Sunday, 5 May 2024
เศรษฐกิจ

ส่อง 40 ประเทศ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด ปี 2023

ผลรายงานจาก IMF ระบุว่า สหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ประจำปี 2023 ตามด้วยจีน ญี่ปุ่น และเยอรมนี 

สำหรับประเทศไทย อยู่ในลำดับที่ 27 เป็นชาติที่ 2 ในอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย ที่อยู่ในลำดับที่ 16 

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้!! Q2 'การคลัง-การเงิน-การท่องเที่ยว' เดินหน้าเต็มตัว ปลุกเศรษฐกิจไทยฟื้น คลายทุกข์คนไทย ต่างชาติสนใจแห่ลงทุน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'การคลัง-การเงิน-การท่องเที่ยว แรงผลักเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไตรมาส 2' เมื่อวันที่ 7 เม.ย.67 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้...

การเติบโตที่น่าผิดหวังของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 และต่อเนื่องมายังไตรมาสแรกของปี 2567 ทำให้หลายสำนักต้องปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงมาเหลือไม่ถึง 3% ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการค้าการลงทุนในประเทศเป็นอย่างมาก

แต่ท่ามกลางความหดหู่และความมืดมัว เริ่มมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ปรากฏขึ้นในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 โดยวันที่ 10 เมษายน รัฐบาลจะแถลงความชัดเจนของมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ซึ่งถือเป็นมาตรการ Flagship ของรัฐบาลนี้ 

หลายฝ่ายรวมทั้งฝ่ายค้านมัวหลงประเด็นอยู่ที่เรื่องแหล่งที่มาของเงิน แต่ข้อเท็จจริงคือ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณแผ่นดินหรือกฎหมายให้อำนาจรัฐบาลกู้เงิน แหล่งเงินดิจิทัลวอลเล็ตก็จะต้องมาจากเงินกู้ทั้งนั้น เพราะขณะนี้เรามีงบประมาณขาดดุล เนื่องจากรายได้ไม่พอกับรายจ่าย การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจึงต้องมาจากการกู้เงินเท่านั้น หากไม่ออกกฎหมายให้อำนาจกู้เงิน ก็อาจออกเป็นงบประมาณกลางปี ซึ่งก็ดูจะเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ประเด็นอยู่ที่จังหวะเวลา หากออกมาได้เร็วก็จะช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี

ในเรื่องแหล่งเงิน ระยะต่อไปรัฐบาลต้องปฏิรูปภาษีอากรเพื่อเพิ่มรายได้ และลดการพึ่งพาการกู้เงิน แต่ไม่เห็นมีพรรคการเมืองไหนกล้าแตะประเด็นนี้เลย

พร้อมกันในวันที่ 10 เมษายน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็จะประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลงประมาณ 0.25-0.50% ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขความผิดพลาดเชิงนโยบาย (Policy Blunder) ของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การลดดอกเบี้ยครั้งนี้จะช่วยเสริมมาตรการทางการคลังที่กล่าวข้างต้นในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี แต่จะให้ดีกว่านี้ธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะต้องออกมาขอโทษประชาชนที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศเดือดร้อนจากความผิดพลาดของตนเอง

แผนงาน Ignite Tourism Thailand ของรัฐบาล ซึ่งได้ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ เริ่มปรากฏผลชัดเจนขึ้น เมื่อการท่องเที่ยวไทยเริ่มกลับมาคึกคักขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสแรก และคงจะคึกคักไปตลอดทั้งปี รัฐบาลไทยลงทุนด้านการท่องเที่ยวไปมากในรูปของรายได้จากค่าธรรมเนียมวีซ่าที่สูญเสียไป รายได้ภาษีสุราที่สูญเสียจากการลดอัตราจัดเก็บภาษีสุรา ดังนั้นต้องดูแลให้นโยบายการท่องเที่ยวเกิดผลสัมฤทธิ์และสร้างรายได้กลับคืนคลัง

เชื่อมั่นว่าด้วยการผสมผสานนโยบายการคลัง นโยบายการเงิน และนโยบายการท่องเที่ยวให้ไปในทิศทางเดียวกัน ปี 2567 นี้จะเป็นปีทองของการลงทุนไทยอย่างแน่นอน

‘จีน’ อวดจีดีพีไตรมาสแรก ปี 2024 โต 5.3% สะท้อนเศรษฐกิจแข็งแกร่ง-เปี่ยมด้วยศักยภาพ

(29 เม.ย. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวแกร่งในไตรมาสแรกของปี 2024 ชี้ถึงความแข็งแกร่งและความสามารถในการฟื้นตัวของจีน ตลอดจนการนำเสถียรภาพซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมาสู่ภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอน

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เผยว่าช่วงสามเดือนแรกของปี จีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของของจีนขยายตัวร้อยละ 5.3 จากปีก่อนหน้า เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 5.2 ในไตรมาสก่อนหน้า 

ในการประชุมโต๊ะกลมทางเศรษฐกิจแห่งประเทศจีน (China Economic Roundtable) รอบที่ 4 ซึ่งเป็นเวทีเสวนาที่จัดโดยสำนักข่าวซินหัว วิทยากรหลายท่านกล่าวว่าตัวเลขข้างต้นถือเป็น ‘การเริ่มต้นที่ดี’ พร้อมกล่าวว่าจีนเผชิญหน้ากับกระแสลมต้านทางเศรษฐกิจ ด้วยการผสานนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างรากฐานที่มั่นคงแก่เศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาที่ดีและมั่นคงในปี 2024

รายงานจากสำนักงานฯ ระบุว่า การเติบโตของจีดีพีจีนในไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการเติบโตโดยรวมที่ร้อยละ 5.2 ของปี 2023 และสูงกว่าเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ที่ตั้งไว้ที่ราวร้อยละ 5 และเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส เศรษฐกิจจีนในช่วงสามเดือนแรกของปีขยายตัวร้อยละ 1.6 ทั้งยังเติบโตติดต่อกันเป็นไตรมาสที่เจ็ด

นอกจากนี้ ดัชนีชี้วัดอื่น ๆ เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ปริมาณการค้าต่างประเทศ และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ล้วนชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก

ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เป็นดัชนีสำคัญที่บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวมสำหรับภาคการผลิตและบริการ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีรายงานการปรับปรุงดัชนีดังกล่าว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของภาคการผลิตกลับมาอยู่สูงกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกนับแต่เดือนกันยายน บ่งชี้ถึงการกลับมาขยายตัวของภาคส่วนนี้

ตัวเลขสถิติของไตรมาสแรก แสดงให้เห็นว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนมีทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ และก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพสูงและขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม 

จีนกำลังเปลี่ยนผ่านจากการผลิตแบบดั้งเดิมไปสู่ภาคส่วนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูง ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและอุตสาหกรรมสีเขียวและคาร์บอนต่ำอย่างจริงจัง ในไตรมาสแรกนี้ ภาคการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของจีนมีปริมาณการผลิตเติบโตร้อยละ 7.5 เร่งตัวขึ้นร้อยละ 2.6 จากไตรมาสก่อนหน้า

การลงทุนในอุตสาหกรรมการบิน ยานอวกาศและการผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.7 ช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม ขณะที่การผลิตหุ่นยนต์บริการและยานยนต์พลังงานใหม่เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 26.7 และ 29.2 ตามลำดับ

เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งผู้กำหนดนโยบายของจีนกล่าวไว้ว่าจะเป็นไปในลักษณะคล้ายลูกคลื่น เพราะจะมีการพลิกผัน เลี้ยวลด และยังไม่นิ่ง จีนจึงใช้นโยบายที่หลากหลายเพื่อมาหักล้างแรงกดดันขาลงและรับมือกับความท้าทายเชิงโครงสร้าง

จีนให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าใช้นโยบายการคลังเชิงรุกและนโยบายการเงินที่รอบคอบต่อไปในปีนี้ และได้ประกาศใช้มาตรการส่งเสริมการเติบโตหลายประการ อาทิ การออกพันธบัตรรัฐบาลพิเศษระยะยาว (Ultra-Long) และมีการจัดสรรเงินทุนเบื้องต้น 1 ล้านล้านหยวน ในปี 2024

เพื่อกระตุ้นการลงทุนและการบริโภค จีนเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าในการส่งเสริมการอัปเกรดอุปกรณ์ขนาดใหญ่และการนำสินค้าอุปโภคบริโภคเก่ามาแลกเป็นส่วนลดหรือแลกเป็นของใหม่

นอกจากนี้ จีนตั้งเป้าว่าปริมาณการลงทุนด้านอุปกรณ์ในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การก่อสร้าง การขนส่ง การศึกษา วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการให้บริการทางการแพทย์ จะเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 25 ภายในปี 2027 เมื่อเทียบกับปี 2023

เพื่อผลักดันการเปิดกว้างระดับสูงและปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น จีนประกาศใช้มาตรการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ 24 ข้อ เพื่อดึงดูดทุนต่างประเทศ และให้คำมั่นว่าจะปรับลดรายการกิจกรรมการลงทุนและกิจการต้องห้าม (Negative List) สำหรับบริษัทต่างชาติ รวมถึงเริ่มโครงการนำร่องต่าง ๆ เพื่อผ่อนคลายหลักเกณฑ์ในการเข้าสู่จีนของนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากต่างชาติ

จีนยังประกาศเพิ่มแรงจูงใจเชิงนโยบายอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนหลายธุรกิจ เช่น เศรษฐกิจสูงวัย สินเชื่อผู้บริโภค การจ้างงาน การพัฒนาสีเขียวและคาร์บอนต่ำ รวมไปถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ และผู้ประกอบกิจการขนาดเล็ก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top