Monday, 19 May 2025
ไต้หวัน

‘China Airlines’ เจอพายุ ลงจอดไม่ได้ บินวน เปลี่ยนเส้นทาง ผู้โดยสารชั้นธุรกิจ!! โกรธจัด ลั่น!! ให้พนักงาน ‘คุกเข่าขอโทษ’

เมื่อวานนี้ (1 พ.ย. 67) ที่ไต้หวัน China Airlines เที่ยวบิน CI782 โฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม เที่ยวบินเวลา 11.00 น. กำหนดถึงสนามบินเถาหยวนเวลา 15.15 น. เนื่องจากพายุ กองเร็ยขึ้นฝั่ง เครื่องบินไม่สามารถลงจอดได้ บินวน 3 รอบ ก่อนเปลี่ยนเส้นทางลงจอดสนามบินเกาสง 31.10.2024

หลังเครื่องลงจอด เกาสง ผู้โดยสารชั้นธุรกิจโกรธจัดให้พนักงานภาคพื้นคุกเข่าขอโทษ และให้อธิบาย ผู้โดยสารชายชั้นธุรกิจที่โกรธแสดงพฤติกรรมและท่าทางในลักษณะวางมือบนเอว จ้องไปที่พนักงาน คลิปถูกบันทึกจากผู้โดยสารท่านอื่น และแชร์บนโซเซียล 

หลังคลิปเผยแพร่ชาวเน็ตเดือด แสดงความเห็นจำนวนมากอาทิ เรียกร้องให้สายการบินออกมาปกป้องพนักงาน ปกป้องศักดิ์ศรี ,และบอกพนักงานไม่ผิดอย่าคุกเข่าจะทำให้ผู้โดยสารนิสัยเสีย คนอื่นๆทำตาม , ผู้โดยสารชั้นธุรกิจไม่ใช่พระเจ้า , รู้ทั้งรู้ว่ามีพายุไต้ฝุ่น พนักงานผิดอะไร…? , ทั้งพนักงานสายการบิน และพนักงานภาคพื้นต่างทำงานหนักช่วงพายุ เขาไม่ผิด ทำไมต้องให้คุกเข่า แค่ทำงานก็เหนื่อยมากพออยู่แล้ว

‘ไต้หวัน’ ขอเข้าร่วมกิจกรรม ‘ตำรวจสากล’ เล็งประสานข้อมูลอุดช่องโหว่อาชญากรรมข้ามชาติ

(6 พ.ย. 67) ไต้หวันเรียกร้องขอมีส่วนร่วมในองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือตำรวจสากล (INTERPOL) เพื่อร่วมรับมืออาชญากรรมใหม่ ทั้งการฉ้อโกงหลอกลวงทางดิจิทัล, การโจมตีทางไซเบอร์, การค้ายาเสพติด, อาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้าย

นายจางจวิ้นฝู ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่บทความเรื่อง 'จับมือกับไต้หวัน ร่วมกันสร้างโลกที่ปลอดภัย ให้ไต้หวันได้ร่วมกิจกรรมของอินเตอร์โพล' เนื้อหาสำคัญระบุว่า

การประชุมองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (International Criminal Police Organization, INTERPOL) หรืออินเตอร์โพล ประจำปี 2024 กำลังจะจัดขึ้นในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 2 แห่งธรรมนูญของอินเตอร์โพล ตามวัตถุประสงค์ขององค์การตำรวจสากล เพื่อเป็นหลักประกันและผลักดันความร่วมมือเกื้อกูลระหว่างหน่วยงานตำรวจทั่วโลกอย่างกว้างขวางที่สุด หลายปีมานี้ เนื่องด้วยพัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่รวดเร็ว แนวโน้มอาชญากรรมข้ามชาติข้ามพรมแดนที่สูงขึ้น การก่อคดีอาชญากรรมซึ่งกลายเป็นระบบแบ่งงานอย่างละเอียด เกิดการซ่อนเร้นแอบแฝงตัวตนและพัฒนาการของกระแสเงินเสมือน ทำให้ประชาชนทุกประเทศล้วนมีโอกาสตกเป็นผู้เสียหาย ฉะนั้น หัวข้อสำคัญของประชาคมโลกในขณะนี้คือ จะร่วมมือข้ามชาติแข็งขันมากขึ้นอย่างไร ยกระดับสมรรถนะการใช้กฎหมายอย่างไร จึงจะสามารถร่วมกันรักษาแนวป้องกันนี้ไว้ได้

อาชญากรรมข้ามชาติในลักษณะใหม่ต่างๆ เป็นดังที่อาเหม็ด นาเซอร์ อัล-ไรซี ประธานอินเตอร์โพลเคยแถลงในวันความร่วมมือตำรวจสากลเมื่อวันที่ 7 กันยายนปีนี้ว่า “การแบ่งปันข่าวกรอง กลยุทธ์และทรัพยากรอย่างเปิดเผย ช่วยให้เราพร้อมที่จะรับมือกับภัยคุกคามระดับโลก เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์และการก่อการร้ายได้ดีขึ้น” ไต้หวันมีองค์กรตำรวจ หน่วยงานยุติธรรม การค้าการเงิน ระบบขนส่งทางอากาศและทางน้ำ ประกอบกับระบบการควบคุมการเข้าเมือง อันเป็นเอกเทศ และมีประสบการณ์ที่หลากหลายกับการร่วมมือปราบปรามการฉ้อโกงหลอกลวงทางดิจิทัลข้ามพรมแดน การค้ายาเสพติด การโจมตีทางไซเบอร์ การต่อต้านอาชญากรรมและการก่อการร้าย การปราบอาชญากรรมของไต้หวันเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ โลกปัจจุบันมีความปลอดภัยร่วมกันอย่างใกล้ชิด การจับมือกับไต้หวันของอินเตอร์โพลจะเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงและปลอดภัยยิ่งขึ้นแก่ประชาคมโลก

ความปลอดภัยของไต้หวันมีชื่อเสียงระดับโลก กลไกสำคัญการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติขึ้นอยู่กับการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้ทันเวลา

จากการสำรวจดัชนีทางเศรษฐกิจประจำปี 2024 (Business Climate Survey 2024 Report) ของหอการค้าสหรัฐอเมริการะบุว่า สมาชิกนักธุรกิจชาวอเมริกันมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า “ความปลอดภัยของบุคคล” เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ดึงดูดให้ชาวต่างชาติมาพำนักถาวรและมาทำงานในไต้หวัน และตั้งแต่ปี ค.ศ.2017 เป็นต้นมา รายการนี้เป็นหัวข้อที่นักธุรกิจชาวต่างชาติพึงพอใจมากที่สุดตลอด 8 ปี 

นางซานดรา ออดเคิร์ก (Sandra Oudkirk) อดีตผู้อำนวยการ สถาบันอเมริกันในไต้หวัน (AIT) ก็เคยยกย่องว่า “ไต้หวันเป็นแหล่งพำนักอาศัยที่ปลอดภัยที่สุดของข้าพเจ้า” และจากข้อมูลของนัมเบโอ (Numbeo) ดัชนีความปลอดภัยของไต้หวันติดอันดับที่ 4 ของโลก รองจากประเทศอันดอร์รา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์เท่านั้น ส่วนอัตราการเกิดอาชญากรรมจัดอยู่ 4 อันดับท้ายสุด จากรายงานของเอ็กซ์แพท อินไซเดอร์ (Expat Insider) ประจำปี ค.ศ. 2023 ที่ประกาศโดยอินเตอร์เนชั่น (InterNations) พบว่าในประเทศที่เหมาะกับการอยู่อาศัยทั่วโลก ดัชนีโดยรวมของไต้หวันติดอันดับ 5 คุณภาพชีวิตอันดับ 2 และความปลอดภัยอันดับที่ 8 การรักษาพยาบาลดูแลสุขภาพยิ่งสูงเป็นอันดับที่ 1

ทว่า แม้ไต้หวันจะมีสมรรถภาพสูงในการบังคับใช้กฎหมาย แต่ระหว่างการสืบสวนอาชญากรรมนอกจากความร่วมมือกับมิตรภาพซึ่งทรงความสำคัญอย่างยิ่งยวดแล้ว การได้รับหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันอย่างทันเวลาก็เป็นกลไกสำคัญในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติเช่นกัน แต่ด้วยอุปสรรคที่ไม่สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกอินเตอร์โพล ไต้หวันจึงได้แต่แสวงหาความร่วมมือกับนานาประเทศทางอ้อม และต้องเสียเวลาไม่น้อยกว่าจะได้ข้อมูลที่ต้องการ ซึ่งเมื่อได้มาก็อาจพลาดโอกาสหรือล่วงเลยเวลา สภาพที่เป็นอุปสรรคอันไม่น่าจะเป็นเช่นนี้มักทำให้อาชญากรข้ามชาติมีเวลากระทำความผิดมากกว่าเดิม และก่อให้เกิดความสูญเสียระดับโลกอย่างใหญ่หลวง

ตัวต่อจิ๊กซอว์การรักษาความปลอดภัยสากล ถ้าขาดไต้หวันจะไม่สมบูรณ์

ดังที่ประธานอัล-ไรซีกล่าวไว้ หัวข้อการประชุมความร่วมมือตำรวจสากลประจำปีนี้คือ “ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบและการกำกับดูแลของตำรวจ” ซึ่งล้วนเป็นค่านิยมสำคัญของงานตำรวจและความปลอดภัยของโลก หลักการเหล่านี้เป็นรากฐานความมั่นใจของมหาชน และมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการป้องกันอาชญากรรม พิทักษ์ผู้ด้อยโอกาสและผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมของไต้หวัน แน่นอนที่ความร่วมมือของตำรวจสากลคือพลังสำคัญที่สุด ไต้หวันตั้งอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่มีเอกลักษณ์ มีความสามารถในการเชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูลกับนานาประเทศอย่างต่อเนื่อง และยินดีร่วมมือกับทุกประเทศในการธำรงสันติภาพ ความปลอดภัยและความเจริญรุ่งเรือง

ปัจจุบัน ไต้หวันได้รับสิทธิในการยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศจากหนึ่งร้อยกว่าประเทศ จึงทำให้พาสปอร์ตของไต้หวันกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายการช่วงชิงของอาชญากรข้ามชาติ ขณะนี้ ทางการตำรวจไต้หวันได้ทลายแหล่งซื้อขายพาสปอร์ตไต้หวันของกลุ่มมิจฉาชีพในหลายประเทศ อาชญากรมักใช้พาสปอร์ตปลอมของไต้หวันในประเทศต่างๆ เพื่อหลบซ่อนหนีคดีหรือไม่ก็กระทำการไม่สุจริต เป็นภัยต่อความปลอดภัยของนานาประเทศและเกิดช่องโหว่ร้ายแรงต่อความปลอดภัยของโลก อย่างไรก็ตาม ไต้หวันสูญเสียสมาชิกภาพใน “องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ” นานถึง 40 ปีด้วยสาเหตุทางการเมือง จึงไม่อาจใช้ข้อมูล ระบบการติดต่อและข้อมูลอาชญากรจากคลังข้อมูลของอินเตอร์โพล และยิ่งไม่สามารถได้รับข้อมูลอาชญากรรมอย่างทันท่วงที หรือแม้แต่การแจ้งให้ทราบถึงคดีใหญ่ (เช่น การฉ้อโกง การค้ายาเสพติด เป็นต้น) หมายจับอาชญากร อีกทั้งไม่อาจนำเสนออาชญากรรมรูปแบบใหม่และประสบการณ์การสืบสวน ข้อมูลการปลอมแปลงพาสปอร์ตของไต้หวันตลอดจนข้อมูลสำคัญต่างๆ แก่ประเทศทั่วโลก ซึ่งยากที่จะสกัดการลุกลามของคดีอาชญากรรมด้วยการตัดไฟแต่ต้นลม

ไต้หวันยินดีร่วมมือกับมิตรประเทศในการปราบอาชญากรรมข้ามชาติ
ลิซา ไลน์ส (Lisa Lines) หญิงชาวออสเตรเลีย เป็นผู้ต้องหาคดียุยงให้คนรักใหม่ใช้ขวานสังหารอดีตสามีจนพิการเป็นอัมพาตเมื่อปี ค.ศ. 2017 หลังจากนั้นก็หนีมากบดานและทำงานในไต้หวัน แม้อินเตอร์โพลจะออกหมายจับแดงตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 2022 พร้อมกับออกหมายเหลืองช่วยลูกน้อยของเธอที่ถูกระบุว่าสาบสูญ แต่เนื่องจากไต้หวันไม่ได้รับข้อมูลชิ้นนี้ จนกระทั่งเดือนตุลาคม ค.ศ. 2023 ทางการตำรวจออสเตรเลียจึงได้ร้องขอให้ไต้หวันช่วยสืบสวนคดีนี้ ตำรวจไต้หวันจึงรับทราบคดีดังกล่าว หลังสืบตามเบาะแส ทางการตำรวจไต้หวันพบว่า ลิซา ไลน์สได้พาบุตรสาวไปท่องเที่ยวสาธารณรัฐปาเลาและแจ้งให้ตำรวจออสเตรเลียทราบ ตำรวจปาเลาจึงได้จับกุมตัวที่นั่นและส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปพิจารณาคดีพร้อมกับช่วยเหลือเด็กให้ได้กลับประเทศของตน

ในปี 2024 นี้เอง หน่วยงานคดีละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ของอินเตอร์โพล (INTERPOL Stop Internet Piracy, I-SOP) ได้ระบุในรายงานที่ใช้ชื่อว่า “โอลิมปิกปารีส 2024 : ภัยคุกคามแฝงการละเมิดลิขสิทธิ์ดิจิทัล” (Paris 2024 Olympic Games : Awareness for Potential Digital Piracy Services) ระบุว่า ไต้หวันเคยคลี่คลายคดีการถ่ายทอดกีฬาโอลิมปิกโดยใช้กล่องรับสัญญาณอย่างมิชอบ (Unblock Tech TV Box) และได้ขอให้ไต้หวันช่วยแบ่งปันประสบการณ์สืบสวนสอบสวน ขณะเดียวกันก็ขอให้แจ้งการสืบสวนเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยวิธีนี้ที่อาจปรับใช้ในอนาคต เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

เพื่อเครือข่ายความปลอดภัยนานาชาติที่สมบูรณ์ โปรดสนับสนุนให้ไต้หวันได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของอินเตอร์โพล

วันที่ 30 เมษายน ปีนี้ (2024) บอนนี่ แกลเซอร์ (Bonnie Glaser) ผู้อำนวยการฝ่ายแผนเอเชียกองทุนเยอรมันมาร์แชล (The German Marshall Fund of the United State) และฌาคส์ เดอ ลีส์ (Jacques deLisle) นักกฎหมาย ซึ่งต่างเป็นที่ปรึกษาระดับนโยบายของรัฐบาลวอชิงตันได้ให้ความเห็นข้อกฎหมายระบุว่า มติที่ 2758 ขององค์การสหประชาชาติ ไม่ควรตั้งอยู่บนฐานของ “จีนเดียว” ต่อจากนั้นในวันที่ 27 มิถุนายน สถาบันนโยบายทางยุทธศาสตร์แห่งออสเตรเลีย (Australian Strategic Policy Institute, ASPI) ได้ตีพิมพ์บทความของ ดร.จอห์น คอยน์ (John Coyne) ว่า “การกีดกันไต้หวันออกจากอินเตอร์โพลเป็นความสูญเสียของโลก” (Taiwan’s exclusion from Interpol is the world’s loss) บทความระบุว่า ไต้หวันมีความสามารถใหญ่หลวงด้านการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพต่อการปราบอาชญากรข้ามชาติ เช่น การค้ามนุษย์ ซึ่งแม้จะได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศ แต่ไต้หวันยังคงไม่มีโอกาสได้รับข้อมูลและระบบความร่วมมือจากอินเตอร์โพล เท่ากับจำกัดประสิทธิภาพที่ควรมี การให้ไต้หวันได้มีฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์ของอินเตอร์โพลจะเพิ่มพูนความปลอดภัยของนานาประเทศ ผดุงความยุติธรรมและลดผลทางลบด้านการปราบอาชญากรรมของโลกที่เกิดจากปัจจัยทางการเมือง

ด้วยเหตุนี้ จึงขอเรียนเชิญทุกประเทศสนับสนุนไต้หวันให้ได้เข้าร่วมการประชุมใหญ่อินเตอร์โพลในฐานะผู้สังเกตการณ์ ให้ตำรวจไต้หวันได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม การประชุม การฝึกอบรมและการแลกเปลี่ยนขององค์กร เพื่อสร้างการติดต่อกับสมาชิกต่างๆ ช่วยกันปิดช่องโหว่ด้านอาชญากรรมอันเกิดจากข้อมูลไม่ครบถ้วน ตำรวจไต้หวันจะยึดมั่นในการธำรงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของสังคม ลดความสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และจะร่วมมืออย่างเต็มที่กับนานาประเทศเพื่อปราบอาชญากรรมข้ามชาติ

ปักกิ่งคว่ำบาตร 13 บริษัทยุทโธปกรณ์สหรัฐ สั่งห้ามส่งออกวัตถุดิบผลิตชิปและอาวุธให้มะกัน

(6 ธ.ค.67) กระทรวงการต่างประเทศจีนได้ประกาศการคว่ำบาตรบริษัททหารของสหรัฐฯ จำนวน 13 แห่ง เพื่อเป็นการตอบโต้การขายอาวุธของสหรัฐฯ ให้กับไต้หวัน ซึ่งจีนมองว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีนและทำลายอธิปไตยของตนอย่างรุนแรง โดยการคว่ำบาตรนี้เกิดขึ้นหลังจากที่จีนคัดค้านอย่างหนักต่อการที่สหรัฐฯ อนุมัติการขายชิ้นส่วนอะไหล่และการสนับสนุนเครื่องบิน F-16 และเรดาร์ให้กับไต้หวัน มูลค่ากว่า 385 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

บริษัทที่ถูกคว่ำบาตร ได้แก่ Teledyne Brown Engineering, Brinc Drones, Shield AI การคว่ำบาตรบริษัทดังกล่าวยังส่งผลให้บริษัทอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบในฐานะไม่สามารถจัดหาวัตถุดิบในการผลิตได้ อาทิ Rapid Flight, Red Six Solutions, Synexxus, Firestorm Labs, Kratos Unmanned Aerial Systems, HavocAI, Neros Technologies, Cyberlux Corporation, Domo Tactical Communications และ Group W

นอกจากนี้ จีนยังได้อายัดทรัพย์สินของผู้บริหารระดับสูงจาก 5 บริษัท รวมทั้ง Raytheon, BAE Systems และ United Technologies ที่ดำเนินธุรกิจในจีน และห้ามไม่ให้บุคคลเหล่านี้เข้าประเทศจีน พร้อมทั้งห้ามองค์กรและบุคคลในจีนทำธุรกิจกับพวกเขาด้วย

Foxsemicon ยักษ์ใหญ่ผลิตชิปจากไต้หวัน ตั้งฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในนิคมชลบุรี-ระยอง

(11 ธ.ค.67) BOI อนุมัติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตอุปกรณ์และโมดูลสำหรับเครื่องจักรผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำของกลุ่ม Foxsemicon Integrated Technology Ic. (FITI) ในเครือของ Foxconn

หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลกจากไต้หวัน และเป็นซัพพลายเออร์สำคัญของบริษัท Applied Materials ผู้ผลิตเครื่องจักรสำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำระดับโลก

บริษัท Foxsemicon ยื่นขอรับการส่งเสริมในนามบริษัท ยูนิค อินทิเกรตเต็ด เทคโนโลยี จำกัด มีมูลค่าเงินลงทุนเฟสแรก 10,500 ล้านบาท ตั้งโรงงาน 2 แห่งที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ถือเป็นโรงงานแห่งที่ 4 ของโลกในกลุ่ม Foxsemicon ก่อนหน้านี้มีโรงงานอยู่ที่จีน ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา

โดยบริษัท Foxsemicon เป็นบริษัทไต้หวันที่เป็นผู้นำในการผลิตอุปกรณ์สำหรับเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์แบบครบวงจร มีขีดความสามารถตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การออกแบบ การผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์และโมดูลสำหรับเครื่องจักร โดยใช้จุดแข็งทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิตที่มีความแม่นยำสูง การผสมผสานระหว่างระบบเครื่องกล ระบบไฟฟ้า และระบบอัตโนมัติเข้าด้วยกัน

โรงงานในไทยจะมีการจ้างงานบุคลากรไทยกว่า 1,400 คน เพื่อผลิตอุปกรณ์และโมดูลที่มีความแม่นยำสูงสำหรับเครื่องจักรสำคัญที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ (Water Fabrication) ที่คาดว่าจะสร้างมูลค่าส่งออกกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี และระยะเริ่มต้นจะมีการใช้วัตถุดิบในประเทศสัดส่วนกว่า 25% ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งสิ้น โดยจะเพิ่มมากขึ้นในระยะถัดไป

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่า การตัดสินใจลงทุนของบริษัท Foxsemicon ครั้งนี้ ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ผลิตอุปกรณ์ขั้นสูงสำหรับเครื่องจักรเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ก่อนหน้านี้มีบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เริ่มเข้ามาลงทุนในไทย ทั้งการออกแบบวงจรรวม (IC Design) การทดสอบ Wafer และ IC

โดยบริษัท Analog Devices และการผลิตชิปตั้นน้ำโดยบริษัท Hana เชื่อมั่นว่าจากนี้ไป จะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลได้ตั้งบอร์ดเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ ซึ่งจะมีการกำหนดโรดแมปแต่ละระยะ

รวมทั้งพัฒนาบุคลากรและปรับปรุงระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับประเทศไทยเป็นฐานรองรับการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมหลักอื่น ๆ ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล โทรคมนาคม ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์หรืออุปกรณ์การแพทย์ในอนาคตด้วย

สส.ไต้หวัน ตะลุมบอน!! กลางสภา ขวางร่างแก้ไขกฎหมาย อ้าง!! อันตรายต่อประชาธิปไตย ลิดรอนสิทธิผู้เลือกตั้ง

(21 ธ.ค. 67) สส.พรรครัฐบาลกับสส.ฝ่ายค้าน ตะลุมบอน!! ซัดกันสุดชุลมุนกลางรัฐสภา ในขณะที่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า(ดีพีพี) พรรครัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีไล่ ชิงเต๋อ ของไต้หวัน พยายามขัดขวางการผ่านร่างแก้ไขกฎหมายที่สส.พรรคฝ่ายค้านเสนอ ซึ่งพรรครัฐบาลชี้ว่าอาจเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยของไต้หวันที่ปกครองตนเองแห่งนี้

สส.พรรคพีพีพีพยายามขัดขวางร่างแก้ไขกฎหมาย 3 ฉบับ ที่พรรคก๊กมินตั๋ง(เคเอ็มที) แกนนำพรรคฝ่ายค้าน และพรรคประชาชนไต้หวัน(ทีพีพี) พรรคพันธมิตรร่วมกันเสนอ ซึ่งพรรคดีพีพีชี้ว่าจะทำให้เป็นเรื่องยากยิ่งขึ้นสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการที่จะถอดถอนเจ้าหน้าที่ที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งพวกเขาเห็นว่าไม่เหมาะสมให้พ้นตำแหน่งไป

สส.พรรคดีพีพีบางคนตะโกนใส่หน้าสส.พรรคฝ่ายค้านว่าเป็น เผด็จการรัฐสภา’ ขณะที่แถลงการณ์ของพรรคดีพีพีระบุว่า “หากพรรคเคเอ็มทีบังคับให้ผ่านร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว กลไกการตรวจสอบตนเองตามระบอบประชาธิปไตยและการฟื้นฟูไต้หวันจะสูญสิ้นไปและจะสร้างความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญและไม่สามารถย้อนกลับได้ต่อภาคประชาสังคมและประชาธิปไตยของไต้หวัน”

ก่อนหน้านี้ สส.พรรคดีพีพีหลายคนได้เข้ายึดเวทีของห้องประชุมใหญ่ของรัฐสภามาตั้งแต่คืนวันพฤหัสบดี(19 ธ.ค.) และยังนำเก้าอี้มากั้นขวางทางเข้าด้วย

ขณะที่หน้ารัฐสภาไต้หวัน ในกรุงไทเป มีประชาชนหลายพันคนรวมตัวชุมนุมกันอยู่ เพื่อประท้วงการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว โดยมีการตะโกนร้องร่วมกันว่า “เอาร่างแก้ไขที่ชั่วร้ายกลับไป” และ ปกป้องไต้หวัน”

ผู้ประท้วงรายหนึ่งกล่าวว่า ตนมาที่นี่เพื่อประท้วงพรรคฝ่ายค้านที่พยายามลิดรอนสิทธิของประชาชนในการถอดถอนเจ้าหน้าที่รัฐ

หนึ่งในร่างแก้ไขกฎหมายที่มีการโต้แย้งดังกล่าวคือร่างแก้ไขรัฐบัญญัติการเลือกตั้งและการถอดถอนเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งพรรคก๊กมินตั๋งและพรรคทีพีพีผลักดันเพื่อให้มีการเพิ่มเกณฑ์ในการถอดถอนเจ้าหน้าที่ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคก๊กมินตั๋งกล่าวว่าจะป้องกันไม่ให้ ‘อำนาจการถอดถอน’ ถูกละเมิดได้

ขณะที่สส.พรรคดีพีพีกล่าวว่า พวกเขาเกรงว่าการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการจะปลดเจ้าหน้าที่รัฐที่พวกเขาเห็นว่าไม่เหมาะสมออกจากตำแหน่ง

ทูตจีนย้อนเกล็ดสหรัฐ หนุนเอกราชไต้หวัน ลืมสัญญาปี 1978 แล้วหรือ ย้ำรบจีนยังไงก็ไม่ชนะ

(3 ม.ค. 68) จาง ฮานฮุย เอกอัครราชทูตจีนประจำรัสเซีย กล่าวผ่านสำนักข่าวสปุตนิกว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ควรหยุดใช้ 'ไต้หวัน' ในการสร้างวาทะกรรมที่ทำให้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เกิดความไม่มั่นคง เพราเมื่อใดที่ไต้หวันเผชิญหน้ากับจีน ก็แพ้พลังของกองทัพจีนอยู่ดี

"การเล่นกับไฟจะทำให้เกิดการล้มเหลวในที่สุด ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯ ควรหยุดใช้ 'ไต้หวัน' ซึ่งเป็นสิ่งที่มีแนวโน้มจะพ่ายแพ้" จางกล่าวในบทความที่เขียนสำหรับสปุตนิก

นายจางยังกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ "มองข้ามข้อเท็จจริงและแทนที่ด้วยคำโกหก" โดยสหรัฐให้การสนับสนุนการแยกตัวของไต้หวันอย่างเปิดเผย

"สหรัฐฯ เคยให้คำมั่นอย่างชัดเจนในแถลงการณ์ร่วมระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เมื่อปี 1978 เกี่ยวกับการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต และในคำแถลงร่วมเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 1982 ว่าสหรัฐฯ 'ยอมรับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นตัวแทนของจีนทั้งหมด' และ 'เข้าใจจุดยืนของจีนที่มีเพียงจีนเดียวในโลกและไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน' ซึ่งเป็นหลักการที่ชัดเจนและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้"

จางยังกล่าวว่า วอชิงตันสนับสนุนความทะเยอทะยานของนายไล่ชิงเต๋อผู้นำไต้หวัน ในการแยกตัว "แม้จะมีความเสี่ยงที่จะทำลายความสงบและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับคำมั่นทางการเมืองของพวกเขา"

"สิ่งนี้ยิ่งยืนยันว่า สหรัฐฯ มีแผนการที่ซับซ้อนในการเล่น 'การ์ดไต้หวัน' และใช้ 'แรงกดดันสูงสุด' ด้วยการละเมิดหลักการจีนเดียวอย่างต่อเนื่อง โดยหวังผลจากการสร้างความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันและปกปิดเจตนาที่จะใช้ไต้หวันเป็นเครื่องมือในการยับยั้งจีน ซึ่งที่แท้จริงแล้วคือต้องการขัดขวางการพัฒนาของจีนและรักษาความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ที่กำลังเลือนหายไป เมื่อเผชิญกับพลังอันเป็นหนึ่งเดียวของชาวจีน 1.4 พันล้านคน พวกเขาจะต้องพ่ายแพ้" เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงมอสโกระบุ 

คนไทยจูงมือจด 'สมรสเท่าเทียม' เริ่มชีวิตคู่ตามกฎหมาย ส่งเสริมหลากหลายทางเพศ

เมื่อวานนี้ (23 ม.ค. 68) กฎหมายสมรสเท่าเทียมแห่งประเทศไทยมีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่บังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม 'บางกอกไพรด์' (Bangkok Pride) ภาคประชาสังคมท้องถิ่น ร่วมมือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจัดงานเฉลิมฉลองสุดยิ่งใหญ่ ณ สยามพารากอน กรุงเทพฯ มีทั้งการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม เดินขบวนพาเหรด และสุนทรพจน์จากนักการเมืองคนสำคัญ ดึงดูดความสนใจของประชาคมโลก

เดือนไพรด์บางกอกมักจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนของทุกปี และถือเป็นกิจกรรมสำคัญในประเทศไทยเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ เนื่องด้วยกฎหมายสมรสเท่าเทียมในไทยมีผลใช้บังคับในปีนี้ จึงได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองพิเศษขึ้นในเดือนมกราคม โดยเน้นที่ประเด็นด้านสมรสเท่าเทียม แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าครั้งสำคัญของประเทศไทยในด้านค่านิยมความเสมอภาคและความหลากหลาย และเป็นหมุดหมายสำคัญในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศของชาว LGBTQ+ กิจกรรมครั้งนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (Paetongtarn Shinawatra) นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสุนทรพจน์ผ่านวิดีโอที่บันทึกไว้ล่วงหน้า นายเศรษฐา ทวีสิน (Srettha Thavisin) อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (Chadchart Sittipunt) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนักการเมืองท่านอื่น ได้เข้าร่วมงานดังกล่าว เพื่อแสดงถึงความสนับสนุนและความคาดหวังต่อสมรสเท่าเทียม

นายจาง จวิ้น ฝู ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (สำนักงานฯ) ได้นำ นายต่ง ซือ ฉี รองผู้อำนวยการใหญ่ และคณะเข้าร่วมงานดังกล่าว นายจางฯ ได้จับมือกับนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมแสดงคำอวยพรจากไต้หวัน นอกจากนี้ ยังได้พบปะหารือกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ คณะทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศประจำประเทศไทย รวมถึงเอกอัครราชทูตประเทศอื่นประจำประเทศไทย เช่น สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ ฟินแลนด์ สวีเดน เพื่อเฉลิมฉลองช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์นี้ร่วมกัน

นายจางฯ ได้กล่าวว่า เมื่อปี 2017 ไต้หวันในฐานะที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลใช้บังคับเป็นประเทศแรกในเอเชีย มีความเข้าใจถึงความสำคัญของสมรสเท่าเทียมอย่างลึกซึ้ง พร้อมกล่าวว่า “ในฐานะพันธมิตรที่มีแนวคิดเหมือนกัน ไต้หวันและไทยมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามค่านิยมสากล เช่น เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไต้หวันขอชื่นชมความก้าวหน้าและความเป็นผู้นำของไทยในการส่งเสริมสมรสเท่าเทียม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบนพื้นฐานค่านิยมร่วมกันจะกระชับความร่วมมือทวิภาคีให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นด้านเศรษฐกิจ การค้า และสิทธิมนุษยชน ร่วมกันนำมาซึ่งความหวังและความก้าวหน้าสู่ภูมิภาค”

ในขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้แสดงความยินดีประเทศไทยผ่านทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กเช่นกัน

เช้าวันนี้ นายต่ง ซือ ฉี รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานฯ ได้เดินทางไปยัง สำนักงานเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นสักขีพยานเรื่องหน่วยงานทะเบียนราษฎรไทยรับจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม อันเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังได้หารือกับ นายธัญญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส. พรรคประชาชน และ ผู้ผลักดันกฎหมายการสมรสเท่าเทียมในไทย พร้อมแสดงความชื่นชมอย่างสูงต่อความก้าวหน้าด้านสมรสเท่าเทียมของประเทศไทย นอกจากนี้ เขายังได้พบกับปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สส. พรรคประชาชน และ น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ อดีต สส. พรรคก้าวไกล พร้อมแจ้งว่าไต้หวันสนับสนุนสมรสเท่าเทียมในไทย และเชิญชวนให้เดินทางไปไต้หวันเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการส่งเสริมกฎหมายสมรสเท่าเทียม อีกทั้ง นายต่งยังได้พบกับ แมงโก้คัปเปิล  (Mango Couple) ยูทูบเบอร์เกาหลี และได้ใช้ภาษาเกาหลีสนทนาเกี่ยวกับประเด็นสมรสเท่าเทียม สื่อให้เห็นถึงความกระตือรือร้นและการสนับสนุนในการสื่อสารเชิงพหุวัฒนธรรม

ไฮไลต์ของงานนี้ ได้แก่ พิธีจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม การแสดงเชิงพหุวัฒนธรรม และการกล่าวสุนทรพจน์โดยนักการเมืองสำคัญหลายท่าน เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของประเทศไทยในการโอบอ้อมอารีค่านิยมที่หลากหลาย และยังเน้นย้ำถึงความพยายามของรัฐบาลไทยที่กระตือรือร้นในการส่งเสริมความเสมอภาค

ข่าวของสำนักงานฯ ระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายการสมรสเท่าเทียมถือว่าเป็นหมุดหมายสำคัญในกระบวนการเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียมกันของไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บนพื้นฐานค่านิยมร่วมกันระหว่างไต้หวันและไทย อนาคตจะมีความร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ เพื่อผลักดันประโยชน์และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันที่มีความโอบอ้อมอารี

ผู้นำไต้หวัน หมดหวังพึ่ง ‘ทรัมป์’ ชวน 'จีน' หันหน้าพูดคุยสร้างสันติภาพ

(3 ก.พ. 68) ประธานาธิบดี ไล่ ชิงเต๋อ แห่งไต้หวัน ระบุวันนี้ว่า ไต้หวันและจีนจำเป็นต้องหันหน้าพูดคุยกันเพื่อให้เกิดสันติภาพ หลังบริบทการเมืองโลกเกิด “การเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อน” ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณชวนปักกิ่งรอมชอมมากกว่าที่จะเผชิญหน้ากันต่อไป

ไล่ ซึ่งถูกรัฐบาลจีนตราหน้าว่าเป็น “นักแบ่งแยกดินแดน” พยายามยื่นข้อเสนอขอพูดคุยกับปักกิ่ง ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ได้ยกระดับกดดันไต้หวันทั้งในทางการเมืองและทหารเพื่อบีบให้ไทเปยอมรับในอำนาจอธิปไตยของจีน

อย่างไรก็ตาม เวลานี้ทั้งจีนและไต้หวันต่างก็เผชิญแรงบีบจากรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งนอกจากจะสั่งรีดภาษีสินค้านำเข้าจีนแล้ว ยังขู่จะใช้มาตรการเดียวกันกับเซมิคอนดักเตอร์นำเข้าซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของไต้หวันด้วย

ระหว่างกล่าวปาฐกถาต่อผู้แทนภาคธุรกิจไต้หวันที่เข้าไปลงทุนในจีน ไล่ ชี้ว่าไต้หวันและจีนต่างมี “ศัตรูร่วม” ก็คือภัยธรรมชาติ และมี “เป้าหมายร่วม” อยู่ที่การสร้างความอยู่ดีกินดีให้ผู้คนทั้ง 2 ฝั่งช่องแคบ

“ดังนั้น ในห้วงเวลาที่สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างซับซ้อนเช่นนี้ เราทั้ง 2 ฝั่งช่องแคบจึงยิ่งควรที่จะพูดคุยและแลกเปลี่ยนกันด้วยดี เพื่อให้เกิดสันติภาพ” เขากล่าว

ผู้นำไต้หวันเอ่ยเสริมว่า รัฐบาลของเขาเต็มใจที่จะเปิดเจรจากับจีนบนพื้นฐานของความเท่าเทียมที่ไร้เงื่อนไข และอยากให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้าพูดคุยมากกว่าเผชิญหน้า แต่ขณะเดียวกันก็ย้ำว่าอนาคตของไต้หวันมีเพียงประชาชนไต้หวันเท่านั้นที่จะตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม สำนักงานกิจการไต้หวันของจีนยังไม่ออกมาให้ความเห็นต่อคำพูดของ ไล่ ชิงเต๋อ ทว่าที่ผ่านมาจีนเรียกร้องให้ไต้หวันยอมรับว่าดินแดน 2 ฝั่งช่องแคบคือส่วนหนึ่งของ “จีนเดียว” (One China) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ ไล่ และรัฐบาลพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ไม่เอาด้วย

ไล่ ยังกล่าวด้วยว่า ไต้หวันไม่ควรมี “ภาพลวงตา” เกี่ยวกับสันติภาพ และจำเป็นต้องแสวงหาสันติภาพผ่านความเข้มแข็งด้วยการเสริมเขี้ยวเล็บของตนเอง และยืนหยัดเคียงข้างรัฐประชาธิปไตยอื่นๆ อย่างสง่าผ่าเผย

“ประเทศจะคงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมีอธิปไตย และเพราะมีไต้หวันเท่านั้นจึงมีสาธารณรัฐจีน” ไล่ กล่าว โดยเอ่ยถึงชื่ออย่างเป็นทางการของเกาะไต้หวัน

ไต้หวันขึ้นบัญชีไทย ประเทศกลุ่มเสี่ยง เข้าลิสต์เดียวกับกัมพูชา-เมียนมา-ลาว

(17 ก.พ. 68) ไต้หวันเพิ่มไทย เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา และลาว ในรายชื่อจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงสูง หลังพบเป็นฐานปฏิบัติการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์และขบวนการฉ้อโกงออนไลน์

กระทรวงมหาดไทยไต้หวันประกาศเมื่อวันศุกร์ว่า นักเดินทางที่มุ่งหน้าไปยังประเทศเหล่านี้จะได้รับคำเตือนผ่านตั๋วเครื่องบิน พร้อมแนะนำให้ดาวน์โหลดแอป "คู่มือความปลอดภัยในการเดินทาง" เพื่อเพิ่มความระมัดระวัง  

รายงานจากสื่อไต้หวัน ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2555 ชาวไต้หวันจำนวนมากถูกหลอกให้ทำงานในเครือข่ายฉ้อโกงในกัมพูชา ซึ่งภายหลังได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แก๊งอาชญากรรมเหล่านี้ได้ย้ายฐานไปยังเมียนมา ลาว และประเทศใกล้เคียง ส่งผลให้ชาวไต้หวันจำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อ ถูกกักขัง หรือบังคับให้ทำงานในขบวนการฉ้อโกง บางรายยังติดอยู่ในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา  

รัฐบาลไต้หวันเพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง โดยร่วมมือกับสายการบินต่างๆ เพื่อเพิ่มข้อความเตือนเกี่ยวกับการฉ้อโกงบนตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงแจกจ่ายบัตรข้อมูลที่สนามบิน หวังลดจำนวนเหยื่อที่อาจตกเป็นเป้าหมาย  

นอกจากนี้ ไต้หวันยังเดินหน้าช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ โดยอาศัยพระราชบัญญัติต่อต้านการค้ามนุษย์ พร้อมจับมือกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และสมาคมธุรกิจ เพื่อช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อให้สามารถกลับประเทศได้อย่างปลอดภัย  

มาตรการเหล่านี้สะท้อนถึงความพยายามของไต้หวันในการปกป้องพลเมืองจากขบวนการฉ้อโกงที่แพร่ระบาดในภูมิภาค  

‘รมว.ต่างประเทศจีน’ ลั่น!! 'ไต้หวัน' เป็นส่วนหนึ่ง ที่มิอาจแบ่งแยกได้ของ ‘ประเทศจีน’ ชี้!! หากสนับสนุน การเรียกร้อง ‘เอกราชไต้หวัน’ เท่ากับแทรกแซงกิจการภายในของจีน

(8 มี.ค. 68) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ‘หวังอี้’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน แถลงข่าวนอกรอบการประชุมสภานิติบัญญัติระดับชาติว่าประวัติศาสตร์และความจริงยืนยันว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งที่มิอาจแบ่งแยกได้ของจีน และปี 2025 ตรงกับวาระครบรอบ 80 ปี การฟื้นฟูไต้หวัน

หวังอี้กล่าวว่าชัยชนะจากสงครามต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่นของประชาชนจีนทำให้ไต้หวันกลับมาอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของจีนในปี 1945 ขณะทั้งปฏิญญาไคโรและปฏิญญาพอตส์ดัม ซึ่งออกโดยกลุ่มประเทศชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ระบุชัดเจนว่าไต้หวันเป็นดินแดนที่ญี่ปุ่นขโมยจากจีนและต้องคืนสู่จีน โดยญี่ปุ่นยอมรับเงื่อนไขของปฏิญญาพอตส์ดัมและประกาศยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งหมดนี้ยืนยันอำนาจอธิปไตยของจีนเหนือไต้หวัน และเป็นส่วนสำคัญของระเบียบระหว่างประเทศยุคหลังสงคราม

ข้อมติที่ 2758 ซึ่งสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติรับรองในปี 1971 ได้แก้ไขประเด็นการเป็นตัวแทนของจีนทั้งหมด รวมถึงไต้หวัน ในองค์การสหประชาชาติ และตัดความเป็นไปได้ในการสร้าง 'สองจีน' หรือ 'จีนเดียว ไต้หวันเดียว' โดยการอ้างอิงถึงภูมิภาคไต้หวันในองค์การสหประชาชาติคือ 'ไต้หวัน มณฑลของจีน' ดังนั้นไต้หวันไม่เคยเป็นประเทศ ไม่ว่าในอดีตหรืออนาคต

ขณะการเรียกร้อง 'เอกราชไต้หวัน' เท่ากับแบ่งแยกประเทศ การสนับสนุน 'เอกราชไต้หวัน' เท่ากับแทรกแซงกิจการภายในของจีน และการสมรู้ร่วมคิดเกี่ยวกับ 'เอกราชไต้หวัน' เท่ากับบ่อนทำลายเสถียรภาพของช่องแคบไต้หวัน

หวังอี้เน้นย้ำการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของทุกประเทศควรหมายถึงการสนับสนุนการรวมประเทศอย่างสมบูรณ์ของจีน และการยึดมั่นหลักการจีนเดียวควรหมายถึงการต่อต้าน 'เอกราชไต้หวัน' ทุกรูปแบบ ส่วนการแสวงหา 'เอกราชไต้หวัน' จะประสบกับผลกระทบย้อนกลับ และการใช้ไต้หวันควบคุมจีนจะเป็นความพยายามที่ไร้ผล เพราะจีนจะบรรลุการรวมชาติ นี่เป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรมาหยุดยั้งได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top