Saturday, 5 April 2025
Econbiz

ไทย และ สปป.ลาว ร่วมพัฒนาถนน R11 ย่นเวลาเดินทาง สร้างมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น 1,200 ล้านบาท

(17 มี.ค. 68) นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือเนด้า เปิดเผยว่า การพัฒนาถนนหมายเลข 11 (R11) จากด่านภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์-ปากลาย และบ้านน้ำสัง-เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่ดำเนินการแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2567 ทำการเดินทางจากจังหวัดภาคเหนือตอนล่างไปยัง สปป.ลาว ใช้เวลาเดินทางแค่ 3-4 ชั่วโมง จากเดิมต้องใช้เวลาเดินทางกว่า 7 ชั่วโมง และที่สำคัญยังสามารถเพิ่มมูลค่าการค้าขายจากเดิมกว่า 100 ล้านบาท เป็น 1,200 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของประชาชนจากภาคเหนือของไทยไปท่องเที่ยวยัง สปป.ลาว ได้สะดวกยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ในอนาคตยังจะมีการพัฒนาสะพานเชื่อมต่อจังหวัดน่านไปยังหลวงพระบาง สปป.ลาว  เพื่อให้การเดินทางคมนาคมสะดวกยิ่งขึ้น เพราะจากเดิมต้องเดินทางข้ามแม่น้ำโขงด้วยเรือ ซึ่งหากเริ่มดำเนินการในปีหน้าคาดจะใช้เวลา 2-3 ปีแล้วเสร็จ ซึ่งโครงการนี้จะเกิดประโยชน์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

บีโอไอ เคาะส่งเสริม รถไฟฟ้าสีส้ม – ดาต้า เซ็นเตอร์ ลงทุนกว่า 2 แสนล้าน ยกระดับนิเวศดิจิทัลรองรับยุค AI

(18 มี.ค. 68) บอร์ดบีโอไอ อนุมัติส่งเสริมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 4 โครงการใหญ่ มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท 
ทั้งรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ Data Center 3 แห่งจากบริษัทไทย จีน และสิงคโปร์ เสริมแกร่งระบบนิเวศดิจิทัล รองรับยุค AI พร้อมสนับสนุนให้เอกชนร่วมลงทุนกิจการโรงพยาบาลของรัฐ ยกระดับบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึง

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 
17 มีนาคม 2568 การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายก รัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญขนาดใหญ่ 4 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 200,000 ล้านบาท ได้แก่ 

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เงินลงทุน 109,210 ล้านบาท และโครงการ Data Center 3 โครงการจากประเทศไทย จีน และสิงคโปร์ ได้แก่ (1) บริษัท จีเอสเอ ดาต้า เซนเตอร์ 02 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่ม Gulf, Singapore Telecommunications และ AIS เงินลงทุน 13,480 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี  (2) บริษัท Beijing Haoyang Cloud Data Technology จากประเทศจีน เงินลงทุน 72,670 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง (3) บริษัทในเครือ Empyrion Digital ประเทศสิงคโปร์ เงินลงทุน 4,720 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร 

“Data Center ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น สำหรับรองรับความต้องการในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี AI การที่มีบริษัทระดับโลกเข้ามาลงทุนจัดตั้ง Data Center ในไทยก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้าน นอกจากจะส่งเสริมให้ไทยเป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาคแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้เข้าถึงบริการของศูนย์ข้อมูลและบริการคลาวด์ที่มีมาตรฐาน มีความปลอดภัยสูง และมีความเสถียรในการให้บริการดิจิทัล ลดต้นทุนบริษัทในการทำศูนย์ข้อมูลของตนเอง ช่วยรักษาข้อมูลสำคัญให้ถูกเก็บและประมวลผลในประเทศซึ่งจะเป็นประโยชน์ด้านความมั่นคง ช่วยสนับสนุนการใช้แอปพลิเคชันและเทคโนโลยีดิจิทัลในการยกระดับภาคส่วนต่าง ๆ อีกทั้งจะส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโทรคมนาคม สาธารณูปโภค พลังงาน อุปกรณ์ไอที บริษัทก่อสร้างและวางระบบขั้นสูง System Integrator ด้านต่าง ๆ รวมถึงช่วยสร้างงานที่มีคุณค่าสูงให้กับคนไทย เช่น ผู้ดูแลระบบโครงข่าย งานด้านวิเคราะห์ข้อมูล การพัฒนาโปรแกรม ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และงานสนับสนุนด้านไอที” นายนฤตม์ กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2565-2567) มีโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนในกิจการ Data Center และ Cloud Service จำนวน 27 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 2.9 แสนล้านบาท

ส่งเสริมการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชนในกิจการโรงพยาบาล
ตามที่รัฐบาลมีแนวทางส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในบริการด้านสาธารณสุขมากขึ้นในรูปแบบ PPP (Public-Private Partnership) เพื่อยกระดับมาตรฐานและเพิ่มขีดความสามารถทางการรักษาพยาบาล โดยลดภาระงบประมาณภาครัฐ แต่สามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยที่เป็นผู้ประกันตนได้จำนวนมาก โดยการผสานจุดแข็งของภาครัฐที่มีความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์ ขณะที่ภาคเอกชนมีความคล่องตัว ในการบริหารจัดการและความพร้อมด้านการลงทุนเทคโนโลยี บอร์ดบีโอไอจึงได้เห็นชอบให้กำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับกิจการโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีจำนวนเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนตั้งแต่ 91 เตียงขึ้นไป ในกรณีที่มีการร่วมทุนในรูปแบบ PPP กับหน่วยงานรัฐ จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรเครื่องจักรและอุปกรณ์ และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี (โรงพยาบาลทั่วไป จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี) 

นอกจากนี้ บอร์ดบีโอไอ ได้อนุมัติหลักการในการส่งเสริม “โครงการโรงพยาบาลปลวกแดง 2 จังหวัดระยอง” ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนรัฐ-เอกชนในรูปแบบ PPP ครั้งแรกของกระทรวงสาธารณสุข ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการนี้เป็นโครงการแรกด้วย  

สนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก
เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในภาคอุตสาหกรรม ที่ประชุมได้เห็นชอบให้กิจการที่มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เช่น ลมหรือแสงอาทิตย์ไปแล้ว แต่ต้องการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Battery Energy Storage System: BESS) และเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter) ของระบบ BESS เพิ่มเติม สามารถขอรับการส่งเสริมภายใต้มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานทดแทนได้ 

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมวัสดุ ลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามแดน (CBAM) ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบให้กิจการผลิตวัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรง ผลิตภัณฑ์เซรามิกส์ในกลุ่ม Earthenware และกระเบื้องเซรามิกส์ ซึ่งเป็นกิจการที่มีปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 

‘สมชาย หาญหิรัญ’ ชี้ เวียดนาม กำลังก้าวข้ามไทย พร้อมเป้าหมายใหม่ยกระดับสู่ประเทศที่มีรายได้สูงใน 20 ปี

(18 มี.ค. 68) นายสมชาย หาญหิรัญ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในสมัยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โพสต์เฟซบุ๊กว่า ตอนนี้รัฐบาลของเวียดนามกำลังยุ่งกับการทำยุทธศาสตร์ และแผน 20 ปี เพื่อสร้างเวียดนามเป็นประเทศรายได้สูง และหนึ่งในนั้น คือการปรับระบบราชการใหม่ 5 กระทรวงถูกยุบ และหลายกระทรวงถูกควบรวม ลดจำนวนข้าราชการลง 20% ลดการใช้จ่ายประจำของรัฐบาลเพื่อนำไปลงทุนในการวางรากฐานที่สำคัญของประเทศเพื่อการแข่งขันในอนาคต ทั้งการคมนาคม สื่อสาร เทคโนโลยี และการศึกษา .... .. ปีที่แล้วเวียดนามส่งออกกว่า 403,000 ล้านเหรียญฯ เบอร์หนึ่งของอาเซียน มากกว่าไทย 25% และวางแผนการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ที่ 8% 

เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว Benchmark ของการพัฒนาเศรษฐกิจของเขาคือการสร้าง GDP ให้แซงหน้าไทย แต่วันนี้เปลี่ยนเป้าใหม่เป็นการยกระดับให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงใน 20 ปี ... ชัดเจนดีในแผน และลงมือทำจริง ... ไม่ใช่มีวาทกรรมสวยๆ และจบตรงจัดงานแถลงเท่านั้นครับ

และตอนนี้รัฐบาลเขากำลังวุ่นกับการกำหนดแผนนี้ให้ชัดเจนในเดือนมีนาคมนี้ 

ส่วนรัฐบาลเรากำลังวุ่นกับการเตรียมลงสู้ศึกวาทกรรมกับฝ่ายค้านปนแค้น ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในอาทิตย์นี้ ....ไม่รู้ว่าหลายคนจะสนุก มันส์ สะใจ อย่างไรก็แล้วแต่ ..หลายคน เศร้าและรู้สึกปลง และเอวังครับ 

‘กรมธุรกิจพลังงาน’ เผยยอดใช้น้ำมันเดือนแรกปี 68 โต 2.8% จับสัญญาณกลุ่มเบนซินชะลอตัว หลังคนแห่ใช้รถอีวีพุ่ง

กรมธุรกิจพลังงาน เผยยอดใช้น้ำมันเดือนแรกปี 68 โต 2.8% ขณะที่น้ำมันกลุ่มเบนซินส่งสัญญาณชะลอตัว จากการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า โดยในเดือนมกราคม 68 ลดลง 3% ในขณะที่ NGV ลดฮวบ 15.3 % ส่วนดีเซลหมุนเร็ว เพิ่มขึ้น 0.4 % น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 21 % และ LPG เพิ่ม 2.9 %

(18 มี.ค. 68) นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ 157.56 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 และการใช้ LPGเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ขณะที่กลุ่มเบนซินลดลงร้อยละ 3.0 การใช้น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 และ NGV ลดลงร้อยละ 15.3 

โดยรายละเอียดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดในเดือนมกราคม 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีดังนี้

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.25 ล้านลิตร/วัน ลดลงร้อยละ 3.0 ประกอบด้วยการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 ลดลงมาอยู่ที่ 6.68 ล้านลิตร/วัน แก๊สโซฮอล์ อี 20 ลดลงมาอยู่ที่ 5.05 ล้านลิตร/วัน เบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 0.38 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ อี 85 ลดลงมาอยู่ที่ 0.06 ล้านลิตร/วัน ขณะที่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18.71 ล้านลิตร/วัน จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคเลือกใช้แก๊สโซฮอล์ 95 มากที่สุด โดยสาเหตุมาจากปัจจัยด้านประสิทธิภาพของเครื่องยนต์และราคา ซึ่งราคาแก๊สโซฮอล์ 95 สูงกว่าแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 0.37 บาท/ลิตร ในเดือนมกราคม 2568 แต่ในช่วงเดียวกันของปีก่อนราคาแก๊สโซฮอล์ 95 สูงกว่าแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 1.76 บาท/ลิตร จึงทำให้ประชาชนเลือกใช้แก๊สโซฮอล์ 95 มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเริ่มเห็นสัญญาณของการชะลอตัวลงโดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ การขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า (BEV HEV และ PHEV) มีสัดส่วนร้อยละ 5.67 ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ไม่เกิน 7 คน รวมถึงการใช้งานระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีการขยายตัวของผู้โดยสารอย่างต่อเนื่องคิดเป็นร้อยละ 15.262 เทียบกับปีก่อน

การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการ เฉลี่ยอยู่ที่ 68.16 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ประกอบด้วยดีเซลหมุนเร็วธรรมดา เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 68.03 ล้านลิตร/วัน ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า ประกอบกับนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน ในปัจจุบันกรมธุรกิจพลังงาน ได้ปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลลงเป็น ดีเซลหมุนเร็ว บี 5 มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 เนื่องจากราคาผลปาล์มทะลายและน้ำมันปาล์มดิบปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อราคาไบโอดีเซล สำหรับการใช้ดีเซลพื้นฐาน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.85 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ลดลงมาอยู่ที่ 0.132 ล้านลิตร/วัน ทั้งนี้ ภาพรวมปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลอยู่ที่ 70.01 ล้านลิตร/วัน

การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 19.81 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 มีปัจจัยมาจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและการบริการผ่านมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่าจากสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 – 31 มกราคม 2568  มีจำนวนสะสม 3.709 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว รวมถึงการขยายตัวของการขนส่งสินค้าทางอากาศ ส่งผลให้ปริมาณการใช้ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน

การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 16.66 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทุกรายสาขา ประกอบด้วยการใช้ในภาคครัวเรือน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.17 ล้าน กก./วัน ภาคปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.10 ล้าน กก./วัน ภาคขนส่ง เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.306 ล้าน กก./วัน จากการขยายตัวของกลุ่มรถแท็กซี่เป็นสำคัญ และภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.09 ล้าน กก./วัน

การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 2.47 ล้าน กก./วัน ลดลงร้อยละ 15.3 โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับจำนวนรถจดทะเบียน NGV สะสม และจำนวนสถานีบริการ NGV ที่มีแนวโน้มปิดตัวลง ทั้งนี้ ปตท. ยังคงช่วยเหลือโดยตรึงราคาให้กับ กลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะที่ถือบัตรสิทธิประโยชน์ ปัจจุบันดำเนินการอยู่ในระยะที่ 2 (1 ก.ค. 2567 – 31 ธ.ค. 2568)

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เฉลี่ยอยู่ที่ 1,126,251 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 94,549 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 1,095,257 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 92,565 ล้านบาท/เดือน สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 30,993 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 49.2 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 1,984 ล้านบาท/เดือน

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เฉลี่ยอยู่ที่ 146,143 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 8.0 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 13,819 ล้านบาท/เดือน

ปตท. ทุ่ม 1.6 หมื่นลบ. ซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 470 ล้านหุ้น หวังสร้างความเชื่อมั่นและความสามารถในการทำกำไร

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ขอเรียนต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ทราบว่าที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. ครั้งที่ 3/2568 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 ได้มีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้น คืนเพื่อบริหารทางการเงิน (Treasury Stock) 

ภายในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 16,000 ล้านบาท และจำนวนหุ้นที่จะ ซื้อคืนไม่เกิน 470 ล้านหุ้น หรือ คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 1.65 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ด้วยวิธีจับคู่ อัตโนมัติผ่านระบบการซื้อขายของ ตลท. (Automatic Order Matching: AOM) และมีกำหนดระยะเวลาซื้อหุ้น คืนไม่เกิน 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2568 ถึงวันที่ 23 กันยายน 2568 

ทั้งนี้ บริษัทมีประมาณการเงินสดคงเหลือประมาณ 124,194 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีประมาณการหนี้สินที่จะถึงกำหนดชำระภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่จะเริ่มซื้อหุ้นคืนประมาณ 84,325 ล้านบาท 

โดยยังไม่รวมกับกระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงานและกระแสเงินสดรับจากการลงทุนที่บริษัทจะได้รับในอีก 6 เดือนข้างหน้าประมาณ 63,944 ล้านบาท ดังนั้นบริษัทจึงมีสภาพคล่องเพียงพอในการชำระหนี้ที่จะถึงกำหนดภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่จะซื้อหุ้นคืน และมีกระแสเงินสดส่วนเกินเพียงพอที่จะนำมาซื้อหุ้นคืนตามโครงการนี้

สำหรับ เหตุผลในการซื้อหุ้นคืนเพื่อเป็นการบริหารสภาพคล่องส่วนเกินของบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) และอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) รวมถึงเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ลงทุนและผู้ถือหุ้นถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท

TDRI เตือนรัฐหยุดแจกเงินดิจิทัล หลังไปไม่ช่วยกระตุ้น ศก. แนะใช้งบแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวแทน

(21 มี.ค. 68) ดร.สมชัย จิตสุชน เตือนรัฐ หยุดเดินหน้าโครงการเงินดิจิทัลในเฟสต่อไป แนะใช้งบแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวแทน ขณะที่เฟส 3 หนุนทบทวนเงื่อนไขเปิดทางใช้เงินหมื่นซื้อคอร์สอัปสกิล-รีสกิลได้ หวังพัฒนาทักษะคน เตือน รัฐบาลรับมือเศรษฐกิจซบเซา จากปัจจัยภายนอก-ในประเทศ โดยเฉพาะความปั่นป่วนจากสงครามการค้า – หนี้ครัวเรือนสูง ห่วงภาระการคลัง ทำเรตติงประเทศตก

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงนโยบายเงินดิจิทัลเฟส 3 ที่ให้กับผู้มีอายุ 16-20 ปีว่า มีการคาดการณ์กันว่าในเฟสที่ 3 นี้อาจได้ผลบ้าง เพราะกลุ่มคนที่แจกยังไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ที่ไม่มากนัก เมื่อได้เงินมาอาจจะใช้เร็ว แต่เชื่อว่าไม่น่าจะได้ผลมากกว่าเฟส 1 ที่มอบให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มเปราะบาง อย่างไรก็ตามหากอยากให้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจจริง ๆ รัฐบาลควรละทิ้งแนวคิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวมากขึ้น และไม่ควรเปิดทางให้นำเงินจำนวนนี้ไปซื้ออะไรก็ได้ แต่ควรกำหนดให้ใช้ไปกับการหาความรู้ อัปสกิล รีสกิล ซึ่งเหมาะสมกับกลุ่มเยาวชนพอดี เพราะเป็นกลุ่มที่กำลังจะเข้าสู่กำลังแรงงานซึ่งอาจจะนำเงินจำนวนนี้ไปเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มเติมให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งแม้จะไม่เห็นผลในระยะสั้นมากนัก แต่ผลในระยะยาวจะดีกว่ากันมากเพราะเป็นการดึงศักยภาพของคนซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยได้ประโยชน์

สำหรับกรณีที่นายกรัฐมนตรียืนยันว่าทุกคนที่เข้าเงื่อนไขจะได้รับสิทธิทั้งหมดนั้น ดร.สมชัย กล่าวว่า เป็นการทำให้ตรงกับที่หาเสียงไว้ แต่เห็นชัดแล้วว่าการดำเนินโครงการทั้งเฟส 1- 2 รวมทั้งเฟส 3 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจไม่ดีจริงอย่างที่หาเสียงไว้ จึงควรทบทวน  

“ตอนที่หาเสียงไว้ และตอนที่เป็นรัฐบาลใหม่ ๆ บอกว่าโครงการนี้จะทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู บางคนบอกจะทำให้ไทยหลุดกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้ด้วยซ้ำ ซึ่งก็ไม่มีคนเชื่อ และวันนี้พิสูจน์แล้วว่าไม่จริง ในเมื่อมันพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง ก็ไม่ควรจะเดินหน้าต่อ เรามองว่าเงินนี้นำไปทําอย่างอื่นที่มีประโยชน์ได้มากกว่าเยอะ” ดร.สมชัยระบุ

เตือนหยุดสุรุ่ยสุร่ายแจกเงินหมื่น แนะใช้งบพัฒนาดิจิทัล อินเทอร์เน็ตฟรี ดึงศักยภาพคน หนุนเศรษฐกิจ ดร.สมชัย กล่าวด้วยว่า นอกจากงบประมาณหลายแสนล้านที่ต้องเสียไปจากการใช้จ่ายที่ไม่มีประสิทธิภาพ ยังมีต้นทุนค่าเสียโอกาสด้วย ซึ่งถือว่าเป็นความสูญเสียที่มากกว่าตัวเงินเสียอีก เพราะอย่าลืมว่าวันนี้ภาคการคลังของไทยอ่อนแอมาก ประเทศไทยมีเงินน้อยลง ประชาชนก็มีเงินน้อยลง เพราะฉะนั้นนำเงินงบประมาณไปใช้ต้องคิดอย่างระมัดระวัง ถ้านำไปใช้ในเรื่องที่ไม่สมควรใช้ จนทำให้เรื่องที่สมควรใช้จะถูกตัดทิ้งไปก็น่าเสียดาย เช่น เรื่องการพัฒนาทักษะของคน การปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤตโลกร้อน การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งระบบสวัสดิการสังคมของไทยก็ยังมีปัญหาในบางจุด และเรื่องของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัล ซึ่งจะทําให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งกันดีขึ้น ทั้งหมดนี้จําเป็นต้องใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลในการเดินหน้า แต่อาจถูกชะลอออกไปเพราะเอาเงินมาใช้ในเรื่องที่ไม่สมควรใช้แบบนี้ ดังนั้นไม่สนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้าเงินดิจิทัลในเฟสต่อไปอีก

“รัฐบาลควรนำงบประมาณไปลงทุนในเรื่องของดิจิทัล ทําอินเทอร์เน็ตฟรี ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งเรื่องนี้จะช่วยได้มาก ในเรื่องของผลิตภาพของประชาชน เพราะเกิดการพัฒนาตัวเองและสร้างรายได้ ผมเชื่อว่ามีอัจฉริยะที่ซ่อนอยู่ตามซอกมุมต่าง ๆ ของประเทศอยู่มาก เพียงแต่ว่าเขาไม่ได้รับโอกาส รัฐบาลก็ควรจัดสรรงบประมาณเพื่อให้แน่ใจว่าเขาจะได้ใช้ประโยชน์จากศักยภาพที่เขามีอยู่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าทํา แต่คงไม่ได้ทํา ถ้าเกิดว่าต้องมาจ่ายเงินแบบสุรุ่ยสุร่ายแบบนี้ไปเรื่อย ๆ” ดร.สมชัยระบุ

สงครามการค้าจะทำเศรษฐกิจไทยซบเซา ห่วงภาคการคลังมีปัญหา หนี้รัฐ-ครัวเรือนสูงชนเพดาน ดร.สมชัย ในฐานะอดีตกนง.ยังมีข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล ว่า ต้องพยายามแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างมากขึ้น อย่าเน้นระยะสั้น เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต กาสิโน พนันออนไลน์ แต่ควรเพิ่มน้ำหนักในกลุ่มมาตรการระยะยาวมากขึ้น และจะต้องเตรียมรับมือกับความยากลําบากที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสงครามการค้าที่คาดว่าจะมาแบบเต็มรูปแบบเมื่อเทียบกับยุคทรัมป์ 1.0  ต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในหลายปีที่ผ่านมาถูกมองว่าดีเกินไปจนน่าจะมาถึงอาจจะซบเซาลงตามวัฏจักร รวมทั้งเรื่องของสงครามยูเครนในยุโรป อาจส่งผลกระทบต่อไทยในฐานประเทศที่พึ่งพาการส่งออก และท่องเที่ยวมาก ขณะที่ในประเทศเองหนี้ครัวเรือนสูง ความสามารถในการผลิตไม่ได้ดีมากนัก เพราะฉะนั้นจะมีปัจจัยทั้งภายนอกและภายในเข้ามาพร้อมกัน

“เศรษฐกิจคงซบเซาต่อไป และมองไป 4 ปีถัดไป ภาพก็จะคล้ายกันถ้าไม่ได้มีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัว และถ้ามีการใช้จ่ายเงินอย่างไม่ระมัดระวังแบบนี้ ภาคการคลังจะมีปัญหา หนี้สาธารณะก็คงจะถึง 70 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพีภายในไม่กี่ปีนี้ ในขณะที่ภาระการจ่ายหนี้ของรัฐบาล ทั้งดอกเบี้ย และเงินต้น ก็มีสิทธิ์ที่จะขึ้นไปใกล้ ๆ ชน 15 เปอร์เซ็นต์ที่กําหนดในกฎหมาย ทั้งหมดนี้จะทําให้เรตติ้งของภาครัฐไทยแย่ลงในสายตาของบริษัทประเมินเรตติง ซึ่งเป็นผลเสียระยะยาว เพราะว่าหมายถึง ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาล และจะลามไปถึงภาคเอกชนอาจจะสูงขึ้น ซึ่งก็จะซ้ำเติมเรื่องของเศรษฐกิจเข้าไปอีก” ดร.สมชัยกล่าว

‘เอกนัฏ’ ฟัน!! บริษัทหัวจง จ.สมุทรสาคร ลักลอบปล่อยน้ำเสีย พบเชื่อมโยงลอบนำเข้าฝุ่นแดง – สั่งหยุดไลน์การผลิตทันที

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังจากได้รับข้อมูล มีขบวนการลักลอบนำเข้า 'ฝุ่นแดง' มาหลอมเพื่อส่งออกต่างประเทศ ซึ่งฝุ่นแดงเข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นของเสียเคมีวัตถุตามบัญชี 5.2 ของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 รวมทั้งเข้าข่ายเป็นของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล จากข้อมูลพบเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องหลายจังหวัด จึงได้สั่ง “ทีมตรวจการสุดซอยกระทรวงอุตสาหกรรม” ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูล นำโดย นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบบริษัท หัวจง อุตสาหกรรม จำกัด เนื่องจากมีข้อมูลที่ซัดทอดมายังบริษัทฯ ว่าเป็นโรงงานที่นำฝุ่นแดงเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาตมาใช้เป็นวัตถุดิบ จากการตรวจสอบพบการประกอบกิจการบางส่วนไม่เป็นไปตามเงื่อนไข การอนุญาต ไม่มีเอกสารตรวจความปลอดภัยของระบบไฟฟ้า ระบบกำจัดมลพิษอากาศไม่มีประสิทธิภาพ และพบการลักลอบปล่อยน้ำเสียจากกระบวนการผลิตออกนอกบริเวณโรงงานโดยไม่ผ่านระบบบำบัด ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายแก่ประชาชนและสิ่งแวดล้อมบริเวณใกล้เคียง

นางสาวฐิติภัสร์ฯ กล่าวว่า จนท. ใช้อำนาจตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สั่งการให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการในส่วนการผลิตหลักทันที และสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขโรงงานให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาต พร้อมดำเนินคดีบริษัทและกรรมการบริษัทอีกด้วย

“จากข้อเท็จจริงและการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลเพื่อหาความเชื่อมโยงของผู้ที่เกี่ยวข้องในการนำเข้าฝุ่นแดงโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งจังหวัดปทุมธานี ชลบุรี ระยอง และสมุทรสาคร ได้สั่งขยายผลและหาความเชื่อมโยงผู้กระทำผิดเพื่อดำเนินคดีให้ถึงที่สุด เพื่อหยุดขบวนการนำเข้าฝุ่นแดงโดยไม่ได้รับอนุญาต แฝงตัวเป็นผลิตภัณฑ์ส่งขายต่างประเทศ ทิ้งภาระการจัดการมลพิษไว้ในประเทศไทย ซึ่งจากนี้จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการสกัดและเฝ้าระวังการลักลอบหรือสำแดงเท็จเพื่อนำเข้าของเสียที่ห้ามนำเข้าหรือต้องขออนุญาตก่อนนำเข้ามาในประเทศ” นางสาวฐิติภัสร์ กล่าวทิ้งท้าย

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (20) : ‘รองพีร์’ กับการแก้ปัญหา ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ #3 เดินหน้าฝ่าทุกอุปสรรคหวังกำหนดค่าไฟฟ้าที่ถูกต้องเป็นธรรมมาก

เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ‘รองพีร์’ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ประกาศว่า การลดค่าไฟฟ้าลง 40 สตางค์นั้นสามารถทำได้ แต่ต้องมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้ดีก่อน ด้วยการปรับพอร์ต Pool Gas ให้เป็นสัดส่วนที่มีความชัดเจนระหว่างการนำก๊าซธรรมชาติไปใช้ผลิตไฟฟ้าและใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาจากทั้งประชาชน และผู้ปฏิบัติงาน โดยที่ก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้ระบุว่า สามารถลดค่าไฟลงได้ 17 สตางค์ จากมติการที่ประชุม กกพ. ซึ่งให้สำนักงาน กกพ. นำเสนอทางเลือกให้ภาคนโยบายทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการสนับสนุนทั้งในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) รวมถึง Feed in Tariff (FiT) หรืออัตรารับซื้อไฟฟ้าคงที่ตลอดอายุโครงการผ่านการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้การอุดหนุน Adder และ Feed in Tariff (FiT) สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง 

ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำให้สามารถปรับลดค่าไฟฟ้าลงได้ทันทีประมาณหน่วยละ 17 สตางค์ จากค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท ลดลงเหลือหน่วยละ 3.98 บาท ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤตการณ์ราคาพลังงาน 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้ามีราคาที่สูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยที่ กกพ. ได้รับมอบหมายจากภาคนโยบายให้ทำการศึกษาทบทวนมาตรการบรรเทาผลกระทบค่าไฟฟ้าเพื่อลดค่าครองชีพให้ประชาชน ประกอบด้วยมาตรการหลาย ๆ ทางเลือกเพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า และมาตรการทางเลือกหนึ่งก็คือ การทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า SPP และ VSPP พลังงานหมุนเวียน เพราะที่ผ่านมาเมื่อครบกำหนดอายุสัญญารับซื้อจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าดังกล่าวก็ได้รับการต่อสัญญาในเงื่อนไขเดิมและทำให้ได้รับการอุดหนุนราคารับซื้อมาอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายเดิมที่ต้องการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และรองรับปริมาณความต้องการเพิ่มปริมาณไฟฟ้าสะอาดเข้ามาในระบบให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง มีความพร้อมจนสามารถรับมือกับการแข่งขันในธุรกิจไฟฟ้าได้ดีแล้ว ท่ามกลางการแข่งขันและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ทำให้เกิดการลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าลงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเสนอให้ทบทวนเงื่อนไขการรับซื้อดังกล่าว

สำหรับแนวทางการปรับลดค่าไฟสามารถทำได้จากการบริหารจัดการเชื้อเพลิงนั้น ‘รองพีร์’ ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟจาก 3 แหล่งใหญ่คือ อ่าวไทย เมียนมา และนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตะวันออกกลางที่นำเข้ามาเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG  ซึ่งมีราคาแพง และอิงราคาตลาดโลกที่ผันผวนตลอดเวลา  แต่ถ้าหากสามารถปรับพอร์ต Pool Gas ให้มีความเป็นสัดส่วนระหว่างการนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าและการนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างชัดเจน (เพราะต้นทุนราคาก๊าซจากทั้ง 3 แหล่งนั้นมีราคาที่แตกต่างกัน) ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้อีกถึงเกือบ 40 สตางค์ โดย ‘รองพีร์’ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้ทันค่าไฟงวดต่อไปของปี พ.ศ. 2568 นี้ โดย ‘รองพีร์’ ระบุด้วยว่า ปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้านั้นแตกต่างกับปัญหาเรื่องน้ำมันมากและมีประเด็นที่ต้องจัดการแก้ไขเยอะมากด้วย โดยน้ำมันก็คือน้ำมัน แต่ค่าไฟฟ้าไม่ใช่แค่ค่าไฟฟ้า มีปัจจัย เงื่อนไขต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ทั้ง ค่าก๊าซ ค่าถ่านหิน ค่าขนส่ง ฯลฯ ที่ถูกบวกไว้ในสัญญา ค่าบริหารจัดการเงินกู้ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะดอกเบี้ยของหนี้ที่กฟผ. ต้องรับผิดชอบจากการตรึงราคาค่าไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ ‘รองพีร์’ มองว่า ต้องทำให้ กฟผ. กลับมาแข็งแรงและเป็นหลักให้กับประชาชนในเรื่องของการผลิตไฟฟ้า แล้วกําหนดค่าไฟฟ้าที่ถูกต้องเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งในขณะนี้ ด้วยกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ ของ กฟผ. ทำให้ขาดความคล่องตัวในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ กฟผ. ให้ดียิ่งขึ้น ในการสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติและประชาชนคนไทยต่อไป โดย ‘รองพีร์’ ย้ำว่า ในส่วนของการปรับลดค่าไฟนั้น ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อหาแนวทางปรับลดค่าไฟมาตั้งแต่ข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนกันยายน ปี 2567 ที่ผ่านมา เพื่อหาทางปรับลดค่าไฟฟ้าให้ได้ต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำได้ แต่ต้องปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างและหลักเกณฑ์หลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะการปรับระบบ Pool Gas แต่เนื่องจากต้นปี 2568 เกิดมีประเด็นเพิ่มเติมในเรื่องที่จะให้ลดค่าไฟฟ้าลงมาเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย และ กกพ. ซึ่งกำกับดูแลเรื่องค่าไฟก็บอกว่าสามารถลดได้ ซึ่ง ‘รองพีร์’ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะตลอดปี 2567 ที่ผ่านมา ‘รองพีร์’ ต้องพยายามบริหารจัดการทุก ๆ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้มีการขึ้นค่าไฟฟ้าทุก 4 เดือน และสามารถตรึงค่าไฟฟ้าไว้ได้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยไว้ได้ตลอดปี 

จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยสำนักงาน กกพ. กรณีค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือนมกราคม - เมษายน 2568 ระบุว่า ค่าใช้จ่ายภาครัฐ (Policy Expense) จากการรับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าหน่วยละ 17 สตางค์ ดังนั้น หากคณะรัฐมนตรี หรือ คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้กำหนดนโยบายปรับค่าไฟฟ้ารับซื้อในส่วนนี้ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง จะสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ทันที 17 สตางค์ อย่างเช่น ค่าไฟฟ้าปัจจุบันที่หน่วยละ 4.15 บาท ก็จะลดลงเหลือหน่วยละ 3.98 บาท และจากประมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศตลอดทั้งปี 2568 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 195,000 ล้านหน่วย หากสามารถลดค่าไฟฟ้าได้หน่วยละ 17 สตางค์แล้ว ผู้ใช้ไฟฟ้าจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้ารวมทั้งประเทศได้ถึง 33,150 ล้านบาทเลยทีเดียว จึงขอให้พี่น้องประชาชนคนไทยช่วยกันให้กำลังใจและเอาใจช่วย ‘รองพีร์’ ให้สามารถฝ่าฟันทุก ๆ อุปสรรคและปัญหาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการทำค่าไฟฟ้าให้ถูกกว่าหน่วยละ 4 บาทได้สำเร็จ

ก.พลังงาน เผยข้อพิพาทรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม ‘เอราวัณ-บงกช’ ได้ข้อยุติ หลังผู้รับสัมปทานยอมคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการและจะไม่ฟ้องร้องอีก

ตามมติจากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 ได้รับทราบตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานเกี่ยวกับกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ กรณีบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และมิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น คัมปะนี ลิมิเต็ด ซึ่งปรากฏว่ากระบวนการเจรจาเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านกฎหมายการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและกรณีบริษัท โททาล เอนเนอร์ยี่ส์ อีพี ไทยแลนด์ ได้ข้อยุติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้กรณีข้อพิพาทด้านกฎหมายการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมทั้งของแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ได้ข้อยุติทั้ง 2 กรณี หลังจากที่มีการหารือและดำเนินกระบวนการทางกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง

โดยรายละเอียดของการรื้อถอนสิ่งติดตั้งฯ ของแหล่งเอราวัณ คือตามสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2515/5 และเลขที่ 2/2515/6 แหล่งเอราวัณ เมื่อสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565 ผู้รับสัมปทานต้องส่งมอบสิ่งติดตั้งให้แก่รัฐเพื่อใช้ประโยชน์ต่อในกิจการปิโตรเลียม จำนวน 159 รายการ และต้องดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้ง ที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ จำนวน 52 รายการ และตามสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 5/2515/9 และเลขที่ 3/2515/7แหล่งบงกช เมื่อสิ้นสุดสัมปทานในปี 2565 และปี 2566 ผู้รับสัมปทานต้องส่งมอบสิ่งติดตั้งให้แก่รัฐ จำนวน 66 รายการ และต้องดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ จำนวน 4 รายการ

ทั้งนี้ กรณีเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านกฎหมายการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม ของแหล่งเอราวัณและบงกชเกิดขึ้นเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2562-2563 จากการที่บริษัทผู้รับสัมปทาน ได้แก่ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และมิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น คัมปะนี ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ และบริษัท โททาล เอนเนอร์ยี่ส์ อีพี ไทยแลนด์ ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งบงกช ได้ยื่นข้อเรียกร้องและนำคดี เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ในประเด็นที่เห็นต่างกรณีกระทรวงพลังงานออกกฎหมายเกี่ยวกับการรื้อถอน สิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม ซึ่งกำหนดหน้าที่ให้ผู้รับสัมปทานต้องวางหลักประกันการรื้อถอนและร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนบางส่วนของสิ่งติดตั้งภายหลังสัมปทานปิโตรเลียมสิ้นสุดลง ในปี 2565 - 2566 

โดยตลอดระยะเวลาการพิจารณาคดีนั้น ฝ่ายไทยได้มีการแต่งตั้งที่ปรึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อดำเนินกระบวนการอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งคู่กรณีมีการเจรจาเพื่อหาข้อยุติอย่างฉันท์มิตร จนสามารถยุติข้อพิพาทได้ โดยในกรณีของบริษัท โททาล เอนเนอร์ยี่ส์ อีพี ไทยแลนด์ ได้มีการเพิกถอนข้อพิพาทเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 และกระทรวงพลังงานได้นำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567 

สำหรับกรณีของบริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด และมิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น คัมปะนี ลิมิเต็ด คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดตามยอมเป็นที่พอใจและยอมรับของทุกฝ่าย และจำหน่ายคดีออกจากสารบบ โดยผู้รับสัมปทานได้ยอมรับปฏิบัติตามคำชี้ขาดตามยอมและไม่นำข้อเรียกร้องกลับมาฟ้องร้องอีก ผลของคำชี้ขาดตามยอมดังกล่าวเป็นไปตามหลักการของกฎหมายและภาครัฐไม่เสียประโยชน์ พร้อมทั้งผู้รับสัมปทานได้รับผิดชอบดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่รัฐไม่ได้รับมอบภายใต้การกำกับดูแลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติตามกฎหมายเกี่ยวกับการรื้อถอนมาอย่างต่อเนื่อง 

ผลของการยุติข้อพิพาทในครั้งนี้ส่งผลให้ข้อเรียกร้องทั้งสองคดีถูกเพิกถอนโดยถาวร โดยที่รัฐไม่เสียประโยชน์ และเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับภาคเอกชนสำหรับการลงทุนในประเทศไทย พร้อมทั้งเดินหน้าประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศอย่างต่อเนื่อง  นับว่าเป็นการบรรลุข้อตกลงซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย รวมทั้งการดำเนินงานรื้อถอนของผู้รับสัมปทาน จะไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตปิโตรเลียมของผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตปัจจุบันด้วย

‘สรรพากร’ เตือน!! อินฟลูฯ – ค้าออนไลน์ ยื่นแบบภาษี หลีกเลี่ยง!! โดนค่าปรับ อ่วม!

(22 มี.ค. 68) การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้มีรายได้ปี 2567 กรมสรรพากร ได้กำหนดให้ผู้มีเงินได้ทุกอาชีพยื่นแบบแสดงรายการภาษี ภ.ง.ด. 90/91 ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 มีนาคม 2568 หากยื่นผ่านระบบออนไลน์ เช่น D-MyTax หรือ e-Filing สามารถยื่นได้ถึง 8 เมษายน 2568

นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ปัจจุบันการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถือว่าเป็นรายได้อันดับ 3 ของกรมฯ โดยจัดเก็บอยู่ประมาณปีละ 4 แสนล้านบาท โดยในปีนี้หลังจากมีการเปิดให้ยื่นแบบภาษีแล้วประมาณ 3 เดือน

ปัจจุบันข้อมูลถึงวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมามีการยื่นแบบเข้ามาประมาณ 7.4 ล้านแบบสูงกว่าปีก่อน 13% มีการขอคืนประมาณ 3.5 ล้านแบบ หรือประมาณ 46.9% โดยกรมมีการคืนภาษีไปแล้วประมาณ 82% ส่วนที่เหลืออีก 18% ยังติดเกณฑ์ตรวจของกรมสรรพากรอาจเป็นเรื่องของเอกสาร หรือขั้นตอนที่กรมฯตรวจสอบพบว่ามีรายได้อื่น ๆ ส่วนที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติมนั้นคาดว่าส่วนใหญ่จะทยอยยื่นเข้ามาเพิ่มขึ้นหลังจากนี้

อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า ในภาพรวมคนที่ยื่นแบบภาษีอยู่แล้วแบบที่เป็นมนุษย์เงินเดือนไม่น่าห่วงเท่ากับกลุ่มที่ไม่ยื่นภาษี คือมีเงินได้แต่ไม่เคยยื่นแบบภาษีเลย โดยจากข้อมูลในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มที่ไม่ยื่นภาษีคือกลุ่มที่เป็นคนรุ่นใหม่ หรือเพิ่งเริ่มประกอบอาชีพ โดยเป็นกลุ่มอาชีพที่สอดคล้องกับกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับดิจิทัล เช่น การขายของออนไลน์ การทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อินฟลูเอนเซอร์ รับรีวิวสินค้า ซึ่งกรมฯก็มีการหารือกันว่าต้องให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ

ทั้งนี้ จนถึงขณะนี้ก็เหลือเวลาประมาณ 10 กว่าวันในการยื่นแบบภาษีขอให้ยื่นแบบภาษี ส่วนยื่นผิดถูกนั้นยังสามารถคุยกันได้ แต่ถ้าไม่ได้ยื่นเลยอีก 2-3 ปี กรมฯตรวจเจอแน่เพราะในเรื่องของธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทิ้งร่องรอยไว้อยู่แล้ว ขณะที่กรมฯเองในโครงสร้างก็มีหน่วยงานที่ตามเรื่องนี้โดยตรง

กลุ่มที่เป็นห่วงคือการขายของออนไลน์ การทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อินฟลูเอนเซอร์ รับรีวิวสินค้า เพราะดูข้อมูลแล้วไม่ยื่นกันเลย เราอยากให้มีการยื่นภาษีให้ถูกต้องและให้ความสำคัญมากเพราะการมาเรียกปรับทีหลังไม่มีประโยชน์ต่อทั้งกรมฯและผู้เสียภาษี

กลุ่มอาชีพอินฟลูเอนเซอร์ ขายของออนไลน์ และรับรีวิวสินค้า ในการยื่นภาษีต้องดูว่าประเภทของรายได้เป็นอย่างไร ดังนี้

1.กรณีรับเป็นค่าจ้างก็เหมือนการยื่นแบบรายได้ปกติ 

2.กรณีมีต้นทุนในการรีวิวสินค้าก็หักค่าใช้จ่ายและยื่นรายได้ตามจริง 

3.กรณีเป็นผู้มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษี VAT ที่ต้องนำภาษีส่งให้รัฐ 

4.กรณีรายได้ที่รับในรูปแบบสินค้า เช่น ที่พัก อาหารในโรงแรม ต้องคิดเสมือนเป็นเงินได้ และประเมินเป็นรายได้ที่นำส่งรายได้และต้องยื่นแบบให้ถูกต้องเช่นกัน

ทั้งนี้ อาชีพอินฟลูฯ ต้องยื่นรายได้กลางปีด้วยไม่ใช่แค่ยื่นภาษีต้นปีแล้วจบ รวมทั้งค่าลดหย่อนภาษีมีเช่นเดียวผู้มีเงินได้อื่น โดยขอลดหย่อนภาษีได้กว่า 20 รายการ คิดเป็นค่าลดหย่อนเต็มจำนวนสูงสุดมากกว่า 1 ล้านบาทต่อปี ซึ่งต้องบริหารจัดการการลดหย่อนภาษี โดยปรึกษาได้ที่กรมสรรพากรทั้งในสำนักงานสรรพากรพื้นที่และช่องทางออนไลน์

ในส่วนของการลงโทษคนที่ไม่เสียภาษีเงินได้ อธิบดีกรมสรรพากรระบุว่า จะมีทั้งโทษแพ่งและอาญาซึ่งในปัจจุบันมักจะใช้โทษทางแพ่งโดยมีทั้งส่วนของเบี้ยปรับและเงินเพิ่มโดยค่าปรับนั้นมีตั้งแต่ 0 – 2 เท่าของภาษีที่ต้องจ่าย นอกจากนั้นยังมีส่วนเงินเพิ่มคิดที่อัตรา 1.5% ต่อเดือน ซึ่งหากปรับกันเต็มที่นั้นอาจเกินกว่ามูลค่าภาษีที่ต้องเสียจริงกว่า 4 เท่า  ตรงนี้เชื่อว่าไม่มีใครอยากจ่าย ส่วนโทษทางอาญากรมฯก็ไม่อยากจะใช้โทษทางอาญายกเว้นว่าเป็นการกระทำที่มีความผิดร้ายแรงมาก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top