Sunday, 25 May 2025
อินโดนีเซีย

'อินโดนีเซีย' สั่งแบนสมาร์ทโฟน 'Google Pixel' เหตุไม่ใช้ชิ้นส่วนผลิตในประเทศอย่างน้อย 40%

(1 พ.ย. 67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า อินโดนีเซีย ได้สั่งห้ามจำหน่าย 'Google Pixel’ สมาร์ทโฟนที่ผลิตโดยบริษัทกูเกิล ที่เป็นบริษัทลูกของอัลฟาเบต เนื่องจากตามระเบียบแล้วกำหนดให้สมาร์ทโฟนจะต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศอินโดนีเซีย โดยก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน อินโดนีเซียก็เพิ่งสั่งห้ามจำหน่าย 'iPhone 16' ของบริษัทแอปเปิล ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้

อินโดนีเซีย ห้ามจำหน่ายโทรศัพท์ 'Google Pixel’ เนื่องจากทางบริษัทไม่ได้ทำตามระเบียบที่กำหนดให้สมาร์ทโฟนที่จำหน่ายในอินโดนีเซียจะต้องใช้ส่วนประกอบที่ผลิตในประเทศอินโดนีเซียอย่างน้อยร้อยละ 40

โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย กล่าวว่า รัฐบาลผลักดันระเบียบนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่นักลงทุนทุกคนในอินโดนีเซีย ซึ่งผลิตภัณฑ์ของกูเกิลไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ดังนั้น จึงไม่สามารถจำหน่ายในอินโดนีเซียได้

อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคสามารถซื้อ 'Google Pixel’ ในต่างประเทศได้ หากว่าชำระภาษีอย่างถูกต้อง แต่ว่าทางการกำลังพิจารณาปิดการใช้งานโทรศัพท์ที่จำหน่ายอย่างผิดกฎหมาย 

ในขณะเดียวกันกูเกิล ระบุว่า ในขณะนี้ยังไม่มีการจำหน่ายโทรศัพท์ 'Google Pixel’ ในอินโดนีเซีย อย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

อินโดนีเซีย สั่งแบนโทรศัพท์ 'Google Pixel’  หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ก่อน อินโดนีเซียสั่งปิดกั้นการจำหน่ายโทรศัพท์ 'iPhone 16' ภายในประเทศมาแล้ว เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามระเบียบเรื่องชิ้นส่วนประกอบของโทรศัพท์ที่ต้องมีส่วนประกอบที่ผลิตในประเทศ

ผู้นำอินโดฯ เล็งอภัยโทษคนทุจริต หากนำทรัพย์สินที่ขโมยไปกลับมาคืน

ประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต แห่งอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า เขาอาจพิจารณาให้อภัยผู้ที่กระทำการทุจริต หากพวกเขานำทรัพย์สินที่ขโมยไปกลับมาคืน

(19 ธ.ค.67) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อนักศึกษาอินโดนีเซียที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เมื่อวันพุธที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา ปธน.ปราโบโวกล่าวว่า เขาจะดำเนินการเรียกคืนทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบในไม่กี่สัปดาห์หรือเดือนข้างหน้า

ปธน.ปราโบโวกล่าวว่า “หากผู้ที่ทุจริต หรือผู้ที่รู้ตัวว่าได้ฉกชิงทรัพย์สินจากประชาชน หากนำสิ่งที่ขโมยไปคืนมา เราอาจให้อภัยได้ กรุณานำมันกลับมาคืน”

อย่างไรก็ตาม ปธน.ปราโบโวยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการดังกล่าว โดยกล่าวเพียงว่ารัฐบาลอาจหาวิธีการต่าง ๆ ให้ผู้กระทำผิดสามารถคืนทรัพย์สินที่ขโมยไปได้อย่างลับ ๆ

ปธน.ปราโบโว ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้ให้คำมั่นว่าจะขจัดการทุจริตและนำเสนอแนวทางที่ 'สามารถปฏิบัติได้จริง' ในการป้องกันการทุจริต ซึ่งรวมถึงการขึ้นเงินเดือนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ดูแลงบประมาณจำนวนมาก

จนถึงขณะนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกฎหมายของอินโดนีเซียยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนการดังกล่าวของปธน.ปราโบโว

อินโดนีเซียเปิดตัวใช้ 'ไบโอดีเซล B40' สะท้อนชาติเบอร์หนึ่งผลิตปาล์มน้ำมัน

(20 ธ.ค.67) ยูลิออต ตันจุง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ของอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า อินโดนีเซียเริ่มผลิตเชื้อเพลิงไบโอดีเซล บี40 (B40) ที่ประกอบด้วยน้ำมันปาล์ม 40% และน้ำมันดีเซล 60% ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มมากกว่าปัจจุบันที่ใช้น้ำมันปาล์มเพียง 35% โดยไบโอดีเซล บี40 จะเริ่มนำมาใช้จริงในปี 2025

ตันจุงกล่าวว่า รัฐบาลมีเป้าหมายการผลิตไบโอดีเซล บี40 ไว้ที่ 15.62 ล้านกิโลลิตรภายในปี 2025 และคาดว่าจะสามารถจำหน่ายให้กับผู้บริโภคได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2025 โดยหลังจากนั้นจะมีการพัฒนาไบโอดีเซลที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มถึง 50% ต่อไปในอนาคต

ด้านเอเนีย ลิสเตียนี เดวี อธิบดีฝ่ายการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานหมุนเวียนของกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ ยืนยันว่า การผลิตไบโอดีเซล บี40 ได้เริ่มต้นแล้วและผ่านการทดสอบการใช้งานทั้งในยานยนต์และการใช้งานอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ยานยนต์

แผนการเพิ่มการใช้ปาล์มน้ำมันเพื่อพลังงานสะอาดได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากการผลิตน้ำมันปาล์มในปริมาณมากของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดในโลก

สำหรับน้ำมัน B40 ประกอบด้วยไบโอดีเซล 40% และดีเซล 60%

BRICS ประกาศรับ 'อินโดนีเซีย' เป็นชาติสมาชิกเต็มรูปแบบรายล่าสุด

(7 ม.ค.68) รัฐบาลบราซิล ในฐานะประธานกลุ่ม BRICS ของปีนี้ ได้ประกาศให้ประเทศอินโดนีเซียเป็นส่วนหนึ่งของ BRICS ในฐานะรัฐสมาชิกเต็มรูปแบบ ตามคำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศบราซิลเมื่อวันที่ 6 มกราคม

"ในฐานะที่บราซิลดำรงตำแหน่งประธานของกลุ่ม BRICS ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2025 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2025 รัฐบาลบราซิลได้ประกาศในวันนี้ว่า สาธารณรัฐอินโดนีเซียได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของ BRICS" กระทรวงระบุ

การตัดสินใจรับอินโดนีเซียเข้าร่วมกลุ่มได้รับการเห็นชอบจากสมาชิก BRICS ทุกประเทศแล้ว กระทรวงการต่างประเทศบราซิลย้ำ

ทั้งนี้ สำหรับกลุ่ม BRICS เป็นกลุ่มความร่วมมือระหว่างรัฐบาลที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 โดยประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ส่วนแอฟริกาใต้เข้าร่วมในปี 2010 ในปี 2024 BRICS มีการขยายกลุ่มครั้งที่สอง โดยรับสมาชิกใหม่ ได้แก่ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย 

อย่างไรก็ตาม ซาอุดีอาระเบียยังไม่ได้ดำเนินการขั้นสุดท้ายในการเป็นสมาชิก แต่ได้เข้าร่วมการประชุมของกลุ่ม BRICS แล้ว

ก่อนหน้านี้ช่วงปลายปี 2024 รัสเซียในฐานะประธานกลุ่ม BRICS เมื่อปีที่แล้ว ได้ให้การรับรอง ไทย มาเลเซีย และชาติอื่น ๆ อีก 9 ประเทศร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนพันธมิตรอย่างเป็นทางการ

ความน่าสนใจของกลุ่มประเทศBRICS คือ การมีสมาชิกที่เป็นชาติมหาอำนาจอย่าง จีนและรัสเซีย รวมทั้งอีกหลายประเทศที่ทรงอิทธิพลในแต่ละทวีป เช่น แอฟริกาใต้และบราซิล

ขณะเดียวกัน เมื่อกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งนี้มีจำนวนสมาชิกมากขึ้น จะทำให้ครอบคลุมประชากรราว 3.5 พันล้านคน หรือราว 45% ของประชากรโลก

หากพิจารณาในแง่มูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่ม มีมูลค่ากว่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 28% ของมูลค่ารวมของเศรษฐกิจโลก ที่สำคัญ คือ ประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์ยังเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบป้อนตลาดโลกราว 44% อีกด้วย

‘อินโดนีเซีย’ ขยับหมากใหม่จับมือ ‘รัสเซีย’ เป็นพันธมิตรการค้า หวังเปิดทางลงทุนเพิ่มแรงขับเศรษฐกิจ-ลดผลกระทบมาตรการภาษีสหรัฐฯ

(18 เม.ย. 68) จากรายงานของสำนักข่าวซินหัว เมื่อวันพุธที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา อนินทยา บักรี ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย (KADIN) เปิดเผยกับสื่อท้องถิ่นว่า อินโดนีเซียกำลังเบนเป้าหมายทางเศรษฐกิจไปยังรัสเซีย ซึ่งมีศักยภาพในการเป็นตลาดใหม่ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน ท่ามกลางความท้าทายจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ

บักรีระบุว่า การสร้างความร่วมมือทางการค้ากับรัสเซียจะเปิดประตูสู่โอกาสการลงทุนที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากรัสเซียเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษในอินโดนีเซีย ซึ่งปัจจุบันกำลังเปิดรับการลงทุนจากนานาประเทศ

“อินโดนีเซียจะยังคงเดินหน้าค้นหาแนวทางและตลาดใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนซึ่งกันและกันกับพันธมิตรทั่วโลก” บักรีกล่าว

ทั้งนี้ อินโดนีเซียมีการนำเข้าสินค้าจากรัสเซียในหลายหมวดหมู่ อาทิ น้ำมันปาล์ม เครื่องจักร ยางพารา รองเท้า กาแฟ และชา ในขณะที่รัสเซียนำเข้าปุ๋ยและอาหารทะเลหลากหลายชนิดจากอินโดนีเซีย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 เมษายน อินโดนีเซียและรัสเซียได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านการค้า เศรษฐกิจ และการลงทุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์รัฐบาลอินโดนีเซียในการขยายตลาดการค้า และยกระดับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับประเทศคู่ค้า รวมถึงรัสเซียด้วย

การเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนถึงทิศทางใหม่ของอินโดนีเซียในการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ และลดการพึ่งพาตลาดเดิม ท่ามกลางความผันผวนของภูมิรัฐศาสตร์โลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top