Saturday, 19 April 2025
เฉลิมชัยศรีอ่อน

‘สมาชิกปชป.’ ลาออกอีกคน!! ยก 3 เหตุผลฟาด ‘เฉลิมชัย’ ใช้เงินเปลี่ยนอุดมการณ์-ตระบัดสัตย์-สร้างความแตกแยก

(11 ธ.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คนที่ 9 ปรากฏว่ามีสมาชิกจำนวนหนึ่งได้แสดงความจำนงขอลาออกจากสมาชิกพรรค เช่น นายวิบูลย์ ศรีโสภณ ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ตลอดชีพตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.2541 โดยในหนังสือระบุถึงสาเหตุขอลาออก ว่า

1.อุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนไป เน้นใช้เงินสร้างพรรคและสส.ในสมาชิกพรรค
2.หัวหน้าพรรคตระบัดสัตย์ ไม่รักษาคำพูด ไม่สามารถให้การเคารพได้อีกต่อไป
3.หัวหน้าพรรคสร้างทัศนคติให้สส.ในพรรคขาดความเคารพ กระด้างกระเดื่องกับอดีตหัวหน้าพรรค สร้างความแตกแยกในพรรค ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนตลอด 77-78 ปี

‘ประชาธิปัตย์’ จัดใหญ่เนื่องในโอกาส ก่อตั้งพรรคครบรอบ 78 ปี ‘เฉลิมชัย’ ลั่น พร้อม ‘ปรับตัว-เปลี่ยนแปลง’ สื่อสารให้ถึงประชาชน

(6 เม.ย. 67) พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) จัดงานเนื่องในโอกาสวันก่อตั้งพรรคครบรอบ 78 ปี ย่างเข้าสู่ปีที่ 79 โดยในช่วงเช้าจัดพิธี 3 ศาสนา โดยเริ่มจากพิธีทางศาสนาอิสลาม จากนั้นทำพิธีพราหมณ์เพื่อบวงสรวงพระแม่ธรณีบีบมวยผม ที่เป็นสัญลักษณ์ของพรรค ต่อด้วยการประกอบพิธีทางศาสนาพุทธ โดยทางพรรคได้นิมนต์สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี หรือ 'สมเด็จธงชัย' ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เป็นองค์ประธานเจริญพระพุทธมนต์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศภายในงานยังคงคึกคักเช่นปีที่ผ่าน ๆ มา มีแกนนำพรรคเข้าร่วมงาน อาทิ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรค นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ นายสุทัศน์ เงินหมื่น นายอลงกรณ์ พลบุตร นายนริศ ขำนุรักษ์ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ นายราเมศ รัตนะเชวง เป็นต้น รวมถึงบรรดาสส.ปัจจุบัน อดีต สส. ตลอดจนสมาชิกพรรคที่เดินทางมาจากทั่วทั้งประเทศ

นอกจากนั้นยังมีบรรดาศิษย์เก่า ของพรรค ได้เดินทางมาร่วมอวยพรและให้กำลังใจ อาทิ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ นายอันวาร์ สาและ อดีตสส.ปัตตานี สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า เป็นต้น

อีกยังมีตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย นำแจกันดอกไม้มาร่วมอวยพรด้วย นำโดยนายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรค นายภราดรปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง รองหัวหน้าพรรค และน.ส.แนน บุณยธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี และโฆษกพรรค ตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐ นำโดยนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคฯ และยังมีนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ รวมเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาร่วมอวยพรด้วย

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคปชป. ให้สัมภาษณ์เนื่องในโอกาสพรรคปชป. เข้าสู่ปีที่ 79 ว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงลำดับแรกเลยการมีประสบการณ์เพิ่มมากขึ้นอีก 1 ปี พูดได้เต็มปากว่าพรรคของเราเป็นสถาบันทางการเมืองอยู่คู่กับประเทศไทยไปอีกนาน จึงต้องปรับตัว และอีกสิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจนที่สุด คือความสดใส ที่สำคัญ พรรคตั้งศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการสื่อสาร ซึ่งถือว่าหัวใจของการเปลี่ยนแปลง และเป็นการเปิดโลกให้ปชป. ในแง่การสื่อสารถึงประชาชน นำเสนอสิ่งต่าง ๆ ถึงสังคม

เมื่อถามว่าจะมีศิษย์เก่ากลับเข้าพรรค นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ขอให้รอดูที่การประชุมใหญ่พรรคปชป. ช่วงปลายเดือนเม.ย.นี้ ในการแก้ไขข้อบังคับพรรค เพื่อเปิดกว้างให้กับคนรุ่นใหม่ พร้อมสร้างความมั่นใจว่าพรรคจะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

ถามถึงการปรับครม. ที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวพรรคปชป. จะเข้าร่วมรัฐบาล นายเฉลิมชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องถามนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง เพราะเป็นอำนาจของท่าน และก็ควรต้องบอกให้ชัดเจนว่าใครพูดกับใคร ที่ไหน ไม่เช่นนั้นพรรคปชป.เสียหาย ถ้าไม่ใช่อย่าพูด การพูดในสิ่งที่ไม่ชัดเจน ไม่ดีกับทุกฝ่าย

ถามย้ำว่าอาจมีสมาชิกของพรรคแอบไปพูดคุยหรือไม่ หัวหน้าพรรคปชป. กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ตนไม่เคยคุยเรื่องร่วมรัฐบาล ปชป.มีหลักเกณฑ์ ข้อบังคับ ตนพูดตลอดว่านักการเมืองมีการพูดคุยกันตามปกติ แต่ต้องไปดูที่เนื้อหาสาระว่าคุยอะไร ยืนยันพรรคไม่คุยเรื่องร่วมรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าถ้ารัฐบาลต้องการให้ร่วมรัฐบาล ทางปชป.มีเงื่อนไขหรือไม่ว่าต้องได้กระทรวงใดบ้าง นายเฉลิมชัย กล่าวว่า มันมีกระบวนการที่จะพิจารณามากกว่าที่จะมานั่งคุยกัน ตกลงกัน คิดว่าต้องเข้าสู่กระบวนการของพรรคก่อน ถึงจะพิจารณาว่าจะทำอย่างไรต่อไป

เมื่อถามว่ากระบวนการปล่อยข่าวร่วมรัฐบาล เป็นการดิสเครดิตพรรคหรือไม่ นายเฉลิมชัย กล่าวว่า มั่นใจไม่ใช่คนปชป.เป็นคนปล่อยแน่นอน ส่วนจะปล่อยเพื่อดิสเครดิตหรือไม่นั้น ต้องคิดดู ปชป.ก้าวข้ามการเมืองน้ำเน่าแบบนี้นานแล้ว ลองไปคิดดูเรื่องจังหวะที่ออกข่าว แล้วมีคนออกมาพูด มีการรับลูกกัน ใครควรจะเป็นคนปล่อย

'ปชป.' แง้ม!! พร้อมเป็นทั้ง 'ฝ่ายค้าน-รัฐบาล' ยัน!! ยังไม่มีเทียบเชิญ มั่นใจ!! ไม่ทำพรรคแตก

(19 ส.ค. 67) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมรัฐบาล โดยยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์พร้อมที่จะเป็นทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล แต่วันนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุย ถ้ามีการประสานงานมา จะต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค และขอมติจากทั้งกรรมการบริหารพรรค และ สส.พรรค ทันที หากที่ประชุมว่าอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น ซึ่งขอย้ำว่า ต้องเป็นมติพรรค และทุกคนต้องปฏิบัติตามมติพรรค เพราะตนเป็นหัวหน้าพรรคที่ยึดในหลักการของพรรค

"วันนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุย ถ้าเขามีการประสานงานมาก็ต้องเข้าสู่กระบวนการ คือ ในพรรคประชาธิปัตย์ต้องผ่านข้อบังคับพรรค คือ ผ่านกรรมการบริหารแล้วไป สส.เพราะฉะนั้นถ้าผ่านกรรมการบริหาร และผ่าน สส.ยืนยันว่าทุกคนต้องยึดมติของพรรค ดังนั้น แน่นอนว่าถ้าไปร่วมก็ต้องไปทั้งพรรค แล้วจริง ๆ ผมไม่เคยออกมาพูดเลยว่ากี่คนกี่คน เพราะผมเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์มีระเบียบมีวินัย ไม่อย่างนั้นเราจะตั้งข้อบังคับพรรคกันทำไม เพราะข้อบังคับพรรคจะต้องผ่านการจดทะเบียนจาก กกต.ไม่ใช่อยู่ดี ๆ เราจะตั้งขึ้นมาเองได้ ทุกอย่างมีกฎหมายมีระเบียบรองรับทั้งหมด" นายเฉลิมชัย กล่าว

เมื่อถามว่า ที่มีข่าวว่า ผู้ใหญ่ หรือ สส.อาวุโสของพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันไม่ร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย (พท.) อาจจะไม่ยอมร่วมด้วยนั้น นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ก็ต้องไปถามท่านเหล่านั้น ตนตอบแทนไม่ได้ แต่ส่วนตัวในฐานะที่อยู่พรรคประชาธิปัตย์มา 20 กว่าปี ก็ยังเชื่อมั่นว่าคนของพรรคประชาธิปัตย์มีระเบียบมีวินัยและเคารพในกฎกติกา ซึ่งถ้าเราบอกว่าเราเป็นประชาธิปไตยแล้ว หากไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ของพรรคก็จบเห่ ซึ่งจะเห็นว่าตอนที่ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี สส.ทุกคน ก็ปฏิบัติตามมติของพรรค เป็นมติของ สส.ไม่ใช่มติของกรรมการบริหารพรรค

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า วันนี้ประเทศต้องเดินไปข้างหน้า เพราะขณะนี้เศรษฐกิจแย่ยิ่งกว่าการเมือง ดังนั้น จึงคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ประเทศเดินไปได้ ซึ่งในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันไม่ว่าเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ แต่วันนี้อย่าเพิ่งบอกว่าเราจะทำอะไร และย้ำว่าไม่ใช่ว่าเรายากเป็นรัฐบาลแล้วโยนมา คนเรายังมีศักดิ์ศรีเลยในแต่ละคน แล้วพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมือง ก็ต้องมีจุดยืนมีศักดิ์ศรีของเรา บางทีมีการไปพูดกันเหมือนเราไม่มีค่า อย่างนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง ย้ำในสมัยที่ตนเป็นหัวหน้าพรรค ทุกอย่างต้องมีการให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพราะเรารักสถาบันของเรา และรักประเทศชาติ

เมื่อถามย้ำว่า ถ้ามีการเชิญร่วมรัฐบาลก็พร้อมที่จะทำงานใช่หรือไม่ นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ต้องรอให้ถึงเวลานั้นก่อน ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ และเชื่อว่าไม่น่าจะมีการไปดิวกับแกนนำคนอื่น เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีกลุ่มนั้นกลุ่มนี้แล้ว เนื่องจากมอบอำนาจให้ตนในฐานะหัวหน้าพรรคในการตัดสินใจ ซึ่งในส่วนของตน หากมีการประสานมาก็ต้องนำเข้าที่ประชุม ส.ส.และกรรมการบริหารพรรคทันที หากที่ประชุมว่าอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น รับก็รับ ไม่รับก็ไม่เป็นไร

นายเฉลิมชัย ย้ำด้วยว่า ในฐานะที่นั่งหัวหน้าพรรค หากมีการตัดสินใจใด ๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งถึงขั้นพรรคแตกอย่างแน่นอน ตนมั่นใจ

'เฉลิมชัย-ประชาธิปัตย์' ห่วงปัญหาเหลื่อมล้ำยากจนจัดเวทีนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเดโมแครต ฟอรั่ม 'ขจัดการผูกขาด: ลดเหลื่อมล้ำแก้จน'

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าววันนี้ว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมีความรุนแรงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นผลมาจากการผูกขาด ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมส่งผลกระทบต่อประเทศและประชาชน ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวพรรคประชาธิปัตย์จึงได้จัดงานเสวนา เดโมแครต ฟอรั่ม (Democrat Forum) ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ 'ขจัดการผูกขาด: ปฏิรูปเศรษฐกิจลดเหลื่อมล้ำแก้จน' ในวันจันทร์ที่ 2 ธันวาคมนี้ เวลา 09.00 - 12.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พรรคประชาธิปัตย์ 

การจัดเสวนาครั้งนี้จึงมุ่งนำเสนอแนวทางในการขจัดการผูกขาดเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผ่านการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ และการพัฒนานโยบายที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทุกคนในสังคมสามารถเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาตนเอง และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

โดยมี กำหนดการ ในการจัดงาน ดังนี้
8.30 - 9.00 ลงทะเบียน
9.00 - 9.30 พิธีเปิด 

กล่าวรายงานโดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
พิธีเปิดและปาฐกถาพิเศษโดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
9.30 - 11.15 เสวนา 'ขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจ: ต้นเหตุความเหลื่อมล้ำและยากจน' โดยวิทยากร
1.ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
2.ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล ผู้อำนวยการโครงการเศรษฐศาสตรบัณฑิต หลักสูตรนานาชาติ อดีตรองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,
3.นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์และอดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่ 1และ
4.รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
ข้อสังเกตต่อความเห็น : เพื่อส่งต่อสังคมการเมือง ปัจจุบัน
11.00 - 11.45 เปิดเวทีแสดงความคิดเห็น
11.45 - 12.00 สรุปการเสวนา
โดยดร.เจนจิรา รัตนเพียร โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่พิธีกร

สำหรับผู้สนใจร่วมงานเดโมแครต ฟอรั่ม สามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่: https://form.democrat.or.th/democrat-forum3 (50 ท่านแรกที่ลงทะเบียนจะได้รับต้นกล้าไม้คนละ 2 ต้นเพื่อช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวลดโลกร้อน ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)
ทั้งนี้มีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live พรรคประชาธิปัตย์ หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร: 065 714 6725

'เฉลิมชัย' บินตรวจทุ่งใหญ่นเรศวร วอน ทุกฝ่ายเฝ้าระวังไฟป่า สร้างความเข้าใจให้ 'ชุมชน คน ป่า อยู่ร่วมกันได้'

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จ.กาญจนบุรี ภายใต้มูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ ศูนย์ประสานงานโครงการฯ บ้านสาละวะ หมู่ที่ 4 ต.ไร่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาความเป็นอยู่ให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ติดชายแดนเมียนมาร์ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีการจัดทำ MOU การใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตป่าร่วมกันระหว่างชุมชน กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อให้เกิดการดูแลรักษาป่าร่วมกัน และมีการกำหนดการถือครองที่ดินที่ชัดเจนรายละ 20 ไร่ พร้อมทั้งจัดทำแปลงสาธิตเพื่อการพัฒนาอาชีพ และพื้นที่ส่วนร่วมเพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันในชุมชน พร้อมกันนี้ รมว.ทส. ยังได้ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยพิทักษ์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ฝั่งตะวันตก และมอบถุงยังชีพให้กับเจ้าหน้าที่

ในระหว่างเส้นทางการตรวจเยี่ยม ดร.เฉลิมชัย ยังได้แวะเยี่ยมนักเรียนและครู โรงเรียนกองม่องทะ สาขาบ้านสาละวะ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทิไล่ป้า และโรงเรียนบ้านหินตั้ง พร้อมมอบอุปกรณ์กีฬาให้แก่นักเรียน เพื่อเป็นของขวัญเนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ  จากนั้น รมว.ทส. ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากร ฯ บินสำรวจสภาพป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ฝั่งตะวันตก และสังเกตการณ์สถานการณ์การเฝ้าระวังไฟป่า และหมอกควันที่เข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง ซึ่งต้องมีการเฝ้าระวังป้องกันไฟป่า รวมถึงการป้องกันการเผาในที่โล่งในทุกพื้นที่อย่างเข้มข้น

ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า การมาลงพื้นที่ในครั้งนี้ นอกจากมาสร้างขวัญกำลังให้กับเจ้าหน้าผู้ปฏิบัติงานถึงในพื้นที่แล้ว ยังเป็นการมาดูสภาพพื้นที่การทำงานจริงเพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย “ชุมชน คน ป่า อยู่ร่วมกันได้“ พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการบูรณาการความร่วมมือช่วยกันเฝ้าระวังป้องกันไฟป่า เพราะเมื่อรัฐบาลให้ความสำคัญสนับสนุนงบประมาณในการแก้ไขปัญหาให้กับทุกหน่วยงานแล้ว เราต้องช่วยกัน โดยเฉพาะ ทส. ในฐานะหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นหลักในการเข้าไปพูดคุยสร้างความเข้าใจและความร่วมมือร่วมกับทุกฝ่าย ปัญหาไฟป่าแม้จะแก้ยาก แต่ถ้าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันเชื่อว่าจะสามารถผ่านไปได้อย่างเห็นผลในเชิงประจักษ์

'รมว.ทส.-เฉลิมชัย' แจงสภา ยก 6 มาตรการแก้ปัญหา 'ช้างป่า' พร้อมปรับปรุงหลักเกณฑ์เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ย้ำวัคซีนคุมกำเนิด ไม่ใช่ทำหมัน ชี้เป็นการแก้ระยะยาวให้คนอยู่ร่วมกับช้างได้

เมื่อวานนี้ (16 ม.ค.68) เวลา 13.00 น. ที่อาคารรัฐสภา ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ตอบกระทู้ถามทั่วไป กรณีปัญหาภัยจากช้างป่า บุกรุกที่ทำกินของประชาชน โดย สส. ผู้ถามกระทู้ ได้กล่าวขอบคุณ และชื่นชม ดร.เฉลิมชัย ว่า “ขอขอบคุณ ดร.เฉลิมชัย รมว.ทส. ที่ให้ความสำคัญในการมาตอบกระทู้ในสภา เพราะปัญหาเดียวกันนี้ เคยตั้งกระทู้ถามในการประชุมในสมัยที่แล้ว แต่รัฐมนตรีคนเก่าไม่ได้มาตอบเหมือน รมว.ทส. คนปัจจุบัน

ต่อกระทู้ถามที่ว่า มีแนวทางในการแก้ปัญหาช้างป่าอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร

ดร.เฉลิมชัย กล่าวตอบว่า ในฐานะ รมว.ทส. อยากให้มีเวทีสร้างความเข้าใจปัญหาคนกับช้างป่า ตั้งแต่มาเป็น รมว.ทส. มีหน้าที่รักษาชีวิตประชาชน และหน้าที่อนุรักษ์ช้างไปพร้อมๆกัน ตนมีแนวคิดอยากจะให้คนอยู่ร่วมกับช้างได้โดยที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย วันนี้มีช้างป่าจำนวน 4,000 กว่าเชือกก่อให้เกิดความเสียหาย จากสถิติทั้งการเสียชีวิต การบาดเจ็บ ของประชาชน และเจ้าหน้าที่ ยังไม่นับรวมความเสียหายภาคการเกษตร  เป็นความสูญเสียที่ใหญ่หลวง ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ซึ่งช้างมีอัตราการเกิด 7-8 % หากปล่อยไปอีก 10 ปีจะมีช้างป่าเพิ่มเป็นเท่าหนึ่งคือ 8,000 กว่าเชือก หากไม่เร่งแก้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ซึ่งวันนี้ตนได้ประสานงานกับคณะกรรมการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎร และได้เชิญเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้ามาคุยว่าต้องเร่งดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง ระดมความคิดหามาตรการอะไรบ้าง ที่สามารถดำเนินการแก้ไขตรงนี้ได้

รมว.ทส. กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 คณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง  ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกมนตรี เป็นประธาน และมีนายวราวุธ  ศิลปอาชา รมว.ทส.ขณะนั้น เป็นรองประธาน มีอธิบดีกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้เป็นเลขานุการ ทำหน้าที่ในการที่จะบูรณาการความร่วมมือ จัดการแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรม ซึ่งในการประชุมครั้งนั้น มีมาตรการ 6 ข้อ ตนได้นำมาตรการทั้ง 6 ข้อนั้น มาดูว่ามีตรงไหนที่ไม่ได้ดำเนินการ และไม่รีบดำเนินการ โดย มาตรการ 6 ข้อ ประกอบด้วย

1.การเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่อาหารให้ช้างป่า เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง อาจมีบางฝ่ายมองว่าคนรุกป่า แต่ตนมองว่าปัญหามีไว้แก้ไข

2.การสร้างแนวการช้างป่า ที่ผ่านมามีการทำแนวรั้ว รั้วไฟฟ้า ทำแนวขุดคู ทำเป็นกำแพงกั้น แต่ไม่สามารถกันช้างป่าได้ เพราะ1. ช้างมีพัฒนาการ 2. งบประมาณที่ได้รับไม่ต่อเนื่อง ไม่เพียงพอ ยกตัวอย่าง พื้นที่ปัญหามีความยาม 50 กิโลเมตร แต่ทำได้เพียง 20 กิโลเมตร มีช่องว่าง 30 กิโลเมตรก็ไม่สามารถเป็นแนวกันช้างได้ 

3. การจัดชุดเฝ้าระวัง ผลักดันช้างป่า ซึ่งตรงนี้เครือข่าย มีทั้งอาสา เจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ และในจำนวนผู้เสียชีวิตที่ก็เจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ หลายท่านทั้งบาดเจ็บ และเสียชีวิต

4.การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าออกมาสร้างความเดือดร้อน ทั้งเรื่องของเงินช่วยเหลือฉุกเฉิน กองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า

5.การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน เราได้ดำเนินการในส่วนของ 5 กลุ่มป่า 1.กลุ่มป่าตะวันออก 2.กลุ่มป่าตะวันตก และกลุ่มป่าแก่งกระจาน 3.กลุ่มป่าคลองเขาสก 4.กลุ่มป่าเขาเขียวน้ำหนาว 5.กลุ่มป่าดงพญาเย็น เขาใหญ่

6. แก้ปัญหาอัตราการเพิ่มของช้าง 7- 8% หรือ 10% ในพื้นที่ที่มีอุดมสมบูรณ์ที่ทำให้อัตราการเกิดของช้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่พื้นที่ที่อยู่ และเป็นอาหารกลับมีอยู่เท่าเดิมหรือน้อยกว่าเดิม

“เมื่อปริมาณช้างมากขึ้น ขอบข่ายของการเดินหาอาหารของช้างป่าก็จะขยาย มากขึ้น จนเข้าสู่พื้นที่ภาคการเกษตรของประชาชน เราจึงมีมาตรการว่าหากเราจะดำเนินการ1-5 ได้ผล เราต้องมีการควบคุมประชากรของช้างป่าให้อยู่นิ่งก่อน เพื่อที่จะได้ดำเนินการในเรื่องของการเพิ่มพื้นที่ป่า เพิ่มพื้นที่อาหาร การดำเนินการกั้นรั้ว แนวรั้ว ตั้งโครงการอาสา หรือผลักดันช้างโดยเจ้าหน้าที่ถึงจะดำเนินการได้” รมว.ทส.กล่าว

รมว. ทส. กล่าวต่อว่า ดังนั้นจึงมีการคิดค้นวัคซีนเพื่อคุมกำเนิดช้าง (ไม่ใช่การทำหมัน)  เพื่อให้รอบการเกิดของช้างน้อยลง จะได้จัดการปัญหาอย่างอื่นได้ และวัคซีนตัวนี้ได้รับการรับรองแล้วว่าไม่มีอันตราย โดยทดลองใช้กับช้างบ้าน มีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจน “การดำเนินการก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จะดำเนินการในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดเสียก่อน การดำเนินการตรงนี้จะสามารถใช้กับช้างเพศเมียที่เคยมีลูกแล้วเท่านั้น  วัคซีนจะไปมีฤทธิ์ในการควบคุมฮอร์โมน สามารถควบคุมได้ 7 ปี ซึ่งเชื่อว่าใน 7 ปี เราจะสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าเพิ่มพื้นที่อาหารเพื่อแก้ปัญหาช้างได้ดีขึ้น ดีกว่าปล่อยให้ปริมาณช้างขยายไปเรื่อย ๆ จนไม่สามารถควบคุม”รมว. ทส. กล่าว

รมว. ทส. กล่าวอีกว่า วันนี้นอกจากติดตามการดำเนิน 6 มาตรการแล้ว ยังมีการ เพิ่มอาสาสมัครและนำเทคโนโลยีโดยบินโดรนตามแนวป่ากับแนวพื้นที่ประชาชน เพื่อให้รู้การเคลื่อนไหวของช้างป่าว่าช้างมีการเคลื่อนออกมาจากป่าวันไหน ชุดปฏิบัติการและชุดอาสาจะเข้าไปผลักดันช้างได้ทันท่วงที 

ต่อกระทู้ถามว่า มีแนวทางในการที่จะปรับหลักเกณฑ์การชดเชยเยียวยาให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างไร 

ดร.เฉลิมชัย กล่าวตอบว่า ในส่วนของการเยียวยาจะมีทั้งหมด 3 ประเภท 1.การเยียวยาเรื่องการบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือ เสียชีวิต 2.การเยียวยาความเสียหายภาคการเกษตร 3.เป็นส่วนที่กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการสงเคราะห์ช่วยเหลือสวัสดิการให้กับเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งอาสาสมัครที่เข้ามาดำเนินการในส่วนของการช่วยผลักดันช้างและเฝ้าระวังช้าง

“การเยียวยามีหลักเกณฑ์ในการดำเนินการเป็นภาพรวม เราไม่สามารถที่จะแยกได้ว่าช้างก่อให้เกิดความเสียหาย จะต้องเยียวยาเป็นจำนวนเท่านั้น เท่านี้ วัวกระทิง หรือ สัตว์ต่างๆ ก่อให้เกิดความเสียหายจะต้องมีความเสียหายชดเชยเท่ากับเท่านี้ เท่านั้น ทำไม่ได้ เพราะในระบบราชการถูกกำหนดไว้เป็นระเบียบว่าในกรณีที่เกิดความเสียหายจากภัยธรรมชาติ จากสัตว์ป่า  ถูกกำหนดชัดเจนว่าจะได้รับการเยียวยาประเภทละ ซึ่งแต่ละประเภทไม่เท่ากัน เป็นไม้ยืนต้นเท่าไหร่ เป็นพืชล้มลุกเท่าไหร่ ซึ่งตรงนี้ผมขอรับไปเพื่อจะปรึกษาว่าเราจะสามารถเพิ่มค่าชดเชยตรงนี้ให้กับพี่น้องประชาชนที่รับผลกระทบได้หรือไม่ ตนทราบดีว่าบางครั้งเงินชดเชยเยียวยาที่ได้ไม่คุ้มกับความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ราชการก็ไม่สามารถจะให้เกินไปกว่ากำหนดในระเบียบได้ ผมยอมรับว่าเป็นความหนักใจของคนทำงาน แต่จะนำเรื่องนี้ไปปรึกษาหาทางแก้ไขว่าสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง”ดร.เฉลิมชัย กล่าว

ดร.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องของการได้รับบาดเจ็บก็จะมีประกาศหลักเกณฑ์ และการช่วยเหลือความเยียวยาจากผลกระทบจากสัตว์ป่า พ.ศ. 2567 ที่จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่าทุกชนิด ก็จะมีกำหนดไว้เป็นระเบียบว่าในกรณีเช่นนี้สามารถดำเนินการได้อย่างไรบ้าง ในส่วนของกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีเงินอนุรักษ์ขอใช้จ่ายเงินอนุรักษ์สัตว์ป่า ประเภท ข. ที่จะดำเนินการให้ในส่วนของผู้บาดเจ็บ ทุพพลภาพ อัมพาต สูญเสียแขน สายตา ตาบอดสองข้าง รายละ 100,000 บาท

ในส่วนบาดเจ็บทั่วไปจ่ายจริงไม่เกิน 30,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ในการรักษาจำนวนไม่เกิน 300 บาทต่อวัน ไม่เกิน 180 วัน กรณีเสียชีวิตได้ 100,000 บาทเป็นต้น ซึ่งตรงนี้จะมีเงินกองทุนที่จะไปดำเนินการให้   ตนได้เชิญเจ้าหน้าที่ ข้าราชการที่เกี่ยวข้องมาหาหรือว่าเราจะสามารถทำอย่างไรที่จะดูแลพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้ได้มากกว่านี้ รวมทั้งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครเคลื่อนที่เร็วต่างๆมีหน้าที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยหน้าในการผลักดันช้างเหล่านั้น ก็ได้รับผลกระทบอัตราการเสี่ยงสูงตรงนี้กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  ก็จะดูแลในส่วนของการทำประกันให้กับบุคลากรเหล่านั้นเพื่อที่จะได้ทำงานด้วยความสบายใจว่าเมื่อมีการได้รับบาดเจ็บ จะมีการตอบแทนจากภาครัฐเพิ่มขึ้น

“ทั้งหมดเป็นมาตรการที่เราได้ดำเนินการอยู่ ระเบียบต่างๆ ก็มีใช้มานาน เพราะฉะนั้นราคาสิ่งที่ตอบแทนอาจจะไม่สอดคล้องตามความเป็นจริงมากนัก แต่ระเบียบต่างๆถูกออกมาใช้ เพื่อใช้กับทั้งประเทศ เมื่อถูกใช้สำหรับทั้งประเทศ การแก้ไขแต่ละเรื่องจึงมีผลกับงบประมาณรวมกับของทั้งประเทศเหมือนกัน ก็จะเป็นภาระกับงบประมาณพอสมควร แต่ว่าอย่างไรก็ตามเห็นว่าควรมีการชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบมากกว่านี้ ผมขอยืนยันว่าจะผลักดันเรื่องนี้ต่อไป และจะใช้เงินกองทุนของกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และจะเร่งดำเนินการทันที เพราะถ้าเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้อีก 10 ปีหรือ 20 ปีข้างหน้าปัญหานี้จะเป็นปัญหาระดับชาติ และจะไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ในแนวแนวต่อของป่าอย่างเดียวจะลามมาถึงในเขตเมือง เขตภาคการเกษตรที่อยู่ในเมืองมากยิ่งขึ้น”ดร.เฉลิมชัย กล่าว

'รัฐมนตรีเฉลิมชัย' ประสบผลสำเร็จเจรจาญี่ปุ่นขยายความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรน้ำบาดาลและเทคโนโลยีแหล่งกักเก็บน้ำใต้ดิน

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.)  พร้อมด้วย นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานที่ปรึกษาของ รมว. ทส. นายนริศ ขำนุรักษ์ นายธนา ชีรวินิจ คณะทำงาน รมว.ทส. นายวิชชุ เวชชาชีวะ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว 

นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลและคณะผู้แทนไทย เข้าพบหารือกับนายคัตสุโนริ ทาคาฮาชิ ( Mr. Katsunori Takahashi )รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism: MLIT)เพื่อขยายความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ น้ำใต้ดินและน้ำบาดาล ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 

ดร.เฉลิมชัย ได้หารือในหลากหลายประเด็นสำคัญ ตั้งแต่เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ (Integrated Water Resources Management: IWRM) การพัฒนาเทคโนโลยีแหล่งกักเก็บน้ำใต้ดิน และการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพด้านทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะน้ำใต้ดินและน้ำบาดาล ซึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆจะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ น้ำใต้ดิน และน้ำบาดาลของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยต่อยอดการศึกษาและวิจัยเพื่อรองรับความท้าทายด้านทรัพยากรน้ำในอนาคต

ทั้งนี้ นายคัตสุโนริ ทาคาฮาชิ ( Mr. Katsunori Takahashi )รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism: MLIT) ได้นำเสนอการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ น้ำใต้ดิน น้ำพุร้อนและน้ำบาดาลของญี่ปุ่นพร้อมกับตอบรับข้อเสนอในการขยายความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับไทยอย่างกระตือรือร้นและมอบหมายหน่วยงานในสังกัดประสานงานกับกรมน้ำบาดาลโดยทันทีเพื่อดำเนินการตามข้อหารือของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.)

นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของการเยือนญี่ปุ่นเมื่อวานนี้ในการขยายความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในด้านการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรน้ำ น้ำใต้ดินและน้ำบาดาลในภาวะที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change)ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งเรื่องน้ำท่วมและภัยแล้งโดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top