Saturday, 10 May 2025
Econbiz

กฟฝ. เร่งผลักดันโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ซึ่งถือเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คาดแล้วเสร็จในเดือนมิ.ย. 2564 พร้อมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญของจังหวัด

นายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กฟผ. ได้เร่งก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร หรือโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์

ซึ่งถือเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ให้ทันตามแผน คาดว่า จะแล้วเสร็จสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ตามแผนได้ในเดือนมิ.ย. 2564

สำหรับความคืบหน้าของโครงการ ล่าสุดอยู่ที่ 82.04% โดยได้ประกอบและติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำในเขื่อนสิรินธรชุดแรกแล้วเสร็จเมื่อสิ้นปี 2563 พร้อมเร่งเดินหน้าติดตั้งให้ครบ 7 ชุด เพื่อเตรียมทดสอบระบบไฟฟ้าของโครงการ

โดยโครงการฯ มีขอบเขตพื้นที่ประมาณ 760 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนพื้นที่ผิวน้ำไม่ถึง 1% ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้งหมด ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำและอุปกรณ์ต่าง ๆ บนพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 450 ไร่ แผงโซลาร์เซลล์เป็นชนิดดับเบิลกลาส สามารถทนต่อความชื้นสูงได้ดี ทำให้ไม่มีสิ่งปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ

ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว กฟผ.ยังร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานี พัฒนาโครงการนี้ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญของจังหวัด โดยก่อสร้างเส้นทางเดินชมธรรมชาติ ความยาว 415 เมตร เพื่อให้ประชาชนได้เดินชมความสวยงามของทิวทัศน์ได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าจะช่วยเสริมให้ธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดกลับมาคึกคัก ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

‘จุรินทร์’ ลุยเชืยงใหม่ ประชุมช่วยชาวไร่กระเทียมภาคเหนือ "เชิงรุก" นำเกษตรกร-ผู้ค้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากิโลละ 13.50 บาท นำตลาดสูงกว่าราคาตกเขียวปัจจุบัน มุ่งพัฒนากระเทียมไทยเป็นกระเทียมที่มีคุณภาพ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประชุมวางแผนเชิงรุกรองรับการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร (กระเทียม) ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ภายหลังการประชุม นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในภาพรวมผลผลิตกระเทียมในแต่ละปีจะมีประมาณ 80,000 ตัน คิดเป็นกระเทียมสด 230,000 ตัน บริโภคภายในประเทศ 170,000 ตัน จึงนำเข้าประมาณ 60,000 ตัน การนำเข้าเป็นไปตามข้อตกลง WTO โดยกำหนดเงื่อนไขต่างๆ และมีภาษีนำเข้าร้อยละ 57

ปัญหาที่เกิดขึ้นกระทรวงพาณิชย์เป็นห่วงว่าผู้ปลูกกระเทียมจะได้ราคาไม่ดีเท่าที่ควร เพราะมีข่าวว่ามีการตกเขียวกระเทียมสดล่วงหน้าในราคากิโลกรัมละ 8 บาท ซึ่งคิดว่าเป็นราคาที่ต่ำ เกษตรกรควรได้ราคาดีกว่านี้

กระเทียมกำลังจะออกมากในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม จึงประชุมแก้ปัญหาเชิงรุกล่วงหน้า โดยกรมการค้าภายในประสานงานกับทีมเซลล์แมนจังหวัดที่พาณิชย์ ร่วมกับภาคเอกชนจัดให้มีการเจรจาซื้อขายกระเทียมสดล่วงหน้าในราคาที่คิดว่าเป็นธรรม 8 สัญญา มีภาคเอกชน 8 บริษัทเป็นผู้ซื้อและกลุ่มเกษตรกร 8 กลุ่มเป็นผู้ขายในราคากระเทียมสดกิโลกรัมละ 13.50 บาท เป็นราคาชี้นำตลาดในฤดูกาลผลิตนี้

" ให้ทีมเซลล์แมนจังหวัดร่วมกับภาคเอกชนและทุกฝ่ายทำสัญญาเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้เกษตรกรชาวไร่กระเทียมขายกระเทียมได้ในราคาที่เป็นธรรมมากขึ้นกว่าราคาตกเขียวที่กิโลกรัมละ 8 บาท และกำหนดมาตรการเสริมในช่วงที่กระเทียมออกมาก มีมาตรการชะลอขาย ถ้าเกษตรกรผู้รวบรวมกระเทียมหรือสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรชะลอขาย กระทรวงพาณิชย์จะมีวงเงินช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ผู้รวบรวมกระเทียม ประมาณ 6 เดือน เมื่อราคาดีค่อยขายช่วยดอกเบี้ยร้อยละ 3

และมาตรการทางกฎหมายให้มีการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดโดยเฉพาะปัญหาการลักลอบการนำเข้ากระเทียมจากต่างประเทศ วันนี้มีการสั่งการให้กรมศุลกากร ตำรวจ และฝ่ายความมั่นคง หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเคร่งครัดการแก้ปัญหาลักลอบการนำเข้า จะนำเรื่องนี้ไปเรียนให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทราบอีกครั้งหนึ่งในวันอังคาร ให้ท่านนายกได้สั่งการกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง แก้ปัญหาการลักลอบนำเข้ากระเทียมต่อไป เข้มงวดการออกใบอนุญาตนำเข้ากระเทียม ให้มีการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพของกระเทียมที่นำเข้า เข้มงวดการตรวจสอบการขนย้าย หากตรวจพบจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรการระยะยาวที่กระทรวงเกษตรฯ จะเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาพันธุ์กระเทียม ให้กระเทียมไทยเป็นกระเทียมที่มีคุณภาพ เรียกว่า “ใหญ่ ง่าย ดี“ กลีบใหญ่ แกะง่าย และมีคุณภาพดี รสชาติดี และเร่งรัดการส่งเสริมการปลูกกระเทียมออร์แกนนิคและเปิดตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ส่งเสริมการนำกระเทียมไปสร้างนวัตกรรมทางอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าโดยเร่งรัดให้ อย. ออกใบอนุญาตให้กับนวัตกรรมเหล่านี้ต่อไป" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

เกษตรกร มีเฮ ! หลัง ‘รมช.เกษตรฯ’ เผย จีนไฟเขียวให้ไทยใช้แนวทางองค์การอนามัยโลก ส่งออก “ทุเรียน” ยัน ! ไม่สะดุด หลังมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยต่อกรณีการส่งออกทุเรียนไทยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้มีการสั่งการให้นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับตัวแทนของประเทศจีนเพื่อสร้างความมั่นใจการส่งออกทุเรียนไปจีนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดไวรัส “โควิด-19“ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของไทย และจะเริ่มมีการเตรียมการส่งออกตั้งแต่เดือน ก.พ. ถึง พ.ค. 2564

ทั้งนี้ให้นำข้อกังวลของนายกสมาคมทุเรียนไทยมาประกอบการหารือเพื่อช่วยกันรักษาตลาดส่งออกทุเรียนของไทย ซึ่งแต่ละปีจะมียอดส่งออกไปจีนมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท และมีเกษตรกรรวมถึงผู้ที่อยู่ในระบบธุรกิจจนถึงส่งออกรวมแล้วกว่า 140,000 ครัวเรือน

“กระทรวงเกษตรฯ ตระหนักถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวน และผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน ข้อหารือที่ออกมาคาดว่าจะสามารถช่วยสร้างความเชื่อมั่นสินค้าส่งออกของไทยได้ เพราะได้หารือกับหน่วยงานรับผิดชอบของประเทศผู้นำเข้า ซึ่งไทยยืนยันว่าจะรักษาระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานเพื่อรักษาชื่อเสียงของทุเรียนไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคจีนทั้งคุณภาพ และความปลอดภัยในทุเรียนของไทย” รมช.เกษตรฯกล่าว

ด้าน นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร (กวก.) กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรและสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้ร่วมหารือกับผู้แทนของสำนักศุลกากร (GACC) ของจีนเมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา

ฝ่ายจีนแจ้งว่ารัฐบาลได้ยกระดับมาตรการควบคุมเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ปนเปื้อนในสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยจะมีการสุ่มตรวจสินค้าอย่างเข้มงวดและต้องดำเนินมาตรการการฆ่าเชื้อสำหรับอาหารที่ขนส่งโดยควบคุมอุณภูมิ (Cold Chain) ตั้งแต่ด่านศุลกากร การขนส่ง การกระจายสินค้า และการจำหน่าย

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ฝ่ายจีนดำเนินการกับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศ ทั้งนี้จีนชื่นชมระบบการจัดการส่งออกผลไม้ของไทยว่ามีประสิทธิภาพมาก และมีความปลอดภัยสูง โดยตลอดระยะเวลาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ไม่เคยตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในบรรจุภัณฑ์และสินค้าผลไม้จากไทย

ซึ่งทางฝ่ายไทยเน้นย้ำว่าภาครัฐ และภาคเอกชนของไทยได้ร่วมผนึกกำลังที่จะดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมเพื่อให้สินค้าไทยมีความปลอดภัยควบคู่ไปกับคุณภาพที่ดี

ในโอกาสนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร และ มกอช. ได้นำเสนอมาตรการการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในกระบวนการผลิต และคัดบรรจุผลไม้เพื่อการส่งออกตามแนวทางในการจัดการความปลอดภัยอาหารในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ขององค์การอาหาร และการเกษตรแห่งสหประชาชาติ( FAO ) และองค์การอนามัยโลก(WHO)

ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติให้กับหน่วยงานของรัฐ และผู้ประกอบการผลิตอาหารในการจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาหาร และป้องกันการปนเปื้อนอาหาร เช่น การควบคุมกระบวนการผลิต วิธีการฆ่าเชื้อ และการสร้างความตระหนักให้พนักงานเพื่อป้องกันโรค เป็นต้น ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นที่ยอมรับของจีน และจีนขอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโคโรนาในสินค้าผลไม้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ภายในสัปดาห์หน้า ไทยจะมีหนังสือแจ้งมาตรการการป้องกันไวรัสโคโรนา-19 ตามมาตรฐาน FAO และ WHO ที่จะให้โรงคัดบรรจุของไทยปฏิบัติไปยัง GACC เพื่อทราบ รวมถึงแจ้งประชาสัมพันธ์ให้โรงงานผลิตและเกษตรกรและประชาชนผู้บริโภคทั้งไทย และต่างประเทศเพื่อสร้างความเข้าใจ และความเชื่อมั่นทั้งภาษาไทย จีน อังกฤษ

สำหรับสาระสำคัญแนวทางการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กับความปลอดภัยสำหรับธุรกิจอาหาร ที่ FAO และ WHO แนะนำนั้น จะเน้นที่ระบบการจัดการความปลอดภัยอาหารเพื่อป้องกันการปนเปื้อนโดยจัดการความเสี่ยง และควบคุมจุดวิกฤตนอกเหนือจากการปฏิบัติตามโปรแกรมพื้นฐานด้านสุขลักษณะ ความเหมาะสมต่อการทำงาน การทำความสะอาด การฆ่าเชื้อ การแยกพื้นที่การผลิต การควบคุมผู้ส่งมอบ การเก็บรักษา และตลอดสายการผลิต

นอกจากนั้น กำหนดให้มีการมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบ หรือทีมที่พิจารณาว่า อาจมีความเสี่ยงหรือต้องมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ โดยขอคำแนะนำจากหน่วยงานที่ดูแลความปลอดภัยด้านอาหาร มีการจัดการสุขลักษณะส่วนบุคคลของผู้ปฏิบัติงาน เพื่อลดความเสี่ยงจากผู้ปฏิบัติงานที่จะนำไวรัสปนเปื้อนสู่อาหาร และบรรจุภัณฑ์ มีการฝึกอบรมพนักงาน การทบทวนการฝึกอบรมพนักงาน กำหนดให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่น หน้ากากอนามัย และถุงมืออย่างเหมาะสม มีการเว้นระยะห่าง จำกัดจำนวนพนักงานที่อยู่ในพื้นที่การผลิต

ลดการปฏิสัมพันธ์ และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัยอย่างเพียงพอ รวมถึงการทำความสะอาดพื้นผิวที่มีการสัมผัสบ่อย ๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ พนักงานหรือผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับอาหารต้องหมั่นสังเกตตัวเอง หากมีอาการบ่งชี้ว่าอาจได้รับเชื้อ ไม่ควรมาทำงาน และดำเนินการตามมาตรการลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อทันที นายพิเชษฐ์ กล่าว

ฝืนต่อไม่ไหว!!  ‘เซ็นทรัล’ ประกาศปิด ‘เซ็นทรัลป่าตอง’ ชั่วคราว ตั้งแต่ 1 ก.พ.นี้ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น หลังเจอพิษโควิด กระหน่ำการท่องเที่ยวภูเก็ตชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ได้ทยอยส่งจดหมายถึงผู้เช่าพื้นที่และผู้เกี่ยวข้อง โดยหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหา เป็นการแจ้ง การปิดห้างเซ็นทรัลป่าตอง ชั่วคราว

พร้อมระบุสาเหตุว่าเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตจนชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัท ฝ่ายบริหารจึงมีความเห็นให้ปิดกิจการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

 

 

‘สุริยะ’ สั่งการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ออกมาตรการเยียวยาลูกหนี้เงินทุนกว่า 2,300 กิจการ ลูกหนี้ชั้นดีพักชำระได้สูงสุด 12 เดือน สร้างสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ ให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤต

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตระหนักและห่วงใยผู้ประกอบการธุรกิจภาคอุตสาหกรรม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงได้สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ

รวมถึงผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.อาหาร 2.เครื่องดื่ม 3. ผ้าและเครื่องแต่งกาย 4. ของใช้และเครื่องประดับตกแต่ง 5. ศิลปะประดิษฐ์และของที่ระลึกที่สะท้อนวิถีชีวิตภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น 6. สมุนไพรที่ไม่ใช่ยาและอาหาร และ 7. อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่สนับสนุนเกื้อกูลกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือ SMEs ซึ่งมีจำนวนกว่า 2,300 กิจการ ผ่าน 3 มาตรการ ประกอบด้วย

  • พักชำระหนี้สำหรับลูกหนี้รายเดิมที่ชำระเงินปกติ โดยให้สิทธิ์พักชำระเงินต้นไม่เกิน 12 เดือนโดยชำระเฉพาะดอกเบี้ย และมีสิทธิ์ขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ไม่เกิน 12 เดือน
  • พักชำระหนี้สำหรับลูกหนี้รายเดิมที่มีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 6 งวด โดยให้สิทธิ์พักชำระเงินต้นไม่เกิน 6 เดือน โดยชำระเฉพาะดอกเบี้ย และมีสิทธิ์ขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ไม่เกิน 6 เดือน
  • สินเชื่อสำหรับผู้ขอกู้รายใหม่ วงเงินตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป ต่อราย/กิจการ ได้รับสิทธิ์พักชำระเงินต้นไม่เกิน 6 เดือน (ชำระเฉพาะดอกเบี้ย) โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี

สำหรับมาตรการทางการเงิน ถือเป็นหนึ่งในวัคซีนเอสเอ็มอีที่เป็นเครื่องมือที่ กสอ. ใช้ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาวการณ์ต่าง ๆ โดยในส่วนของเงินทุนฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการด้านการเงินในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ (Financial Literacy) ประกอบด้วย

1. สำหรับผู้ต้องการขอสินเชื่อ เป็นการเตรียมตัวก่อนขอสินเชื่อ รู้จักข้อมูลบัญชี ภาษี การวิเคราะห์และวางแผนทางการเงิน และธุรกิจ

2. สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการแก้ปัญหาหนี้ค้างชำระ โดยการตรวจสภาพการเงิน วางแผนชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ และการจัดการธุรกิจในภาวะวิกฤต ซึ่งเงินทุนนั้น นอกจากการช่วยเหลือในเรื่องดอกเบี้ยและสินเชื่อแล้ว กสอ. ยังทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการที่มีต้นทุนทางแนวคิดในการประกอบธุรกิจให้สามารถเข้าถึงนักลงทุนที่มีศักยภาพ เพื่อการต่อยอดอุตสาหกรรมอย่างมั่นคง ทั้งยังส่งเสริมการสร้างเครือข่าย ทั้งในระดับท้องที่และระดับของอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างนิเวศอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งเพื่อก้าวข้ามภาวะวิกฤตได้อีกทางหนึ่ง

โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถขอรับสิทธิ์ได้ที่ กลุ่มบริหารเงินทุนฯ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4409-10 หรือที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่ง ตั้งแต่วันนี้ จนถึง วันที่ 31 มีนาคม 2564 หรือ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4414-18 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th  

“พาณิชย์” เผยส่งออกเดือน ธ.ค. 63 มีมูลค่า 20,082.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 4.71% พลิกบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ส่งผลให้ยอดรวมทั้งปี 63 เหลือติดลบ 6.01% จากเป้าลบ 7%

ส่วนปี 64 ตั้งเป้าโต 4% มีลุ้นถึง 5% หลังเศรษฐกิจโลกฟื้น เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 สงครามการค้าผ่อนคลาย

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ธ.ค. 2563 มีมูลค่า 20,082.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.71% กลับมาเป็นบวกได้เป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนของปี 2563 และมีอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 22 เดือน นับจาก ก.พ. 2562 ที่เพิ่มขึ้น 5.65% การนำเข้ามีมูลค่า 19,119.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.62% เกินดุลการค้า 963.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการส่งออกทั้งปี 2563 มีมูลค่า 231,468.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.01% ถือว่าทำได้ดีกว่าที่คาดไว้ว่าจะติดลบประมาณ 7% การนำเข้ามีมูลค่า 206,991.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.39% เกินดุลการค้ารวม 24,476.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการส่งออกปี 2563 ที่ติดลบน้อยลงจากเป้าที่คาดไว้ เพราะการส่งออกของไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 โดยได้รับผลดีจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้น ทำให้มีการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อประเทศส่งออก ทั้งไทยและประเทศอื่น ๆ ที่ส่งออกได้ดีขึ้น ขณะที่สินค้า 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ อาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อ ยังเป็นกลุ่มเติบโตได้ดี และยังมีการฟื้นตัวของสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวก ส่วนยานยนต์และชิ้นส่วน ติดลบน้อยลง และเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น

ส่วนตลาดส่งออกปี 2563 ตลาดหลักลดลง 1.8% โดยสหรัฐฯ เพิ่ม 9.6% แต่ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป 15 ประเทศ ลด 6.7% และ 12.7% ตลาดศักยภาพสูง ลด 8.4% จากการลดของอาเซียนเดิม 5 ประเทศ 12.2% CLMV ลด 11.1% จีน เพิ่ม 2% อินเดีย ลด 25.2% ฮ่องกง ลด 3.6% เกาหลีใต้ ลด 10.3% ไต้หวัน ลด 5.6% ตลาดศักยภาพระดับรอง ลด 13.1% โดยทวีปออสเตรเลีย ลด 7.6% ตะวันออกกลาง ลด 13% แอฟริกา ลด 19.4% ลาตินอเมริกา ลด 19% สหภาพยุโรป 12 ประเทศ ลด 6.4% กลุ่ม CIS รวมรัสเซีย ลด 21.1% แคนาดา ลด 3% ตลาดอื่นๆ ลด 34.3% แต่สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 42.1%

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า "กระทรวงพาณิชย์ประเมินการส่งออกในปี 2564 จะขยายตัวเป็นบวก 4% มูลค่า 240,727 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเฉลี่ยต่อเดือนต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมองว่าอาจจะขยายตัวได้ถึง 5% มูลค่ารวม 243,042 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 20,253 ล้านเหรียญสหรัฐ

เพราะมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน แม้โควิด-19 จะระบาดอีก แต่ก็มีการล็อกดาวน์แบบจำกัด ทำให้ผลกระทบไม่รุนแรงเหมือนรอบแรก และยังได้แรงหนุนจากการกระจายวัคซีนโควิด-19 การกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ ทำให้มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับนโยบายการค้าสหรัฐฯ กลับมายึดกติกาองค์การการค้าโลก (WTO) ช่วยให้ความขัดแย้งจากสงครามการค้าผ่อนคลาย รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่จะบังคับใช้ช่วงครึ่งปีหลัง 2564 จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าของประเทศสมาชิก"

"อย่างไรก็ตาม ต้องระวังปัจจัยลบ เรื่องค่าเงินบาทที่อยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินของคู่แข่งในภูมิภาค ทำให้การแข่งขันด้านราคายากขึ้น มีปัญหาอุปสรรคจากการขาดแคลนตู้สินค้า ทำให้มีต้นทุนโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น และอุปสรรคในการเจรจาความตกลงการค้า เช่น ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่ไทยยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน ทำให้ส่งออกในอนาคตเสี่ยงที่จะเสียแต้มต่อคู่แข่ง"

บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ กับภารกิจการเป็นฐานการผลิตวัคซีนโควิด-19 แห่งภูมิภาคอาเซียน ดำเนินการผลิตวัคซีนโดยยึดนโยบายไม่กำไร ไม่ขาดทุน ย้ำปณิธาน “มุ่งมั่นที่จะทำให้คนไทยและทั่วโลกมีวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า”

ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ ผลิต ได้แก่ ยารักษาโรคชีววัตถุ อาทิ ยาเพิ่มเม็ดเลือดแดงให้กับผู้ป่วยที่มีอาการไตวายเรื้อรัง และยาเพิ่มเม็ดเลือดขาว ให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด โดยยาทั้ง 2 ตัวผลิตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพชั้นสูง สามารถบำบัดรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพายาจากต่างชาติ ช่วยสร้างความมั่นคงให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศอย่างยั่งยืน

และด้วยคุณภาพและมาตรฐานระดับโลกของโรงงาน บริษัทฯ จึงได้รับการรับรองมาตรฐานสากล PIC/S GMP, ISO9001, ISO17025 และ ISO13485 อีกทั้งได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ผลิตยาและชุดตรวจโรค ให้แก่องค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัดได้ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาและผลิตชุดตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบ RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีตรวจวินิจฉัยโรคตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) และได้มอบให้หน่วยงานราชการใช้ในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยในประเทศมากกว่า 100,000 ชุด

ก้าวสำคัญต่อมาคือ การผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และบริษัทแอสตร้าเซเนก้า ผู้ผลิตชีวภัณฑ์ชั้นนำของโลก

ในเดือนตุลาคม 2563 บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ , บริษัท เอสซีจี , แอสตร้าเซเนก้า และกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงในความร่วมมือเพื่อที่จะให้วัคซีนนี้ได้มีใช้อย่างแพร่หลายในภูมิภาคอาเซียน จากหนังสือแสดงเจตจำนงดังกล่าว ได้นำไปสู่สัญญารับจ้างผลิตระหว่าง แอสตร้าเซเนก้าและสยามไบโอไซเอนซ์

ซึ่งสัญญานี้แสดงให้เห็นว่า สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นบริษัทที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีชั้นสูง สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานสากล จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีของแอสตร้าเซเนก้า ส่งผลให้สยามไบโอไซเอนซ์เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า ที่มีมากกว่า 20 แห่งทั่วโลก

สำหรับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ของแอสตร้าเซเนก้า ใช้เทคโนโลยีในการผลิตใกล้เคียงกับการผลิตยาชีววัตถุจากเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งสยามไบโอไซเอนซ์ มีประสบการณ์ในการผลิตยาชีววัตถุด้วยเทคโนโลยีนี้ และมีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดแล้วทั้งในประเทศและส่งออก

โรงงานของสยามไบโอไซเอนซ์ ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตระดับสากล มีศักยภาพที่จะรองรับการผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าได้ทุกขั้นตอน และเป็นโรงงานทีใช้เทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สามารถรองรับการขยายกำลังการผลิตได้ในอนาคต

สยามไบโอไซเอนซ์จึงเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 โดยสยามไบโอไซเอนซ์ได้ดำเนินการผลิตวัคซีนโดยยึดนโยบายไม่กำไร ไม่ขาดทุน หรือ no profit, no loss ในช่วงที่มีการระบาดนี้ ซึ่งเป็นนโยบายเดียวกันกับของแอสตร้าเซเนก้า

ภารกิจผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข จำนวนเงินประมาณ 600 ล้านบาท และจากบริษัท เอสซีจี 100 ล้านบาท เพื่อต่อยอดศักยภาพของโรงงานให้มีความพร้อมในการผลิตวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด เมื่อผลิตวัคซีนได้สำเร็จ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จะสั่งซื้อวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 จากแอสตร้าเซเนก้า เป็นมูลค่าเท่ากับจำนวนเงินทุนที่ได้รับ เพื่อส่งมอบให้กับรัฐบาลในการดูแลสุขภาพของคนไทยต่อไป

นางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า “สยามไบโอไซเอนซ์มีความภาคภูมิใจที่ได้รับเลือกจากแอสตร้าเซเนก้าให้เป็นฐานการผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่ตรงตามมาตรฐานระดับโลก ในขณะนี้เจ้าหน้าที่ของสยามไบโอไซเอนซ์ทุกคนเร่งทำงานแข่งกับเวลา โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ตัดสินใจปรับแผนการผลิตยาชีววัตถุเดิม โดยทุ่มสรรพกำลังในการผลิตวัคซีนที่ได้ตรงตามมาตรฐานของแอสตร้าเซเนก้าในเวลารวดเร็วที่สุด เพื่อที่ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชาติ เศรษฐกิจไทย รวมถึงประชาชนและเศรษฐกิจระดับภูมิภาค จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง ดังปณิธานของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ที่มุ่งมั่นที่จะทำให้คนไทยและทั่วโลกมีวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า” 

‘กัปตันโยธิน’ ตั้งคำถาม ‘บอร์ดฟื้นฟูการบินไทย’ เหตุใดไร้ความสามารถหาแหล่งเงินทุนเอง ต้องจ้างบริษัทหลักทรัพย์ช่วยหา เพราะต้องจ่ายค่าคอมมิสชันเพิ่ม ในขณะที่ฐานะการเงินยังย่ำแย่ รวมถึงแผนการยกเลิกการขายตั๋วผ่าน agent ยังไม่มีความชัดเจนเช่นกัน

กัปตัน โยธิน ภมรมนตรี อดีตผู้บริหารระดับสูง บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) โพสต์ผ่านเฟสบุ๊ก ‘Jothin Pamon-montri’ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 ถึงแผนฟื้นฟูการบินไทย โดยมี ว่า  

สะพัดข่าว แผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทย

เมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มีข่าวสะพัด ทั้งทาง TV และ สื่อมวลชนแขนงอื่น ๆ เรื่องแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย ส่อล้ม

ดูเหมือนจะมีปัญหาขัดแย้งกัน ในคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งมีความเห็นไม่ตรงกัน ในเรื่องที่จะจัดจ้างที่ปรึกษาด้านการเงิน และนโยบาย สายการบินไทยสมายล์ จึงมีข่าวออกมาว่า อาจเป็นไปได้ ว่าไม่สามารถส่งแผนให้ทางศาลล้มละลาย ทันตามกำหนด

เมื่อติดตามข่าว ดูเหมือน ว่าบริษัท EY (บริษัทที่ปรึกษา) ได้ทำแผนฟื้นฟูกิจการเสร็จแล้ว และได้ส่งแผนดังกล่าวให้แก่ คณะกรรมการทำแผนฯ เพื่อพิจารณา ส่วนว่าคณะทำแผนฯ จะรับแผนฟื้นฟูกิจการที่ทาง EY เสนอหรือไม่ ก็คงต้องรอวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นวันที่คณะทำแผนฟื้นฟูต้องเสนอ แผนดังกล่าวแก่ ศาลล้มละลายกลาง เพื่อพิจารณา หรือว่าจะมีการขอเลื่อนเวลาออกไปอีกครั้ง

ที่ทราบมา คือฝ่ายบริหารการบินไทยได้ ส่ง RFP ( Request for Proposal ) ไป ยัง 7 บริษัทเพื่อจะจ้างมาเป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน ดูเหมือนมีแค่ 2 บริษัท คือ บริษัท หลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร และ ธนาคารไทยพาณิชย์ ส่งข้อเสนอมา และหลังพิจารณาข้อดีข้อเสียแล้ว บริษัท หลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุด ซึ่งข้อเสนอดังกล่าว ทาง บริษัท หลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร เสนอ ค่าตอบแทนออกเป็น สองส่วน

ส่วนที่ 1 ที่เรียกว่า Advisory Fee (ค่าให้ การปรึกษา) ชำระเป็นรายเดือน จนสิ้นสุดสัญญา

ส่วนที่ 2 ที่เรียกว่า Success Fee (ภาษาชาวบ้าน คือ ค่า กินหัวคิว) จ่ายเป็น เปอร์เซ็นต์ ตามมูลค่า ของแหล่ง เงินทุนที่จัดหามาให้ได้ และการขายหลักทรัพย์ หรือ สินทรัพย์ ก็เลยจำเป็นต้องมีคำตอบในเรื่องนี้

คำถามแรก ขอเรียนถามคุณจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล ในฐานะที่เคยเป็นรองปลัดกระทรวงคลัง ว่าไม่มีความสามารถ ที่จะช่วยหาแหล่งเงินทุนให้กับบริษัทการบินไทย เชียวหรือ จึงต้องจ้างที่ปรึกษาฝ่ายการเงิน บริษัท หลักทรัพย์ มาช่วย เร่งหา แหล่งเงินทุน ซึ่งบริษัทการบินไทยต้องเสียเงินจำนวนเปอร์เซ็นต์ ตามจำนวนทุนที่สามารถ หามาได้โดยบริษัท ที่ปรึกษา

คำถามที่ สอง บริษัทมี นโยบาย จะพยายามขายตั๋วโดยสารโดยตรง ไม่ขายผ่าน ตัวแทน (agent) เพื่อไม่ต้อง เสียค่า คอมมิชชั่น เช่นเดียวกับ การซื้อเครื่องบินในอดีต ต่อไปจะซื้อตรงกับ บริษัทผู้ผลิต เพื่อหลีกเลี่ยง ข้อ ครหา เรื่อง สินบน และเหตุใด จึงต้องไปจ้าง บริษัท หลักทรัพย์ มาช่วย ขาย หลักทรัพย์ และหรือ สินทรัพย์ ของบริษัท ซึ่งบริษัทต้องจ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ จากจำนวนเงิน ของ หลักทรัพย์ และ สินทรัพย์ที่ขายไป แต่ถ้าบริษัทที่ปรึกษา ไม่สามารถสรรหาแหล่งเงินทุน หรือ หาผู้มาซื้อหลักทรัพย์ หรือ สินทรัพย์ ของบริษัท ก็ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น แถมยังได้ ค่าจ้าง ที่เรียกว่า Advisor fee ทุกเดือน จน สิ้นสุดสัญญา

ส่วนเรื่อง สายการบินไทยสมายล์ จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟู และความเห็นต่าง ระหว่างฝ่ายเสียงข้างมาก กับฝ่ายเสียงข้างน้อย กับบริษัทที่ปรึกษาทำแผนในโอกาสต่อไป ครับ


กัปตันโยธิน ภมรมนตรี

25 มกราคม 64

ที่มา : https://www.facebook.com/jothin.pamonmontri

ททท. หวั่นผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ไม่คลี่คลาย หากยืดเยื้อถึง 1 ไตรมาส อาจสูญเสียรายได้หลักแสนล้านบาทแน่นอน โดยเฉพาะลูกจ้างในสาขาโรงแรม จะตกงานเพิ่มขึ้นประมาณ 1 แสนคน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ตั้งแต่ต้นปีนั้น เห็นว่า การระบาดครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อนเพราะมีมุมมองการจัดการที่ดีขึ้น ทั้งความสามารถในการตรวจ การรองรับผู้ป่วยมากขึ้นกว่าเดิม ความตื่นตระหนกที่น้อยกว่ารอบแรก รวมทั้งความรุนแรงของโรคที่น้อยลง เช่นเดียวกับความพร้อมด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้น และความพร้อมเรื่องวัคซีนชัดเจนขึ้น ส่งผลให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น

แต่ถ้าสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย โดยยังมีการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และจำกัดการเดินทาง ประเมินเบื้องต้นว่า อาจส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวหายไปไม่น้อยกว่าเดือนละ 4.6 หมื่นล้านบาท และถ้ายืดเยื้อถึง 1 ไตรมาสก็สูญเสียรายได้เป็นหลักแสนล้านบาทแน่นอน

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ระบุว่า ถ้าสถานการณ์การระบาดยืดเยื้อ การท่องเที่ยวจะมีความเสี่ยง โดยเฉพาะลูกจ้างในสาขาโรงแรมจะตกงานเพิ่มขึ้นประมาณ 1 แสนคน ขณะที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ประเมินว่า เอสเอ็มอีภาคท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่องกว่า 93,437 ราย จ้างงาน 3.2 ล้านคน ถ้ารวมธุรกิจที่เกี่ยวข้องไปอีกจะเป็นตัวเลขที่มากกว่านี้ถึง 3 เท่า หรือคิดเป็นการจ้างงานถึง 10 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นการจะฟื้นภาคการท่องเที่ยวได้รัฐจำเป็นต้องช่วยเหลือเอกชนก่อนเพื่อให้อยู่รอดในช่วงนี้ต่อไปได้

กระทรวงการคลัง เตรียมเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราชนะ” ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท ให้กับประชาชนทั่วไปและนิติบุคคลไม่แสวงหากำไร ดีเดย์ เริ่มขายผ่านแอปฯ ‘เป๋าตัง’ 1 ก.พ. นี้

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) แถลงข่าวการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราชนะ” (We Win) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน และพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามแผนงานโครงการของรัฐบาล ซึ่งพันธบัตรออมทรัพย์เป็นตราสารหนี้ที่มีความมั่นคงให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ตลาดการเงินมีความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ

และเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐเพื่อการดูแลประชาชน ทุกกลุ่ม พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราชนะ” จะเริ่มจำหน่ายบนวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตังเป็นที่แรกในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และจำหน่ายผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่ายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ตามความสะดวก ดังนี้

1.) รุ่นเราชนะบนวอลเล็ต สบม. วงเงินจำหน่าย 5,000 ล้านบาท รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได (Step-up) เฉลี่ยร้อยละ 2.00 ต่อปี โดยเริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ 100 บาท จนถึง 5 ล้านบาท ซึ่งในทุกขั้นตอนผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องไปธนาคาร ผู้ลงทุนสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเป๋าตังเพื่อลงทะเบียนและเตรียมโอนเงินเข้าวอลเล็ต สบม. ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 - 19 กุมภาพันธ์ 2564

2.) รุ่นเราชนะ วงเงินจำหน่าย 55,000 ล้านบาท โดยเป็นการจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปและนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรผ่าน 4 ธนาคารตัวแทนจำหน่าย ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ แบบไม่จำกัดวงเงินซื้อ ตั้งแต่วันที่ 5 – 19 กุมภาพันธ์ 2564 แบ่งการจำหน่ายเป็น 2 ช่วง ดังนี้

(1) วันที่ 5-15 กุมภาพันธ์ 2564 จำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได (Step Up) โดยรุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 2.00 ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 2.50 ต่อปี

(2) วันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2564 จำหน่ายให้กับนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวง การคลังกำหนด รุ่นอายุ 15 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 1.80 ต่อปี

ทั้งนี้ วงเงินรุ่นเราชนะที่จำหน่ายบนวอลเล็ต สบม. และธนาคารตัวแทนจำหน่ายไม่นับรวมกัน ผู้ลงทุนจึงสามารถลงทุนได้ทั้ง 2 ช่องทาง

อย่างไรก็ตาม สบน. ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพผู้ลงทุนและการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงได้แจ้งให้ธนาคารตัวแทนจำหน่ายปรับวิธีการจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถทำธุรกรรมได้อย่างปลอดภัย ซึ่งผู้ลงทุนสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขและวิธีการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง สำหรับวอลเล็ต สบม. ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลการใช้งานได้ที่ Call Center โทร. 02-111-1111 หรือที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top