Saturday, 19 April 2025
แอปเปิล

‘แอปเปิล’ ส่งข้อความเตือน "การโจมตีที่รัฐสนับสนุน" พุ่งเป้าแฮกไอโฟน นักเคลื่อนไหว - นักวิชาการไทย

แอปเปิลส่งข้อความแจ้งเตือนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือไอโฟนหลายรายว่า พวกเขาอาจตกเป็นเป้าหมายการโจมตีที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐ สำหรับในไทย ผู้ที่ได้รับข้อความเตือนดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักวิชาการ ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

รศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สฤณี อาชวานันทกุล นักเศรษฐศาสตร์อิสระ, รศ. ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า, เอเลียร์ ฟอฟิ นักสร้างภาพยนตร์ที่ร่วมเรียกร้องประชาธิปไตย, เดชาธร "ฮ็อกกี้" บำรุงเมือง ศิลปินกลุ่มแร็ปต้านเผด็จการ, ชยพล ดโนทัย แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และนักศึกษาที่ร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอีก 2-3 ราย ต่างก็ได้รับอีเมลจากแอปเปิลแจ้งเตือนว่ากำลังตกเป็นเป้าหมายของ "หน่วยโจมตีไซเบอร์ที่สนับสนุนโดยรัฐ" (state-sponsored attackers) โดยได้รับอีเมลช่วงเวลาต่าง ๆ กันตั้งแต่เมื่อคืนที่ถึงเช้าวันนี้ (24 พ.ย.)

อีเมลแจ้งเตือนที่แต่ละคนได้รับ มีข้อความตรงกันว่า "คำเตือน : ไอโฟนของคุณอาจกำลังตกเป็นเป้าโจมตีของหน่วยโจมตีไซเบอร์ที่สนับสนุนโดยรัฐ"

แอปเปิลระบุว่าส่งอีเมลฉบับนี้ถึงผู้ใช้งานเพราะเชื่อว่าเจ้าของแอปเปิลไอดีดังกล่าว "กำลังตกเป็นเป้าหมายของนักโจมตีทางไซเบอร์ที่มีรัฐสนับสนุนซึ่งพยายามเข้าถึงไอโฟนของคุณ"

"นักโจมตีเหล่านี้อาจมุ่งเป้าที่คุณโดยตรงเพราะตัวตนของคุณหรือเพราะสิ่งที่คุณทำ หากนักโจมตีเข้าถึงไอโฟนของคุณได้ เขาก็อาจเข้าถึงข้อมูลที่อ่อนไหว การสื่อสาร รวมทั้งกล้องและไมโครโฟนได้" แอปเปิลระบุ พร้อมกับให้คำแนะนำในการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์

อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่าแอปเปิลใช้หลักเกณฑ์ใดในการระบุการโจมตีดังกล่าวว่ามีความเชื่อมโยงกับรัฐ หรือมีการโจมตีเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เนื่องจากแอปเปิลยังคงแบ่งรับแบ่งสู้ว่าการแจ้งเตือนดังกล่าวอาจเป็นข้อผิดพลาดได้ หรือการโจมตีบางอย่างระบบของแอปเปิลก็อาจจะตรวจจับไม่ได้เช่นกัน และแอปเปิลไม่สามารถให้รายละเอียดได้มากกว่านี้ เนื่องจากอาจกลายเป็นการให้ข้อมูลแฮกเกอร์เพื่อใช้ปรับพฤติกรรมการโจมตีเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจจับในอนาคต

วันเดียวกัน แอปเปิลแถลงด้วยว่าได้ยื่นฟ้องที่ศาลแคลิฟอร์เนียต่อเอ็นเอสโอ (NSO) บริษัทผู้ผลิตสปายแวร์สัญชาติอิสราเอล และบริษัทแม่ กล่าวหาเอ็นเอสโอว่าใช้เครื่องมือแฮกระบบของผู้ใช้ไอโฟน

บ.เทคยักษ์ใหญ่มะกันแตะเบรคจ้างงานใหม่ หลังเห็นพ้องวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่กำลังมา

สัญญาณเศรษฐกิจส่อเค้าไม่ดี! ‘แอปเปิล-กูเกิล-ไมโครซอฟท์’ พร้อมใจเลิกรับคนเข้าทำงานชั่วคราว เชื่อวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่กำลังมา

เอเจนซีส์ - กระแสความกลัวเศรษฐกิจถดถอยจากสงครามยูเครน และภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากวิกฤตโรคติดต่อระดับโลกที่ยังคงส่งผล ล่าสุด โรคฝีดาษลิงถูก WHO ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทั่วโลกแล้ว สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัจจัยทำให้บริษัทไฮเทคชื่อดังสหรัฐฯ ล่าสุด รวม "กูเกิล" "ไมโครซอฟท์" และ "แอปเปิล" รวมกลุ่มบริษัทใหญ่อื่นๆ ประกาศยกเลิกจ้างงานใหม่ชั่วคราว และสั่งประกาศลดตำแหน่งงานที่มีอยู่เดิม

สื่อมินท์ของอินเดียรายงาน เมื่อวันศุกร์ (21 ก.ค.) ว่า ดูเหมือนพนักงานอินเดียบริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ จากทั้งกูเกิล ไมโครซอฟท์ และแอปเปิล จะรอดจากกระแสการประกาศลดตำแหน่งงานเดิม แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญของอุตสาหกรรมชี้ว่า มาตรการหยุดการจ้างงานใหม่ชั่วคราวและการสั่งปลดพนักงานที่ออกมาจากบรรดาบริษัทไฮเทคสหรัฐฯ เชื่อจะกระทบในระดับทั่วโลกอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ บลูมเบิร์กรายงานวันพุธ (20) ว่า ทั้งกูเกิล ไมโครซอฟท์ และแอปเปิลเดินตามรอยบริษัทไฮเทคสหรัฐฯ ยักษ์ใหญ่ก่อนหน้าที่ชะลอการจ้างงานใหม่ ปลดพนักงานเดิมออกบางส่วน และให้ความสนใจไปที่การเพิ่มประสิทธิผลแทน

บลูมเบิร์กชี้ว่า แอปเปิล (Apple Inc.) มีนโยบายสั่งลดต้นทุนและการเติบโตตำแหน่งงานลงในบางแผนก ขณะที่สื่ออื่นรายงานว่า ไมโครซอฟท์อาจสั่งปลดพนักงานออกถึง 1% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด 180,000 คน ด้านกูเกิล (Google Inc.) จะมีการจ้างงานใหม่ช้าลงภายในปี 2022 อ้างอิงบันทึกภายในบริษัทที่ออกมาจากผู้บริหารระดับสูง ซันดาร์ พิชัย (Sundar Pichai)

บลูมเบิร์กชี้ว่า อีลอน มัสก์ ซึ่งก่อนหน้าเคยออกมาแสดงความวิตกและย้ำว่าเทสลา (Tesla) จำเป็นต้องประกาศเลิกจ้างพนักงานลง โดยเฉพาะพนักงานแผนกขับขี่อัตโนมัติ (Auto pilot) ลง 200 คน จากการที่โรงงานเทสลาในเมืองซานเมเทโอ (San Meteo) รัฐแคลิฟอร์เนียปิดลง

ซึ่งในการให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์ก มัสก์ยืนยันว่าพนักงานกินเงินเดือนจำนวนราว 10% จะต้องตกงานภายใน 3 เดือน ซึ่งบริษัทเทสลามีพนักงานทั่วโลกสิ้นสุดปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 100,000 คน

ทวิเตอร์ อิงค์ (Twitter Inc.) ซึ่งกำลังมีปัญหาทางกฎหมายกับมัสก์ เรื่องดีลการซื้อขายบริษัทที่เดินหน้าสู่ชั้นศาลแล้วได้ประกาศเริ่มการหยุดการจ้างงานชั่วคราวเช่นกัน และเริ่มต้นการสั่งปลดพนักงานในเดือนพฤษภาคม โดยอ้างอิงจากบันทึกภายในบริษัทเมื่อปี 2021 ซึ่งพบว่าบริษัทมีพนักงานทั้งหมด 7,500 คน

เมตา อิงค์ (Meta Inc.) บริษัทแม่ของเฟซบุ๊กของผู้ก่อตั้งมาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก ยกเลิกแผนการจ้างวิศวกรภายในไม่ต่ำกว่า 30% โดยซักเกอร์เบิร์ก ได้บอกกับพนักงานเมตา อิงค์ว่า เขาคาดการณ์ว่ากำลังจะเกิดวิฤตทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ที่จำเป็นทำให้บริษัทต้องสั่งถอยการจ้างงานลง

สื่อบารอนรายงานเมื่อวันที่ 3 ก.ค.โดยอ้างอิงรายงานของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สว่า ซักเกอร์เบิร์ก กล่าวผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในวันพฤหัสบดี (30 มิ.ย.) กับพนักงานเมตา อิงค์จำนวน 77,800 คน ประกาศคำเตือนวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ครั้งนี้ สื่อรีพับบลิกเวิลด์ของอินเดียรายงานวันที่ 3 ก.ค.ว่า โพลสำรวจของไฟแนนเชียลไทมส์รายงานกว่า 70% ของนักเศรษฐศาสตร์โลกชั้นนำลงความเห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในต้นปี 2024 และบริษัทต่างๆ จำเป็นต้องเตรียมพร้อมเพื่อเผชิญหน้าเศรษฐกิจขาลงครั้งใหญ่ที่คาดว่ากำลังจะเริ่มภายในสิ้นปี 2022

นอกเหนือจากซักเกอร์เบิร์ก พบว่า ผู้บริหารเมตา อิงค์คนอื่นออกมาแสดงคำเตือนคล้ายกันว่า บริษัทกำลังเผชิญหน้าต่อช่วงเวลาที่ร้ายแรง และปัจจัยภายนอกกระทบทางเศรษฐกิจนั้นรุนแรง

ด้านแอมะซอน อิงค์ (Amazon Inc.) แถลงก่อนหน้าเมื่อเมษายนว่า บริษัทมีจำนวนพนักงานมากเกินความต้องการหลังก่อนหน้าช่วงวิกฤตโควิด-19 ทางบริษัทได้เพิ่มกำลังในกระบวนการและปัจจุบันทางบริษัทของผู้ก่อตั้ง เจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) ต้องการลดกำลังพนักงานลง

สื่ออังกฤษปูด ‘แอปเปิล’ สนใจซื้อสโมสรแมนยูฯ คาดตัวเลขซื้อขายอยู่ที่ 5,800 ล้านปอนด์

สะพัด ! ‘แอปเปิล’ ยักษ์เทค สนใจซื้อสโมสรดัง ‘แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด’ หลังตระกูลเกลเซอร์ประกาศขายเมื่อต้นสัปดาห์ 

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 สื่อต่างประเทศรายงานว่า ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ‘แอปเปิล’ แสดงความสนใจที่จะซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หลังจากเจ้าของปัจจุบันคือตระกูลเกลเซอร์ประกาศขายสโมสรชื่อดังแห่งนี้เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่ามา

สื่ออังกฤษอย่าง ‘เดลีสตาร์’ อ้างว่า แอปเปิลอาจสนใจซื้อแมนฯยูไนเต็ดในราคา 5,800 ล้านปอนด์ (ประมาณ 251,076 ล้านบาท)

‘อียู’ สั่ง ‘แอปเปิล’ เปลี่ยนที่ชาร์จไอโฟนเป็น USB-C ‘ลดความยุ่งยาก-ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ เส้นตาย 2024

‘แอปเปิล’ บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยี จำเป็นต้องเปลี่ยนช่องเสียบชาร์จไฟฟ้าของอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือที่วางจำหน่ายตามมติของสหภาพยุโรป หรือ EU ซึ่งเพิ่งประกาศออกมาเมื่อไม่กี่วันก่อน

มติของสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเพิ่งประกาศออกมาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ระบุว่า โทรศัพท์ไอโฟนทุกรุ่นจะต้องเปลี่ยนจากการใช้พอร์ตชาร์จแบบ Lighting เป็นพอร์ตแบบ USB-C นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า EU ไม่เพียงต้องการให้แอปเปิลเปลี่ยนพอร์ตชาร์จของผลิตภัณฑ์ไอโฟนเท่านั้น แต่ยังต้องการให้เปลี่ยนพอร์ตของอุปกรณ์ทุกชนิดของบริษัทที่จำหน่ายในยุโรป ตั้งแต่แท็บเล็ตไปจนถึงคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป ให้เป็นแบบ USB-C ทั้งหมด แต่เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านั้น มีพอร์ตแบบ USB-C ติดตั้งมากับตัวเครื่องอยู่แล้ว จึงมีเพียงไอโฟนเท่านั้น ที่ต้องเปลี่ยนพอร์ตใหม่

ขณะที่แม้ว่าแอปเปิลจะมีท่าทีไม่เต็มใจนัก แต่ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายใหม่นี้ ซึ่งทางอียูระบุว่า ได้ออกกฎหมายนี้มาเพื่อลดความยุ่งยากของผู้บริโภคและลดการเกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากพอร์ต USB-C สามารถใช้งานร่วมกันได้ ระหว่างสายชาร์จรุ่นเก่ากับอุปกรณ์รุ่นใหม่ 

ครูชาวอเมริกัน เดือด!! แอปเปิลไม่น่ารัก ทำโฆษณาเหยียดหยาม ‘ประเทศไทย’ กระทบภาพลักษณ์ ทำให้ดูแย่ในสายตาชาวโลก ประกาศชัด ‘เปลี่ยนใช้ซัมซุงดีกว่า’

(27 ก.ค.67) ชาวโซเชียลแชร์วิดีโอคลิปของนายเดวิด วิลเลียม ครูสอนภาษาอังกฤษชาวอเมริกัน และอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง ซึ่งได้ออกมาวิจารณ์ภาพยนตร์โฆษณาของแอปเปิล (Apple) บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกัน ที่ถ่ายทำในประเทศไทย เพื่อฉายให้เห็นถึงฟังก์ชันการทำงานของระบบปฏิบัติการไอโอเอส ระบุว่า ตนรับไม่ได้และถามว่านายทิม คุก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และทีมงานแอปเปิลเป็นอะไร เพราะชาวต่างชาติที่มาประเทศไทย บรรยากาศไม่ได้เป็นแบบในโฆษณา ตนชมโฆษณาแล้วสงสัยว่าเป็นประเทศไทยเมื่อ 50-70 ปีที่แล้วหรือไม่ ทำไมไม่แสดงให้เห็นถึงความทันสมัยในวันนี้ หากค้นหาใน Google จะพบว่าประเทศไทยทันสมัย โดยเฉพาะสนามบินที่ทันสมัยกว่าสนามบินจอห์น เอฟ. เคนเนดี (JFK) ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาเสียอีก หากค้นหาจะพบว่าสนามบินในไทยดีมาก จะหาสนามบินที่ดูเก่าแก่ที่สุดไปเพื่ออะไร

อีกฉากหนึ่ง เมื่อครอบครัวในคลิปขึ้นแท็กซี่ ยังจะหาแท็กซี่ที่มีสภาพเก่าแก่ ตนสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำในฐานะชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยมานาน ตั้งแต่อยู่ที่นี่ไม่ว่าจะขึ้นรถแท็กซี่กี่คัน ไม่เคยขึ้นแท็กซี่ที่ดูแย่กว่านี้ และโรงแรมที่ครอบครัวในคลิปเลือกมา น่าจะเป็นโรงแรมที่เก่าแก่ที่สุด จำเป็นหรือไม่ที่ต้องหาทุกอย่างที่ดูแย่ขนาดนี้ ตนกล้าพูดว่าทุกอย่างในคลิปนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของคนไทยในสายตาของชาวโลกดูแย่ที่สุด สิ่งที่แอปเปิลควรรู้ไว้ก็คือ ในเมื่อชาวต่างชาติอีกส่วนหนึ่งชอบเหยียดคนไทย จำเป็นหรือไม่ที่ออกมาซ้ำเติมคนไทยแบบนี้ เป็นสิ่งที่ไม่น่ารักแม้แต่นิดเดียว

นอกจากนี้ ยังมีบรรดาผู้ที่ชื่นชอบผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลในไทย หรือติ่งแอปเปิล ออกมาปกป้องและหาข้ออ้างว่า ไม่ใช่คลิปดูถูกประเทศไทย แอปเปิลพัฒนาไม่หยุด และอัจฉริยะไม่หยุด ลักษณะคลิปที่ถ่ายออกมาตั้งใจให้ดูย้อนยุค ย้อนสมัย อยากจะให้ดูว่าเป็นประเทศไทยเมื่อ 30 ปีก่อน ถ้าสังเกตดีๆ ถ้าจินตนาการของแอปเปิลคือประเทศไทยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ขอถามว่าสมาร์ทโฟนอย่างไอโฟน 15 (iPhone 15) ปรากฏในโฆษณานี้ได้อย่างไร ถามว่าในวันนั้นไอโฟนเกิดขึ้นมาบนโลกแล้วหรือยัง คำตอบคือไม่ ถ้าแอปเปิลรักคนไทยจริงๆ ให้เกียรติหรือเอ็นดูคนไทยจริงๆ จะไม่ทำคลิปแบบนี้แน่ๆ

เพราะภาพยนตร์ฮอลลีวูด ทุกครั้งที่ฉากในสหรัฐอเมริกาปรากฏออกมา สังเกตได้ว่าทำไมทุกเมืองดูดี ดูสะอาด ซึ่งความจริงสกปรกกว่านี้ และมีคนไร้บ้าน (Homeless) มากกว่านี้ แต่จุดสำคัญก็คือ ถ้าไปดูภาพยนตร์โฆษณาของแอปเปิลที่ถ่ายทำในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์กหรือชิคาโก ก็มีคำถามว่าทำไมบ้านตัวเองถึงดูดี ดูเท่ จากโฆษณานี้ทำให้ตนจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของซัมซุงแทน เพราะให้เกียรติคนไทยมากกว่า แต่สิ่งที่แอปเปิลจะต้องเข้าใจก็คือ ถ้าจะมาขายของให้คนไทย แล้วมาดูถูกคนไทย หรือทำให้คนไทยดูแย่มากในสายตาชาวโลก จะไม่อุดหนุนต่อไปแน่นอน

เหตุใด Berkshire ของ 'ปู่บัฟเฟตต์' จึงเทขายหุ้น Apple ออก 49% แม้จะทำกำไรได้สวย และไม่น่าจะเป็นแค่การประหยัดภาษี

(4 ส.ค. 67) นักลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศกำลังสนใจและอยากทราบว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อมีข้อมูลว่า เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ (Berkshire Hathaway) บริษัทโฮลดิงของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัทแอปเปิล (Apple Inc.) ได้ขายหุ้นแอปเปิลออกไปแล้วเกือบครึ่งหนึ่งในไตรมาส 2 ปี 2024 ที่ผ่านมา หลังจากที่ขายออกไป 13% ในไตรมาสแรก ขณะที่ฝั่งแอปเปิลนั้น เพิ่งรายงานผลการดำเนินงานว่ามีกำไรสุทธิในไตรมาส 3 (เมษายน-มิถุนายน) ของปีงบการเงิน 2024 ทำสถิติสูงสุด 21,448 ล้านดอลลาร์ 

ซีเอ็นบีซี (CNBC) รายงานในวันที่ 3 สิงหาคมว่า เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ เปิดเผยว่า ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2024 บริษัทถือหุ้นแอปเปิลอยู่เป็นมูลค่า 84,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งบ่งชี้ว่าบริษัทของบัฟเฟตต์ได้ขายหุ้นแอปเปิลออกไปถึง 49.4% ของจำนวนที่เคยถืออยู่เมื่อเริ่มต้นไตรมาส 

ทั้งนี้ บัฟเฟตต์ลดการถือหุ้นของแอปเปิลลง 13% ในไตรมาสแรกของปีนี้ และแย้มในการประชุมประจำปีของ เบิร์กเชียร์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านว่า เหตุผลที่ขายออกไปนั้นเป็นเพราะเหตุผลด้านภาษี และบัฟเฟตต์บอกว่าการขายหุ้น ‘แอปเปิลจำนวนเล็กน้อย’ ในปีนี้จะส่งผลดีต่อผู้ถือหุ้นของเบิร์กเชียร์ในระยะยาว หากรัฐบาลสหรัฐต้องการขึ้นอัตราภาษีกำไรจากการขายหุ้นในอนาคตเพื่ออุดช่องว่างทางการคลังที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ขนาดของการขายหุ้นครั้งนี้บ่งชี้ว่าอาจมีเหตุผลมากกว่าแค่เรื่องการประหยัดภาษี

ทั้งนี้ ราคาหุ้นของแอปเปิลร่วงลงในไตรมาสแรกของปีนี้ เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าแอปเปิลจะล้าหลังในด้านนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) แต่ในไตรมาสที่ 2 หุ้นแอปเปิลก็พุ่งขึ้นถึง 23% สู่ระดับสูงสุดใหม่ หลังจากที่บริษัทได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมแก่ผู้ลงทุนเกี่ยวกับอนาคตของบริษัทในด้านปัญญาประดิษฐ์

ซีเอ็นบีซีระบุว่า ยังไม่ชัดเจนว่าเหตุใดนักลงทุนที่มีชื่อเสียงโด่งดังในด้านการเน้นลงทุนระยะยาวอย่างบัฟเฟตต์จึงขายหุ้นที่ซื้อมาเมื่อ 8 ปีก่อน อาจจะเป็นเหตุผลของบริษัทเอง หรือการประเมินมูลค่าตลาด หรือเพราะข้อกังวลด้านการจัดการพอร์ตโฟลิโอ (โดยปกติแล้วบัฟเฟตต์ไม่อยากให้หุ้นตัวใดตัวหนึ่งมีสัดส่วนในพอร์ตใหญ่มากเกินไป) ซึ่งหุ้นแอปเปิลที่เบิร์กเชียร์ถืออยู่นั้น ครั้งหนึ่งเคยมีจำนวนมากจนกินสัดส่วนครึ่งหนึ่งของพอร์ต 

นอกจากหุ้นแอปเปิลแล้ว เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ ของบัฟเฟตต์ได้ขายหุ้นธนาคารแบงก์ออฟอเมริกา (Bank of America) อย่างต่อเนื่อง 12 วันติดต่อกัน นับถึงวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่า 3,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ทั้งนี้ โดยภาพรวม รายงานประจำไตรมาส 2/2024 ของเบิร์กเชียร์แสดงให้เห็นว่าบัฟเฟตต์เทขายหุ้นออกไปในไตรมาสดังกล่าว ในช่วงที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 (S&P 500) พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากการคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะ ‘ชะลอตัว’ และล่าสุด การลงจอดอย่างนุ่มนวล (Soft Landing) ถูกตั้งคำถาม เนื่องจากรายงานตัวเลขการจ้างงานเดือนกรกฎาคมที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม ออกมาต่ำกว่าคาด

ด้านรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า ดูเหมือนว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ มีความกังวลเกี่ยวกับหุ้นมากขึ้น จึงเลือกที่จะไม่ใช้เงินลงทุนแล้วปล่อยให้เงินสดของเบิร์กเชียร์สูงเกือบ 277,000 ล้านดอลลาร์ และยังขายหุ้นแอปเปิลออกไปจำนวนมาก แม้ว่าแอปเปิลจะรายงานกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส 2 ทำสถิติกำไรรายไตรมาสสูงที่สุดก็ตาม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top