Thursday, 18 April 2024
ArtOfEnergy

EA พลิกโฉมธุรกิจ สู่ยานยนต์ไฟฟ้า เปิดอาณาจักร ‘พลังงานบริสุทธิ์’ (EA) ผู้พร้อมป้อน ‘พลังงานใหม่’ สู่อนาคตไทย

เคยได้อ่านบทความหนึ่งของนิตยสาร Bloomberg เมื่อราว 2 ปีก่อน ตอนนั้นมีหัวข้อที่ทำให้ต้องคลิก Feed เข้าไปอ่านไปต่อ เพราะมีการพูดถึง ‘รถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ไทย’ ในชื่อว่า MINE Mobility แถม Bloomberg ยังได้กล่าวยกย่องให้ MINE เปรียบเสมือน ‘Tesla of Thailand’ 

จริงๆ แล้ว MINE Mobility เป็นหนึ่งในธุรกิจของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA (Energy Absolute) ธุรกิจไทยผู้บุกเบิกและพัฒนาการนำ ‘พลังงานสะอาด’ หรือ ‘พลังงานทดแทน’ มาใช้ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศไทย รวมถึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

EA ถูกก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดยเริ่มต้นจากการทำธุรกิจ น้ำมันปาล์ม และหลังจากทำธุรกิจได้ 7 ปี ก็จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ มีรายได้ที่น่าสนใจดังนี้…

- ปี 2560 รายได้ 11,673 ล้านบาท กำไร 3,817 ล้านบาท
- ปี 2561 รายได้ 12,490 ล้านบาท กำไร 4,975 ล้านบาท
- ปี 2562 รายได้ 14,955 ล้านบาท กำไร 6,082 ล้านบาท
- 9 เดือน ปี 2563 รายได้ 12,738 ล้านบาท กำไร 3,720 ล้านบาท
- ปี 2564 รายได้ 20,558 ล้านบาท กำไร 6,100 ล้านบาท

ทีนี้หากมาพิจารณาถึงกลุ่มธุรกิจหลักๆ ของ EA แล้ว มีผลิตภัณฑ์ใดอยู่ในพอร์ต แล้วกลุ่มธุรกิจไหนที่น่าสนใจขนาดที่ Bloomberg เปรียบให้เป็น ‘Tesla of Thailand’

1.) กลุ่มธุรกิจไบโอดีเซล
ธุรกิจกลุ่มนี้เป็นธุรกิจการผลิต และจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล หรือ B100 ซึ่งหากนำไปผสมกับน้ำมันดีเซลพื้นฐานตามปริมาณ ก็จะกลายเป็นน้ำมันดีเซลที่ใช้เติมเครื่องยนต์ เช่น ดีเซล B7 B10 หรือ B20 ขณะเดียวกันนอกจากน้ำมันไบโอดีเซลแล้ว ธุรกิจกลุ่มนี้ของ EA ก็ยังมีกรีนดีเซล สารเปลี่ยนสถานะ กลีเซอรีนบริสุทธิ์ 

2.) กลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
สำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของ EA จะดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม เพื่อจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

3.) กลุ่มธุรกิจแห่งอนาคต
ธุรกิจกลุ่มนี้ ถือเป็นอนาคตของทั้ง EA และประเทศไทย และเป็นกลุ่มธุรกิจที่เชื่อว่าน่าจะเป็นเหตุผลให้เกิดการเปรียบเทียบกับการเป็น Tesla แห่งประเทศไทย นั่นก็เพราะธุรกิจกลุ่มนี้จะครอบคลุมการผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ ประเภทลิเทียมไอออน พอลิเมอร์ รวมถึงยังประกอบรถยนต์ไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า และเรือโดยสารไฟฟ้า และธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งในที่นี้จะพาลงไปดูรายละเอียดเพื่อทำความรู้จักกับธุรกิจกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น...

>> แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Li-Ion Battery)
แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน เป็นอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่มีความสามารถในการกักเก็บประจุไฟฟ้าได้ในปริมาณสูง ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ชนิดที่สามารถชาร์จกระแสไฟฟ้าเข้าไปใหม่ได้หลังจากไฟฟ้าถูกใช้หมดไป โดยบริษัทฯ ได้ออกแบบให้มีคุณสมบัติที่โดดเด่น คือ สามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้าได้สูงมีน้ำหนักเบา มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน สำหรับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของกลุ่มบริษัทนั้น นอกจากไม่มีส่วนประกอบของสารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โดยร่วมลงทุนในบริษัท AMITA Technologies Inc. (AMITA-Taiwan) ผู้เชี่ยวชาญมีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี ในด้านการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ใช้สำหรับระบบกักเก็บพลังงานและยานยนต์ไฟฟ้า จากประเทศไต้หวัน

>> รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า
โดยในปี 2563 กลุ่มบริษัทได้เริ่มก่อสร้างโรงงานประกอบยานยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% โดยใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ผลิตโดยกลุ่มบริษัท ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงสุดประมาณ 8,000 คันต่อปี และสามารถปรับเปลี่ยนสายการผลิตเป็นรถประเภทอื่นได้ เช่น รถโดยสารไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า เรือไฟฟ้า หรือรถที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ 

ปัจจุบันได้มีการเริ่มทยอยส่งมอบรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า “MINE BUS” ซึ่งเป็นรถชานต่ำ รองรับผู้โดยสารที่ใช้รถวีลแชร์ เด็กและผู้สูงอายุ ให้สามารถขึ้น-ลงได้ง่าย สะดวก โดยภายในห้องโดยสารมีความกว้างขวาง ระยะห่างระหว่างเบาะกว้าง ไม่อึดอัด มีช่องเสียบ USB เพื่อชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือให้บริการระหว่างการเดินทาง ยิ่งไปกว่านั้นในรถจะไม่มีทางเดินต่างระดับของช่วงห้องโดยสารที่สูงแบบรถประเภทอื่น ติดตั้งแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ขนาด 250-350 kWh ที่ออกแบบให้สามารถชาร์จประจุไฟฟ้าได้ด้วยความเร็วภายในเวลาประมาณ 15-20 นาที สามารถขับเคลื่อนระยะทางได้ถึง 250-300 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ช่วยยกระดับการเดินทางบนท้องถนนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

>> เรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า 
บริษัทฯ นำแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Lithium-ion Battery) ที่ใช้เป็นอุปกรณ์กักเก็บพลังงานให้กับยานยนต์ไฟฟ้า EV (Electric Vehicle) ประเภทรถยนต์ มาพัฒนาต่อยอดเป็นเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า “MINE SMART FERRY” ซึ่งได้รับการจดทะเบียนเรือไฟฟ้าลำแรกของประเทศไทย ผ่านการตรวจสอบการออกแบบ การทดสอบระบบ และการเดินเรือตามมาตรฐานและมีความปลอดภัย สามารถคว้ารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2563 สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 250 คน สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 18 knots ด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ขนาด 700 - 800 kWh ที่ผลิตจากโรงงานของบริษัท อมิตา เทคโนโลยี ภายในกลุ่มของบริษัทฯ สามารถชาร์จประจุไฟฟ้าจาก 0-80% ของ State of Charge (SOC) ในเวลาเพียง 15-20 นาที และขับเคลื่อนได้ระยะทางประมาณ 100 กม.ต่อการชาร์จหนึ่งรอบจากหัวชาร์จ 26 หัว ปัจจุบันมีให้บริการใน 3 เส้นทางระหว่างเส้นทางพระนั่งเกล้า-สาทร

ยิ่งไปกว่านั้น ทางบริษัทฯ ยังได้ร่วมมือกับกรมเจ้าท่า ในการพัฒนาท่าเรือสะพานพุทธ และท่าเรือนนทบุรี เพื่อติดตั้งจอแสดงข้อมูลการเดินทางต่างๆ แก่ผู้โดยสารบริเวณจุดรอเรือบนท่า และใช้ระบบบัตร EMV Contactless เป็นระบบหลักระบบเดียวในการชำระค่าโดยสาร เพื่อเป็นการนำร่องให้กับผู้ให้บริการขนส่งมวลชนรายอื่นๆ ได้สร้าง Ecosystem ของระบบบัตรโดยสารแบบ Open loop อีกด้วย

>> สถานีชาร์จประจุไฟฟ้า EA ANYWHERE
บริษัทเป็นผู้บุกเบิกการติดตั้งเครื่องชาร์จประจุไฟฟ้าเพื่อให้บริการชาร์จประจุไฟฟ้าให้กับยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่จะซื้อยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ โดยดำเนินงานธุรกิจสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้เครื่องหมายการค้า “EA Anywhere” ให้บริการชาร์จประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งประเภท PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) และประเภท BEV (Battery Electric Vehicle) สามารถใช้ได้ทั้งการอัดประจุไฟฟ้ากระแสสลับได้สูงสุดที่ 44 กิโลวัตต์/ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับ On-board Charger ของรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละรุ่น ส่วนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าประเภทกระแสตรง สามารถอัดประจุไฟฟ้าได้สูงสุดที่ 150 กิโลวัตต์ /ชั่วโมง

ความภาคภูมิใจของคนไทย!! เปิดเส้นทางฐานผลิตแบตฯ ใหญ่สุดในอาเซียน ใต้แนวคิดปั้น ‘ศก.-พลังงาน’ แห่งอนาคตจาก EA

“หากวันนี้ประเทศไทย มีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่กว่าโรงงานแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่สหรัฐอเมริกา ถึง 1.4 เท่า ด้วยเงินลงทุนที่ถูกกว่า จะทำให้สามารถผลิตแบตเตอรี่ได้ในราคาที่ถูกกว่า และส่งให้ไทยสามารถเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในการส่งออกแบตเตอรี่ไปต่างประเทศได้ในอนาคต” 

นี่คือความมุ่งมั่นจาก ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA (Energy Absolute) ธุรกิจไทยผู้บุกเบิกและพัฒนาการนำ ‘พลังงานสะอาด’ หรือ ‘พลังงานทดแทน’ มาใช้ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศไทย รวมถึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า 

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ความมั่นใจหรือแค่คำพูด แต่เป็นภารกิจของ EA ในการพาประเทศไทยเข้าสู่โอกาสใหม่แห่งอนาคต ภายใต้ Gigafactory โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจร ทันสมัย ซึ่งมีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน!!

12-12-2021 หรือวันที่ 12 เดือน 12 ปี 2564 ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งวันที่ประเทศไทยต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ เมื่อ EA ประกาศตอบสนอง New S-Curve ของประเทศไทย ด้วยการเปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจร ทันสมัย มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้ ‘อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย)’ ซึ่งจะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบลูเทคซิตี้ (Bluetech City) กิจการของ EA ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา

CEO แห่ง EA อย่าง สมโภชน์ ยอมรับว่า การที่เขาเลือกตั้งโรงงานแห่งนี้ เพราะเขามองเห็นว่า แม้ทิศทางของโลกจะหันหาเข้าสู่การใช้พลังงานทดแทน แต่พลังงานทดแทนที่ต้องผลิตให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ชีวิตคน ก็ยังไม่เสถียร

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ EA ภายใต้ สมโภชน์ เบนเข็มเข้าโฟกัสโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เพื่อตอบโจทย์การใช้พลังงานที่มีความเสถียร 

แน่นอนว่า ในปัจจุบันเริ่มมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และราคาต้นทุนก็ถูกลงเรื่อยๆ เรียกว่าถูกจนกระทั่งสามารถผลิตออกมาได้ถูกกว่าการใช้น้ำมัน การใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งถ่านหินเสียอีก แต่ปัญหามันติดอยู่ที่ว่า พลังงานทดแทน เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เวลาไม่มีแดด โซล่าร์เซลล์ ก็ไม่ผลิตกระแสไฟฟ้า หรือแม้แต่เวลาไม่มีลม กังหันลม ก็ไม่ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเช่นกัน

“มนุษย์เรา ต้องการไฟฟ้าในเวลาที่เราต้องการ เมื่อกลับถึงบ้าน รู้สึกร้อน ใครๆ ก็อยากเปิดแอร์ เวลากลางคืน ทุกคนก็อยากมีไฟฟ้าใช้ แบตเตอรี่ก็จะทำหน้าที่เก็บพลังงานไฟฟ้าเวลาที่เราไม่ได้ใช้ และจะจ่ายกระแสไฟฟ้าออกมาเวลาที่เราต้องการ ถ้าเราสามารถทำขั้นตอนนี้ได้ถูกลง นั่นคือ เราไม่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งถ่านหินอีกเลย และแบตเตอรี่ คือ คำตอบของเรื่องนี้

“ถึงกระนั้น บางคนบอกอาจจะมองว่า แบตเตอรี่ ราคายังแพงอยู่ ไว้เดี๋ยวเวลาพลังงานชนิดนี้ถูก ค่อยไปผลิตเอามาใช้ก็ได้ รอก่อน แต่ผมมองว่าความคิดแบบนี้ทำให้เราเป็นผู้ตามเรื่อยไป และประเทศไทย ถ้ายังคิดแบบนี้ เราก็ยังต้องเป็นผู้ซื้อตลอดไป

“ยิ่งไปกว่านั้น หากเราต้องการจะหลุดพ้นจาก Middle Income Trap มันก็มีแค่ทางเลือกเดียว คือ การพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเราเองขึ้นมาให้ได้ เราต้องมีแรงของตัวเอง เพื่อเพิ่ม Value added หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ เพื่อให้ประชาชน พี่น้องชาวไทย มีรายได้ที่ดีขึ้น ทำให้ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศหายไปได้”

ปฏิวัติการเดินทาง ยกระดับเมืองหลวงปลอดควันพิษ ใกล้ความจริง!! ขนส่งมวลชนไฟฟ้า 100% หลัง EA บุกซื้อกิจการ Smart Bus

เรื่องที่จะกล่าวต่อจากนี้ ไม่ใช่แค่แผน หรือภาพฝัน แต่เป็นภารกิจการเติมเต็มอากาศบริสุทธิ์เข้าสู่สังคมเมืองอย่างจริงจัง ซึ่งเริ่มขึ้นให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างผ่านบริการ ‘ขนส่งมวลชนสาธารณะพลังงานไฟฟ้า 100%’

หมุดหมายดังกล่าว เกิดจากการต่อยอดแผนธุรกิจอีกขั้นของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA ผู้นำนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร ที่ส่งบริษัทย่อย ภายใต้ชื่อ บริษัท อี ทรานสปอร์ต โฮลดิง จำกัด (E Transport Holding Co., Ltd.) เข้าซื้อกิจการของบริษัท สมาร์ทบัส จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจขนส่ง ให้บริการรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 37 สาย ด้วยงบลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยให้ฟังถึงความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ธุรกิจด้านขนส่งสาธารณะด้วยยานยนต์ไฟฟ้าไว้ว่า…

“ปัจจุบัน EA มีโรงงานผลิตรถโดยสารไฟฟ้าภายในประเทศที่ได้รับมาตรฐานระดับสากล ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต จนถึงการให้บริการดูแลซ่อมบำรุงหลังการขายที่ครบวงจร พร้อมทั้งมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน สามารถผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงานได้เองครบทุกกระบวนการ

“โดยในส่วนของกำลังผลิตแบตฯ ในระยะแรก จะอยู่ที่ 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี เพื่อป้อนให้กับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของบริษัท ได้แก่ รถโดยสารไฟฟ้า MINE Bus, เรือโดยสารไฟฟ้า MINE Smart Ferry และรถบรรทุกไฟฟ้า

ยกระดับการเดินทางในคลองแสนแสบด้วย ‘เรือโดยสารไฟฟ้า’ เมื่อ EA ส่ง MMR เซ็นเอ็มโอยู ‘บ.ครอบครัวขนส่ง’ ลุยพัฒนาเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า ‘คลองแสนแสบ’

ภาพน้ำคลองดำ เน่าเหม็น จากคราบเขม่าควันของน้ำมันเรือในคลองแสนแสบคลองสายประวัติศาสตร์ของไทยซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรสำคัญที่ผ่านมาหลายชั่วอายุคน จะเปลี่ยนไปในไม่ช้า เมื่อตอนนี้การรุดหน้าของการยกระดับขนส่งมวลชนไฟฟ้า ทั้งรถ-ราง-เรือ ในเมืองไทยให้สะดวกสบาย มีความชัดเจนมากถึงมากที่สุด

ล่าสุด EA หรือ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ได้ส่ง บริษัทย่อย ‘ไมน์ โมบิลิตี รีเสิร์ช’ (MMR) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด ผู้ประกอบการเรือโดยสารประจำทางคลองแสนแสบ ในโครงการเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าคลองแสนแสบ โดยความร่วมมือในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อศึกษา-พัฒนาออกแบบเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าคลองแสนแสบ ให้มีประสิทธิภาพสามารถใช้งานได้จริง และเป็นต้นแบบในการเปลี่ยนเรือน้ำมันให้เป็นเรือไฟฟ้าต่อไปในอนาคต

22 มีนาคม 2565 ถือเป็นวันสำคัญแห่งการริเริ่มเป้าหมายใหญ่แห่งน่านน้ำที่อยู่คู่กับคนไทยมาเป็นเวลานาน โดย นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) EA เปิดเผยว่า บริษัทไมน์ โมบิลิตี รีเสิร์ช จำกัด หรือ MMR ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท ครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด โดยมี นายเชาวลิต เมธยะประภาส กรรมการผู้จัดการ ร่วมลงนาม

ยั่งยืนระดับโลก!! EA ติดอันดับดัชนีความยั่งยืนระดับสากล ‘The Sustainability Yearbook 2022’ จาก S&P Global ตอกย้ำเชื่อมั่นนักลงทุนทั้งสถาบันไทยและต่างประเทศ

ปัจจุบันภาคเอกชนนับว่ามีความสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่สามารถดึงเม็ดเงินลงทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

แต่ในขณะเดียวกันบริษัทจดทะเบียนเอง หากต้องการได้รับการยอมรับจากนักลงทุน สิ่งสำคัญคือการพัฒนาธุรกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน พร้อมกับตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล

เฉกเช่น บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA ที่สามารถพัฒนาและสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ จนได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 41 บริษัทไทยติดอันดับดัชนีด้านความยั่งยืนระดับสากล ‘The Sustainability Yearbook 2022’ ระดับ Member ซึ่งจัดโดย S&P Global

อมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) EA สะท้อนภาพธุรกิจของ EA ว่า การที่ S&P Global ประกาศรายชื่อบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับใน The Sustainability Yearbook 2022 ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มี 41 บริษัทไทยที่ติดอันดับจากบริษัททั่วโลก 716 บริษัท โดย EA เป็นหนึ่งในบริษัทที่ติดอันดับดัชนีดังกล่าว ในระดับ Member และผลประเมินด้านความยั่งยืนของ S&P Global สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืนในสายตาผู้ลงทุนทั้งไทย และต่างประเทศ และแน่นอนว่าการจัดอันดับดังกล่าว จะเป็นข้อมูลสำคัญที่ผู้ลงทุนทั่วโลกใช้ในการวิเคราะห์ และพิจารณาตัดสินใจในการเข้าลงทุน

ในปีนี้ S&P Global เน้นย้ำถึงวิกฤติของปัญหาภาวะโลกร้อนที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน นั่นจึงเป็นส่วนช่วยเสริมให้ EA มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น เพราะธุรกิจหลักของ EA มุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมสร้างศักยภาพทางด้านพลังงานสะอาดและด้านพลังงานไฟฟ้า 

โดยมีธุรกิจที่ถือว่าเป็น New S Curve อย่างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตใหญ่ที่สุดในอาเซียน ตลอดจนเป็นผู้นำด้านสถานีอัดประจุ เพื่อที่จะยกระดับการเดินทางสมัยใหม่ให้มีความสะดวกสบาย ช่วยลดมลภาวะอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมทั้งสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนไทย มีรายได้สูงขึ้น ช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้าม Middle income Trap ไปสู่ประเทศที่มีศักยภาพและมีความยั่งยืนทางด้านพลังงานในอนาคต

ขณะเดียวกัน EA ยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาองค์กร จากการเป็นผู้ผลิตพลังงานสะอาดสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจ EV แบบครบวงจร ซึ่งในปี 2565 จะเป็นปีแห่งการเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากที่ได้ทยอยลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีการลงทุนเพิ่มเติม โดยจะเน้นในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะสนับสนุนการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

แน่นอนว่า ผลตอบแทนจากการที่บริษัทฯ ได้ลงทุนมาเริ่มเห็นผลชัดเจนมากขึ้น ทำให้ในปี 2565 บริษัทฯ มองถึงตั้งเป้าหมายการเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% โดยมาจากการเติบโตของธุรกิจ EV ทั้งในส่วนของ แบตเตอรี่ รถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า และสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่ธุรกิจไบโอดีเซล-พลังงานทดแทน วางเป้าหมายรักษาการเติบโตต่อเนื่อง

สำหรับผลการดำเนินงาน ในปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่า EA  มีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 6,100.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 895.50 ล้านบาท หรือ 17.21% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิรวม 5,204.57 ล้านบาท

โดยปี 2564 บริษัทมีรายได้ 20,588.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,358.96 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 19.53% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มารายได้รวม 17,199.14 ล้านบาท

รอทำไม? หากหยุดใช้รถน้ำมัน 10,000 คัน แล้วลดก๊าซเรือนกระจกได้ 220,454 ตันต่อปี

คำถามปลายเปิด ที่แทบไม่ต้องรอคำตอบปลายปิด ในยุคที่พลังงานน้ำมันแพง กอปรกับกระแสความแรงของการรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนโลก รวมถึงประเทศไทย!!

อย่างไรก็ตาม แม้กระแสพลังงานไฟฟ้าที่จะเข้ามาไหลเวียนในพาหนะยุคต่อจากนี้ จะพยายามเร่งสปีดเข้ามาใกล้ชิดกับชีวิตคน โดยเฉพาะคนไทยมากยิ่งแค่ไหน แต่ก็ต้องยอมรับว่าในแง่ของราคาและความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพ ยังคงอยู่ในระดับของการเฝ้าดูจากผู้บริโภคส่วนใหญ่เสียมาก 

กลับกันแนวคิดในการสนับสนุนยานพาหนะในหมวดขนส่งสาธารณะ หรือ ‘รถโดยสาร’ ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ดูจะมีความเป็นไปได้และได้รับแรงหนุนกระแสลดการปล่อยมลพิษของประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ดีกว่า สอดคล้องกับรายงานของ Electric Vehicle Outlook ของ Bloomberg ที่คาดว่า ตลาด ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ (e-Buses) จะถูกปรับเปลี่ยนให้อยู่ในสัดส่วนมากกว่า 67% ของรถโดยสารทั่วโลกภายในปี 2040

เหตุผลหลัก เพราะ ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ เป็นยานพาหนะที่สามารถเข้าถึงคนได้เป็นจำนวนมาก ยิ่งถ้าพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะที่ดีควบคู่ได้ ก็จะช่วยให้คนลดการใช้รถส่วนตัว (น้ำมัน) ลดปัญหามลพิษ, ลดปัญหาโลกร้อน ตลอดจนลดปัญหาทางด้านการจราจร ก่อนทั้งโลกจะเปลี่ยนผ่านจากเครื่องสันดาปสู่ไฟฟ้าเต็มตัว 

และนี่แหละ คือ เหตุผลว่าทำไม ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ (รถบัส) อาจจะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านยุคแห่งพลังงานและช่วยลดการปล่อยมลพิษของประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ถึงเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น

ว่าแต่!! พอหันกลับมาดู ประเทศไทย ซึ่งมีการจดทะเบียนรถโดยสารเพื่อการพาณิชย์ หรือ ‘รถโดยสาร’ ในแต่ละปีเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10,000 คันนั้น

ก็พลันให้เกิดคำถามว่า ถ้าเราเริ่มเปลี่ยน ‘รถโดยสาร’ ที่มีอยู่ให้กลายเป็น ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ ได้ จะช่วยลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้เพียงใด? (ปัจจุบันประเทศไทยมี ‘รถโดยสารไฟฟ้า’ จาก EA หรือ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์)

...220,454 ตันต่อปี คือ ผลลัพธ์จากการช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (GHG Emission Reduction) 

...233,333,333.33 ลิตรต่อปี คือ ตัวเลขการใช้น้ำมันดีเซลที่ลดลง ซึ่งเดิมปริมาณตัวเลขนี้ สามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 629,701.80 ตันต่อปีกันเลยทีเดียว (หมายเหตุ: คำนวณจากจำนวนรถ 10,000 คัน ระยะทางการวิ่งรถ 200 กิโลเมตรต่อวัน เป็นระยะเวลา 350 วันเท่ากัน)

แบตเตอรี่ Li-ion ขนาด 1 กิกะวัตต์ ต่อยอดอะไรได้บ้าง?

ความหวังสังคมรถไฟฟ้าเด่นชัดขึ้น เมื่อปัจจุบัน บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) บริษัทย่อยในกลุ่มของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เดินเครื่องผลิตแบตเตอรี่ Li-ion AMITA เป็นที่เรียบร้อย 

โดยในระยะเริ่มต้นสามารถผลิตแบตเตอรี่ ขนาด 1 กิกะวัตต์ หรือ 1,000,000 กิโลวัตต์ ซึ่งสามารถนำมาใช้กับรถโดยสารไฟฟ้า ขนาด 11 เมตร ที่ขับเคลื่อนได้ระยะทางสูงสุด 240 กิโลเมตร ได้ถึง 4,160 คันต่อปีกันเลยทีเดียว 

Interstate Charging Station ‘สถานีชาร์จไฟฟ้าระหว่างเมือง’ อีกตัวแปร ‘สำคัญ’ ในการเลือกใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

ต้องยอมรับว่าในหลายๆ ประเทศการขนส่งหลักจะใช้ยานยนต์เป็นหลัก ซึ่งการที่จะช่วยให้มีการเปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาป ต้องคำนึงถึงเรื่องแบตเตอรี่ที่รอบรับการชาร์จได้รวดเร็ว 

ฉะนั้นนอกเหนือจากการมียานยนต์ไฟฟ้าที่ตอบสนองผู้บริโภคแล้ว สถานีชาร์จรถไฟฟ้า EV Charger ก็ยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนผ่านการใช้งานไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น

สำหรับสถานีชาร์จรถไฟฟ้า หรือ EV Charging Station เปรียบเทียบได้กับสถานีปั๊มน้ำมัน แต่เปลี่ยนจากเติมน้ำมันเป็นเติมประจุพลังงานไฟฟ้าแทน ซึ่งการชาร์จพลังงานให้กับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้านั่น จะแบ่งออกเป็น 2 วิธีได้แก่...

1.) Normal Charge เป็นการชาร์จแบบปกติ เป็นการชาร์จด้วยไฟ AC โดยชาร์จผ่าน On Board Charger ที่อยู่ภายในตัวรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทำหน้าที่ในการแปลงไฟ AC ไปเป็นไฟ DC โดยขนาดของ On Board Charger นั่นจะมีผลต่อระยะเวลาในการชาร์จไฟของแบตเตอรี่ ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละคันก็มีขนาดไม่เท่ากัน

และ 2.) Quick Charge ซึ่งเป็นการชาร์จโดยใช้ตู้ EV Charging Station (สถานีชาร์จรถไฟฟ้า) ที่จะทำการแปลงไฟ AC ไปเป็นไฟ DC แล้วจ่ายไฟ DC เข้าที่แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าโดยตรง ไม่ผ่าน On Board Charger เหมือนกับ Normal Charge ซึ่งวิธีการชาร์จไฟฟ้า จะส่งผลให้ระยะเวลาที่ใช้ในการชาร์จลงน้อยลง
 

ต่อยอดสู่การเติบโต!! EA ปูทางขยายธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้าเต็มตัว หลังเข้าซื้อหุ้น BYD 23% มูลค่ากว่า 6.99 พันล้าน

EA เดินหน้าต่อยอดธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทุ่ม 6,997 ล้านบาท ส่งบ.ย่อยเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน BYD สัดส่วน 23% เตรียมขยายธุรกิจรถโดยสารไฟฟ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจที่จะเป็น New S-Curve ในอนาคต

นับเป็นอีกหนึ่งก้าวย่างที่สำคัญทางธุรกิจของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ที่ยังคงเดินหน้าต่อยอดสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เมื่อนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 65 อนุมัติให้ บริษัท อีเอ โมบิลิตี โฮลดิง จำกัด (EMH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยเข้าลงทุนใน บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD, บริษัท เอซ อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (ACE) และบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB)

ทั้งนี้ EMH จะเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) ของ BYD จำนวน 990,800,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท หรือคิดเป็น 23.63% ของทุนชำระแล้วภายหลังการเพิ่มทุน ในราคาหุ้นละ 7.062 บาท คิดเป็นมูลค่าซื้อหุ้นเพิ่มทุน 6,997,029,600 บาท
 
สำหรับ BYD นั้น เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกอบธุรกิจหลักเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จากกระทรวงการคลัง, คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ขณะที่ ACE ประกอบธุรกิจหลักในการเข้าถือหุ้นในบริษัทจำกัด และ/หรือ บริษัทมหาชน จำกัด โดยมี BYD ถือหุ้น ในอัตรา 49% และ TSB ประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการรถโดยสารไฟฟ้าประจำทางในเขตกรุงเทพและปริมณฑล โดยมี ACE เป็นผู้ถือหุ้นในอัตรา 100%

นายอมร ระบุว่า การเข้าลงทุนใน BYD จะทำให้บริษัทได้มาซึ่งพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งจะก่อให้เกิดโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจของบริษัทฯ เนื่องจากการลงทุนในครั้งนี้ จะทำให้บริษัทมีโอกาสในการสร้างยอดขายรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ส่วนแหล่งเงินทุนที่ใช้มาจากกระแสเงินสดของบริษัทและเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน
 

หัวรถไฟ EV ถึงไทยแล้ว ความสำเร็จของ EA และ CRRC Dalian อีกหนึ่งก้าวสำคัญขนส่งทางรางประเทศไทย

นับเป็นอีกหนึ่งก้าวย่างที่สำคัญของระบบขนส่งทางรางของประเทศไทย ภายหลังจาก EA นำทางด้าน Green Energy รายใหญ่ของประเทศไทย ได้จับมือกับ บริษัท CRRC Dalian ผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่จากประเทศจีน ร่วมพัฒนาหัวรถจักรพลังงานไฟฟ้าหรือรถจักร EV เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 

ล่าสุดหัวรถจักรพลังงานไฟฟ้าของบริษัท CRRC Dalian ส่งตรงมาถึงไทยแล้ว เตรียมทดสอบสับเปลี่ยนขบวนที่สถานีบางซื่อภายในปีนี้ 

จุดเด่นของหัวรถจักรรุ่นนี้ สามารถวิ่งได้ระยะ 150-200 กม. ประหยัดต้นทุนพลังงานได้กว่า 40% เมื่อเปรียบเทียบกับหัวรถไฟดีเซล สอดรับยุทธศาสตร์ Asian Logistics Hub ของไทยและภูมิภาค

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา บริษัท CRRC Dalian ผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่จากประเทศจีน ได้จัดส่งหัวรถจักรพลังงานไฟฟ้าหรือรถจักร EV มายังประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และร่วมมือกับพันธมิตร บริษัท เอเซียเอนจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส (ไทยแลนด์) จำกัด (AES) ผู้เชี่ยวชาญด้านการซ่อมบำรุงรถไฟ เพื่อประกอบติดตั้งระบบแบตเตอรี่ 

โดยหัวรถจักร EV คันนี้เป็นรถจักรคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ Battery Train ที่ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นรถจักรไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ ซึ่งทาง EA ได้รับโอกาสจากกระทรวงคมนาคม และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ภายใต้นโยบาย EV on Train ขณะเดียวกันยังได้ร่วมมือกับภาควิชาการ สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ มทร. อีสาน ในการเตรียมทดสอบระบบสับเปลี่ยนขบวน (Shunting) ที่สถานีบางซื่อภายในปีนี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top