Sunday, 5 May 2024
ไทย

'ไทย-มาเลย์' อ้าแขนรับ!! บ.ต่างชาติหนีค่าเช่าออฟฟิศแพงในสิงคโปร์ พร้อมชู 'นโยบาย-ภาษี' ดึงดูดใจ ช่วยให้เข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ง่ายขึ้น

(12 เม.ย. 67) ค่าเช่าอาคารสำนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ ‘สิงคโปร์’ กำลังสูญเสียแต้มต่อในการเป็นฐานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ของบรรดาบริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นและยุโรป ได้เริ่มมีการโยกย้ายบางแผนกออกจากสิงคโปร์ ไปตั้งฐานปฏิบัติการในประเทศใกล้เคียง เช่น ไทย และ มาเลเซีย เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และขยายโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ 

สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชีย สื่อใหญ่ของญี่ปุ่นรายงานว่า ไทยและมาเลเซีย น่าจะได้รับประโยชน์จากความเคลื่อนไหวนี้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม กระแสการโยกย้ายที่เกิดขึ้นนี้ เป็นเพียงการย้ายพนักงานจากสำนักงานใหญ่ในบางแผนก เช่น แผนกขายหรือแผนกวางแผนองค์กร ออกจากสิงคโปร์ไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ไม่ได้เป็นการย้ายพนักงานออกไปทั้งหมด

เนื่องจากสิงคโปร์ยังคงมีข้อได้เปรียบในเรื่องทำเลที่ตั้ง ความสามารถทางด้านภาษาของบุคลากร และบริการทางการเงิน จึงทำให้เชื่อว่า สิงคโปร์ไม่น่าจะเสียตำแหน่งศูนย์กลาง หรือ ‘ฮับ’ ของบรรดาสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบรรดาบริษัทข้ามชาติสัญชาติต่าง ๆ ไปได้ง่าย ๆ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของบริษัทที่มีแผนโยกย้ายบางแผนกหรือบางส่วนงานออกจากสิงคโปร์ ไทยและมาเลเซียถือเป็นทางเลือกในอันดับต้น ๆ โดยทั้งสองประเทศต่างมีนโยบายดึงดูดใจ ให้บริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ เช่น นโยบายให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี เป็นต้น

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร (JETRO) ได้สำรวจความคิดเห็นของบริษัทญี่ปุ่นที่มีสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในสิงคโปร์ ซึ่งผลปรากฏว่า นอกจากบริษัทเหล่านี้จะมีความต้องการย้ายพนักงานบางส่วนออกจากสิงคโปร์มากขึ้นแล้ว การสำรวจยังพบว่า ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายปลายทาง ที่บริษัทเหล่านี้เลือกมากที่สุดด้วย และที่รองลงมาคือประเทศมาเลเซีย

การสำรวจของ JETRO ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ชี้ว่า บริษัทญี่ปุ่นในสิงคโปร์ที่มีการโยกย้ายบางแผนกออกจากสิงคโปร์แล้วหรือกำลังมีแผนจะย้าย มี 19 บริษัทที่ตอบว่า ‘ประเทศไทย’ คือจุดหมายปลายทางที่อยากไปมากที่สุด ขณะที่อันดับสองคือ ประเทศมาเลเซีย มี 5 บริษัทที่ตอบว่าอยากย้ายบางแผนกไปที่นั่น 

นายเคสุเกะ อาซาคุระ รองกรรมการผู้จัดการประจำ JETRO สำนักงานสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า ไทยเป็นฐานการผลิตที่บริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนอยู่เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว เชื่อว่าเมื่อค่าเช่าสำนักงานและต้นทุนอื่น ๆ ในสิงคโปร์สูงขึ้น การโยกย้ายบางแผนก เช่น ฝ่ายขาย มายังประเทศไทยก็จะมีมากขึ้นด้วย แต่ยังไม่ใช่การย้ายมาทั้งหมด 

นอกเหนือจากบริษัทญี่ปุ่นแล้ว บริษัทยุโรปเองก็มีความเคลื่อนไหวในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ โดยผลสำรวจของหอการค้ายุโรปเมื่อปีที่ผ่านมา (2566) พบว่า บริษัทผู้ตอบแบบสำรวจ 69% เล็งย้ายพนักงานบางส่วนออกจากสิงคโปร์เพื่อหนีต้นทุนในการดำเนินงานที่สูงขึ้นเช่นกัน

สรุปผลโครงการ 'รักษ์หัวใจเด็ก (น้อย) ข้ามโขง' อัตราการรอดชีวิต 100% ฟาก 'รพ.จุฬาฯ' พร้อมส่งเด็กวัย 1 ปี 1 เดือน กลับหลวงพระบางพรุ่งนี้

(17 เม.ย. 67) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ หน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอกและหัวใจ ศูนย์กู้ชีพ ฝ่ายเวชศาสตร์ฉุกเฉิน พร้อมด้วยทีมแพทย์ พยาบาล ประกอบด้วย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการ รพ.จุฬาฯ และ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ น.พ.จุล นำชัยศิริ ศัลยแพทย์ทรวงอก หน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอกและหัวใจ น.พ.พีระพัฒน์ มกรพงศ์ ศัลยแพทย์ทรวงอก เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก ผศ.น.พ.วิทวัส ลออคุณ หัวหน้าหน่วยกุมารโรคหัวใจ ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ พญ.กัญญลักษณ์ วิเทศนสนธิ กุมารแพทย์โรคหัวใจ และ มูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก นพ.ธนดล โรจนศานติกุล หัวหน้าศูนย์กู้ชีพ ฝ่ายเวชศาสตร์ฉุกเฉิน

ร่วมแถลงความสำเร็จของทีมแพทย์กับภารกิจ ความร่วมมือในโครงการ ‘รักษ์หัวใจเด็ก (น้อย) ข้ามโขง’ ความร่วมมือระหว่างสภากาชาดไทย, รพ.จุฬา, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ, มูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก, มูลนิธิเกื้อฝันเด็ก และ สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข สปป.ลาว และ รพ.มะโหสด พร้อมเตรียมส่งตัวน้องบอย (นามสมมติ) เด็กน้อยวัย 1 ปี 1 เดือน ที่ผ่าตัดสำเร็จกลับเมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ในวันที่ 18 เมษายนนี้

ด้าน รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ความเป็นมาของโครงการ ‘รักษ์หัวใจเด็ก (น้อย) ข้ามโขง’ เริ่มหารือกันครั้งแรกกับฝ่ายลาว เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 เนื่องในโอกาสที่ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักบริหารวิชาการสุขภาพโลก (School of Global Health) และผู้ช่วยเลขาธิการเอกอัครราชทูตฯ เพื่อต่อยอด โครงการจัดการอบรมเฉพาะด้านการดูแลผู้ป่วยเด็กในระยะวิกฤต (Pediatric Intensive Care) มีโอกาสหารือกับ นพ.ไคสี ลาดซะวง รองผู้อำนวยการ รพ.มะโหสด (ดูแลผู้ป่วยเด็กและฉุกเฉิน) และทราบว่า รพ.มะโหสด เป็นศูนย์โรคหัวใจเฉพาะทางแห่งเดียวของ สปป.ลาว ซึ่งยังต้องการบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการรักษาโรคหัวใจเด็ก โดยเฉพาะการผ่าตัดรักษาโรคหัวใจเด็ก

รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวต่อว่า ต่อมาสถานเอกอัครราชทูตฯ จึงติดต่อมาที่ น.พ.พีระพัฒน์ มกรพงศ์ กรรมการและเลขานุการของมูลนิธิเพื่อสนับสนุนการผ่าตัดหัวใจเด็ก พร้อมทั้งหารือกับตน และมูลนิธิเกื้อฝันเด็ก นำมาสู่การริเริ่มโครงการรักษ์หัวใจเด็ก (น้อย) ข้ามโขงด้วยการสนับสนุน อย่างเต็มกำลังจากทุกหน่วยงาน

“คณะทำงานได้เริ่มประชุมหารือตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม 2566 เพื่อขับเคลื่อนโครงการนี้ ทีมแพทย์ออกหน่วยตรวจคัดกรองผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดของ สปป. ลาว เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2566 จากการคัดกรองผู้ป่วยเด็กจำนวน 92 ราย พบว่า ในจำนวนนี้ มีเด็ก 37 ราย ที่มีความจำเป็นต้องนำไปผ่าตัดรักษาที่ประเทศไทย และมีเด็ก 3 ราย มีความจำเป็นต้องนำตัวไปผ่าตัดที่ รพ.จุฬาฯ และหนึ่งในนั้นคือ น้องบอยเด็กชายวัย 10 เดือน (อายุในขณะนั้น) ปัจจุบันอายุ 1 ปี 1 เดือน

ทีมแพทย์พบว่าเด็กมีอาการเส้นเลือดหัวใจสลับห้องกัน มีรูรั้วที่ผนังห้องหัวใจ มีอาการตัวเขียวจากภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งขณะนั้นน้องบอยมีน้ำหนักเพียง 3 กิโลกรัมเท่านั้น ทีมแพทย์จึงลงความเห็นว่าจำเป็นต้องนำตัวมาผ่าตัดที่ รพ.จุฬาฯ อย่างเร่งด่วน หลังการผ่าตัดผ่านไปจนถึงขณะนี้เป็นเวลา 3 เดือนแล้ว เด็กมีอาการคงที่ ร่างกายแข็งแรงจากเดิมเป็นอย่างมาก

ทีมแพทย์จึงเห็นสมควรว่า เด็กมีความพร้อมที่จะเดินทางกลับไปที่เมืองหลวงพระบางแล้ว ดังนั้นในวันพรุ่งนี้ (18 เม.ย.67) ทางทีมแพทย์จะส่งตัวเด็กกลับไปที่หลวงพระบาง โดยการสนับสนุนเครื่องบินของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส” รศ.นพ.ฉันชาย กล่าว

นอกจากนี้ รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวว่า นอกจากนั้น ในโครงการ ‘รักษ์หัวใจเด็ก(น้อย) ข้ามโขง’ คณะแพทย์ของ รพ.จุฬาฯ และทีมงาน Global Health ได้หารือกับคณะแพทย์ของ รพ.มะโหสด เรื่องแนวทางความร่วมมือและการสนับสนุนเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ของ สปป.ลาว ให้สามารถผ่าตัดหัวใจเด็กได้ภายใน 5 ปี ในเบื้องต้น คณะแพทย์ของ รพ.จุฬาฯ เห็นว่า ควรสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรของหอผู้ป่วยวิกฤตเด็ก และพิจารณาเรื่องการให้ทุนแก่บุคลากรเพื่อเพิ่มพูนทักษะสำหรับการดูแลผู้ป่วยเด็กและทุนการศึกษาสำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไปอย่างเต็มกำลังจากทุกหน่วยงานข้างต้น

“สรุปผลการดำเนินโครงการ ‘รักษ์หัวใจเด็ก(น้อย) ข้ามโขง’ ผู้ป่วยที่รอคิวผ่าตัดจำนวน 37 ราย (มีผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างรอผ่า 2 ราย ) ผ่าตัดที่ รพ.จุฬาฯ 2 ราย ทั้ง 2 คน อาการปลอดภัยดี และผ่าตัดที่ รพ.เกษมราฎร์ ประชาชื่น 27 ราย ทุกคนที่ผ่าตัดอาการปลอดภัยดี เท่ากับว่าเด็กที่เข้าโครงการและได้รับการผ่าตัด มีอัตรการรอดชีวิต 100% ยังเหลือเด็กที่รอผ่าตัดอีก 11 ราย” รศ.นพ.ฉันชาย กล่าว

‘รมว.ปุ้ย’ ยก!! ความสัมพันธ์ ‘ไทย-จีน’ มั่งคง เหตุผลสำคัญผลักดันเศรษฐกิจระหว่างกัน

(23 เม.ย.67) น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในงานสัมมนา ‘Nanning City Investment Environment Promotion and Economic and Trade Cooperation Exchange Event (Thailand)’ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์, นายหนง เซิงเหวิน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประจำนครหนานหนิง, นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน, นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมมงคล ประธานหอการค้าไทย-จีน และนายจาง เซียว-เซียว ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมงาน ณ หอประชุมกวางหวาถัง หอการค้าไทย-จีน ชั้น 9 อาคารไทย ซีซี ถนนสาทรใต้ เขตสาทร กรุงเทพฯ

น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า จีนและไทยเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนาน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้า และการลงทุน ที่ผ่านมาไทยกับจีนพัฒนาความสัมพันธ์ให้มีความก้าวหน้าอย่างเด่นชัด สู่การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ‘นโยบายจีนเดียว’ มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งการมีวิสัยทัศน์ร่วมกันต่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน จีนถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย เป็นเวลา 12 ปี ติดต่อกัน

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้วางนโยบายการพัฒนาเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงได้ผลักดันนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งได้ขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการใช้และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปี 66 ไทยขึ้นเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคที่มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสูงสุด และมีผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมยังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอื่น เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ รวมทั้งอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่มีศักยภาพสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ อาทิ อุตสาหกรรมฮาลาล รวมถึงยา เครื่องสำอาง และสปาฮาลาล ตลอดจนการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบอุตสาหกรรมตามนโยบาย รัฐบาลดิจิทัล และการกำกับดูแลการประกอบอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามหลักธรรมภิบาล รวมทั้งการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพให้สามารถดำรงอยู่ได้ภายใต้ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น

“ดิฉันเชื่อมั่นว่าการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้เศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น นำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว และเดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต การสัมมนาในวันนี้เป็นการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือของไทยและจีน กระชับความร่วมมือกับนครหนานหนิง ซึ่งได้วางเป้าหมายให้เป็นเมืองหลวงของโลจิสติกส์ ศูนย์กลางการกระจายสินค้าและเป็นประตูการค้าของจีนสู่อาเซียนรวมถึงประเทศไทย อีกทั้งนครหนานหนิงยังเร่งดำเนินนโยบายการยกระดับศักยภาพการสร้างสรรค์นวัตกรรม และให้ความสำคัญกับสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งและเติบโตผ่านโครงการบ่มเพาะ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ และอาจมีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมไทยต่อไป” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

'กมธ.พลังงาน' ต้อนรับอุปทูตด้านเศรษฐกิจจีน ชู 5 แผนเด่น พาพลังงานไทยสู่ความมั่นคง

กมธ.พลังงานให้การต้อนรับอุปทูตด้านเศรษฐกิจและการค้าประจำสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยและคณะในโอกาสเข้าเยี่ยม กมธ.ผลการหารือชื่นมื่น

(24 เม.ย. 67) ที่อาคารรัฐสภา น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ สส.สุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพลังงานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ กมธ.พลังงาน ให้การต้อนรับ น.ส.จาง เซียวเซียว (Ms. Zhang  Xiaoxiao) อุปทูตด้านเศรษฐกิจและการค้า ประจำสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย พร้อมคณะที่เดินทางมาเยี่ยมคณะกมธ.อย่างเป็นทางการ บรรยากาศการพบกันเป็นไปอย่างชื่นมื่น 

น.ส.วชิราภรณ์ กล่าวถึงภารกิจของ กมธ.พลังงาน ว่า ได้มีการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับแผนพลังงานชาติ ซึ่งเป็นแผนที่รวบรวมแผนด้านพลังงานไว้ทั้ง 5 ด้าน ให้อยู่ภายใต้แผนเดียวกัน โดยจะช่วยให้เกิดการวางแผนพลังงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งกรอบของแผนพลังงานชาติ จะมุ่งเน้นไปสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 - 2070 สอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลกที่มุ่งเน้นการลดโลกร้อน ซึ่งแผนดังกล่าวนี้จะทำให้ประเทศไทยไม่ตกขบวนเทรนด์ใหม่ของโลก

ทั้งนี้ แผนด้านพลังงานทั้ง 5 ด้าน ได้แก่...

1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ Power Development Plan: PDP 
2.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ หรือ Gas Plan 
3.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ Alternative Energy Development Plan: AEDP
4.แผนอนุรักษ์พลังงาน หรือ Energy Efficiency Plan: EEP 
และ 5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ Oil Plan

น.ส.วชิราภรณ์ กล่าวว่า การดำเนินงาน กมธ.พลังงานได้มีการพิจารณาศึกษาเรื่องสำคัญ เช่น สถานการณ์พลังงานของประเทศ การพิจารณารับเรื่องร้องเรียนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานด้านพลังงาน การพิจารณาเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านพลังงาน เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้พลังงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ กมธ.พลังงานได้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการ จำนวน 3 คณะ เพื่อพิจารณาศึกษาตามหน้าที่และอำนาจของกมธ.พลังงาน และตามที่สภาผู้แทนราษฎรมอบหมาย ได้แก่...

1.คณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปรับโครงสร้างราคาพลังงานไฟฟ้า 
2.คณะอนุกรรมาธิการศึกษาการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน 
และ 3.คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาญัตติแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการ 

ทั้ง 3 คณะ อยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อจัดทำรายงานผลการพิจารณาศึกษาเสนอต่อที่ประชุมคณะกมธ.พลังงาน เพื่อให้ความเห็นชอบ และเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาต่อไป

ผนึกกำลัง 'ไทย-ยูนนาน' หนุนด่านท่าเรือกวนเหล่ย เพิ่มมูลค่าการค้า อำนวยความสะดวก 'รถ-ราง-เรือ' ส่ง 'ผลไม้-โค' ไทยเข้าจีน

(30 เม.ย. 67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือกับนายหวัง หยู่โป (H.E.Mr.Wang Yubo) รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลยูนนาน ผู้ว่าการมณฑลยูนนาน และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำรัฐบาลมณฑลยูนนาน ที่ Haigeng Garden ห้องประชุม 1 เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงเย็นวานนี้ (29 เม.ย. 67)

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนมาครั้งนี้เพื่อกระชับความสัมพันธ์การค้าระหว่างกันในระดับมณฑลให้รวดเร็วและเข้าถึงปัญหาได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลฯ มุ่งมั่นที่จะขยายความร่วมมือทางการค้ากับมณฑลยูนนาน ผ่าน เส้นที่ 1 หนองคายต่อรถไฟเวียงจันทน์สู่มณฑลยูนนาน และเส้นที่ 2 จังหวัดเชียงราย (เชียงของ - บ่อเต็น - โม่ฮาน) ผ่านถนน R3A สู่ด่านบ่อเต็นเข้าด่านโม่ฮาน และอีกเส้นทางที่มาเจรจาเพื่อเปิดเส้นทางการเดินเรือผ่านท่าเรือเชียงแสนมาท่าเรือกวนเหล่ย ซึ่งจะเป็นเส้นทางการค้าใหม่ ที่ยังไม่คึกคักเท่าที่ควร อยากเปิดเส้นทางนี้ให้ดียิ่งขึ้น เพราะสามารถเชื่อมโยงการค้าจากเชียงรายสู่คุนหมิงได้โดยตรง ซึ่งฝ่ายจีนรับจะร่วมมือกำกับดูแลให้สะดวกทั้ง 3 เส้นทาง

นอกจากนั้นนายภูมิธรรมได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลจีน ที่ช่วยแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้าอย่างเต็มที่ ทั้งการขยายเวลาเปิด-ปิดด่าน แก้ปัญหาความแออัดรถบรรทุกที่ขนส่งผลไม้ ซึ่งผลผลิตกำลังจะออกมาก บางครั้งต้องใช้เวลาถึง 5 วัน สำหรับรอตู้ผ่านเข้าจีนแล้วกลับออกมาบ่อเต็นให้เหลือเพียง 3 วัน และทางจีนกำลังปรับปรุงขยายถนนจากเดิม 2 ช่อง เป็น 12 ช่อง ที่จะแล้วเสร็จในอีก 2 ปี จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ไทยสามารถส่งสินค้าที่สดคุณภาพดีให้กับจีน และลดต้นทุนสินค้าลง และทางด่านบ่อเต็น (สปป.ลาว) ก็ให้ความร่วมมือเต็มที่ ความร่วมมือ 3 ประเทศทั้ง ไทย สปป.ลาว และจีน จะเป็นประโยชน์ต่อการค้าร่วมกัน และขอให้ทางการจีนสนับสนุนเรื่องการนำเข้าโคมีชีวิตและโคแช่แข็งจากไทยให้มาที่จีน รวมไปถึงผลไม้ตามฤดูกาลอื่น โดยยินดีที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบของจีน ซึ่งทางผู้ว่าการฯ ตอบรับที่จะไปช่วยผลักดันต่อไป

“ขอขอบคุณทางการจีน และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตนจะกลับไปรายงานท่านนายกฯ ถึงการต้อนรับและความเอาใจใส่ในการแก้ปัญหาร่วมกัน หวังว่าเราจะพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีอย่างนี้ตลอดไป” นายภูมิธรรม กล่าว

ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า มณฑลยูนนาน มีพรมแดนติดกับเมียนมา, เวียดนาม และลาว เป็นมณฑลของจีนที่อยู่ใกล้กับไทยมากที่สุด มีความโดดเด่นด้านการค้าชายแดน โดยใช้เส้นทางถนน R3A (คุนหมิง-สปป.ลาว-กรุงเทพฯ) ซึ่งมีความสำคัญในการส่งออกผลไม้ของไทยไปจีน ปัจจุบันไทยสามารถส่งออกผลไม้สดไปจีนทางบกได้ 6 ด่าน คือ ด่านนครพนม, ด่านมุกดาหาร, ด่านเชียงของ, ด่านหนองคาย, ด่านบ้านผักกาด (จันทบุรี) และด่านบึงกาฬ ซึ่งการส่งออกผลไม้สู่มณฑลยูนนานจะขนส่งผ่าน 2 ด่านหลัก คือ ด่านเชียงของ (จ.เชียงราย) ตามเส้นทาง R3A เข้าสู่จีนที่ด่านโม่ฮาน และด่านหนองคาย ขึ้นรถไฟลาว-จีน เข้าสู่จีนที่ด่านรถไฟโม่ฮาน โดยในปี 2566 ไทยมีการส่งออกสินค้าผลไม้และลูกนัทที่บริโภคได้ (HS 08) ไปมณฑลยูนนานผ่านเส้นทางทั้งสอง มูลค่ารวม 1,680 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.6 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีสัดส่วนร้อยละ 50 ของการส่งออกสินค้าดังกล่าวทางบก และมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 27 ของการส่งออกสินค้าผลไม้และลูกนัทฯ ไปจีนทั้งหมด

'ไทย-จีน' ลงนาม MOU ดึงนักลงทุนจีน ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ใต้กรอบความร่วมมือ 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง - 2 ประเทศ 2 นิคม'

(30 เม.ย.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมาย นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจฯ (MOU) ระหว่าง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับ ไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำจากมณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน 

นายดนัยณัฏฐ์ ระบุว่า ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดยาวนาน โดยเฉพาะในมิติทางเศรษฐกิจ ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายใต้กรอบ 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' (BRI) ซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือทวิภาคีด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้า การลงทุน และการพัฒนากลไกความร่วมมือด้านการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลไทยและจีนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไทยมีศักยภาพและได้รับความสนใจจากนักลงทุนจีนเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีบริษัทจีนมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมของไทยเพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองประเทศ

“ผมมั่นใจว่าความร่วมมือครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ และเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนไทยและจีน รวมไปถึงเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

ด้าน นายเหอ ซีออง นายกเทศมนตรีเมืองเจิ้งโจว กล่าวในการเป็นประธานสักขีพยานร่วมฯ ว่า การจัดพิธีลงนามความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ฯ ครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นการพัฒนาความร่วมมือของจีนและไทยเท่านั้น แต่ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับการพัฒนาเมืองเจิ้งโจว และจังหวัดระยองอีกด้วย 

สำหรับ เมืองเจิ้งโจว ในฐานะเมืองหลวงของมณฑลเหอหนาน นั้น ปี 2566 มี GDP ของภูมิภาคเกินกว่า 1.36 ล้านล้านหยวน จากจำนวนประชากรเกินกว่า 13 ล้านคน ผ่านตัวชี้วัดหลายประการ เช่น อัตราการเติบโตของมูลค่าเพิ่มทางอุตสาหกรรม อัตราการเติบโตของยอดขายปลีกรวมของสินค้าอุปโภค-บริโภค และการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา 

นอกจากนี้ เจิ้งโจว ยังมีทำเลที่ตั้งโดดเด่น เป็นหนึ่งใน 12 ศูนย์กลางการคมนาคมระหว่างประเทศ และศูนย์กลางการขนส่งโดยสายการบินต่าง ๆ 6 แห่ง เป็น 'เส้นทางสายไหมทั้งสี่' ของทางอากาศ ทางบก ทางออนไลน์ และทางทะเล ขณะที่สนามบินเจิ้งโจว ก็ยังติดอันดับหนึ่งในสนามบินขนส่งสินค้าชั้นนำ 40 แห่งของโลก รถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป ครอบคลุมมากกว่า 40 ประเทศ และมากกว่า 140 เมือง 

จีนและไทยมีความใกล้ชิดและเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ซึ่งในระหว่างการเยือนประเทศไทยของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เสนอให้สร้างชุมชนจีน-ไทยที่มั่นคง โดยการบูรณาการ 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' เปิดตัวศูนย์อาเซียนอย่างเป็นทางการ สร้าง 'เส้นทางสายไหมทางอากาศ' เจิ้งโจว-อาเซียน และบรรลุข้อตกลงเมืองพี่กับจังหวัดระยอง ในประเทศไทย เปิดตัวรถไฟสายเย็นพิเศษสำหรับผลไม้นำเข้าจากประเทศไทย และรถไฟสายเย็นพิเศษสำหรับส่งออกสินค้าเกษตร เปิดเส้นทางการบินให้กับสายการบินนกแอร์เที่ยวบินแรกสู่เจิ้งโจว โดยในปี 2567 เจิ้งโจว ประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพเดือนแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจีน (เหอหนาน)-อาเซียน และจัดเทศกาลอาหารไทย 'Thai Heartbeat' เริ่มก่อสร้างสวนแฝดจีน-ไทย (เจิ้งโจว) 

"ภายใต้ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ 'สองประเทศ สองนิคมฯ' ระหว่างจีนและไทย การทำงานร่วมกัน การพัฒนาอุตสาหกรรม การค้าข้ามพรมแดนและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ในกรอบการดำเนินงาน 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' เพื่อร่วมกันสร้างบทใหม่ของความร่วมมือแบบ win-win" นายกเทศมนตรีเมืองเจิ้งโจว กล่าว

ด้าน นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ นางบุปผา กวินวศิน รองผู้ว่าการ (ประจำสำนักผู้ว่าการ) เป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ ไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) ในครั้งนี้ โดยบันทึกความเข้าใจฯ นี้ สอดคล้องกับนโยบายของประเทศ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยี พัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านทำเลที่ตั้ง และเป็นเป้าหมายของนักลงทุนจากหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่เมืองเจิ้งโจว ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเมืองที่มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวไปสู่ระดับโลก และมีแผนงานที่จะพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในหลากหลายส่วนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ที่สำคัญ ยังมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานต่าง ๆ อีกด้วย

"กนอ. มุ่งมั่นส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการลงนามบันทึกความเข้าใจกับไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) ถือเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน ภายใต้กรอบความร่วมมือ BRI มั่นใจว่าความร่วมมือนี้จะดึงดูดนักลงทุนจีนให้เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมอย่างแน่นอน" นายวีริศ กล่าว

ฟาก นายอู๋ เหวินฮุย ประธานไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) กล่าวว่า ไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) ก่อตั้งขึ้นในปี 2020 เป็นกลุ่มบริษัทการลงทุนที่หลากหลาย มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองปักกิ่ง และมีศูนย์ปฏิบัติการบริหารจัดการที่ใหญ่อยู่ในเมืองเซินเจิ้น ฉวนโจว เจิ้งโจว ซีอาน และไป๋เซ่อ ดำเนินธุรกิจหลักด้านการลงทุน การก่อสร้าง และเขตอุตสาหกรรม ห่วงโซ่อุปทานของสินค้าโภคภัณฑ์ การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน การฟื้นฟูเหมือง การพักผ่อนหย่อนใจเพื่อสุขภาพ การบินทั่วไป และการก่อสร้างคลังสินค้าโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ มีรายได้รวมต่อปีเกินกว่า 10,000 ล้านหยวน ดำเนินธุรกิจครอบคลุมหลายประเทศทั้งในประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยความร่วมมือในครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือก่อสร้าง 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' และส่งเสริมความร่วมมือในทุกด้านอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันให้เกิดความเจริญและยั่งยืนร่วมกัน 

"เราคาดหวังว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จะให้การสนับสนุนนโยบายที่เอื้อประโยชน์สูงสุดในด้านต่าง ๆ เช่น การอนุมัติโครงการ การจัดสรรที่ดิน และการพัฒนาของบริษัทที่เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งความร่วมมือที่แข็งแกร่งของทั้งสองฝ่าย จะทำให้ 'สองประเทศ สองนิคม' สามารถเริ่มดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเปิดดำเนินการได้อย่างราบรื่น เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับนิคมอุตสาหกรรมจีน (เจิ้งโจว) และก่อให้เกิดผลกระทบแบบ 'แกนคู่' โดย China Management Century Enterprise Management Group Co., Ltd. จะใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบที่มีอยู่หลากหลายประการอย่างเต็มที่ ร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ จากทั้งไทยและจีน จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพิ่มการสื่อสาร และร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการลงทุน ยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศให้สูงขึ้น ช่วยให้ 'สองประเทศ สองนิคม' ผนวกรวมเข้ากับห่วงโซ่อุตสาหกรรม ห่วงโซ่นวัตกรรม และห่วงโซ่การค้าระหว่างประเทศได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ และการพัฒนาที่สร้างสรรค์ยิ่งขึ้นสำหรับการเปิดกว้างเศรษฐกิจของไทยและจีน" ประธานไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป กล่าว 

สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ระหว่าง กนอ. และ ไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 ณ กระทรวงอุตสาหกรรม ขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้...

1.ทั้งสองฝ่ายให้ความร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้ สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมระหว่างกันในพื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าเหมาะสม 

2.ให้ความร่วมมือในการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้  

3.ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการลงทุน กฎหมาย ข้อบังคับ นโยบาย และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในประเทศของแต่ละฝ่าย และให้คำปรึกษาด้านการลงทุน 

4.ร่วมกันจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน การประชุม สัมมนา 

และ 5.จัดสัมมนาสำหรับภาคธุรกิจและการจับคู่ธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น 

นอกจากนี้ กนอ. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการลงทุนของนักลงทุนจีน ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ภายใต้ระบบ One Stop Services ของ กนอ. และหากมีค่าใช้จ่ายใด ๆ เกี่ยวกับการดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ แต่ละฝ่ายจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในส่วนของตนเอง และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระเบียบภายในของแต่ละฝ่าย โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายลงนามร่วมกัน

‘ททท.’ ผนึกกำลัง ‘ยูเนียนเพย์’ หวังดึงตลาดจีนใช้จ่ายเพิ่มในไทย

(2 พ.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และยูเนียนเพย์ อินเตอร์เนชันแนล (UnionPay International) ผู้ให้บริการทางการเงินของจีน ได้ลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและยกระดับประสบการณ์การเดินทางในไทย

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวฯ ซึ่งร่วมพิธีลงนาม กล่าวว่า การทำงานร่วมกันครั้งนี้ที่มุ่งเน้นแผนริเริ่มและการประชาสัมพันธ์ตลาดร่วมกัน สอดคล้องกับนโยบายการท่องเที่ยวของรัฐบาลไทย ซึ่งต้องการสร้างความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาวกับผู้มีบทบาทนำในตลาดนักท่องเที่ยวแห่งสำคัญ

ฐาปนีย์ อีกกล่าวว่า ข้อตกลงยกเว้นวีซ่าซึ่งกันและกันระหว่างไทยกับจีน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. เป็นต้นมา ช่วยเสริมสร้างความร่วมมือกับจีน รวมถึงช่วยอำนวยความสะดวกแก่การเดินทางและส่งเสริมประสบการณ์การท่องเที่ยวที่มีคุณภาพของนักท่องเที่ยวชาวจีน

ทั้งนี้ ฐาปนีย์เสริมว่า การพำนักแบบฟรีวีซ่า ระยะ 30 วัน กอปรกับความเป็นหุ้นส่วนกับยูเนียนเพย์ จะกระตุ้นนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีกำลังจับจ่ายใช้สอยสูงและนิยมท่องเที่ยวไทยเดินทางมาไทยมากขึ้น และเพิ่มการจับจ่ายซื้อสินค้าและการบริการทางการท่องเที่ยวของไทย

ด้าน หวังลี่ซิน กรรมการบริหารยูเนียนเพย์ อินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่า การทำงานร่วมกันครั้งนี้จะใช้ประโยชน์จากเครือข่ายการชำระเงินมานำเสนอการเป็นจุดหมายท่องเที่ยวชั้นนำของไทย พร้อมกับมอบสิทธิประโยชน์พิเศษแก่ผู้ถือบัตรยูเนียนเพย์

ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทยระบุว่า จีนกลับมาครองตำแหน่งตลาดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเยือนไทยมากที่สุดในปีนี้ คิดเป็นจำนวน 2.29 ล้านคน เมื่อนับถึงวันที่ 28 เม.ย. โดยปีนี้ไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติรวมกว่า 11.94 ล้านคนแล้ว

ไทยตั้งเป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจีนในปีนี้ราว 8 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 75 ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนทั้งหมด 11.1 ล้านคน ที่เดินทางเยือนไทยในปี 2019 อันเป็นช่วงก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่

9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ‘ไทย-ฝรั่งเศส’ ลงนามอนุสัญญาสันติภาพระหว่างกัน ณ กรุงโตเกียว ทำให้ไทยได้ดินแดนบางส่วนกลับคืน หลังสิ้นสุดข้อพิพาทสงครามอินโดจีน

วันนี้ในอดีต เมื่อ 83 ปีก่อน ไทยกับฝรั่งเศส ลงนามในอนุสัญญาสันติภาพระหว่างกันที่กรุงโตเกียว หลังสิ้นสุดกรณีพิพาทสงครามอินโดจีน เป็นผลทำให้ไทยได้ดินแดนฝั่งขวาของหลวงพระบาง จำปาศักดิ์ ศรีโสภณ พระตะบอง และดินแดนในกัมพูชาคืนมาจากฝรั่งเศส

แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ไทยมีความจำเป็นต้องเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ จึงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประเทศมหาอำนาจและฝรั่งเศสที่เป็นฝ่ายชนะสงคราม นำไปสู่ความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่เรียกกันว่า 'ความตกลงวอชิงตัน' มีผลให้อนุสัญญากรุงโตเกียวสิ้นสุดลง โดยไทยต้องคืนดินแดน อินโดจีน ที่ได้มาทั้งหมดให้กับประเทศฝรั่งเศสตามเดิม

ทั้งนี้ เพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เรื่องการปรับปรุงพรมแดนไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งมีผู้เสียชีวิต จึงมีการสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิขึ้นจนถึงในปัจจุบัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top