Tuesday, 14 May 2024
COP26

‘บิ๊กตู่’ ชวน ‘โจ ไบเดน’ ร่วมประชุมเอเปคปีหน้า หลังโชว์วิชั่น แก้ปัญหาภูมิอากาศบนเวทีโลก

‘บิ๊กตู่’ เชิญ ปธน.โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เข้าร่วมประชุมเอเปคปีหน้า ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ด้านนายกฯ สหราชอาณาจักรชมเปาะ ไทยมุ่งมั่นแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลัง ‘บิ๊กตู่’ ประกาศเจตนารมณ์ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 21.00 น. ของวันที่ 1 พ.ย. ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร (ตรงกับเวลา 04.00 น.ของประเทศไทย) ระหว่างงานเลี้ยงรับรองผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือสมัยที่ 26 (COP26)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พบปะพูดคุย พร้อมทั้งเชิญประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา ระหว่างงานเลี้ยงรับรองผู้นำ COP 26 หลังจากได้พบกันในการประชุมสุดยอดอาเซียน สัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมสอบถามถึงสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งเชิญประธานาธิบดีไบเดน เยือนไทยในโอกาสที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2565

นอกจากนี้ นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้ทักทายพูดคุยกับพล.อ.ประยุทธ์ พร้อมกล่าวชื่นชมในความมุ่งมั่นพยายามของไทยในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไทยตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065 พร้อมทั้ง ขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่มาร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีของไทยได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่าง ๆ กับบรรดาผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุม

โดยก่อนหน้านี้ ในช่วงเวลา 16.00 น. วันที่ 1 พ.ย. (ตามเวลาท้องถิ่นที่เมืองกลาสโกว์) พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุม โดยยืนยันว่า ไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ ทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญของโลกเพื่ออนาคตของลูกหลานของพวกเราทุกคน

“ผมมาร่วมประชุมวันนี้ เพื่อเป็นการยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไทยพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ และทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการแก้ปัญหาครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของโลก เพราะภารกิจนี้คือความเป็นความตายของโลกและอนาคตของลูกหลานของพวกเราทุกคน 

ปัจจุบันไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกในปริมาณเพียงประมาณร้อยละ 0.72 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วทั้งโลก แต่ประเทศไทยกลับเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ผมไปร่วมการประชุมสุดยอดเรื่องภูมิอากาศของสหประชาชาติที่กรุงปารีสเมื่อปี 2015 โดยไทยอยู่ในประเทศกลุ่มแรกที่ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีของความตกลงปารีส คำมั่นสัญญาของไทย มิใช่คำมั่นที่ว่างเปล่า ในช่วงที่ผ่านมา ไทยได้ปฏิบัติตามคำมั่นทุกประการที่ให้ไว้กับประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง และมีการดำเนินการอย่างแข็งขันภายในประเทศ” 

'บิ๊กตู่' เผย ร่วมประชุม COP 26 ถือว่าคุ้ม ได้พบผู้นำหลายประเทศ พร้อมร่วมมือกับไทย 

นายกฯ เผย การเดินทางเข้าร่วมประชุม COP 26 ถือว่าคุ้ม ได้พบปะพูดคุยกับผู้นำประเทศต่าง ๆ หลายท่านรู้จักและคุ้นเคยกันดี ในหลายประเด็น “เขาพูดกับผมอย่างเดียวว่าพร้อมที่จะร่วมมือกับไทย พร้อมที่จะเดินหน้าในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้าการลงทุน”

(2 พ.ย. 64) เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมหารือและการกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ว่า ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับผู้นำประเทศต่าง ๆ ซึ่งหลายท่านรู้จักและคุ้นเคยกันดี ในหลายประเด็น ได้พูดคุยกันถึงเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีที่มีกันมาอย่างยาวนาน เพราะหลายคนก็ไม่ได้พบกันหลายปีพอสมควร แต่หลายคนก็อยู่ด้วยกันโดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคอาเซียน

“อย่างไรก็ตามผู้นำประเทศต่าง ๆ เขาพูดกับผมอย่างเดียวว่าพร้อมที่จะร่วมมือกับไทย พร้อมที่จะเดินหน้าในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้าการลงทุน แม้แต่ในกลุ่มประเทศอาเซียน อย่างเวียดนาม ได้ยืนยันว่าจะต้องดำเนินการทุกอย่างให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะการเจรจาทวิภาคีและพหุภาคี หรืออย่างเกาหลีใต้ เยอรมนี และได้ใช้โอกาสในการพูดคุยเชิญชวนบรรดาผู้นำประเทศต่าง ๆ มาเข้าร่วมประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือการประชุมเอเปค ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมในปี 2565 ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ในการประชุมอาเซียนที่ผ่านมาก็ได้มีการเรียนเชิญไปบ้างแล้ว

‘อ.แพท’ ยกนิ้ว ‘บิ๊กตู่’ พูดได้ดีบนเวทีโลก ชี้! ผู้นำ ‘อ่านสคริปต์ - ใช้ภาษาถิ่น’ ไม่ใช่เรื่องแปลก

คุณพัฒนพงศ์ (แพท) แสงธรรม อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ (ภาควิชาภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีคนวิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โชว์วิสัยทัศน์บนเวที COP 26 ที่ผ่านมา ว่า เบื่อกระบือ!! 
อันนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง เป็นความรู้เรื่อง public speaking

การพูดในระดับ keynote ปาถกฐา หรือสุนทรพจน์ คือ การพูดอย่างเป็นทางการ ไม่มีหลักการว่าต้องพูดปากเปล่า ย้ำว่า "ไม่มี" เพราะความแม่นยำถูกต้องในเนื้อหา ระดับภาษาเหมาะสม และมีวัจนลีลา จำเป็นต้องมีสคริปต์ที่ร่างมาเป็นอย่างดี การอ่านจากสคริปต์ จึงเป็นที่ยอมรับและปฏิบัติกันทั่วไป

ถ้าไม่ก้มหน้าอ่านจากสคริปต์ สามารถอ่านได้จาก teleprompter ซึ่งเป็นจอใส ที่จัดวางไว้ตรงหน้าโพเดียม หรือตรงเล็นส์กล้อง หรือ ด้านซ้ายและขวา เช่นในงาน COP26

ผู้พูดที่อ่าน teleprompter ไม่ถนัด ก็เลือกอ่านจากสคริปต์ตรงหน้า ใช้มือเปิดสคริปต์อ่านไปตามปกติ Boris Johnson นายกฯ อังกฤษ ก็ก้มหน้าอ่าน Alok Sharma ประธานงาน COP26 ก็ก้มหน้าอ่าน เลขาธิการสหประชาชาติก็ก้มหน้าอ่าน Patricia Espinosa เลขานุการบริหารของ UN ก็ก้มหน้าอ่าน และอื่น ๆ อีกหลายท่าน

ผู้ที่ใช้ teleprompter คล่อง จะมองด้านซ้ายที ขวาที เพราะมีจออ่านทั้งสองฟากของโพเดียม ไม่หันหน้าไปมุมอื่น มองเฉพาะจุดที่มีจอ เช่น ปธน. ไบเดน และเซอร์ ริชาร์ด แอทเทนเบอเรอห์

'ไบเดน' แขวะ!! 'จีน-รัสเซีย' ไร้เงาผู้นำบนเวที COP26 ด้านจีนสวน ยังดีกว่าบางประเทศที่เคยถอนตัว

กลายเป็นดราม่าร้อนแรงกลางงานประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาเพื่อปัญหาสภาพอากาศครั้งที่ 26 (COP26) จนได้ เมื่อ 'โจ ไบเดน' ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาแขวะแรงถึง ผู้นำจีน 'สี่ จิ้นผิง' และ ประธานาธิบดี รัสเซีย 'วลาดิมีร์ ปูติน' ว่าขาดภาวะผู้นำในเรื่องปัญหาภาวะโลกร้อน เนื่องจากผู้นำทั้งคู่ไม่มาเข้าร่วมการประชุม COP26 ประจำปีนี้ 

การประชุม COP26 นับเป็นงานสำคัญที่มีผู้นำประเทศมากกว่า 120 ชาติ มาเข้าร่วมโดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อถกปัญหาด้านสภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-12 พฤศจิกายน ที่เมืองกลาสโกล ในสกอตแลนด์ 

แต่กลับไม่พบ สี จิ้นผิง และ วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำของ 2 ชาติมหาอำนาจมาเข้าร่วมประชุม โดยทั้งจีน และรัสเซีย แจ้งว่าติดปัญหาเรื่องการระบาด Covid-19 ที่ทำให้ไม่สะดวกเดินทางไปต่างประเทศในช่วงนี้ 

โดยผู้นำรัสเซียจะเข้าร่วมประชุมทางไกลผ่านสื่อออนไลน์ ส่วนผู้นำจีนได้ส่งถ้อยแถลงแสดงเจตจำนงในการเป็นส่วนหนึ่งของสมัชชาภาคีอนุสัญญาผ่านมาทางกระทรวงการต่างประเทศของจีน

แต่ก็ไม่วายโดนผู้นำสหรัฐฯ อย่างโจ ไบเดน แขวะแรงว่า... 

"ทั้ง ๆ ที่จีนพยายามเหลือเกินที่จะให้ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นผู้นำโลก แต่ไม่ยอมมาร่วมประชุม COP26! ได้เหรอ! นี่เป็นประเด็นสำคัญของโลกเลยนะครับ แต่พวกเขา (จีน/รัสเซีย) กลับไม่มา แล้วประเทศอื่นเขาจะคิดยังไง แล้วยังจะอ้างตัวเป็นผู้นำโลกได้อีกหรือ? สำหรับจีน ผมพูดตรง ๆ เลยนะ พลาดมาก!!"

ปัจจุบัน จีน เป็นประเทศที่มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดในโลก ส่วนรัสเซียอยู่ในอันดับ 4 ดังนั้นการไม่ปรากฏตัวของผู้นำทั้ง 2 ชาติอย่างกับนัดหมายในงาน COP26 นั้น จึงกลายเป็นที่สังเกต และเปิดช่องให้ผู้นำสหรัฐฯ ออกปากโจมตีเพื่อสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของจีน และรัสเซีย

'ออสเตรเลีย'​ ไม่ยกเลิกใช้พลังงานถ่านหิน​ ในเวที COP26 อ้าง!! เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ

เส้นทางสู่โลกสวยไม่ใช่เรื่องง่าย​ 'ออสเตรเลีย'​ ไม่ยอมลงนามข้อตกลงเลิกการใช้พลังงานถ่านหิน หลังอ้างเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ

รัฐบาลออสเตรเลียตัดสินใจไม่ยอมลงนามความร่วมมือในการลดการใช้พลังงานถ่านหิน ที่เป็นหนึ่งในข้อตกลงร่วมในที่ประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาเพื่อปัญหาสภาพอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) ซึ่งถูกตั้งเป้าไว้สูงว่าจะต้องเลิกการใช้พลังงานถ่านหินอย่างถาวรให้ได้ภายในปี 2030 ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และปี 2040 สำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

ขณะที่ประเทศผู้ผลิตถ่านหิน​ ก็จะต้องพยายามลด ละ เลิก การผลิตถ่านหินที่เป็นพลังงานไม่สะอาด และเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศตั้งแต่วันนี้

สำหรับการลงนามดังกล่าวมีมากกว่า 100 ประเทศที่ได้ลงนามลดการใช้พลังงานถ่านหินตามข้อตกลง COP26 

ทว่า ออสเตรเลีย ถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตถ่านหินเพื่อการส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก​ จึงยังไม่ขอร่วมลงนามด้วย รวมถึงประเทศที่พึ่งพาพลังงานถ่านหินเป็นหลักอย่าง​ จีน, อินเดีย และสหรัฐอเมริกา เช่นกัน จึงทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้ดูริบหรี่ขึ้นมาทันตา

อย่างไรด็ตาม​ ประเด็นร้อนแรง ดูจะตกมาที่​ ออสเตรเลีย เป็นหลัก​ นั่นก็เพราะออสเตรเลีย เคยเป็นประเทศหัวหอกรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด 

ส่วนเหตุผลที่รัฐบาลออสเตรเลียไม่ยอมลงนามข้อตกลงในการยุติการใช้พลังงานถ่านหิน ก็คือ​ ออสเตรเลียต้องการมุ่งเน้นในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน มากกว่าที่จะกวาดล้างอุตสาหกรรมในประเทศ 

‘กลุ่มเด็กรักษ์โลก’ งัดแคมเปญ ‘ยึดโรงเรียน’ เรียกร้องให้ยุติการใช้พลังงานฟอสซิล

กลุ่มเยาวชนนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้ออกแถลงการณ์แคมเปญล่าสุดผ่านเว็บไซต์ www.endfossil.com ประกาศยึดโรงเรียน และ มหาวิทยาลัยทั่วโลก เพื่อเรียกร้องให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเด็ดขาด ที่มีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน 

สาเหตุที่พวกเขาออกมาเคลื่อนไหวด้วยการยึดสถาบันการศึกษา ตามแถลงการณ์นั้นได้ระบุว่า เหล่าบรรดาเยาวชนนักเคลื่อนไหว ได้พยายามทำทุกอย่างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเดินขบวนใหญ่ ยื่นคำร้องถึงองค์กรต่าง ๆ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผู้นำโลก และเข้าร่วมการประชุมระดับนานาชาติ พวกเขาตะโกนจนสุดเสียง แต่ก็ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ยิ่งเกิดการแพร่ระบาดของ Covid-19 ข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของพวกเขายิ่งเริ่มจางหายไป สุดท้ายปัญหาเรื่องโลกร้อนก็จะไม่จางหายไปไหน 

ฉะนั้นกลุ่มนักเคลื่อนไหวเยาวชน จึงขอประกาศตัวเป็นศัตรูกับ ‘อุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล’ ทุกรูปแบบ ที่นับวันจะเป็นธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีนักการเมือง และบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่หนุนหลัง ส่งผลให้เป้าหมายในการร่วมมือกัน เพื่อลดปัญหาโลกร้อนที่ประกาศไว้ในการประชุมสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ที่ผ่านมาเป็นเรื่องตลก 

ในแถลงการณ์ยังระบุอีกว่า พวกเขาซึ่งได้เกิดมาในยุคที่เข้าสู่หายนะด้านสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ไม่อาจนั่งเรียนหนังสืออย่างสบายใจ โดยไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับโลกบ้าง พวกเขาจึงตัดสินใจที่จะลุกฮือขึ้นสู้เพื่อหยุดยั้งสิ่งเหล่านี้ ด้วยพลังเยาวชนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ การใช้นวัตกรรม และความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้ได้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top