Wednesday, 14 May 2025
Econbiz

‘กรมโรงงานฯ’ เผยสถิติโรงงาน ใกล้เคียงค่าเฉลี่ย 5 ปี มีแนวโน้มที่ดี ส่งสัญญาณบวก 7 เดือนแรกของปีนี้ มีเงินลงทุนเพิ่มกว่า 1.6 แสนล้าน จ้างงานเพิ่มกว่า 2.5 หมื่นคน

(12 ส.ค. 67) นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถิติการปิดโรงงาน (เลิกประกอบกิจการ) ในช่วง7เดือนแรกในปี 2567 (มกราคม-กรกฎาคม 2567 )พบว่า มีโรงงานเลิกประกอบกิจการ จำนวน 667 โรง และมีโรงงานเปิดใหม่ แจ้งประกอบกิจการแล้ว จำนวน 1,260 โรง คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 54 ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

"เมื่อหักลบโรงงานที่ปิดตัวลง ใน 7 เดือนแรกของปีนี้ จากยอดโรงงานใหม่ มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 167,691 ล้านบาท และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 25,663 คน" นายจุลพงษ์กล่าว

ส่วนสถิติการปิดโรงงาน ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยปีละ 1,254 โรง ในขณะที่มีการเปิดโรงงานใหม่ (รับใบอนุญาตและแจ้งประกอบแล้ว) เฉลี่ยปีละ 2,360 โรง คิดเป็นอัตราส่วนเฉลี่ยร้อยละ 53 หากคิดรายปีพบว่า ตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2566 อัตราส่วนการเลิกประกอบกิจการเท่ากับร้อยละ 69 ร้อยละ 36 ร้อยละ 28 ร้อยละ 52 และร้อยละ 84 ตามลำดับ

ก่อนหน้านี้ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าสถานการณ์ภาคการผลิตของไทยหดตัว ถึงแม้ว่า 6 เดือนแรกของปี 2567 จะมีการเปิดโรงงานกว่า 1,009 โรง เพิ่มขึ้นร้อยละ 122.67 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติที่ย้ายฐานผลิตมาไทยไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ PCB และรถอีวีจากจีนที่เข้ามาลงทุนผ่าน BOI ขณะที่ตัวเลขพบว่ามีโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นกว่า 667 โรง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 86.31 หรือเฉลี่ย 111 โรงต่อเดือน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก(SMEs )ที่มีมูลค่าโรงงานเฉลี่ยต่อโรงอยู่ที่ 27.12 ล้านบาท

‘รมว.พาณิชย์’ รับ!! แพลตฟอร์ม ‘TEMU’ สะเทือน SME ชี้ ไม่นิ่งนอนใจ ลุยถก 8 หน่วยงาน วางมาตรการรับมือ

(13 ส.ค. 67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยผ่านเฟชบุ๊กวันที่ 13 สิงหาคม 2567 ว่า การเข้ามาของ TEMU ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระดับโลก ในประเทศไทยถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการอีคอมเมิร์ซอย่างมาก

ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เนื่องจาก TEMU เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูง

ซึ่งผมคิดว่าเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการ SME

นี่คือ แนวโน้มและทิศทางการค้าของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงซึ่งเราจะต้องทำความเข้าใจ รู้ทัน และ ปรับตัว ในยุคที่เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการค้าใหม่โดยเฉพาะ E-commerce ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) การปรับตัวเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นความตระหนักที่ธุรกิจขนาดเล็กต้องให้ความสำคัญเพื่อความอยู่รอดและการเติบโตในตลาดที่แข่งขันสูงขึ้น

ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีบทบาทหลักในการกำกับดูแลและส่งเสริมการค้าออนไลน์ให้มีความเป็นธรรมและยั่งยืนในภาพรวมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มใด ๆ ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ เราได้จัดประชุมร่วมกับตัวแทนจาก กระทรวงการคลัง, กระทรวงดิจิทัลฯ, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงสาธารณสุข, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)

เพื่อหารือและพิจารณาถึงผลกระทบของผู้บริโภค และผู้ประกอบการ จาก E-Commerce ทุก platform ที่ส่งเข้ามานั้นว่าได้มาตรฐานตามข้อกำหนดทางกฎหมายของประเทศไทยหรือไม่ อาทิ มาตรฐาน มอก. มาตรฐานของ อย. เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพหรือเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

รวมทั้งยังพิจารณาถึง การจัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน โดยการกำหนดนโยบายการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมสำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ เพื่อให้บริษัทเหล่านี้เสียภาษีอย่างถูกต้องและไม่เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ

นอกจากนี้ สิ่งที่จะต้องดำเนินการควบคู่กัน คือการส่งเสริมและสนับสนุน SME ทั้งการพัฒนาศักยภาพ การสนับสนุนการเข้าถึงตลาดใหม่โดยสร้างช่องทางการตลาดใหม่ ซึ่งขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในการบุกตลาดใหญ่อย่างประเทศจีน เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SME

อาทิ การจัดมหกรรม Live – Commerce ในช่วงเดือนกันยายน โดยให้ Influencer จากต่างประเทศ เข้ามาคัดเลือกสินค้าไทย นำไปจัด Live เพื่อขายสินค้าจากประเทศไทยไปยังผู้บริโภคในประเทศจีน

ซึ่งขณะนี้ได้มีการสำรวจสินค้าไทยซึ่งเป็นที่ต้องการของคนจีนจำนวนกว่า 500 รายการสินค้า เพื่อทำการซื้อขายดึงเม็ดเงินจากการส่งออกสินค้าเข้าสู่ประเทศ ซึ่ง เป้าหมายครั้งนี้ อยู่ที่ประมาณมากกว่า1,500 ล้านบาท

การค้าของโลกในปัจจุบันกำลังปรับเปลี่ยน ผมคิดว่าเมื่อเราต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องอยู่ในคลื่นของการเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องมีมาตรการคุ้มครองตนเอง ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้อยู่ในสถานะที่มีความสามารถแข่งขันได้ หลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้แต่มุ่งแสวงหาความร่วมมือ อันน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการค้าในโลกปัจจุบัน

การเข้ามาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติต่าง ๆ ในประเทศไทยนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการเพื่อช่วยปกป้องดูแลภาคธุรกิจไทย และพิจารณา ให้ครอบคลุมเพื่อรับมือกับผลกระทบและส่งเสริมโอกาสที่เกิดขึ้น เพื่อการสร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองผู้บริโภค การสนับสนุน SME และการส่งเสริมการค้าเสรีและนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยให้การเข้ามาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในระยะยาว

“ขอให้มั่นใจรัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์ จะเร่งประสานทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเร่งด่วนที่สุด”

‘รัฐบาล’ ยัน!! ‘ทุนจีน’ ซื้อกิจการรถทัวร์ในประเทศไทยไม่ได้ เหตุใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งไม่สามารถโอนต่อได้

(13 ส.ค.67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อกรณีที่เป็นกระแสความสงสัยในสังคม ว่า ทุนจากต่างประเทศเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยทำให้คนไทยเสียผลประโยชน์นั้น ขอให้ทุกฝ่ายในสังคมพิจารณาอย่างถ้วนถี่โดยใช้หลักการและเหตุผล โดยขอชี้แจงตามข้อมูลจากหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

ต่อกรณีการเข้ามาของกลุ่มทุนต่างประเทศในธุรกิจร้านอาหาร และมีการกล่าวอ้างว่า ธุรกิจร้านอาหารปิดกิจการถึง 50% นั้น ไม่เป็นความจริง แม้ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลาย แต่ยังมีการจัดตั้งธุรกิจร้านอาหารไทยใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ไทยมีนิติบุคคลดำเนินธุรกิจร้านอาหารอยู่ 23,414 ราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก 97.46% (22,819 ราย)

ในช่วง 7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม 2567) มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจร้านอาหารใหม่ 2,472 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวและหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 926 ราย ชลบุรี 258 ราย ภูเก็ต 192 ราย เชียงใหม่ 165 ราย และสุราษฎร์ธานี 122 ราย

ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ดูแลช่วยเหลือภาคธุรกิจร้านอาหาร ด้วยการเสริมแกร่งให้ผู้ประกอบการร้านอาหารของไทยสามารถปรับตัว แสวงหาโอกาส และรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยให้ร้านอาหารเข้าถึงและเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจับมือผู้เชี่ยวชาญธุรกิจร้านอาหารร่วมกันสร้างสรรค์ 7 กิจกรรม ดังนี้

1) ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการธุรกิจร้านอาหารอย่างมืออาชีพ ผ่านหลักสูตร Smart Restaurant Plus ปัจจุบันมีร้านอาหารผ่านการพัฒนาจากกรมแล้วกว่า 3,000 ราย

2) ยกระดับมาตรฐานร้านอาหารไทยผ่านตราสัญลักษณ์ Thai SELECT

3) กระตุ้นยอดขายเพิ่มรายได้ร้านอาหาร ผ่านแคมเปญ “เที่ยว ฟิน กิน Thai SELECT” โดยร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลังเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Soft Power อาหารไทย

4) ส่งเสริมช่องทางการตลาด ผ่านการจำหน่ายอาหารในงานเทศกาลอาหารต่าง ๆ และแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรีชั้นนำ

5) เสริมสร้างการรับรู้ให้แก่ร้านอาหารไทยและตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ผ่านผู้ทรงอิทธิพลบน Social Media (Influencer)

6) การเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวกับร้านอาหาร โดยได้นำร่องแล้ว 10 เส้นทาง อาทิ จ.นครราชสีมา เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น และมีเป้าหมายเพิ่มขึ้นให้ครบทุกภูมิภาคต่อไป

7) สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการร้านอาหาร ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจของผู้ประกอบร้านอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การเพิ่มคู่ค้าและต่อยอดธุรกิจ

นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมากขึ้น โดยนำกิจการมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น

ส่วนประเด็นรถทัวร์ศูนย์เหรียญ กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการดูแลกลุ่มทุนต่างประเทศที่เข้ามาดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวแบบเบ็ดเสร็จ คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งเดินหน้าทำงานกับหน่วยงานพันธมิตรด้านการบังคับใช้กฎหมายเพื่อกำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย จากการเข้ามาแข่งขันและจัดตั้งธุรกิจโดยผิดกฎหมายของต่างชาติ ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี หรือให้คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าวเพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาตประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้คนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจบริการตามบัญชีท้าย พ.ร.บ. และต้องการถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ต้องเข้าสู่กระบวนการขออนุญาตโดยถูกต้อง มิฉะนั้นจะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ขณะนี้มีบริษัทจากประเทศจีน ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและเดินรถ เริ่มเข้ามาเจรจาจะขอซื้อกิจการรถทัวร์ในประเทศไทย ว่าไม่สามารถทำได้

โดยกรมการขนส่งทางบกได้ชี้แจงว่า ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางและใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ไม่สามารถโอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งจากนิติบุคคลรายหนึ่งไปให้นิติบุคคลอีกรายหนึ่งได้ รวมทั้งได้ชี้แจงด้วยข้อกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร กรณีที่เป็นนิติบุคคลว่าจะต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทยและมีสำนักงานใหญ่อยู่ในราชอาณาจักรไทย รวมถึงกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องมีสัญชาติไทยและทุนของบริษัทไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ต้องเป็นของผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและมีสัญชาติไทย ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้ตรวจสอบและพิจารณาอนุญาตโดยถือปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ห่วงใยต่อความรู้สึก กำลังใจของประชาชนในการดำรงชีวิต เข้าใจดีว่าประชาชนมีความท้าทายที่หลากหลาย และไม่ต้องการให้กำลังใจของประชาชนถูกบั่นทอนด้วยข่าวบิดเบือน รวมทั้งได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รักษาสิทธิประโยชน์ของคนไทยอย่างสูงสุด” นายชัย กล่าว

'นายกฯ' ไม่ฟันธง!! 'เทสลา' ปรับแผนลงทุนในไทย ยัน!! ตอนคุยผู้บริหาร มีระบุ 'จะลงทุนในอินเดีย-สนใจลงทุนไทย'

(13 ส.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีข่าวที่เทสลาปรับเรื่องแผนการลงทุนในไทย นายกฯ ทราบเรื่องนี้หรือไม่ ว่าไม่ทราบ ทางทีมงานยังคุยอยู่ ปัจจุบันเรื่องความอ่อนไหวทางด้านตลาดดีมานด์ของรถอีวีมีสูง เข้าใจว่าตอนนั้นที่คุยกันอยู่เขาเลือกดูอินเดียอยู่ และเขาคงไปแน่นอน เพราะมีตลาดความต้องการปริมาณสูงมาก ซึ่งเป็นประเทศที่เขาดูอยู่ แต่ถ้าเขาจะสร้างก็สร้างที่ประเทศไทย ตนทราบแค่นี้

'สุริยะ' ชวน 'ญี่ปุ่น' ลงทุนรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย พร้อมดึงร่วมพัฒนาระบบ AGT 'สายสีน้ำตาล-เทา-สีเงิน'

เมื่อวานนี้ (13 ส.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้การต้อนรับ นายโอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย พร้อมคณะ เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง ณ ห้องรับรอง กระทรวงคมนาคม โดยได้หารือถึงความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยและหน่วยงานในประเทศญี่ปุ่น พร้อมติดตามความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า วันนี้ได้มีโอกาสหารือในประเด็นการขอรับความช่วยเหลือด้านการซ่อมบำรุงรถไฟสายสีแดงจากญี่ปุ่น โดยให้ความสนใจกับกลุ่มบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านรถไฟที่มีชื่อเสียงด้านการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง การบำรุงรักษาที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย อีกทั้งได้เชิญชวนญี่ปุ่นพิจารณาร่วมลงทุนในโครงการส่วนต่อขยายรถไฟสายสีแดง ซึ่งปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดและเอกสารที่เกี่ยวข้องสำหรับส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ได้แก่ 

1) บางซื่อ - พญาไท - มักกะสัน - หัวหมาก และบางซื่อ - ห้วยลำโพง 
2) รังสิต - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
และ 3) ศิริราช - ตลิ่งชัน - ศาลายา เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งเมื่อกระบวนการเสร็จสิ้นจะเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมรถไฟของญี่ปุ่นในการพิจารณาลงทุนก่อสร้างต่อไป 

นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ด้วยความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีระบบขนส่งมวลชนนำทางอัตโนมัติ (AGT) มาใช้กับรถไฟฟ้าสายสีทอง เราจึงมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความร่วมมือกับญี่ปุ่นในการต่อยอดเทคโนโลยีนี้ไปยังโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล, สายสีเทา และสายสีเงิน และขอขอบคุณญี่ปุ่นสำหรับความร่วมมือในโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะบางซื่อ ระหว่างองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองแห่งญี่ปุ่น (UR) กับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ซึ่งผลลัพธ์ของโครงการได้เน้นย้ำถึงความสำคัญการพัฒนาโครงการที่ผสมผสานการใช้ประโยชน์ที่ดินรอบสถานีขนส่ง (TOD) ในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน"

ในส่วนของความร่วมมือระหว่างกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) กับกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ภายใต้ความตกลงระหว่างกระทรวงคมนาคมไทย - ญี่ปุ่นด้านการจัดการจราจรและเทคโนโลยีทางถนนนั้น ที่ผ่านมาได้มีการหารือและการเยี่ยมชมพื้นที่ก่อสร้างต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระบบสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะ ระบบ SCADA (ระบบตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Real-Time) และโครงการก่อสร้างอุโมงค์และสะพาน โดยกระทรวงคมนาคมจะให้การสนับสนุนการศึกษาดูงานระหว่างกันอย่างต่อเนื่องต่อไป

'รมว.ปุ้ย' สั่ง สมอ.คุมเข้ม 'สินค้าด้อยคุณภาพ-ราคาถูก' แพลตฟอร์มข้ามชาติ พร้อมเดินหน้าจัดเก็บภาษี 'อีคอมเมิร์ซ' สร้างความเป็นธรรมในการแข่งขัน

(14 ส.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติได้เข้ามาบุกตลาดสินค้าไทย ได้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อธุรกิจ SME รวมถึงความไม่ปลอดภัยของประชาชนจากการใช้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน กระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และเร่งดำเนินการตามภารกิจ 'Quick win' เพื่อสกัดกั้นสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าที่ สมอ. ควบคุม ทั้ง 144 รายการ ที่ สมอ. สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายเพื่อความปลอดภัยของประชาชน 

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของกระทรวงอุตสาหกรรม ยังไม่ครอบคลุมสินค้าที่มีการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีจำนวนกว่า 1,000 รายการ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนร่วมดำเนินการควบคุมและกำกับติดตาม ทั้งกระทรวงการคลัง, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงดิจิทัลฯ,  กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพหรือเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค รวมทั้ง พิจารณาให้มีการจัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน โดยการกำหนดนโยบายการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมสำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ เพื่อให้บริษัทเหล่านี้เสียภาษีอย่างถูกต้องและไม่เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมอ. ได้เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งภารกิจ 'Quick win' กวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด และทางออนไลน์ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 จนถึง เดือนกรกฎาคม 2567 ได้ยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานเป็นมูลค่า 322,420,097 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ เป็นสินค้าไม่ได้มาตรฐานที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน มูลค่า 92,767,374 บาท คิดเป็น 29% จากทั้งหมด

นอกจากนี้ สมอ. ยังได้กำหนดมาตรฐานสินค้าเพิ่มในปีนี้อีกจำนวนกว่า 1,400 มาตรฐาน จากเดิมที่ประกาศใช้แล้วจำนวน 2,722 มาตรฐาน และอยู่ระหว่างดำเนินการประกาศเป็นสินค้าควบคุมอีกจำนวน 52 มาตรฐาน เพิ่มเติมจากเดิมจำนวน 144 มาตรฐาน ครอบคลุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เช่น ภาชนะและเครื่องใช้สแตนเลส กระทะ/ตะหลิว/หม้อ/ช้อน/ส้อม/ปิ่นโต/ถาดหลุม/ถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร/ถุงพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับอุ่นในไมโครเวฟ/เตาหุงต้มในครัวเรือนใช้กับก๊าซปิโตรเลียมเหลว/ท่อยางและท่อพลาสติกสำหรับใช้กับก๊าซหุงต้ม/ฟิล์มติดกระจกสำหรับรถยนต์/ภาชนะพลาสติกสำหรับบรรจุน้ำบริโภค/ที่รองนั่งไฟฟ้าสำหรับโถส้วมนั่งราบ/ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก และแผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น 

นอกจากการดำเนินการข้างต้น สมอ. ยังมีแนวทางการดำเนินงานเพื่อป้องกันการเข้าถึงแพลตฟอร์มออนไลน์รายใหม่เพิ่มเติม ดังนี้...

1) เร่งทำความเข้าใจและชี้แจงข้อกฎหมายกับผู้ประกอบการที่ให้บริการขนส่งสินค้า และให้บริการดำเนินพิธีการศุลกากร (Shipping) เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 
2) สร้างความตระหนักให้ประชาชนเลือกซื้อสินค้าที่มีเครื่องหมายมาตรฐานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ 
3) บูรณาการการทำงานร่วมกับกรมศุลกากร เพื่อการนำเข้าสินค้าที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานจากแพลตฟอร์มออนไลน์ 
4) บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เกี่ยวกับการควบคุมแพลตฟอร์มออนไลน์  
และ 5) บูรณาการการทำงานกับสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างยั่งยืน

ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ EA รุ่น EA249A เลื่อนโหวตไปเป็น 23 สิงหาคม เหตุไม่ครบองค์ประชุม

(14 ส.ค. 67) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ได้มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้รุ่น EA249A  เพื่อพิจารณาอนุมัติขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ไปปรากฏว่ามีจำนวนผู้ถือหุ้นกู้และผู้รับมอบฉันทะเข้าร่วมประชุมไม่ครบเป็นองค์ประชุม 

สำหรับการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2567 ของหุ้นกู้รุ่น EA249A ในวันนี้มีจํานวนผู้เข้าร่วมประชุม 889 คน คิดเป็น 1,900,600 หน่วย หรือ คิดเป็นร้อยละ 47.5 ตามกำหนดต้องมีผู้ถือหุ้นเป็นจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 66 ของทั้งหมดจึงจะครบองค์ประชุม 

จึงจำเป็นต้องเลื่อนการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ออกไปเป็นการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 2/2567  ในวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2567 เวลา 10:00 น. ซึ่งบริษัทจะส่งหนังสือเชิญประชุมให้กับผู้ถือหุ้นกู้อีกครั้ง โดยในครั้งถัดไปจะต้องมีองค์ประชุมมาเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของหุ้นกู้ที่ยังไม่ได้ไถ่ถอน ทั้งนี้ มั่นใจว่าในครั้งหน้าจะครบองค์ประชุม และได้รับการอนุมัติ

'ศาสตรา-รวมไทยสร้างชาติ' ยกเมืองหาดใหญ่ เมืองพหุวัฒนธรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ชี้!! รัฐบาลควรเร่งปลดล็อกศักยภาพเมือง เพื่อดึงนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ทุกมิติ

(14 ส.ค.67) นายศาสตรา ศรีปาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา เขต 2 พรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยถึงกรณี เมืองหาดใหญ่เป็นเมืองที่คุ้มค่าที่สุดจากการสำรวจของ Agoda ว่า...

ลำดับแรกเมืองหาดใหญ่ ถือเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม เรามีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทย จีน และมุสลิม ทำให้เมืองหาดใหญ่เป็นเมืองที่มีจุดเด่นที่หลากหลาย โดยเฉพาะด้านอาหารการกิน 

ต่อมาในด้านที่พัก เมืองหาดใหญ่มีความหลากหลายตั้งแต่ Budget Hotel หรือ โรงแรมราคาประหยัด ไปจนถึงโรงแรมหรู ซึ่งทำให้เมืองสามารถรองรับนักท่องเที่ยวหลากหลายกลุ่ม 

สำหรับการเดินทางภายในเมืองหาดใหญ่ ค่อนข้างมีความสะดวก ใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 10 นาที สามารถไปทุกจุดในเมืองได้ นอกจากนี้เมืองหาดใหญ่ยังเป็นฮับของการเดินทางทั้งสนามบิน สถานีรถไฟ ที่บริการรถโดยสารระหว่างจังหวัด 

โดยส่วนตัวที่เป็นคนหาดใหญ่ ตนคิดว่าเมืองหาดใหญ่ที่มีงบประมาณค่อนข้างครบถ้วน หาดใหญ่เป็นเมืองที่จ่ายภาษีไปลำดับต้น ๆ ของประเทศหากภาษีเหล่านี้ย้อนกลับมาพัฒนาเมือง ตนเชื่อว่าหาดใหญ่จะกลายเป็นเมืองแห่งโอกาสสำหรับทุก ๆ คน ปัญหาในพื้นที่ รวมทั้งการพัฒนาเมืองจะสามารถทำได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น 

ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตนเชื่อว่า 'หาดใหญ่เป็นเมืองที่พร้อมจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้ในทุกมิติ' ในมิติโครงสร้างพื้นฐานในเมือง ตนได้ประสานงานและติดตามอย่างต่อเนื่องถึงโครงการทั้งการพัฒนาถนนหนทาง การนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดิน 

นอกจากนี้ ปัญหาในเมืองหาดใหญ่ ที่ทำให้พี่น้องชาวหาดใหญ่ต่างเจ็บปวด คือ ปัญหาน้ำท่วม ตนได้ติดตามผลักดัน คลอง ร.1 โครงการพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 จนแล้วเสร็จซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมแก่คนในพื้นที่ได้ 

นอกจากนี้ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตนยังได้ติดตามและผลักดันอีกหลายเรื่อง เช่น รถไฟทางคู่ในวงเงินงบประมาณ 66,000 ล้านบาท จะเริ่มสร้างในปี 68 เป็นการเชื่อมโยงจาก จ.สุราษฎร์ธานี มาที่หาดใหญ่ เราจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคม ขนส่งและกระจายสินค้า ซึ่งจะเชื่อมต่อกับทางมาเลเซีย นำเงินเข้าประเทศมหาศาล ควบคู่ไปกับการดูแล เยียวยาชาวบ้านในชุมชนรถไฟให้ได้มีที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ 

มากกว่านั้นหาดใหญ่ต้องเตรียมพร้อม และ ร่วมพัฒนาไปพร้อมกับ จังหวัดข้างเคียง และประเทศเพื่อนบ้าน เราต้อง บูรณาการ ทั้ง 16 อำเภอ ร่วมกัน หลังจากภาครัฐผลักดันโครงการขนาดใหญ่ เช่น Landbridge สะพานเชื่อมเศรษฐกิจภาคใต้ ท่าเรือ ระนอง - ชุมพร ระเบียงเศรษฐกิจ เชื่อม มหาสมุทรแปซิฟิก และ มหาสมุทรอินเดีย เข้าด้วยกัน ทำให้ภาคใต้เป็นศูนย์กลางการขนส่ง ศูนย์กลางด้านพลังงาน และศูนย์กลางด้านการเงิน ซึ่งจะเกิดการแข่งขันทางการค้า การจ้างงาน เราจะทำอย่างไรให้คนหาดใหญ่ ได้ประโยชน์ เข้าไปมีส่วนร่วม มีรายได้ มีโอกาส จากการลงทุนมหาศาล ช่วยคนรากหญ้าให้ลืมตาอ้าปาก มีเงินในกระเป๋า เกิดธุรกิจขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ ให้คนในพื้นที่ได้ลงทุนต่อยอด

นอกจากนี้ Entertainment Complex สถานบันเทิงครบวงจร ภายใต้ข้อกฎหมายที่รัดกุม หากเกิดขึ้นในเมืองหาดใหญ่ที่มีความเหมาะสมและความพร้อมในทุกด้าน จะสามารถปลดล็อกศักยภาพของเมืองหาดใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น

ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการการท่องเที่ยวเห็นว่า ที่ผ่านมาได้มีการยกเลิกใบ ตม. 6 เพื่อความสะดวกในการเข้าออก เป็นสิ่งที่ดีมาก แต่ต้องทำควบคุมเรื่องความปลอดภัยให้มากขึ้น ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการ Register ล่วงหน้า ด่านสะเดาของเราก็จะมีความรวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น 

รัฐบาลต้องการกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยการเปิดประเทศโดย จึงมีนโยบาย Free Visa ให้ชาวต่างชาติ ถึง 93 ประเทศ แต่จะต้องป้องกันไม่ให้ คนต่างชาติมาแย่งงานคนไทย เหมือนในหลายพื้นที่วันนี้ คนจีน คนรัสเซีย, คนพม่า เข้ามาทำธุรกิจผิดกฎหมาย แย่งงานคนไทยเป็นจำนวนมาก 

รัฐบาลต้องเอาหาดใหญ่ออกจาก Red Flag พื้นที่สีแดง เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าใจผิดเหมารวมทั้งจังหวัดสงขลา ว่าเป็นพื้นที่อันตราย พาลเหมารวมหาดใหญ่ไปด้วย ซึ่ง 16 อำเภอในจังหวัดสงขลา มีเพียง 4 อำเภอเท่านั้น ที่ยังต้องมีในเรื่องของความมั่นคง ซึ่งไม่ควรมีชื่อ 'หาดใหญ่' อยู่ในนั้น 

และรัฐบาลต้องแก้ปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญ ไกด์เถื่อน ทัวร์เถื่อน อย่างจริงจัง ทั้ง Offline และ Online ดูแลผู้บริโภค ที่โดนหลอก โดยตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนแบบ One Stop Service ให้กับคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ รวมถึง ออกกฎหมาย แก้ไขกฎกระทรวงให้มีความทันสมัยเป็นประโยชน์ให้ผู้ประกอบการ โรงแรมขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่

'กฟผ.' ชวนเยาวชน 'เรียนรู้-เปิดประสบการณ์' อนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ในมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 16-25 สิงหาคมนี้ ที่เมืองทองธานี

เมื่อวานนี้ (14 ส.ค.67) กฟผ. ขอชวนเยาวชนร่วมงาน มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2567 เรียนรู้ ‘โลกไฟฟ้ายั่งยืน Into Sustainable World’ ร่วมผจญภัยพร้อมสัมผัสประสบการณ์การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม รับพาสปอร์ตสะสมแต้มจากภารกิจ 4 โซน ทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ลอยน้ำระบบไฮบริด การเรียนรู้ประโยชน์ของต้นไม้ที่ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งวิธีการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านห้องเรียนสีเขียว ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 และสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EleX by EGAT ร่วมตะลุยค้นหาศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลุ้นรับของรางวัลสุดพิเศษมากมาย พลาดไม่ได้กับกิจกรรมบนเวที และการแข่งขัน E-Sport กับโค้ชทีมชาติ ในวันที่ 16-25 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00-19.00 น. ณ อาคาร 12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

‘EA’ โชว์ครึ่งแรกปี 67 กวาดรายได้หมื่นล้าน-กำไรสุทธิ 1.4 พันล้านบาท มั่นใจ!! เคลียร์ดอกเบี้ยหุ้นกู้ตามนัด พร้อมเดินหน้าหาพาร์ทเนอร์เสริมแกร่ง

(15 ส.ค. 67) นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน กล่าวว่า “แม้รายได้และกำไรในครึ่งแรกของปี 2567 จะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากได้มีการส่งมอบ EV Bus ให้กับลูกค้ารายใหญ่ลดต่ำลง แต่ EA ยังมีรายได้ประจำที่เกิดขึ้นจากการขายไฟให้กับภาครัฐเดือนละประมาณ 1,000 ล้านบาทเพียงพอสำหรับการชำระคืนดอกเบี้ยหุ้นกู้ให้กับผู้ถือหุ้นกู้และคืนหนี้ให้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน” 

ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 กำไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ 1,430.44 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยลดลงจากผลการดำเนินงานของธุรกิจผลิตและจำหน่าย รถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์ จากผลการดำเนินงานของธุรกิจแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและจากผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เนื่องจากการหมดระยะเวลาการรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล (adder) 

สำหรับแผนการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปี 2567 ในส่วนของธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้าและรถเพื่อการพาณิชย์ บริษัทฯจะมุ่งเน้นไปที่การจำหน่ายรถหัวลากไฟฟ้า (EV Truck) เป็นหลัก โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีการส่งมอบให้กับกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่หลายราย เช่น กลุ่มบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) JWD กลุ่มบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) PTTGC กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอช เอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) WHA เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังมีคู่ค้าอีกหลายรายที่อยู่ระหว่างการเจรจา และเตรียมการส่งมอบ EV Truck เพราะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการจากปัญหาราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง และสอดรับกระแส Green Energy ซึ่งอยู่ในเมกะเทรนด์โลก 

ในส่วนของธุรกิจแบตเตอรี่บริษัทฯ อยู่ในระหว่างปรับปรุงการออกแบบเพื่อนำแบตเตอรี่ไฟฟ้าไปใช้ในการผลิตรถหัวลากไฟฟ้า รวมถึงการนำแบตเตอรี่ไปจำหน่ายในรูปแบบของ Energy Storage (ESS) 

ในส่วนของธุรกิจไบโอดีเซล บริษัทมีรายได้จํานวน 2,042.40 ล้านบาท จากรายได้จากการผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล (B100) จากการผลิตและจำหน่ายกลีเซอรีนบริสุทธิ์ และจากการผลิตและน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) รวมถึงรายได้จากการผลิตและจำหน่าย PCM

นอกจากนี้ในส่วนของธุรกิจอื่น ๆ บริษัทฯยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจบริการสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า รายได้โครงการรับเหมาก่อสร้างติดตั้ง Solar Rooftop และรายได้จากโครงการกำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่เกาะล้านที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และเทศบาลนครภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

ในส่วนของงบดุล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 110,006.34 ล้านบาท โดยมีหนี้สินรวมจำนวน 69,709.87 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 40,296.48 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2566 จำนวน 3,713.14 ล้านบาท โดยหลักลดลงจากการจ่ายการจ่ายปันผลจำนวน 1,113.85 ล้านบาท ลดลงจากองค์ประกอบอื่นของส่วนของเจ้าของจำนวน 3,426.25 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิจำนวน 1,430.44 ล้านบาท

สำหรับการบริหารจัดการสภาพคล่อง หลังจากที่บริษัทได้ถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือจาก BBB+ (Negative) เป็น BB+ (Negative) ผู้บริหารได้ใช้นโยบายและการจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในการบริหารจัดการอย่างเร่งด่วน กล่าวคือ ในวันที่ 8 สิงหาคม 2567 กลุ่มกิจการได้เข้าทำสัญญาเงินกู้ยืม ระยะยาวและเงินกู้ยืมร่วม (Syndicated Loan) กับสถาบันการเงินหลายแห่งคิดเป็นจำนวนเงินรวมประมาณ 8,500 ล้านบาท เพื่อวัตถุประสงค์ในการชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน โดยมีการกำหนดเงื่อนไขการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยภายใน 3 ปี โดยกลุ่มกิจการจะทยอยจ่ายคืนเงินกู้ผ่านกระแสเงินสด (Cash Flow) จากการดำเนินงานตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาครัฐ (PPA) 

ในวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2567 สำหรับหุ้นกู้รุ่น EA248A ผู้ถือหุ้นกู้มีมติอนุมัติการขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้โดยไม่ถือเป็นเหตุให้ผิดนัดจำนวน 1,500 ล้านบาท จากเดิมครบกำหนดในวันที่15 สิงหาคม พ.ศ. 2567 เป็นวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยจากเดิมร้อยละ 3.11 ต่อปีเป็นร้อยละ 5.00 ต่อปี และมีหลักประกันให้เพิ่มเติม โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดชำระ  

ในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้รุ่น EA249A บริษัทได้ขออนุมัติการขยายวันครบกำหนด ไถ่ถอนหุ้นกู้โดยไม่ถือเป็นเหตุให้ผิดนัดจำนวน 4,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผู้ถือหุ้นกู้ที่เข้าร่วมประชุม ในวันดังกล่าวไม่ครบองค์ประชุมซึ่งกำหนดไว้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 66 ของหุ้นกู้ที่ยังไม่ได้ไถ่ถอน จึงจะจัดการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งที่ 2/2567 ในวันที่ 23 สิงหาคม โดยการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งนี้ จะต้องมีองค์ประชุมมาเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของหุ้นกู้ที่ยังไม่ได้ไถ่ถอน บริษัทคาดว่า จะครบองค์ประชุมและได้รับการอนุมัติ

อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงิน บริษัทฯอยู่ในระหว่างการเจรจาหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ Strategic Partner ที่มีศักยภาพสามารถเข้ามาเพิ่มทุน และเพิ่ม Synergy ระหว่างกัน รวมถึงการจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทฯ ซึ่งรวมถึงการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) หรือการจำหน่ายสินทรัพย์ให้แก่นักลงทุนที่ให้ความสนใจ

นอกจากนี้ บริษัทยังมีพัฒนาการที่สำคัญในไตรมาสที่สอง 2 โครงการที่สำคัญ คือ โครงการที่ 1 EA ได้ลงนามในสัญญาร่วมพัฒนาโครงการ (Joint Development Agreement) กับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) จัดตั้งบริษัทร่วมทุน Super Holding Company ในบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดแบบรวมศูนย์ของ สปป.ลาว ริเริ่มการเป็นศูนย์กลางการจำหน่าย และบริหารพลังงานสะอาดแบบครบวงจรของประเทศ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศให้มีเสถียรภาพในระยะยาว และตั้งเป้าภายใน 3 ปี เพิ่มรายได้ค่าไฟฟ้า ลดภาระ การนำเข้าน้ำมันดิบพัฒนาโครงการกักเก็บพลังงานไฟฟ้า จัดหาโซลูชั่น EV ลงทุนพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมร่วมผลักดันสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์แห่งชาติ ‘Battery of Asia’

โครงการที่ 2  EA ได้เข้าร่วมลงนามเป็น Strategic Partner กับ CRRC Dalain ซึ่งเป็นการส่งเสริมการลดคาร์บอนไดออกไซด์ของเครื่องยนต์สันดาปในแบบเก่า การเปลี่ยนแปลงเพื่อการยกระดับอุปกรณ์เส้นทางคมนาคม ซึ่ง EA และ CRRC Dalian ได้ร่วมมือใน 

1. ร่วมกันออกแบบและพัฒนาระบบไฟฟ้าแบตเตอรี่ และ/หรือระบบไฟฟ้าแบตเตอรี่ดีเซลไฮบริด สำหรับรถไฟหัวรถจักรและรถไฟโดยสาร

2. ร่วมกันสำรวจและประเมินความต้องการของลูกค้า จำหน่ายและจัดหาผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาร่วมกันในประเทศไทยและตลาดต่างประเทศ 

3. ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ตามความต้องการของตลาดเป้าหมาย โดยใช้เทคโนโลยี การผลิตรถไฟที่แข็งแกร่งของ CRRC Dalian และเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเทียมและเทคโนโลยี Ultra-fast charge ของ EA เพื่อสร้างขีดความสามารถของเทคโนโลยีในระยะยาว ในด้านต้นทุน และประสิทธิภาพ 

4. ร่วมกันพิจารณาจัดตั้งโรงงานผลิตและประกอบในประเทศไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top