Monday, 20 May 2024
เฉลิมชัยศรีอ่อน

‘ก.เกษตร’ มอบของขวัญปีใหม่ให้ชาวประมง เว้นค่าธรรมเนียมเลี้ยงหอยทะเล - สัตว์น้ำในกระชัง

‘เฉลิมชัย’ มอบของขวัญปีใหม่ให้ชาวประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 67 จังหวัด ‘อลงกรณ์’ เผยรัฐมนตรีเกษตรฯ ลงนามกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมเพาะเลี้ยงหอยทะเลและสัตว์น้ำในกระชังแล้ว 

(27 ธ.ค. 65) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทยเปิดเผยวันนี้ว่า ตามที่ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้หาแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทยมีมติเห็นชอบให้กรมประมงดำเนินการยกร่างกฎกระทรวงยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่มีการเลี้ยงหอยทะเลและการเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังในพื้นที่ทั่วประเทศและเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา

ล่าสุด ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้ลงนามในกฎกระทรวงดังกล่าวแล้วและนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเพื่อให้มีผลบังคับใข้โดยเร็วต่อไป

'สวนดุสิตโพล' ยก 'รัฐมนตรีเฉลิมชัย' ท็อปฟอร์ม หลังครอง 3 ปีซ้อน 'รัฐมนตรีในใจประชาชน'

มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยรายงานเมื่อ 28 ธ.ค. 65 เกี่ยวกับผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพ ที่มีต่อการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั่วประเทศทั้ง 6 ภูมิภาค จำนวน 3,038 คน ระหว่างวันที่ 17-22 ธันวาคม 2565 พบว่า โดยภาพรวม เต็ม 10 คะแนน ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของ กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์' ที่ 7.66 คะแนน และให้คะแนนความพึงพอใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ 'ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 7.80 คะแนน ซึ่งนับว่า ยังคงเป็นรัฐมนตรีและกระทรวงที่ประชาชนชื่นชอบและเชื่อมั่นมากที่สุด ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน

ผลการสำรวจโพลยังระบุว่า นโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ประชาชนชื่นชอบและเห็นว่าเกิดประโยชน์มากที่สุด อันดับ 1 คือ นโยบาย การประกันรายได้ของเกษตรกร ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คิดเป็น 57.50% รองลงมา คือ การประกันภัยพืชผล 41.21% และตลาดนำการผลิต 36.54% 

นอกจากนี้ผลโพลยังชี้ว่า โครงการที่มีการดำเนินงาน และประสบผลสำเร็จมากที่สุด คือ โครงการเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย 52.14% รองลงมา ได้แก่ บริหารจัดการและ พัฒนาแหล่งน้ำ 33.57% และปฏิบัติการฝนหลวง 24.06% และเมื่อสอบถามถึงความต้องการให้กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์เข้าช่วยเหลือด้านใดมากที่สุด พบว่า ประชาชนต้องการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แก้ไขเรื่องปัญหาราคาสินค้าเกษตรมากเป็นอันดับแรกถึง 78.67% รองลงมาคือช่วยเหลือหนี้สิน 53.16% และขอให้ช่วยเหลือเยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ 50.92%

ขณะที่ด้านความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลสำรวจพบว่า ประชาชนยังมีความเชื่อมั่นในนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 77.88% ไม่แน่ใจ 17.74% และไม่เชื่อมั่น 4.38% โดยมองว่ากระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ยังคงมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ 65.64% ไม่แน่ใจ 29.69% และเห็นว่าไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ที่ 4.67%

สอดคล้องกับผลสำรวจโพลจากหลายสำนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ระบุว่า ดร.เฉลิมชัย คือ รัฐมนตรีที่ประชาชนชื่นชอบ ผลงาน ทั้งจากผลงานการช่วยเหลือการประกันรายได้ การแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ การจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร ตลอดจนร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ผลักดันการส่งออกตามนโยบายตลาดนำการผลิตจนเห็นผลเป็นรูปธรรม

‘เฉลิมชัย’ ผุดไอเดียเพิ่มมูลค่ายางพาราไทย สู่ตลาด Sex Toy - Made in Thailand

ไม่นานมานี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า... 

‘Sex Toy - Made In Thailand’ กอบกู้ ‘ยางไทย’ เพิ่มมูลค่า #น้ำยางไทยดีที่สุดของโลก เพื่อกู้ราคายางในไทย

วันนี้เราต้องกล้าตัดสินใจ แปรรูปยางเข้าสู่ตลาด Sex Toy เพื่อทำกำไรเข้าประเทศ และไม่ใช่แค่เรื่องลามกจกเปรต แต่เป็นเรื่องของ ‘สุขภาวะทางเพศ’

ในปี 2021 ที่ผ่านมา ตลาด Sex Toy ทั่วโลก มีขนาด 1.3 ล้านล้านบาท!

ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2016 ตลาด Sex Toy เติบโตขึ้น 300% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท ในปี 2030

‘ก.เกษตร’ ผุดมาตรการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายชาวประมง ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเพาะสัตว์น้ำ-ประมงพื้นบ้าน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย เปิดเผยวันนี้ว่า กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านใน 23 จังหวัดชายทะเลและกลุ่มประมงเพาะเลี้ยงชายฝั่งได้แสดงความขอบคุณ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมประมงและประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย ที่รับฟังปัญหาความเดือดร้อนจากการประกอบอาชีพเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19และดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วในการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ...”  ให้แก่พี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงหอยทะเล สัตว์น้ำในกระชัง และสัตว์น้ำอื่นๆ ที่ทำการเพาะเลี้ยง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 โดยเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกฎกระทรวง “ยกเว้นค่าอากรใบอนุญาตให้ใช้เครื่องมือทำการประมงและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน พ.ศ. ...” ให้กับพี่น้องประมงพื้นบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  โดยแบ่งเป็นผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จำนวนกว่า 16,700 ราย คิดเป็นเงินกว่า 50 ล้านบาท ในพื้นที่ 67 จังหวัด และชาวประมงพื้นบ้าน จำนวนกว่า 50,000 ลำ คิดเป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท ในพื้นที่ 23 จังหวัด  รวมแล้วสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายได้กว่า 70 ล้านบาท 

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เริ่มต้นจากเมื่อปลายปีที่แล้วกลุ่มประมงเพาะเลี้ยงและกลุ่มประมงพื้นบ้านได้นำเสนอขอความช่วยเหลือยกเว้นค่าธรรมเนียมและใบอนุญาตในการประชุมกับตนและประมงจังหวัดเพชรบุรี ที่วัดอุตมิงค์ อำเภอบ้านแหลมจังหวัดเพชรบุรี

จึงได้รายงานให้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นชอบในหลักการและมอบหมายกรมประมงดำเนินการเสนอเรื่องต่อ

9 กรกฎาคม เลือกหัวหน้าประชาธิปัตย์คนใหม่ จับตา เฉลิมชัย-เดชอิศม์-ชัยชนะ อยู่ฝั่งใคร คนนั้นมีสิทธิ์เข้าวิน

หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรอง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เริ่มมีการเคลื่อนไหวเตรียมเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่หลังเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ถือว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะได้ ส.ส.มาแค่ 24 คน จากเดิมมีอยู่ 52 คน

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากหัวหน้าพรรค ทำให้กรรมการบริหารพรรคทุกคนพ้นจากหน้าที่ไปด้วย

พรรคประชาธิปัตย์กำหนดว่า จะจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญในวันอาทิตย์ที่ 9 ก.ค.นี้ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค
สำหรับองค์ประชุมของพรรคประชาธิปัตย์ตามระเบียบพรรค ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงนั้น มีจำนวนไม่น้อยกว่า 250 คน ซึ่งประกอบด้วย ส.ส.ที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งครั้งล่าสุด, อดีตส.ส.ที่ยังเป็นสมาชิกพรรค, กก.บห.ชุดรักษาการ, อดีตนายกรัฐมนตรี, อดีตรัฐมนตรี, อดีตหัวหน้าพรรค, อดีตเลขาธิการพรรค, ผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค, หัวหน้าสาขาพรรคหรือตัวแทนประจำจังหวัด, สมาชิกสภาท้องถิ่นที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค, อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 

ทั้งหมดนี้คือโหวตเตอร์ที่จะออกเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แต่ในแต่ละกลุ่มจะมีน้ำหนักไม่เท่ากัน โดย ส.ส.ที่เพิ่งได้รับการรับรองมาใหม่ จะมีน้ำหนักมากกว่า มากถึง 70% ส่วนที่เหลือมีน้ำหนักแค่ 30#

สำหรับสมาชิกพรรคที่น่าจะลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่น่าจะมีหลายคน ทั้งคนเก่า และคนใหม่ คนเก่าเช่น คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะย้อนกลับมาลงชิงอีกหรือไม่ แต่แรงเชียร์มีแน่นอน

คุณอลงกรณ์ พลบุตร ที่เคยลงชิงมาแล้ว แต่พ่ายแพ้ไป แต่ยังยืนหยัดอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ ครั้งนี้จะเอาอีกรอบหนึ่งหรือไม่

ส่วนคนรุ่นใหม่ ที่ปรากฏชื่อ อย่างนายกฯชาย เดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ (ไม่รู้ว่าจะนับเป็นคนใหม่ หรือคนเก่า) มี ดร.เด้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หรือใหม่เลยก็จะมีมาดามเดียร์ วทันยา บุนนาค ในวัยแค่ 37 ปี

มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า เริ่มมีปัญหากับสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรค (วันหลังจะเขียนให้อ่านกัน) แต่ยังไม่รู้ว่สจะกลับคืนรังหรือไม่ และจะลงชิงหัวหน้าพรรคอีกหรือไม่

กล่าวสำหรับการชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีระเบียบปฏิบัติที่แตกต่างจากพรรคอื่น มีความเป็นประชาธิปไตยสูง ใครลงสมัครก็ต้องออกแรงแสดงวิสัยทัศน์ต่อบรรดาโหวตเตอร์ทั้งหลาย ง่ายๆคือต้องไปหาเสียง หาคะแนนจากผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง

อย่างที่บอก ส.ส.ใหม่ 24 คน เป็นกลุ่มที่มีน้ำหนักมากที่สุด ใครลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.ใหม่ โอกาสได้รับเลือกตั้งจึงมีอยู่สูงมาก

ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.มา 24 คน ส่วนใหญ่ 16-17 คนเป็น ส.ส.จากภาคใต้ และเป็น ส.ส.ภาคใต้ที่อยู่ภายใต้สังกัดของเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา และชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช ซึ่งถ้าสองคนนี้ผนึกกำลังกันเชียร์ใคร คนนั้นจึงมีโอกาสชนะ ยิ่งถ้าได้บวกรวมกับพลังของเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรคด้วย ยิ่งจะฉิวเข้าป้าย
 
วิเคราะห์โดยภาพรวม ส.ส.ใหม่ 16-17 คน อยู่ภายใต้การดูแลของ เดชอิศม์ ขาวทอง และชัยชนะ เดชเดโช ส่วนประธานสาขาพรรค และตัวแทนพรรค น่าจะอยู่ในการดูแลของนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรองหัวหน้าพรรค ที่เคยดูแลสาขาพรรค และเฉลิมชัย ศรีอ่อน ในฐานะอดีตแม่บ้านพรรค

ส่วนผู้บริหารท้องถิ่น สภาท้องถิ่น ก็น่าจะไม่แตกต่างจากประธานสาขา ตัวแทนพรรค ที่น่าจะฟังนิพนธ์ และเฉลิมชัย

ส่วนอดีตนายก อดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส.คงจะมีความเป็นอิสระสูง ขึ้นอยู่กับการล๊อบบี้ของผู้อาวุโส มากบารมี เช่น ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน ผู้อาวุโสมากบารมีทั้งสองคนจึงเป็นตัวชีเวัดเหมือนกันว่า ใครจะมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค

ถ้าวิเคราะห์กันบนพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่ คนที่จะชนะการเลือกตั้ง ต้องได้รับการสนับสนุนจากเดชอิศม์ ขาวทอง ชัยชนะ เดชเดโช เฉลิมชัย ศรีอ่อน นิพนธ์ บุญญามณี รวมถึงชวน-บัญญัติ แต่เป็นไปไม่ได้ที่ทั้งหมดนี้จะเทคทีมกัน และช่วยดันคนใดคนหนึ่ง

โดยสรุป แต่เฉลิมชัย เดชอิศม์ และชัยชนะ ผนึกกำลังกันเชียร์ใคร คนนั้นก็มีสิทธิ์สูงมากแล้ว แต่ถ้าได้นิพนธ์มาเสริมทีมเดียวกัน ยิ่งฉลุยเลย

นายหัวไทร

‘ทนายเชาร์’ ขย่ม ‘เฉลิมชัย’ รักพรรคจริงเลิกกินรวบ  เสนองดใช้ข้อบังคับพรรค เลิกใช้สัดส่วน 70 % ของ ส.ส.ชี้ขาดใครนั่ง หน.พรรค 

อีกรอบแล้วที่เชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Chao Meekhuad ) หัวเรื่อง "1 เสียง 1 โหวต ทางออก ฟื้น ปชป. " อันเป็นข้อเสนอที่แหลมคมยิ่ง หวังให้เป็นทางออกจากวิกฤติของประชาธิปัตย์ และทิ่มแทงตรงๆไปยัง “ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน”อดีตเลขาธิการพรรค ที่ถูกมองว่า แม้นจะประกาศเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต หากประชาธิปัตย์ได้น้อยกว่าเดิม แต่เงาดำทมึนยังคลุมงำประชาธิปัตย์อยู่

การเลือกตั้งปี 2562 ประชาธิปัตย์เริ่มปรากฏชัดถึงความถดถอย ได้ ส.ส.มาแค่ 52 ที่นั่ง จากเดิมที่เคยได้เป็น 100 เริ่มถดถอยในช่วงที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”เป็นหัวหน้าพรรค และมี “จุติ ไกรฤกษ์” เป็นเลขาธิการพรรค อันเกิดจากสารพัดปัญหารุมเร้า โดยเฉพาะการชุมชุมของกลุ่ม นปช.จนไม่มีเวลามาบริหารราชการแผ่นดิน และอภิสิทธิ์ ต้องหอบหิ้วตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหนีม็อบครั้งแล้วครั้งเล่าจนแทบเอาชีวิตไม่รอด 

เฉลิมชัยก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในยุค “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” การเลือกตั้งปี 2566 เฉลิมชัยลั่นวาจาครั้งแล้วครั้งล่าว ถ้าประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.น้อยกว่าเดิม จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต วันนั้นมาถึงแล้ว ประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.มาเพียง 25 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา “เฉลิมชัย”จึงน่าจะวางมือทางการเมือง และจัดวางตัวเองให้เป็นอาจารย์ใหญ่ เหมือน “เนวิน ชิดชอบ” ผู้อยู่เบื้องหลังภูมิใจไทย

เชาร์ระบุว่า พรรคประชาะปัตย์ มีกำหนดประชุมใหญ่ วาระสำคัญคือการเลือกผู้บริหารชุดใหม่ มาแทนชุดเดิม ที่พ้นตำแหน่งไป จากการลาออกของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เพื่อรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในคราวนี้ แตกต่างไปจากอดีตที่เคยมีมา แทบจะไม่มีใครเสนอตัวออกมาชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเลย ยกเว้น นายอลงกรณ์ พลบุตร สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคนในพรรครู้ดีแก่ใจว่า ตำแหน่งหัวหน้าพรรค รวมถึงผู้บริหารทั้งหมด ในตอนนี้ อยู่ในอาณัติของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรคฯ ที่กุมเสียง สส.ในมือราว 20 คน จากทั้งหมด 25 คน สั่งให้ใครเป็นหัวหน้าพรรคคนนั้นก็จะได้เป็น 

เชาร์ อธิบายว่า เนื่องจากข้อบังคับพรรคให้น้ำหนัก ส.ส.เป็นสัดส่วนถึง 70 % ขององค์ประชุมที่ประชุมใหญ่ในการลงคะแนน ข้อบังคับพรรคไม่ได้ผิดอะไร ที่ให้ความสำคัญกับ ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ในอดีตก็มีการแก้ไขสัดส่วนคะแนนเสียง ส.ส. มาตลอดเพื่อให้สมดุลเข้ากับสถานการณ์แต่ละยุค ซึ่งตอนแก้ข้อบังคับเมื่อปี 61 ก่อนหน้านี้พรรคมีส.ส.เกินหลักร้อยมาตลอด และใครก็ไม่เคยคาดคิดว่าจะตกต่ำเหลือแค่ 25 คนในยามนี้ จากพรรคขนาดใหญ่ กลายเป็นพรรคขนาดกลาง และกำลังเป็นพรรคขนาดเล็ก ถือเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้จึงไม่สมควรที่จะให้ส.ส. 25 คน มากุมชะตากรรมพรรคเพียงลำพัง 

เชาร์เสนอให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติสามในห้าขององค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่ให้ยกเว้นข้อบังคับข้อ 87 (1),(2) ที่ให้ถือเกณฑ์คำนวณคะแนนเสียงในการเลือกตั้งสัดส่วน สส. 70 % และสมาชิกอื่นที่เป็นองค์ประชุม 30 % เสีย โดยให้ใช้เสียงข้างมากของผู้ลงคะแนนเสียง เพื่อให้ทุกคะแนนเสียงขององค์ประชุมที่ประชุมใหญ่ มีหนึ่งเสียง หนึ่งโหวตเท่ากันในการกำหนดชะตาครั้งสำคัญของพรรค

"ถ้ารักพรรคจริง ต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมตัดสิน ไม่ใช่ใช้ข้อได้เปรียบจากข้อบังคับพรรคมาจ้องกินรวบพรรคอย่างที่เป็นอยู่ คนชอบพูดว่าผมเป็นคนของนายกฯอภิสิทธิ์ ผมไม่ปฏิเสธว่าเคารพรักท่าน แต่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคสำหรับผม จะชื่ออะไรก็ได้ สำคัญที่คน ๆ นั้น ต้องมีบารมี มีเจตจำนงค์ทำ พรรคให้เป็นพรรค ไม่ใช่คิดแต่ใช้พรรคเป็นบันไดในการแสวงหาอำนาจ เรามีบทเรียนมามากพอแล้วกับการละทิ้งคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน”

เชาร์ย้ำว่า ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่เปราะบาง ประชาธิปัตย์ต้องเข้มแข็งเพื่อเป็นหลักให้กับบ้านเมือง ส่วนจะไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่ ชี้วัดกันที่การเลือกหัวหน้าพรรควันที่ 9 ก.ค. ที่ผมยืนยันว่า ต้องยกเว้นข้อบังคับ เลิกสัดส่วน 70 % ของสส. เป็นให้ทุกคะแนนมีค่าเท่ากัน 

อย่างที่เชาร์กล่าวไว้ ทำไมการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งคราวนี้ถึงเงียบเชียบ ที่ปรากฏตัวชัดแล้วมีแค่ “อลงกรณ์ พลบุตร” รองหัวหน้าพรรค 4 สมัย และ 30 ปี ยึดมั่นอยู่กับอุดมการณ์ประชาธิปัตย์ไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะแพ้การเลือกตั้งชิงหัวหน้าพรรค ที่บางคนพอแพ้ก็ทิ้งพรรคไป ไม่ว่าจะเป็น “หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม” ออกไปตั้งพรรคไทยภักดี พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ออกไปตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ กรณ์ จาติกวณิชย์ ออกไปตั้งพรรคกล้า 

หันซ้ายมองขวาในประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นคนเก่า หรือคนใหม่ ยังไม่เห็นใครว่าจะนำพาพรรคประชาธิปัตย์กลับไปยืนอยู่แถวหน้าได้ แต่พอจะเห็นเค้าอยู่บ้างสำหรับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” แม้ว่าจะไม่ใหม่นัก แต่ไม่เก่าจนเกินไป และเป็นคนมีบารมี มีอุดมการณ์ประชาธิปัตย์ และมีจุดยืนชัดเจน และแม้จะลาออกจาก ส.ส.คราวนั้น ก็ยังเป็นสมาชิกประชาธิปัตย์อยู่ และเชื่อว่า ถ้าอภิสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็จะมีแรงสนับสนุนจาก “ชวน หลีกภัย”บัญญัติ บรรทัดฐาน-นิพนธ์ บุญญามณี” รวมถึงโหวตเตอร์สายอดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี ประธานสาขา และตัวแทนพรรคอยู่ไม่น้อย ยิ่งถ้ายกเว้นข้อบังคับตามข้อเสนอของทนายเชาร์ โหวตเตอร์สาย ส.ส.อาจจะเหวี่ยงหลุดแห มาทางอภิสิทธิ์บ้างก็ได้

แม้บนบกจะดูคลื่นลมเงียบสงบ แต่เชื่อว่าใต้น้ำ ประชาธิปัตย์กำลังเกิดภาวะน้ำวน มีการเคลื่อนไหวที่พอเห็นร่องรอยอยู่บ้าง

จับตา!! ศึกชิงหัวหน้าพรรคปชป. ดัน ‘เฉลิมชัย’ ชน ‘มาดามเดียร์’ การตัดสินใจที่น่าห่วง หาก ‘แรงยุ-แรงเชียร์’ เหนือเหตุและผล

“เสียง สส.ส่วนใหญ่ของเรายังผนึกกำลังกันแน่นเหมือนเดิม” เป็นคำยืนยันจาก ‘แทน-ชัยชนะ เดชเดโช’ สส.นครศรีฯ พรรคประชาธิปัตย์ อันเป็นการตอกย้ำว่า ขั้วของ ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน-เดชอิศม์ ขาวทอง’ ยังคงเดินหน้าสู้เพื่อยึดพรรคประชาธิปัตย์มาบริหาร

ภาพปรากฏชัดเมื่อ สส. 21 คนมาตั้งวงคุยกัน วิเคราะห์อนาคตกับการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนที่ 9 ในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ อันเป็นการตั้งวงวิเคราะห์หลังจาก ‘มาดามเดียร์’ วทันยา บุนนาค หรือ วงษ์โอภาสี ตัดสินใจเปิดตัวลงชิงหัวหน้าพรรค พร้อมประกาศเจตนารมณ์ ‘ฟื้นฟูพรรค เรียกศรัทธาคืน’ ตามด้วยการออกคลิปส่งสัญญาณเจตนารมณ์ไปยังสมาชิกพรรคทั่วประเทศถึงความมุ่งมั่น

เอาเป็นว่ากระแสตอบรับดีเกินคาด ‘นิด้าโพล’ เป็นเครื่องยืนยันว่า มาดามเดียร์มาเต็งหนึ่ง แต่มีคะแนนไม่ตัดสินใจมากถึง 28% เลือกมาดามเดียร์ 27% ส่วน ‘นราพัฒน์’ และ ‘อภิสิทธิ์’ ยังตามหลังมาดามเดียร์

ไม่รู้ว่าคิดผิดหรือถูก กลุ่ม สส.สาย ‘เฉลิมชัย-เดชอิศม์’ ประเมินว่า นราพัฒน์ แก้วทอง ต้องแพ้ ‘มาดามเดียร์’ จึงลงมติเปลี่ยนม้ากลางศึก ส่งเทียบเชิญ ‘เฉลิมชัย’ มาลงชิงหัวหน้าพรรคเอง แต่เฉลิมชัยยังไม่ตัดสินใจ ขอเวลา 1-2 วัน ในการตัดสินใจ ส่วนตัว #นายหัวไทร อยากให้เฉลิมชัยตัดสินใจบนพื้นฐานของเหตุและผล ไม่ใช่เกิดจากแรงยุ แรงเชียร์ 

เหตุและผลที่ว่า คือภารกิจหนักในการนำพาพรรค ฟื้นฟูพรรค เรียกศรัทธาพรรคจากประชาชนกลับคืนมา อุดมการณ์ของพรรคต้องกลับมาพิจารณาทบทวน ตรงไหนสึกหรอ กร่อนไป จะเสริมเข้ามาอย่างไร เพื่อให้พรรคมีความเป็นพรรคที่ทันสมัย เขาผลักให้ไปอยู่ฝ่ายอนุรักษ์ก็ยอม ไม่ดันตัวเองไปอยู่ฝ่ายก้าวหน้า เสรีนิยมประชาธิปไตย ตามอุดมการณ์ของพรรค

เหตุอีกประการที่ไม่ควรลืม คือการที่เฉลิมชัย ประกาศกร้าวบนเวทีว่า “ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ สส.น้อยกว่าเดิม จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต จะกลับไปประจวบคีรีขันธ์” ถ้าเฉลิมชัยกลับมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เท่ากับ ‘เฉลิมชัย’ ตระบัดสัตย์ครั้งสำคัญ นักการเมืองจำนวนไม่น้อยเสียผู้เสียคนกับการตระบัดสัตย์ นักการเมืองต้องพูดจริงทำจริง ไม่ทิ้งประชาชน

เมื่อประกาศวางมือทางการเมืองแล้ว ก็ไม่ควรมาจุ้นจ้านอะไรอีก ควรผันตัวเองไปทำอย่างอื่น ไม่ควรอยู่แม้กระทั่งเบื้องหลัง รักษาการหัวหน้าพรรคก็ไม่ควรรับแล้ว ถ้ายังมีใจรักประเทศชาติ ประชาชน ก็ยังมีบทบาทอื่นรองรับได้ ทำงานได้ เช่น มูลนิธิ สมาคม หรืออะไรก็ได้ที่สามารถช่วยเหลือชาติและประชาชนได้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเมือง หรือพรรคการเมือง

การเมืองไม่ใช่เรื่องของการแข่งขันเพื่อชัยชนะเพียงด้านเดียว การเมืองมีหลากหลายมิติ แต่นักการเมืองที่ก้าวเข้ามาคิดแค่ว่าทำอย่างไรให้ชนะ ทำอย่างไรในการช่วงชิง ‘อำนาจรัฐฯ’ มาอยู่ในมือ เข้าใจได้ว่า การแก้ไขปัญหาบางอย่างต้องใช้งบประมาณของรัฐฯ ต้องใช้อำนาจรัฐฯ ต้องใช้กลไกของรัฐฯ เป็นเครื่องมือ

แต่สถานการณ์ปัจจุบันของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการช่วงชิงอำนาจบริหารพรรค เพื่อนำพาพรรคไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่ชาติ ประชาชน แต่เป้าหมายคือ ‘พวกพ้อง’ และ ‘ผลประโยชน์’ บรรดาโหวตเตอร์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นตัวจริงหรือตัวสำรอง ยังมีเวลาในการนั่งสมาธิ ให้เปิดปัญญา ตั้งสติ คิดให้รอบคอบ เดินเข้าสู่ห้องประชุมโดยไม่มีแรงจูงใจอื่น นอกจากสติที่คิดได้ ปัญญาที่มุ่งหวังดีต่อชาติบ้านเมือง

อุดมการณ์ประชาธิปัตย์จะยังไม่ตายหรอก ถ้าพลพรรคทั้งหลาย มีสติ มีปัญญา และมุ่งมั่นต่อชาติบ้านเมืองเป็นที่ตั้งตามเจตนารมณ์ของ ‘ควง อภัยวงศ์’ ผู้ก่อตั้งพรรค เมื่อ 77 ปีก่อน

‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ ผงาดนั่งหัวหน้า ‘ปชป.’ คนที่ 9 ด้วยคะแนนเสียง 88.5% จาก 260 องค์ประชุม

(9 ธ.ค.66) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กทม. ที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ ครั้งที่3/2566 ได้เข้าสู่ช่วงสำคัญคือการลงมติเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 9 ภายหลังจากเมื่อช่วงครึ่งวันเช้านายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมาชิกพรรค อดีตหัวหน้าพรรค ลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค จนเกิดการเคลียร์ใจส่วนตัวในประเด็นที่คาใจของพรรค ระหว่างนายอภิสิทธิ์ กับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการหัวหน้าพรรค และรักษาการเลขาธิการพรรค และทำให้นายอภิสิทธิ์ ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรค หลังพักการประชุม 10 นาที ได้กลับเข้าสู่วาระเพื่อเสนอชื่อบุคคลชิงหัวหน้าพรรค

จากนั้นได้เข้าสู่กระบวนการเสนอชื่ออีกครั้ง โดยนายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา และรักษาการรองหัวหน้าพรรค ภาคใต้ เสนอชื่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นหัวหน้าพรรค ส่วน น.ส.ผ่องศรี ธารภูมิ สมาชิกพรรคเสนอชื่อ พันโทหญิงฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล ขณะที่นายขยัน วิพรหมชัย อดีต สส.ลำพูน เสนอชื่อน.ส.วทันยา บุนนาค มีเสียงรับรองเพียงพอ แต่เนื่องจากคุณสมบัติเป็นสมาชิกไม่ถึง 5 ปี และไม่เคยเป็นสส.ของพรรค ขัดกับข้อบังคับพรรค ข้อ31(6) และข้อ32(1 ) จึงต้องใช้เสียง 3 ใน 4 ของจำนวนผู้มาประชุม หรือ 195 เสียง เพื่อยกเว้นข้อบังคับดังกล่าว

ปรากฏว่า น.ส.วทันยา ได้เพียง 139 เสียง เท่ากับที่ประชุมไม่อนุญาตให้ลงสมัคร จึงถือว่าไม่ได้รับการคัดเลือกชิงหัวหน้าพรรค เช่นเดียวกับ พันโทหญิงฐิฏา ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติชิงตำแหน่งเช่นเดียวกัน  ทำให้เหลือผู้ถูกเสนอชื่อคือ นายเฉลิมชัย เพียงคนเดียว

ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ลุกขึ้นกล่าวกับที่ประชุมว่า "กราบเรียนท่านชวน หลีกภัย ท่านบัญญัติ บรรทัดฐาน ท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ท่านผู้บริหารพรรค ท่านผู้อาวุโส ท่านสมาชิกพรรคที่เคารพทุกท่านครับ

ผมเรียนอย่างนี้ว่า ที่ผมขึ้นมาพูดนี้ ขออนุญาตอาจจะไม่ใช่เป็นวิสัยทัศน์ แต่อยากจะมาพูดในบางสิ่งบางอย่างที่เป็นความรู้สึกของผม ผมขอกราบเรียนท่านสมาชิกทุกท่านว่า ผมรู้ว่าการตัดสินใจของผมในวันนี้มันเจ็บ มันทำลายสิ่งที่ผมสร้างมาทั้งชีวิต เข้าใจครับ แต่ผมพูดอยู่ตลอดเวลาว่า ผมคุยกับท่านหัวหน้าอภิสิทธิ์เมื่อสักครู่ ผมกรีดเลือดออกมาก็เป็นสีฟ้า ไม่มีสีอื่นเลย แล้วตลอดระยะเวลาที่ผมอยู่ในประชาธิปัตย์ ก็ยึดหลักการ และอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยเปลี่ยนแปลง และเป็นคนเคร่งครัดในหลักการด้วยซ้ำ ก็เรียนท่านหัวหน้าอภิสิทธิ์ 

แล้วเมื่อผมมาเป็นรัฐมนตรี พรรคให้โอกาส ผมยืนยันเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต กล้าพูดนะครับว่า ผมไม่มีมลทินเรื่องนี้ ผมเป็นคนหนึ่งที่เวลาที่ผมอยู่กระทรวงเกษตรฯ ผมกล้าท้าข้าราชการให้ตรวจสอบผมอีกครับ เพราะว่าผมไม่ได้ไปในนามของตระกูลศรีอ่อน ผมไปในนามพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งติดตัวผม 

แล้ววันนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อวานผมก็สัมภาษณ์ไป บอกวันนี้ถึงผมจะมีแต่วิญญาณแต่ผมยังมีความสำนึกในพระคุณ ในทุกอย่างที่เป็นประชาธิปัตย์ ที่ทำให้ผมมีโอกาสมายืนวันนี้ ผมเรียนท่านสั้นๆ ว่าผมมีความจำเป็นครับ และผมก็อยากจะเห็นพรรคเดินไปข้างหน้า

ผมจะทำทุกอย่างให้พรรคมีเอกภาพ ผมจะทำให้พรรคซึ่งมีอยู่แล้วนี้ ยึดมั่นในหลักการ และอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ และที่สำคัญเมื่อสักครู่ที่ผมคุยกับท่านหัวหน้าอภิสิทธิ์ก็คือ ผมยืนยันกับหัวหน้าอภิสิทธิ์ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยเป็นพรรคอะไหล่ ไม่ใช่ว่าเราจะไม่เป็นนะครับ เราไม่เคยเป็นตลอดระยะเวลา 22 ปี ที่ผมอยู่ประชาธิปัตย์ เราไม่เคยเป็นพรรคอะไหล่ หลายสิ่งหลายอย่างที่ผ่านมา มันอาจจะทำให้การเมืองของพรรคสะดุด ผมก็จะพยายามทำทุกอย่าง เหมือนที่ผมบอกละครับว่า ผมมาทำงานในภารกิจหนึ่ง ผมจะพยายามทำตรงนี้ให้ดีที่สุด จะพยายามทำให้เป็นเอกภาพ และทำให้ดีที่สุดและจะไม่มีวันทำลายหลักการ และอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ขอบคุณมากครับ" นายเฉลิมชัย กล่าว

จากนั้นในเวลา 13.31 น. ที่ประชุมได้ลงมติเลือกนายเฉลิมชัย เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9 ด้วยคะแนน 88.5 เปอร์เซ็นต์โดยที่ประชุมมีองค์ประชุม 260 คน

‘สามารถ’ นับถือใจ ‘เฉลิมชัย’ รับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป. ขออย่ามองเป็นการตระบัดสัตย์ พร้อมยกประวัติศาสตร์เป็นตัวอย่าง

(10 ธ.ค. 66) นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘สามารถ เจนชัยจิตรวนิช’ ระบุว่า…

‘สามารถ’ นับถือใจ ‘เฉลิมชัย’ รับตำแหน่ง หน.ปชป. อย่ามองเป็นตระบัดสัตย์ หยิบยกประวัติศาสตร์มีให้เห็นในอดีต ยกย่องยอมเสียสละเพื่อส่วนรวม

นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แสดงความยินดีกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ภายหลังที่ประชุมใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ มีมติเห็นชอบให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค และอดีต สส. จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 4 สมัย ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค คนที่ 9 ด้วยคะแนน 88.5% จากองค์ประชุมทั้งหมด โดยนายสามารถ กล่าวว่า…

“เมื่อเช้าได้เอาพวงมาลัยไปกราบ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เนื่องในโอกาสคล้ายวันพ่อที่ผ่านมา ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 5 ที่ผมทำติดต่อกัน พอช่วงเที่ยงจึงมีโอกาสได้ร่วมรับประทานอาหาร กับเพื่อน สส. ที่โรงแรมมิราเคิล รวมทั้งนายร่มธรรม ขำนุรักษ์ ลูกชายของนายนริศ ขำนุรักษ์, นายปรพล อดิเรกสาร และนายสมเกียรติ กอไพศาล เลขาส่วนตัวของนายเฉลิมชัย ซึ่งต่างก็ดีใจอย่างล้นหลามกับการรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ ฉะนั้น ผมว่าทุกคนควรนับถือน้ำใจของนายเฉลิมชัย ที่เอาปัญหาและภาระของส่วนรวมมาไว้ที่ตัวเอง เพราะแม้เจ้าตัวเคยประกาศจะไม่รับตำแหน่ง หากพรรคประชาธิปัตย์ได้ไม่ถึง 50 เสียงแล้วในครั้งนั้น แต่จากการประชุมของพรรค ที่องค์ประชุมไม่ครบ ทำให้ต้องล่มมาตลอด 2ครั้งก่อนหน้านี้”

หากครั้งนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ไม่รับตำแหน่ง พรรคประชาธิปัตย์อาจถูกยื่นยุบพรรคอย่างแน่นอน เนื่องจากจัดประชุมพรรคไม่ได้ภายใน 1 ปีตามกฏหมาย

อีกทั้ง 4 ปีที่ผ่านมา นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ถือว่าเป็นปูชนียบุคคล ที่ทำงานหนักในตำแหน่งเลขาธิการพรรคและรักษาการเลขาพรรคมาโดยตลอด ดังนั้น ไม่ควรมองว่าเป็นการ ‘ตระบัดสัตย์’ แต่ให้มองว่าทำเพื่อส่วนรวม ซึ่งในอดีตก็เคยเกิด ย้อนไปสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่พระเจ้าเอกทัศน์ ไปขอให้น้องชายพระเจ้าอุทุมพรที่ยอมสละตำแหน่งออกบวชเป็นพระ แล้วให้มาช่วยเป็นกษัตริย์ออกรบ พระเจ้าอุทุมพรก็ยังยอมลาสิขาเพื่อมาเป็นแม่ทัพขับไล่พม่าเพื่อประชาชน นับประสาอะไรกับนายเฉลิมชัยคนธรรมดา หากไม่รับตำแหน่ง ไม่ใช่แค่พรรคที่จะถูกยุบ รวมไปถึงไม่ใช่แค่สมาชิกพรรคเท่านั้นที่จะลาออก แต่จะมี สส.ออกจากพรรค และพรรคจะถูกยุบอย่างแน่นอน

ดังนั้น ผมจึงเทียบเคียงกับกรณี พระเจ้าเอกทัศน์ไปขอให้น้องชายมาช่วยเป็นกษัตริย์ น้องชายที่เคยสละราชสมบัติไปแล้ว ลาทางโลกไปแล้วทั้งยังบวชเป็นพระ แต่ยังต้องยอมลาสิกขา มาเป็นกษัตริย์เป็นคนนำทัพไล่พม่าให้พ้นขอบขัณฑสีมา ในเมื่อขนาดมีวลีว่า กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ แต่ถ้ากษัตริย์ต้องทำเพื่อไพร่ฟ้าประชาชน ณ เวลานั้น ก็ยอม นับประสาอะไร กับพี่ต่อเฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่เป็นประชาชนคนธรรมดา วันนี้ถ้าท่านไม่รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคแตก แตกคือ ส.ส. ไม่ใช่แค่ สมาชิกพรรคที่เดินออกแต่ จะเป็น ส.ส.ที่เดินออกจากพรรค แล้วนายเฉลิมชัย จะปล่อยให้พรรคถูกยุบ ก็เปรียบเสมือนให้บ้านที่อยู่อาศัยถูกไฟไหม้ได้อย่างไร สมมุติถ้าวันนี้ประชุมไม่ได้ แล้วมีคนไปร้องยุบพรรค พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีเลยน่ะครับ ฉะนั้น ที่มีคนเคยบอกว่าพรรค ปชป. มีประวัติศาตร์ยาวนาน 70 กว่าปี มันก็จะเหลือศูนย์ในทันที” นายสามารถ กล่าว

นายสามารถ กล่าวด้วยว่า ตนพูดในฐานะที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยชื่นชอบการอภิปราย สส.หลายคนในอดีต และคาดหวังในอนาคตทางการเมืองของพรรค ปชป. เมื่อมีนายเฉลิมชัย เป็นหัวหน้าแล้ว ก็คงต้องเป็นที่พึ่งของชาวบ้าน ในวันนี้ยังไม่ได้ร่วมรัฐบาล ก็ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มแข็ง เหมือนอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ยึดถือมาหลายสิบปี และหากมองภาพเปรียบเทียบแล้วอดีตพรรคประชาธิปัตย์ ก็คือพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน เพราะพรรคประชาธิปัตย์เคยทำได้ถึง 18 ล้านกว่าคะแนน มากกว่าพรรคก้าวไกลที่ทำได้เพียง 14 ล้านคะแนน หากพรรคประชาธิปัตย์ยึดมั่นทำในสิ่งที่ประชาชนต้องการ สิ่งที่ประชาชนคาดหวัง ตนมั่นใจว่า 18 ล้านคะแนนนั้นจะกลับมาอย่างแน่นอน

“ขอให้คนที่แพ้เปิดใจให้กว้าง ถ้าไม่ชอบใจก็ย้ายพรรค การเมืองไม่มีอะไรซับซ้อน ดังเช่น ต้นไม้จะเติบโตอย่างเต็มที่ ถ้าอยู่ในที่ที่ดี ทั้งนี้ ขอแสดงความยินดีกับ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ตลอดจนกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ทุกคน” นายสามารถ กล่าวทิ้งท้าย

ก้าวต่อไป 'ประชาธิปัตย์' จะฝ่ามรสุมไปอย่างไร? หลังวิกฤติเลือดไหลออกซัดโถม โซเชียลถล่มเละ

พรรคประชาธิปัตย์จะเดินต่อไปท่ามกลางกระแสคลื่นลมแรงอย่างไร หลังการประชุมใหญ่เลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แทนชุดของ 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' อดีตหัวหน้าพรรคที่ลาออกหลังผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม นำพาพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ยับเยิน ได้มาแค่ 25 ที่นั่ง จากเป้าที่ตั้งไว้ 60-70 ที่นั่ง

ที่ประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์เลือก 'เฉลิมชัย ศรีอ่อน' เป็นหัวหน้าพรรค มี 'เดชอิศม์ ขาวทอง' สส.สงขลา เป็นเลขาธิการพรรค โดยไม่มีคู่แข่ง ซึ่งคู่แข่งอย่าง 'มาดามเดียร์ วทันยา บุนนาค' ถูกตัดออกด้วยคุณสมบัติที่ไม่ครบ เป็นสมาชิกพรรคไม่ถึง 5 ปี แต่ในทางปฏิบัติถ้าจะให้สง่างามในสไตล์ประชาธิปัตย์ ต้องเปิดช่องให้มาดามเดียร์ได้ลงแข่งขัน เพียงแค่งดเว้นการบังคับใช้ข้อบังคับพรรคข้อนี้ ทุกอย่างก็จะสง่างาม และมาดามเดียร์ก็ยากจะชนะอยู่แล้ว เพราะโหวตเตอร์ส่วนใหญ่ถูกล็อกไว้หมดแล้ว

การประชุมยังไม่แล้วเสร็จ สมาชิกบางคนเริ่มทยอยลาออก ประเดิมด้วย 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' ที่ปิดห้องคุยกับเฉลิมชัย 10 นาที แต่ไม่มีอะไรลงตัว ทั้งสองยังยืนยันในจุดยืนของตัวเอง 'อภิสิทธิ์' จึงถอยออกไปนั่งดู ให้ 'เฉลิมชัย' เป็นตัวแสดงบทนำต่อไป

สาธิต ปิตุเตชะ เป็นอีกคนที่ลาออกตามอภิสิทธิ์ไป ไม่เว้นแม้กระทั่ง 'ติ๊งต่าง' แฟนพันธุ์แท้ของประชาธิปัตย์ ก็ลาออก พร้อมวลี “ยกพรรคให้เขาไป” เราอยู่กันไม่ได้กับคนไร้สัจจะ และสีเทา

สัจจัง เว อมตะ วาจา วาจาจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย คำขวัญใต้พระแม่ธรณีบีบมวยผม ใต้โลโก้พรรคถูกหยิบขึ้นมากล่าวขานเหน็บแนมไปยังเฉลิมชัยอย่างแหลมคม ทิ่มเข้าไปเต็มอก เหตุเพราะเฉลิมชัยเป็นลั่นวาจาไว้เองในหลากหลายเวทีว่า ถ้าผลการเลือกตั้งได้น้อยกว่าเดิม จะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต ถอนกลับไปอยู่บ้านประจวบคีรีขันธ์ แต่การกลับเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ต่างให้ความหมายที่ตรงกับว่า 'ตระบัดสัตย์'

สิ่งที่ไม่ควรลืม คือการเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือผู้ที่จะเป็น 'แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี' ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งหมายถึงตำแหน่งสูงสุดในการบริหารประเทศ นักการเมืองสำคัญคือ คือต้องรักษาคำพูด ไม่กลับกลอกไปมา เหมือนน้ำกลิ้งบนใบบอน การรักษาสัจจะ รักษาคำพูด และใจถึงพึ่งได้ จนนักการเมืองหลายคนนำมาใช้เป็นคำขวัญประจำตัวว่า "ใจถึงพึ่งได้ คำไหนคำนั้น"

สถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์เวลานี้เหมือน 'คนป่วยวิกฤติ' มีแต่เลือดไหลออก ล่าสุด 'อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์' ก็โพสต์เฟซบุ๊กอำลาไปอีกคนหนึ่งแล้ว และคิดว่า ยังจะมีอีกไม่น้อยที่ถอยออกไป

จับกระแสจากโซเชียลกับการเปลี่ยนแปลงในพรรค ยิ่งน่ากลัวกว่า พลันที่พรรคประชาธิปัตย์โพสต์รายชื่อกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ลงบนเพจของพรรค ก็โดนถล่มเละ พูดได้ว่า 'เละเป็นโจ๊ก' เกิน 95% ตำหนิด้วยถ้อยคำที่รุนแรง และโบกมือลา กระแสใน x (ทวิตเตอร์) ก็ไม่แตกต่างกัน

สิ่งที่เป็นคำถามคือ คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์จะเดินหน้าฟื้นฟูพรรค ฟื้นหลักการ และอุดมการณ์ของพรรคได้อย่างไร เพราะแค่ก้าวแรกก็โดนเตะตัดขาจนจะเดินไม่ไหวอยู่แล้ว

3 เดือนจะต้องเห็นผล และจะมีการประเมินผลงานกรรมการบริหารพรรคทุกคน...นี่คือ วาจาของเฉลิมชัยที่ลั่นไว้ในวันที่ได้รับเลือกตั้ง ในวันที่ยังไม่เห็นทิศทาง แนวทาง ว่าจะหยิบอะไรขึ้นมาเป็นจุดขาย ท่ามกลางการถูกถล่ม 'พรรคสีเทา ไม่ใช่สีฟ้า' แม้เฉลิมชัยจะบอกว่า กรีดออกมาเลือดก็เป็นสีฟ้า ไม่แตกต่างจากอภิสิทธิ์

77 ปี ย่างเข้าสู่ปีที่ 78 พรรคประชาธิปัตย์ยังต้องไปหยิบเอกสารอุดมการณ์ของพรรคมานั่งอ่านทบทวนกันใหม่ ในขณะที่พรรคการเมืองอื่นก้าวเดินไปข้างหน้า หันกลับมาหัวเราะใส่พรรคเก่าแก่ ที่บอกกับสังคมว่าเป็น สถาบันทางการเมือง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top