Saturday, 3 May 2025
CoolLife

ครบรอบ 82 ปี กำเนิด ‘วงดนตรีสุนทราภรณ์’ ความยิ่งใหญ่ทางดนตรี และบทเพลงอมตะโดย ‘ครูเอื้อ สุนทรสนาน’

บุคคลสำคัญของโลก ที่ได้รับการยกย่อง โดยยูเนสโก และเป็นบุคคลที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นเวลายาวนานตราบจนวาระสุดท้ายของบุคคลผู้นี้ คือ ‘ครูเอื้อ สุนทรสนาน’ หรือที่รู้จักกันในนามของ “สุนทราภรณ์” ผู้ก่อตั้งวงดนตรี “สุนทราภรณ์” อันโด่งดัง ซึ่งทุกวันนี้แม้ตัวคุณครูเองจะจากไปหลายปีแล้ว แต่วงดนตรีของท่านก็ยังคงอยู่ รวมทั้งเพลงต่าง ๆ ที่คุณครูแต่งหรือร่วมแต่งไว้กว่า 2,000 เพลง ก็ยังคงความไพเราะและเป็นอมตะ ได้รับการบรรเลงขับร้องจากนักร้องรุ่นหลัง ๆ เรื่อยมา โดยไม่มีวี่แววว่าประชาชนจะหลงลืมเพลงเหล่านี้แต่อย่างใดเลย

ครูเอื้อเกิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2453 ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2524 และได้รับการยกย่องจากยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในสาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล ในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล เมื่อ พ.ศ. 2552

ท่านก่อตั้งวงดนตรี “สุนทราภรณ์” เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าวงดนตรีกรมโฆษณาการ หรือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน ครูเอื้อไม่ประสงค์จะใช้วงดนตรีของทางราชการไปรับงานแสดงส่วนตัว จึงได้ดำริจัดตั้งวงดนตรี “สุนทราภรณ์” ขึ้น เพื่อรับบรรเลงตามสถานที่ต่าง ๆ ในเวลานอกราชการ 

คำว่า “สุนทราภรณ์” ได้มาจากการนำนามสกุลท่อนแรกของท่าน คือ “สุนทร” มาสนธิกับชื่อสุภาพสตรีอันเป็นที่รักของท่าน ได้แก่ “อาภรณ์” (กรรณสูต) กลายเป็น “สุนทราภรณ์” ซึ่งเป็นทั้งชื่อวงดนตรีและนามแฝงในการขับร้องเพลงของท่านควบคู่กันไป เพลงของสุนทราภรณ์มีทุกแนว นับตั้งแต่เพลงปลุกใจ, เพลงสดุดีเทิดพระเกียรติ, เพลงประจำสถาบันต่าง ๆ, เพลงรัก, เพลงคติธรรมชีวิต ไปจนถึงเพลงรำวงและลีลาศอันสนุกสนาน หลาย ๆ เพลงยังคงความอมตะ และได้รับความนิยมสืบเนื่องจนกลายเป็นสมบัติของชาติเคียงคู่สังคมไทยตราบเท่าทุกวันนี้ ได้แก่ เพลงเทศกาลต่าง ๆ เช่น เริงสงกรานต์, รำวงสงกรานต์, รำวงลอยกระทง, สวัสดีปีใหม่, รื่นเริงเถลิงศก, รำวงปีใหม่ ฯลฯ เป็นต้น

วันนี้เมื่อ 37 ปีที่แล้ว ‘เขาทราย แกแล็คซี่’ เจ้าของฉายาซ้ายทะลวงไส้ สร้างตำนานบทใหม่คว้าเข็มขัดแชมป์โลกรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท WBA

เมื่อ วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 หรือ เมื่อ 37 ปีก่อน ‘สุระ แสนคำ’ หรือ ‘เขาทราย แกแล็คซี่' ได้คว้าเข็มขัดแชมป์โลกมาครอง ซึ่งได้สร้างความปลื้มปีติให้แก่ชาวไทยทั้งประเทศ เมื่อ เขาทราย แกแล็คซี่ ยอดนักมวยขวัญใจชาวไทย ชนะน็อก ยูเซปิโอ เอสปินัล นักมวยชาวโดมินิกัน ซึ่งเป็นรองแชมป์โลก WBA อันดับ 2 ในรุ่นซูเปอร์ ฟลายเวท ในขณะนั้นได้สำเร็จ ทำให้ เขาทราย แกแล็คซี่ คว้าตำแหน่งแชมป์โลก รุ่นจูเนียร์แบนตั้มเวท WBA มาครอง โดยเป็นตำแหน่งแชมป์โลกครั้งแรกของเขาทราย และเป็นแชมป์โลกคนที่ 9 ของไทย

หากพูดถึงชื่อ ‘เขาทราย แกแล็คซี่’ ฉายาที่คุ้นหูคนไทยคงไม่พ้น ‘ซ้ายทะลวงไส้’ อันมีที่มาจากการเป็นนักมวยถนัดซ้าย ที่มาพร้อมกับหมัดซ้ายที่หนักหน่วง และการชกตัดลำตัวที่ยอดเยี่ยม ในขณะที่ฉายาที่สื่อต่างประเทศมอบให้ คือ The Thai Tyson หรือ ไมค์ ไทสัน เมืองไทย

วันนี้เมื่อ 58 ปีที่แล้ว เกิดเหตุลอบสังหารสะท้านโลก! อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ‘จอห์น เอฟ. เคนเนดี’ คดีที่ยังถูกกังขา จากเอกสารลับที่ไม่อาจเปิดเผย!

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความตื่นตกใจให้กับคนทั้งโลก เมื่อ ‘จอห์น เอฟ. เคนเนดี’ ประธานาธิบดีลำดับที่ 35 แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ถูกลอบสังหารขณะเดินทางไปหาเสียงเลือกตั้ง ปธน. ภายในรถเปิดประทุน โดยมีภรรยานั่งอยู่ด้านข้าง โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในเวลา 12.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ เดลลีย์พลาซา เมืองแดลลัส รัฐเท็กซัส

โดยจากการสืบสวนของคณะกรรมการวอร์เรน ซึ่งกินเวลา 10 เดือน ระหว่าง พ.ศ. 2506 - 2507 การสืบสวนของคณะกรรมการสมาชิกผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ว่าด้วยการลอบสังหารประธานาธิบดี (HSCA) ระหว่าง พ.ศ. 2519 - 2522 และการสืบสวนของรัฐบาล สรุปว่าประธานาธิบดีถูกลอบสังหารโดย 'ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์’

ซึ่งในเวลาต่อมา ออสวอล์ดถูกฆาตกรรมโดย แจ๊ค รูบี้ ก่อนที่เขาจะต้องขึ้นศาล ในช่วงแรกที่มีการเปิดเผยผลการสืบสวน ข้อสรุปนี้ได้รับการยอมรับจากสาธารณชนอเมริกัน แต่ในภายหลัง ผลสำรวจที่มีการจัดทำขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2509 ถึง พ.ศ. 2547 เปิดเผยว่าชาวอเมริกันประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์มีความเชื่อตรงกันข้ามกับข้อสรุปที่ได้จากการสืบสวนดังกล่าว

ดังนั้นการลอบสังหารในครั้งนี้ยังคงเป็นประเด็นการอภิปรายในวงกว้าง และก่อให้เกิดประเด็นเรื่องทฤษฎีสมคบคิดและการจัดฉากอย่างนับไม่ถ้วน จนกระทั่ง พ.ศ. 2522 คณะกรรมการสมาชิกผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ว่าด้วยการลอบสังหารประธานาธิบดี ค้นพบว่ารายงานการสืบสวนของเอฟบีไอและคณะกรรมการวอร์เรนมีข้อบกพร่องอย่างร้ายแรง 

คณะกรรมการฯ ยังสรุปด้วยว่ามีการยิงปืนใส่ไม่ต่ำกว่า 4 นัด ซึ่งเป็นไปได้สูงว่าอาจมีฆาตกรสองคน และทฤษฎีสมคบคิดดังกล่าวเกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาในภายหลัง ซึ่งรวมถึงผลการศึกษาของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกาได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความถูกต้องของหลักฐานที่คณะกรรมการฯ ใช้เพื่อสนับสนุนทฤษฎีกระสุนสี่นัดดังกล่าว

แต่แล้ว ในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560 คดีการลอบสังหารในครั้งนี้ก็ดูเหมือนจะกระจ่างขึ้น เมื่อประธานาธิบดีโดนัลน์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้มีคำสั่งให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ เปิดเผยเอกสารเกี่ยวกับคดีลอบสังหาร ปธน.จอห์น เอฟ เคนเนดี ที่ยังไม่เคยเปิดเผยกว่า 2,800 ชิ้น ตามที่ได้เคยกล่าวผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่าจะเปิดเผยข้อมูลในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560

23 พฤศจิกายน ค.ศ. 1973 ฉลองวันเกิด ‘มาคุโนอุจิ อิปโป’ วัย 48 ปี ตัวละครหลักการ์ตูนในตำนาน ‘ก้าวแรกสู่สังเวียน’

‘มาคุโนอุจิ อิปโป’ ตัวละครหลักในการ์ตูนในตำนาน ‘ก้าวแรกสู่สังเวียน’ ซึ่งเป็นผลงานของ โจจิ โมริคาว่า
เริ่มลงตีพิมพ์ในนิตยสารโชเน็นแม็กกาซีนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ถึงปัจจุบันการ์ตูนเรื่องนี้ก็ไม่จบ ซึ่งในประเทศไทยเองก็ได้นำมาตีพิมพ์ลงในนิตยสารเจ้าหนูยอดนักกีฬา ของสำนักพิมพ์ยู.สปอร์ตตูน และ GAMES ของสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ ตั้งแต่สมัยที่การ์ตูนญี่ปุ่นยังไม่มีลิขสิทธิ์ แต่ภายหลังสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจได้เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ และทำการตีพิมพ์การ์ตูนเรื่องนี้ออกจำหน่ายในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว

ส่วนในฉบับอนิเมะ เริ่มออกอากาศที่ญี่ปุ่น ทางสถานีนิปปอนทีวี ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2543 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2545 มีความยาวทั้งสิ้น 76 ตอน หลังจากนั้นก็ยังมีการสร้างตอน ‘แชมเปียนโร้ด’ ซึ่งเป็นภาคพิเศษออกฉายทางโทรทัศน์ และตอน ‘มาชิบะ ปะทะ คิมูระ’ ออกจำหน่ายในรูปแบบ OVA (โอวีเอ) ด้วย 

สำหรับในประเทศไทย เคยออกอากาศทางโมเดิร์นไนน์ ทีวีตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ถึง 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 และออกจำหน่ายในรูปแบบวีซีดี โดย TIGA 

24 พฤศจิกายน ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฎร์ธานี เพาะพันธุ์ ‘ปลามังกร’ หรือ ‘ปลาตะพัด’ ได้สำเร็จ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย!!

ปลามังกร หรือ ปลาตะพัด เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว อายุยืน และมีความคุ้นเคยกับผู้เลี้ยงเป็นอย่างดี  ปลาตะพัดจะพบได้ในแหล่งน้ำเพียงไม่กี่แห่งในโลก และจากการศึกษาซากฟอสซิลของปลาดังกล่าว ปรากฏว่า ซากปลาที่ค้นพบมีอายุประมาณ 60 ล้านปีล่วงมาแล้ว 

โดยมีผู้เชี่ยวชาญบางท่านได้สันนิษฐานว่า ปลาในตระกูลนี้อาจเคยมีชีวิตอยู่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วโลก แต่เนื่องจากความผันแปรทางธรรมชาติ จึงทำให้ปลาชนิดนี้ได้สูญหายไปจากซีกโลกบางส่วน ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฎร์ธานีภายใต้การนำของนายเทียนทอง อยู่เวชวัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์ ฯ ในขณะนั้น ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปลาชนิดนี้ และได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งอื่น ๆ เพื่อใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ปลาในการทดลองเพาะขยายพันธุ์

‘วันวชิราวุธ’ ถือกำเนิดขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติ “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ผู้ทรงริเริ่มกิจการลูกเสือในประเทศไทย

“วันวชิราวุธ” ตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี หรือเดิมเรียกกันว่า ‘วันวชิราวุธานุสรณ์’ เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในลำดับที่ 6 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 24 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เมื่อทรงพระชนมายุได้ 8 พรรษา ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเทพทวาราวดี ทรงมีพระเกียรติยศเป็นชั้นที่ 2 รองจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ปี 2453 จนถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 จึงเสด็จสวรรคตด้วยโรคพระโลหิตเป็นพิษ ขณะทรงมีพระชนมายุ 45 พรรษาเศษ เสด็จดำรงสิริราชสมบัติรวม 15 ปี อย่างไรก็ตาม ในภายหลังมีหลักฐานปรากฏชัดว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในช่วงเช้ามืดล่วงเข้าวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 แต่วันวชิราวุธยังคงเป็นวันเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ และ ‘สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ’ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นแรก 

‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ และ ‘สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ’ เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นแรก 

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ดำเนินการขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พร้อมพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราชด้วย ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 เป็นวันเสด็จพระราชดำเนินในพิธี โดยใช้สถานที่จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก คือ บริเวณหน้าสำนักหอสมุดกลาง

หลังจากพิธีเปิดพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งไปทางด้านหลังสำนักหอสมุดกลาง เสด็จขึ้นหอสมุดกลางทางประตูด้านหลัง เสด็จเข้าห้องรับรอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทูลเกล้าฯ ถวายครุยปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และรองอธิการบดีทูลเกล้าฯ ถวายครุยปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ทางสังคมวิทยา แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงฉลองพระองค์ครุย แล้วทรงลงปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยในสมุดเยี่ยมของมหาวิทยาลัย เมื่อถึงหมายกำหนดการพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเข้าเวทีที่ประทับ ทรงบูชาพระรัตนตรัย แล้วเสด็จประทับพระราชอาสน์ ที่หน้าสำนักหอสมุดกลาง

“วันสาธารณสุขแห่งชาติ” โดย ‘พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศตั้งกรมสาธารณสุขในวันนี้ 

วันสาธารณสุขแห่งชาติ 27 พฤศจิกายน ของทุก ๆ ปี เป็นวันสถาปนาการสาธารณสุข ความเป็นมาของวันสาธารณสุขแห่งชาติ สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งกรมสาธารณสุข โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร อธิบดีกรมมหาวิทยาลัย เป็นอธิบดีกรมสาธารณสุขคนแรก 

ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 นับเป็นวาระแรกที่มีการใช้คำว่า "สาธารณสุข" จึงทำให้กรมสาธารณสุขอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2485 ก็ได้มีการสถาปนาขึ้นเป็น "กระทรวงสาธารณสุข" โดยถือเอาวันที่ 10 มีนาคม เป็นวันสถาปนา "กระทรวงสาธารณสุข"

28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 วันเลือกตั้ง อบต. หลังถูกแช่แข็งมานาน นับ 7 ปี

องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น มีฐานะเป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และแก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562

โดย อบต. เป็นหนึ่งในความพยายามปฏิรูปการเมือง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในนาม อบต. เปรียบเสมือนการตั้งองค์กรประชาธิปไตยขนาดเล็ก ที่ประชาชนมีส่วนร่วมได้ง่าย ในพื้นที่ขนาดเล็ก และมีความเป็นชุมชนตามธรรมชาติ สังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย 

หลังจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุดถูก ‘แช่แข็ง’ หลังรัฐประหาร 2557 ปลายปี 2564 ก็จะมีการเลือกตั้ง อบต. ผู้บริหารท้องถิ่นอีกครั้ง หลังจากเว้นว่างการใช้สิทธิ์โดยประชาชนมานานหลายปี 

ทั้งนี้ เนื่องจากวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 คสช. ได้ออกประกาศ คสช.ที่ 85/2557 งดการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น และให้ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป

29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้เสด็จพระราชดำเนินยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จของคณะกรรมการสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

และได้ทรงปลูกต้นนนทรี 9 ต้น ณ บริเวณหน้าหอประชุม มก. ทั้งยังมีพระราชดำรัสถึงบุคลากรและนิสิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในคราวนั้นว่า

“ขอฝากต้นไม้นี้ให้มหาวิทยาลัยและนิสิตช่วยกันรักษาให้ดี อย่าให้หงอย ขอฝากนิสิตทั้งหลาย ขอให้ช่วยกันรักษาตัวเองให้ดี และอย่าลืมว่าตัวเองนั้นจะอยู่กันได้ก็ด้วยแผ่นดินไทย ขอให้ช่วยรักษาแผ่นดินไทยไว้ด้วย คนไทยถ้าไร้แผ่นดินก็จะหงอยกันหมด อยู่กันไม่ได้ และเราก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น”

นอกจากนี้ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระมหากรุณาธิคุณร่วมการแสดงดนตรีที่หอประชุมของมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก อันนำไปสู่การเสด็จ "เยี่ยมต้นนนทรี" ที่ทรงปลูกและ "ทรงดนตรี" สืบเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ. 2515

โดย ต้นนนทรี เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 เพราะต้นนนทรีเป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืนยาวนาน มีใบเขียวตลอดทั้งปี ลักษณะใบเป็นฝอยคล้ายใบกระถิน ดอกสีเหลืองประปรายด้วยสีขาว ช่อดอกเป็นพวงระย้า ฝักไม่ยอมทิ้งต้น ทนทานในทุกสภาพอากาศของเมืองไทย 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top