‘ศุภชัย’ ยก ศาสตร์พระราชา-เศรษฐกิจพอเพียง Soft Power ที่แท้จริง ย้ำหลัก 'พอเพียง รู้เท่าทัน มีภูมิคุ้มกัน' เป็นสูตรการพัฒนาที่ยั่งยืน

‘ดร.ศุภชัย‘ ยกศาสตร์พระราชา เศรษฐกิจพอเพียงคือ Soft Power ที่แท้จริงของไทย พร้อมย้ำหลัก 'พอเพียง รู้เท่าทัน มีภูมิคุ้มกัน' เป็นสูตรการพัฒนาที่ยั่งยืนที่โลกยอมรับ

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษฐานเศรษฐกิจ เกี่ยวกับการผลักดัน Soft Power โดยเห็นว่า Soft Power ที่แท้จริงและทรงพลังของไทยไม่ใช่เพียงแค่มวยไทย หรืออาหารไทย แต่คือศาสตร์พระราชาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้รับการยอมรับในเวทีระดับโลก

"หัวใจของ Sustainable Development คือ Sufficiency Economy ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 นี่คือ Soft Power ของไทยที่แท้จริง" ดร.ศุภชัย กล่าว

ปรัชญานี้ได้รับการยอมรับจากองค์การนานาชาติ โดยเฉพาะในเวทีสหประชาชาติ ในช่วงที่เป็นเลขาธิการ UNCTAD ได้พยายามผลักดันหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเวทีการประชุมระดับโลกมาอย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นว่าหัวใจของเศรษฐกิจที่ยั่งยืนคือเศรษฐกิจพอเพียง และก็ได้รับการยอมรับในระดับโลก โดยเฉพาะการที่สหประชาชาติยกย่องให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวัน World Soil Day หรือวันดินโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับในความเชี่ยวชาญของไทยในเวทีระดับโลก

"ความรู้เรื่องดินของเรามาจากพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เรานี่ที่หนึ่งในโลกเลย บางประเทศในแอฟริกาก็เคยมาขอให้ไทยไปช่วย" ดร.ศุภชัย กล่าว

นิยาม Soft Power ที่แท้จริงดร.ศุภชัย กล่าวว่าความหมายที่แท้จริงของ Soft Power 'Soft Power' คือการที่คุณมีอำนาจที่ไปหว่านล้อมคนอื่นได้ โดยที่คุณไม่ต้องใช้อะไรไปบังคับเขา ในขณะที่มวยไทย อาหารไทย และวัฒนธรรมบันเทิงอื่น ๆ เป็นส่วนที่ดีในแง่ของความสร้างสรรค์ (Creative) แต่ Soft Power ที่แท้จริงของไทยคือค่านิยม ปรัชญา และองค์ความรู้ที่คนไทยมี โดยเฉพาะหลักการ 'พอเพียง รู้เท่าทัน มีภูมิคุ้มกัน' ซึ่งเป็นสูตรของพระราชาชาวนาที่ควรได้รับการเผยแพร่ในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น

"คนไทยเรามี 'สูตรของพระราชาชาวนา' ศาสตร์พระราชาของเรานี่เอง 'พอเพียง รู้เท่าทัน มีภูมิคุ้มกัน' อันนี้คือสิ่งที่เราต้องขยายออกไปให้มาก" ดร.ศุภชัย กล่าว

ดร.ศุภชัย ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับการวัดความสำเร็จทางเศรษฐกิจว่าไม่ควรยึดติดเพียงตัวเลข GDP เพียงตัวเดียว เพราะการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไม่ใช่ตัวเลขตัวเดียวในการวัดการพัฒนา ตัวเลขการเติบโตที่สำคัญที่สุดคือการเติบโตของรายได้กลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด 40% ของประเทศ

ล่าสุดขององค์การสหประชาชาติไม่ได้ใช้ GDP เป็นตัวชี้วัดหลักในการประเมินความสำเร็จทางเศรษฐกิจอีกต่อไป เพราะ GDP ไม่ได้รวมหลายปัจจัยสำคัญ เช่น เศรษฐกิจนอกระบบ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และงานบ้านที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน

ดัชนีชี้วัดการพัฒนาที่สำคัญมันอยู่ที่ Social Indicator อย่างเช่นการศึกษาของเด็กเป็นยังไง ซึ่งสะท้อนแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ให้ความสำคัญกับมิติทางสังคมและการพัฒนามนุษย์ด้วย

การผสมผสานระหว่างหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเป็นทางออกสำหรับประเทศไทยและโลกในการรับมือกับความท้าทายในอนาคต และนี่คือ Soft Power ที่แท้จริงของไทยที่ควรได้รับการส่งเสริมและเผยแพร่สู่เวทีโลก