Tuesday, 20 May 2025
เศรษฐกิจพอเพียง

'เลขาธิการ OIC' ชื่นชม 'ไทย' ผสานทุกศาสนาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ พร้อมเชิญแบ่งปันปรัชญา 'ศก.พอเพียง-วิถีเกษตร' ในแอฟริกา

(10 ส.ค. 66) ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายฮุซัยน์ บรอฮีม ฏอฮา (H.E. Mr. Hissein Brahim Taha) เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation: OIC) เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

นายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับเลขาธิการ OIC ในโอกาสเดินทางเยือนไทยครั้งแรกอย่างเป็นทางการ ว่า ไทยได้เชิญเลขาธิการ OIC เยือนไทยเป็นทางการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลและเข้าใจสถานการณ์ในไทยได้ดียิ่งขึ้น ประเทศไทยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการนับถือทุกศาสนาอย่างเท่าเทียม โดยมีการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างผู้คนทุกเชื้อชาติและศาสนา โดยชาวไทยมุสลิมสามารถแสดงออก และปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเสรี และที่ผ่านมาชาวมุสลิมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีชาวไทยมุสลิมหลายคนที่มีตำแหน่งระดับสูงในไทย

ด้านเลขาธิการ OIC กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสเยือนไทยในครั้งนี้ ซึ่งรัฐบาลและคนไทยให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมกล่าวชื่นชมไทยที่ให้เสรีภาพปฏิบัติศาสนกิจของทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน ที่ผ่านมา OIC ได้มีโอกาสไปเยือนชุมชนกุฎีจีน ซึ่งได้สำรวจพื้นที่และพบกับผู้คนจากทั้งศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม สะท้อนถึงการเป็นแบบอย่างในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม ขอชื่นชมนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไทยในการสร้างสันติสุขและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการประชุมของ OIC ในหลายโอกาสได้ชื่นชมความพยายามของรัฐบาลไทย รวมถึงกล่าวถึงประเทศไทยในเชิงบวกและสร้างสรรค์ 

จากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงประเด็นต่าง ๆ ประกอบการส่งเสริมความร่วมมือกับ OIC ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องขยายความร่วมมือในสาขาที่ไทยชำนาญและ OIC สนใจ ทั้งการทำการเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร สาธารณสุข ความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม และมาตรฐานสินค้าอาหารฮาลาล เป็นต้น 

ทั้งนี้ ไทยได้แต่งตั้งเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด ดำรงตำแหน่งผู้แทนถาวรไทยประจำ OIC หวังว่าจะช่วยขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทย - OIC ซึ่งเลขาธิการ OIC พร้อมให้การสนับสนุนผู้แทนถาวรไทยฯ เพื่อกระชับความร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ สำหรับสถานการณ์ของประเทศสมาชิก OIC ในภูมิภาคแอฟริกา นั้น OIC ให้ความสำคัญกับสมาชิก OIC ในภูมิภาคแอฟริกา โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการเกษตร พร้อมกล่าวเชิญชวนไทยมาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการพัฒนาและการเกษตร ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมบทบาทของเลขาธิการ OIC ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว 

ด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาสามฝ่ายระหว่างไทย OIC และแอฟริกา ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ซึ่งจะเป็นกลไกที่สำคัญต่อการเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์กับประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคแอฟริกา โดยนายกรัฐมนตรียินดีร่วมมือในสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ ทั้งด้านสาธารณสุข ความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์สามฝ่าย

โอกาสนี้ เลขาธิการ OIC เชิญไทยแบ่งปันความรู้ด้านการเกษตร และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับมิตรประเทศในภูมิภาคแอฟริกา เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

'ปราชญ์ สามสี' มองวิวัฒนาการ 'ตลกร้าย' ของ 'โน้ส-อุดม'  ความรุนแรงที่ทวีคูณ เพียงแค่ให้ 'ตนเอง-ผลงาน' ถูกพูดถึง

(5 พ.ค.67) จากเพจ 'ปราชญ์ สามสี' ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีดรามา 'โน้ส-อุดม' จากทอล์กโชว์เดี่ยวสเปเชียล ว่า...

มีคนเรียกร้องให้ผมพูดถึง คุณโน้ส อุดม แต้พานิช จากการเดี่ยวครั้งล่าสุด ที่กลายเป็นประเด็นดรามา โดยเฉพาะที่ไปพาดพิงความเป็นเด็กผู้ใหญ่รวมไปถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ผมว่าทั้งหมดนั้นมันเป็นเรื่องของ Gallows humor หรือที่แปลเป็นไทยว่า 'ตลกร้าย' นั่นแหละครับ

ข้าพเจ้าเลยจำเป็นที่ต้องออกมาพูดเรื่องของคุณโน้ส อุดม เพราะตลกร้ายของเขานั่นแหละครับ

ผมเชื่อว่าดรามาครั้งนี้จริงๆ...คุณโน้ส อุดม ก็อาจจะต้องการให้มันเกิดดรามา เพื่อชื่อเสียงของเขา เพราะตลกร้ายกระแนะกระแหนเสียดสีดูถูกเหยียดหยามเป็นสิ่งที่ไปกระตุ้นความรู้สึกให้เกิดอารมณ์สอดคล้องหรือต่อต้านกลายเป็นบทสนทนาทั้งหัวเราะทั้งร้องไห้ทั้งหมดนี้ก็เพื่อ Viral Content ครับ

แต่ผมว่าเขาไม่สนหรอกครับว่ามุกตลกของเขามันจะไปทำร้ายจิตใจใคร เหยียดหยามใครดูถูกใครเพราะสิ่งที่เขาต้องการก็เพียงแค่การถูกพูดถึง

Gallows humor เป็นรูปแบบหนึ่งของแนวสุขนาฏกรรม ที่ทำให้ประเด็นละเอียดอ่อนที่โดยทั่วไปถือเป็นเรื่องต้องห้ามให้กลายเป็นเรื่องตลกขบขัน โดยเฉพาะเรื่องที่ปกติถือว่าร้ายแรงหรือเจ็บปวดที่จะพูดคุย

นักแสดงตลกมักใช้เป็นเครื่องมือในการเสาะหาประเด็นหยาบคาย โดยกระตุ้นความไม่สบายใจ ความคิดรุนแรง และสร้างความสนุกสนานให้กับผู้ชม

ดังนั้นไม่แปลกครับที่คุณจะเริ่มรู้สึกว่าตลกร้ายของคุณโน้ส อุดมนั้นมันเริ่มไม่ตลก แล้วมันกลายเป็นการรังแกคนบนเวทีด้วยเอาคำพูดติฉินนินทาแซะกะแนะกระแหน แล้วมันเริ่มมากขึ้นทุกๆ ปี

ผมติดตามโน้สอุดมมาได้ตั้งแต่โน้ส อุดมครั้งที่ 1 เลยนะครับ แล้วผมก็ยังจำได้ว่าบนเวทีตูดหมึก ก็เคยประกาศว่าจะยุติบทบาท 

โดยบอกว่าเวทีครั้งนั้นจะเป็นเวทีครั้งสุดท้าย แต่นั่นไม่ใช่ความจริง เพราะหลังจากนั้นเขาก็ทำต่อมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

แม้ว่าโน้สอุดมจะมีวิธีการเล่าเรื่องมีเรื่องใหม่ๆ มาเล่าตลอดในทุกๆ ปี แต่สิ่งนึงที่มีทุกปีเหมือนเดิมทุกครั้งคือตลกร้ายที่ทวีคูณความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และในช่วงปีหลังๆ เริ่มจับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทางการเมืองและบุคคลสำคัญ

ประเด็นนี้เองที่ทำให้โน้ส ถูกจับตามองมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อสังคม และเริ่มถูกมองในมิติที่ชัดเจนมากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่นเรื่องของการโจมตีเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ที่เขาบอกเลยว่า เขาไม่ขอเป็นคนพอเพียงแล้วเพราะมันไม่เวิร์คสำหรับเขา

เขาบอกให้เข้าใจได้ว่า "มีแต่ผู้คนดัดจริตทำ..."

ทั้งๆ ที่ตัวเองตั้งชื่อบริษัทว่า พอดีจำกัด โคตรตลกร้ายนะครับ

เขาไม่เคยรู้เลยหรือว่า ตลกร้ายของเขานั้นกำลังให้ร้ายกับเรื่องที่พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งยอมสละทั้งชีวิตนับสิบๆ ปี เพื่อสร้างปรัชญาชีวิตให้ผู้คนสามารถอยู่รอดท่ามกลางภัยพิบัติทางเศรษฐกิจ สามารถทำให้ผู้คนอยู่ได้อย่างมั่นคง

แต่กลับถูกตลกร้ายทำลายคุณค่าดูหมิ่นเหยียดหยามเพลงเพราะมันไม่เวิร์คกับเขา ....

แน่สิเพราะว่าคุณโน้ส อุดม หากินบนตลกร้ายการเหยียดหยามผู้อื่นเพื่อบันเทิงผู้ชม โน้สอุดมเลยไม่เคยเข้าใจชีวิตที่ปกติสุข โดยไม่ทำร้ายผู้อื่นด้วยปาก

ผมไม่ได้หมายความว่าจะไปบังคับให้คุณโน้ส อุดมทำเศรษฐกิจพอเพียงหรือชื่นชมสิ่งเหล่านี้ เพราะมันก็จะเป็นเรื่องที่ดัดจริตเช่นกัน เพราะเขาเองก็บอกว่า เขาทำไม่ได้

แต่ตลกร้ายของเขาได้สร้างความรู้สึกให้ผู้ชมในเวลานี้ ว่าโน้สอุดมกำลังกลั่นแกล้งในหลวงรัชกาลที่ 9 จนเกินไปมันล้ำเส้นเกินความพอดีที่จะรับได้

ผมขอวิจารณ์คุณอุดมว่าเขากำลังเสพติดตลกร้ายของเขาเองที่เที่ยววิจารณ์ผู้อื่นจนลืมวิจารณ์ตัวเองที่เที่ยวกระแนะกระแหนผู้อื่นจนลืมดูรากเหง้าของตัวเอง 

เรียกว่าดังแล้วลืมความเป็นคน...
...ลืมว่าตัวเองเคยเป็นใคร

สำหรับข้าพเจ้าแล้วจุดที่โน้สอุดมได้รับความเมตตาจากผู้ชมมากๆ คือ ความกตัญญูต่อมารดา ความใกล้ชิดหยิกแก้มหยอกแซวนิดแซวหน่อย ผมว่าน่ารักอยู่ครับ

แต่ปัจจุบันคุณโน้สอุดมทำตัวเอาแม่มาหาแดกครับและเป็นอยู่อย่างนี้หลายครั้งหลายหนแล้ว มันเริ่มไม่น่ารักครับ

ครั้งล่าสุดเนี่ยโน้สอุดมก็เที่ยวไปบอกว่าให้คนแก่อยู่เฉยๆ พอให้เด็กมันกราบไหว้ได้สนิทใจเถอะ

นี่ไม่ใช่คำพูดของคนที่รู้จักความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณในบ้านแต่เป็นคำพูดของคนกร่างที่เชื่อว่าตัวเองจะชนะโลกใบนี้ด้วยสองมือสองแขนของตนเอง

นั่นไม่ใช่วิถีชีวิตที่ถูกต้องครับ

และขอบอกเลยว่า 'ลิซ่า' ไม่ใช่คนแบบนี้
ลิซ่าที่โด่งดังไปทั่วโลกเวลานี้
เขารู้จักครอบครัว
เขาก็ดูแลครอบครัวเขา
เขารู้จักประเทศของเขา
เขารู้ว่าที่ใดเป็นที่ของเขา
เขารู้อะไรควรทำให้คนทำ

อย่าเอาหลักคิดต่ำทรามไปชี้ว่า ศิลปินคนนั้นคนนี้เขามีพฤติกรรมเหมือนกับคุณ

สวัสดีครับ

‘อ.เดชา’ โพสต์เฟซกรณี ‘เดี่ยวสเปเชียล’ ชี้ ‘บูลลี่’ ผู้อื่น มอง!! ‘โน้ส’ ‘ไม่แก่แต่ก็ดัดยาก’ ไปไกลเกินกว่าจะเตือน

(6 พ.ค.67) อ.เดชา ศิริภัทร (หมอเดชา) เจ้าของสูตรน้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Deycha Siripatra เกี่ยวกับกรณี เดี่ยวสเปเชียล ของ โน้ส อุดม แต้พานิช โดยได้ระบุว่า

ได้อ่านข่าวเรื่อง ‘เดี่ยวสเปเชียล โน้ส อุดม’ ใน Netflix ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ ‘ความพอเพียง’
โดยโยงกับพฤติกรรมของดาราและอินฟลูเอนท์เซอร์บางคน ที่ลงมือทำ ‘เกษตรพอเพียง’
รวมทั้งท่าทีของคุณ โน้ส เกี่ยวกับเรื่องนี้ ด้วยคำพูดว่า "กูเป็นคนไม่รู้จักพอ" ก็รู้สึกปลง
คือต้องทำใจแล้วว่า คุณ โน้ส ไปไกล เกินกว่าจะเตือนสติด้วยเหตุผล หรือข้อเท็จจริงใดๆ
เข้ากับภาษิตที่ว่า "ไม้แก่ ดัดยาก" เพราะคุณโน้สนั้น แม้อายุยังไม่มาก แต่ก็ ดัดยากแล้ว

การแสดงเดี่ยว หรือทอล์คโชว์ของคุณโน้ส นั้น มีผู้ติดตาม เพราะมีความตลก 
เป็นการตลก ที่มีการใช้คำพูดเป็นหลัก มีผู้วิเคราะห์ว่า เป็นคำพูดประเภท Bully ผู้อื่น
คล้ายๆกับรรดา ตลกคาเฟ่ ที่ใช้วิธีการตลก ด้วยการทำร้ายผู้อื่น (เช่นใช้ถาดฟาดหัว)
ตัวอย่างการ ตลกแบบ Bully (ด้อยค่า) ผู้อื่นของคุณ โน้ส คือ ‘เอา รปภ.มาขับเครื่องบิน’
ซึ่งก็คือ การ Bully (ด้อยค่า) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น นั่นเอง

มาคราวนี้ คุณ โน้ส Bully (ด้อยค่า) ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และผู้ดำเนินตามปรัชญาฯ
และประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า "กูเป็นคนไม่รู้จักพอ" (แสดงความต่อต้านอย่างหยาบคาย)
คงพูดอย่างไม่อ้อมค้อมว่า คุณ โน้ส ไม่เข้าใจ ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ เลยแม้แต่น้อย
เช่นเข้าใจว่า พอเพียง คือรู้จักการบริหารทรัพยากร ให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด เป็นต้น

ในขณะที่ ความหมายตามพระราชดำรัส ร.9 คือ "... ทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะตัวเอง"
ยังไม่ต้องกล่าวถึง ต้นกำเนิดของ ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’" ว่ามาจาก ‘มรรค’
จึงเป็นทางสายกลาง ที่มุ่งไปสู่ความพ้นทุกข์ โดยเน้นที่ข้อสัมมาอาชีวะ ที่พอดี
หรืออีกชื่อคือ เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ ที่มิใช่มุ่งความร่ำรวย หรือไม่รู้จักพอ (โลภ)

จึงไม่แปลก ที่คนจำพวก ไม่รู้จักพอ อย่างคุณ โน้ส จะไม่เข้าใจ เศรษฐกิจพอเพียง
ไม่แปลกที่คุณ โน้ส จะเข้าใจและเชื่อ เศรษฐกิจแบบ ‘ชิตังเม โป้ง รวย’ ของวัดธรรมกาย
และเชื่อว่า เมื่อรวยแล้ว ไม่ต้องปฏิบัติธรรม ก็ใช้เงินซื้อตั๋วไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้ง่ายๆ
ผมจึงรู้สึกปลง และทำใจกับพฤติกรรมของคุณ โน้ส ได้ ตั้งนานแล้ว

‘หนุ่มโคราช’ ทิ้งงานประจำ หันมาทำ ‘เกษตรทฤษฎีใหม่’ เนรมิตที่ดิน 30 ไร่ จนสร้างรายได้ 3-5 แสนบาทต่อปี

(27 พ.ค. 67) ที่บ้านหนองสระธาร หมู่ที่ 10 ตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา นายปุณยวัจน์ ชาบุญเรือง หรือพี่เตี้ย อายุ 50 ปี ชาวบ้านหนองสระธาร หมู่ที่ 10 ตำบลด่านเกวียน อดีตพนักงานห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งใน กทม. ยอมสละเงินเดือนกว่า 25,000 บาท จากงานประจำที่ทำมานานกว่า 30 ปี กลับมาบ้านเกิดที่อำเภอโชคชัย เป็นเกษตรกรเต็มตัวเพื่อทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ จนประสบความสำเร็จ

นายปุณยวัจน์ ชาบุญเรือง เปิดเผยว่า เมื่อเรียนจบได้เข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขายในห้างสรรพสินค้าที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 20 ปี เมื่อแต่งงานมีครอบครัวจึงได้ย้ายกลับมาอยู่กับครอบครัวที่จังหวัดนครราชสีมาโดยยึดอาชีพเกษตรกร ตั้งแต่ ปี 2558 ได้เริ่มทำการเกษตรอย่างจริงจัง โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 30 ไร่ เน้นปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยว ได้แก่ ยูคาลิปตัส และ มันสำปะหลัง ทำนา 10 ไร่ประสบกับปัญหารายได้ไม่เพียงพอใช้จ่ายในช่วงที่ผลผลิตยังไม่เก็บเกี่ยว เนื่องจาก 1 ปี ขายผลผลิต 1 ครั้ง 

อีกทั้งประสบปัญหาเรื่องโรค-แมลง และภัยธรรมชาติ จึงเกิดการปรับความคิด ปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ และได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านโนนรัง อำเภอชุมพวง จ.นครราชสีมา จึงได้กลับมาปรับเปลี่ยนพื้นที่ของตนเองในการทำการเกษตรในรูปแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยขุดบ่อ 3 บ่อพื้นที่ 3 ไร่ ทำนา พื้นที่ 12 ไร่ ที่อยู่อาศัย, โรงสีข้าวพื้นที่ 2 ไร่ ปลูกไผ่กิมซุง พื้นที่ 1.5 ไร่ ปลูกพืชไร่ พื้นที่ 8 ไร่ ปลูกมะม่วง, มะนาว, มะขามเปรี้ยว, มะพร้าวน้ำหอม พื้นที่ 3 ไร่ ซึ่งการจัดสรรพื้นที่และการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำให้มีผลผลิตออกจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี และสามารถสร้างรายได้เป็นรายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี ไม่ว่าจะเป็น ถั่วลิสง พริก มะนาว มะขามเทศ หน่อไม้ ข้าวโพดหวาน มะม่วง มะพร้าว การแปรรูปปลา การแปรรูปหน่อไม้ ข้าวสาร พืชผักสมุนไพรพื้นบ้าน 

ทั้งนี้ การทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ของตนจะเน้นการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ทำให้มีความปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ (มูลแพะ,มูลไก่) ปุ๋ยหมัก น้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ และการไถกลบตอซังเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน การจำหน่ายผลผลิต ก็จำหน่ายด้วยตนเองโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะเดินทางมาจำหน่ายที่ตลาดสีเขียวหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ทุกวันศุกร์ ปัจจุบันตนเองจะรายได้เฉลี่ย 6,000 - 8,000 บาท ต่อสัปดาห์ หรือ 300,000 - 500,000 บาทต่อปี

นายปุณยวัจน์ ชาบุญเรือง เปิดเผยอีกว่า การทำการเกษตรจะประสบความสำเร็จจะต้องจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดการน้ำ ตนมีการขุดสระน้ำเพื่อเก็บน้ำในฤดูฝน ที่สามารถนำน้ำมาใช้ยามขาดแคลนได้ มีการขุดเจาะน้ำบาดาลและขุดลอกบ่อเก็บน้ำให้ลึกเพื่อให้สามารถเก็บน้ำได้ตลอดปี การจัดการดิน จะปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ เช่น การใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด การใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ และการไถกลบฟางข้าวในพื้นที่นา เป็นต้น 

จากการดำเนินการปรับปรุงดินที่ผ่านมาทำให้สภาพดินค่อย ๆ ดีขึ้น จากการสังเกตพบว่าดินมีความอ่อนตัวลงกว่าเดิม พืชต่าง ๆ สามารถเจริญเติบโตได้ดีขึ้นเรื่อยๆรวมทั้งการหาความรู้เพิ่มเติมเป็นสิ่งสำคัญ จำเป็นต้องมีการศึกษาดูงานและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้ที่มีประสบการทำงานหรือผู้ประสบความสำเร็จในด้านการประกอบอาชีพด้านการเกษตร และผ่านการอบรมในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่โดยการน้อมนำหลักการทำเกษตรแบบใหม่ตามศาสตร์พระราชา การทำเกษตรแบบพอเพียง เพื่อความยั่งยืนนำไปสู่ชีวิตที่มีความสุขอยู่ดีกินดีและมีครอบครัวที่เป็นสุข อบอุ่น และยั่งยืน

‘ทายาทยาหอมอยุธยา’ เปิดตัวสวมเสื้อ ‘พลังประชารัฐ’ โปรไฟล์ไม่ธรรมดา เคยลุยการค้า!! ในตลาดต่างประเทศ

(27 ก.ค.67) ประวิทย์ สุวรรณสัญญา คนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงวัย 30 ปี ได้มีความตั้งใจที่จะรับใช้ประเทศชาติ ล่าสุดได้ก้าวเข้าสู่ถนนสายการเมืองอย่างเต็มตัว ด้วยการเข้าร่วมกับ ‘พรรคพลังประชารัฐ’ พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ที่มุ่งมั่นจะทำงานเพื่อรับใช้พี่น้องประชาชน 

‘ประวิทย์ สุวรรณสัญญา’ เขาอาจจะเป็น ‘นักการเมืองหน้าใหม่’ แต่ในแวดวงของการทำธุรกิจแล้ว ‘เขาไม่ใช่มือใหม่’ แต่เขาคือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ โดยเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของ ‘ยาหอมตราเครื่องบินลูกโลก’ ที่วางจำหน่ายในตลาด มาอย่างยาวนานเกินกึ่งศตวรรษแล้ว

ในปัจจุบันตลาดยาไทยนั้น มียาหอมอยู่หลายตำรับ ‘ยาหอมตราเครื่องบินลูกโลก’ นั้นเป็นยาไทยที่คนทั่วไปมักจะคุ้นชิน และเรียกขานว่า ยาหอมเครื่องบิน (บางคนเรียกเรือบิน) 

ซึ่งคุณประวิทย์ ทายาทสายตรงของผู้ให้กำเนิด ‘ยาหอมตราเครื่องบินลูกโลก’ ก็ได้เผยว่า ยาหอมเครื่องบินลูกโลกนั้น เกิดขึ้นที่ อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อ 69 ปีที่แล้ว โดยนายเช็ง แซ่โค้ว หมอยาจีน ที่ตั้งใจนำสมุนไพรจีนมาผสมกับยาหอมไทย จึงเกิดยาหอมเครื่องบินลูกโลกขึ้นมา ผลิตและจำหน่ายภายใต้ บริษัท สุวรรณโอสถ (โค้วเตี่ยหมง) จำกัด

“หลายคนถามว่าทำไมถึงต้องใช้ตราเครื่องบิน เรื่องนี้เตี่ยผม นายอนันต์ สุวรรณสัญญา ทายาทรุ่นที่ 2 เล่าให้ฟังว่า สมัยท่านได้เริ่มช่วยนายเช็ง ช่วงแรก ๆ นั้น เตี่ยพูดเสมอว่า ‘โลโก้’ เป็นสิ่งสำคัญ และท่านเป็นคนที่ชื่นชอบในเครื่องบินเป็นอย่างมาก เพราะสามารถเดินทางได้ไปไกลทั่วโลก และสะดวกรวดเร็วกว่าเดินทางโดยเรือ ท่านจึงตั้งชื่อ เครื่องบินลูกโลก เพราะหวังอยากให้ยาของท่านได้ไปไกลทั่วโลก” คุณประวิทย์ เล่าให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจ

คุณประวิทย์ เล่าต่อว่า ปัจจุบันยาหอมตราเครื่องบินลูกโลก ได้รับความนิยมอย่างมากทั้งใน ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ยาดี ราคาไม่แพง มีติดตัวไว้ ดมก็สดชื่น ทานก็ชื่นใจ สามารถใช้ได้ทุกวัย ไม่เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น แต่มีความผูกพันกับยาไทย เพราะคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็ก จึงขออาสาสืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เป็นทายาทรุ่น 3 ที่จะต่อยอดและขยายตลาดยาหอม ไปยังไปต่างประเทศ

ซึ่งจะเริ่มจากประเทศเพื่อนบ้านก่อน เนื่องจากสมุนไพรไทย ได้รับการยอมรับอย่างสูงในต่างประเทศ และที่ผ่านมาก็มีการซื้อติดไม้ติดมือเป็นของฝากกันอยู่แล้ว โดยมีแผนปรับแพ็กเกจให้ดูน่าใช้ทันสมัยมากขึ้น แต่สูตรยังเป็นสูตรตำรับเดิม เนื่องจากได้รับการยอมรับกันอย่างแพร่หลาย

แต่กว่าจะถึงวันนี้ คุณประวิทย์ บอกว่า ช่วง พ.ศ. 2520 สมัยที่เตี่ยดูแลกิจการ เกิดไฟไหม้ร้านและยาเสียหายเกือบหมด เตี่ยใช้เวลาเป็นสิบปี กว่าจะยืนกลับมาได้ โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำงานให้หนัก ประหยัดมากขึ้น ท่านจึงมีวันนี้ได้

นอกจากยาหอมแล้ว คุณประวิทย์ ก็ยังทำยาสมุนไพรพ่นแก้ปวด ครีมนวดบรรเทาอาการปวด ซึ่งต่อยอดธุรกิจ มาจากยาหอม เพื่อตอบโจทย์กลุ่มวัยรุ่นที่อยู่หน้าจอมือถือนาน ๆ หรือคนวัยทำงาน พนักงานออฟฟิศ ที่ต้องนั่งทำงานจนเป็นออฟฟิศซินโดรม กลุ่มคนขับรถ รถรับจ้าง รถประจำทาง ซึ่งอาจจะมีอาการปวดเมื่อย จากการนั่งอยู่ในรถเป็นเวลานาน และรวมถึงกลุ่มนักกีฬาที่ต้องใช้ร่างกายอย่างหนักอยู่ตลอดเวลา

‘ยาไทย ภูมิปัญญาไทย ยาดีไม่แพ้ชาติใดในโลก’

นี่คือ วิสัยทัศน์อันกว้างไกล ของ ‘ประวิทย์ สุวรรณสัญญา’ นักธุรกิจหนุ่มคนรุ่นใหม่ ที่วันนี้มีความตั้งใจ ขออาสา ทำงานรับใช้ พี่น้องประชาชนทุกคน

จากเศรษฐกิจพอเพียงของ ร.9 สู่ ‘ลากอม - สวีเดน บทเรียนแห่งความพอดีของโลกตะวันออกและตะวันตก

(27 ม.ค. 68) ในปัจจุบันมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ชอบแอบอ้างแนวคิดสังคมนิยมของสวีเดนมาใช้เป็นเครื่องมือทางวาทกรรม โดยกล่าวหาว่าแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นสิ่งที่ไม่ทันสมัยและไม่สามารถอยู่ร่วมกับสังคมยุคใหม่ได้ แต่สิ่งที่พวกเขาเลือกจะมองข้าม คือรากฐานสำคัญของสวีเดนเองที่สะท้อนความพอเพียงอย่างชัดเจนผ่านแนวคิด "ลากอม" (Lagom) ซึ่งสอดคล้องอย่างมากกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ลากอม : พื้นฐานของความสมดุลในสังคมสวีเดน
"ลากอม" เป็นวิถีชีวิตของชาวสวีเดนที่มุ่งเน้นความพอดีในทุกด้าน ไม่มากไป ไม่น้อยไป ซึ่งถือเป็นหัวใจของความสำเร็จในระบบสังคมนิยมของสวีเดนเอง แนวคิดนี้ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการกระจายความมั่งคั่ง แต่ยังรวมถึงการใช้ชีวิตอย่างมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมและสิ่งแวดล้อม

คำว่า "ลากอม" (Lagom) มีรากฐานทางภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ซึ่งช่วยอธิบายว่าทำไมแนวคิดนี้จึงฝังรากลึกในชีวิตของชาวสวีเดนมาตั้งแต่โบราณ

รากของคำว่า "ลากอม" ต้นกำเนิดจากภาษาสวีเดนโบราณ คำว่า "ลากอม" มาจากคำว่า “laget om” ในภาษาสวีเดนยุคเก่า ซึ่งหมายถึง "รอบวง" หรือ "แบ่งปันในกลุ่ม" แนวคิดนี้เกิดจากประเพณีการแบ่งปันทรัพยากรในสังคมยุคก่อน เช่น เมื่อสมาชิกในชุมชนดื่มจากแก้วเดียวกัน ทุกคนจะต้องดื่มในปริมาณที่พอดี เพื่อให้ทุกคนในกลุ่มได้มีส่วนร่วมและได้รับอย่างเท่าเทียม

วิถีชีวิตในสังคมเกษตรกรรม ในอดีต สวีเดนเป็นสังคมเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติและทรัพยากรอย่างจำกัด การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ การใช้ชีวิตแบบ "ลากอม" จึงเกิดขึ้นจากความจำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น การเพาะปลูก การล่าสัตว์ และการเก็บเกี่ยวที่ต้องใช้วิจารณญาณและความพอดี

รากฐานทางจิตวิญญาณและศาสนา แนวคิด "ลากอม" ยังมีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดทางศาสนาคริสต์ในยุโรปเหนือ ซึ่งสอนเรื่องการหลีกเลี่ยงความโลภ (Greed) และการใช้ชีวิตอย่างมีสติ ชาวสวีเดนถูกปลูกฝังให้เชื่อว่าความสุขที่แท้จริงไม่ได้มาจากการสะสมทรัพย์สิน แต่คือการพอใจกับสิ่งที่ตนมี

การเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ธรรมชาติที่รุนแรงในสวีเดน เช่น ฤดูหนาวอันยาวนาน ทำให้คนในอดีตต้องวางแผนการใช้ทรัพยากรและสร้างสมดุลในชีวิต การไม่ใช้เกินความจำเป็นเป็นส่วนหนึ่งของการอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย

ลากอม : รากฐานในวัฒนธรรมร่วมสมัย
ในยุคปัจจุบัน แนวคิดลากอมยังคงมีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมสวีเดน โดยสะท้อนผ่านหลายด้านของชีวิต เช่น:

การออกแบบ (Design): สไตล์สแกนดิเนเวียนที่เรียบง่าย เน้นความพอดีและประโยชน์ใช้สอย
การทำงาน: วัฒนธรรมองค์กรในสวีเดนให้ความสำคัญกับการมีสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว
การบริโภค: การลดการใช้ทรัพยากรอย่างไม่จำเป็น และสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน
บทเรียนจากรากของลากอม สิ่งที่ลากอมสอนเราไม่ใช่แค่การใช้ชีวิตแบบพอประมาณ แต่ยังสอนเรื่อง การคำนึงถึงผู้อื่นและส่วนรวม ซึ่งเป็นแก่นสำคัญของการสร้างสังคมที่สมดุลและยั่งยืน การแบ่งปัน การใช้ชีวิตอย่างมีสติ และการเคารพทรัพยากรธรรมชาติ เป็นหัวใจของแนวคิดที่ช่วยให้ชาวสวีเดนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

ดังนั้น "ลากอม" ไม่ใช่แค่คำพูดหรือแนวคิดในตำรา แต่คือการปฏิบัติจริงที่เชื่อมโยงระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อสร้างชีวิตที่สมดุลและยั่งยืนทั้งในระดับบุคคลและสังคมโดยรวม

ตัวอย่างของลากอมในชีวิตประจำวันของชาวสวีเดน ได้แก่:

การบริโภคอย่างยั่งยืน : ชาวสวีเดนมุ่งเน้นการซื้อเฉพาะสิ่งที่จำเป็นและลดของเสีย
การทำงานสมดุลกับชีวิตส่วนตัว : มีการจัดเวลาเพื่อครอบครัวและสุขภาพจิต
ความรับผิดชอบต่อสังคม : ช่วยเหลือเพื่อนบ้านและสนับสนุนการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เศรษฐกิจพอเพียงและลากอม : เส้นทางที่มาบรรจบกัน
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีความคล้ายคลึงกับลากอมในหลายแง่มุม โดยเน้นการพึ่งพาตนเอง การวางแผนชีวิตที่ไม่เกินตัว และการสร้างความสมดุลในชีวิตและธรรมชาติ ความแตกต่างอยู่ที่เศรษฐกิจพอเพียงมีรากฐานจากสังคมเกษตรกรรมและการพัฒนาชุมชน ขณะที่ลากอมเน้นบริบทของสังคมเมืองที่พัฒนาแล้ว แต่ทั้งสองแนวคิดล้วนยึดหลักการเดียวกัน: ความพอดีเพื่อความยั่งยืน

คำเตือน : การบิดเบือนข้อเท็จจริง
สิ่งที่น่ากังวลคือ การที่บางกลุ่มพยายามแอบอ้างสวีเดนในแง่ของสังคมนิยม โดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อโจมตีเศรษฐกิจพอเพียง พวกเขาเลือกเน้นเฉพาะเรื่องของรัฐสวัสดิการ แต่กลับละเลยว่าความสำเร็จของสวีเดนนั้นมีรากฐานจากแนวคิดลากอมซึ่งส่งเสริมความพอเพียงในระดับปัจเจก

การละเลยลากอมในวาทกรรมนี้จึงเป็นการมองสวีเดนเพียงด้านเดียว โดยไม่เข้าใจว่าความยั่งยืนของประเทศนี้ไม่ได้มาจากการแจกจ่ายทรัพยากรเพียงอย่างเดียว แต่คือการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนรู้จักพอประมาณในทุกด้าน

บทสรุป
การยกเอาสวีเดนเป็นตัวอย่างในเรื่องระบบสังคมนิยม จำเป็นต้องเข้าใจถึงรากฐานทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวสวีเดน ซึ่งสะท้อนผ่านแนวคิดลากอม แนวคิดนี้ไม่ได้ต่างจากเศรษฐกิจพอเพียงของไทยในแก่นแท้ หากเราเปิดใจเรียนรู้และมองสิ่งเหล่านี้อย่างสมดุล จะพบว่าทั้งสองแนวคิดล้วนชี้ให้เราเห็นถึงความสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างพอดีและรับผิดชอบ

"ความพอเพียงไม่ได้ถูกผูกขาดโดยชนชั้นหรือชาติใด แต่คือความจริงที่ทุกสังคมควรเรียนรู้และยึดถือร่วมกัน"

‘ศุภชัย’ ยก ศาสตร์พระราชา-เศรษฐกิจพอเพียง Soft Power ที่แท้จริง ย้ำหลัก 'พอเพียง รู้เท่าทัน มีภูมิคุ้มกัน' เป็นสูตรการพัฒนาที่ยั่งยืน

‘ดร.ศุภชัย‘ ยกศาสตร์พระราชา เศรษฐกิจพอเพียงคือ Soft Power ที่แท้จริงของไทย พร้อมย้ำหลัก 'พอเพียง รู้เท่าทัน มีภูมิคุ้มกัน' เป็นสูตรการพัฒนาที่ยั่งยืนที่โลกยอมรับ

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษฐานเศรษฐกิจ เกี่ยวกับการผลักดัน Soft Power โดยเห็นว่า Soft Power ที่แท้จริงและทรงพลังของไทยไม่ใช่เพียงแค่มวยไทย หรืออาหารไทย แต่คือศาสตร์พระราชาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้รับการยอมรับในเวทีระดับโลก

"หัวใจของ Sustainable Development คือ Sufficiency Economy ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 นี่คือ Soft Power ของไทยที่แท้จริง" ดร.ศุภชัย กล่าว

ปรัชญานี้ได้รับการยอมรับจากองค์การนานาชาติ โดยเฉพาะในเวทีสหประชาชาติ ในช่วงที่เป็นเลขาธิการ UNCTAD ได้พยายามผลักดันหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเวทีการประชุมระดับโลกมาอย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นว่าหัวใจของเศรษฐกิจที่ยั่งยืนคือเศรษฐกิจพอเพียง และก็ได้รับการยอมรับในระดับโลก โดยเฉพาะการที่สหประชาชาติยกย่องให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวัน World Soil Day หรือวันดินโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับในความเชี่ยวชาญของไทยในเวทีระดับโลก

"ความรู้เรื่องดินของเรามาจากพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เรานี่ที่หนึ่งในโลกเลย บางประเทศในแอฟริกาก็เคยมาขอให้ไทยไปช่วย" ดร.ศุภชัย กล่าว

นิยาม Soft Power ที่แท้จริงดร.ศุภชัย กล่าวว่าความหมายที่แท้จริงของ Soft Power 'Soft Power' คือการที่คุณมีอำนาจที่ไปหว่านล้อมคนอื่นได้ โดยที่คุณไม่ต้องใช้อะไรไปบังคับเขา ในขณะที่มวยไทย อาหารไทย และวัฒนธรรมบันเทิงอื่น ๆ เป็นส่วนที่ดีในแง่ของความสร้างสรรค์ (Creative) แต่ Soft Power ที่แท้จริงของไทยคือค่านิยม ปรัชญา และองค์ความรู้ที่คนไทยมี โดยเฉพาะหลักการ 'พอเพียง รู้เท่าทัน มีภูมิคุ้มกัน' ซึ่งเป็นสูตรของพระราชาชาวนาที่ควรได้รับการเผยแพร่ในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น

"คนไทยเรามี 'สูตรของพระราชาชาวนา' ศาสตร์พระราชาของเรานี่เอง 'พอเพียง รู้เท่าทัน มีภูมิคุ้มกัน' อันนี้คือสิ่งที่เราต้องขยายออกไปให้มาก" ดร.ศุภชัย กล่าว

ดร.ศุภชัย ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการวัดความสำเร็จทางเศรษฐกิจว่าไม่ควรยึดติดเพียงตัวเลข GDP เพียงตัวเดียว เพราะการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไม่ใช่ตัวเลขตัวเดียวในการวัดการพัฒนา ตัวเลขการเติบโตที่สำคัญที่สุดคือการเติบโตของรายได้กลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด 40% ของประเทศ

ล่าสุดขององค์การสหประชาชาติไม่ได้ใช้ GDP เป็นตัวชี้วัดหลักในการประเมินความสำเร็จทางเศรษฐกิจอีกต่อไป เพราะ GDP ไม่ได้รวมหลายปัจจัยสำคัญ เช่น เศรษฐกิจนอกระบบ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และงานบ้านที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน

ดัชนีชี้วัดการพัฒนาที่สำคัญมันอยู่ที่ Social Indicator อย่างเช่นการศึกษาของเด็กเป็นยังไง ซึ่งสะท้อนแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ให้ความสำคัญกับมิติทางสังคมและการพัฒนามนุษย์ด้วย

การผสมผสานระหว่างหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเป็นทางออกสำหรับประเทศไทยและโลกในการรับมือกับความท้าทายในอนาคต และนี่คือ Soft Power ที่แท้จริงของไทยที่ควรได้รับการส่งเสริมและเผยแพร่สู่เวทีโลก

‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ใช่เพียงคำนิยาม แต่คือรากที่มั่นคงของแผ่นดิน หลายนโยบายรัฐบาลเหมือนต้นไม้ที่ไร้รากไม่ก่อประโยชน์อย่างแท้จริง

ในโลกที่ทุกอย่างดูเร่งรีบเหมือนกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว เราอาจคิดว่าเงินที่รัฐแจกให้เด็กอายุ 16-20 ปีนั้นเป็นเหมือนเรือที่ช่วยให้พวกเขาพ้นจากการจมน้ำ หรือการที่รัฐบาลใช้ภาษีซื้อหนี้ให้ประชาชนก็เหมือนลมหายใจใหม่ให้คนที่ติดบ่วงหนี้สิน ส่วนคาสิโนที่กำลังจะตั้งก็ดูเหมือนเส้นทางใหม่ของเศรษฐกิจ แต่ถ้าเรามองให้ลึกกว่านั้น เราอาจพบว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้ต้นไม้ของสังคมเติบโต หากแต่กำลังทำให้รากของมันลอยจากพื้นดิน

1. เงินแจก – รากที่ไม่ได้หยั่งลงดิน

เงินแจกให้เด็กวัยรุ่น ฟังดูเหมือนโอกาส แต่แท้จริงแล้วมันอาจเป็นกับดักที่ทำให้พวกเขาเคยชินกับการได้รับโดยไม่ต้องสร้าง การมีเงินใช้โดยไม่ต้องออกแรง อาจทำให้พวกเขาเข้าใจผิดว่าโลกนี้มีแต่ 'การให้' โดยไม่ต้อง 'แลกเปลี่ยน' เหมือนต้นไม้ที่เติบโตด้วยน้ำฝนที่หยดลงมาตลอดโดยไม่ต้องหยั่งรากลงไปดูดซับจากดิน ท้ายที่สุด เมื่อฝนหยุดตก ต้นไม้นั้นก็จะยืนต้นตาย เพราะไม่เคยมีรากของตัวเอง

2. รัฐล้างหนี้ – สร้างคนที่ไม่ต้องรับผลจากการกระทำของตน

เมื่อรัฐบาลใช้เงินภาษีของทุกคนไปซื้อหนี้ให้คนที่ก่อหนี้ ความรับผิดชอบในการบริหารชีวิตก็ถูกทำให้จางลง มันเหมือนการที่คนหนึ่งใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย แต่กลับมีคนอีกกลุ่มต้องมาช่วยจ่ายค่าใช้จ่ายให้ ถ้าเราเปรียบเทียบกับธรรมชาติ นี่ก็เหมือนกับฝูงนกที่ไม่ต้องบินหาอาหารเอง เพราะมีคนมาโยนเศษขนมให้ทุกวัน เมื่อถึงเวลาที่คนหยุดให้อาหาร นกเหล่านั้นก็ไม่สามารถเอาตัวรอดได้ เพราะพวกมันไม่เคยต้องหาอาหารเอง

3. คาสิโน – เมืองมายาที่ดูเหมือนทองคำแต่เต็มไปด้วยโคลน

คาสิโนฟังดูเป็นแหล่งเงินหมุนเวียนใหม่สำหรับเศรษฐกิจ แต่แท้จริงแล้วมันเป็นเศรษฐกิจแบบ 'มายา' คือเงินไม่ได้ถูกสร้างจากผลผลิตที่แท้จริง แต่เป็นการหมุนเงินผ่านการพนันและความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ของผู้คน คนรวยยิ่งรวยขึ้น คนจนยิ่งหมดตัว เหมือนแมลงเม่าที่บินเข้ากองไฟ มันให้แสงสว่าง แต่เป็นแสงที่เผาผลาญทุกอย่างโดยที่พวกมันไม่รู้ตัว

เศรษฐกิจพอเพียง – รากที่มั่นคงของแผ่นดิน

เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่แค่เรื่องของการใช้ชีวิตเรียบง่ายหรือประหยัดเงิน แต่มันคือหลักของ “ความเข้าใจในสัจธรรมของชีวิต” เงินไม่ใช่ของที่ตกจากฟ้าแบบไม่มีที่มา การมีต้องมาจากการสร้าง ผลต้องมาจากการลงแรง ถ้ารัฐสร้างคนให้คุ้นชินกับการได้มาโดยไม่ต้องแลกเปลี่ยน แทนที่จะแก้ปัญหา มันจะกลับทำให้คนรุ่นใหม่อ่อนแอลง ตัดรากถอนโคนการพัฒนาตัวเอง และเมื่อถึงวันที่ต้องเผชิญชีวิตจริง ไม่มีรัฐบาลที่คอยแจกอีกต่อไป พวกเขาจะหลงทางและไม่มีความสามารถในการตั้งตัว

เศรษฐกิจที่แท้จริงต้องเหมือนต้นไม้
มันต้องมีรากหยั่งลึก มีกิ่งก้านแผ่กว้าง และออกผลที่เกิดจากกระบวนการเติบโตตามธรรมชาติ ถ้าเราหลงเชื่อในเงินที่ลอยมาจากฟ้า เราจะเหมือนต้นไม้ที่ไร้ราก พอพายุมา ทุกอย่างก็พังทลาย

สุดท้ายแล้ว เราต้องเลือกเอง ว่าจะเป็นต้นไม้ที่มีรากมั่นคง หรือเป็นเพียงเศษใบไม้ที่ปลิวไปตามลม

‘เกลือ เป็นต่อ’ โพสต์เฟซ!! หลังทัวร์ลง!! จากเหตุ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ มอบ ‘คอร์สปรับพฤติกรรม’ ให้เกรียนคีย์บอร์ด พร้อมอนุโมทนาให้เจริญขึ้น

(23 มี.ค. 68) จากกรณีที่นายกิตติ เชี่ยววงศ์กุล หรือที่รู้จักในชื่อ ‘เกลือ เป็นต่อ’ ได้โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลว่า “ทีนี้เด็กๆ เห็นความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกันรึยังลูก?” จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยมีสื่อและเพจบางเพจนำข้อความดังกล่าวไปเผยแพร่ เรียกกระแสทัวร์จากผู้ที่ไม่เห็นด้วยเข้ามาคอมเมนต์โจมตีอย่างดุเดือด ถึงขั้นมีการใช้ถ้อยคำหยาบคาย

ความคืบหน้าล่าสุด นายกิตติ ได้ออกมาตอบกลับผ่านคอมเมนต์ใต้โพสต์ของตัวเอง โดยระบุว่า…

“ผ่านเวลามาประมาณสองวันแล้วคิดว่าคนที่อยากจะเข้ามาแสดงความคิดเห็นคงจะหมดลงแล้ว บางท่านเห็นด้วย บางท่านไม่เห็นด้วย ผมก็ได้อ่านบ้าง แต่ข้อความทั้งหมดส่วนใหญ่ก็จะมีอีกทีมอ่าน ผมจึงมีเรื่องอยากจะพูดคุยกับทุกท่านโดยแบ่งเป็นสามกลุ่มดังนี้ 

1.กลุ่มคนที่เห็นคุณค่า และเข้าใจความหมายของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผมดีใจและชื่นชมเป็นอย่างมากที่ได้เห็นทุกคนมาช่วยกันให้ข้อมูลความรู้นี้ แก่บุคคลที่อาจจะยังไม่เข้าใจให้ได้เข้าใจความหมายและคุณค่าของเศรษฐกิจพอเพียง พวกท่าน่ารักและมีจิตใจดีมากครับ และผมเชื่อว่าในการดำเนินชีวิตต่อไปของท่าน จะเป็นการการันตีได้ว่าท่านจะมีภูมิคุ้มกันที่ดีในชีวิต และสามารถผลิตและรับความสุขกับทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวได้อย่างแน่นอน

2.กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย และพยายามเข้ามาโต้แย้ง แสดงทัศนคติของท่าน แต่ยังใช้ถ่อยคำสุภาพ ผมก็จะบอกท่านว่าการที่ท่านไม่เชื่อ ไม่เห็นด้วย ก็แล้วแต่ตัวท่านเช่นกัน เพราะการที่ท่านจะชื่อสิ่งใดหรือไม่เชื่อสิ่งใด ประโยชน์อยู่ที่ตัวท่านไม่ใช่ตัวผม ถ้าทัศนคติแบบนี้ทำให้ท่านมีความสุขในสังคม ไม่ร้อนรุ่มเที่ยวเกลียดชังใคร มองโลกและปัญหาอย่างมีความสุข ก็ตามสบายได้เลย และบุคคลประเภทชอบมาตั้งคำถามให้ผม หรือบุคคลอื่นพยายามตอบ โดยคำถามนั้นท่านไม่ได้ต้องการคำตอบจริงๆ(ซึ่งท่านก็รู้อยู่แก่ใจว่าท่านคิดสิ่งใดอยู่ เราทุกคนก็รู้เช่นกันว่าตอบท่านไปก็เปล่าประโยชน์) ก็ต้องบอกว่า พวกเราไม่ใช่ครูบาอาจารย์ของท่าน ท่านควรจะหาความรู้ด้วยตัวเอง ตั้งคำถามและโต้แย้งให้ตัวเองให้เป็นจะได้ไม่เดือดร้อนกับผู้อื่น ฉะนั้นนี้คือเหตุผลที่ผมจะไม่ตอบคำถามใดๆกับท่าน แต่ก็ขอบคุณที่ยังมีความสุภาพครับ

3.เอาล่ะถึงกลุ่มสุดท้าย เป็นกลุ่มที่อยากจะคุยด้วยมากที่สุด การที่ท่านไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ผมเขียนนั้น ความคิดของผมให้ไปอ่านที่ข้อ2. แต่การที่ท่านใช้วาจาสอดเสียด รุนแรงด่าทอ หรือแม้กระทั่งการพยายามทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงนั้น(ใครไม่ได้ทำตามนี้ไม่ต้องร้อนตัวกันนะครับ) เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และผิดกฏหมาย ฉะนั้นผมขอมอบโอกาสนี้ในการมอบคอร์สการปรับพฤติกรรม(ด้วยสิ่งไม่พึงพอใจ) มันจะเป็นอย่างนี้นะครับ เดี๋ยวจะมีซองๆนึงส่งไปหาท่านที่บ้าน เนื้อความคงจะประมาณว่าเชิญท่านมา เพื่อจะให้ท่านมาร่วมทำบุญด้วยกัน เงินนี้ผมจะนำไปทำบุญซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน ซึ่งต้องใช้เงินมากประมาณนึงเลยทีเดียวฉะนั้นท่านอ่านจะต้องช่วยเหลือผมมากหน่อยนะครับ หวังว่าการมอบสิ่งไม่พึงพอใจครั้งนี้ จะสามารถปรับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของท่านได้ หากท่านคิดได้ ผมก็ขออนุโมทนา ให้บุญกุศลนี้ส่งผลให้ท่านเจริญยิ่งขึ้นไป หากท่านยังคิดไม่ได้ถึงแม้ว่าผมได้มอบบทเรียนนี้แก่ท่าน ก็ไม่เป็นไรครับ เพราะเราทำบุญร่วมกันไปแล้ว ผมก็คงจะได้มอบบทเรียนแก่ท่านได้อีกในชาติถัดไป

ส่วนใครที่กลับตัวกลับใจได้ ก็พิมพ์ข้อความมาขอโทษที่ใต้โพสนี้นะครับ จะถือว่ายกเว้นให้ ส่วนใครที่พยายามจะลบข้อความก็ต้องบอกว่าได้มีทีมพยายามเก็บข้อมูลทั้งหมดไว้แล้วถ้าท่ารอดได้ ก็ถือว่าแต้มบุญท่านสูงมาก

ส่วนทุกท่านที่อยู่ในที่นี้มีใครอยากจะร่วมทำบุญกับผมครั้งนี้ ก็สามารถทำบุญร่วมกันได้นะครับ เดี๋ยวผมจะแปะข้อมูลทั้งหมดไว้ด้านล่าง เมื่อได้รับข้อความนี้แล้ว เชิญกล่าวอนุโมทนาด้วยกันเทอญ สาธุ!!

เดินหน้าแผนพัฒนาเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง ตั้งแต่ปี 2009 ลดการนำเข้าสินค้าและอาหาร สู่ความมั่นคงที่ยั่งยืน

(26 มี.ค. 68) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า รัสเซียได้เริ่มดำเนินแผนพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (Self-sufficient economy) ตั้งแต่ปี 2009 โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการลดการพึ่งพาการนำเข้าอาหารและสินค้าภาคการผลิตที่สำคัญตามรายงานจากสำนักวิจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ สแตรทฟอร์ (Stratfor)

แผนเศรษฐกิจพอเพียงของรัสเซียเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่ประเทศได้เผชิญกับผลกระทบจากการคว่ำบาตรระหว่างประเทศและความตึงเครียดทางการค้ากับชาติตะวันตก โดยรัฐบาลรัสเซียมุ่งหวังที่จะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจภายในประเทศและลดการพึ่งพาภายนอกเพื่อเสริมสร้างอำนาจและอิทธิพลของตนเองในเวทีโลก

การพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงนี้เน้นที่การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากต่างประเทศ โดยรัสเซียได้เพิ่มการลงทุนในภาคเกษตรกรรมและส่งเสริมการผลิตภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ รัสเซียยังได้พยายามพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคการผลิตเพื่อทดแทนสินค้านำเข้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมหนัก, ยานยนต์ และเทคโนโลยี

สแตรทฟอร์ รายงานว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่เครมลินดำเนินการเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจที่ไม่พึ่งพิงจากการนำเข้าหรือการคว่ำบาตรจากชาติอื่นๆ และเพื่อให้รัสเซียสามารถดำเนินการได้อย่างมีอิสระในระดับภูมิภาคและโลก

การพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียงของรัสเซียได้รับการสนับสนุนจากหลายกลุ่มภายในประเทศ รวมถึงการส่งเสริมและปรับปรุงนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมท้องถิ่น ขณะที่รัฐบาลรัสเซียยังคงพยายามเสริมสร้างการค้าภายในประเทศและเปิดตลาดการค้ากับพันธมิตรที่ไม่เกี่ยวข้องกับการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ รายงานของ สแตรทฟอร์ ระบุอีกว่าแนวทางนี้ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจรัสเซียในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะมีความท้าทายทางเศรษฐกิจและการเมืองจากการพึ่งพาแหล่งพลังงานเป็นหลัก แต่การพัฒนาเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเองในด้านอื่นๆ ก็เริ่มเห็นผลในบางภาคส่วน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top