Saturday, 10 May 2025
Econbiz

‘ปตท. - กองทัพเรือ’ ชูนวัตกรรมโซลาร์ลอยน้ำ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด มุ่งสู่ความยั่งยืน 

เมื่อไม่นานมานี้ พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ และประธานกรรมการบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ และดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนานวัตกรรมพลังงาน และระบบการบริหารจัดการน้ำ ระหว่าง กองทัพเรือ และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อศึกษาและพัฒนานวัตกรรมพลังงานทดแทน การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ ระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงระบบบริหารจัดการแหล่งน้ำและการใช้น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกของกองทัพเรือ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้า ยังเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมพลังงาน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากร ตลอดจนสนับสนุนภารกิจของกองทัพเรือด้านการสร้างความมั่นคงของประเทศและการช่วยเหลือดูแลประชาชนอีกด้วย

ปักธง!! 'เมืองรอง 10 จังหวัด' จาก 5 ภูมิภาค นายกฯ พร้อมเปิดตัว ม.ค.67 ลุยกระตุ้น ศก.ไทย

(27 ธ.ค.66) แหล่งข่าวกล่าวว่า ตามที่หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ ผลักดันเมืองรองที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจ ทั้งมิติการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ให้เป็นเมืองหลัก

ล่าสุดได้ข้อสรุปรายชื่อ 10 จังหวัด จากทั้ง 5 ภูมิภาคที่ได้รับการคัดเลือกจากหอการค้าไทยกับ ททท. ที่จะร่วมกันโปรโมตนำร่องแล้ว ได้แก่

1. แพร่
2. ลำปาง
3. นครสวรรค์
4. นครพนม
5.  ศรีสะเกษ
6. จันทบุรี
7. ราชบุรี
8. กาญจนบุรี
9. นครศรีธรรมราช
10. ตรัง

แม้บางจังหวัดอย่างกาญจนบุรีจะเป็นเมืองหลักอยู่แล้ว แต่มองว่าควรส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้วให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีกำหนดเปิดตัวในเดือน ม.ค. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเป็นประธานในการแถลงข่าว สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยว 4 ด้าน ดึงศักยภาพของทุกจังหวัดสู่สากล เพื่อกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในประเทศให้คึกคัก ผลักดันรายได้จาก 4 ด้าน ซึ่งล้วนเป็นโจทย์สำคัญในการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของไทย ดังนี้

1.ส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง
2.ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายไฮซีซันตลอดทั้งปี
3.เร่งพัฒนาการบริการด้านข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวให้ดียิ่งขึ้น
4.เพิ่มค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่อทริป และเพิ่มระยะเข้าพักเพื่อให้นักท่องเที่ยวพำนักนานขึ้น

‘วิชัย ทองแตง’ ชี้ ‘อาหารสัตว์’ เป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นสูงสุด ย้ำ!! นี่คือเรื่องใหญ่ของประเทศ ถ้าผู้ประกอบการโตในทิศทางนี้ได้

(27 ธ.ค.66) จากช่องติ๊กต็อก ‘GodfatherofStarup’ ได้โพสต์คลิปการประชุมหารือหัวข้องานวิจัย ‘Selected Topic’ ที่มีผลกระทบสูง โดยมีผู้บริหารบริษัทต่าง ๆ มาแชร์มุมมองของตนเองเกี่ยวกับภาคการเกษตร ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้…

เปิดด้วย คุณวิชัย ทองแตง นักธุรกิจและอดีตนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า “อาชีพหลักของผมคือ ‘การต่อยอด’ หากพวกคุณเดินไปความสำเร็จแล้ว มี 2G แล้ว เดี๋ยวผมปั้นเข้าตลาดให้ สิ่งนี้คืออาชีพของผม…”

นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการสํานักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. กล่าวว่า “สวก.เป็นหน่วยบริการทุนวิจัย ซึ่งจะได้รับเงินแต่ละปีประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งจะโฟกัสไปที่การซัปพอร์ต เรื่องของงานวิจัยภาคการเกษตรของประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีความสําคัญกับทางเศรษฐกิจ”

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ทุเรียนไทย ออกก่อนชาวบ้านเขา เพราะฉะนั้นในตลาดจีน ยังไงก็คิดว่าซีซั่นแรกเราครองตลาดได้แน่นอน ปลอกแล้วเก็บได้นาน ยืดอายุได้นาน จะไปถึงปลายทางแล้วคุณภาพยังดี ส่วนของ สวก.ก็ได้ให้ทุนวิจัยไปส่วนหนึ่ง อย่างเครื่องวัดความอ่อนแก่ของทุเรียน ซึ่งความแม่นยําจะอยู่ที่ประมาณ 60 ยังไม่ได้ถึง 90”

คุณทรงสมร สุขบุญทิพย์ บริษัท ไทย ไฮไซแพค จำกัด กล่าวว่า “ระบบ Tracking ซึ่งจริง ๆ แล้วถามว่า QR Code สามารถระบุอะไรได้บ้าง เช่น ID Product, Product Type, วันที่เก็บเกี่ยว/สวนที่เก็บเกี่ยว, ผลวิเคราะห์คุณภาพ, รหัสการติดตาม, คำแนะนําการเก็บรักษา เป็นต้น และถ้าเกิดมี Egap ขึ้นมา ที่กรมวิชาการเกษตรเขาอยากทําในส่วนตรงนั้น คิดว่าเอามาปลั๊กอินกันได้ และตรงนั้นเราสามารถประเมินได้เลยว่า สวนไหน ออกดอกเมื่อไหร่ มี Output เท่าไหร่ และเราจะต้องให้อะไรมากขึ้นที่เท่าไหร่ ซึ่งเราคุมตั้งแต่ต้นน้ำเลย ตั้งแต่สวน มือตัด มี QC และมาตรฐานที่จะเช็กแต่ละอย่าง”

ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ กรรมการบริหาร สวก. กล่าวว่า “เห็นด้วยกับในเรื่องของการที่ไม่อ่อนไม่หนอน ก็คือขายแต่ ‘เนื้อ’ ซึ่งเขาไปขายทั้งผลเป็นทุเรียนสดแช่เย็น แล้วก็ขายเฉพาะเนื้อแช่เย็น นั่นคือสิ่งที่ สวก. กําลังให้ทุนดําเนินการอยู่เช่นกัน ส่วนเปลือกสามารถเอากลับมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทยได้”

คุณวิชัย ทองแตง Godfather of startup กล่าวเสริมว่า “เปลือกสามารถเอามาทําอะไรได้หลายอย่าง ทั้งกระบวนการสามารถเอาไปจัดการได้หมด เป็น Zero waste ได้ และจะเป็นสตอรี่ที่ทางการตลาดให้ความสําคัญ”

คุณสุภาลักษณ์ กมลธรไท บริษัท สารัชมาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า “เสียงที่เราเคยพูดเกี่ยวกับ ‘มะขาม’ มันยังดังไม่พอ…และก็เป็นความหวังลึกๆ… เพราะมีการคุยกันตลอดเรื่องปัญหามะขาม ที่มันเยอะ อีกทั้งมะขามคุณภาพต้องมะขามเพชรบูรณ์ และส่วนตัวที่มีปัญหาเรื่องเชื้อรามากที่สุด ก็คือมะขามที่มันหวาน โดยมันต้องเริ่มตั้งแต่การปลูกถ้าจะไม่ให้มีรา ซึ่งปุ๋ยบางตัวที่ใส่ไปแล้วก็จะทําให้เกิดราน้อย”

คุณอรพินทร์ พญาพิทักษ์สกุล บริษัท ทีเอสซีจี กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า “มะขามหวานเป็นเชื้อราจริง ๆ ซึ่งมันเกิดจากดิน ทั้งนี้ ‘ดินเบา’ เป็นแร่ชนิดหนึ่งที่สามารถดูดซับกลิ่นแล้วก็ทําเป็นปุ๋ยได้ ไปเพิ่มประสิทธิภาพในธาตุดินให้มันมีเอ็นพีเคได้ และยังทําเป็นซีโร่เอสได้ในขณะที่มันเอาไปดูดซับน้ำมัน แล้วส่งเข้าโรงไฟฟ้าได้ จึงอยากให้ทางสวก.ช่วยในเรื่องรับรองผลว่า มันสามารถปราบพวกศัตรูพืชต่าง ๆ ได้จริง”

คุณปวีณา ว่านสุวรรณา บริษัท สกลนครนวกิจ จำกัด กล่าวว่า “สามารถเอา ‘ดินเบา’ ของเราไปทดลองใช้ได้ ด้วยการเอาไปโรยในแปลงหญ้า จากนั้นหนอนที่ขึ้นมากัดกินใบไม้ตอนช่วงกลางคืน พอถูกดินเบาติดตามผิวหนัง ก็จะถูกดินเบาดูดซับน้ำหล่อเลี้ยงในตัว ดังนั้นพอตื่นเช้ามา เราจะเห็นเขาตายตามร่องน้ำ และนี่ก็เป็นการใช้งานจริง”

คุณพงศ์ศักดิ์ จิระพันธ์พงศ์ กล่าวว่า “วันนี้ที่ได้มีการเอามาโชว์เป็นพิเศษ ก็จะเป็นตัวน้ำที่เป็นอัลคาไลน์ เป็นซิลิกา (Silica) ซึ่งมาจากดินเบาตัวนี้ ซึ่งมีซิลิกา (Silica) สูงมาก โดยมีถึง 74-76% และมันจะต่อยอดกับทางการเกษตรได้อีกเยอะมาก อีกทั้งข้อดีของดินเบาตรงนี้สามารถเอาไปเผาเป็นพลังงานได้”

คุณชาญวิทย์ เอนกสัมพันธ หญ้าเนเปียร์ในอาหารสัตว์ กล่าวว่า “หญ้าเนเปียร์ปลูกได้ปีนึงประมาณ 4-6 ในการตัดต่อครั้ง ซึ่งกระทรวงเกษตรเคยได้รับการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่นั้นปลูกหญ้าในเปียร์ แต่พอปลูกไปปลูกมาหายไปเลย เกษตรกรก็งงส่งเสริมให้เราปลูกแต่ทําไมคุณไม่มาทําอะไรต่อ…”

คุณชนเมศ เจนสถิตวงศ์ บริษัท มิดแลนเน็กซื จำกัด กล่าวว่า “เรามีการทดลองเอา ‘วัวที่ไม่ได้กิน’ กับ ‘วัวที่กิน’ มาเปรียบเทียบกัน ปรากฏว่าน้ำนมวัวเพิ่มขึ้นทุกตัวเลยในส่วนที่อัตราเฉลี่ย 1.6 กิโลต่อวัน”

อีกทั้งยังมีความคิดเห็นของผู้บริหารท่านอื่นที่ต่างแชร์มุมมองกัน ดังนี้

- “เนเปียร์จริง ๆ แล้วเป็นหญ้าที่ต้องมีน้ำเยอะ ๆ เพราะปัญหาของการเกษตรเราก็คือว่าหลังจากทําไปแล้วก็ถ้าขายไม่ได้ก็หยุด”
- “การปลูกเนเปียร์มันดีอย่างหนึ่ง เพราะมันใช้เครื่องจักรห่ออ้อยได้เลย กระบวนของการดูแลรักษาให้ปุ๋ยอะไรต่าง ๆ สามารถใช้เครื่องจักรอ้อยได้ ซึ่งถ้าหากเราจะทําเป็นแมสก์ เป็นอุตสาหกรรมมันจะไม่ยาก”
- “คําว่า ‘Zero Waste’ คํานี้เป็นคําที่ใหญ่มาก ๆ ถ้าเราดูในเรื่องของกระบวนการทั้งหมด มันคือการเพิ่มมูลค่าทั้งวงจรของการผลิตทางด้านการเกษตร ถ้าเราจะมาทํางานวิจัยที่เป็นชุมชน หมู่บ้าน หรือตําบล ภาคการเกษตร ก็จะมีรายได้มากขึ้น”

และปิดท้ายด้วย คุณวิชัย ทองแตง “ธุรกิจอาหารสัตว์ คือธุรกิจที่มีมาร์จิ้นสูงที่สุด และนี่คือเรื่องใหญ่ของประเทศ ถ้าหากว่าคุณสามารถโตไปในทางเรื่องอาหารสัตว์ได้ คุณจะสามารถไปสู่เป้าหมายและประเทศไทยจะยิ่งใหญ่ได้…”

‘รมว.ปุ้ย’ ส่ง ‘ดีพร้อม’ เร่งเดินหน้าผุดงานแฟร์ ปลุก ศก.ไทยทั่วประเทศ หลังงานแฟร์นครศรีฯ ตอบรับดี-คนแห่เที่ยวนับแสน รายได้สะพัดกว่า 340 ลบ.

(27 ธ.ค. 66) กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ (DIPROM) เดินหน้าต่อเนื่อง จัดงานแฟร์ ปักหมุด 5 ภาค หวังกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วประเทศ หลังกระแสตอบรับ ‘อุตสาหกรรมแฟร์ เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช-ชอป ชิม เที่ยวเพลิน เดินหลาด’ ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากกลุ่มเป้าหมาย และประชาชนในพื้นที่เข้าชมงานตลอด 5 วัน อย่างล้นหลาม เผยยอดผู้เข้าชมงานกว่า 1 แสนคน โดยเฉพาะผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ให้ความสนใจเข้ารับบริการโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ กว่า 5,600 คน และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 340 ล้านบาท

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ‘ดีพร้อม’ เป็นหน่วยงานหลักในการเดินหน้าจัดงาน ‘อุตสาหกรรมแฟร์เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช’ ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2566 ณ ลานอเนกประสงค์ ตลาดเสาร์อาทิตย์ ถนนพัฒนาการคูขวาง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยผนึกกำลังระดมสุดยอดผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง หน่วยงานพันธมิตรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน และหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยี สินค้าและบริการที่ทันสมัย ภายใต้แนวคิด ‘การส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้’ (Southern Industrial Fair) เพื่อแสดงศักยภาพของผู้ประกอบการไทยและกระตุ้นเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่ จากการออกร้านของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนกว่า 300 ร้านค้า

รวมถึงเป็นการมอบของขวัญปีใหม่ส่งท้ายปีและช่วยลดค่าครองชีพ ให้กับประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนช่วยพัฒนาพี่น้องประชาชนชาวใต้สู่การเป็นผู้ประกอบการ พร้อมสร้างความเข้มแข็งในชุมชน อันจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย

สำหรับผลการจัดงานอุตสาหกรรมแฟร์เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช ที่ผ่านมา รวมจำนวน 5 วัน ได้รับการตอบรับจากผู้เข้าชมงานเป็นอย่างดี โดยมียอดผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 1 แสนคน ยอดผู้เข้าร่วมฟังการสัมมนาเพิ่มองค์ความรู้ จำนวนกว่า 3,000 ราย ขณะที่ยอดขายภายในงาน ซึ่งเน้นการนำสินค้ามาทดสอบตลาดของผู้ประกอบการ ที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับศักยภาพการประกอบการสู่ยุค ‘Now Normal’ มียอดการจำหน่ายรวมทั้งสิ้นกว่า 8 ล้านบาท ยอดรับบริการขอสินเชื่อภายในงาน รวมจำนวนทั้งสิ้น 212 ล้านบาท

ยอดผู้ขอรับบริการคำปรึกษาแนะนำโครงการ/กิจกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 2,520 ราย แบ่งเป็น โซนสุขสันต์วันทำธุรกิจ Happiness & Business จำนวน 600 ราย โซนดีพร้อมดิจิทัลสร้างฝันให้ธุรกิจเป็นจริง จำนวน 640 ราย โซน AGRO Solution จำนวน 260 ราย โซนสร้างสรรค์เติมฝันให้ดีพร้อม จำนวน 40 ราย โซนขยายธุรกิจด้วยสถาบันการเงิน จำนวน 15 ราย และยอดขอรับบริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องฟรี จำนวนทั้งสิ้น 965 คัน

นอกจากนี้ ยังมีการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการ (Business Matching) จำนวน 60 คู่ ก่อให้เกิดมูลค่ามากกว่า 120 ล้านบาท โดยสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้กว่า 340 ล้านบาท

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า “การจัดงานอุตสาหกรรมแฟร์ฯ ในครั้งนี้ ได้รับกระแสตอบรับจากผู้ประกอบการ และพี่น้องประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างดี นอกจากเป็นของขวัญปีใหม่ส่งท้ายปีให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อช่วยลดค่าครองชีพแล้ว ยังถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางการตลาดที่ช่วยผลักดัน ฟื้นฟู และกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในเชิงพื้นที่ให้เติบโตมากขึ้น รวมทั้งสอดรับกับ 6 นโยบายสำคัญเพื่อการพัฒนา และยกระดับภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย”

“ทั้งนี้ ในปี 2567 กระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากจะเดินหน้ายกระดับศักยภาพภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องด้วยแนวทางการผลักดันอุตสาหกรรมสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้เศรษฐกิจ และสังคมยุคใหม่ รวมทั้งการพัฒนาชุมชน โดยบริบทของอุตสาหกรรมที่เน้นการมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้วางแผนเดินหน้าจัดงานแฟร์ในพื้นที่ 5 ภาค ทั่วประเทศ เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยให้กลับมาคึกคัก โดยจะดึงเอาจุดเด่นและศักยภาพของแต่ละพื้นที่มาเป็นแนวคิดของการจัดงานแฟร์ในแต่ละภาค อันจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคได้เป็นอย่างดี และคาดว่า จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 ล้านบาท” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวทิ้งท้าย

‘ททท.’ ดึง ‘อินฟลูฯ จีน’ ช่วยโปรโมตภาพลักษณ์ท่องเที่ยวไทย เสริมแรงเต็มพิกัด หลังยอด ‘ต่างชาติเที่ยวไทย’ ทะลุ 27 ล้านคน

(27 ธ.ค. 66) สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า จากรายงานของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (18-24 ธ.ค.) พบว่ามี ‘นักท่องเที่ยวต่างชาติ’ เดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 796,808 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 120,303 คน คิดเป็น 16.60% หรือเฉลี่ย 113,830 คนต่อวัน เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวเกือบทุกกลุ่มตลาด

โดยนักท่องเที่ยวมาเลเซียเป็นตลาดที่เดินทางเข้าไทยมากเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวน 149,409 คน ปรับเพิ่มขึ้นถึง 35.34% จากสัปดาห์ก่อนหน้า (11-17 ธ.ค.) ส่วนอันดับ 2 จีน 96,662 คน เพิ่มขึ้น 7.16% อันดับ 3 รัสเซีย 47,071 คน เพิ่มขึ้น 7.50% อันดับ 4 เกาหลีใต้ 46,060 คน เพิ่มขึ้น 6.22% และอันดับ 5 อินเดีย 41,679 คน เพิ่มขึ้น 12.03%

หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มีปัจจัยจากวันหยุดต่อเนื่อง ‘ช่วงคริสต์มาส’ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจากตลาดระยะใกล้อย่าง ‘มาเลเซีย’ เดินทางเข้ามาจำนวนมาก 149,409 คน เพิ่มขึ้น 39,011 คนจากสัปดาห์ก่อนหน้า และการเดินทางใน ‘Winter Holiday’ ช่วงสิ้นปีของภูมิภาคยุโรป โดยพบว่าเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวภูมิภาค ‘ยุโรป’ มีจำนวน 197,987 คน เพิ่มขึ้น 32,825 คนจากสัปดาห์ก่อนหน้า ทำให้ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 24 ธ.ค. 2556 แตะระดับ 27 ล้านคนในเดือนสุดท้ายของปีนี้ ด้วยจำนวนทั้งสิ้น 27,252,488 คน

สำหรับตลาด 5 อันดับแรกที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยสะสมสูงสุด อันดับ 1 มาเลเซีย 4,439,480 คน อันดับ 2 จีน 3,418,732 คน อันดับ 3 เกาหลีใต้ 1,616,858 คน อันดับ 4 อินเดีย 1,587,090 คน และอันดับ 5 รัสเซีย 1,428,985 คน

สุดาวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า วานนี้ (26 ธ.ค.) ‘ททท.’ ได้จัดงานต้อนรับคณะสื่อมวลชนและอินฟลูเอนเซอร์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้กิจกรรม ‘อะเมซิ่ง เฟสทีฟ แอนด์ เอ็กซ์คลูซีฟ ทริป อิน ไทยแลนด์’ (Amazing Festive & Exclusive Trip in Thailand) มุ่งนำเสนอ ‘ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงบวก’ ของประเทศไทยผ่าน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (Soft Power) และ ‘การท่องเที่ยวอย่างมีความหมาย’ (Meaningful Travel) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว และกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวช่วงปีใหม่ต่อเนื่องตลอดปี 2567

“คาดว่าตลอดทั้งปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้าประเทศไทย 3.5 ล้านคน โดยรัฐบาลมีความตั้งใจผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ด้วยการนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ควบคู่กับการนำเสนอ Soft Power และ Meaningful Travel พร้อมยกระดับมาตรการความปลอดภัยและดูแลนักท่องเที่ยวในทุกมิติ เพื่อสะท้อนถึงศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทย ในฐานะจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยว และส่งมอบประสบการณ์ที่มีคุณค่าและความหมายในทุกครั้งที่มาเยือน”

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า กิจกรรม ‘Amazing Festive & Exclusive Trip in Thailand’ ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมเชิงกลยุทธ์ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ท่องเที่ยวเชิงบวก โดย ททท. สำนักงานในจีนทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง เฉิงตู และกว่างโจว ได้เชิญสื่อมวลชนและอินฟลูเอนเซอร์ชาวจีนที่มีชื่อเสียงจำนวน 93 ราย เดินทางมาประเทศไทยระหว่างวันที่ 21-28 ธ.ค. เพื่อร่วมสำรวจเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวไทย และผลิตเนื้อหาประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยในพื้นที่กรุงเทพฯ พัทยา (ชลบุรี) หัวหิน (ประจวบคีรีขันธ์) เชียงใหม่ จันทบุรี พังงา และเกาะหมาก (ตราด)

ซึ่ง ททท. ได้ออกแบบเส้นทางให้สอดคล้องกับการส่งเสริมปีท่องเที่ยวไทย 2566 โดยนำเสนอสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวที่หลากหลายและมีเอกลักษณ์ ทั้งเน้นย้ำเรื่อง ‘ความปลอดภัย คุณภาพ และเสริมสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยว’ ผ่านซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย

นอกจากการกระตุ้นตลาดต่างประเทศด้วยกิจกรรมส่งเสริมการขายกับพันธมิตรต่างๆ แล้ว ททท. ยังคงเพิ่มแรงส่งด้วยแคมเปญสื่อสาร ‘Thais Always Care’ ภายใต้แนวคิด ‘LAND OF CARE’ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางและส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวที่ดีของประเทศไทย

โดยจัดทำข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยวของไทยที่น่าสนใจ และมีประโยชน์เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งข้อมูลกิจกรรมท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ มาตรฐานความปลอดภัย การอำนวยความสะดวกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมาตรฐานการให้บริการของผู้ประกอบการท่องเที่ยว รวมทั้งประชาสัมพันธ์เชิงรุกนำเสนอความสวยงามของประเทศไทย ผ่านคอนเทนต์ของ ‘KOLs’ ชาวต่างชาติและเผยแพร่ในแพลตฟอร์มชั้นนำ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติและกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักที่สำคัญของไทย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ ฐาปนีย์ กล่าวถึงเป้าหมายการทำงานของ ททท.ว่า ในปี 2567 ตั้งเป้า ‘กรณีดีที่สุด’ (Best Case Scenario) ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยให้ได้อย่างน้อย 35 ล้านคน เท่ากับว่าจะต้องฟื้นฟูตลาดเพิ่มขึ้นราว 8 ล้านคน เมื่อเทียบกับตลอดปี 2566 ซึ่งคาดว่าจะปิดที่ตัวเลข 27-28 ล้านคน

“เมื่อถามว่า 8 ล้านคนที่เพิ่มขึ้น ททท.จะเอามาจากไหน ในเมื่อเส้นทางบินบางตลาดมีปริมาณที่นั่งผู้โดยสาร (Capacity) ใกล้เคียงกับภาวะปกติเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาดแล้ว แน่นอนว่าก็ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนเป็นตลาดความหวัง ด้วยเป้าหมายปีหน้าตั้งไว้ว่าจะดึงชาวจีนเข้ามาเที่ยวไทยไม่น้อยกว่า 8 ล้านคน เท่ากับว่าเพิ่มขึ้นกว่า 4.5 ล้านคน เมื่อเทียบกับตลอดปีนี้ซึ่งน่าจะได้ 3.5 ล้านคน” ฐาปนีย์ กล่าวทิ้งท้าย

'สังคมออนไลน์' ยกนิ้ว!! 'BYD-CHANGAN-Tesla' แบรนด์รถยนต์ EV มาแรงที่สุดในโซเชียลไทย

(27 ธ.ค.66) ตลาดรถ EV มาแรง ดาต้าเซ็ต เจาะข้อมูลในโซเชียลมีเดีย พบคนไทยพูดถึงรถ EV คึกคักรับเทรนด์คนยุคใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พบ 3 แบรนด์ดังได้รับความสนใจสูงสุด ได้แก่ BYD, CHANGAN และ Tesla โดยมีการกล่าวถึง (Mention) และ เอ็นเกจเมนต์ (Engagement) มากที่สุด

ปัจจุบันความนิยมรถยนต์ไฟฟ้า (รถ EV) ในไทยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2566 จากข้อมูลของรอยเตอร์พบว่าไทยมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสอดคล้องกับงาน Motor Expo 2023 ครั้งที่ 20 พบว่ายอดจองรถยนต์ EV ถล่มทลายมาก โดยเฉพาะ BYD ที่เป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนซึ่งมียอดจองสูงเป็นอันดับ 1 ในงาน

ทั้งนี้ บริษัท ดาต้าเซ็ต จึงได้ใช้เครื่องมือ DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและเสียงของผู้บริโภค (Social Listening) เก็บข้อมูลบน Social Media ระหว่างวันที่ 15 พ.ย.- 16 ธ.ค. 2566 เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่มีการพูดถึงบนสังคมออนไลน์ว่าสอดคล้องกับแบรนด์รถที่มียอดจองสูงจากงาน Motor Expo 2023 หรือไม่

เมื่อพิจารณาข้อมูลจาก Social Media ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่า แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดใน 3 อันดับแรกจะมีความสอดคล้องกับยอด Engagement ที่ทางแบรนด์ได้รับ ซึ่งใน 3 อันดับ เป็นแบรนด์จากรถยนต์ EV ทั้งหมด โดยอันดับหนึ่ง คือแบรนด์ BYD มีการถูกกล่าวถึง (Mention) และมียอด Engagement มากที่สุด รองลงมาเป็นแบรนด์น้องใหม่ Changan และสุดท้าย คือแบรนด์ Tesla เป็นอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ

>> 10 แบรนด์ที่มีการกล่าวถึงมากที่สุด (By Mention)

1. BYD 19.6%
2. CHANGAN 14.7%
3. Tesla 11.6%
4. AION 10.3%
5. GWM 9.2%
6. MG 8.4%
7. NETA 7.8%
8. Hyundai 7.5%
9. Honda 3.0%
10. อื่น ๆ 7.9%

>> 10 แบรนด์ที่มีการกล่าวถึงมากที่สุด (By Engagement)

1. BYD 22.3%
2. CHANGAN 17.3%
3. Tesla 12.8%
4. Honda 9.4%
5. AION 7.7%
6. NETA 6.1%
7. GWM 5.4%
8. MG 4.4%
9. Hyundai 3.7%
10. อื่น ๆ 10.9%

>> Top 3 แบรนด์รถไฟฟ้าที่ได้รับความสนใจสูงสุด

BYD เรียกได้ว่าเป็นที่ฮือฮาในสังคมออนไลน์หลังจาก แบรนด์ BYD แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่จากจีนได้ทำการปล่อยคลิปสาธิตโหมด ‘Emergency Float Mode’ ที่จะเป็นโหมดที่ตัวรถจะทำการขับบนผิวน้ำได้แบบอัตโนมัติ เมื่อรถตกน้ำ และจะพาผู้โดยสารในรถกลับขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย โดยจะเป็นฟีเจอร์ใหม่ที่จะมาในรถ SUV ไฟฟ้า ตัว Top ของทางแบรนด์อย่าง YangWang U8 ที่เปิดตัวในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ความคิดเห็นส่วนใหญ่ชื่นชมการพัฒนาเทคโนโลยี และตื่นเต้นกับฟีเจอร์ดังกล่าวพร้อมทั้งรอติดตามที่จะได้เห็นการเทสฟีเจอร์นี้จากประสบการณ์ผู้ใช้จริง

CHANGAN รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนอีกแบรนด์หนึ่งที่กำลังมาแรงไม่แพ้ BYD เห็นได้จากการเอ็นเกจกับคอนเทนต์ ‘รีวิวเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า 2 รุ่นใหม่จากฉางอัน’ ที่เปิดตัวในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา จาก YouTube Account Autilifethailand Official ที่ได้การเอ็นเกจสูงสุด และกวาดยอดวิวไปกว่า 340K แสดงให้เห็นความเป็นที่นิยม เนื่องจากโดดเด่นในด้านเทคโนโลยีและความแรงของรถที่ขับเคลื่อนกำลังสูงสุด 190 kW เทียบเท่า 258 แรงม้า นอกจากนั้นฉางอันยังตีตลาดไทยด้วยเรื่องของความคุ้มค่า โดยการมอบสิทธิพิเศษ มูลค่ารวมกว่า 250,000 บาท เช่น ฟรีประกันภัยชั้น 1, รับประกันแบตเตอรี่และบำรุงรักษาฟรี นาน 8 ปี, บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชม. นาน 8 ปี, ฟรีที่ชาร์จรถที่บ้าน และอื่น ๆ

Tesla แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้ายุโรปที่หลายคนนึกถึงเป็นอันดับแรก ๆ คงไม่พ้น Tesla โดยในช่วงเดือนที่ผ่านมาจากโพสต์เด่นพบการเปิดตัว Cybertruck หรือ รถกระบะไฟฟ้ารุ่นแรกของ Tesla สิ่งที่น่าสนใจในรถยนต์รุ่นนี้ก็คือฟีเจอร์ Powershare ที่ทำให้สามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับรถคันอื่นหรือบ้านได้สูงสุด 9.6kW ความคิดเห็นต่างให้ความสนใจฟีเจอร์ดังกล่าวเป็นอย่างมากจึงได้รับฉายาในโซเชียลมีเดียว่า ‘พาวเวอร์แบงค์เคลื่อนที่’ โดยโพสต์ดังกล่าวได้รับ Engagement สูงกว่า 7,428 ครั้ง

>> ส่องความคิดเห็นใน Social Media

จากภาพรวมเสียงสะท้อนของผู้บริโภคที่มีต่อรถยนต์ EV และรถยนต์สันดาปนั้น พบว่าปัจจุบันเสียงส่วนใหญ่มีแนวโน้มไปในทิศทางเชิงบวกต่อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้พบว่าเหตุผลที่คนส่วนใหญ่เลือกซื้อรถยนต์ EV ได้แก่

1. ความคุ้มค่าและความประหยัด
2. ดีไซน์ของรถที่มีความทันสมัย
3. เทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือ AI ของตัวรถ
4. ลดมลพิษทางอากาศ

แต่อย่างไรก็ตามผู้บริโภคบางส่วนยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับรถยนต์ EV ในด้านต่าง ๆ เมื่อเทียบกับรถยนต์สันดาป ได้แก่

1. ปัญหาแบตเตอรี่
2. ความเพียงพอของสถานีชาร์จ
3. คุณภาพการใช้งาน
4. ราคาของประกันรถที่อาจแพงกว่ารถยนต์สันดาป

จากแบรนด์รถยนต์ EV ของ BYD ที่มีการกล่าวถึง (Mention) และยอด Engagement มากที่สุดเป็นอันดับ 1 พบว่า เหตุผลส่วนใหญ่ที่คนเลือกใช้รถยนต์ BYD จะสอดคล้องกับเหตุผลที่คนส่วนใหญ่ที่คนเลือกใช้รถยนต์ EV ทั้งในเรื่องของดีไซน์รถ และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งนวัตกรรมด้านความปลอดภัยและความบันเทิง และยังเพิ่มความสามารถที่ทำให้ผู้คนสามารถนอนหลับบนรถได้ สุดท้ายในเรื่องของราคาที่มีความหลากหลายสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง

>> ยักษ์ใหญ่ไอทีจีนลงเล่นตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

รู้หรือไม่? แบรนด์เทคโนโลยี 2 เจ้าดังของจีน ก็ได้มาเล่นตลาดรถอีวีด้วย อย่าง Xiaomi ล่าสุดได้มีการเปิดตัวรถ รุ่น SU 7 และ Huawei ร่วมมือกับผู้ผลิตรถยนต์ Chery Auto เปิดตัว S7 ภายใต้แบรนด์ Luxeed

ทั้งนี้ ความต้องการรถยนต์ EV ที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคนั้นได้สร้างความสะเทือนให้กับผู้ผลิตรถยนต์สันดาปเป็นอย่างมาก เห็นได้ชัดจากสถิติของ Forbes ที่เผยยอดการผลิตรถยนต์สันดาปในปี 2566 เทียบกับปี 2565 นั้นลดลงถึง 8% ผู้ผลิตหลายรายหันมาผลิตรถ EV กันมากขึ้น ล่าสุดทางแบรนด์รถยนต์จากค่ายใหญ่ เช่น Honda และ Toyota ก็ได้เริ่มมีการผลิตรถยนต์ EV ออกมา โดยทาง Honda ได้ออกรถยนต์ EV คือ รุ่น e:N1 และ ทาง Toyota คือ รุ่น bZ4X ซึ่งจากทาง 2 ค่ายใหญ่ที่ได้มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์การเลือกซื้อรถยนต์ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค จึงคาดว่าแนวโน้มในอนาคตจะมีการผลิตรถยนต์ EV เพิ่มมากขึ้นจากทั้งหลายแบรนด์ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้เองทางรัฐบาลไทยจึงมีนโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์หา Insight รวบรวมผ่าน DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและเสียงของผู้บริโภค (Social Listening) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด (dataxet:infoquest) โดยเก็บข้อมูลระหว่าง 15 พ.ย. - 16 ธ.ค. 2566

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! ปี 67 คลื่นการลงทุนลูกใหม่กำลังเคลื่อนเข้าไทย คาด!! น่าจะเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้าใส่อย่างหนักแน่นด้วย

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น '2567 ปีทองการลงทุนไทย' เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

การลงทุนเป็นตัวแปรทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ การลงทุนสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวัฏจักรธุรกิจ (Business Cycle) เมื่อเศรษฐกิจถดถอย (Recession) การลงทุนจะล่มหายทันที ในทางตรงข้ามเมื่อการลงทุนทะยานขึ้น จะนำมาซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพียงแต่การลงทุนมักมีความผันผวนและขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ ดอกเบี้ย ภาษี ภาวะตลาด รวมทั้งการเมืองในและระหว่างประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การลงทุนเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญและยั่งยืนที่สุด ในอดีตโดยเฉพาะก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระดับการลงทุนสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง การลงทุนในประเทศอยู่ที่กว่า 40% ของ GDP และเป็นการขับเคลื่อนด้วยการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment-FDI) ทำให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณ 7.5% ต่อปี ต่อเนื่องยาวนาน จนเป็นที่คาดการณ์ว่าไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ในกลุ่มเดียวกับเกาหลีใต้, ไต้หวัน, ฮ่องกง และสิงคโปร์

ทว่า หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง การลงทุนในประเทศกลับเหือดหายไปอย่างไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าการส่งออกจะยังสดใสจากค่าเงินบาทที่ลดค่าลงต่ำ แต่วิกฤตปี 2540 ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทย แม้ว่าจะมีการปรับโครงสร้างในหลายด้าน อาทิเช่น การสร้างความเข้มแข็งของสถาบันการเงินและตลาดทุน การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน แต่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศรวมทั้งผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถกลับคืนสู่ระดับก่อนวิกฤตได้ ระดับการลงทุนในประเทศลดลงเหลือไม่ถึง 20% ของ GDP หรือประมาณครึ่งหนึ่งของการลงทุนก่อนวิกฤต อัตราเติบโตตามศักยภาพลดลงเหลือ 3-4% ต่อปีในปัจจุบัน

แต่มีเรื่องที่น่ายินดีว่า ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณบวกหลายประการเกิดขึ้น ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่าปี 2567 จะเป็นปีทองของการลงทุนไทย 

ประการแรก เศรษฐกิจมหภาคมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น การประชุม Fed เมื่ออาทิตย์ก่อนถือเป็นการยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างถาวร และ Fed ยังได้ประกาศล่วงหน้าว่าจะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า แม้ว่านโยบายการเงินของไทยจะผิดพลาดมาโดยตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมาและสร้างความผันผวนทางการเงินมากกว่าประเทศอื่นๆ แต่ครั้งนี้เมื่อไร้แรงกดดันจาก Fed จึงเป็นโอกาสอันดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ทันที  

ดังนั้นภายใต้ภาวะการเงินที่ผ่อนคลายและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่ำลง น่าจะเป็นจังหวะเหมาะสมที่ภาคธุรกิจจะเริ่มลงทุนใหม่หลังจากได้ชะลอการผลิตและลดสินค้าคงคลังมาระยะหนึ่ง

ประการที่สอง การส่งออกเริ่มมีการเติบโตเป็นบวกหลังจากที่หดตัวต่อเนื่องมาเป็นเวลานานหลายเดือน ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้เป็นไตรมาสแรกที่การส่งออกเติบโตเป็นบวกและคาดการณ์ว่าจะเติบโตอย่างแข็งแรงตลอดปีหน้า นอกจากนี้การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งปีนี้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายของทางการ ก็เริ่มมีแนวโน้มสดใสขึ้นในไตรมาสนี้ และจะกลับมาใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิดในปีหน้า ภาคบริการมีการเติบโตอย่างมั่นคงและมีการลงทุนใหม่จำนวนมากในธุรกิจโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงาน

ประการที่สาม การดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่ชาญฉลาด สามารถเปลี่ยนความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitics) ให้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การแบ่งขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ (Economic Decoupling) ระหว่างจีนและประเทศตะวันตก ได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้าย Supply Chain ของอุตสาหกรรมสำคัญๆ ออกจากจีน ไปสู่ประเทศที่ตะวันตกมองว่าเป็นประชาธิปไตยและมีความมั่นคงทางการเมือง การเมืองระหว่างประเทศกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกที่ตั้งฐานการผลิต เพิ่มเติมจากปัจจัยทางธุรกิจ

ประเทศไทยสูญเสียโอกาสสำคัญไปอย่างน่าเสียดายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ต้องถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ใน 100 วันแรกของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปพบผู้นำโลกและผู้นำธุรกิจชั้นนำมากมาย ขณะนี้มีความชัดเจนมากที่ธุรกิจสำคัญในอุตสาหกรรมดิจิทัล อาทิ Google, Amazon และ Microsoft จะย้ายฐานการผลิตมาไทย นอกจากนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ EV รายสำคัญของโลก อาทิ Tesla, BYD และ MG ก็กำลังจะมาตั้งโรงงานในไทยเช่นกัน ส่วนประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกำลังฟื้นตัวและเป็นเสาหลักดั้งเดิมของอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ก็มีแผนการที่จะ Upgrade โรงงานขึ้นสู่การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

ประการที่สี่ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยมีความแข็งแกร่งมากกว่าประเทศอื่น ระบบสถาบันการเงินและตลาดเงินตลาดทุนไทยยังถือว่ามีความเข้มแข็งและสามารถให้บริการทางการเงินแกภาคเศรษฐกิจจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลาดทุนไทย ซึ่ง Underperform ตลาดอื่นทั่วโลกมานาน วันนี้เริ่มมีแนวโน้มสดใสและพร้อมที่เติบโตอย่างมั่นคงอีกครั้ง โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของไทยก็ไม่ด้อยกว่าประเทศใดในโลก ทั้งในด้านความมั่นคง ราคาพลังงาน รวมทั้งพลังงานสะอาด (Clean/Renewable Energy) ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเลือกที่ตั้งฐานการผลิต โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและ ICT ก็ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย

ประการที่ห้า การลงทุนใน Mega Projects ของภาครัฐ แม้ว่าการลงทุนภาครัฐในอดีตจะมีความล่าช้า และงบประมาณปี 2567 จะออกมาไม่ทันการ แต่เชื่อว่าโครงการ Flagship ขนาดใหญ่ของรัฐบาลจะเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมในปี 2567 นี้ อาทิเช่น EEC โครงการแลนด์บริดจ์ โครงการรถไฟรางคู่ โครงการทางยกระดับ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพ รวมทั้งการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมืองหลักทั่วประเทศ อย่างไรก็ดีเมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดของรัฐทั้งในเรื่องงบประมาณและความสามารถในการบริหารจัดการ อาจต้องอาศัยกลไกร่วมทุนและดำเนินการกับเอกชน (Public Private Partnership-PPP) โดยจะต้องปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพขึ้น

แต่ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของเอกชนหรือของรัฐก็ตาม ต่างก็ใช้ทรัพยากรของชาติที่มีอยู่จำกัด หน้าที่ของรัฐบาลคือการดูแล/ชี้นำให้ทรัพยากรของชาติมีการจัดสรรไปสู่โครงการที่มีความคุ้มค่าทางการเงินสูงสุด และต้องหลีกเลี่ยงการลงทุนที่ก่อให้เกิดความสูญเปล่าและความเสียหายทางเศรษฐกิจ ดังที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตและในประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นการจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดและเป็นหน้าที่หลักของรัฐบาล

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ล้วนบ่งชี้ว่า 2567 จะเป็นปีทองของการลงทุนไทย คลื่นการลงทุนลูกใหม่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยแล้ว และน่าจะเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้าใส่อย่างหนักแน่น

ปิดดีล 'FTA ไทย–ศรีลังกา' เตรียมลงนามเดือน ก.พ.67 มั่นใจ!! 'ทรัพยากรสมบูรณ์-ขนส่งทางเรือแกร่ง' เอื้อประโยชน์ไทย

(28 ธ.ค. 66) น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมเจรจา FTA ไทย-ศรีลังกา รอบที่ 9 ระหว่างวันที่ 18-20 ธ.ค.66 ที่ผ่านมา ณ กรุงโคลัมโบ โดยมีนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะที่ปรึกษาหัวหน้าคณะเจรจา FTA นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ว่า ที่ประชุมสามารถสรุปผลการเจรจา FTA ไทย-ศรีลังกา ได้ตามเป้าหมาย โดยครอบคลุมการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และหลังจากนี้ แต่ละฝ่ายจะดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อนำไปสู่การลงนามความตกลงฯ ต่อไป

ทั้งนี้ ในส่วนของไทย กระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอผลการเจรจาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบให้มีการลงนามความตกลงฯ ในช่วงการเดินทางเยือนศรีลังกาอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ตามคำเชิญของประธานาธิบดีศรีลังกาในช่วงต้นเดือน ก.พ.2567

“การสรุปผลการเจรจาครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จของกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากเป็นหนึ่งในนโยบาย Quick Win ที่ต้องทำให้สำเร็จภายใน 99 วันเเรกของรัฐบาล โดยเป็น FTA ฉบับแรกของรัฐบาลชุดนี้ และนับเป็น FTA ฉบับที่ 15 ของไทย”น.ส.โชติมากล่าว

น.ส.โชติมา กล่าวว่า แม้ศรีลังกาจะเป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรเพียง 22 ล้านคน แต่มีจุดเด่นด้านที่ตั้ง ซึ่งเป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย โดยเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการขนส่งทางเรือ และมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เช่น แร่รัตนชาติ แร่แกรไฟต์ และสัตว์ทะเล โดยสินค้าไทยที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ ได้แก่ ยานยนต์  สิ่งทอ อัญมณี โลหะ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์เหล็ก กระดาษ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง อาหารสัตว์ เมล็ดข้าวโพด ภาคบริการที่ได้รับประโยชน์ เช่น การเงิน ประกันภัย คอมพิวเตอร์ ก่อสร้าง ท่องเที่ยว และวิจัยและพัฒนา และด้านการลงทุนที่ได้รับประโยชน์ ได้แก่ สาขาการผลิตอาหารแปรรูป การผลิตรถยนต์และส่วนประกอบ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ แบตเตอรี่ และอุปกรณ์การแพทย์

ในช่วง 10 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ต.ค.) การค้าระหว่างไทยและศรีลังกา มีมูลค่า 320.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปศรีลังกา มูลค่า 213.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากศรีลังกา มูลค่า 106.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ยางพารา ผ้าผืน อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และเคมีภัณฑ์

นับถอยหลัง ‘ไทยสมายล์’ เตรียมปิดฉาก 31 ธ.ค.นี้ พร้อมให้บริการ 4 เที่ยวบินสุดท้าย ก่อนปิดตำนาน

(28 ธ.ค. 66) รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจควบรวมสายการบินไทยสมายล์ โดยระบุว่า พร้อมดูแลลูกค้าของสายการบินไทยสมายล์ให้ได้รับความสะดวกสบายอย่างต่อเนื่อง ภายหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจฯ ตามแผนฟื้นฟูกิจการ และโอนย้ายการปฏิบัติการบินและบริการต่างๆ ทั้งหมดจากไทยสมายล์ไปยังการบินไทย ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2567 เป็นต้นไป 

โดยปัจจุบันเว็บไซต์ thaismileair.com ได้ปิดให้บริการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ขณะที่ศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์ (Smile Contact Center) จะให้บริการจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2566 เช่นเดียวกับเที่ยวบินของไทยสมายล์ภายใต้โค้ดการบิน WE จะทำการบินวันสุดท้ายในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ โดยมีเที่ยวบินไป-กลับ 4 เที่ยวบินสุดท้าย ประกอบด้วย

- เที่ยวบิน WE249 เส้นทางกรุงเทพฯ - กระบี่ เวลา 18.25 น.
- เที่ยวบิน WE250 เส้นทางกระบี่ - กรุงเทพฯ เวลา 20.20 น.
- เที่ยวบิน WE046 เส้นทางกรุงเทพฯ - ขอนแก่น เวลา 19.40 น.
- เที่ยวบิน WE047 เส้นทางขอนแก่น - กรุงเทพฯ เวลา 21.10 น.
- เที่ยวบิน WE136 เส้นทางกรุงเทพฯ - เชียงราย เวลา 18.50 น.
- เที่ยวบิน WE137 เส้นทางเชียงราย - กรุงเทพฯ เวลา 20.50 น.
- เที่ยวบิน WE267 เส้นทางกรุงเทพฯ - หาดใหญ่ เวลา 18.40 น.
- เที่ยวบิน WE268 เส้นทางหาดใหญ่ - กรุงเทพฯ เวลา 20.45 น.

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับท่านผู้โดยสารที่ถือบัตรโดยสารของไทยสมายล์ที่ยังประสงค์เดินทางตามกำหนดเดิม บริษัทฯ จะดำเนินการจัดการด้านบัตรโดยสารและการสำรองที่นั่ง โดยท่านผู้โดยสารจะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด สำหรับท่านที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการเดินทาง หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ในช่องทาง ดังนี้ 

- เว็บไซต์ thaiairways.com 
- สำนักงานขายการบินไทยและตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ 
- THAI Contact Center 0-2356-1111 (ตลอด 24 ชั่วโมง) หรือที่ [email protected]

'รสนา' พร้อมยกพลขอบคุณ 'พีระพันธุ์' ถึงทำเนียบ ถ้าราคา LPG ครัวเรือนต่ำสุดที่ 219 บาท ต่อ 15 กก.ได้จริง

(29 ธ.ค. 66) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า…

ข่าวเชียร์พีระพันธุ์สอนมวยก้าวไกลตอบกระทู้ในสภาว่าครัวเรือนได้ค่าก๊าซหุงต้มต่ำสุดที่ถังละ 219 บาท แต่ราคาจริงยังอยู่ที่ 495.75 บาท/ถัง

ดิฉันได้ดูคลิปที่มีคนทำขึ้นมาเชียร์รมว.พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สอนมวยก้าวไกลในการตอบกระทู้เรื่องพลังงานในรัฐสภา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ว่าคำถามเรื่องพลังงานของก้าวไกลล้าสมัยหมดแล้ว โดยระบุมีมติ กพช. เรื่องการจัดสรรราคาก๊าซจากอ่าวไทยใหม่แล้ว เมื่อ 7 ธันวาคม 2566 ว่าปิโตรเคมีได้ใช้ก๊าซในราคา 362 บาทเท่ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่น (ไม่ได้ระบุว่าราคาต่อหน่วยอะไร)

ส่วนประชาชนในครัวเรือนได้ใช้ LPG เป็นก๊าซหุงต้มในราคาถูกที่สุด ที่ราคา 219 บาท ท่านไม่ได้ระบุเช่นกันว่า 219 บาทเป็นราคาต่อหน่วยอะไร

ดิฉันอนุมานว่า 219 บาทน่าจะเป็นราคาก๊าซหุงต้มต่อถัง 15 กิโลกรัมจากโรงแยกก๊าซที่ยังไม่ได้บวกภาษี และค่าการตลาด เมื่อสันนิษฐานเช่นนี้ แสดงว่าก๊าซหุงต้มราคาต่อกิโลกรัมคือ 14.60 บาท

แต่เมื่อมาดูตารางราคาก๊าซ LPG ในโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มในตารางส้มของวันนี้ (วันที่ 28 ธันวาคม 2566) จะพบว่าราคาเนื้อก๊าซหน้าโรงแยก ที่ยังไม่ได้รวมภาษี และค่าการตลาด ราคายังอยู่ที่กิโลกรัมละ 25.7135 บาท ซึ่งตัวเลขยังไม่ได้ปรับลดลงเป็นกิโลกรัมละ 14.60 บาท (219 บาท/15 กิโลกรัม) ตามที่ท่านรัฐมนตรีตอบกระทู้ในสภา

ราคาก๊าซในตารางส้ม เนื้อก๊าซหน้าโรงแยก ราคากิโลกรัมละ 25.7135 บาท เมื่อบวกภาษี ค่าการตลาด และเอากองทุนน้ำมันมาชดเชยราคา - 7.1826 บาท ทำให้ราคาเนื้อก๊าซปลายทางมีราคากิโลกรัมละ 25.87 บาท ถ้าไม่เอากองทุนฯ มาอุ้มราคา 7.1826 บาท ราคาก๊าซหุงต้มขายปลีกจะมีราคากิโลกรัมละ 33.0526 บาท เมื่อคำนวณราคาต่อถัง 15 กิโลกรัม ราคาขายปลีกจริงคือ 495.789 บาท

ถ้าราคา LPG สำหรับครัวเรือนตามที่ท่านพีระพันธุ์พูดว่าจะได้ราคาต่ำสุดที่ 219 บาทนั้น หากการอนุมานของดิฉันถูกต้อง ราคาเนื้อก๊าซหุงต้มจะเป็นราคากิโลกรัมละ 14.60 บาท เมื่อรวมภาษีและค่าการตลาดแล้วจะเป็นราคากิโลกรัมละ 21.65 บาท ราคาต่อถัง 15 กิโลกรัมจะมีราคาเพียง 324.75 บาท ถูกกว่าราคาปัจจุบันที่ 495.75 บาท/ถัง และไม่ต้องใช้กองทุนน้ำมันมาอุ้มราคา และถูกกว่าราคาที่รัฐบาลจะตรึงราคาที่ถังละ 423 บาทไปถึง เดือนมีนาคม 2567 อีกด้วย

ดิฉันต้องขอให้ท่านรัฐมนตรีกรุณาตอบคำถามให้ชัดเจนว่าตัวเลขที่ท่านบอกว่าครัวเรือนจะได้ใช้ก๊าซอ่าวไทยถูกที่สุดในราคา 219 บาทนั้น เป็นไปที่ดิฉันคำนวณหรือไม่ หากไม่ใช่ ก็ขอให้ท่านกรุณาตอบให้ดิฉันได้ทราบว่าก๊าซหุงต้มตามตัวเลขที่ท่านตอบกระทู้ในสภานั้น จะมีราคาขายปลีกเท่าไหร่กันแน่ ?

ขอคำตอบชัด ๆ ให้กับกระทู้นอกสภาของดิฉันด้วย !!

ถ้าท่านรัฐมนตรีสามารถทำให้ครัวเรือนได้ใช้ก๊าซหุงต้มราคาหน้าโรงแยกที่ 219 บาท/15 กิโลกรัมได้จริง จะถือว่าท่านได้ทำการแก้ไขต้นทุนก๊าซหุงต้มที่เป็นธรรมต่อประชาชนอย่างแท้จริง และถ้าท่านทำได้จริงตามที่พูด ดิฉันจะเชิญชวนประชาชนไปร่วมขอบคุณท่านรัฐมนตรีถึงทำเนียบรัฐบาลเลยทีเดียว 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top