Monday, 28 April 2025
เอ้สุชัชวีร์

'ดร.เอ้' โพสต์ภาพทางเท้าแถวชินจุกุ เรียบสนิท ไม่มีหลุม ไม่มีทรุด เชื่อ!! กทม.ก็ทำได้ หากทำงานด้วย 'มาตรฐาน-ตั้งใจจริง'

(14 มี.ค.67) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ 'ดร.เอ้' รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'เอ้ สุชัชวีร์' ขณะที่ไปญี่ปุ่น ระบุว่า...

ทำไมมันเรียบอย่างนี้! ฟุตพาทแถวชินจุกุ โตเกียว เรียบสนิท ไม่มีหลุม ไม่มีทรุด กรอบต้นไม้ก็ทำดีมาก ฝั่งซ้ายที่เอกชน เชื่อมกับฝั่งขวาที่สาธารณะ เนียนกริบ เหมือนไร้รอยต่อ ฝาท่อไม่มีโป่ง ไม่เผยอ เดินสบาย

ในความเป็นจริง กทม. #เราทำได้ เช่นกัน อยู่ที่มาตรฐานการทำงาน และความตั้งใจจริง

'ดร.เอ้' โพสต์ซึ้ง!! "อีกไม่นาน ฝันของผม กำลังจะเป็นจริง" 'โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร' จากน้ำใจของทุกท่าน

(22 มี.ค. 67) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ 'ดร.เอ้' รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'เอ้ สุชัชวีร์' โดยระบุว่า…

"อีกไม่นาน ฝันของผม กำลังจะเป็นจริง" ทุกเช้า ผมจะผ่าน #โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ริมมอเตอร์เวย์ ที่สร้างมาจากน้ำใจของท่าน

เพราะไม่มีบุญใด ใหญ่กว่า การช่วยชีวิตคน แม้ว่าจากวันแรก ถึงวันนี้ มันช่างยากเย็นแสนเข็ญ กว่าเราจะทำได้...

พิสูจน์ ทุกอย่างเป็นไปได้ หากมุ่งมั่น ลงมือทำ!

วันนี้การก่อสร้างก้าวหน้าไปมาก ปีนี้ได้จะเปิดให้บริการทุกคน แล้วนะครับ

ผมภูมิใจสุดๆ ทุกครั้ง ทุกวัน เล่าให้ลูกฟัง "พ่อเอ้ ขอเป็นตัวอย่าง สร้างการเปลี่ยนแปลง" ทำดี ให้ลูกดู

ขอบพระคุณทุกท่าน ท่านกำลังจะมีโรงพยาบาลที่เป็นผู้นำด้านการรักษาพยาบาล และสร้างนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ ลดการนำเข้า วันหนึ่ง เราจะพึ่งพาตนเองให้ได้ครับ

ผมเชื่อว่า คงไม่ใช่แค่ฝันของผมเพียงลำพัง แต่เป็นฝันของคนไทยทุกคน กำลังเป็นจริง

โรงพยาบาลของคนไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทยทุกคน จากน้ำใจท่าน

อนุโมทนาบุญ ขอบพระคุณจริงๆครับ

‘ดร.เอ้’ แนะ!! รัฐบาล-กทม. 4 วิธีขนย้าย ‘แคดเมียม’ ให้ปลอดภัย พร้อมย้ำ ขอให้คิดถึง-ห่วงใยประชาชนเหมือนคนในครอบครัว

(19 เม.ย.67) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลกทม. กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการเตรียมขนย้ายกากแคดเมียมกลับไปยังบ่อฝังกลบที่ จ.ตาก ที่รัฐบาลให้ข้อมูล จึงขอแนะนำ กทม. และรัฐบาล รีบทำ 4 ข้อ ด่วน คือ

1. ต้อง ‘บรรจุถุงกากแคดเมียมเข้าตู้คอนเทนเนอร์แล้วปิดมิดชิด’ รอการยกขนย้าย ทำตามหลักมาตรฐานสากล
2. ต้องรีบลำเลียงไปพื้นที่ปลอดภัยโดยด่วน ‘เพราะยิ่งอยู่นาน’ ไม่มีใครการันตีว่า สารพิษจะไม่รั่วไหล ยิ่งมีโอกาสฝนตกได้ทุกวัน รัฐบาลแจ้งผ่านสื่อปลายทาง ไม่พร้อม ชาวบ้านก็เสี่ยงสูง อันตรายมากถ้ายังนิ่งอยู่ที่เดิม และเท่าที่ทราบพื้นที่ของรัฐที่ว่างเปล่า ห่างไกลแหล่งน้ำ ชุมชน หรือเช่าพื้นที่เอกชนก็มีว่างเปล่าปลอดภัย ไกลชุมชนมากมาย

นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า 3. ต้อง ‘เตรียมพื้นที่ฝังกลบ’ ควรเคลียร์พื้นที่ให้พื้นผิวเรียบ ก่อนจะใช้ HDPE (High Density Polyethylene) พลาสติกพอลิเอทิลีน พลาสติกที่มีความหนาแน่นสูง ในการรองรับแคดเมียมจำนวนมาก ทนต่อแรงฉีกขาด และควรคำนึงถึงความปลอดภัยต่อชุมชน หากจะกลับไปที่เดิม คงทำแบบเดิมไม่ได้ อันตรายมาก ฝุ่นจากการถมกากแคดเมียมจะเข้มข้น เป็นพิษร้าย กระจายคลุ้ง ชาวบ้านรับเต็ม ๆ

และ 4. ต้อง ‘เตรียมรถบรรทุกที่รับตู้คอนเทนเนอร์แบบปิด’ การขนย้ายไม่ใช่ใส่รถบรรทุกฝาเปิด แคดเมียมระเหยสู่อากาศ หากฝนตกยิ่งอันตราย สารพิษกระจาย และต้องไม่ขนถ่ายไปถ่ายมา อันตรายที่สุด มีความเป็นห่วงคนทำงานเพราะเสี่ยงมะเร็ง ดังนั้นตู้คอนเทนเนอร์ต้องเปิดได้สองครั้ง คือ เปิดตอนบรรจุถุงกากแคดเมียม กับเปิดตอนนำออกมาฝังกลบในที่ปลอดภัยเท่านั้น

“ขอให้คิดถึงและห่วงใยประชาชนเหมือนคนในครอบครัวท่าน เพราะหากสารพิษอยู่ติดรั้วบ้านท่าน ท่านจะรอไหมครับ” นายสุชัชวีร์ กล่าว

‘ดร.เอ้’ ฟาด!! ‘กทม.’ เหตุปัดความรับผิดชอบ กรณีชายตกท่อดับ ชี้!! โยนกันไปมา ไร้เจ้าภาพ แนะ!! ควรมี กม.เพื่อความปลอดภัย

(4 พ.ค.67) ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม.ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อถึงเหตุการณ์ชายตกท่อ ลาดพร้าว 49 เมื่อวานนี้ (3 พ.ค.67) ถึงการ ‘ปัดความรับผิดชอบของกทม.’ เพราะเป็นเจ้าของพื้นที่ และชี้หน่วยงานโยนไปมา หาเจ้าภาพไม่เจอ บอกถึงเวลาแล้ว ไทยต้องเป็นสังคมปลอดภัย พร้อมชวนประชาชนลงชื่อ เสนอกฎหมาย ‘จัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ’

ส่วนตัวรับไม่ได้ กรณีชายอายุ 59 ปี พลัดตกท่อย่านลาดพร้าว 49 เพราะ ยังมีคนเสียชีวิตจากการตกท่ออีก แต่สิ่งที่ทุกคนเห็น แต่ละหน่วยงานโยนกันไปมา ทั้ง กทม. กฟน. บีทีเอส สายสีเหลือง สุดท้ายแล้วคนตาย ‘หาเจ้าภาพไม่เจอ’ และเกิดเหตุซ้ำซาก จึงเป็นที่มาถึงเวลาของประเทศไทยต้องเป็นสังคมปลอดภัย ตนได้รณรงค์ให้ประชาชนมาลงชื่อให้เกิน 10,000 คนขึ้นไป เพื่อเสนอกฎหมายจัดตั้ง ‘องค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ’ อย่างน้อยจะหาคนกลางหรือเจ้าภาพได้เมื่อเกิดเหตุขึ้น สามารถร้องเรียนที่คณะกรรมการ หรือองค์กรนี้ได้ทันที ซึ่งอาจขึ้นตรงกับผู้นำประเทศ และองค์กรอิสระนี้สามารถติดตามความเสี่ยง พร้อมเผยแพร่ข้อมูล ประชาสัมพันธ์ และทำให้หน่วยงานหลักที่เป็นเจ้าของ เข้าไปแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด หรือเกิดการสูญเสียถึงแก่ชีวิตหรือสูญเสียทรัพย์สิน ก็ยังมีการถอดบทเรียน ไม่ใช่ ‘วัวหายล้อมคอก’ คนตายไปสุดท้ายไม่ได้ทำอะไร และตายฟรี ดังนั้น ขอเชิญชวนประชาชนมาลงชื่อได้ที่ suchatvee.com ให้เกิน 10,000 ชื่อ ซึ่งเรากำลังร่างกฎหมายเสนอสภา เพื่อให้เหมือนกับในต่างประเทศ เพราะมีหน่วยงานกลาง ดูแลความเสี่ยง ถอดบทเรียนหาผู้รับผิดชอบ เอาผิด จะได้เข็ด รวมทั้งเยียวยาผู้สูญเสียที่เป็นธรรม

ขณะเดียวกัน กรณีหากเกิดเหตุ ผู้รับเหมาต้องรับผิดชอบหรือไม่นั้น ดร.เอ้ กล่าวว่า เป็นเพียงส่วนหนึ่ง เพราะผู้รับเหมาต้องทำงานและได้เงินเร็วที่สุด แต่หลายครั้งการทำแบบนี้ ก็ได้มาซึ่งความสูญเสีย มาตรฐานที่ไร้คุณภาพ เช่น เจ้าของงานจ้างผู้รับเหมามาสร้างบ้าน ก็ต้องจ้างคนคุมงานมาดูแลด้วย ดังนั้น จากกรณีนี้ เจ้าของพื้นที่ คือ กทม. จะโยนไปที่ กฟน. ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะพื้นที่เกาะกลางถนน ฟุตบาท เป็นของ กทม. ใครจะทำอะไรต้องมาขอ กทม. และระหว่างทำ กทม. มีหน้าที่ในการดูแล ส่วนการส่งมอบ กทม. ก็ต้องมีส่วนร่วมในฐานะเจ้าของบ้าน จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ แต่ในอดีตหน่วยงานโยนกันไปมา และ จบที่การ ‘กล่าวแสดงความเสียใจ’ ปัดออกจากตัวหมด

จากนั้น พอไปถึงหน่วยงานซึ่งดูเหมือนจะเป็นเจ้าของ หน่วยงานนั้นก็โยนให้ผู้รับเหมา และผู้รับเหมาโยนไปที่บริษัทประกันชีวิต ทั้งนี้ เมื่อถึงบริษัทประกันชีวิต ก็จะสู้ด้วยข้อกฎหมาย ที่อาจระบุว่า คนเดินแล้วเกิดอุบัติเหตุ อาจจะประมาท มีสภาพร่างกายอาจไม่สมบูรณ์ กว่าจะจ่ายเงินเยียวยาก็ใช้เวลานาน หรือหลายกรณีไม่ได้เงิน เพราะครอบครัวไม่รู้จะเอาอะไรไปต่อสู้ จึงย้อนกลับมาว่า ประเทศไทยไม่มีองค์กรกลางที่จะช่วยหาข้อมูล หลักฐานส่งฟ้อง เพื่อให้ประกันดูแลเยียวยาผู้เสียหายอย่างเป็นธรรม และนี่คือสาเหตุของการเกิดเหตุซ้ำซาก เพราะคนเกี่ยงกัน คนผิดไม่เคยได้รับผิด คนสูญเสียไม่ได้รับการเยียวยา หรือได้รับการเยียวยาช้าเกินไป เพราะฉะนั้น ผู้นำรัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยนำอุทาหรณ์เหล่านี้มาเป็นบทเรียนในการสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้น เพราะนี่คือ ‘สิทธิพื้นฐาน’ ของประชาชนที่ควรจะได้รับ

‘ดร.เอ้’ มอง ‘สิงคโปร์’ ใต้การนำของนายกฯ เจนสี่ ‘ลอว์เรนซ์ หว่อง’ ‘สร้างคน-ชาติ-สังคม’ ใต้ข้อจำกัด เชื่อ!! ไทยก็ทำได้ อยู่ที่ ‘ผู้นำ’

(16 พ.ค. 67) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ‘ดร.เอ้’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 'เอ้ สุชัชวีร์' ในหัวข้อ 'ผู้นำไทย ควรเรียนรู้จากสิงคโปร์' ระบุว่า...

การสร้างคน สร้างชาติ สร้างสังคม ภายใต้ข้อจำกัด อย่างมหัศจรรย์ #เราทำได้

'ลอว์เรนซ์ หว่อง' ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเจนสี่ ของสิงคโปร์ ประกาศต่อยอด 'คัมภีร์สร้างชาติ' จากผู้นำ 3 รุ่นที่ผ่านมา โดยเฉพาะจาก 'รัฐบุรุษลี กวนยู'

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ทุกรุ่น เน้นการ 'สร้างคน' สำคัญที่สุดเสมอ โดย 'ลอว์เรนซ์ หว่อง' จะทำอะไรต่อจากนี้ น่าเรียนรู้ยิ่ง...

1. 'แสวงหาคนเก่ง' จากทั่วโลก
ลีกวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ ได้นักเศรษฐศาสตร์ชาวเนเธอร์แลนด์ ช่วยวางรากฐานทางเศรษฐกิจ ได้นักการทหารอิสราเอล ช่วงวางรากฐานกองทัพ ขณะเริ่มสร้างประเทศสิงคโปร์

'คนเก่ง' มาจากชาติไหนไม่สำคัญ ขอให้มาอยู่ มาช่วยพัฒนาสิงคโปร์ ชาติก็เจริญ

อีกทั้ง จำนวนประชากรสิงคโปร์ เติบโตไม่ทัน 

ลอว์เรนซ์ หว่อง จึงมุ่งให้ทุนการศึกษาเด็กมัธยมต้น จากชาติอาเซียน โดยเฉพาะ 'เด็กไทยชั้นยอด' ให้ไปเรียนมัธยมปลาย มหาวิทยาลัย จบออกมาทำงานในสิงคโปร์ และให้สิทธิ์เป็นพลเมือง พร้อมพ่อแม่ 

แม้ประเทศไทย อาจน่าอยู่ แต่คุณภาพการศึกษา สิ่งแวดล้อม และโอกาสได้งานที่ท้าทาย อาจไม่โดนใจคนรุ่นใหม่ เท่ากับสิงคโปร์ เราจึงสูญเสียยอดเด็กไทยไปอยู่สิงคโปร์เพิ่มขึ้นทุกปี

2. 'เน้นปัจจัยสี่' สำคัญที่สุด
อาหาร เครื่องนุ่งห่ม บ้าน และยารักษาโรค คือ ปัจจัยสี่ คือ พื้นฐานของชีวิต แต่ความท้าทาย คือ แม้พลเมืองจะมีรายได้สูง แต่อาหารและค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวัน รัฐบาลสิงคโปร์จะลดค่าครองชีพได้อย่างไร 

คนรุ่นใหม่ก็ไม่มีกำลังซื้อบ้าน เพราะที่ดินมีจำกัด ทำให้บ้านราคาสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก 

ลอว์เรนซ์ หว่อง เกิดในบ้านการเคหะ ที่ริเริ่มโดย ลี กวนยู เมื่อ 50 ปีก่อน ผมเคยไปเยี่ยมเมื่อครั้งเป็นประธานการเคหะแห่งชาติ หลายปีก่อน บ้านการเคหะสิงคโปร์แม้ห้องขนาดเล็ก แต่น่าอยู่ สิ่งแวดล้อมดี แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ และบ้านการเคหะสิงคโปร์ก็ไม่ได้ราคาถูกในวันนี้

ลอว์เรนซ์ หว่อง สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ มีบ้านของตนเอง ไม่เป็นหนี้เยอะ โดยให้แต้มต่อ คนเพิ่งเริ่มต้นทำงาน ได้ผ่อนบ้านในราคาพิเศษ ที่รัฐช่วยอุดหนุน

ด้านสาธารณสุข สิงคโปร์ประกาศเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีการแพทย์ และยารักษาโรค พึ่งพาตนเองและส่งออกได้ เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพ และลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้ามหาศาล

เมื่อคนรุ่นใหม่มีบ้านของตนเอง ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ไม่ก่อหนี้เกินตัว ย่อมมีพลังในการทำงาน สร้างเศรษฐกิจเข้มแข็ง

3. 'สิ่งแวดล้อมดี คุณภาพชีวิตดี' คือ ลมหายใจของเมือง
สิงคโปร์ มีโรงงาน มีท่าเรือ มีโรงเผาขยะ แต่แทบไม่มี PM 2.5 จากภายในประเทศ และพื้นที่สีเขียว 66 ตารางเมตรต่อคน มากกว่ากทม. 10 เท่า! 

ลอว์เรนซ์ หว่อง ประกาศว่า คุณภาพชีวิตของคนสิงคโปร์ ตื่นนอนสดชื่น เดินมาขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า ไม่เกิน 5 นาที กลับบ้านตรงเวลา รถไม่ติด 'น้ำไม่ท่วม' มีเวลากับลูกและครอบครัว ความปลอดภัยต้อง 100% 

เพราะถึงแม้มีเงิน แต่หากสิ่งแวดล้อมไม่ดี คุณภาพชีวิตก็ไม่ดี สิ่งแวดล้อมดีจึงทำให้สิงคโปร์เป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าทำงาน

4. 'สร้างสังคมนวัตกรรม' คือ ความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ
ลอว์เรนซ์ หว่อง จะต่อยอดนโยบาย ตามอดีตนายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ในการเปลี่ยนเศรษฐกิจของสิงคโปร์ จากเมืองท่าสู่บริการการเงิน จากบริการการเงินสู่การส่งออกเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมุ่งสร้างคนจำนวนมาก ด้าน AI คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีการแพทย์ และพลังงานทดแทน อย่างจริงจัง

เพราะเศรษฐกิจในอนาคต จะรุ่งเรืองได้ ต้องมาจาก 'เศรษฐกิจนวัตกรรม' ที่อาศัยพลังสมองชั้นยอดของพลเมือง สิงคโปร์จึงต้องเน้นเรื่องการสร้างคน

แม่ของ ลอว์เรนซ์ หว่อง เป็นครูประถม ผู้ทุ่มเทกับการเรียนของลูก จนลูกได้เรียนปริญญาตรีและปริญญาโท ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐ ก่อนกลับมาทำงานการเมือง เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา เป็นนายกรัฐมนตรี

จึงมั่นใจการขับเคลื่อน เรื่องการศึกษา ในยุคนายกฯ ลอว์เรนซ์ หว่อง น่าจะก้าวกระโดดเช่นกัน

เมื่อเรียนรู้จากสิงคโปร์แล้ว นายกรัฐมนตรีประเทศไทย ควรเร่งทำ 4 เรื่องนี้เช่นกัน ต้องไม่ทำงาน 'ฉาบฉวย' แม้แต่เรื่องเฉพาะหน้า ยังแก้ปัญหาไม่เบ็ดเสร็จ

'การศึกษาไทย' ยังวังเวง แทบไม่มีการพัฒนา เพราะนายกฯ ไม่ใส่ใจ 'โรงงานสารเคมี' ถูกปล่อยไว้ ไฟไหม้ซ้ำซาก ทำลายสิ่งแวดล้อม 'บ่อนเสรี' มีเมื่อไม่พร้อม จะกำลังจะมาทำลายอนาคตลูกหลาน 'ยาเสพติด' เต็มเมือง เปิดร้านขายกัญชาได้ที่หน้าโรงเรียน 

อนาคตไทย อยู่ที่ 'ผู้นำ' จะทำเพื่อชาติ หรือ ทำเพื่อตนเองและพวกพ้อง

ด้วยความห่วงใย และรักชาติยิ่ง

'ดร.เอ้' ชื่นชม!! 'ลิซ่า-ทีมงาน' ไม่เคยลืมความเป็นไทย ส่งต่อของดีของไทยสู่สายตาชาวโลก สร้างมูลค่าทาง ศก.มหาศาล

(30 มิ.ย.67) จากเฟซบุ๊กของ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ 'ดร.เอ้' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

ปรากฏการณ์ Rockstar จากน้อง Lisa และ กระแสเยาวราช fever สะท้อนอะไรถึงนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยวันนี้?

หลังจากน้องลิซ่าได้ปล่อย teaser รวมทั้ง MV ซิงเกิ้ลใหม่ตั้งแต่เมื่อเช้าวันศุกร์ที่ผ่านมา กับยอด view สูงถึงเกือบ 32 ล้าน view เพียงในวันแรก จนทุก Platform ลุกเป็นไฟ

จนตอนนี้ไม่มีย่านไหนที่จะฮอตอยู่ใน spotlight ความสนใจของคนไทยและคนทั่วโลกเท่ากับ ’เยาวราช‘ พื้นที่เก่าแก่ ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจมหาศาลสำหรับเมืองไทยและคนกรุงเทพ 

ต้องชื่นชมความน่ารักของน้องลิซ่าและทีมงานที่ไม่เคยลืมเมืองไทย คนไทย เป็นตัวอย่างความกตัญญูของคนรุ่นใหม่ ที่ไม่เคยลืมถิ่นกำเนิด นำเสนอของดีของไทยในแบบของเธอเอง ซึ่งเข้าใจและเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี 

ตั้งแต่ ปราสาทหินพนมรุ้ง ใน MV เพลง ‘La Lisa’ สวมผ้าซิ่น ‘ผ้าฝ้ายหมักโคลนย้อมคราม‘ จากอุดรธานี ไปทริปไหว้พระกับเพื่อนๆ ปรากฏการณ์ ‘ลูกชิ้นยืนกิน‘ ที่เธอพูดถึงในรายการ Woody show อีกทั้งโรตีสายไหม ร้านเจ้ไฝ และนมถุงหนองโพ ก็ได้เป็นไวรัล ที่ ‘เข้าใจจริง‘ และช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่คนไทยได้อย่างมหาศาล แบบประเมินค่าไม่ได้เลยทีเดียว

สิ่งเหล่านี้และครับที่ผมคิดว่าเราควรจะยกให้เธอเป็น ‘ผู้นำ Soft power ของแทร่‘ อย่างที่คนสมัยนี้เขาพูดกัน กับผลงานที่จับต้องได้ และเป็นประโยชน์กับคนไทย ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทยในระดับชาติ ซึ่งคนไทยน่าจะได้จากรัฐมากกว่าการไปร่วมเปิดงานกับชาวต่างชาติ ใส่ชุดที่ตัดจากผ้าไทย แล้วบอกว่านี่แหละคือ Soft power แล้ว?

ถ้าผู้ปกครองชุดปัจจุบันแค่จะมองให้ลึก เข้าใจให้จริงถึงสิ่งที่มีค่าของ ‘อัตลักษณ์แบบไทย‘ ที่สามารถโดนใจคนทั่วโลก และมีวิสัยทัศน์มากขึ้นอีกนิดที่จะวางนโยบายผลักดัน ’ของดีของไทย’ ให้ไปสู่สายตาคนทั่วโลก และวางนโยบายที่ส่งต่อสิ่งเหล่านี้ให้ขับเคลื่อน สร้างกระแสเศรษฐกิจไทย มากกว่านโยบายที่แจกเงินประชาชนแล้วก็จบไป ประเทศไทยเราคงไปได้ไกลกว่านี้แน่นอน

เพราะผมเชื่อเหลือเกินในศักยภาพคนไทย ถ้าตั้งใจ ทำจริงแล้วละก็ ไม่มีแพ้ชาติใดในโลก ยังมีคนไทยเก่งๆ แบบนี้อีกเยอะ มาช่วยกันรวมพลัง สร้างคลื่นคนไทยแบบ ‘T-Wave คลื่นลูกใหม่ ไทยนิยม‘ ให้ไปสะเทือนเวทีโลกกันได้อีกแน่นอน ซึ่งจะส่งผลดีกับเศรษฐกิจไทย ด้วยการเริ่มใส่ใจกับการพัฒนาศักยภาพ และการศึกษาของคนไทยตั้งแต่วันนี้ครับ

ผมเองอาจสามารถเรียกได้ว่า เป็นแฟนเพลงตัวจริงของน้องลิซ่า แต่ก็แอบชื่นชมผลงานอยู่ไกลๆ รวมทั้งยังขอเป็นติ่งน้อยๆ ของคนไทยที่ร่วมภาคภูมิใจที่เธอไปเขย่าเวทีโลก ให้ต่างประเทศต้องจับตามองและติดตามศิลปินหญิงคนหนึ่งจากประเทศเล็กๆ ที่ชื่อว่า ‘ประเทศไทย’ ขอบคุณที่เป็นตัวอย่างดีๆ ของคนรุ่นใหม่ และพี่เอ้เองด้วยนะครับ

ว่าแล้ว จะชวนทีมงานน้องๆ พรรคประชาธิปัตย์ไปหาของอร่อยกินที่เยาวราชตามรอย Rockstar กันดีกว่า มีเพื่อนๆ พี่ๆ ท่านไหนสนใจไปด้วยกันไหมครับ? :)

‘ดร.เอ้’ ชี้!! อนาคต AI ชี้!! หากไทยไม่ทำวันนี้ อาจสายเกินไป

(14 ธ.ค. 67) ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้โพสต์ข้อความระบุว่า …

ถึงเวลา ‘จุดประกาย AI ในประเทศไทย’

ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัย CMKL ที่มุ่งมั่น สร้างคนไทยสู่เวทีระดับโลก ด้าน AI มาเป็น ‘Keynote Speaker’ องค์ปาฐก บรรยายเรื่อง ‘อนาคต AI’ ในงาน AI Summit 2024

เพราะวันนี้ หากไทยไม่สู้ อาจสายเกินไป เพราะประเทศอื่นก้าวกระโดดไปไกลมากแล้ว โดยเฉพาะเวียดนาม

เราจัดงาน AI Summit 2024 เพื่อรวมพลังสุดยอดคน AI ระดับโลก มาร่วมทีม AI ไทยแลนด์ พัฒนางานวิจัย และพัฒนา ‘คนรุ่นใหม่’ ให้เข้าสู่โลก AI ได้

และหมดยุค ‘แข่งกับตัวเอง’ หรือ ‘แข่งกันเอง’ เพราะทัศนคติแบบพูดเพียง ‘หล่อๆ’ นี้ ทำให้เราไม่คิดเปรียบเทียบ หรือแข่งกับ ‘คนเก่ง’ สุดท้ายเราก็ไม่พัฒนา สู้โลกไม่ได้ น่าเสียดาย

AI Summit 2024 จึงเป็นการ 'จุดประกาย' ให้คนไทย ตระหนักถึง ‘ยุค AI’ และ กลับมา ‘รวมพลัง’ คนเก่งของไทย ที่เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก

แล้วท่านล่ะครับ พร้อมเข้าสู้ยุค AI หรือยังครับ

‘ดร.เอ้’ โพสต์เฟซ!! เสนอแนะ วิธีปราบฝุ่นพิษ PM2.5 ย้ำ!! เคยเสนอ ‘ครั้งแล้วครั้งเล่า’ และ ‘ขอเสนออีกครั้ง’

(25 ม.ค. 68) ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก …

ฝุ่น PM2.5 วิกฤตเเล้ว! ผมเคยเสนอ ‘ครั้งแล้วครั้งเล่า’ และ ขอเสนออีกครั้ง...

‘การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ 6 ข้อ’  ให้มลพิษ PM2.5 ลดลง คือ

1.ประชาชนทุกคนต้องรับรู้ข้อมูลและอันตรายของ PM2.5 
วันนี้เราสามารถเช็กค่าฝุ่นเบื้องต้นเพื่อทราบข้อมูล จากแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ต่างๆ เพื่อตรวจเช็กค่าฝุ่นจากจุดใกล้ตัว ว่าค่าฝุ่นที่แสดงมีความอันตรายมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เรา ทราบค่าฝุ่นได้แม่นยำมากขึ้น ก็ต้องมาจาก ‘จำนวนจุดวัดคุณภาพอากาศ ที่มากเพียงพอ’ ซึ่งควรมีอย่างน้อย ‘2000 จุดทั่วกรุงเทพ’ เพื่อให้ประชาชนสามารถทราบค่าได้อย่างแม่นยำ และต้องแสดงปริมาณฝุ่นให้ประชาชนได้รับรู้ บริเวณโรงเรียน โรงพยาบาล พื้นที่ก่อสร้าง และพื้นที่เสี่ยง เพื่อการปกป้องสุขภาพ และเพื่อการควบคุมฝุ่น ในพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง ประชาชนมีสิทธิในการตรวจสอบ ขอประเมินคุณภาพอากาศ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการรับรู้ ประเมิน และตรวจสอบ ร่วมกับภาครัฐและเอกชน ภาครัฐต้องเเนะนำให้ประชาชน ‘ป้องกัน’ ตัวเองด้วยหน้ากากอย่างจริงจัง  ในปัจจุบันหน้าการที่ป้องกันโควิดบางแบบสามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้บ้างถึงแม้จะไม่ดีเท่า N95 โดยเมื่อเรารู้ว่าตัวเราอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ก็ใส่หน้าเพื่อป้องกันการสูดฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย  โดยเฉพาะเด็ก และผู้สูงอายุ ประมาทไม่ได้เลย ฝุ่น PM2.5 อันตรายถึงชีวิต แต่ที่เห็น เรายังไม่สนใจที่จะป้องกันตัวเอง และคนที่เรารักเท่าที่ควร

2.กำจัดฝุ่นที่ ‘ต้นกำเนิด’ อย่างจริงจัง 
วันนี้เรายังเห็นรถเมล์เก่า รถบรรทุกควันดำ วิ่งเต็มกรุงเทพ อยู่ทุกวัน จริงไหมครับ แสดงว่า เราไม่เคยจริงจังกับเรื่องฝุ่นพิษเลย รถควันดำ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่ปล่อยมลพิษ จะต้องไม่มีในกรุงเทพอีกต่อไป ไม่ใช่ปล่อย PM2.5 ตลอดเวลา แล้วเมื่อไหร่ อากาศจะดีขึ้น ไม่มีทาง ‘รถบรรทุกควันดำ’ เป็นส่วนใหญ่ วิ่งเข้าออก ‘ไซต์งานก่อสร้าง’ ทุกวัน วันละไม่รู้กี่พันกี่หมื่นเที่ยว  กทม.มีข้อบัญญัติความปลอดภัย ความสะอาด และป้องกันสิ่งแวดล้อมในมือ จัดการได้ทันที ถึงระงับใบอนุญาตก่อสร้างได้ เป็นการแก้ปัญหาถึง ‘ต้นตอ’

3.กฎหมายต้อง ‘เข้มแข็ง จัดการผู้กระทำความผิด’
แน่นอนครับการปลูกฝังจิตสำนึกเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา เเต่การใช้กฎหมาย ปรับให้เหมาะสมและต้องบังคับให้ใช้จริงเป็นสิ่งสำคัญ ตอนนี้เรากำลังจะมี ‘กฎหมายอากาศสะอาด’ ที่มาจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคการเมือง โดยยึดหลักมาตรฐานสากล กฎหมายอากาศสะอาด จะกำหนดเป้าหมายและมาตรฐานมลพิษทางอากาศอย่างเป็นธรรมต่อสุขภาพประชาชนและการพัฒนาประเทศ ตามหลักสุขภาพสากล กฎหมายอากาศสะอาดจะเน้นการกระจายอำนาจในการควบคุม ประเมิน ตรวจสอบ และแก้ไขปัญหา อย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ กฎหมายอากาศสะอาดจะใช้มาตรการ 'ภาษีฝุ่นและค่าธรรมเนียม' กับการปลอดมลพิษอย่างไร้ความรับผิดชอบของบุคคลและนิติบุคคล เพื่อนำมาใช้ในการรักษา เยียวยาปัญหาสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และจะให้ประโยชน์การลดหย่อนภาษีและโบนัสแก่บุคคลและนิติบุคคลที่ช่วยป้องกันฝุ่น ลดมลพิษ กฎหมายอากาศสะอาดจะส่งเสริมการวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในประเทศ รวมทั้งการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจัดการมลพิษทางอากาศ และสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด
ทั้งหมดนี้ ผู้มีอำนาจจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ในต่างประเทศที่เคยประสบวิกฤตฝุ่นพิษ เช่น อังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี จีน เขาใช้ กฎหมายอากาศสะอาด เป็นเครื่องมือที่ได้ผลที่สุด ในการต่อสู้กับมลพิษ เเละเขาจริงจังเเละเข้มงวด ใครทำผิดเขาจัดการทันที เเต่ประเทศไทยยังไม่เข้มงวดมากพอ

4.ใช้เทคโนโลยี ‘มีดาวเทียม รู้ทันที ใครเผา’
เทคโนโลยีดาวเทียม ‘ไม่โกหก’ เมื่อปีก่อน ไทยเราส่ง ‘ดาวเทียมธีออส 2’ ซึ่งเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ เวียนมา ‘สอดส่องดู’ พื้นที่ประเทศไทย ใครเผาป่า เผ่าไร่ ตรงจุดไหน ที่แปลงใด รู้ทันที ‘ใครต้องรับผิดชอบ’ GISTDA หรือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ผู้ดูแลดาวเทียม ระบุว่าข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมธีออส 2 มีรายละเอียดภาพหรือขนาดพิกเซล 50 เซนติเมตร ถือว่า ‘ความละเอียดสูงมาก’  ไม่มีอะไรรอดพ้นสายตา จะใช้หรือไม่ ก็เท่านั้นเอง เมื่อเทคโนโลยี ‘มีแล้ว’ เราต้องใช้แก้ปัญหา ให้คุ้มค่า

5.กำหนดเขตมลพิษต่ำ ‘Bangkok Low Emission Zone’
นี่คือ 'เป้าหมาย' และ 'วิธีแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม' ที่เราต้องทำทันที รอไม่ได้ เพราะกรุงเทพมี 'ความหนาแน่นขึ้น' ส่งผลให้ปริมาณการใช้รถยนต์เพิ่มขึ้นตาม ปัญหาการจราจรติดขัด และ มลพิษทางอากาศก็ตามมา โดยเฉพาะปัญหา PM 2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพและชีวิตของพลเมือง

การประกาศ 'เขตมลพิษต่ำ' จะทำให้สามารถจำกัดการเข้ามาของยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษสูงที่จะเข้ามาในเมือง ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุกเก่าควันดำ รถเมล์ควันโขมง หรือรถอื่น ๆ ที่ปล่อยมลพิษอันตรายน่ากลัว โดยจะมีการมีกำหนดอัตราค่าธรรมตามปริมาณมลพิษรถที่ปล่อยออกมา เมื่อผ่านเขตที่กำหนด ยิ่งรถปล่อยมลพิษสูง ค่าธรรมเนียมยิ่งแพง ส่วนรถที่ปล่อยมลพิษตามมาตรฐาน รถยนต์ไฟฟ้าพลังสะอาด จะไม่มีค่าธรรมเนียม เข้าได้ฟรี ขับได้ตามปกติ เพื่อกระตุ้นให้คนหันมาดูแลรักษารถยนต์ให้มีมาตรฐาน ปล่อยมลพิษน้อยลง ใช้รถพลังงานสะอาดมากขึ้น หรือหันมาเลือกใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทน ทำให้สามารถลดมลพิษจากท้องถนนได้

สำหรับกทม. ผมขอเสนอให้มีการกำหนดเขตมลพิษต่ำ 'Bangkok Low Emission Zone' นำร่อง 16 เขตกรุงเทพชั้นใน บริเวณเขตพระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ ดุสิต พญาไท ราชเทวี ปทุมวัน สาทร บางรัก บางคอแหลม บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ คลองสาน ธนบุรี และเขตยานนาวา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 130 ตารางกิโลเมตร เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้ชาวกรุงเทพฯ ได้รับอากาศสะอาดกลับคืนมาได้ครับ

ทำไมต้อง 16 เขต กรุงเทพชั้นใน?

เพราะเขตชั้นในนี้ มีประชากรอาศัยหนาแน่น ทั้งผู้อยู่อาศัย ผู้มาทำงาน และนักเรียน ที่มีโรงเรียนและโรงพยาบาลอยู่ในพื้นที่นี้มากที่สุด จึงได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างมาก

เพราะพื้นที่นี้มีการก่อสร้างมากที่สุด มีปัญหามากที่สุดและส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อคนกรุงเทพ

และเพราะพื้นที่นี้อยู่ในแนวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่พร้อมที่สุด ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากว่าพื้นที่อื่น

6.กำหนด ‘เป้าหมาย’ ลดฝุ่นอย่างจริงจัง ต้องชัดเจน
ผมไม่เห็นใครออกมา 'ตั้งเป้าหมาย' เลยว่า อีกกี่เดือน กี่ปี ฝุ่นพิษ PM2.5 จะลดลง ให้อากาศกรุงเทพกลับมาสะอาดพอ ให้ลูกหลานเราจะหายใจได้อย่างปลอดภัย

เมื่อบ้านเมืองไร้เป้าหมาย สุดท้ายคือ อยู่ไปวันๆ ตายผ่อนส่ง ไม่มีอนาคต จริงไหมครับ ?

เมื่อ PM2.5 คือ อันตราย ตายจริง และขอย้ำ 'ปล่อยฝุ่นว่าโหดร้าย ปล่อยไว้โหดยิ่งกว่า' หากเป็นเช่นนี้ต่อไป แสดงว่าเราไม่ได้ห่วงลูกหลานคนไทยเลย

ด้วยความห่วงใยมากครับ

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

‘ดร.สุชัชวีร์’ ยกความมหัศจรรย์ AI พลิกโลกของ DeepSeek ชี้ เป็นความมุ่งมั่นของ "คนจีน" ที่ไม่ยอมแพ้ต่อทุกข้อจำกัด

(3 ก.พ. 68) ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายกสภามหาวิทยาลัย CMKL มหาวิทยาลัย AI แห่งแรกของไทย  โพสต์เฟซบุ๊กว่า  "DeepSeek AI กระบี่อยู่ที่ใจ" ทำไม AI จีนถึงเก่งได้ แล้วไทยจะอยู่อย่างไร

"ความมหัศจรรย์" และ "ความน่าสงสัย" ของ "แฟลตฟอร์ม AI" สะท้านโลก "DeepSeek" จากแดนมังกร คืออะไร ผมมีคำตอบ พยายามอธิบายเรื่อง "ยากมาก" แบบง่ายๆครับ

การพัฒนา AI  ระดับสูง จำเป็นต้องใช้ปัจจัย 3 ด้าน และทำไม "DeepSeek" ถึง "มหัศจรรย์" ปนความ "น่าสงสัย"

1. "พลังการคำนวน" จาก "ฮาร์ดแวร์" เครื่องซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ AI  ซึ่ง "Nvidia" คือ ผู้นำในการผลิต "GPU" หรือ หน่วยประมวลผลข้อมูล ยิ่งมี GPU เยอะ ก็ยิ่งมี "ประสิทธิภาพ" หรือ "ความเร็ว" ในการคำนวนมากยิ่งขึ้นตาม

มักใช้หน่วย "ความเร็ว PetaFLOPS (PFLOPS)" ซึ่งเป็นหน่วยวัดประสิทธิภาพของการคำนวณ โดย 1 PFLOPS = 1,000 ล้านล้าน (10¹⁵) เลขทศนิยมต่อวินาที

ปัจจุบัน "อีลอน มัสก์" กำลังจะติดตั้งซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ AI ของบริษัท xAI ที่รัฐเทนเนสซี โดยซื้อ GPU รุ่นล่าสุด "ทันสมัยสุด" B200 จาก Nvidia ของ "เจนเซ่น หวง"  ถึง 200,000 ชุด มากที่สุดในโลก โดยมีความเร็วในการคำนวน หลายแสน PetaFLOPS คือ "โคตรเร็ว"

แต่ "DeepSeek" ใช้ "ฮาร์ดแวร์" GPU รุ่นเก่า H800 ของ Nvidia เพียง 2,000 ชุด แถมยัง "ถูกลดสเปค" เพราะโดนกีดกันจากรัฐบาลสหรัฐ ความเร็วน้อยกว่าเครื่องของ "อีลอน มัสก์" เป็นร้อยๆเท่า

นี่จึงเป็น "ความมหัศจรรย์เรื่องแรก"  ที่ "ค่าย AI จีน" ใช้ทรัพยากรน้อยกว่านับร้อยเท่า เมื่อเปรียบเทียบกับ "ค่าย AI อเมริกัน"

2. "โมเดล" หรือ "ซอฟต์แวร์" ที่ใช้เป็นชุดคำสั่งการคำนวน AI มีความสำคัญมาก เพราะยิ่งมีอัลกอริทึมที่มี "ตัวแปร" เยอะก็ครอบคลุมการคำนวณข้อมูลที่ "ละเอียด" ได้มากกว่า

โมเดลที่นิยมสำหรับการคำนวณ Generative AI ที่เราใช้กันอยู่หรือที่เรียกกันว่า LLM (Large Language Model) หรือ GPT (Generative Pre-trained Transformer) คือ โมเดลปัญญาประดิษฐ์ขนาดใหญ่มาก ที่ได้รับการฝึกฝนบนข้อมูลข้อความจำนวนมหาศาล เพื่อตอบสนองข้อความ ได้อย่างซับซ้อนและเป็นธรรมชาติ

"DeepSeek" เป็น LLM ที่มีตัวแปรมากถึง "685,000 ล้าน!" ตัวแปร ซึ่งมากกว่าตัวแปรของ LLM Opensource ตัวอื่น แต่ที่แตกต่างคือ DeepSeek เป็นโมเดลรุ่นแรกที่ฝึกด้วย 8-bit floating point (FP8) ที่ช่วยลดปริมาณการใช้ GPU แต่ยังสามารถมีตัวแปรจำนวนมาก ในขณะที่โมเดลก่อนหน้านี้ใช้ FP16 ซึ่งทำให้ต้องใช้ GPU ที่มีหน่วยความจำสูงกว่า DeepSeek กว่า 2 เท่า

นี่คือ "ความมหัศจรรย์เรื่องที่สอง" ที่ทำให้ "DeepSeek" มีประสิทธิภาพสูงในต้นทุนที่ต่ำกว่าค่ายอื่น 

3. "ข้อมูลขนาดมหึมา" หรือ Big Data ให้อัลกอรึทึม AI ได้ "เรียนรู้" เพื่อสร้างความฉลาดล้ำเมื่อถูกใช้งาน ซึ่งการได้มาของข้อมูลขนาดมหึมานี้ เป็นความ "น่าสงสัย" ในตัว "DeepSeek" และ แพลตฟอร์ม AI แทบทุกสำนัก เพราะแหล่งข้อมูลมีทั้งจากข้อมูลสาธารณะ ข้อมูลเฉพาะ ข้อมูลบุคคคล ข้อมูลธุรกิจ ข้อมูลมีลิขสิทธิ์ และข้อมูลที่ AI   สร้างเอง ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพการคำนวนทั้งสิ้น

นี่คือ "ความมหัศจรรย์เรื่องที่สาม" ว่า "DeepSeek" ได้ข้อมูลขนาดมหึมานี้ ในเวลาสั้นๆ จากแหล่งใด 

ดังนั้น "การไขความลับ" แห่งความสำเร็จของ "DeepSeek" จึงยังคงเป็นปริศนา และยังมีเรื่อง "งบประมาณ" ที่ใช้ซึ่งน้อยมากจนเหลือเชื่อ 

กระนั้นต้อง "ยอมรับ" ชื่นชมในความสามารถและความมุ่งมั่นของ "คนจีน" ที่ไม่ยอมแพ้ต่อข้อจำกัด #จะทำก็ทำได้ แล้ว "คนไทย" เราจะศิโรราบต่อ "ชะตา" เชียวหรือ ทิ้งท้ายไว้ให้คิดนะครับ

‘ดร.เอ้ สุชัชวีร์’ ตั้งคำถาม!! สังคมไทยจะปลอดภัย กี่โมง ลั่น!! ‘เสียใจ-คับแค้นใจ’ ในความวิบัติของ ‘พระราม 2’

(16 มี.ค. 68) ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ‘ดร.เอ้’ นักวิชาการ อดีตนายกสภาวิศวกร อดีตอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ ‘พระราม 2’ โดยมีใจความว่า ...

อีกแล้ว สะพานถล่ม คนตาย เพราะ "ไม่มีเจ้าภาพ" และ "ไม่ถอดบทเรียน 4 ข้อ" สังคมไทยจะปลอดภัย กี่โมง?

ผมได้ข่าว "สะพานถล่ม" แถวพระราม 2 ผมรู้สึก "เสียใจ" จนถึงระดับ "คับแค้นใจ" เพราะในฐานะวิศวกรโยธาคนหนึ่ง เป็นอดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) ที่เห็น "ความวิบัติ" มานับครั้งไม่ถ้วน และเห็น "คนเจ็บ คนตาย" มานับไม่ถ้วนเช่นกัน แต่เหตุสลดก็ยังเกิดขึ้น ซ้ำซาก ในสังคมไทย

ผม "เตือนแล้ว" และ "แนะนำ" นับครั้งไม่ถ้วน แล้วเช่นกัน ทุกอย่างยังคงแย่เหมือนเดิม เพราะ "เราลืมง่าย" ทั้งผู้รับผิดชอบ หรือเจ้าของโครงการ ไม่จริงใจ "ไม่ถอดบทเรียน" เพื่อหาสาเหตุ นำไปสู่การ "เอาผิด" กับผู้กระทำผิด รอเรื่องเงียบ แล้วก็ปล่อยผ่าน คนทำผิดเขาก็รู้แกว ไม่ต้องใส่ใจ ไม่สนใจ จริงไหม

ผมขอเรียนว่า "สาเหตุการถล่ม" ของการก่อสร้าง มีไม่กี่เรื่อง วิศวกรโยธาเรียนกันมาทุกคน เพียงต้องถอดบทเรียน 4 ข้อ เพื่อหาสาเหตุ ดังนี้
1. ปัญหา "การออกแบบ" ไม่ได้มาตรฐาน
คือ วิศวกร หรือผู้ออกแบบ "คำนวนผิด" ทำให้การออกแบบต่ำกว่ามาตรฐาน เมื่อทำก่อสร้าง หรือเมื่อใช้งาน จึงไม่สามารถรับน้ำหนักได้ โครงสร้างจึงถล่ม 
กรณีนี้ ตรวจสอบได้จาก "รายการคำนวน" ก็บอกได้ว่า "ผู้ออกแบบ" ออกแบบผิดมารฐาน ต้องรับผิดชอบ 

2. ปัญหา "การก่อสร้าง" ไม่ได้มาตรฐาน
คือ "ผู้รับเหมา" และ "ผู้ควบคุมงาน" ไม่ทำตามแบบก่อสร้าง หรือ "ไม่ทำตามขั้นตอน" ที่ถูกต้อง โครงสร้างจึงถล่ม เพราะลดมาตรฐานการก่อสร้าง
กรณีนี้ ตรวจสอบด้วยการเก็บตัวอย่างเหล็ก ปูน มาทดสอบ ก็รู้ทันทีว่าทำผิด "ผู้รับเหมา" และ "ผู้คุมงาน" ต้องรับผิดชอบ

3. ปัญหา "การใช้งาน" ไม่ถูกต้อง
เมื่อออกแบบ และก่อสร้าง ถูกต้องตามมาตรฐาน แต่ "เจ้าของ" หรือ "ผู้ใช้งาน" ใช้งานผิดประเภท เช่น ออกแบบมาเป็นบ้านพักอาศัย แต่กลับแอบใช้เป็นโกดังเก็บของ น้ำหนักบรรทุกเกิน ก็พัง
กรณีนี้ เจ้าของ หรือผู้ใช้งาน ก็ต้องรับผิดชอบ

4. ปัญหา "ภัยพิบัติ' จากธรรมชาติ
หาก ออกแบบ ก่อสร้าง และใช้งาน "ถูกต้อง" แต่เกิดภัยธรรมชาติ เช่น "แผ่นดินไหว" หรือ "พายุรุนแรง" เกินกว่าที่กำหนดไว้ในกฏหมาย
กรณีนี้ คงถือเป็น "เหตุสุดวิสัย" แต่ผมย้ำว่า ต้องเกินกว่าที่กฏหมายกำหนดไว้เท่านั้น ถึงจะอ้างข้อนี้ได้ เพราะมีหลาย กรณี ที่จะ "เบี่ยงเบน" ประเด็น อ้างว่าสุดวิสัย ทั้งๆที่ ทำผิดข้อ 1-3 ที่เรามักเห็นๆกันอยู่ จริงไหมครับ?

ผม และแนวร่วม "ภาควิชาการ" และ "ภาคประชาชน" จึงพยายาม "แก้ปัญหา" ด้วยการเสนอ "กฏหมายเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ" ฉบับประชาชน ที่ต้องรอพี่น้องประชาชนมาลงชื่อให้เกิน 10,000 ชื่อ

สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ การมี “เจ้าภาพ” ในการรับเรื่องร้องเรียน ติดตามการแก้ปัญหา ถอดบทเรียน นำไปสู่การหา "ผู้รับผิดชอบ" และ "เยียวยา" ผู้ประสบภัย ให้ได้รับความเป็นธรรม และยังจะทำหน้าที่ "ตรวจสอบสาเหตุอุบัติภัย" แทนหน่วยงานเจ้าของโครงการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส 

แต่พอเรื่องโรงงานระเบิด รถบัสไฟไหม้ สะพานถล่ม เงียบไป ก็ไม่มีใครมาลงชื่อ ความตั้งใจดีๆนี้ จึงไม่ไปถึงไหน สักที

ผมจึงขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมลงชื่อ เสนอพรบ.ความปลอดภัยสาธารณะ ที่ thaipublicsafety.org เพื่อมี "เจ้าภาพ" ดูแล "สังคมไทยปลอดภัย" อย่ารอให้คนเจ็บ คนตาย มากกว่านี้เลยครับ

ด้วยความห่วงใย

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top