Thursday, 15 May 2025
Econbiz

ชงเพิ่มหัวหินเปิดรับต่างชาติไม่กักตัว 1 ต.ค.นี้

นายกรด โรจนเสถียร กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมสปาไทย ในฐานะประธานภาคเอกชนในโครงการหัวหิน รีชาร์จ เปิดเผยว่า ได้หารือกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อเสนอให้รัฐบาลเพิ่มเทศบาลเมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส และมีผลการตรวจโควิด-19 เป็นลบ ให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่หัวหินได้โดยไม่ต้องกักตัว เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 64

ทั้งนี้ในเบื้องต้นตั้งเป้าหมายว่า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา 1 แสนราย สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 1,200 ล้านบาท ซึ่งรมว.การท่องเที่ยวฯ ได้รับทราบและจะนำเรื่องนี้เสนอคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ททช.) ในวันที่ 6 พ.ค.นี้เห็นชอบต่อไป 

ทั้งนี้การเพิ่มพื้นที่หัวหินเป็นอีกหนึ่งพื้นที่นำร่องนั้น จะทำผ่านโครงการหัวหิน รีเชนจ์ ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาครัฐ การท่องเที่ยว โรงพยาบาลและสาธารณสุข และภาคเอกชนในธุรกิจท่องเที่ยวและการบริการ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจรถเช่า บริษัททัวร์ฯลฯ ในพื้นที่เทศบาลหัวหิน ตั้งเป้าหมายเกิดความร่วมมือในการบริหารจัดการการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ตั้งแต่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป และครบถ้วนตามเป้าหมาย 70% ของประชากรในพื้นที่ภายใน 30 ก.ย.64 เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ พนักงานและแรงงานในภาคธุรกิจบริการกว่า 89,000 คนในพื้นที่ให้มีรายได้

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสายงานมาตรฐานอุตสาหกรรมร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรม จับมือร่วมกันผลักดันสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสู่องค์กรกำหนดมาตรฐานขั้นสูง SDOs

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสายงานมาตรฐานอุตสาหกรรมร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรม จับมือร่วมกันผลักดันสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสู่องค์กรกำหนดมาตรฐานขั้นสูง SDOs (STANDARDS DEVELOPING ORGANIZATIONS) นำร่องใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยมุ่งหวังเพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมสู่ระดับสูงสร้างความเชื่อมั่นต่อคู่ค้าและผู้บริโภค พร้อมผลักดันให้สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีนโยบายในการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในภาคอุตสาหกรรมให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและในระดับสากล เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับสินค้าไทย รวมถึงสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้ ในครั้งนี้เราได้รับความร่วมมือจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในการช่วยผลักดันให้ ส.อ.ท. ก้าวสู่องค์กรกำหนดมาตรฐานขั้นสูง SDOs (STANDARDS DEVELOPING ORGANIZATIONS) ดังนั้น นับจากนี้ ส.อ.ท. ก็จะเป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง และเป็นหน่วยงานที่สำคัญเพราะถือเป็นผู้ผลิตซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 1 ใน 3 ส่วนสำคัญอันได้แก่ ผู้ผลิต, ผู้ใช้และนักวิชาการ ส.อ.ท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการได้รับการรับรองเป็น SDOs ในครั้งนี้ จะทำให้ ส.อ.ท. เป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับมาตรฐานของประเทศไทยร่วมกับทาง สมอ. ซึ่งเป็นการสร้างความร่วมมือในการยกระดับมาตรฐานในภาคอุตสาหกรรมครั้งสำคัญ”

"ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะใช้มาตรฐานเป็นเครื่องมือในการยกระดับอุตสาหกรรมเพื่อให้มีการพัฒนาผลิภัณฑ์ให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตสามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการใช้ สินค้ามีมาตรฐานซึ่งถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ดังนั้นการเพิ่มศักยภาพในการกำหนดมาตรฐานให้ได้มากยิ่งขึ้น จึงถือเป็นส่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศด้วยเช่นกัน"

นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสายงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า “สายงานมาตรฐานอุตสาหกรรมมีเป้าหมายที่จะผลักดันสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสู่องค์กรกำหนดมาตรฐานขั้นสูง SDOs ผ่านกลุ่มอุตสาหกรรม เนื่องจากเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งภาคอุตสาหกรรมจะสามารถทำมาตรฐานได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถกำหนดมาตรฐานได้ตรงกับความต้องการและเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์มากที่สุด ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงการที่จะมีองค์ความรู้ด้านมาตรฐานเพิ่มขึ้นในวงกว้าง ในส่วนของผู้ประกอบการเองก็จะเกิดประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้า/ผู้บริโภค, สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้เพราะต่อไป

หากสินค้าต่างประเทศจะเข้ามาสู่ตลาดในประเทศไทยจะต้องขอมาตรฐานที่เรากำหนดขึ้นด้วย ซึ่งจะถือเป็นโอกาสและความได้เปรียบของผู้ประกอบการไทย ที่สำคัญยังเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการใช้สินค้ามีมาตรฐานซึ่งถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย โดยมี 7 กลุ่มอุตสาหกรรมนำร่อง ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก, สิ่งทอ ,เซรามิก, ยางและผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น, ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ และไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ซึ่งมาตรฐานต่าง ๆ จะสำเร็จออกมาใช้ได้น่าจะอยู่ในช่วง 3-6 เดือนจากนี้ โดยจะเร่งในกลุ่มสินค้าสำคัญและอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ตู้แช่วัคซีน ที่ทุกกลุ่มมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะจับมือร่วมมือกันในการเป็น SDOs ในครั้งนี้”


ที่มา: ฝ่ายสื่อสารองค์กร ส.อ.ท.

'ประกันสังคม' ผุดมาตรการ ช่วยลูกจ้างตกงาน จ่ายเงินเยียวยา 50% จากผลกระทบไวรัสระบาด

นางสาวลัดดา แซ่ลี้ ผู้อำนวยการสำนักสิทธิประโยชน์ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมมีความพร้อมในการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย

คุณสมบัติ

1.) ผู้ประกันตนมาตรา 33 ส่งเงินสมทบครบ 6 เดือนใน 15 เดือน

2.) ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานหรือนายจ้างให้หยุดงานเนื่องจากต้องกักตัว หรือหน่วยงานรัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการเป็นการชั่วคราวและลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้าง

สิทธิที่ได้รับและข้อปฏิบัติ

1.) รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน

2.) ลูกจ้างผู้ประกันตนไม่ต้องขึ้นทะเบียนว่างงานกับสำนักงานจัดหางาน ให้ยื่นเฉพาะคำร้องขอรับประโยชน์ทดแทน

3.) ลูกจ้างดาวน์โหลดและกรอกข้อมูลในแบบฟอร์ม สปส.2-01/7 บน http://www.sso.go.th

4.) นายจ้างไม่ต้องแจ้งลาออกหรือเลิกจ้าง แต่ให้ส่งหนังสือรับรองว่าลูกจ้างไม่ได้ทำงานกี่วัน

5.) นายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้าง ส่งแบบฯและหนังสือรับรอง ไปยังสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ในที่ตั้งของสถานที่ทำงาน ส่งทางไปรษณีย์ (ลงทะเบียน) ภายใน 3 วันทำการ

6.) แนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของลูกจ้างและหนังสือรับรองการหยุดงาน พร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้

ย้ำ ไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงานประกันสังคม ให้ดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น

สอบถามได้ที่สายด่วน 1506 กด 1 ตลอด 24 ชั่วโมง

สมอ. เตรียมออกมาตรฐานควบคุม “อะแดปเตอร์” ชาร์จโทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต และอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่มีแรงดันไฟฟ้าไม่เกิน 600 โวลต์รวม 20 รายการ ต้องได้มาตรฐาน มอก. หลังมีข่าวประชาชนถูกไฟดูดเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง เร่งบังคับใช้ภายในกลางปีนี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรม และการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า โดยกำหนดเป็นนโยบายสำคัญและได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. ดำเนินการเนื่องจากเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินงานด้านการมาตรฐานของประเทศ ทั้งการกำหนดมาตรฐาน การควบคุมและกำกับติดตามการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน

“การดำเนินงานด้านการกำหนดมาตรฐานของ สมอ. มีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะการคุ้มครองประชาชนที่ต้องได้รับการดูแลด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไป เพื่อให้การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศ สามารถแข่งขันทางการค้าได้อย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ซึ่งผมได้กำชับกับบอร์ด สมอ. ให้เร่งรัดดำเนินการ โดยเฉพาะมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชนให้ดำเนินการเป็นอันดับแรก” นายสุริยะ กล่าว

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมบอร์ด สมอ. เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้ สมอ. ควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับเสียง วีดิทัศน์ และการสื่อสาร ที่มีแรงดันไฟฟ้าไม่เกิน 600 โวลต์ได้แก่ เครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องขยายสัญญาณ เครื่องเล่นแผ่นดิสก์ เครื่องเล่นวีดีโอเกมส์เครื่องรับสัญญาณไมโครโฟนไร้สาย เครื่องรับสัญญาณวิทยุ เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ เครื่องรับสัญญาณดาวเทียม ลำโพงพร้อมขยายสัญญาณ เครื่องแปลงสัญญาณ เครื่องปรับแต่งสัญญาณ เครื่องผสมสัญญาณเสียง เครื่องจ่ายไฟฟ้าสำหรับเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจ่ายไฟฟ้าสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่และแท็บเล็ต (อะแดปเตอร์) เครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องเล่นเสียงและภาพ เครื่องรับสัญญาณภาพและเสียงผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เครื่องรับสัญญาณเคเบิลทีวี และเครื่องแปลงสัญญาณเสียงและภาพ รวม 20 รายการ เป็นสินค้าควบคุมต้องได้มาตรฐาน มอก. 62368-2563 หลังมีผู้ใช้อะแดปเตอร์ไม่ได้มาตรฐานชาร์จโทรศัพท์มือถือ ถูกไฟดูดเสียชีวิต

โดยจะเร่งดำเนินการประกาศบังคับใช้มาตรฐานภายในกลางปีนี้ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชนจากอันตรายที่เกิดจากไฟฟ้า โดยข้อกำหนดในมาตรฐานจะควบคุมด้านความปลอดภัย มีการทดสอบเกี่ยวกับการบาดเจ็บที่เกิดจากไฟฟ้า การทดสอบเกี่ยวกับไฟไหม้ที่เกิดจากไฟฟ้า การทดสอบความร้อน การทดสอบการแผ่รังสี และการทดสอบเกี่ยวกับสารอันตราย เป็นต้น

“การประชุมบอร์ด สมอ.ในครั้งนี้ นอกจากจะเห็นชอบให้ สมอ. ควบคุมอะแดปเตอร์สำหรับชาร์จโทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต อุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังได้เห็นชอบในเรื่องสำคัญ ๆ ดังนี้

1.) ให้ สมอ. จัดทำมาตรฐาน ทั้งที่เป็นมาตรฐานใหม่ และมาตรฐานเดิมที่นำมาทบทวนรวม 9 มาตรฐาน ได้แก่ สีอิมัลชันใช้งานทั่วไป สีอิมัลชันทนสภาวะอากาศ สีอิมัลชันลดความร้อนจากแสงอาทิตย์ และเครื่องทำน้ำร้อนแบบฮีตปั๊ม เป็นต้น

2.) ให้ สมอ. ควบคุมสินค้าอีก 5 รายการ ที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชน ได้แก่ ถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหาร และถุงพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับอุ่นในไมโครเวฟ เป็นต้น

3.) ให้ สมอ. ทำลายผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐานของผู้ประกอบการจำนวน 4 ราย ที่คดีถึงที่สุดแล้ว ได้แก่ ของเล่น เหล็กเส้นกลม หมวกนิรภัยและสับปะรดกระป๋อง มูลค่ารวมกว่า 1,050,000 บาท อีกด้วย” เลขาธิการ สมอ. กล่าวทิ้งท้าย

‘บิ๊กตู่’ รับข้อเสนอเอกชน ตั้ง 4 ทีมบริหารวัคซีน รัฐจัดหาวัควีน 100 ล้านโดส ลุ้นเปิดประเทศต้นปี 65

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะนักธุรกิจของหอการค้าไทย ว่า รัฐบาลได้รับข้อเสนอของภาคเอกชนเกี่ยวกับการสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน การจัดหาวัคซีน และการวางระบบการกระจายวัคซีนโควิด-19 โดยจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน 4 คณะ คือ

1.) ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีนในระยะแรกได้มีการจัดเตรียมพื้นที่นำร่องเสนอกทม. 66 แห่ง โดยผ่านการคัดเลือก 14 แห่งกระจายทั่วกรุงเทพฯ แบ่งเป็น 5 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพเหนือ 2 จุด กรุงเทพใต้ 4 จุด กรุงเทพตะวันออก 3 จุด กรุงธนเหนือ 2 จุด และกรุงธนใต้ 3 จุด ซึ่งจะมีทั้งสถานที่ที่เป็นศูนย์การค้า สำนักงาน และสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งสถานที่ทั้ง 14 แห่งดังกล่าว จะรองรับประชาชนได้ประมาณ 1,000-2,000 คนต่อวัน รวมแล้วสามารถให้บริการได้วันละ 20,500 คน ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมการให้บริการของกรุงเทพมหานคร

สำหรับทีมนี้ในระยะถัดไป จะหารือในการจัดทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปยังจุดต่าง ๆ ตามชุมชน และบริษัทต่าง ๆ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน โดยมีภาคเอกชนสนใจให้การสนับสนุนหลายแห่ง จะนำต้นแบบของพื้นที่เอกชนร่วมกับกรุงเทพฯ กระจายผ่านหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในการช่วยบริหารจัดการสถานที่ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ

2.) ทีมการสื่อสาร สนับสนุนการทำงานด้านการสื่อสารของภาครัฐเพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งจะเน้นความสำคัญของการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง

3.) ทีมเทคโนโลยีและระบบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการลงทะเบียนและลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ ในศูนย์ปฏิบัติการของภาคเอกชน และ

4.) ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม เป็นทีมสำรวจความต้องการภาคเอกชน โดยทำแบบสอบถาม โดยให้บริษัทเอกชนแสดงความประสงค์ในการได้วัคซีน ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ปัจจุบันมีผู้แจ้งความต้องการ 2,629 บริษัท จำนวนพนักงาน 921,817 คน

นอกจากนี้ ทางรัฐบาลยังให้ความสบายใจว่า ภายในปี 2564 ประชาชนคนไทย ผู้ที่มาทำงาน หรือคนต่างชาติ ที่อาศัยในประเทศไทยหรือแรงงานที่มาอยู่ประเทศไทยจะได้รับการฉีดวัคซีนแน่นอน

ขณะนี้ รัฐบาลสามารถจัดหาวัคซีนได้ 100 ล้านโดส จะครอบคลุมประชากร ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเป็นลักษณะนี้เราสบายใจได้ว่าจะสามารถเปิดประเทศได้ในต้นปี 2565 ส่วนภาคเอกชน ตั้งใจให้การสนับสนุนการทำงานร่วมกับภาครัฐ และขอบคุณที่ภาครัฐให้ความไว้วางใจที่จะทำงานร่วมกัน ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ซึ่งความร่วมมือเหล่านี้จะทำให้ทุกอย่างและเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ หากเป็นไปในลักษณะนี้ แนวทางภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ โมเดล (เปิดประเทศโดยไม่กักตัว) ก็จะเกิดขึ้นได้ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ตามที่รัฐบาลตั้งธงไว้ก็ไม่น่าจะพลาด ทั้งนี้ การร่วมมือทำงานครั้งนี้ถือเป็นการตั้งไทยแลนด์ทีมเกิดขึ้นแล้ว

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยภาพรวมการผลิตในอุตสาหกรรมหลักปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมดัชนี ผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม 2564 มีระดับอยู่ที่ 107.73 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.12 เมื่อเทียบกับ เดือนเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ นับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 22 เดือน (พ.ค. 62 – ก.พ. 64) หลังจากที่ภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา และการแพร่ระบาด โควิด-19

โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน อยู่ที่ร้อยละ 69.59 เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นของผู้ผลิตและผู้บริโภค ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหักทองคำและรายการพิเศษ เดือน มีนาคม 2564 ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 25.77 เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และเป็นการขยายตัวระดับ 2 หลักในรอบ 31 เดือน ซึ่งจากการกลบัมาขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมนี้ทำให้ในไตรมาสที่ 1/2564 ดัชนีผลผลติอุตสาหกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 0.25

รมว.เกษตรฯ พอใจผลงานขายทุเรียนไปจีนด้วยแพลตฟอร์มใหม่ ผ่านระบบสั่งซื้อล่วงหน้าล็อตแรกสำเร็จ ย้ำนโยบายคุณภาพสำคัญสุด ด้าน ‘อลงกรณ์’ เผยสื่อจีนเด้งรับแพร่ข่าวกระหึ่มแดนมังกร มอบทูตเกษตรขยายผลบุกทุกมณฑลจีน ตั้งเป้าหมายใหม่ ขาย 20 ตัน ใน 1 ชั่วโมง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยวันนี้ (28 เม.ย.) ว่า เครื่องบินเช่าเหมาลำของสายการบินเซินเจิ้นแอร์ไลน์ที่นำทุเรียนเกรดพรีเมี่ยม 20 ตันจากสหกรณ์เมืองขลุง จังหวัดจันทบุรีเดินทางถึงที่สนามบินเซินเจิ้นแล้วเมื่อเช้ามืดวันนี้ โดยผู้ประกอบการจีนได้จัดส่งแบบ Delivery ถึงลูกค้าซึ่งสั่งซื้อล่วงหน้าทันที

ทั้งนี้ เป็นการส่งออกทุเรียนด้วยการจำหน่ายออนไลน์ระบบสั่งซื้อล่วงหน้า (Pre-Order) ครั้งแรก โดยลูกค้าจ่ายเงินสั่งจองผ่านระบบออนไลน์มาก่อน ซึ่งล็อตแรกจำนวน 20 ตัน ขายหมดภายในไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น หลังจากนี้ จะประสานงานกับทูตเกษตรไทยทั้ง 8 สำนักงานในจีน ช่วยขยายผลรุกตลาดจีนทุกมณฑล

“ได้รายงานผลดำเนินการต่อท่านรัฐมนตรี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้แล้ว ท่านพอใจผลงานขายทุเรียนแบรนด์ไทยไปจีนด้วยแพลตฟอร์มใหม่ระบบสั่งซื้อล่วงหน้าล็อตแรกสำเร็จและสั่งการให้เน้นเรื่องคุณภาพเป็นนโยบายสำคัญที่สุด”

นายอลงกรณ์ เปิดเผยด้วยว่า ทางสำนักงานทูตเกษตรไทยในจีนรายงานว่าสื่อมวลชนในจีนได้ลงข่าวกันอย่างครึกโครม ซึ่งเป็นการช่วยเผยแพร่ทุเรียนแบรนด์ไทยสู่ตลาด 1,400 ล้านคนแบบชั่วข้ามคืน

นอกจากนี้ได้ประสานกับบริษัท โรยัลฟาร์ม กรุ๊ป ซึ่งเป็นเจ้าแรกที่ใช้แพลตฟอร์มระบบสั่งซื้อล่วงหน้าเก็บข้อมูลความพึงพอใจของลูกค้าในจีนและพฤติกรรมการบริโภคทุเรียน เช่น นิยมทุเรียนพันธุ์อะไร ขนาดผลเล็กหรือใหญ่ ชอบรสชาติอย่างไร แต่ละมณฑลนิยมทานหวานมากหรือหวานน้อย เป็นต้น

จากข้อมูลการสั่งซื้อเบื้องต้นพบว่า ลูกค้าในเมืองซึ่งเป็นครอบครัวขนาดเล็กจะสั่งทุเรียนผลเล็กทานเสร็จไม่ต้องเก็บรักษา ส่วนลูกค้าชานเมืองซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่นิยมสั่งผลใหญ่รับประทานได้หลายคนโดยจะนำข้อมูลมาเก็บในบิ๊กดาต้าทำการวิเคราะห์เพื่อนำไปพัฒนาการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ตามนโยบายตลาดนำการผลิตของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

“จากการพูดคุยกับผู้บริหารบริษัทโรยัลฟาร์มกรุ๊ปซึ่งเป็นเจ้าแรกที่เปิดขายระบบสั่งซื้อล่วงหน้าแสดงความมั่นใจว่าในการเปิดจองระบบสั่งซื้อล่วงหน้าในจีนล็อตแรก 20 ตันเกือบ 1 หมื่นลูกจบในเวลาไม่กี่ชั่วโมงและด้วยคุณภาพที่สหกรณ์เมืองขลุงจันทบุรีคัดสรรมาอย่างดีรวมทั้งสื่อจีนขานรับช่วยตีข่าวอย่างกว้างขวางจึงตั้งเป้าว่าล็อตต่อ ๆ ไปจะใช้เวลาขาย 20 ตันในเวลา 1ชั่วโมง”

‘คลัง’ เผย พันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของรัฐบาลไทย ได้รับการจดทะเบียนในตลาดหุ้นลักเซมเบิร์ก

วันที่ 29 เมษายน 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลังกล่าวภายหลังพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ที่ออกโดยกระทรวงการคลัง ได้รับการจดทะเบียนใน Luxembourg Green Exchange (LGX) ของตลาดหลักทรัพย์ลักเซมเบิร์ก เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2564 โดยมีนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ร่วมด้วย ว่า พันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของรัฐบาลไทยได้รับการจดทะเบียนใน LGX ซึ่งถือเป็นการแสดงออกถึงความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมของผู้ออกพันธบัตร และยังเป็นการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อการลงทุนอย่างยั่งยืนผ่านการเปิดเผยข้อมูลตราสารอย่างครอบคลุมและเป็นมาตรฐานทั้งนี้ การจดทะเบียนพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืนใน LGX อยู่ในรูปแบบของ LuxSE Security Official List (LuxSE SOL) ซึ่งเป็นการนำเอาตราสารไปขึ้นทะเบียนไว้ในตลาดหลักทรัพย์โดยไม่มีการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนตราสาร

“ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ดำเนินการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติและการแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เป็นจำนวน 100,000 ล้านบาท ในรุ่น ESGLB35DA เพื่อสนับสนุนโครงการขนส่งพลังงานสะอาดในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันออก และโครงการที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19” นายอาคม กล่าว

สำหรับ การขอจดทะเบียนพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืนใน LGX ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และธนาคารผู้จัดจำหน่าย เพื่อช่วยผลักดันการระดมทุนเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของรัฐบาลให้ออกไปสู่สากลและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนให้มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดีLGX เป็นตลาดหลักทรัพย์สำหรับตราสารเพื่อความอย่างยั่งยืน (Sustainable Securities) ชั้นนำที่ใหญ่ที่สุดและมีจำนวนพันธบัตรสีเขียวที่มีการออกในโลกมากกว่า50% ขึ้นทะเบียนอยู่

‘สันติ พร้อมพัฒน์’ ปิ๊งไอเดีย เล็งหาที่ราชพัสดุ เสนอครม. ทำบ้านเช่าคนจน ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัย ล็อคเป้าที่ราชพัสดุ ในสมุทรปราการ 1,000 ไร่ เหมาะทำเป็นโครงการนำร่อง

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้กรมธนารักษ์ เร่งนำที่ราชพัสดุทั่วประเทศมาจัดสรรสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและที่ดินด้านเกษตรกรรม เพื่อช่วยให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย และที่ทำกินประกอบอาชีพสร้างงาน สร้างรายได้เป็นของตัวเอง โดยสามารถนำมาพัฒนาเป็นที่อยู่ให้เช่าในราคาไม่สูง ซึ่งกรมธนารักษ์จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ของผู้ที่มีสิทธิในการเช่าที่ดิน รวมถึงรายละเอียดของที่ดินราชพัสดุ ที่จะนำมาพัฒนาเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา ก่อนเสนอให้ที่ประชุมครม. อนุมัติต่อไป

“กรมธนารักษ์ สามารถนำที่ราชพัสดุมาพัฒนาเป็นที่อยู่ให้เช่าในราคาไม่แพง เมื่อประชาชนมีที่อยู่อาศัย มีที่ทำกิน มีรายได้ ก็ย่อมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปด้วย ที่สำคัญยังช่วยให้กรมธนารักษ์มีรายได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม”

ทั้งนี้ ล่าสุดกรมธนารักษ์ได้รวบรวมที่ดินราชพัสดุที่มีศักยภาพ พร้อมพัฒนาให้เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และที่ดินทำกิน สร้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งในเบื้องต้นมีที่ราชพัสดุแถวจังหวัดสมุทรปราการ 1,000 ไร่ ที่มีศักยภาพนำมาพัฒนาได้ โดยขณะนี้กรมฯ กำลังกำหนดหลักเกณฑ์ผู้ที่มีสิทธิเช่าที่อยู่อาศัย และที่ดินราชพัสดุสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด ป้องกันไม่ให้มีการสวมสิทธิมาเช่าที่อยู่อาศัย แต่ไม่ได้อยู่เอง แต่เอาไปปล่อยเช่าต่อ เป็นต้น โดยคาดว่ากลางเดือนพ.ค.นี้ จะเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป

โควิดระลอกใหม่พ่นพิษใส่เศรษฐกิจไทยอย่างหนัก สศค. หั่นจีดีพีเหลือ 2.3% ต่อปี จาก 2.8% ส่วนนักท่องเที่ยว คาดลดเหลือแค่ 2 ล้านคน จาก 5 ล้านคน หันพึ่งพาส่งออกที่คาดว่าสามารถขยายตัวได้ที่ 11%

29 เม.ย. พ.ศ.2564 นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.3% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 1.8% ถึง 2.8%) ปรับตัวลดลงจากประมาณการครั้งก่อน ณ เดือนมกราคม 2564 ที่ 2.8% ต่อปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย การเดินทางระหว่างประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยอย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากมาตรการทางการคลังและการเงินที่ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการ เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยจะขยายตัวที่ 11.0% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 10.5%ถึง 11.5%)นอกจากนี้ การดำเนินมาตรการทางการคลังของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ โครงการ ม33เรารักกัน และมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประกอบกับการใช้จ่ายเงินกู้จากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ที่คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายในส่วนที่เหลือได้อย่างต่อเนื่อง จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภค ประคับประคองภาคธุรกิจ และรักษาระดับการจ้างงานให้สูงขึ้น

โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 2.3% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 1.8% ถึง 2.8%) และ 4.8% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่4.3% ถึง 5.3%) ตามลำดับ ขณะที่ การบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ 5.0% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 4.5% ถึง 5.5%) และ 10.1% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 9.6% ถึง 10.6%) ตามลำดับสำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 จะอยู่ที่ 1.4% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.9% ถึง 1.9%) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 0.2% ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ -0.3% ถึง 0.7% ของ GDP) ปรับลดลงจากปีก่อน จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และมูลค่าสินค้านำเข้าที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการคลังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่

1.) การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาระลอกใหม่ในหลายประเทศที่ยังมีความรุนแรงและยืดเยื้อ

2.) ข้อจำกัดในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

3.) ราคาน้ำมันดิบที่อาจปรับเพิ่มขึ้นได้ หากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศรุนแรงขึ้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงาน และ

4.) ความผันผวนของระบบการเงินโลกและเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีฐานะการคลังที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ ทำให้กระทรวงการคลังมีความพร้อมในการดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ประกอบกับนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการลงทุนด้านดิจิทัล และนโยบายการยกระดับปรับทักษะแรงงาน จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top