Monday, 20 May 2024
อิสราเอล

‘อิสราเอล’ โจมตีทางอากาศ ทิ้งบอมบ์ใส่ผู้อพยพปาเลสไตน์ในกาซา ดับแล้วอย่างน้อย 70 ราย ช็อก!! พบเหยื่ออายุน้อยสุดเพียง 2 ขวบ

(15 ต.ค. 66) ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเที่ยวหนึ่ง ถล่มใส่คาราวานผู้คนที่กำลังหลบหนี บริเวณทางเหนือของฉนวนกาซา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 70 ราย ในนั้นมีเด็กหลายคน อายุน้อยสุดแค่ 2 ขวบ ความโหดร้ายป่าเถื่อนซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางปฏิบัติการทิ้งบอมบ์ของอิสราเอล แก้แค้นกรณีถูกกลุ่มนักรบฮามาสบุกจู่โจมนองเลือดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อย่างไรก็ตาม รัฐยิวปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้

สำนักข่าวนิวยอร์กโพสต์ รายงานข่าวระบุว่า นอกเหนือจากผู้เสียชีวิตแล้ว ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 200 ราย ในเหตุการณ์นี้ ซึ่งเกิดขึ้นบนเส้นทางที่ปลอดภัยแห่งนี้ บนถนนชาลาห์ อัล-อิน ในกาซา ซิตี ตอนบ่ายวันศุกร์ (13 ต.ค.)

การโจมตีครั้งนี้ เป็นการโจมตีใส่ถนนสายหนึ่งซึ่งคับคั่งไปด้วยยานพาหนะ ในระหว่างที่ชาวปาเลสไตน์พยายามหลบหนีออกจากกาซา ก่อนถึงเส้นตายที่ทางอิสราเอลขีดไว้ สำหรับให้อพยพออกจากฉนวนแห่งนี้ ก่อนหน้าสิ่งที่คาดหมายว่า อิสราเอลจะเปิดปฏิบัติการโจมตีทางภาคพื้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมอิสราเอล ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุโจมตีคาราวานผู้อพยพ โดยอ้างว่าไม่พบสิ่งบ่งชี้ว่ากองกำลังของพวกเขาอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว

กระทรวงกลาโหมอิสราเอล ให้ข้อมูลเพียงว่าในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีพลเรือนมากกว่า 1 ล้านคนที่หลบหนีไปทางใต้ของฉนวนกาซา ผ่านถนนสายหลัก 2 สาย ระหว่าง 10.00 น. ถึง 16.00 น. ของวันเสาร์ (14 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น

จากการตรวจสอบของบีบีซี พบว่ามีผู้หญิงและเด็กเป็นหนึ่งในบรรดาผู้เสียชีวิตด้วย

วิดีโอที่เผยแพร่โดยกระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์ พบเห็นเจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉินกำลังเดินทางมาถึงจุดเกิดเหตุที่ถูกโจมตีทางอากาศ และมีเจ้าหน้าที่รถฉุกเฉินคันหนึ่งถูกโจมตี ระหว่างที่พวกเขากำลังพยายามพาตัวเด็กหญิงคนหนึ่งและผู้หญิงอีกคนเข้าไปภายในรถฉุกเฉิน

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางปฏิบัติการโจมตีแก้แค้นของอิสราเอล ต่อเหตุการณ์ที่พวกนักรบฮามาสบุกจู่โจมสายฟ้าแลบเข้าไปยังดินแดนของอิสราเอล เข่นฆ่าหลายครอบครัว กราดยิงใส่เทศกาลดนตรีหนึ่ง ฆาตกรรมทารกและเด็กไปราว 40 ชีวิต รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,300 รายในอิสราเอล

จนถึงตอนนี้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 2,200 คน ในปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ของอิสราเอล ในนั้นเป็นเด็ก 724 คน

เปิดปูมหลัง เหตุความชัง ‘อิสราเอล-ยิว-ไซออนิสต์’ ที่ไม่จำกัดวงแค่คนมุสลิม ‘คริสต์-ยิว’ นอกไซออนิสต์ ก็ขยาดพฤติกรรมอ้างสิทธิ 3 พันปีตั้งอิสราเอล

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 66 ติ๊กต๊อกช่อง ‘sulaimanwanie’ ได้ลงคลิปวิดีโอของอาจารย์สันติ เสือสมิง หรือ ‘อาลี เสือสมิง’ ประธานคณะอนุกรรมการคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ฝ่ายนิติศาสตร์อิสลาม สำนักจุฬาราชมนตรี ได้เคยออกมาบรรยายถึงสาเหตุที่ว่า ‘ทำไมมุสลิมถึงไม่ยอมรับประเทศอิสราเอล?’ ในกิจกรรมเปิดโลกอิสลาม ชมรมนิสิตมุสลิม เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2562 โดยกล่าวถึงผ่านข้อคำถามหนึ่งที่มีพูดในบรรยายครั้งนั้น ว่า…

ทำไม ‘อิสลาม’ ถึงเกลียดชังประเทศอิสราเอล และพี่น้อง ‘ชาวยิว’ ผู้นับถือศาสนายูดาห์?

เมื่อปี 1948 ‘เดวิด เบน-กูเรียน’ ประกาศตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นในดินแดนของ ‘ชาวปาเลสไตน์’

หากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นในช่วงยุคกลาง เมื่อศาสนาอิสลามได้ประกาศเผยแพร่ขยายออกไปในแอฟริกาเหนือ จนกระทั่งไปถึงประเทศสเปน ซึ่งในสเปนนั้นเคยมีชาวมุสลิมปกครองอยู่อย่างยาวนาน เกือบ 800 ปี

ชาวยิวเป็นกลุ่มชนที่ได้รับการคุ้มครองโดยชาวมุสลิม และชาวยิวที่อยู่ในการปกครองของชาวมุสลิมนั้น มีสถานภาพการดํารงชีวิตมีสิทธิเสรีภาพ มีการครองชีพดีกว่าชาวยิวที่อยู่ในดินแดนยุโรปในช่วงยุคกลาง เพราะชาวยิวในยุโรปนั้นถูกชาวคริสต์กดขี่

***เพราะฉะนั้น ‘คนยิว’ กับ ‘คนมุสลิม’ สามารถอยู่ร่วมกันด้วยดีมาตลอด นับตั้งแต่มีการประกาศศาสนา

‘นบี มุฮัมมัด’ ท่านได้ทําปฏิญญาสังคม หรือ ‘ธรรมนูญปกครอง’ โดยดึงชาวยิวมาร่วมเป็นพลเมืองในรัฐมะดีนะฮ์ ซึ่งเป็นรัฐอิสลาม และได้เรียกบุคคลเหล่านี้ว่า ‘กลุ่มชนแห่งพันธสัญญา’ ที่ได้รับการคุ้มครองในชีวิตและทรัพย์สิน มีสิทธิเสรีภาพในการถือศาสนา และมีหน้าที่ในการจ่ายภาษีรัชชูปการ เมื่อจ่ายภาษีรัชชูปการแล้วก็ไม่ต้องไปเป็นทหาร และยังคงสามารถนับถือในศาสนาเดิมของตนได้

***บางคนยกเรื่องนี้ เพื่อแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่า ชาวมุสลิมไปกดขี่ ไปรีดภาษีจากคนต่างศาสนา แต่ในเมื่อคุณเป็นพลเมืองของรัฐฯ คุณจะไม่จ่ายอะไรเลยเชียวหรือ?

คนมุสลิมต้อง ‘จ่ายซะกาต’ (Zakat) หมายถึง การบริจาคทานตามหลักการศาสนาอิสลาม และยังต้องจ่ายภาษีอีกด้วย

ดังนั้น เมื่อคนยิวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองภายใต้รัฐอิสลาม คุณก็ควรต้องเสียภาษีรัชชูปการส่วนนี้ด้วย เช่นเดียวกันกับพลเมืองคนอื่นๆ ในรัฐฯ

อีกทั้งเมื่อจ่ายภาษีรัชชูปการ คุณก็จะได้รับข้อยกเว้นไม่ต้องไปเป็นทหารในกองทัพด้วย คุณมีสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาด้วย สิ่งนี้เป็นเหมือนพันธสัญญาว่า “เมื่อคุณจ่ายภาษีนี้มา เราจะต้องปกป้องคุ้มครองคุณ”

***สิ่งนี้จึงทำให้ชาวยิวอยู่ร่วมกับชาวมุสลิมมาตราบจนกระทั่งเกิดสงครามกับนครมักกะฮ์ ที่ชาวยิวไปเข้าร่วมกับศัตรูของรัฐอิสลาม ซึ่งเป็นการกระทําที่ผิดสัญญาที่ได้เคยลงสัตยาบันกันเอาไว้ ว่าจะช่วยกันปกป้องรัฐอิสลาม แต่ชาวยิวกลับเป็นหนอนบ่อนไส้ ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทําให้ชาวยิวถูกเนรเทศออกจากคาบสมุทรอาหรับ

กระนั้น เมื่อพ้นยุคสมัยของศาสดามุฮัมมัดไปแล้ว และเข้าสู่สมัยอาณาจักรของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ได้มีการสถาปนาเมืองดามัสกัสขึ้นเป็นราชธานี ซึ่งในเมืองดามัสกัสนั้นก็มีชุมชนชาวยิวอาศัยอยู่ และชาวยิวก็มีส่วนสําคัญในฐานะพลเมืองในรัฐอิสลาม ที่อยู่กันแบบสุขสบาย ต่อมาเมื่อครั้งสถาปนารัฐเคาะลีฟะฮ์อับบาซียะฮ์ ในนครแบกแดด ชาวยิวก็มีชุมชนอยู่ข้างพระราชวังหลวงของเคาะลีฟะฮ์ เมื่อมุสลิมพิชิตดินแดนในสเปน ที่เมืองกอร์โดบา เมืองกรานาดา ที่เดิมทีเป็นถิ่นฐานของชาวยิว และชาวมุสลิมก็ได้สร้างอาณาจักรอยู่ที่นั่นร่วมกับชาวยิว

***ชาวยิวไม่ได้ถูกกดขี่ในดินแดนของชาวมุสลิม แต่ถูกกดขี่อยู่ในดินแดนของชาวคริสต์ เพราะชาวยิวเป็นผู้สังหาร ‘พระเยซูคริสต์’ บนไม้กางเขน

ชาวยิวอยู่กับชาวมุสลิมมาโดยตลอด จนกระทั่งจักรวรรดิอังกฤษเริ่มล่าอาณานิคม ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการดึงชาวยิวที่อพยพจากดินแดนต่างๆ มารวมกัน เพื่อสร้างนิคมของชาวยิวในดินแดนของชาวปาเลสไตน์ ทำให้ทางสุลต่านแห่งตุรกี ได้ออกมาประกาศว่า “คุณจะไปอยู่ในดินแดนไหนของออตโตมันก็ได้ แต่ไม่ให้ไปอยู่ในดินแดนของปาเลสไตน์”

***แต่ ‘องค์การไซออนิสต์สากล’ ก็ได้ออกมาประกาศเรียกร้องให้ชาวยิวกลับไปสู่ปาเลสไตน์ เพราะเป็นดินแดนแห่งพันธสัญญา

ประเด็นคือ หากจะบอกว่าชาวมุสลิมเกลียดชังประเทศอิสราเอล ต้องขอบอกว่าไม่ใช่เพียงแค่ชาวมุสลิมอย่างเดียว ชาวคริสต์ที่เป็นคนอาหรับนั้นก็รังเกียจประเทศอิสราเอลเช่นกัน เพราะชาวคริสต์ที่เป็นชาวอาหรับที่อาศัยอยู่ในเลบานอนก็มี อาศัยอยู่ในซีเรียก็มี แม้แต่ในเมืองเบธเลเฮม หรือเมืองนาซาเร็ธ ก็มีชาวอาหรับอาศัยอยู่ ซึ่งแม้เขาจะถือในศาสนาคริสต์ แต่เขาก็ไม่ชอบอิสราเอลเหมือนกัน

แม้กระทั่งชาวยิวในนิกายอื่นที่ไม่ใช่พวกไซออนิสต์ ก็มีการประท้วงไม่เห็นด้วยกับการที่ไปตั้งประเทศอิสราเอล เพราะประเทศอิสราเอลนี้เอาเรื่องในเหตุการณ์เมื่อ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล มาอ้างว่า “ดินแดนแห่งนี้เป็นของตน”

ประเด็นคือ ชาวยิวนั้น เดิมเป็นลูกหลานของ ‘ยิตซ์ฮาก’ (นบีอิสฮาก) บุตรของ ‘อับราฮัม’ ที่กำเนิดกับ ‘นางซาร่า’ ซึ่งเดินทางมาจากเมืองหนึ่งในเมโสโปเตเมีย ที่อยู่ในอิรัก สู่ ‘ดินแดนคานาอัน’ ของชาวคานาอัน ซึ่งชาวคานาอันนั้น เดิมทีเมื่อ 2,500 ปีก่อนคริสตกาล ได้ไปผสมรวมกับชาวเมืองที่มาจากเกาะครีตมาขึ้นที่เมืองเพทรัส หรือปารัส ซึ่งต่อมาได้มีการเรียกกลุ่มคนที่อยู่ที่เมืองปารัส ว่า ‘ปารัสชีอะห์’ เรียกดินแดนตรงนี้ว่า ‘ปีรัสเทียร์’ ซึ่งคือ ‘ปาเลสไตน์’

ดังนั้น คนปาเลสไตน์ ก็คือลูกผสมระหว่างคานาอันกับปาเลสไตน์ เขาว่ากันว่า เมื่อเราไปตรวจดีเอ็นเอของชาวปาเลสไตน์ จะพบว่า ชาวปาเลสไตน์ในปัจจุบันนี้นั้น มีผลดีเอ็นเอตรงกับคนเมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล หรือตั้งแต่สมัยฟินิเชียนนั่นเอง

เพราะชาวปาเลสไตน์ไม่เคยถูกขับไล่ให้ไปไหนเลย มีแต่ชาวยิวเท่านั้นที่แตกแยกย้าย กระจัดกระจายไปทั่วทุกดินแดนทั่วโลก ในขณะที่ชาวปาเลสไตน์ก็ยังคงอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์

พาสปอร์ตมาเลเซีย ไปไหนก็ได้...ยกเว้น 'อิสราเอล'

รู้หรือไม่? ในพาสปอร์ตของมาเลเซีย จะมีข้อความระบุไว้ว่า… ‘This passport is valid for all countries except Israel’ หรือแปลว่า ‘หนังสือเดินทางนี้ใช้ได้กับทุกประเทศ ยกเว้นอิสราเอล’

ปัจจุบันความสัมพันธ์ของ ‘มาเลเซีย-อิสราเอล’ อยู่ในระดับคู่ขนาน และเมื่อเกิดสงคราม ‘อิสราเอล-ปาเลสไตน์’ ยิ่งทำให้ทางการของมาเลเซีย ‘ตัดความสัมพันธ์พลเมือง’ โดยไม่ให้เข้าอิสราเอล แต่ในทางกลับกัน ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘มาเลเซีย-ปาเลสไตน์’ นั้นดีมาก หนำซ้ำในฉนวนกาซา ยังมีถนนชื่อ ‘มาเลเซีย’ อีกด้วย

‘พี่แจ๋ม’ ยอมเสี่ยง!! ขับรถฝ่าแนวทหารในอิสราเอล ช่วยแรงงานไทยหลายชีวิตที่ติดอยู่ในแคมป์คนงาน

(16 ต.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสถานการณ์การสู้รบในประเทศอิสราเอล หลังกลุ่มฮามาสบุกโจมตี ทำให้แรงงานไทยหลายพันชีวิตได้รับความเดือดร้อน ซึ่งล่าสุดเสียชีวิตแล้ว 29 คน ถูกจับเป็นตัวประกัน 18 คน ขณะที่แรงงานไทยบางส่วนได้รับการช่วยเหลือ อพยพไปในที่ปลอดภัยรวมทั้งเดินทางกลับประเทศไทยบ้างแล้ว

ขณะเดียวกัน สมาชิก TikTok @daphan383 ได้เผยแพร่คลิปของหญิง 2 รายที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอิสราเอล ยอมเสี่ยงชีวิตเข้าไปช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับความเดือดร้อนในแคมป์ต่าง ๆ คือพี่แจ๋มและพี่น้อง โดยมีคลิปของทั้ง 2 คน ขับรถฝ่าแนวของทหารเข้าไปช่วยเหลือคนไทยที่ติดอยู่ในแคมป์ไม่สามารถออกมาได้

โดยในคลิปพี่แจ๋มและพี่น้องอยู่ในอาการตื่นตระหนก ขณะกำลังขับรถเข้าไปในแคมป์ที่มีแรงงานไทยอยู่เพื่อช่วยเหลือออกมา และมีรถถังและกลุ่มทหารของอิสราเอลเฝ้าประจำการอยู่ ซึ่งทั้งคู่นั้นได้รับการประสานจากแรงงานไทยและญาติให้เข้าไปช่วยเหลือ

นอกจากนี้ยังมีแรงงานไทยถูกระเบิดและถูกยิงได้รับบาดเจ็บแต่กลับถูกนายจ้างบังคับให้ทำงาน ก่อนเข้าไปช่วยเหลือพาส่งโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัย และยังมีคลิปที่พี่แจ๋มประสานทางการช่วยพาคนไทยจำนวน 32 คนออกมาจากแคมป์แล้วพาไปอยู่ในที่ปลอดภัย

ขณะที่ชาวเน็ตหลังเห็นวีรกรรมความกล้าของทั้ง 2 คน ต่างก็ยกย่องให้เป็นวีรสตรี เพราะยอมเสี่ยงตายช่วยเหลือพี่น้องคนชาติเดียวกัน โดยไม่กลัวว่าตัวเองจะได้รับอันตรายแต่อย่างใด และพากันชื่นชมในความกล้า โดยล่าสุดพบว่าพี่แจ๋มได้เดินทางกลับมายังประเทศไทยแล้ว

ระทึก!! ‘อิหร่าน’ ขู่ชิงโจมตีอิสราเอลก่อน ใน ‘อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า’ หลังรัฐยิวตั้งท่าบุกฉนวนกาซา โหมกระพือความขัดแย้งลุกลามหนัก

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เตือนว่ามีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะชิงโจมตีเล่นงานอิสราเอลก่อน ‘ในอีกไม่ชั่วโมงข้างหน้า’ ส่งสัญญาณแข็งกร้าวถึงอิสราเอล ในขณะที่รัฐยิวเตรียมพร้อม สำหรับเปิดปฏิบัติการจู่โจมทางภาคพื้นบุกเข้าไปยังฉนวนกาซา

เตหะรานส่งเสียงเตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ว่าการรุกรานทางภาคพื้นฉนวนกาซา ที่ถูกปิดล้อมมาช้านาน จะต้องเจอกับการตอบโต้จากแนวหน้าอื่นๆ โหมกระพือความกังวลว่าความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มนักรบปาเลสไตน์ ฮามาสอาจลุกลามขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น ลากประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมวงด้วย

“ความเป็นไปได้ของปฏิบัติการชิงโจมตีก่อนของเครือข่าย ‘Axis of Resistance’ (กลุ่มซึ่งเป็นการผนึกกำลังกันระหว่างกลุ่มก๊กมุสลิมชีอะห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านในอิรัก กับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน) คาดหมายว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า” ‘ฮอสเซน อามีร์ อับดอลลาห์เฮียน’ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐ อ้างถึงการประชุมระหว่งเขากับ ‘ฮัสซัน นาสรัลเลาะห์’ ผู้นำฮิซบอลเลาะห์ เมื่อวันเสาร์ (14 ต.ค.)

ก่อนหน้านี้ในวันจันทร์ (16 ต.ค.) ‘ฮอสเซน อามีร์ อับดอลลาห์เฮียน’ และ ‘อิบราฮิม ไรซี’ ประธานาธิบดีอิหร่าน ต่างบอกว่าเวลาสำหรับการหาทางออกทางการเมืองใกล้หมดลงแล้ว และเตือนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสจะลุกลามสู่แนวหน้าอื่นๆ

‘อามีร์ อับดอลลาห์เฮียน’ ประกาศกร้าวว่าพวกผู้นำ Axis of Resistance จะไม่ยอมให้อิสราเอลทำอะไรตามอำเภอใจในฉนวนกาซา “ถ้าเราไม่ปกป้องฉนวนกาซาในวันนี้ วันพรุ่งนี้เราคงจำเป็นต้องป้องกันสกัดระเบิดฟอสฟอรัสเหล่านี้ จากการพุ่งใส่โรงพยาบาลเด็กทั้งหลายในประเทศของเราเอง”

อิสราเอล ประกาศสงครามกับกลุ่มนักรบ ‘ฮามาส’ ในดินแดนปาเลสไตน์หนึ่งวัน หลังจากพวกนักรบส่งสมาชิกระลอกแล้วระลอกเล่าจากฉนวนกาซา บุกฝ่าแนวป้องกันอันหนาแน่นเข้าไปโจมตีภายในอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม เข่นฆ่าพลเรือนไปกว่า 1,400 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน

ทางอิสราเอล ตอบโต้กลับด้วยการทิ้งบอมบ์ถล่มฉนวนกาซาเป็นชุดๆ แบบไม่มีหยุด ทั้งจากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศและปืนใหญ่ ทำย่านต่างๆ พังราบเป็นหน้ากลอง สังหารชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 2,750 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนเช่นกัน

เบื้องต้น อิหร่านออกมาแสดงความยินดีปรีดาต่อปฏิบัติการจู่โจมของฮามาส แต่ยืนกรานว่าพวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

คำเตือนของอิหร่านในวันจันทร์ (16 ต.ค.) มีขึ้นในขณะที่อิสราเอลได้เตรียมการสำหรับเปิดฉากรุกรานทางภาคพื้นเข้าไปยังฉนวนกาซา ท่ามกลางความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า มีพลเรือนปาเลสไตน์ติดอยู่ในฉนวนที่ถูกทิ้งบอมบ์อย่างหนักแห่งนี้เป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่อิสราเอลเปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ

อนึ่งนับตั้งแต่เหตุการณ์ปฏิวัติอิสลามปี 1979 อิหร่านหยิบยกการสนับสนุนปาเลสไตน์เป็นหนึ่งในเสาหลักของอุดมการณ์ของพวกเขา

สื่อนอก เผย ‘บอดี้การ์ดเทย์เลอร์ สวิฟต์’ ทิ้งเงินเดือน 18 ลบ./ปี เดินทางกลับบ้านเกิด เข้าร่วมกองทัพอิสราเอลสู้รบกลุ่มฮามาส

(17 ต.ค. 66) สื่ออิสราเอลรายงานว่า โซเชียลเตรียมเมลท์ดาวน์ได้เลย..เพราะหนึ่งในบอดี้การ์ดของนักร้องชื่อดัง ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’ ในทัวร์คอนเสิร์ต Eras Tour ที่โด่งดังและราคาบัตรเข้าชมสุดแพงเดินทางจากสหรัฐฯ กลับเข้าบ้านเกิดอิสราเอลร่วมกับกองกำลังทหาร IDF สู้กับฮามาส และทิ้งเงินเดือน 18 ล้านบาท/ปีไว้ข้างหลัง

สกายนิวส์ของอังกฤษรายงานเมื่อวานนี้ (16 ต.ค.) ว่า นักร้องอเมริกันขวัญใจคนทั้งโลก เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ต้องสูญเสียบอดี้การ์ดคนสำคัญไปหนึ่งคนอย่างช่วยไม่ได้

บิสซิเนสอินไซเดอร์เคยรายงานเมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ราคาเฉลี่ยของบัตรเข้าชมคอนเสิร์ต Eras Tour ที่ถูกนำกลับมาขายต่ออยู่ที่ราว 3,801 ดอลลาร์ หรือราว 137,913 บาท

สื่ออิสราเอลรายงานว่า หนึ่งในบอดี้การ์ดของนักร้องชื่อดังในทัวร์คอนเสิร์ต Eras Tour ที่มากรอบและบัตรค่าเข้าชมสุดแพงและหายากยอมตัดใจสละเงินเดือนสูงถึง 500,000 ดอลลาร์/ปี หรือ 18,127,000 บาท/ปี (อ้างอิงจากอัตราแลกเปลี่ยนประจำวันที่ 16 ต.ค.66 สำหรับ 1 ดอลลาร์ต่อ 36.25 บาท) เดินทางออกจากสหรัฐฯ กลับไปอิสราเอลบ้านเกิดเพื่อเข้าร่วมกับกองกำลังทหาร IDF สู้รบกับกลุ่มติดอาวุธฮามาส

บอดี้การ์ดที่ไม่เปิดเผยชื่อให้สัมภาษณ์กับสื่ออิสราเอล Hayom ว่า “ผมมีชีวิตที่ดีมากในสหรัฐฯ งานในฝัน เพื่อนที่ดีมาก และบ้านที่มีความสะดวกสบาย”

และเสริมต่อว่า “ผมไม่จำเป็นต้องมาที่นี่ แต่ผมไม่สามารถอยู่เฉยในขณะที่ครอบครัวกำลังโดนสังหารหรือถูกเผาทั้งเป็นในบ้านของคนเหล่านั้น”

บอดี้การ์ดเทย์เลอร์ สวิฟต์ กล่าวอีกว่า “อย่าอยู่เฉยแต่ไม่ทำอะไร อย่างยืนผิดข้างของประวัติศาสตร์”

ทั้งนี้พระแรบไบยิว ชมูเอล ไรช์มาน (Shmuel Reichman) ได้โพสต์ภาพของบอดี้การ์ดและได้เปิดเผยว่า พ่อหนุ่มรายนี้ยอมตัดใจทิ้งเงินค่าตอบแทนก้อนโตถึง 500,000 ดอลลาร์/ปีทิ้งไป ยังไม่รวมถึงการได้พบกับนักร้องสาวชื่อดังอย่างใกล้ชิดแบบตัวเป็น ๆ

ไรช์มานกล่าวว่า บอดี้การ์ดปัจจุบันได้อยู่ในหน่วยของกองกำลัง IDF และกำลังฝึกฝนเพื่อจัดการกับปิศาจฮามาสที่ชั่วร้าย

‘UNSC’ ตีตกข้อเสนอ ‘รัสเซีย’ ไม่ผ่านมติหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรม หลังเรียกร้องให้ ‘อิสราเอล-ฮามาส’ ปล่อยตัวประกัน-อพยพ ปชช.

(17 ต.ค. 66) จากกรณีที่รัสเซียยื่นร่างข้อเสนอ เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 66 ซึ่งเรียกร้องให้ปล่อยตัวตัวประกัน การเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการอพยพพลเรือนที่ต้องการอย่างปลอดภัย ในพื้นที่ฉนวนกาซา ระหว่างการสู้รบของกองทัพอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาส เข้าสู่ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) นั้น ล่าสุด มติดังกล่าวไม่ผ่านการรับรองจากที่ประชุม

รายงานข่าว Russia push for UN Security Council action on Israel, Gaza fails จากสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า ในการประชุม UNSC เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา มติซึ่งต้องการคะแนนเสียงขั้นต่ำ 9 จากกลุ่มสมาชิก 15 ชาติ ได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบเพียง 5 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง

จีนอยู่ตรงไหน? ในความขัดแย้ง 'อิสราเอล-ปาเลสไตน์'

ปัจจุบัน 'จีน' ถือหนึ่งในผู้เล่นที่มีบทบาทสูงในเวทีโลกทั้งในมิติเศรษฐกิจและในมิติความมั่นคง เชื่อว่า จีนไม่ได้เลือกข้างที่จะสนับสนุนด้านใด ไม่ว่าจะเป็น อิสราเอล ปาเลสไตน์ และ/หรือ ฮามาส แต่จีนเลือกข้างการสนับสนุนการสร้างสันติภาพในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะ ‘จีน’ ดำเนินนโยบายเช่นนี้มาแล้วอย่างต่อเนื่องยาวนาน อย่างน้อยก็ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

โดยจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงก็เริ่มสร้างสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีกับโลกมุสลิมผ่านประเด็นที่เปราะบางที่สุดในโลกมุสลิม ซึ่งก็คือ ประเด็นปาเลสไตน์ โดยเชิญทั้ง มาห์มูด อับบาส (Mahmoud Abbas) ประธานาธิบดีแห่งรัฐปาเลสไตน์ และ เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรีอิสราเอลให้เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการในช่วงเวลาเดียวกัน แม้จะเป็นคนละพื้นที่ก็ตาม (จีนเชิญ เนทันยาฮูไปยังมหานครเซี่ยงไฮ้ และเชิญอับบาสไปยังกรุงปักกิ่ง) 

จีนยังใช้ความเป็นเจ้าภาพในการนำเสนอแผนการสร้างสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ใน ค.ศ.2013 (Four-Point Peace Proposal) ซึ่งมีข้อเสนอคือ...

1) เรียกร้องให้มีการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ที่มีอิสระเสรีภาพทุกประการอยู่ร่วมควบคู่ไปกับรัฐอิสราเอล โดยยึดแผนที่และเขตแดนตามที่ตกลงกันไว้ใน ค.ศ. 1967 (ซึ่งปัจจุบันฝ่ายอิสราเอลเข้าไปครอบครองดินแดนเกือบทั้งหมดของปาเลสไตน์) โดยให้เมืองหลวงของปาเลสไตน์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเยรูซาเล็ม 

2) อิสราเอลยังมีสิทธิในการรักษาความมั่นคงของตนเอง แต่ต้องเริ่มต้นกระบวนการเจรจาสันติภาพเพื่อสันติสุขที่ยั่งยืนโดยมีประชาชนของทั้งสองรัฐเป็นที่ตั้ง 

3) เรียกร้องให้ฝ่ายอิสราเอลยุติการเข้าไปตั้งถิ่นฐาน การปิดล้อมและยึดครองพื้นที่ฉนวนกาซา และทั้ง 2 ฝ่ายต้องยุติการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน รวมทั้งต้องแสวงหาทางออกสำหรับนักโทษชาวปาเลสไตน์ร่วมกัน โดยเชื่อว่านี่คือเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการเริ่มต้นการเจรจาสันติภาพ และ 

4) เรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมและให้การสนับสนุนเพื่อให้การเจรจาระหว่าง 2 ฝ่ายเกิดขึ้นได้อีกครั้ง รวมทั้งเรียกร้องให้นานาชาติให้ความช่วยเหลือแก่ชาวปาเลสไตน์เพิ่มขึ้น 

สิ่งนี้คือการแสดงความพยายามครั้งแรกของจีนที่จะเข้ามามีบทบาทในการไกล่เกลี่ยเพื่อกระบวนการสร้างความสมานฉันท์ท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง และนั่นทำให้คะแนนนิยมและความชื่นชมจีนในกลุ่มประชาคมความร่วมมือสันนิบาตอาหรับ (Arab League) อันประกอบไปด้วยสมาชิก 22 ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ได้แก่ แอลจีเรีย, บาห์เรน, คอโมโรส, จิบูตี, อียิปต์, อิรัก, จอร์แดน, คูเวต, เลบานอน, ลิเบีย, มอริเตเนีย, โมร็อกโก, โอมาน, ปาเลสไตน์, กาตาร์, ซาอุดิอาระเบีย, โซมาเลีย, ซูดาน, ซีเรีย, ตูนิเซีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน มีความนิยมต่อจีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 

อีกทั้งจีนเองก็ยังดำเนินการผลักดันข้อเสนอสันติภาพนี้อย่างต่อเนื่อง 

โดยล่าสุดใน ค.ศ.2021 (ก่อนที่จะมีการปะทะกันครั้งล่าสุดในวันที่ 7 ตุลาคม 2023) หวัง อี้ (王毅 Wáng yì) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นก็ยังคงเดินหน้าผลักดันข้อเสนอเพื่อสันติภาพ 4 ประการข้างต้น โดยจีนเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดปฏิบัติการทางทหารและหยุดการเป็นศัตรูกันโดยทันที และกล่าวว่า “อิสราเอลต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจเป็นพิเศษ” รวมถึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการดำเนินการแผนการสร้างสันติภาพ ค.ศ. 2013

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าการออกมาเรียกร้องของจีนใน ค.ศ. 2021 นี้ก็เป็นการตอบโต้แนวทางการขับเคลื่อนปัญหาตะวันออกกลางของสหรัฐฯ อย่างตรงไปตรงมา เพราะก่อนหน้านั้นสหรัฐฯ เพิ่งจะขัดขวางมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เรียกร้องให้มีการหยุดยิงในพื้นที่ขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ รวมทั้งสหรัฐฯ ยังอนุมัติการขายอาวุธมูลค่า 735 ล้านดอลลาร์แก่อิสราเอล ท่ามกลางการโจมตีอย่างต่อเนื่องของอิสราเอลต่อ ศูนย์พักพิงพลเรือนในฉนวนกาซา 

การแสดงความจริงใจ และการผลักดันสันติภาพในดินแดนปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่องของจีนถือเป็นการซื้อใจประชาคมโลกมุสลิมซึ่งรู้สึกเจ็บแค้นและชิงชังในท่าทีรุกรานของอิสราเอล รวมถึงแนวทางของโลกตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ ที่มักจะใช้การสร้างความแตกแยกระหว่างรัฐต่าง ๆ ในโลกมุสลิมเพื่อเข้าไปครอบงำ และ/หรือครอบครองการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง

และนี่คือข้อความบางส่วนจาก บทที่ 19 พันธมิตรซุนกวน-เล่าปี่ แห่งศตวรรษที่ 21: พันธมิตรจีน โลกมุสลิม และเศรษฐกิจเกิดใหม่ จากหนังสือ Amidst the Geo-Political Conflicts #สมรภูมิพลิกอำนาจโลก โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม และ รองศาสตราจารย์ ดร.จักรี ไชยพินิจ เผยแพร่โดย สำนักพิมพ์มติชน 

‘2 มหาเศรษฐีเชื้อสายยิว’ ประกาศงดให้ทุนสนับสนุน ‘ม.ฮาร์วาร์ด’ อ้าง!! ผิดหวังต่อท่าทีของสถาบัน ปมสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 66 ‘เลส เว็กซ์เนอร์’ มหาเศรษฐีเชื้อสายยิวระดับพันล้าน และเป็นผู้ก่อตั้ง ‘วิกตอเรีย ซีเคร็ต’ (Victoria's Secret) บริษัทออกแบบและจำหน่ายชุดชั้นในระดับ Luxury ประกาศถอนเงินทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สถาบันการศึกษาชั้นนำของสหรัฐฯ

‘มูลนิธิเว็กซ์เนอร์’ ซึ่งมีแนวคิดสนับสนุนชาวยิว ก่อตั้งโดย ‘เลส เว็กซ์เนอร์’ เอง มีความผูกพันอย่างลึกซึ้งกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้แจงว่า การตัดสินใจดังกล่าวสืบเนื่องมาจากท่าทีของมหาวิทยาลัย ที่แสดงออกต่อการโจมตีพลเรือนอิสราเอลของกลุ่มฮามาส

ขณะเดียวกัน กลุ่มนักลงทุน ผู้บริหารและผู้บริจาครายสำคัญ ๆ ของสถาบันการศึกษาชั้นนำของสหรัฐฯ ก็เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยในกลุ่ม ‘ไอวีลีก’ แสดงท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้น ในการสนับสนุนอิสราเอลและประณามพฤติกรรมต่อต้านชาวยิว

ในแถลงการณ์ของมูลนิธิเว็กซ์เนอร์ ที่มีผู้นำไปโพสต์บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) ได้กล่าวหาว่า กลุ่มผู้บริหารของ ‘ฮาร์วาร์ด’ นั้น แสดงท่าทีที่ ‘คลุมเครือ’ และ ‘ผิวเผิน’ ต่อประเด็นการโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาส ซึ่งทางมูลนิธิได้ยืนยันว่า แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นของจริง โดยในแถลงการณ์ระบุว่า…

“เนื่องจากฮาร์วาร์ดไม่แสดงความชัดเจนในการเลือกข้างทางศีลธรรม มูลนิธิเว็กซ์เนอร์จึงขอประกาศว่าขอยุติความร่วมมือต่าง ๆ ที่เคยมีกับวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี เนื่องจากแนวทางและค่านิยมของแต่ละฝ่ายไม่สอดคล้องกัน”

ด้านโฆษกของวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดีก็ชี้แจงว่า ทางสถาบันยืนยันอย่างชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการก่อการร้าย และการบุกโจมตีพลเรือนอิสราเอลอย่างโหดเหี้ยมของกลุ่มหัวรุนแรงฮามาส อย่างไรก็ตาม วิทยาลัยก็ขอแสดงความขอบคุณมูลนิธิเว็กซ์เนอร์ ที่ให้การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่สถาบันมาตลอด

‘ดัก เอลเมนดอร์ฟ’ คณบดีของวิทยาลัยออกแถลงการณ์กล่าวประณามการโจมตีของกลุ่มฮามาส แต่ก็แสดงความกังวลเรื่องที่มีการข่มขู่ คำพูดแสดงความเกลียดชัง การกลั่นแกล้งออนไลน์และพฤติกรรมแสดงความบ้าคลั่งอื่นๆ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนใน ‘ชุมชนฮาร์วาร์ด’

ก่อนหน้ายุติความร่วมมือ มูลนิธิเว็กซ์เนอร์มอบทั้งทุนการศึกษาให้นักศึกษาจากวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดีมากว่า 3 ทศวรรษ และจัดให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลอิสราเอลเข้าอบรมด้านการบริหารจัดการและความเป็นผู้นำองค์กรจากทางสถาบัน

ด้าน ‘ไอแดน โอเฟอร์’ มหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยลำดับที่ 81 ของโลก เจ้าของบริษัทควอนตัม แปซิฟิก กรุ๊ป และผู้ได้ชื่อว่าเป็นคนที่รวยที่สุดในอิสราเอล พร้อม ‘บาเทีย โอเฟอร์’ ภรรยาของเขา ก็ถอนตัวออกจากคณะกรรมการบริหารวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี ซึ่งครอบครัวของเขามอบทุนการศึกษาแก่ทั้งชาวอิสราเอลและปาเลสไตน์ ให้เข้าเรียนที่นี่มาตั้งแต่ปี 2560

นอกจากนี้ สำนักข่าวของชุมชนชาวยิว ‘เดอะ มาร์เคอร์’ ยังระบุว่า สองสามีภรรยาโอเฟอร์ยังยกเลิกโครงการบริจาคเงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แก่สถาบันอีกด้วย

มีผู้แสดงความเห็นว่า การถอนตัวนี้อาจเป็นเพราะ ฮาร์วาร์ดปล่อยให้มีการแสดงออกอย่างอิสระจากกลุ่มนักศึกษาฝั่งปาเลสไตน์ โดย ‘คริสทีน เกย์’ อธิการบดีของฮาร์วาร์ด ชี้แจงว่า มหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วยต่อการก่อการร้าย แต่ก็ไม่เห็นด้วยต่อการรังควานหรือข่มขู่ใคร โดยอ้างอิงจากพื้นฐานความเชื่อส่วนบุคคล

เกย์ ยังกล่าวว่า สถาบันยึดมั่นต่อเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด ซึ่งรวมถึงมุมมองที่คนส่วนใหญ่อาจไม่เห็นด้วย หรือแสดงความอุกอาจจนดูเหมือนการล่วงละเมิด

ด้าน โอเฟอร์ แสดงความเห็นว่าคณะผู้บริหารของฮาร์วาร์ด ได้ทำลายความเชื่อมั่นในสถาบันของพวกเขาไปแล้ว ซึ่งทำให้พวกเขาไม่อาจทำใจสนับสนุนสถาบัน และชุมชนของมหาวิทยาลัยได้อีกต่อไป

ครอบครัวโอเฟอร์ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ถึงเหตุผลที่พวกเขาถอนตัวออกจากการเป็นกรรมการบริหารของวิทยาลัยว่า สืบเนื่องมาจากท่าทีที่ไม่ชัดเจนของกลุ่มผู้บริหารของมหาวิทยาลัยในการสนับสนุนชาวอิสราเอล หลังจากเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในดินแดนอิสราเอลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รวมทั้งเจตนาที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ‘ไม่ยอมรับว่ากลุ่มฮามาสคือองค์การก่อการร้าย’

สองสามีภรรยาโอเฟอร์ระบุว่า ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยข้อมูลเท็จที่กระจายไปทั่วแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย สถาบันศึกษาชั้นนำของโลกเหล่านี้ จำเป็นต้องแสดงตัวอย่างชัดเจนว่า คิดเห็นอย่างไรในช่วงเวลาอันวิกฤติเช่นนี้

‘ไบเดน’ จ่อขอสภาฯ อนุมัติงบเสริมแกร่งกองทัพ ‘อิสราเอล’ ชี้!! เพื่อความมั่นคงของสหรัฐฯ และเป็นการลงทุนที่ชาญฉลาด

(20 ต.ค. 66) สำนักข่าวรอยเตอร์ เสนอข่าว Biden to seek billions in military aid for Israel as invasion of Gaza nears ระบุว่า ในการปราศรัยของ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 ผู้นำสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ในวันที่ 20 ต.ค. 66 ตนจะขอให้รัฐสภาอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับการสนับสนุนอิสราเอล เพื่อเสริมขีดความสามารถของกองทัพอิสราเอลให้แข็งแกร่งขึ้น โดยย้ำว่า เพื่อรักษาความมั่นคงของสหรัฐฯ จำเป็นต้องสนับสนุนพันธมิตรที่สำคัญอย่างอิสราเอล นี่เป็นการลงทุนที่ชาญฉลาดที่จะจ่ายผลตอบแทนให้กับสหรัฐฯ ไปอีกหลายชั่วอายุคน

รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า หากคำขอของไบเดนได้รับการอนุมัติงบประมาณด้านนี้ของสหรัฐฯ จะมีมูลค่ารวมถึง 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 3.5 แสนล้านบาท อีกด้านหนึ่ง บนพื้นดินในฉนวนกาซา ดูเหมือนว่าอิสราเอลกำลังเข้าใกล้การเปิดปฏิบัติการภาคพื้นดิน บุกเข้าสู่ฉนวนกาซาเต็มรูปแบบที่ปกครองโดยกลุ่มฮามาส ซึ่งปัจจุบันกองทัพอิสราเอลระดมกำลังพลและยุทโธปกรณ์อยู่บริเวณใกล้ชายแดนฉนวนกาซา 

โดย โยฟ กัลลันท์ (Yoav Gallant) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอิสราเอล กล่าวกับทหารอิสราเอล เมื่อวันที่ 19 ต.ค.66 ว่า ตอนนี้เราเห็นฉนวนกาซาจากระยะไกล แต่อีกไม่นานเราจะเห็นมันจากด้านใน คำสั่งกำลังจะตามมาในเร็ว ๆ นี้

อิสราเอลโจมตีฉนวนกาซาด้วยการโจมตีทางอากาศหลังเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 66 ที่นักรบของกลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอล ซึ่งคร่าชีวิตชาวอิสราเอลไป 1,400 ราย อีกทั้งยังปิดล้อมฉนวนกาซาประชาชน 2.3 ล้านคนและส่งสัญญาณการบุกภาคพื้นดินเต็มรูปแบบ พลเรือนในฉนวนกาซากล่าวว่าสถานการณ์ของพวกเขาสิ้นหวังมากขึ้น เนื่องจากขาดแคลนอาหาร น้ำ เชื้อเพลิง และเวชภัณฑ์ มีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 3,500 ราย และอีกกว่าล้านคนกลายเป็นคนไร้บ้าน ตามการระบุของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขปาเลสไตน์ ด้าน อัยมาน ซาฟาดี (Ayman Safadi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจอร์แดน กล่าวว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่กำลังจะเกิดขึ้น

ในระหว่างการเยือนอิสราเอลเป็นเวลา 8 ชั่วโมงเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 66 ไบเดนพยายามทำข้อตกลงเพื่อขอความช่วยเหลือในฉนวนกาซา แต่ประสบความสำเร็จอย่างจำกัด เขากล่าวว่าอิสราเอลและอียิปต์เห็นพ้องกันว่ารถบรรทุก 20 คันพร้อมสิ่งของบรรเทาทุกข์สามารถข้ามเข้าไปในเขตนี้ได้ ขณะที่แหล่งข่าวด้านความมั่นคงของอียิปต์ 2 รายกล่าวว่า อุปกรณ์ถูกส่งไปเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 ผ่านการข้ามพรมแดนเพื่อซ่อมแซมถนนในฝั่งฉนวนกาซา ท่ามกลางรถบรรทุกมากกว่า 100 คันยังกำลังจอดรออยู่ในอียิปต์ ด่านดังกล่าวปิดตั้งแต่อิสราเอลเริ่มโจมตีในฝั่งปาเลสไตน์

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า เดวิด แซทเทอร์ฟิลด์ (David Satterfield) ทูตพิเศษสหรัฐฯ ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้ทำงานด้านประเด็นด้านมนุษยธรรมในตะวันออกกลาง ยังคงเจรจากับทางการอิสราเอลและอียิปต์ ในเรื่องของรูปแบบที่แน่นอนในการส่งมอบความช่วยเหลือ ซึ่งปัจจุบันประสบความล่าช้า ขณะที่อิสราเอลเรียกร้องการรับรองว่ากลุ่มติดอาวุธฮามาสไม่สามารถควบคุมสิ่งของบรรเทาทุกข์ได้

องค์การสหประชาชาติ (UN) เรียกร้องให้ความช่วยเหลือเร่งกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดความขัดแย้ง ซึ่งปกติแล้วจะมีรถบรรทุก 100 คันต่อวันลำเลียงสิ่งของไปช่วยเหลือชาวกาซา โดยมีรายงานว่า วันที่ 20 ต.ค. 66 อันโตนิโอ กูเตร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ จะเดินทางไปเยือนด่านพรมแดนราฟาห์ จุดเชื่อมระหว่างอียิปต์กับฉนวนกาซา ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ กิลาด เออร์ดาน (Gilad Erdan) เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ กล่าวในการชุมนุมในนิวยอร์ก ตำหนิว่า เลขาธิการใหญ่ UN ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ก่อการร้าย

ขณะเดียวกัน เหตุระเบิดในโรงพยาบาลในฉนวนกาซาเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 66 สร้างความโกรธเคืองแก่โลกอาหรับ และการรุกรานภาคพื้นดินของอิสราเอลที่คาดการณ์ไว้ เพิ่มความหวาดกลัวว่าความขัดแย้งจะขยายวงออกไป ชาวปาเลสไตน์กล่าวโทษการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลว่าเป็นต้นเหตุของเหตุระเบิดในโรงพยาบาล แต่อิสราเอลกล่าวว่ามีสาเหตุมาจากการยิงจรวดที่ล้มเหลวโดยกลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์ ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ สนับสนุนอิสราเอล

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า เรือรบของกองทัพเรือสหรัฐฯ ลำหนึ่งสามารถสกัดกั้นขีปนาวุธร่อน 3 ลูก และโดรนหลายลำที่กลุ่มติดอาวุธฮูตียิงมาจากประเทศเยเมน ซึ่งคาดว่ามีเป้าหมายมุ่งหน้าสู่อิสราเอล โดยกลุ่มฮูตีนั้นเหมือนกับกลุ่มฮามาสที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ในวันเดียวกัน กลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ซึ่งเป็นพันธมิตรอีกรายหนึ่งของอิหร่าน เปิดเผยว่าา ได้ยิงจรวดใส่ที่มั่นของอิสราเอลในหมู่บ้านมานารา และดึงการโจมตีด้วยปืนใหญ่ของอิสราเอล เพื่อตอบโต้หลังจากความรุนแรงบริเวณชายแดนเพิ่มความรุนแรงครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 17 ปี

แหล่งข่าวด้านความมั่นคงของเลบานอน และกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ให้ข้อมูลตรงกันว่า เหตุปะทะระหว่างกองทัพอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ บริเวณชายแดนเลบานอน-อิสราเอล เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 มีพลเรือนเสียชีวิต 1 ราย ขณะที่กองทัพเลบานอน กล่าวเพิ่มเติมว่า มีผู้สื่อข่าวชาวเลบานอนเสียชีวิต 1 ราย โดยอ้างว่ามาจากการโจมตีของอิสราเอล นอกจากนั้นยังมีสื่อมวลชน 7 คน ติดอยู่ในวงล้อม และประสานให้กองกำลังของ UN เข้าไปช่วยเหลือ ขณะที่ฝ่ายอิสราเอล ชี้แจงว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

ท่ามกลางความกังวลว่าเวสต์แบงก์ ดินแดนเชื่อมต่อระหว่างอิสราเอลกับเลบานอน อาจกลายเป็นแนวรบที่ 3 ในสงครามที่กว้างขึ้น ชาวปาเลสไตน์ 13 คนถูกสังหารในการปะทะกับกองกำลังอิสราเอลในค่ายผู้ลี้ภัยนูร์ชามส์ในเมืองทูลคาร์ม ฝั่งตะวันตก ตามรายงานเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 66 โดยสภาเสี้ยววงเดือนแดง (สภากาชาด) ปาเลสไตน์ ด้าน อาบู โอเบดา (Abu Obeida) โฆษกของกลุ่มฮามาส กล่าวว่า พวกตนได้เตรียมพร้อมสำหรับการทำสงครามยืดเยื้อกับกองทัพอิสราเอล และเรียกร้องให้ผู้คนในประเทศอาหรับและมุสลิมประท้วงต่อต้านอิสราเอล.

นสพ.The Guardian ของอังกฤษ เสนอข่าว New York’s Jewish community rallies for release of Israeli hostages: ‘They should be on the front page’ ระบุว่า ที่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา วันที่ 19 ต.ค. 66 ชุมชนชาวยิวได้รวมตัวกันบริเวณจตุรัสไทมส์ สแควร์ เรียกร้องให้กลุ่มฮามาสปล่อยตัวประกัน 203 คน ที่ถูกจับไปในเหตุการณ์กลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอล วันที่ 7 ต.ค. 66

การชุมนุมจัดโดยสภาอิสราเอล-อเมริกัน ดึงดูดผู้เข้าร่วมทางการเมือง เช่น ชัค ชูเมอร์ (Chuck Schumer) นักการเมืองพรรคเดโมแครต ผู้นำฝ่ายเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐฯ กิลาด เออร์ดาน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ และ เอริก อดัมส์ (Eric Adams) นายกเทศมนตรีเมืองนิวยอร์ก ซึ่งที่เมืองนี้มีผู้นับถือศาสนายิวประมาณ 1.6 ล้านคน มากกว่าใน 2 เมืองของอิสราเอลอย่างเทลอาวีฟและเยรูซาเลมรวมกัน

ในการชุมนุมครั้งนี้ ทูตอิสราเอลประจำ UN ให้คำมั่นว่า จนกว่าที่ตัวประกันชาวอิสราเอลจะต้องได้กลับบ้าน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) และฉนวนกาซาจะไม่มีช่วงเวลาที่เงียบสงบ พร้อมกับ ยังตำหนิท่าทีของ อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ที่มองข้ามความเจ็บปวดของชาวอิสราเอล ซึ่งมีกำหนดการเดินทางไปเยือนด่านชายแดนราฟาห์ จุดเชื่อมต่อระหว่างอียิปต์กับฉนวนกาซา ในวันที่ 20 ต.ค. 66 ว่า ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ก่อการร้ายที่ลักพาตัวคนที่เรารัก 

“หากเลขาธิการใส่ใจต่อความต้องการด้านมนุษยธรรมอย่างแท้จริง ตัวประกันของเราก็ต้องมีความสำคัญสูงสุดของเขา” เออร์ดาน กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top