรวจได้ไม่เกิน 3,000 คน รอบเช้า 1,500 คน และรอบบ่าย 1,500 คน ให้บริการตรวจไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค.นี้ 

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ผู้ที่ต้องการตรวจสามารถลงทะเบียนจองคิวตรวจได้ที่เว็บไซต์ https://sso.icntracking.com/icntracking/self_register.php จากนั้นผู้ประกันตนกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก หรือเลขพาสปอร์ต กรอกข้อมูลประเมินความเสี่ยงตามที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หากผู้ประกันตนรายใดลงทะเบียนแล้วไม่มาตรวจตามนัดจะต้องลงทะเบียนใหม่ และเมื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด -19 เรียบร้อยแล้วสามารถกลับบ้านได้ทันที เนื่องจากผลการตรวจจะส่งทาง SMS ให้ผู้ประกันตนทราบตามหมายเลขโทรศัพท์ที่แจ้งไว้ ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องรอคิวนาน ขอให้ผู้ที่มาตรวจนำบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องมาด้วย 

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถสอบถามได้ที่โทรศัพท์ 1506 กด 6 เพื่อหาสถานที่ตรวจและสถานพยาบาลเข้ารับการรักษาในกรณีติดเชื้อได้ โดยให้บริการทุกวันจันทร์ – อาทิตย์ เวลา 08.00 – 17.00 น. มีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการทั้งสิ้น 10 คู่สาย ช่วยเหลือผู้ประกันตนและแรงงานนอกระบบที่เดือดร้อนจากการตรวจโควิด-19 ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีอีกทางหนึ่งด้วย กรณีตรวจพบเชื้อและมีอาการจะถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม ส่วนผู้ที่ตรวจพบเชื้อแล้วไม่มีอาการหรืออยู่ในระดับสีเหลืองตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดจะถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่ Hospitel ของประกันสังคม ซึ่งมีทีมแพทย์และพยาบาลดูแลเป็นอย่างดี

ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป เผยนำเข้าวัคซีนโควิดยี่ห้อดัง เจอบวกภาษี 2 เด้ง พร้อมถก 'องค์การเภสัชฯ' คิดค่าบริหาร 10% เพิ่ม

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ. ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 64 โดยตอบคำถามกรณีกระแสประชาชนกลัววัคซีนซิโนแวคว่า... 

ความจริงแล้ววัคซีนทุกตัวช่วยลดความรุนแรงของโรค ไม่ต้องเข้า ICU แต่ประสิทธิภาพ อาจจะ 50% 80% หรือ 90% ขึ้นอยู่คนทดลองและระยะเวลา และเชื้อไวรัสโควิด

ซิโนแวค เป็นวัคซีนที่ปลอดภัยที่สุด เพราะทำจากเชื้อตาย ถ้าเทียบกันจะเกิดอาการแพ้น้อยกว่าแอสตร้าเซนเนก้า 2 เท่า อาจจะเจ็บแขน ปวดเมื่อย ใช้เวลา 1-2 วันก็หาย แต่ที่คนไทยกลัวข่าวว่าฉีดแล้วเป็นอัมพฤกษ์นั้น จากผลเอ็กซ์ตรวจทุกอย่างยังไม่พบอะไร ดังนั้นแทบไม่ต้องพูดถึงแล้วว่า ฉีดดีกว่าไม่ฉีด

นายแพทย์บุญ วนาสิน ย้ำว่าเราไม่มีทางเลือก ในขณะที่แอสตร้าเซนเนก้ามีเหลือจากทั่วโลก แต่ถ้าเราไม่ฉีดคนป่วยจะล้นโรงพยาบาล ห้อง ICU มีไม่เพียงพอ

ส่วนกรณีวัคซีนทางเลือก จะโนวาแวกซ์และโมเดอร์นานั้น ทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้เจรจาซื้อผ่านองค์การเภสัชฯ ซึ่งโมเดอร์นาจะได้รับจดทะเบียนให้เรียบร้อยใน 2 สัปดาห์นี้ แต่ติดที่ไทม์ไลน์ส่งวัคซีน ว่าอย่างน้อย 4 เดือน 

"เรากำลังให้พรรคพวกที่สหรัฐอเมริกา ไปพูดกับประธานาธิบดีไบเดน ว่า ขอได้มั้ยเพราะของคุณมันเกินพอแล้ว ควรจะรีบส่งมาให้ประเทศเราบ้าง"

นายแพทย์บุญ วนาสิน ระบุว่า วัคซีนไฟเซอร์ผลิตในหลายประเทศ อาจจะส่งให้เราก่อนได้ 10-20 ล้านโดส

"ต้องเรียนนะครับ เราต้องเสียภาษี 2 ครั้ง 14%  และ ทางองค์การเภสัชฯ จะชาร์จค่า Management 5% ถึง 10% ตัวเลขต้นทุนอาจเลย 2 พันกว่าบาท"

อย่างกรณีโมเดอร์นา ที่นำเข้ามา ทางองค์การเภสัชฯ จะซื้อก่อน และทุกคนจะต้องไปซื้อกับองค์การเภสัชฯ หมด ซึ่งคิดค่าบริหาร 10% แต่เป็นค่าอะไรยังไม่ทราบ กำลังคุยกันอยู่

วัคซีนอันนี้ระบุเป็นวัคซีนฉุกเฉิน ติดนั่นติดนี่ ติดเรื่องนี้มา 7 เดือนแล้ว นำเข้ามาไม่ได้ เคยคุยกับอังกฤษ จีน สหรัฐฯ บอกว่า ถ้าเราหลับตาข้างหนึ่งเซ็นรับรองนำเข้า เขาให้นำเข้ามา แต่ผมได้รับตอบจดหมายจากท่านรัฐมนตรีว่า ทำไม่ได้ รัฐบาลจะมาค้ำประกันหรือเซ็นรับรองให้เอกชนไม่ได้ ก็ติดกันมา 7 เดือน แต่ตอนนี้นายกรัฐมนตรีลงมาสั่งเอง ก็โอเคแล้ว


ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/937226

รัฐบาล เตรียมฉีดวัคซีน กลุ่มแรงงาน 16 ล้านคน ด้าน กทม.เร่ง ฉีดอาชีพเสี่ยง ตั้งเป้าวันละ 80,000 คน 

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบเพิ่มประชากรวัยแรงงานระบบประกันสังคม รวม 16 ล้านคน เป็นกลุ่มเป้าหมายในการรับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยมีสํานักงานประกันสังคม และจังหวัดเป็นผู้รวบรวมจำนวนและรายชื่อแรงงานที่จะรับวัคซีนโควิด-19 เพื่อส่งให้กระทรวงสาธารณสุข และเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กลุ่มเสี่ยง ผู้สัมผัสเสี่ยงและประชาชนทุกคนให้มากที่สุด เพื่อเร่งควบคุมการแพร่ระบาดได้เร็วที่สุด โดยข้อมูลล่าสุดได้มีการฉีดสะสมแล้ว 1,809,894 โดส ในพื้นที่กทม. ฉีดวัคซีนโควิด-19 สะสม 315,504 โดส 

สำหรับในพื้นที่กทม.จัดสถานที่ 25 แห่ง โดยจะเปิดครบทั้งหมดในวันที่ 2 พ.ค.นี้ ตั้งเป้าฉีดให้ได้วันละ 50,000 คน เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล ให้ประชาชนสามารถเดินทางมาฉีดวัคซีนได้สะดวกมากขึ้น โดยเน้นกลุ่มที่มีอาชีพเสี่ยงสัมผัสกับคนจำนวนมาก เช่น พนักงานขับรถโดยสารประจำทาง แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ คนขับเรือ ครู ผู้ขับขี่รถสาธารณะ พนักงานเก็บขยะ เป็นต้น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันยังให้บริการฉีดวัคซีนโควิด19 ในโรงพยาบาลในพื้นที่กทม. อีก 126 แห่ง สำหรับกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ตั้งเป้าวันละ 30,000 คน รวมแล้วจะฉีดให้ได้วันละ 80,000 คน

อินเตอร์ลิ้งค์ นำทีมกลุ่มผู้บริหารไอทีภาครัฐ-เอกชน ร่วมสัมมนา CCTV Total Solution for Outdoor ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ Update Solution การติดตั้งงานกล้องวงจรปิด (CCTV) ใหม่

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 คุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่ม บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จัดสัมมนา CCTV Total Solution for Outdoor ให้กับลูกค้ากลุ่มผู้บริหารไอที จากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในช่วง Work From Home โดยได้รับการตอบรับอย่างดีจากทั่วประเทศกว่า 460 คน พร้อมทานอาหารออนไลน์ร่วมกันผ่านระบบ Fully Online Seminar และนำทีมวิทยากรชั้นนำมา Update Solution การติดตั้งงานกล้องวงจรปิด (CCTV) บนถนนสาธารณะ เพื่อตอบทุกโจทย์ของความต้องการ ถ่ายทอดสดจากสำนักงานใหญ่ อินเตอร์ลิ้งค์ กรุงเทพฯ

มาคาเลียส แหล่งรวมอี-เวาเชอร์ ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ชี้กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยอยู่ในภาวะ “หยุดชะงัก” จากโควิด-19 ระลอก 3 คนหยุดเที่ยว แต่พบคนยังซื้อเวาเชอร์สะสม จับมือพันธมิตรจัดแคมเปญจองก่อนพักทีหลัง ยืดอายุวอเชอร์ที่พักถึงต้นปี 65

นางสาวณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส ประเทศไทย จำกัด (Makalius) กล่าวว่า “การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถือเป็นการแพร่ระบาดครั้งที่รุนแรงที่สุดในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจในวงกว้าง รวมถึงภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้ง โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งในตอนนี้อยู่ในภาวะ “หยุดชะงัก” (Tourism Halt) นักท่องเที่ยวไม่กล้าเดินทางไปท่องเที่ยว อีกทั้งบางจังหวัดถูกประกาศเป็นพื้นที่สีแดงที่มีการควบคุมสูงสุด แต่ในทางกลับกันก็มีสัญญาณที่ดีว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะกลับคึกคักอีกครั้งหากภาครัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ โดยดูจากพฤติกรรมการสั่งซื้อเวาเชอร์ที่พักของนักท่องเที่ยวผ่านเว็บไซต์มาคาเลียสยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง 

โดยเฉพาะช่วงการจัดแคมเปญทราเวลแฟร์ออนไลน์ “Food Fruit For Fun @ Eastern Thailand” ที่ได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคตะวันออก และนิตยสารแม่บ้าน จำหน่ายแพคเกจท่องเที่ยวที่ครอบคลุมบริการ ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว หรือสถานที่ทำกิจกรรม และร้านอาหาร ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยในระยะเวลาเพียง 1 เดือน สามารถจำหน่ายเวาเชอร์ได้กว่า 2,738 ใบ หรือมีมูลค่ากว่า 5 ล้านบาท

แต่ทั้งนี้บริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้ร่วมหารือกับพันธมิตรผู้ประกอบการทั้ง โรงแรม ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว ที่เปิดให้บริการผ่านทางมาคาเลียส กว่า 200 ราย เตรียมจัดแผนกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยเริ่มจากการปรับยืดอายุการใช้งานของเวาเชอร์ไปปลายไตรมาสแรกปี 2565 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤตที่จะค่อย ๆ คลี่คลายลง รวมถึงการให้ข้อเสนอพิเศษสำหรับลูกค้าที่ต้องการท่องเที่ยวในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้ สามารถเปลี่ยนแปลงโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ได้ตามความเหมาะสม อันมีผลปรับใช้งานได้ทันที

พร้อมทั้งจัดแคมเปญ Buy Now Stay Later จองก่อนเข้าพักทีหลัง ขนโรงแรมที่พักทั่วไทยจัดโปรโมชั่นพิเศษ ราคาเริ่มต้น 400 บาทต่อคนต่อคืน และเลือกเข้าพักได้ถึงวันที่ 31 มีนาคมปี 2565 ซึ่งปัจจุบันมีโรงแรม รีสอร์ท เข้าร่วมแคมเปญดังกล่าวแล้วกว่า 18 แห่ง ได้แก่ M Pattaya Hotel, Talay Tara Resort, Chaolao Tosang Beach Hotel, Peggy's Cove Resort, Sonia Residence Pattaya, Twin Palm Resort, Oakwood Hotel & Residence Sriracha, At Rice Resort, Hotel Kuretakeso Sriracha, The Beach Village Resort, Oriental Beach Pearl Resort, Baron Beach Hotel Pattaya, Mike Hotel Pattaya, Pattaya Discovery Beach, Kocchira Rest & Bake, Chom View Hotel & Residences, VAYNA Boutique Koh Chang และ Wora Wana Huahin Hotel ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเข้าร่วมแคมเปญดังกล่าวได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ยังได้ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการให้มีความเข้มงวดด้านมาตรการความปลอดภัยด้านสุขอนามัย รวมถึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ด้วยการดึงจุดแข็งการเป็นออนไลน์ทราเวลแพลตฟอร์ม มาช่วยทำการตลาดสร้างความแข็งแกร่งและความน่าเชื่อถือ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการท่องเที่ยวที่จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง 

ทางด้าน นายคมพัฒน์ ป่านแก้ว กรรมการผู้จัดการ โรงแรม At Rice resort จังหวัดนครนายก กล่าวว่า “เนื่องจากจังหวัดนครนายกไม่ได้เป็นพื้นที่ควบคุมเขตสีแดง จึงทำให้ทางโรงแรมยังเปิดให้เข้าพักได้ตามปกติ รวมถึงการเปิดให้บริการห้องจัดเลี้ยง ซึ่งก็มีคู่รักมาใช้บริการห้องจัดงานแต่งงานอยู่พอสมควร โดยทางโรงแรมจะให้ความสำคัญด้านสุขอนามัยเป็นหลัก ด้วยคอนเซ็ปต์ Wedding New Normal คือ การจำกัดจำนวนผู้เข้างาน แขกที่จะร่วมงานไม่เกิน 50 ท่าน ก่อนเข้าโรงแรมทุกท่านต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย และตรวจอุณหภูมิก่อนเข้างาน และงดการรับประทานอาหารเลี้ยงสังสรรค์ แต่ทางโรงแรมจะให้บริการเป็นอาหารชุดแบบ Take away สำหรับนำกลับไปรับประทานที่บ้านแทน

คมพัฒน์ ป่านแก้ว กรรมการผู้จัดการ โรงแรม At Rice resort จังหวัดนครนายก

นางสาวทัศนีย์ มณีเนตร รองผู้จัดการทั่วไป โรงแรม M Pattaya จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า “ทางโรงแรมได้มีการปรับนโยบายเรื่องห้องพัก เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้โรงแรมปิดให้บริการและจะกลับมาเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน เฉพาะวันศุกร์ เสาร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ รวมถึง ร้านอาหาร ฟิตเนส สระว่ายน้ำ โดยทั้งนี้จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบขึ้นอยู่กับมาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว แต่จะเข้มงวดด้านสุขอนามัยเพิ่มมากขึ้น ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิ รวมถึงการเพิ่มเจ้าหน้าที่ค่อยดูแลทำความสะอาดตลอดเวลา 

ทัศนีย์ มณีเนตร รองผู้จัดการทั่วไป โรงแรม M Pattaya จังหวัดชลบุรี

ส่วนทาง นางสาวโซเนีย ราจีช พูนจาบี กรรมการผู้จัดการ โรงแรม Sonia Residence Pattaya จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า “ทางโรงแรมได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับและป้องกันความปลอดภัยด้านสุขอนามัยแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการอย่างเคร่งครัด อาทิ การเสิร์ฟอาหารเช้าที่ห้องพัก การขยายเวลาการเข้าพักได้ยาวนาน พร้อมทั้งได้จัดทำโปรโมชั่นพิเศษจองห้องพักพร้อมดินเนอร์สุดพิเศษ รวมถึงการจัด Food Delivery จัดส่งเมนูพิเศษโดยเชฟชื่อดังของโรงแรมถึงหน้าบ้าน”

โซเนีย ราจีช พูนจาบี กรรมการผู้จัดการ โรงแรม Sonia Residence Pattaya จังหวัดชลบุรี

นางสาวณีรนุช กล่าวต่อว่า “สำหรับแผนการช่วยเหลือการท่องเที่ยวดังกล่าว ทางบริษัทฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือดูแล กลุ่มลูกค้า นักท่องเที่ยว และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 นี้ ให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตดังกล่าวไปได้ด้วยดี”

ลูกจ้างธุรกิจอีเว้นท์ เฮ!! รมว.เฮ้ง รับลูก นายกฯ สั่งการ สปส.พิจารณาข้อ กม.แล้ว  เข้าเงื่อนไขเยียวยาว่างงานเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ได้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง กรณีที่ผู้ประกอบการธุรกิจอีเว้นท์และที่เกี่ยวข้อง จะเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและตนในฐานะ รมว.แรงงาน เพื่อให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการจากผลกระทบโควิด-19 จนทำให้กิจการต้องปิดไปโดยปริยาย เพราะไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่อไปได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับทราบแล้วและสั่งการให้สำนักงานประกันสังคมไปพิจารณาข้อกฎหมาย โดยประเด็นดังกล่าวเข้าเงื่อนไขกฎกระทรวง การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยโควิด-19 สามารถจ่ายเยียวยาว่างงานเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน 

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ประกอบการธุรกิจอีเว้นท์และที่เกี่ยวข้อง เตรียมยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึงยื่นหนังสือถึงตนในสัปดาห์หน้านั้นด้วย เพื่อขอให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการในธุรกิจอีเว้นท์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มระบาดในประเทศไทยระลอกแรกตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 เรื่อยมา จนถึงการระบาดอย่างรุนแรงในระลอก 3 นับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดยให้เหตุผลว่า บางประเภทกิจการภาครัฐมิได้สั่งให้ปิด แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องปิดกิจการไปโดยปริยาย เพราะไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่อไปได้ และยังมองไม่เห็นว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติเมื่อใด นายสุชาติ กล่าวว่า ผมได้นำเรียนท่านนายกรัฐมนตรีทราบแล้ว และท่านได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมไปพิจารณาข้อระเบียบกฎหมายว่าเข้าเงื่อนไงดังกล่าวหรือไม่อย่างไร ซึ่งจากการพิจารณาแนวทางการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยตามกฎกระทรวง การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563 (เพิ่มเติม) พบว่า มีเงื่อนไข ดังนี้ 1) ทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว โดยสั่งให้ปิด หรือห้าม หรืองดใช้สถานที่ เช่น สถานที่จัดนิทรรศการ ศูนย์การแสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สถานที่ให้บริการห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยง สถานที่จัดเลี้ยง รวมถึงสถานที่อื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน ทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการในสถานที่ดังกล่าวได้ เช่น ประเภทกิจการที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การจัดประชุม การจัดสัมมนา การจัดเลี้ยงทั้งในและนอกสถานที่ หรือกิจกรรมอื่นในลักษณะเดียวกันที่กระทำในสถานที่นั้นๆ 2) ระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ให้พิจารณาจากการปิด หรือห้าม หรืองดใช้สถานที่โดยให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือจังหวัด หรือคำสั่งของทางราชการที่มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายกำหนด ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง คราวละไม่เกิน 90 วัน และ 3) ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรอง ในประเด็นที่นายจ้างไม่ได้ประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามคำสั่ง/ประกาศของทางราชการ ตามข้อ 1) โดยลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น 

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า จากการพิจารณาข้อกฎหมายประเด็นดังกล่าวของสำนักงานประกันสังคมปรากฎว่าเข้าเงื่อนไขกฎกระทรวง การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยโควิด-19 สามารถจ่ายเยียวยาว่างงานเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน ทั้งนี้ ผู้ประกันตนต้องดำเนินการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนโดยกรอกแบบขอรับประโยชน์ทดแทน พร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้และแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ แล้วนำส่งให้นายจ้างรวบรวมแบบฯ เพื่อบันทึกข้อมูลลูกจ้างและหนังสือรับรองการหยุดงานกรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว เมื่อนายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้างเสร็จสิ้นให้นำส่งแบบฯ และหนังสือรับรองในระบบ e- Service ส่งมายังสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือผ่านโทรศัพท์สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดฝึกออนไลน์ Upskill ให้ผู้กักตัว จัด 20 หลักสูตร พัฒนาทักษะผ่าน Online ฟรี ฝึกจบรับวุฒิบัตร 

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ กพร. ช่วยเหลือแรงงานทั้งแรงงานในระบบ
และแรงงานอิสระ ภายใต้ภารกิจของ กพร.โดยการฝึกอบรมฝีมือแรงงานแบบ New Normal ผ่านระบบออนไลน์เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่แรงงานได้พัฒนาทักษะฝีมือในช่วงกักตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 และเตรียมความพร้อมเป็นแรงงานคุณภาพกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานหลังสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลาย 

อธิบดี กพร. กล่าวต่อไปว่า กพร.ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทุกแห่งทั่วประเทศจัดหลักสูตรฝึกอบรมออนไลน์ฟรี 20 หลักสูตร โดยเน้นหลักสูตรด้านการพัฒนาทักษะดิจิทัล โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการประยุกต์ใช้งาน และการประกอบอาชีพอิสระ ได้แก่ Microsoft Excel Advanced การผลิตสื่อโฆษณาและหนังสั้นด้วยสมาร์ตโฟน เทคนิคการสร้างร้านค้าและขายสินค้าออนไลน์ การสร้างงานสร้างอาชีพด้วยระบบ E-Commerce การออกแบบและตกแต่งภาพด้วยโปรแกรม Photoshop  illustrator การสร้างแอปพลิเคชันโมบายระบบแอนดรอยด์ การเขียนแบบก่อสร้าง 3D ด้วยโปรแกรม Sketch-up การสร้างโปรแกรมฐานข้อมูลด้วย Google Form การประยุกต์ใช้งานโปรแกรม Solid Work ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ภาษาพม่าเบื้องต้นเพื่อการทำงาน ไคเซ็น (KAIZEN) เพื่อการปรับปรุงงาน  การใช้งานโปรแกรม Microsoft Power point 2010  เทคนิคการสร้างสื่อมัลติมีเดียเพื่อการท่องเที่ยว การใช้ Google Application เพื่อธุรกิจ การสร้างแบรนด์ธุรกิจดิจิทัล การใช้โปรแกรม Microsoft Word 2016 และการสร้างอินโฟกราฟิกเบื้องต้น 

ผู้สนใจสามารถค้นหาหลักสูตร และลงทะเบียนสมัครฝึกอบรมได้ที่เว็บไซต์กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน www.dsd.go.th เลือกอบรมออนไลน์ผู้กักตัว COVID – 19 เลือกหลักสูตรที่ต้องการฝึกอบรม นัดหมายและเตรียมความพร้อมก่อนฝึก เมื่อถึงวันฝึกอบรมให้ผู้สมัครลงทะเบียนเข้ารับการฝึกอบรมผ่านแอปพลิเคชัน Zoom Meeting และประเมินผลการฝึกผ่านระบบออนไลน์ ทั้งนี้ ผู้ผ่านการประเมินจะสามารถพิมพ์วุฒิบัตรผ่านระบบออนไลน์ได้ด้วยตนเอง การฝึกอบรมในครั้งนี้     เน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้กักตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ระลอกเดือนเมษายน 2564 ไม่จำกัดเพศ และวุฒิการศึกษา 


“การกักตัวอยู่บ้านตามที่รัฐบาลขอความร่วมมือ นอกจากจะเป็นการช่วยชาติลดการแพร่เชื้อโควิด – 19 แล้ว แรงงานยังสามารถพัฒนาศักยภาพตนเองผ่านระบบออนไลน์ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้อีกด้วย ผู้ที่สนใจเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรเหล่านี้ และหลักสูตรอื่นๆ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สพร.และสนพ. ทุกแห่งทั่วประเทศ” อธิบดี กพร. กล่าวทิ้งท้าย

“สุชาติ” สั่งปรับแนวทางอบรมคนไปทำงานต่างประเทศ ยึดปลอดภัยจากโควิด-19 

กระทรวงแรงงาน เริ่มอบรมคนหางานก่อนเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานราชการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 อย่างจริงจังมาโดยตลอด ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการและประชาชนผู้รับบริการ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของพี่น้องแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งต้องได้รับการอบรมเตรียมความพร้อมก่อนเดินทาง และป้องกันความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทรวงแรงงานจึงปรับเปลี่ยนวิธีการให้บริการภาครัฐ โดยนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อสามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ต่อไป และคนหางานสามารถเดินทางไปทำงานต่างประเทศได้อย่างปลอดภัย

“กระทรวงแรงงานเริ่มปรับใช้การอบรมก่อนไปทำงานในต่างประเทศ ด้วยการอบรมผ่านระบบ Zoom แทนการเข้ารับการอบรม ณ กระทรวงแรงงาน โดยตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.-11 พ.ค. ที่ผ่านมา มีการอบรมไปแล้ว 5 รอบ รวมทั้งสิ้น 423 คน เป็นคนหางานที่ประสงค์เดินทางไปทำงานประเทศไต้หวัน 413 คน และโปรตุเกส 10 คน  แบ่งเป็นวันที่ 3 พ.ค. จำนวน 35 คน วันที่ 5 พ.ค. จำนวน 86 คน วันที่ 6 พ.ค. จำนวน 19 คน วันที่ 7 พ.ค. จำนวน 214 คน และวันที่ 11 พ.ค. จำนวน 69 คน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข และข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นอกจากการอบรมเตรียมความพร้อมก่อนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศผ่านระบบ Zoom แล้ว ยังใช้วิธีสัมภาษณ์คนหางานไปทำงานต่างประเทศ ผ่านแอปพลิเคชัน LINE การลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ไปทำงานต่างประเทศ แจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง แจ้งการเดินทางกลับไปทำงานต่างประเทศ ผ่านเว็บไซต์ toea.doe.go.th แทนการเดินทางมาที่สำนักงานด้วย ทั้งนี้ ผู้สนใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศสามารถติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ www.doe.go.th/overseas และ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศได้ที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วน 1694 กรมการจัดหางาน

ของแพง-ตกงาน ทำกำลังซื้อครัวเรือนไทยทรุดหนัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นเดือนเกิดระบาดโควิด-19 รอบสามได้ปรับตัวลดลงอย่างมากอยู่ที่ระดับ 37.0 จากระดับ 40.4 ในเดือนมี.ค. ส่งผลต่อกำลังซื้อครัวเรือนในขณะที่มาตรการเยียวยาเพิ่มเติมยังไม่ออกมา รวมถึงราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มอย่างมาก และครัวเรือนกังวลด้านรายได้ การมีงานทำ ทิศทางของดัชนีราคาผู้บริโภคที่ปรับสูงขึ้นในรอบ 8 ปี ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนด้วย 

ทั้งนี้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ยังประเมินว่า ครัวเรือนยังเจอความเสี่ยงทั้งตลาดแรงงานในภาพรวมยังไม่ฟื้นตัวโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ดังนั้นกำลังซื้อของครัวเรือนจะถูกกระทบอย่างมากจากรายได้ที่มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ฐานะทางการเงินของครัวเรือนมีแนวโน้มเปราะบางลงเรื่อย ๆ ต่อเนื่องมาจากการระบาดในครั้งก่อน ๆ แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือออกมาเพื่อบรรเทาผลกระทบอยู่บ้าง แต่ขนาดไม่เท่ากับมาตรการเยียวยาในรอบก่อน ทำให้นอกจากการเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนแล้ว ครัวเรือนยังรอมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ด้วย

ส่วนการว่างงานของผู้ประกันตนมาตรา 33 พบว่า อยู่ในระดับสูง โดยในเดือนก.พ.64 อยู่ที่ 310,031 คน เมื่อเทียบกับ 151,802 คน ในเดือนก.พ. 63 ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคที่เป็นตัววัดค่าครองชีพของประชาชนก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ในเดือนเม.ย. 64 เงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 14 เดือนอยู่ที่ 3.41% ซึ่งปัจจัยหลักมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาผักสดที่สูงขึ้น รวมถึงค่าสาธารณูปโภคที่ปรับเพิ่มขึ้นหลังไม่มีมาตรการบรรเทาค่าใช้จ่ายในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย. ในปีก่อนหน้า


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top