Saturday, 5 April 2025
Econbiz

Sharp ปลุกตลาด!! ปรับกลยุทธ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เปิดตัวสินค้าใหม่มากสุดรอบ 10 ปี ยกคุณภาพท้าชนแบรนด์จีน

(21 ก.พ.68) วิโรจน์ ทานัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด ผู้ผลิตและทำตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ชาร์ป (Sharp) ในไทยและอาเซียน เปิดเผยว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับชาร์ป ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Appliance) ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเน้นการออกแบบที่เรียบง่าย ใช้งานได้หลากหลาย และสามารถเป็นส่วนหนึ่งของเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน

“ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับดีไซน์และฟังก์ชันมากขึ้น เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ใช่แค่ของใช้ แต่ต้องเข้ากับการตกแต่งบ้านได้” วิโรจน์กล่าว พร้อมเสริมว่า “แนวทางนี้ยังช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ของแบรนด์ญี่ปุ่นที่ผู้บริโภคไทยให้ความไว้วางใจมาอย่างยาวนาน”

เปิดตัวสินค้าครั้งใหญ่ รับแผนปี 2568 Sharp เตรียมเปิดตัวสินค้าจำนวนมากที่สุดในรอบ 10 ปี โดยในไตรมาสแรกของปี 2568 จะเปิดตัวสินค้าใหม่ 5 รายการ ได้แก่

-พัดลม Sharp ขนาด 18 นิ้ว ดีไซน์ใหม่
-หม้อหุงข้าว Sharp CUBE รุ่น 1 ลิตร ออกแบบให้เข้ากับทุกครัวเรือน
-หม้อทอดไร้น้ำมัน Sharp รุ่น 4.2 ลิตร, 6.8 ลิตร และ 7 ลิตร รองรับไลฟ์สไตล์การทำครัวยุคใหม่
-เตารีดไอน้ำ Sharp 3 รุ่น พร้อมรุกตลาดเตารีดไอน้ำเต็มรูปแบบ
-เครื่องทำน้ำอุ่น Sharp รุ่น MODI (โมดี้) ขนาด 3,500 วัตต์ และ 4,500 วัตต์ ปรับดีไซน์ใหม่

หลังจากไตรมาสแรก บริษัทฯ ยังมีแผนทยอยเปิดตัวสินค้าเพิ่มเติมตามฤดูกาลตลอดปี

แม้ว่าตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็กจะเผชิญกับการแข่งขันสูง โดยเฉพาะจากแบรนด์จีนที่ใช้กลยุทธ์ราคาต่ำเป็นจุดขาย แต่ Sharp ยังคงรักษามาตรฐานคุณภาพแบบญี่ปุ่นและเน้นกลยุทธ์การออกแบบเพื่อสร้างความแตกต่าง

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังต้องรับมือกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นราว 5% จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีแผนปรับราคาสินค้า

สำหรับตลาดรวมเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็กในไทย คาดว่าในปี 2568 จะยังเติบโตเล็กน้อยจากปัจจัยลบ เช่น กำลังซื้อที่ลดลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือน อย่างไรก็ตาม Sharp ตั้งเป้าการเติบโตของธุรกิจไว้ที่ 5% เท่ากับปี 2567 ซึ่งมีรายได้ราว 16,000 ล้านบาท

ปัจจุบัน Sharp มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 2 ในกลุ่มพัดลม (20% ของตลาดมูลค่า 7,000-8,000 ล้านบาท) และเป็นผู้นำตลาดหม้อหุงข้าว (ตลาดรวม 4,000 ล้านบาท) ที่ปัจจุบันยังครองส่วนแบ่งอันดับ 1 ในตลาด รวมถึงเตารีดที่มีมูลค่าตลาดราว 2,000 ล้านบาท

“เราจะเดินหน้าขยายตลาดผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด ทราดิชั่นนัลเทรด และออนไลน์ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น” วิโรจน์กล่าว

‘อินเตอร์ลิ้งค์ฯ’ ต้อนรับศักราชใหม่!! คว้างานจาก ‘การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)’ ปรับปรุงก่อสร้างเคเบิลใต้ดิน เมืองตะพานหิน จังหวัดพิจิตร มูลค่า 275.40 ล้านบาท

(22 ก.พ. 68) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญ งานโครงการด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ต้อนรับศักราชแห่งปี 2568 ด้วยการเริ่มงานโครงการเคเบิลใต้ดิน จากการเป็นผู้ชนะการประกวดราคา และเข้าลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้าง จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ในการก่อสร้าง และปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดิน ในพื้นที่เทศบาลเมืองตะพานหิน อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร มูลค่า 275.40 ล้านบาท

การลงนามในสัญญาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายอุดมศักดิ์ เต็มวงษ์ รองผู้ว่าการปฏิบัติการระบบไฟฟ้า ร่วมลงนามในสัญญา (MOU) กับนายธนา ตั้งสกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ILINK ที่เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้า และพลังงาน เป็นตัวแทนเซ็นลงนามในครั้งนี้

โดยโครงการฯ นี้ มีระยะเวลาการดำเนินงาน 450 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งเริ่มงาน โดยมีมูลค่างานเป็นจำนวนเงิน 275,400,000 บาท (สองร้อยเจ็ดสิบห้าล้านสี่แสนบาทถ้วน) นับว่าโครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดินนี้ เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ในการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพ ลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และเพิ่มความสวยงามของเมือง 
ซึ่ง บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการโครงการด้านวิศวกรรมไฟฟ้า โดยเฉพาะงานระบบสายไฟฟ้าใต้ดินที่ต้องการมาตรฐานสูง ทั้งด้านการออกแบบ การก่อสร้าง และการควบคุมคุณภาพ ตลอดจนต้องการพัฒนาโครงข่ายระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง เสริมศักยภาพระบบจำหน่ายไฟฟ้า ลดปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ และเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในเมือง หรือ เทศบาลเมืองขนาดใหญ่

"อินเตอร์ลิ้งค์ฯ ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของประเทศ โดยที่เรามีความพร้อมทั้งทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงประสบการณ์ในการดำเนินโครงการลักษณะนี้มาแล้วหลายโครงการ รวมทั้งเรามุ่งมั่นที่จะส่งมอบงานที่มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน และแล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงการนี้" นายสมบัติ ประธานกรรมการ กล่าวเสริมตอนท้าย   

‘ธนาคารโลก’ ห่วง!! ฐานะการคลังของประเทศไทย ชี้!! แจกเงินดิจิทัล ดัน GDP แค่ 0.3% แลกหนี้พุ่ง

(22 ก.พ. 68) ธนาคารโลก เผยแพร่รายงานติดตามเศรษฐกิจไทย กุมภาพันธ์ 2568 โดยได้ประเมินเบื้องต้นว่ามาตรการเงินอุดหนุน 10,000 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตรอบแรกสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 14 ล้านคน หรือประมาณ 42% ของประชากรในกลุ่มรายได้ต่ำสุด อาจช่วยกระตุ้นการเติบโตของ GDP ในปีพ.ศ. 2567 ได้ประมาณ 0.3% โดยอิงจากตัวคูณทางการคลังที่ 0.4

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวนี้มาพร้อมกับต้นทุนทางการคลังที่สูงถึง 145,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.8% ของ GDP

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในปีพ.ศ. 2568 โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าปัจจัยภายนอกจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อย

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.6% ในปีพ.ศ. 2567 เป็น 2.9% ในปีพ.ศ. 2568 (แผนภาพที่ ES 5 และ ตาราง ES 1) โดยมีการฟื้นตัวของการลงทุนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจแม้ว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงบ้าง โดยคาดว่าการท่องเที่ยวจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดได้ภายในกลางปีพ.ศ. 2568 

ส่วนการบริโภคภาคเอกชนจะได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการเงินอุดหนุน (ดิจิทัลวอลเล็ต) 

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคอาจเผชิญอุปสรรคจากวงจรการลดหนี้และมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น ในด้านการค้า การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน แม้ว่าตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกจะอยู่ในภาวะขาขึ้นก็ตาม 

สำหรับปีพ.ศ. 2569 คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเล็กน้อย โดยมีอัตราการขยายตัวประมาณ 2.7% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะแตะระดับศักยภาพได้ภายในปีพ.ศ. 2571

ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดในปี พ.ศ. 2568 คาดว่าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากรายรับของภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวและต้นทุนการขนส่งที่ลดลง โดยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเพิ่มขึ้นจาก 2.4% ของ GDP ในปีพ.ศ. 2567 เป็น 3.6% ของ GDP ในปีพ.ศ. 2568 ด้วยแรงหนุนจากการค้าภาคบริการ อย่างไรก็ตามดุลการค้าสินค้าคาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยเนื่องจากอุปสงค์ด้านการส่งออกที่ชะลอตัวลงจากคู่ค้าหลัก

สำหรับปีพ.ศ. 2568 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 0.4% ในช่วงปีที่ผ่านมาเป็น 0.8% แต่ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและราคาอาหารคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามรายได้ครัวเรือนที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการบริโภคและการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ในทางตรงกันข้าม ราคาพลังงานคาดว่าจะปรับตัวลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันโลกที่อ่อนตัวลดลง

ด้วยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งบริหารงบประมาณ การดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดว่าการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นจาก 1.3% ของ GDP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็น 3.1% ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งเป็นผลจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 หลังจากเกิดความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 

สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยเน้นไปที่การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ทั้งนี้งบประมาณดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมูลค่า 450,000 ล้านบาทที่รัฐบาลประกาศไว้ก่อนหน้านี้ซึ่งได้มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 140,000 ล้านบาทสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของมาตรการและแหล่งเงินทุนโดยรวมภายใต้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ยังคงไม่ปรากฏอย่างชัดเจน

ธนาคารโลกประเมินว่า นโยบายการคลังของประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายสามประการ ได้แก่ การตอบสนองต่อความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสำหรับบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ การฟื้นฟูการลงทุนเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน

โดยคาดว่าระดับหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นเป็น 64.8% ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และมีแนวโน้มเข้าใกล้เพดานหนี้สาธารณะที่ 70% ของ GDP ภายในอีกห้าปีข้างหน้า

แม้ว่าระดับหนี้สาธารณะของประเทศไทยยังคงมีความยั่งยืนทางการคลังโดยมีหนี้สกุลเงินต่างประเทศในระดับต่ำ (1.0% ของหนี้ทั้งหมด) และมีต้นทุนการระดมทุนที่ค่อนข้างต่ำ แต่แรงกดดันในการใช้จ่ายทางสังคมและการลงทุนของภาครัฐในทุนมนุษย์เพิ่มสูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ  และมาตรการกระตุ้นการบริโภคเพื่อการเติบโต เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ได้เพิ่มแรงกดดันทางการคลัง ทั้งนี้ข้อเสนอแนะสำคัญในการเพิ่มความยืดหยุ่นทางการคลังท่ามกลางความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น มีดังนี้:

• ปรับลดการอุดหนุนพลังงานที่ไม่เป็นธรรมต่อการกระจายรายได้ (เช่น ในภาคการขนส่ง ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) ซึ่งส่งผลให้กองทุนน้ำมันของรัฐขาดดุล โดยควรเปลี่ยนไปเน้นการให้ความช่วยเหลือทางสังคมและการโอนเงินแบบมุ่งเป้ามากขึ้นเพื่อสนับสนุนครัวเรือนที่เปราะบางและบรรเทาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

• เพิ่มรายได้จากภาษี ส่งเสริมการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างพื้นที่ทางการคลัง แม้ว่าการจัดเก็บรายได้ภาครัฐจะปรับตัวดีขึ้นถึง 16% ของ GDP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 แต่ก็ยังคงต่ำกว่าประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง จึงจำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ควบคู่ไปกับการลดความยากจน เช่น การปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มและการนำมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ร่วมกัน เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีมาตรการอื่นๆ ได้แก่ การขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การปรับลดแรงจูงใจทางภาษีที่ไม่จำเป็น การขยายการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง การปรับปรุงการปฏิบัติตามภาษี และการนำภาษีคาร์บอนมาใช้

• เร่งการลงทุน การลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีใหม่ และทุนมนุษย์ที่สนับสนุนและส่งเสริมซึ่งกันและกัน จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนและกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคที่ล้าหลังได้ (ดูบทที่ 2 เรื่องนวัตกรรมท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลง: เสริมความแข็งแกร่งให้แก่ SMEs และสตาร์ตอัป และรายงานเศรษฐกิจโลกประจำประเทศไทย มิถุนายน 2567: การปลดล็อกศักยภาพการเติบโตของเมืองรอง)

ธนาคารโลก ยังระบุอีกว่า แม้ว่าแนวทางการผ่อนปรนมาตรการทางการเงินอย่างระมัดระวังจะเหมาะสมในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่การดำเนินมาตรการที่สมดุลระหว่างการบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนอย่างตรงเป้าหมายและการลดข้อจำกัดด้านสินเชื่อให้น้อยที่สุดควบคู่ไปกับรักษาเสถียรภาพทางการเงินก็ยังคงมีความจำเป็น ในระยะต่อไป 

การกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดสำหรับการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือหนี้ควรเชื่อมโยงกับกลยุทธ์การออกจากโครงการในอนาคต (Exit Strategy) เพื่อลดความไม่แน่นอนของเจ้าหนี้และสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคการเงิน ผู้ดำเนินนโยบายจำเป็นต้องรักษามาตรฐานการกำกับดูแลที่สำคัญ (Prudential Regulations) อย่างระมัดระวัง

เช่น กรอบการจำแนกความเสี่ยงของสินเชื่อ (Loan Classification Framework) ข้อกำหนดในการจัดสรรเงินสำรอง (Provisioning Requirements) และมาตรฐานการบัญชีที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในระดับสากล รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการปรับเปลี่ยนคำจำกัดความหรือการจำแนกประเภทที่อาจบั่นทอนความเข้มแข็งของระบบการกำกับดูแล

ทั้งนี้มาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจควรเป็นการดำเนินการควบคู่ไปกับการปฏิรูปนโยบายระยะยาวและเชิงโครงสร้างโดยหน่วยงานที่มีอำนาจในภาคการเงิน อาทิการปรับปรุงการคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน (Financial Consumer Protection) และการนำกรอบการกู้ยืมอย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending Framework) เช่น การกำหนดขีดจำกัดอัตราส่วนการชำระหนี้ (Debt Service Ratio Limits) และการใช้กรอบการกำกับดูแลเชิงมหภาค (Macroprudential Framework) เป็นต้น

‘มาสด้า’ ประกาศดัน!! โรงงานผลิตในไทย ให้ขึ้นเป็นศูนย์กลาง ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ เผย!! เตรียมผลิต รถยนต์ไฟฟ้า คอมแพ็คเอสยูวี 100,000 คันต่อปี ส่งออกทั่วโลก

(22 ก.พ. 68) มาสด้าประกาศแนวทางการดำเนินธุรกิจครั้งประวัติศาสตร์ขึ้นในประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ดีลเลอร์ และพันธมิตรทางธุรกิจ

นำทัพโดย มร. มาซาฮิโร โมโร ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น พร้อมด้วย นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย 

ถ่ายทอดวิสัยทัศน์ครั้งสำคัญสุดในรอบทศวรรษ เพื่อเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อการก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืน ภายใต้ธีม The Future, Crafted by the Joy of Driving ชูวิสัยทัศน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยียานยนต์ใหม่ล่าสุด เพื่อส่งมอบความสุขในการขับขี่ตามแนวทาง Multi-solution ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าควบคู่กับแผนเปิดตัวรถยนต์ใหม่ 5 รุ่น ภายใน 3 ปี เชื่อมั่นระบบเศรษฐกิจและศักยภาพของประเทศไทย

ประกาศทุ่มเงินลงทุนอีกกว่า 5,000 ล้านบาท ผลักดันโรงงานผลิตรถยนต์ในไทยขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตและพัฒนารถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหลากหลายรูปแบบ หรือ xEVs นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านไปยังรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบในอนาคต โดยทำการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าคอมแพ็คเอสยูวี 100,000 คันต่อปี เพื่อจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกไปทั่วโลก

WHA ประกาศแผน Spin-off WHAID บริษัท Flagship ในธุรกิจกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เตรียมเดินหน้า!! เข้าจดทะเบียนใน ‘ตลาดหลักทรัพย์ฯ’ พร้อมมุ่งขยายธุรกิจทั้ง 5 กลุ่ม

(24 ก.พ. 68) บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (“WHA” หรือ “บริษัทฯ”) แจ้งมติคณะกรรมการบริษัทฯ เดินหน้าแผนเตรียมการออกและเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (“WHAID”) ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (“IPO”) เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“SET”) โดยจำนวนหุ้นสามัญที่จะเสนอขายในครั้งนี้คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 22.73 (ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ WHAID ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO) ซึ่ง บริษัทฯ จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ WHAID โดยจะถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75.95 (ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ WHAID ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO)

กลุ่มบริษัทฯ เล็งเห็นถึงโอกาสในการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ผ่านแผนการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นในระยะยาวสำหรับทั้ง 5 กลุ่มธุรกิจหลัก ซึ่งได้แก่ 

1) ธุรกิจโลจิสติกส์ 

2) ธุรกิจโมบิลิตี้ (ภายใต้แบรนด์ Mobilix) 

3) ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม 

4) ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน 

5) ธุรกิจดิจิทัล โดยแผนการเสนอขายหุ้น IPO ของ WHAID จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินและเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงโอกาสในการสร้างการเติบโตของทุกธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต

นอกจากนี้ คณะกรรมการของบริษัทฯ และของ WHAID ยังมีมติอนุมัติการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (“WHAUP”) ผ่านการขายหุ้น WHAUP ในสัดส่วนร้อยละ 10.00 โดย WHAID และบริษัทย่อยของ WHAID ให้แก่ WHA เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการเพิ่มความยืดหยุ่นและเสริมสร้างความสามารถเชิงกลยุทธ์ในการประกอบธุรกิจของ WHAUP และเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นของทั้ง WHA, WHAID และ WHAUP โดยภายหลังการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ WHA และ WHAID จะมีสัดส่วนการถือหุ้นใน WHAUP ที่ร้อยละ 10.00 และร้อยละ 61.59 ตามลำดับ ทั้งนี้ คาดว่าธุรกรรมการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะแล้วเสร็จก่อนการเสนอขายหุ้น IPO ของ WHAID

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า WHAID ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งประกอบธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม โดยปัจจุบัน WHAID มีนิคมอุตสาหกรรมกว่า 15 แห่ง และมีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมกว่า 78,500 ไร่ ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 13 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 2 แห่ง (และส่วนขยายของนิคมอุตสาหกรรมเดิมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 2 แห่ง) นอกจากนี้ ยังมีโครงการนิคมอุตสาหกรรมใหม่และส่วนขยายของนิคมอุตสาหกรรมเดิมที่รอการพัฒนาอีกจำนวน 7 โครงการ โดย WHAID ได้มุ่งมั่นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate) อย่างต่อเนื่อง พร้อมเป็นพันธมิตรที่ให้บริการโซลูชั่นแบบครบวงจรแก่ลูกค้า

กลุ่มบริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการเติบโตของธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมจากแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตจากผู้ลงทุนต่างชาติ โดยทั้งประเทศไทยและประเทศเวียดนาม ถือเป็นพื้นที่ตั้งยุทธศาสตร์ที่เป็นศูนย์รวมของห่วงโซ่อุปทานที่ครบวงจร อีกทั้งมีความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภค และมีความมั่นคงด้านพลังงาน ด้วยเหตุนี้ กลุ่มบริษัทฯ จึงได้พิจารณาให้ WHAID ซึ่งประกอบธุรกิจหลักในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม เตรียมความพร้อมในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รองรับการเติบโตของธุรกิจด้วยโครงสร้างเงินทุนที่เหมาะสม รวมถึงจะช่วยเพิ่มช่องทางการระดมทุนให้ WHAID สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ด้วยตนเองมากขึ้นในอนาคต การระดมทุนของ WHAID ครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงของธุรกิจพัฒนานิคมและที่ดินอุตสาหกรรมของกลุ่มบริษัทฯ ในระยะยาว ทั้งจากการเติบโตจากภายใน (Organic Growth) และการสร้างความพร้อมเพื่อคว้าโอกาสจากการเติบโตจากภายนอกผ่านการเข้าซื้อกิจการ รวมถึงทรัพย์สินอื่นๆ (Inorganic Growth) ในอนาคต

ในการ IPO ของ WHAID ในครั้งนี้ WHAID และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ร่วมเสนอขายหุ้น จะเสนอขายหุ้นสามัญรวมเป็นจำนวนไม่เกิน 970,518,600 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 22.73 (ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ WHAID ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO) ซึ่งจะประกอบไปด้วย 2 ส่วน ได้แก่ 1) หุ้นสามัญเพิ่มทุนของ WHAID คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 9.09 (ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ WHAID ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO) และ 2) หุ้นสามัญเดิมของ WHAID คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 13.64 (ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ WHAID ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO) ทั้งนี้ ภายหลังการ IPO WHAID ยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ โดยบริษัทฯ จะถือหุ้นใน WHAID ทั้งทางตรงและทางอ้อมในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75.95 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ WHAID ภายหลังการ IPO ทั้งนี้ WHAID ร่วมกับคณะที่ปรึกษาอยู่ระหว่างการจัดเตรียมแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนเพื่อยื่นให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีแผนที่จะปรับโครงสร้างการถือหุ้นใน WHAUP โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความสามารถเชิงกลยุทธ์ของ WHAUP ในการขยายธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงานเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนสูง โดยการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะส่งผลให้ ทั้งบริษัทฯ และ WHAID เป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงของ WHAUP  จะเพิ่มความยืดหยุ่นสำหรับ WHAUP ในกรณีที่จำเป็นต้องจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายธุรกิจในอนาคต 

การเดินหน้าแผน Spin-off WHAID และปรับโครงสร้างการถือหุ้นใน WHAUP ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ขับเคลื่อนทุกธุรกิจหลักของบริษัทฯ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยแต่ละธุรกิจจะมีโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่ง และสามารถนำเงินจากการเสนอขายหุ้นสามัญเดิมของ WHAID ไปสนับสนุนแผนการเติบโตเพื่อสร้างมูลค่าระยะยาวแก่ผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีเป้าหมายและงบประมาณการลงทุนในระยะ 5 ปี (2568-2572) สำหรับแต่ละธุรกิจ ดังนี้

1) ธุรกิจโลจิสติกส์ บริษัทฯ มีเป้าหมายภายในปี 2568 ที่จะเพิ่มสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการเป็นประมาณ 3,309,000 ตารางเมตร มีโครงการให้เช่าพื้นที่ใหม่ประมาณ 200,000 ตารางเมตร โดยคาดการณ์งบลงทุนภายใน 5 ปีที่ 19,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมขยายธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งในไทยและเวียดนาม 

2) ธุรกิจโมบิลิตี้ (ภายใต้แบรนด์ Mobilix) ตั้งเป้าหมายให้มีผู้ใช้บริการเช่าแล้ว 1,700 คันภายในปี 2568 และ 20,000 คัน ภายในปี 2572 โดยบริษัทฯ ได้กำหนดงบลงทุนภายใน 5 ปี ที่ 30,000 ล้านบาท ธุรกิจโมบิลิตี้เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง ซึ่งในปัจจุบันประกอบไปด้วย 3 บริการหลัก ได้แก่ บริการให้เช่ารถยนต์ไฟฟ้า (EV Rental Service) บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (On Premise & Public EV Charging Solution) และโมบิลิกส์ซอฟต์แวร์โซลูชัน (Mobilix Software Solution) ซึ่งตั้งเป้าให้บริการทั้งในกลุ่ม B2B และ B2C  

3) ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ตั้งเป้าหมายยอดขายที่ดินเป็นจำนวน 2,350 ไร่ ในปี 2568 และคาดการณ์งบลงทุนภายใน 5 ปี ที่ 37,000 ล้านบาท โดยธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมจะมุ่งรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทย และการเร่งขยายการเติบโตในประเทศเวียดนาม เพื่อเน้นดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค อิเล็กทรอนิกส์ ดาต้าเซนเตอร์ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ คลาวด์เซอร์วิส  

4) ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน สำหรับธุรกิจสาธารณูปโภค ตั้งเป้าการจำหน่ายน้ำในปี 2568 ที่ 173 ล้านลูกบาศก์เมตร ผ่านการขยายธุรกิจน้ำอุตสาหกรรมและบำบัดน้ำเสียทั้งในไทยและเวียดนาม สำหรับธุรกิจพลังงานจะขยายการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนทั้งในไทยและเวียดนาม โดยตั้งเป้าหมายสำหรับปี 2568 ในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเป็น 1,185 เมกะวัตต์ โดยคาดการณ์งบลงทุนภายใน 5 ปีที่ 29,000 ล้านบาท 

5) ธุรกิจดิจิทัล ตั้งเป้าหมายพัฒนา 5 แอปพลิเคชันใหม่ ภายในปี 2568 และคาดการณ์งบลงทุนภายใน 5 ปี ที่ 4,000 ล้านบาท สำหรับการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆ โดยธุรกิจดิจิทัลนั้นเป็นแกนกลางในการช่วยเสริมความแข็งแกร่งในการนำเทคโนโลยีต่างๆ เช่น AI และ IoT มาประยุกต์ใช้ในแต่ละธุรกิจภายในกลุ่มบริษัทฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงาน 

สุดท้ายนี้ กลุ่มบริษัทฯ ขอตอกย้ำความมั่นใจ ว่าการปรับโครงสร้างเพื่อรองรับการขยายการลงทุนในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และการเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกกลุ่มธุรกิจของบริษัทฯ ตลอดจนสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า และผู้มีส่วนได้เสียในทุกส่วน ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจ “WHA: WE SHAPE THE FUTURE” ในการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับผู้คน สังคม และประเทศไทยต่อไป

‘SPCG’ ประกาศ!! กำไรสุทธิปี 67 ที่ 746.8 ล้านบาท เตรียมจ่าย!! ปันผลครึ่งปีหลัง 0.70 บาทต่อหุ้น

(24 ก.พ. 68) บมจ.เอสพีซีจี หรือ SPCG ประกาศผลการดำเนินงานปี 2567 ทำรายได้จากการขายและการให้บริการ 2,049.2 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 746.8 ล้านบาท เตรียมจ่ายเงินปันผลครึ่งปีหลัง 0.70 บาทต่อหุ้น รวมทั้งปีจ่ายปันผลอัตรา 1.20 บาทต่อหุ้น สะท้อนฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง รวมถึงมีอัตราหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับต่ำ มั่นใจศักยภาพการสร้างรายได้และกำไรในอนาคตของโครงการโซลาร์ฟาร์ม แม้สิ้นสุดระยะเวลาได้รับ Adder บริษัทฯ ยังคงได้รับเงินจากการขายไฟตามปกติ

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG เปิดเผยผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 4 ปี 2567 บริษัทฯ สามารถสร้างรายได้และผลกำไรอย่างต่อเนื่องจากการดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์ฟาร์ม โดยมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 455.2 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิ 127.8 ล้านบาท

ขณะที่ภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2567 สามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าทั้งสิ้นจำนวน 372.5 ล้านหน่วย ส่งผลให้มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 2,049.2 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 746.8 ล้านบาท ชะลอตัวจากปีก่อนที่มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 4,125.6 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,973.9 ล้านบาท เนื่องจากโครงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 36 แห่ง ได้สิ้นสุดระยะเวลาได้รับรายได้เงินอุดหนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่อัตรา 8 บาทต่อหน่วย และรายได้จากธุรกิจติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟ ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม แม้ไม่ได้รับ Adder แต่โครงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยังคงมีศักยภาพสร้างรายได้และผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง  

จากผลการดำเนินงานปี 2567 ที่สามารถสร้างกำไรอย่างต่อเนื่อง ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 จึงพิจารณาจ่ายเงินปันผลอัตรา 1.20 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,266,948,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทน 14.90% เมื่อเทียบกับราคาหุ้น SPCG ที่ 8.05 บาท ณ สิ้นวันทำการของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 โดยบริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2567 ไปแล้วในอัตรา 0.50 บาทต่อหุ้น คงเหลือที่จะจ่ายเงินปันผลในงวดนี้ 0.70 บาทต่อหุ้น กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 11 มีนาคม 2568 และจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 อย่างไรก็ตามการจ่ายเงินปันผลดังกล่าวจะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568

ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SPCG กล่าวว่า บริษัทฯ มีความมั่นใจศักยภาพธุรกิจจะสามารถสร้างรายได้และกำไรอย่างสม่ำเสมอ โดยปัจจุบันมีโครงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดดำเนินการรวม 36 แห่ง ในพื้นที่ 10 จังหวัดของประเทศไทย อาทิ นครราชสีมา, ขอนแก่น, สกลนคร, นครพนม, บุรีรัมย์ ฯลฯ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม260 เมกะวัตต์ (MW) รวมถึงยังมีรายได้ธุรกิจติดตั้งโซลาร์รูฟสำหรับบ้านพักอาศัย สำนักงาน อาคารธุรกิจขนาดเล็ก-ใหญ่ โรงงานอุตสาหกรรมและอื่น ๆ

“แม้ผลการดำเนินงานปีที่ผ่านมาชะลอตัวลง แต่บริษัทฯ ยังคงมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีอัตราหนี้สินต่อทุน ณ สิ้นปี 2567 อยู่ในระดับต่ำที่ 0.01 เท่า รวมถึงมีกระแสเงินสดอยู่ในระดับที่ดี สามารถจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอและเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง” ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SPCG กล่าว

‘เอกนัฏ’ เล็งขุดรากถอนโคนขนขยะอันตรายเข้าประเทศ เตรียมชงเคส รง.ไฟไหม้ สมุทรสาคร ให้ DSI รับช่วงจัดการต่อ

(25 ก.พ. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วยตำรวจสอบสวนกลางและคณะ ได้ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเพื่อติดตามความคืบหน้าในคดีเหตุโกดังเก็บพลาสติกรีไซเคิลของบริษัท เถิงต๋า พลาสติก แอนด์ เมทเทิล จำกัด มีนายฟูควน ลัว เป็นผู้เช่าอาคารโกดังต่อจากเจ้าของคนไทย ซึ่งเกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2568 

จากการตรวจสอบพบว่า ผู้เช่าและผู้ให้เช่ามีการกระทำความผิดกฎหมายและฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ในหลายกรณี อาทิ มีการก่อสร้างต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีการลักลอบประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต ลักลอบตั้งโรงงานในพื้นที่ขัดผังเมืองและมีการประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้ง ยังมีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จำพวกสายไฟเก่าโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อนำมาทำการคัดแยกโลหะมีค่าและบดบ่อยเป็นเม็ดพลาสติกก่อนที่จะทำการจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มอก. และความผิดอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่ผิดกฎหมายทั้งหมด พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด และได้ทำการยึดอายัดของกลางประกอบด้วย เศษสายไฟฟ้าและเศษพลาสติกที่บดย่อยแล้ว ปริมาณกว่า 6,900 ตัน ไว้ ณ ที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป  

นายเอกนัฏ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะผนึกกำลังร่วมกับจังหวัดสมุทรสาคร ผลักดัน ‘สมุทรสาครโมเดล’ ยกระดับมาตรการการตรวจกำกับโรงงานอย่างเข้มข้น ตั้งแต่ต้นทางกระบวนการอนุญาต โดยจะจัดให้มีคณะทำงานกลั่นกรองร่วมระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเพื่อร่วมกันให้ความเห็นประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตโรงงานกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น โรงงานหล่อหลอมโลหะ โรงงานคัดแยกหรือรีไซเคิลวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เป็นต้น นอกจากนี้ จะมีการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.โรงงานฯ เพิ่มเติมให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของจังหวัดสมุทรสาครเพื่อร่วมกันเสริมกำลังให้กับชุดทำงานเฉพาะกิจเพื่อตรวจตราและเฝ้าระวังการประกอบการที่ผิดกฎหมาย ตลอดจนการเฝ้าดูแลและบริหารจัดการของกลางที่ได้ทำการยึดอายัดเอาไว้ ควบคู่ไปกับที่กระทรวงอุตสาหกรรมใช้เครื่องมือ ‘แจ้งอุต’ ให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาเผ้าระวังการประกอบการที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีทีมตรวจการสุดซอยลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้นและรวดเร็ว 

นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จะได้เตรียมหารือร่วมกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เพื่อส่งต่อคดีนี้ให้ไปอยู่ในความดูแลเพราะถือเป็นคดีสำคัญระดับประเทศ และเชื่อว่ามีผู้ร่วมขบวนการเป็นเครือข่ายใหญ่ ซึ่งจะต้องดำเนินการผู้ที่เกี่ยวข้องที่เข้ามายึดพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาคร ในการลักลอบนำเข้าวัตถุอันตรายและประกอบกิจการที่ไม่ได้รับอนุญาต ไร้มาตรฐานสินค้าไทย และยังนำออกจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานสู่ผู้บริโภค ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น มูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

หากประชาชนพบเห็นปัญหาหรือเหตุต้องสงสัยเกี่ยวกับการประกอบการอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้องหรือสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน มอก. สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่าน ‘แจ้งอุต’ https://landing.traffy.in.th?key=wTmGfkav หรือไลน์ไอดี ‘traffyfondue’ เพื่อกระทรวงฯ จะเร่งส่งทีมสุดซอยลงพื้นที่จัดการกับปัญหาให้ประชาชนในทันที’ นายเอกนัฏกล่าวทิ้งท้าย

รทสช. ผลักดันเต็มที่ ‘กฎหมายโซลาร์เซลล์เสรี’ ขณะที่ ‘พีระพันธุ์’ เล็งใช้กลไกกองทุนฯ หนุนผ่อนจ่ายปลอดดอกเบี้ย

รทสช. เผย กฎหมายโซลาร์เซลล์เสรีอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นประชาชน สัญญาเร่งติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่ต้องขออนุญาต 4 หน่วยงาน ข่าวดี! ‘พีระพันธุ์’ เตรียมใช้กองทุนอนุรักษ์พลังงาน อุดหนุนให้ผ่อนจ่ายโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟ ปลอดดอกเบี้ย

(25 ก.พ. 68) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรระหว่างวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า 

การประชุมในวันนี้นำโดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมีรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติต่างเข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพรียง 

สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์นี้มีกฎหมายสำคัญที่จะเข้าสู่การพิจารณา ได้แก่ การพิจารณาในวาระที่ 2 และที่ 3 ของร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. .... ซึ่งทางพรรครวมไทยสร้างชาติมีมติเห็นชอบในทั้งสองวาระ

และการพิจารณาในวาระที่ 1 ของร่างพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนกลาโหม พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....  ซึ่งเสนอโดยคณะรัฐมนตรี ทางพรรครวมไทยสร้างชาติมีมติ รับหลักการในวาระที่ 1 ของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ

ทั้งนี้ในการประชุมได้มีบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สอบถามถึงความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ฉบับที่ ... พ.ศ. ... หรือกฎหมายโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟเสรี ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 

ซึ่งขณะนี้กฎหมายฉบับนี้ได้บรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว แต่ทางเจ้าหน้าที่รัฐสภามีความเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายการเงินจึงจะต้องได้รับการรับรองจากนายกรัฐมนตรีก่อนที่จะมีการพิจารณา ซึ่งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่าจะติดตามอย่างใกล้ชิด และคาดว่าจะไม่มีปัญหาใด ๆ เนื่องจากเป็นการส่งเสริมพลังงานสะอาด ส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าราคาถูก และอำนวยความสะดวกในการติดตั้งโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลรวมถึงนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว 

สำหรับกฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้ประชาชนไม่ต้องขออนุญาตสำหรับการติดตั้งโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟ กับ 4 หน่วยงาน อันได้แก่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.), กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.),องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.), และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) - การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) อีกต่อไป โดยเปลี่ยนเป็นการแจ้งเพื่อทราบ ซึ่งในอดีตการขออนุญาตจากหลายหน่วยงานทำให้เกิดความล่าช้าในการติดตั้งโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟของประชาชน และมีค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

นอกจากนี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้เตรียมกองทุนอนุรักษ์พลังงานเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟได้ง่ายขึ้นผ่านการผ่อนจ่ายโดยไม่มีดอกเบี้ย โดยกองทุนอนุรักษ์พลังงานจะสนับสนุนในส่วนของดอกเบี้ยดังกล่าว 

และการผลักดันการติดตั้งโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดกระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้การนำของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ที่ได้ผลักดันให้ที่ประชุม ครม. วันที่ 17 ธันวาคม 2567 มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงอุตสาหกรรม ยกเว้นให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อปทุกกำลังการผลิตไม่เข้าข่ายเป็นโรงงาน และไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม 

การแก้ไขให้ไม่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานราชการทั้ง 4 หน่วยงานของกฎหมายโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟเสรี จะทำให้ต่อจากนี้ประชาชนไม่ต้องขออนุญาตเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์-โซลาร์รูฟเสรี ซึ่งทางพรรครวมไทยสร้างชาติยืนยันว่าจะเร่งรัดและผลักดันเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึงไฟฟ้าสะอาดในราคาถูกลงได้

‘ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด’ มอง ‘ริยาดห์’ ของซาอุฯ มาแรง ชี้ อีเว้นต์ใหญ่เพียบ ทั้ง World Expo 2030 - ฟุตบอลโลก 2034

(26 ก.พ. 68) นายจิรวัฒน์ เดชาเสถียร ผู้เชี่ยวชาญด้านการขาย การตลาดและการจัดการค้าปลีกค้าส่งในภูมิภาคอาเซียน โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงผู้ประกอบการไทยควรมุ่งเจาะตลาดซาอุดีอาระเบียต่อเนื่อง ในตอนที่ 2 ว่า หลังจากที่คุยกับ รศ.ดร นิสิต หัวหน้าศูนย์อาเซียนศึกษาเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา อยากเขียนเรื่องเมีย เมียที่ว่าคือ MEA หรือ Middle East Africa โดยมีซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

สำหรับ ซาอุฯนั้นโซนสำคัญคือโซนเมืองศาสนาทางตะวันตก ประกอบด้วยเจดดาห์ มักกะห์ เมดนะห์ โชนนี้มีศาสนสถานของมุสลิมอยู่และเป็นจุดที่ทำให้เกิดการเดินทางแสวงบุญ ท่องเที่ยว อีก 4 วันจะถึงช่วงรามาฎอน แน่นหนาแน่นอนสำหรับโซนนี้ ปีก่อนมีนักเดินทางไปซาอุทางเครื่องบินถึง 128 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนเยอะกว่าเมืองไทยอีก ขณะที่ซาอุฯ มีคน 35 ล้านคน 

“ผมพูดถึงโซนตะวันตกที่ติดทะเลแดง เมื่อก่อนเราส่งสินค้าไปเจดดาห์ ที่นั่นมี สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ไทยอยู่ด้วย เดี๋ยวนี้หาเรือไปเส้นทางนี้ลำบากขึ้น เพราะการไปทะเลแดงต้องผ่านโซมาเลียที่มีโจรสลัด ดังนั้นจึงมีสายเรือน้อยและไม่มีเรื่องประกันภัย ถ้ามีเบี้ยก็จะแพง ในขณะการค้าขายถูกเปลี่ยนผ่านไปโซนตะวันออกที่ Ad Damman ตรงนั้นเลยดูไบ ใกล้กาตาร์ อยู่ในอ่าวเปอร์เซีย ที่โซนตะวันออกจึงยืดหยุ่นมากกว่า และมีต่างชาติเริ่มไปที่นั่นมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ดามมานใกล้ริยาดห์ครับ ห่างกันโดยขับรถประมาณ 4 ชั่วโมง ในขณะที่การขับรถจากริยาดห์ไปเจดดาห์ใช้เวลาถึง 10 ชั่วโมงทีเดียว”

สรุปสั้น ๆ ทำการค้า ไปทางตะวันออกน่าจะรุ่งกว่าในตอนนี้ โครงการยักษ์ ทั้งหลายเกิดที่ตะวันออกนี่หละ ไล่เรียง Timeline ดูครับ งานสำคัญๆ จะเกิดที่ซาอุตั้งแต่ Olympic e-sport ฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย ต่อด้วย World Expo 2030 ที่ริยาดห์ และต่อด้วยฟุตบอลโลก 2034 งานดึง tourist ไปที่นั่นนี่ชัดเจน

รัฐบาลริยาดห์ บอกว่า ธุรกิจตนจะพึ่งพาพลังงานอย่างเดียวไม่ได้ เลยพยายามกระจายการหารายได้ออกจากพลังงาน และท่องเที่ยวนี่แหละคือคำตอบ คนซาอุ โดยเฉพาะสตรีได้สิทธิเสรีมากขึ้น จำนวนผู้หญิงที่รัฐตั้งเป้าว่าปี 2030 จะมีผู้หญิงเข้ามามีบทบาทการทำงานให้ได้ถึง 30% ปรากฏว่าวันนี้สิ้นปี 2024 ผู้หญิงออกมาทำงานแล้ว 35% ทำให้การขับเคลื่อนธุรกิจภาคท่องเทียวเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม เขายังต้องการคนไทยไปทำภาค services ที่นั่นมากครับ เราปั้นเด็กๆ จบมหาวิทยาลัยแล้วต้องชี้ช่องให้เด็กๆ ด้วย ไม่งั้นตัวเลขคนตกงาน 4 แสนคนในเมืองไทย ลดลงยากครับ ถ้ารัฐมัวแต่เชียร์แขกไปเก็บผลไม้ที่หลายประเทศ คนของเราจะขาดโอกาสใน Tourist sector และ Entertainment ดันให้ถูกตัว คั่วให้ถูกคนครับ ช่างเชื่อมที่ต้องการมากในอิสราเอล ถูกนำไปซ่อมรถถังทั้งนั้น ท้ายสุดเรื่องความปลอดภัยก็ดูแลยาก

‘โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี’ นำร่องโมเดล ‘หนอนแม่โจ้’ ช่วยจัดการขยะอินทรีย์ – ลดการฝังกลบ 20 ตัน/ปี

โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีสร้างปรากฏการณ์ นำนวัตกรรมการเลี้ยง 'หนอนแม่โจ้' (Black Soldier Fly - BSF) มาใช้จัดการขยะอินทรีย์จากโรงอาหาร โดยหนอนแม่โจ้สามารถย่อยสลายขยะได้ภายใน 12 ชั่วโมง ทำให้ในปี 2024 ลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปฝังกลบได้มากถึง 20 ตันต่อปี โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นต้นแบบให้องค์กรอื่น ๆ หันมาจัดการขยะอินทรีย์อย่างยั่งยืน

ระบบครบวงจร เปลี่ยนขยะเป็นโปรตีน
โครงการเริ่มต้นในปี 2024 ด้วยการคัดแยกขยะจากโรงอาหาร นำขยะอินทรีย์มาเพาะเลี้ยงหนอนแม่โจ้ในระบบปิด ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่เลี้ยงตัวอ่อนและพื้นที่สำหรับแมลงวันตัวเต็มวัยวางไข่ ระบบนี้ได้รับการออกแบบให้เหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม หนอนแม่โจ้มีประสิทธิภาพสูงกว่าไส้เดือนถึง 5 เท่า ย่อยสลายขยะอินทรีย์ได้ถึง 70% และตัวหนอนมีโปรตีนสูง สามารถนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ได้ถึง 50% และทำให้สัตว์เติบโตได้ดีขึ้น

มุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและเป้าหมาย SDGs
โครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และสร้างจิตสำนึกให้พนักงานมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ผู้บริหารโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีกล่าวว่า "โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของเราในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เราหวังว่าจะเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่น ๆ ในการจัดการขยะอินทรีย์อย่างครบวงจร"

หนอนแม่โจ้ ผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม
หนอนแม่โจ้ หรือ Black Soldier Fly (BSF) เป็นแมลงที่มีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายขยะอินทรีย์ ด้วยความสามารถในการกินและย่อยสลายเศษอาหารและขยะอินทรีย์ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้หนอนแม่โจ้กลายเป็นตัวช่วยสำคัญในการจัดการขยะอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ หนอนแม่โจ้ยังมีโปรตีนสูง จึงสามารถนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ ลดการพึ่งพาอาหารสัตว์สำเร็จรูปที่มีต้นทุนสูง และส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อนาคตที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม
โครงการของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการนำนวัตกรรมมาใช้ในการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้หนอนแม่โจ้ในการย่อยสลายขยะอินทรีย์ ไม่เพียงแต่ช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปฝังกลบ แต่ยังสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะ โดยการนำหนอนแม่โจ้ไปใช้เป็นอาหารสัตว์ โครงการนี้แสดงให้เห็นว่า การจัดการขยะอย่างยั่งยืนสามารถทำได้จริง และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top