Thursday, 16 May 2024
Econbiz

‘สินค้าแพง - เศรษฐกิจไม่ขยับ’ ภาระหนักอึ้ง ‘ครม. เศรษฐา 2’

เรื่องวุ่น ๆ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (ดิจิทัลวอลเล็ต) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังเคลียร์ไม่จบ ปัญหาเศรษฐกิจ ยังถาโถมมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องราคาสินค้า อุปโภคบริโภค ที่แทบจะปรับตัวยกแผง

ราคาผักสด ปรับราคาสูงขึ้นหลังสงกรานต์ รายงานข่าวจาก สวท.สงขลา แจ้งว่า ที่ตลาดทรัพย์สินพลาซ่า เขตเทศบาลนครสงขลา ผักหลายชนิดปรับราคา เช่น ถั่วฝักยาว จากกิโลกรัมละ 50 บาท เป็น 100 บาท ผักกาดหอม จากกิโลกรัมละ 60 บาท เป็น 100 บาท ผักชี จากกิโลกรัมละ 200 บาท เป็น 250 บาท ต้นหอม จากกิโลกรัมละ 90 บาท เป็น 120 บาท ผักบุ้งจีน จากกิโลกรัมละ 30 บาท เป็น 50 บาท มะนาว จากกิโลกรัมละ 120 บาท เป็น 150 บาท มะระ จากกิโลกรัมละ 40 บาท เป็น 60 บาท และ แตงกวา จากกิโลกรัมละ 25 บาท เป็น 40 บาท

เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ประกาศปรับราคาไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ขึ้นราคาอีกแผงละ 6 บาท หรือฟองละ 20 สตางค์ ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2567 เป็นต้นไป ส่งให้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม อยู่ที่ฟองละ 3.60 บาท  

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รายงานข้อมูลราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม ปรับราคาขึ้นอีกกิโลกรัมละ 4 บาท ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งที่ 3 ในเดือนเมษายน จากก่อนหน้านี้ได้ปรับขึ้นไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งละ 4 บาท ในวันที่ 17 มีนาคม 2567 และวันที่ 8 เมษายน 2567 รวมทั้งสิ้นเป็นการปรับขึ้น 12 บาทต่อกิโลกรัม 

ซึ่งก่อนหน้านี้ ช่วงต้นปี ราคาขายปลีกเนื้อไก่ ก็มีการปรับขึ้นราคา ขาไก่ตัดเล็บ จากราคา กิโลกรัมละ 80 บาท ขึ้นมาเป็น กิโลกรัม ละ 110 บาท ปีกเต็ม จากราคากิโลกรัมละ 90 บาท ขึ้นเป็น กิโลกรัมละ 100 บาท ปีกปลาย จากราคา กิโลกรัมละ 90 บาท ขึ้นเป็น กิโลกรัมละ 125 บาท

กระทรวงพาณิชย์ ผู้มีหน้าที่หลักในการดูแล และควบคุมสินค้า ได้กำหนดนโยบายสำคัญ ‘ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส เน้นการรดน้ำที่ราก ดูแลคนตัวเล็ก’ ยังไม่ค่อยมีข่าวคราวในโครงการช่วยเหลือคนตัวเล็กมาก เท่าใดนัก นอกจากข่าวการลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีอย่างต่อเนื่อง

ในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา ของยุครัฐบาลก่อนหน้า  เรามักได้เห็น ได้ยิน ข้อความตามสื่อต่าง ๆ ว่า คนไทยจะอดตายกันหมดแล้ว” หรือ “ราคาสินค้าแพง รายได้น้อย ต้องการให้มีรัฐบาลใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย” 

ปัจจุบัน ในขณะที่ราคาสินค้าปรับขึ้นราคาสูงกว่าที่ผ่านมา เสียงก่นด่าเหล่านี้ กลับไม่ดังเหมือนแต่ก่อน 

พร้อมทั้งข่าว การแจ้งยุติกิจการ ของ วอยซ์ ทีวี (Voice TV) เลิกจ้างพนักงานกว่า 100 ชีวิต ที่เป็นอีกหนึ่งสัญญาณบ่งชี้ทิศทางเศรษฐกิจ ในปี 2567 โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท และการปรับ ครม.เศรษฐา 2 จะเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้หรือไม่...รอติดตามกันต่อไป 

เรื่อง: The PALM

'ไดโดมอน' ปิ้งย่างสุดฮิตยุค 80 ปิดสาขารองสุดท้ายที่ 'เซ็นทรัลอุบลฯ' เหลือสาขาเดียวที่ 'รังสิต' จากเคยบูมกว่า 60 สาขาเมื่อ 23 ปีที่แล้ว

(28 เม.ย. 67) เฟซบุ๊กเพจ ‘Daidomon’ ประกาศปิดสาขาเซ็นทรัลอุบล โดยจะให้บริการถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 เป็นวันสุดท้าย ระบุข้อความว่า “ขออภัยในความไม่สะดวก Daidomon Korean Grill สาขาเซ็นทรัลอุบล ขอแจ้งปิดบริการ โดยให้บริการถึงวันที่ 30 เม.ย. 67 เป็นวันสุดท้าย ขอขอบคุณลูกค้าที่ให้การสนับสนุนทางร้านมาด้วยดีเสมอ โดยท่านสามารถใช้บริการสาขาฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต : ชั้น B โซนโรบินสัน ได้ตามปกติ”

สำหรับ ‘ไดโดมอน’ เป็นร้านอาหารสไตล์ปิ้งย่างที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2526 นับเป็นร้านบุฟเฟ่ต์ปิ้งย่างแห่งแรกๆ ในไทย เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงหนึ่ง ก่อนที่ บริษัท ฮอทพอท จำกัด (มหาชน) จะเข้าซื้อกิจการ บริษัท ไดโดมอน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 เพื่อเติมพอร์ตร้านอาหารสไตล์ปิ้งย่าง จากเดิมที่เน้นสุกี้-ชาบูเพียงอย่างเดียว

ไม่นานหลังจากนั้น บริษัท เจซีเค ฮอสพิทอลลิตี้ จำกัด (มหาชน) ของตระกูล “เตชะอุบล” ก็ทำการเข้าซื้อกิจการฮอทพอทในปี 2561 จึงมีการเปลี่ยนชื่อบริษัท เป็น บริษัท เจซีเค ฮอสพิทัลลิตี้ จำกัด (มหาชน) โดยมีเป้าหมายในการบุกสมรภูมิร้านอาหารที่หลากหลาย ไม่ได้จำกัดเพียงบุฟเฟ่ต์ สุกี้ หรือปิ้งย่างอีกต่อไป หลังจากนั้นเราจึงได้เห็นความหลากหลายของพอร์ตธุรกิจในกลุ่มเจซีเคที่มีตั้งแต่อาหารญี่ปุ่น อาหารจีน ไปจนถึงอาหารอิตาเลียน

อย่างไรก็ตาม หากดูผลประกอบการของกลุ่มเจซีเคที่ผ่านมาพบว่า ยังเผชิญกับภาวะขาดทุนทุกปี หากนับย้อนตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2565 พบว่า ขาดทุนสะสมกว่า 1.3 พันล้านบาท โดยมีรายละเอียดรายได้ 4 ปีหลัง ดังนี้

ปี 2562: รายได้ 1,397 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 158 ล้านบาท
ปี 2563: รายได้ 701 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 142 ล้านบาท
ปี 2564: รายได้ 440 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 257 ล้านบาท
ปี 2565: รายได้ 547 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 214 ล้านบาท

สำหรับธุรกิจหลักของกลุ่มเจซีเค มี ฮอทพอท เป็น Core Business ครองสัดส่วนรายได้เกิน 50% ของโครงสร้างรายได้ทุกปี ทว่า ปัจจุบันร้านฮอทพอทมีเพียง 4 แห่งทั่วประเทศ โดยมีสาขาในกรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียวเท่านั้น จับตาดูสถานการณ์กันต่อไปว่า เจซีเคจะมีแผนปรับเกมเช่นไร ในช่วงเวลาที่ตลาดร้านอาหารแข่งขันกันดุเดือดเช่นนี้

‘ศ.นฤมล’ หารือ ‘ผู้ประกอบการ-นักธุรกิจ’ เพื่อขยายตลาดให้เกษตรกร เผย!! จีนสนใจ ‘มะพร้าวน้ำหอม’ไทย นำไปแปรรูป เป็นเครื่องดื่มผสมชา

(28 เม.ย. 67) ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยภายหลังพบหารือกับ ดร.นรีรัตน์ รัตนพรวิเศษกุล ประธานไทยพาวิลเลี่ยน Mr.Guo Han Xiong ประธานกรรมการบริษัท Hanlong Investment Group รวมทั้งผู้ประกอบการและนักธุรกิจจีน เพื่อร่วมผลักดันและส่งเสริมตลาดการค้าการลงทุนไทย – จีน ในประเด็นสินค้าเกษตรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คลังสินค้าด้านการเกษตร การขนส่งสินค้า ระบบโลจิสติกส์ การลงทุนในไทย และการแปรรูปสินค้าเกษตรไทย 

ในส่วนของสินค้าเกษตร นักธุรกิจจีนมีความสนใจนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทย ได้แก่ กระเทียม ขิง มันสำปะหลัง และมะพร้าวน้ำหอมของไทย ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในตลาดผู้บริโภคของจีน โดยได้นำมะพร้าวน้ำหอมของไทย ไปแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม “ชาจีน + มะพร้าวไทย” 

ปัจจุบันตลาดผู้ประกอบการจีนใช้มะพร้าวน้ำหอมจากประเทศไทยเดือนละประมาณ 700,000 ลูกต่อเดือน และมีความต้องการนำเข้ามะพร้าวน้ำหอมจากไทยเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 3,000,000 ลูกต่อเดือน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจีนยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าและอาหารทะเลจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกด้วย

คลังจ่อเก็บ VAT สินค้านำเข้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาท หวังเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี คาดเริ่มใน พ.ค.นี้

(29 เม.ย. 67) นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ประมาณต้นเดือน พ.ค.นี้ จะมีความชัดเจนเรื่องการออกประกาศกรมศุลกากร เป็นกฎกระทรวง เกี่ยวกับแนวทางการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าราคาไม่เกิน 1,500 บาท (Low-Value Goods)

ทั้งนี้ หากสรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าราคาไม่เกิน 1,500 บาท (Low-Value Goods) จะประกอบไปด้วยรายละเอียด ดังนี้...

>> มีผลเมื่อไหร่:
- คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน พฤษภาคม 2567

>> ใครต้องเสียภาษี:
- แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
- บุคคลอื่นตามที่กฎหมายกำหนด
- สินค้าที่ต้องเสียภาษี: สินค้าที่นำเข้าที่มีมูลค่าราคาไม่เกิน 1,500 บาท

>> อัตราภาษี: 7%

>> วิธีการเสียภาษี:
- แพลตฟอร์มจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร
- แพลตฟอร์มจะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ขายในต่างประเทศ
- แพลตฟอร์มจะต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมสรรพากรเป็นรายเดือน

>> เป้าหมาย:
- เพื่อความเป็นธรรมกับผู้ขายในประเทศไทยที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี
- เพื่อป้องกันสินค้าที่หลุดรอดจากการเสียภาษี

“กรมสรรพากร และกรมศุลกากร กำลังร่วมมือกันดำเนินการอยู่ คาดว่าภายในต้นพ.ค. น่าจะมีความชัดเจน การดำเนินการเรื่องนี้ แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ การแก้ไขแบบถาวร คือ แก้ที่ประมวลรัษฎากร ตรงนี้ใช้เวลา ซึ่งกรมสรรพากรกำลังดำเนินการอยู่ โดยระหว่างที่ประมวลรัษฎากรยังแก้ไขไม่เสร็จ ก็จะมีโครงการเร่งด่วนระยะสั้น โดยกรมศุลกากรจะออกประกาศ เป็นกฎกระทรวงในการจัดเก็บภาษี VAT กับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท จากแต่ก่อนที่ไม่ต้องเสียภาษี ต่อไปก็จะต้องเสียภาษี คาดว่าจะมีผลภายในพ.ค.นี้” นายลวรณ กล่าว

‘กฟผ.’ มอบส่วนลด 5,555 สิทธิ์ ชวนใช้ ‘ตู้เย็นติดฉลากเบอร์ 5’ แบบใหม่ ‘ไร้สี-ไร้กลิ่น-เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ 1 พ.ค. - 30 ก.ย.นี้ ณ ห้างสรรพสินค้า

กฟผ. ชวนใช้ตู้เย็นติดฉลากเบอร์ 5 แบบใหม่ ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ ช่วยประหยัดไฟฟ้า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เตรียมมอบ 5,555 สิทธิ์ส่วนลดแก่ประชาชน เริ่ม 1 พ.ค. - 30 ก.ย. 67 นี้ ณ ห้างสรรพสินค้าที่เข้าร่วมกิจกรรมทั่วประเทศ

นายธวัชชัย สำราญวานิช ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประธานกรรมการบริหารกองทุนนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมทำความเย็น เปิดเผยว่า ปีนี้ กฟผ. ครบรอบ 55 ปี กฟผ. ร่วมกับผู้ประกอบการฉลากเบอร์ 5 และห้างสรรพสินค้าชั้นนำ จัดกิจกรรม ‘ร่วมรักษ์โลก ร่วมรักษ์พลังงาน ร่วมใช้ตู้เย็นฉลากเบอร์ 5 แบบใหม่’ เปลี่ยนจากเบอร์ 5 แบบเก่าประสิทธิภาพสูงสุดที่ 3 ดาว เป็น 5 ดาว มอบสิทธิ์ส่วนลดแก่ประชาชน จำนวน 5,555 สิทธิ์ มูลค่ารวมเกือบ10 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเลือกใช้ตู้เย็นที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยประหยัดไฟฟ้า และใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ หรือ สาร Isobutane (R600a) ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่เป็นพิษเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

>> สำหรับสิทธิ์ส่วนลดดังกล่าว ประกอบด้วย…

1.) ส่วนลดสูงสุด 3,500 บาท จำนวน 1,555 สิทธิ์ สำหรับซื้อตู้เย็นที่ได้รับฉลากเบอร์ 5 ห้าดาว ขนาด 7.1 - 14.0 คิวบิกฟุต
2.) ส่วนลด 1,500 บาท จำนวน 2,000 สิทธิ์ สำหรับซื้อตู้เย็นที่ได้รับฉลากเบอร์ 5 ห้าดาว ขนาดไม่เกิน 7 คิวบิกฟุต และมากกว่า 14 คิวบิกฟุตขึ้นไป ขนาดละ 1,000 สิทธิ์
และ 3) ส่วนลด 750 บาท จำนวน 2,000 สิทธิ์ สำหรับซื้อตู้เย็นที่ได้รับฉลากเบอร์ 5 ถึงฉลากเบอร์ 5 สี่ดาว

โดยเปิดให้รับสิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 30 กันยายน 2567 หรือจนกว่าผู้ใช้สิทธิ์จะครบตามจำนวน เพียงแสดงบัตรประชาชนเพื่อลงทะเบียนรับสิทธิ์ 1 คน ต่อ 1 สิทธิ์ ที่เคาน์เตอร์ชำระเงินของห้างสรรพสินค้าที่ร่วมกิจกรรมทั้ง 12 ราย ได้แก่ โฮมโปร เมกาโฮม ไทวัสดุ บีเอ็นบีโฮม เพาเวอร์บาย เดอะมอลล์ เอ็มโพเรียม สยามพารากอน โกลบอลเฮ้าส์ ดูโฮม ฮาร์ดแวร์เฮาส์ และร้านสหกรณ์ กฟผ.

ทั้งนี้ ฉลากเบอร์ 5 แบบใหม่ นอกจากจะเพิ่มทางเลือกให้ผู้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าได้ประหยัดมากขึ้น และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ยังมีขั้นตอนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมี QR Code ให้ตรวจสอบข้อมูลของผลิตภัณฑ์ได้ คาดว่ากิจกรรมส่งเสริมการใช้ตู้เย็นเบอร์ 5 แบบใหม่ จะประหยัดพลังงานไฟฟ้าลงได้ประมาณ 1.6 ล้านหน่วยต่อปี หรือคิดเป็นเงิน 8 ล้านบาทต่อปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 800 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ลดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน จากการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ R600a ได้เกือบ 100% เมื่อเทียบกับการใช้สารทำความเย็น R134a

ส่งออกมีนาคมไทย ติดลบ 10.9% ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ลบ 4% หยุดสถิติส่งออกไทยโต 7 เดือนติด สู่ติดลบแรกในรอบ 8 เดือน

(29 เม.ย. 67) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ เปิดเผยว่า การค้าระหว่างประเทศ หรือการส่งออกเดือนมีนาคม 2567 พบว่ามีมูลค่า 24,960.6 ล้านดอลลาร์ หดตัว 10.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ส่วนการนำเข้ามูลค่า 26,123.8 ล้านดอลลาร์ ขาดดุล 1,163.3 ล้านดอลลาร์

สาเหตุจากฐานการส่งออกที่สูงในเดือนเดียวกันของปี 2566 แต่ยังคงรักษาระดับการส่งออกได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของมูลค่าการส่งออกย้อนหลัง 5 ปี จากปัจจัยหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน และขยายตัวต่ำ ปัญหาความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ การดำเนินนโยบายทางการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยอย่างเข้มงวดยาวนาน ส่งผลต่อกำลังซื้อปัญหาหนี้สิน และการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ

หากพิจารณาในภาพรวม 3 เดือนแรก หรือไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 พบว่า มีมูลค่า 70,995.3 ล้านดอลลาร์ หดตัว 0.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 การนำเข้า มีมูลค่า 75,470.5 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.8% ดุลการค้า ไตรมาสแรกของปี 2567 ขาดดุล 4,475.2 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีมูลค่า 23,384.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (827,139 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ร้อยละ 3.6 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 2.3

‘สุริยะ’ ลุยต่อ!! ดันรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ลั่น!! ก.ย.68 เชื่อมครบทุกสี แง้ม!! กำลังคุย ‘พรบ.ตั๋วร่วม’

(29 เม.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินการนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น มั่นใจว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี หรือ ช่วงกันยายน 2568 รถไฟฟ้าทุกสี และทุกสาย จะเข้าร่วมนโยบายทั้งหมด ขณะที่รถไฟฟ้าสีอื่น ๆ ที่อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างและเตรียมก่อสร้าง ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จ หากตนยังคงดำรงอยู่ในตำแหน่งรมว.คมนาคม ขอยืนยันว่าจะผลักดันให้เข้าร่วมนโยบายทั้งหมดเช่นกัน

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า นโยบายดังกล่าวนอกจากเป็นการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนแล้ว ยังสามารถลดปัญหา PM 2.5 ในขณะนี้ได้อีกด้วย เนื่องจากประชาชนที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวได้มีการปรับเปลี่ยนการเดินทางมาใช้รถไฟฟ้าแทน รวมถึงยังแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการจัดเส้นทาง Feeder เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย พร้อมคาดว่าภายในระยะ 2-3 เดือนนี้จะเห็นความชัดเจน ซึ่งนอกเหนือจาก ขสมก. แล้ว หากเอกชนรายใดที่มีความพร้อมด้านการให้บริการขนส่ง ก็สามารถเข้าร่วมการจัดเส้นทาง Feeder ได้ ซึ่งแผนระยะสั้นจะผลักดันประมาณ 30 เส้นทาง เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดง

ส่วนระยะต่อไป คาดเป็นช่วงปี 2568-2569 จะเพิ่มจำนวนเพิ่มเติม เพื่อรองรับการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว สายสีชมพู และสายสีส้ม และอีก 66 เส้นทางจะดำเนินการในระยะถัดไปตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป

ด้านแผนจัดทำ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ขณะนี้มีการเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และอยู่ระหว่างพิจารณาถึงหลักการด้านต่าง ๆ ที่มีความเหมาะสม เบื้องต้นคาดว่าภายในปี 2568 จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังได้เตรียมแผนจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชยผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจากมาตรการดังกล่าว โดยเม็ดเงินจากกองทุนที่จะนำมาชดเชยนั้นจะมาจากขอรับการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เป็นต้น

'รัดเกล้า' เผย!! 6 ธนาคาร ขานรับนโยบายรัฐ พาเหรด!! หั่นดอกเบี้ย 0.25% นาน 6 เดือน

(29 เม.ย. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ธนาคารหลายแห่งร่วมขานรับนโยบายรัฐบาล หลังสมาคมธนาคารประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.25% เป็นเวลา 6 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ เป็นต้นไป 

โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือลูกหนี้ทุกกลุ่ม อันเป็นผลจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เชิญผู้บริหารธนาคารมาพูดคุยหารือเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ จากนั้นสมาคมธนาคารก็ได้มีมติร่วมกันในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย และกลุ่มเปราะบางตามนโยบายรัฐบาล โดยนายกฯ ชื่นชมสมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิกที่ให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เข้าใจถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย เป็นการช่วยเหลือทั้งภาคธุรกิจ และประชาชนโดยรวม

รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ธนาคาร และสถาบันการเงินที่ร่วมขานรับนโยบาย อาทิ 

1.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ปรับดอกเบี้ยลง 0.4% เหลือ 6.35% แบงก์แรกของรัฐที่ลดและลดดอกเบี้ยเหลือต่ำที่สุด มีผลตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.นี้ 

2.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% ลูกค้ากู้บ้าน 1.8 ล้านราย 

3.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ 

4.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% 

5.ธนาคารกรุงเทพ ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 29 เมษายนนี้ 

และ 6.ธนาคารออมสิน ปรับลดดอกเบี้ย 0.40% เหลือ 6.95% ซึ่งต่ำสุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และลดให้อัตโนมัติ ไม่ต้องติดต่อธนาคาร เป็นต้น

“ประชาชน และกลุ่ม SMEs ถือเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ การปรับลดดอกเบี้ยแม้เพียงแค่ 6 เดือน แต่ก็ช่วยให้สามารถเอาไปต่อยอดได้ โดยรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เดินหน้าหามาตรการ และแนวทาง เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุดอย่างต่อเนื่อง” นางรัดเกล้า กล่าว

'ผลสำรวจ' ชี้!! 'เอกชน' จ่อขึ้นราคาสินค้า 15% ภายใน 1 เดือน หลังรัฐขึ้นค่าแรงวันละ 400 บาท ซวยแรงงานเสี่ยงตกงานอื้อ

เมื่อวานนี้ (29 เม.ย. 67) นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้า เปิดเผยว่า ผลการสำรวจทัศนคติของเอกชนทั้งภาคการผลิต การค้า และบริการต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วันภายในปี 2567 ว่าการขึ้นค่าแรงจะช่วยผลักดันให้ GDP โตขึ้น สามารถกระตุ้นกำลังซื้อ การผลิตและการลงทุนให้เพิ่มขึ้น แต่ค่าแรงที่สูงขึ้นอาจจูงใจให้นายจ้างลงทุนในการพัฒนาทักษะและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตของแรงงานมากขึ้น

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า หากค่าแรงเพิ่มเร็วเกินไป นายจ้างอาจปลดพนักงานหากรับมือต้นทุนไม่ไหว กระทบกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งต้นทุนค่าแรงอาจถูกผลักไปที่ราคาสินค้าทำให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น และหากไม่ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพ ต้นทุนที่สูงขึ้นอาจมีผลทำให้ขีดความสามารถแข่งขันลดลง ซึ่งส่งผลเสียในระยะยาว

“จากผลการสำรวจพบว่าเอกชนส่วน ใหญ่ 64.7% บอกว่าเตรียมจะปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ และอีก 35.3% บอกว่าจะไม่ปรับราคาสินค้า โดยหากปรับจะปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 15% ขึ้นไป โดยจะปรับราคาภายใน 1 เดือนต่อจากนี้ ส่วนคนที่ไม่ปรับราคานั้นจะใช้วิธี ปรับลดปริมาณสินค้า หรือลดต้นทุนอื่น ๆ รวมถึงลดจำนวนแรงงานแทน”

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการกังวลว่าจะมีภาระต้นทุนของธุรกิจสูงขึ้น แต่ทักษะการทำงานของลูกจ้างยังคงเท่าเดิม ต้นทุนค่าแรงสูงขึ้นก็จริง แต่ภาระต้นทุนอื่น ๆ ของการทำธุรกิจสูงขึ้น เช่นเดียวกัน เช่น ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้าจะผลกระทบนอกจากความสามารถในการแข่งขันแล้ว โดยรวมแล้วผู้ประกอบการ 72.6% ยังคงเห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ยังไม่มีความเหมาะสม และยังมองว่าค่าจ้างแรงงานที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 370 บาทต่อวัน

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า สำหรับแรงงาน หรือผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ในกรณีที่ไม่สามารถปรับเพิ่มค่าแรงตามที่คาด ซึ่งส่วนใหญ่ 65.3% ขอเพียงให้เพิ่มเท่ากับค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มสูงขึ้น รองลงมาขอให้เพิ่มเท่ากับค่าเดินทาง เพิ่มเท่ากับค่าราคาอาหาร เพิ่มเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเพิ่มเท่ากับค่าเช่าที่อยู่อาศัย และผลจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ อาจส่งผลให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแรงงานกว่า 60.8% ไม่สามารถรับได้

ทั้งนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องค่าแรงหรือค่าครองชีพ คือ ช่วยเหลือค่าครองชีพกลุ่มเปราะบาง กระตุ้นเศรษฐกิจแรงงานจะได้มีรายได้เพิ่ม ให้นายจ้างช่วยค่าอาหาร ช่วยเหลือให้เงินอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค กระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคให้แรงงานกลับถิ่น และมีสวัสดิการค่าเดินทางให้กับแรงงานรายได้น้อย นอกจากนี้ แรงงานยังกังวลเรื่องตกงาน และมีความเสี่ยงจากการไม่มีเงินเก็บซึ่งสัดส่วนถึง 81.3% จะสามารถอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน

ผนึกกำลัง 'ไทย-ยูนนาน' หนุนด่านท่าเรือกวนเหล่ย เพิ่มมูลค่าการค้า อำนวยความสะดวก 'รถ-ราง-เรือ' ส่ง 'ผลไม้-โค' ไทยเข้าจีน

(30 เม.ย. 67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือกับนายหวัง หยู่โป (H.E.Mr.Wang Yubo) รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลยูนนาน ผู้ว่าการมณฑลยูนนาน และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำรัฐบาลมณฑลยูนนาน ที่ Haigeng Garden ห้องประชุม 1 เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงเย็นวานนี้ (29 เม.ย. 67)

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนมาครั้งนี้เพื่อกระชับความสัมพันธ์การค้าระหว่างกันในระดับมณฑลให้รวดเร็วและเข้าถึงปัญหาได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลฯ มุ่งมั่นที่จะขยายความร่วมมือทางการค้ากับมณฑลยูนนาน ผ่าน เส้นที่ 1 หนองคายต่อรถไฟเวียงจันทน์สู่มณฑลยูนนาน และเส้นที่ 2 จังหวัดเชียงราย (เชียงของ - บ่อเต็น - โม่ฮาน) ผ่านถนน R3A สู่ด่านบ่อเต็นเข้าด่านโม่ฮาน และอีกเส้นทางที่มาเจรจาเพื่อเปิดเส้นทางการเดินเรือผ่านท่าเรือเชียงแสนมาท่าเรือกวนเหล่ย ซึ่งจะเป็นเส้นทางการค้าใหม่ ที่ยังไม่คึกคักเท่าที่ควร อยากเปิดเส้นทางนี้ให้ดียิ่งขึ้น เพราะสามารถเชื่อมโยงการค้าจากเชียงรายสู่คุนหมิงได้โดยตรง ซึ่งฝ่ายจีนรับจะร่วมมือกำกับดูแลให้สะดวกทั้ง 3 เส้นทาง

นอกจากนั้นนายภูมิธรรมได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลจีน ที่ช่วยแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้าอย่างเต็มที่ ทั้งการขยายเวลาเปิด-ปิดด่าน แก้ปัญหาความแออัดรถบรรทุกที่ขนส่งผลไม้ ซึ่งผลผลิตกำลังจะออกมาก บางครั้งต้องใช้เวลาถึง 5 วัน สำหรับรอตู้ผ่านเข้าจีนแล้วกลับออกมาบ่อเต็นให้เหลือเพียง 3 วัน และทางจีนกำลังปรับปรุงขยายถนนจากเดิม 2 ช่อง เป็น 12 ช่อง ที่จะแล้วเสร็จในอีก 2 ปี จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ไทยสามารถส่งสินค้าที่สดคุณภาพดีให้กับจีน และลดต้นทุนสินค้าลง และทางด่านบ่อเต็น (สปป.ลาว) ก็ให้ความร่วมมือเต็มที่ ความร่วมมือ 3 ประเทศทั้ง ไทย สปป.ลาว และจีน จะเป็นประโยชน์ต่อการค้าร่วมกัน และขอให้ทางการจีนสนับสนุนเรื่องการนำเข้าโคมีชีวิตและโคแช่แข็งจากไทยให้มาที่จีน รวมไปถึงผลไม้ตามฤดูกาลอื่น โดยยินดีที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบของจีน ซึ่งทางผู้ว่าการฯ ตอบรับที่จะไปช่วยผลักดันต่อไป

“ขอขอบคุณทางการจีน และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตนจะกลับไปรายงานท่านนายกฯ ถึงการต้อนรับและความเอาใจใส่ในการแก้ปัญหาร่วมกัน หวังว่าเราจะพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีอย่างนี้ตลอดไป” นายภูมิธรรม กล่าว

ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า มณฑลยูนนาน มีพรมแดนติดกับเมียนมา, เวียดนาม และลาว เป็นมณฑลของจีนที่อยู่ใกล้กับไทยมากที่สุด มีความโดดเด่นด้านการค้าชายแดน โดยใช้เส้นทางถนน R3A (คุนหมิง-สปป.ลาว-กรุงเทพฯ) ซึ่งมีความสำคัญในการส่งออกผลไม้ของไทยไปจีน ปัจจุบันไทยสามารถส่งออกผลไม้สดไปจีนทางบกได้ 6 ด่าน คือ ด่านนครพนม, ด่านมุกดาหาร, ด่านเชียงของ, ด่านหนองคาย, ด่านบ้านผักกาด (จันทบุรี) และด่านบึงกาฬ ซึ่งการส่งออกผลไม้สู่มณฑลยูนนานจะขนส่งผ่าน 2 ด่านหลัก คือ ด่านเชียงของ (จ.เชียงราย) ตามเส้นทาง R3A เข้าสู่จีนที่ด่านโม่ฮาน และด่านหนองคาย ขึ้นรถไฟลาว-จีน เข้าสู่จีนที่ด่านรถไฟโม่ฮาน โดยในปี 2566 ไทยมีการส่งออกสินค้าผลไม้และลูกนัทที่บริโภคได้ (HS 08) ไปมณฑลยูนนานผ่านเส้นทางทั้งสอง มูลค่ารวม 1,680 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.6 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีสัดส่วนร้อยละ 50 ของการส่งออกสินค้าดังกล่าวทางบก และมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 27 ของการส่งออกสินค้าผลไม้และลูกนัทฯ ไปจีนทั้งหมด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top