Saturday, 19 April 2025
อินฟลูเอนเซอร์

'อินฟลูฯ ต่างชาติ' ยกย่อง!! ประเทศไทยดูแลประชาชนได้ดีจริงๆ ยกเคส 'เติมลมยางรถฟรี' แต่ที่อังกฤษต้องเสียเงินและมีเวลาจำกัด

เมื่อไม่นานมานี้ ‘คุณลูค’ หรือ เจ้าของบัญชีติ๊กต๊อก (TikTok) ที่ใช้ชื่อว่า ‘imlukematthew’ ซึ่งเป็นอินฟลูเอนเซอร์ชาวต่างชาติจากสหราชอาณาจักร ที่มาท่องเที่ยวประเทศไทยจนรู้สึกติดใจและอาศัยอยู่ในประเทศอยู่ยาวมาข้ามปีกว่าแล้ว ได้ลงคลิปความประหลาดใจกับสาธารณูปโภคของไทยที่สะดวกในการใช้บริการแบบที่บ้านเกิดของเขาไม่มี โดยได้มีการยกตัวอย่าง การเติมลมยางรถในปั๊มน้ำมันของไทย ที่ใช้กันได้ฟรี ๆ ว่า…

'Thailand is King ประเทศไทยคือ ราชา'

โดยเนื้อหาในคลิปดังกล่าวจะเห็นคุณลูคอยู่ในปั๊มน้ำมันเชลล์ พร้อมกับพูดถึงว่า ใคร ๆ ต่างก็พูดกันว่าประเทศไทยเป็นประเทศยากจน แต่สำหรับเขาที่ได้มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยนั้นก็ได้พบว่า ประเทศไทยมีดีกว่าอังกฤษมาก พร้อมกับแพนกล้องไปที่เครื่องเติมลมยางรถในปั๊มเชลล์และเสริมว่า…

“ปกติในอังกฤษนะ เขาจะคิดเงินค่าใช้เครื่องเติมลม ไม่ได้ฟรี แต่ในไทย เราแต่จอดรถตรงนี้ (ที่เครื่องปั๊มลม)”

จากนั้นคุณลูคก็ได้อธิบายเปรียบเทียบความแตกต่างในการใช้บริการเครื่องเติมลมระหว่างปั๊มน้ำมันในไทยและอังกฤษว่า...

“ในอังกฤษมีช่องให้หยอดเหรียญ แล้วพอใส่เหรียญ เครื่องเติมลมก็จะทำงานในเวลาจำกัด แต่ที่ไทยให้ใช้ฟรีไม่จำกัดเวลา”

พร้อมกับย้ำว่า ประเทศไทยนั้นดูแลประชาชนดีจริง ๆ ไม่คิดเงินค่าลมยางรถที่เติมใส่ล้อรถ พร้อมกับทิ้งท้ายว่า 'ทีมไทยแลนด์!!'

ทางด้านชาวเน็ตต่างก็เข้ามาแสดงความคิดเห็นกับคลิปของคุณลูค ซึ่งส่วนมากจะเป็นการสนับสนุนความคิดเห็นของเขาเช่นกัน “ไม่ใช่แค่ปั๊มเชลล์ครับ ทุกปั๊มเลยครับ แม้แต่ร้านซ่อมรถข้างทาง เขาก็ให้เติมลมฟรีครับ” 

นอกจากความคิดเห็นสนับสนุนแล้ว ชาวเน็ตคนไทยต่างก็ขอบคุณคุณลูคที่รักประเทศไทยและตื่นตาตื่นใจกับสิ่งที่ดูเหมือนธรรมดาสำหรับคนไทยอย่างเรื่องการเติมลมยางในปั๊มน้ำมัน แต่กลับเป็นเรื่องมหัศจรรย์ในสายตาชาวต่างชาติ

ถือเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในทางอ้อมจริง ๆ

'สนธิ' แฉแหลก!! แพลตฟอร์มปั้นไอดอลดูดทรัพย์คนไทยผู้ไม่มีจะกิน ล่อหลอกให้ส่งเปย์สติ๊กเกอร์ 'หัวใจครึ่งพัน-เรือยอร์ช 4 หมื่น'

(18 ก.ย. 67) จากช่องยูทูบ 'sondhitalk' โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้เปิดฉากแฉขบวนการดูดทรัพย์แฟนคลับไทยผ่านโซเชียลแพลตฟอร์ม ว่า...

คอนเทนต์ครีเอเตอร์กลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ยอดนิยม เพราะสามารถสร้างทั้งชื่อเสียง-รายได้ และยังเป็นใบเบิกทางสู่การทําธุรกิจได้อีกด้วย และบางคนที่ดังมาก ๆ ก็ยังก้าวไปอีกขั้น ด้วยการเป็นขั้นอินฟลูเอนเซอร์ไลฟ์สดในระดับชั่วโมงหนึ่งได้เงินเป็นหลักล้านกันเลยทีเดียว

คุณสนธิ เผยอีกว่า ปัจจุบันคนไทยมีอัตราการเข้าสู่อินเทอร์เน็ตประมาณ 90% หรือทุกครัวเรือนมีมือถือมีอินเทอร์เน็ตใช้กันหมด แล้วกว่า 50 ล้านคนเข้าถึงช่องทางโซเชียลมีเดียกันหมด หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ย 71.5% ของประชากรทั้งประเทศ เรียกว่าติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกได้เลย

ภาพดังกล่าว ทำให้ประเทศไทย (คนไทย) กลายเป็น 'ดินแดนสวรรค์' ที่ทำให้ต่างชาติบางคนสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เปลี่ยนชีวิตคนที่ปกติอยู่ประเทศตัวเองแล้วเป็นคนธรรมดา ๆ ให้กลายมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์รายได้มหาศาลที่ไทยได้ทันที ภายใต้ความเอ็นดูของคนไทย ที่หลายคนมักจะรู้สึกปลื้มใจถ้ามีคนต่างชาติหัดพูดภาษาไทยและทํากิจกรรมเงอะ ๆ งะ ๆ ซึ่งน่ารําคาญ แต่ยังถูกมองว่าน่ารัก

นอกจากนี้ ด้วยความที่คนไทยเป็นคนขี้สงสาร เหมือนกรณี 'แน็ก-ชาลี' มันก็เลยเกิดคอนเทนต์ครีเอเตอร์อย่าง 'กามิน' เข้ามากอบโกย ซึ่งเดี๋ยวผมจะอธิบายต่อว่า 'กามิน' ก็คือหนึ่งในตัวละครของ 'ขบวนการ' ที่เข้ามาสูบเงินสูบทองของคนไทยยังไงบ้างในวันศุกร์นี้ (20)

คุณสนธิ เผยต่ออีกว่า อันที่จริง กามิน เป็นแค่เพียงตัวละครเล็ก ๆ เท่านั้น เพราะขบวนการดูดทรัพย์คนไทยนั้น ถูกเตรียมการผ่านคนแบบกามินไว้อีกเป็นจํานวนมากที่จะเข้ามาในเมืองไทย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ใหญ่โตมากระดับชาติ มันไม่ใช่ประเด็นเล็ก ๆ จากดรามาระหว่างดาราคู่จิ้นหนุ่มไทยกับสาวเกาหลีอีกแล้ว

คุณสนธิ แฉต่อว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมไปสืบค้นข้อมูลมา และค้นพบว่าช่องทางโซเชียลมีเดียและติ๊กต็อกในปัจจุบันนั้นเป็นช่องทางในการดูดเงินจากแฟนคลับได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมาก ผ่านฟีเจอร์ที่มีชื่อว่า 'PK' (การแข่ง PK ใน TikTok ย่อมาจาก 'Player Kill' เป็นฟีเจอร์ไลฟ์สดบนติ๊กต๊อกที่ผู้ใช้สองคนสามารถแข่งขันกันเพื่อรับของรางวัลหรือเพื่อความสนุกสนาน โดยผู้ชมจะเป็นผู้ตัดสินว่าใครคือผู้ชนะ)

PK หรือ Player Kill เป็นแพลตฟอร์มสร้างปฏิสัมพันธ์ เพื่อเปิดเอนเกจเมนต์ให้มีการแข่งขันกัน โดยผู้ไลฟ์จะแข่งกันสร้างฐานผู้ชม และเพื่อรับของขวัญจากผู้ชม จากนั้นชัยชนะจะถูกตัดสินผู้ไลฟ์คนไหนได้รับการเปย์ให้มากที่สุด

นี่เป็นเรื่องตลกแล้ว!! เพราะรู้ไหมว่าไอ้พวกที่เปย์ให้พวกคนแบบกามินหรือกลุ่มขบวนการที่ว่านี้นั้น ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนมีเงินมีทอง เป็นคนที่มีเงินต้นเดือนไม่ชนปลายเดือน หรือว่ามีเงินอยู่เล็กน้อย แต่แทนที่จะเอาเงินไปทําประโยชน์ให้กับครอบครัวตัวเอง หรือไปทําบุญทําทาน กลับเอาเงินมาเปย์ให้คนเหล่านี้

บางคนที่เปย์ยังวิ่งเต้นทํางานพาร์ตไทม์ บางคนเป็นนักศึกษาแพทย์ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมเกือบแสน 87,000 บาทบ้าง 81,000 บาทบ้าง ก็เข้าไปบ้าในฟีเจอร์ PK นี้

สำหรับหลักการของ PK ที่คุณสนธิ กล่าว คือ จะมีการส่งสติ๊กเกอร์ให้ผู้ไลฟ์ที่ชื่นชอบ ซึ่งสติ๊กเกอร์เหล่านี้ต้องใช้เงินจริงแลกมา ถ้ายังพอจําได้ก็คือเงินแบบกรณีของกามินที่เอาส่วนแบ่งค่าสติ๊กเกอร์ไปให้ 'แน็ก-ชาลี' 500,000 บาท และแน็กก็เอาไปทำบุญต่อนั่นเอง 

คุณสนธิ เผยด้วยว่า ตรงนี้เป็นรูปแบบกระบวนการจากเครือข่ายเกาหลีที่ปั้นทุกอย่างขึ้นมาทั้งสิ้น

ช่วงท้าย คุณสนธิ ยังเผยอีกว่า ตนรู้สึกแค้นใจที่มีคนหรือแฟนคลับไปตามสนับสนุนขบวนการเหล่านี้ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ยังมีปัญหาด้านการเงิน ด้วยการส่งสติ๊กเกอร์กันตั้งแต่หลัก 10 บาทไปถึงแสนบาท อย่างเช่นส่ง 'บวก' ให้ 99 คอยน์ ก็ต้องแลกด้วยเงินไทย 207 บาท ส่งหัวใจให้ 199 คอยน์ เป็นเงิน 417 บาท คือ แค่กดสติ๊กเกอร์คุณต้องเสียเงินไปขนาดนี้ บางคนส่งสติกเกอร์เรือยอร์ช 20,000 คอยน์ เท่ากับเงินไทย 42,000 บาท และอื่น ๆ ที่มีอัตราแลกเปลี่ยนสูงขึ้นไปอีก มันบ้าไปแล้ว...

นี่คือความบ้าของผู้ชมที่มีสติ ตอนที่คุณเปย์ให้คนพวกนี้ร่ำรวย เขาก็ไม่ได้มาสนใจคุณ เขาและคุณใจฟูวันนี้ วันพรุ่งนี้เขาก็ลืมคุณ และเมื่อไม่อยากให้ลืม คุณก็ต้องเปย์ต่อ สุดท้ายเขารวยขึ้น ๆ ส่วนคุณจนลง ๆ

คุณสนธิ เสริมด้วยว่า เมื่อผมสืบประวัติและย้อนดูพฤติกรรมต่าง ๆ แล้ว กามิน ก็เป็นแค่หนึ่งในกระบวนการเกาหลีที่ขนคนมาหลอกเงินคนไทยและเมืองไทย เพราะเขามองว่าคนไทยหลอกง่ายเหมือนกันหมด

ถอดบทเรียนจากต่างประเทศ อาจารย์นิติศาสตร์ มธ. แนะ 5 แนวทาง ออกกฎหมายคุม ‘อินฟลูเอนเซอร์’

(17 ต.ค. 67) ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลกับทีมข่าวสภาผู้บริโภค ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอินฟลูเอนเซอร์เยอะมาก เนื่องจากเป็นประเทศที่ใช้สื่อออนไลน์อย่างแพร่หลาย เพราะฉะนั้นการใช้อินฟลูเอนเซอร์จึงเป็นการตลาดที่เข้าถึงคนไทยได้ง่าย และรวดเร็ว รวมถึงคอนเทนต์ที่มีความหลากหลาย และเกินจริง ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นข่าวว่าอินฟลูเอนเซอร์ได้นําแนวคิดหรือความเชื่อบางอย่างที่หมิ่นเหม่ เช่น การลงทุนในการพนันออนไลน์ การดูแลสุขภาพแบบผิด ๆ การชวนลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ หรือเรื่องความเชื่อทางศาสนา

เมื่อถามถึงกฎหมายที่จะเข้ามาควบคุม ผศ.ดร.เอมผกา ได้ยกตัวอย่างกฎหมายควบคุมอินฟลูเอนเซอร์จากในหลายประเทศ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับประเทศไทย โดยถูกแบ่งออกเป็น 5 แนวทาง

แนวทางที่ 1 ‘ให้ข้อมูลว่าเป็นการโฆษณา’ เป็นกฎหมายบังคับว่าอินฟลูเอนเซอร์ต้องแจ้งให้ชัดว่ารีวิวนั้นเป็นโฆษณา ซึ่งกลไกนี้จะถูกระบุอยู่ในกฎหมายทั้งในประเทศแถบเอเชียและยุโรป เช่น เกาหลีใต้ อินเดีย นิวซีแลนด์ แคนาดา โดยใส่แฮชแท็กระบุชัดเจนว่าเป็นโฆษณาไว้ตั้งแต่ต้นโพสต์หรือต้นคลิปวิดีโอ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่ารีวิวนั้นเป็นการโฆษณา

แนวทางที่ 2 ‘เปรียบอินฟลูเอนเซอร์ คือผู้ประกอบธุรกิจ’ หลายประเทศมองว่าอินฟลูเอนเซอร์ คือผู้ประกอบธุรกิจ เพราะว่าอินฟลูเอนเซอร์ ทำคอนเทนต์แลกกับยอดวิวซึ่งยอดวิวก็นำมาสู่รายได้ เท่ากับเป็นผู้ประกอบธุรกิจ และในเชิงผู้ประกอบธุรกิจจะอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมาบังคับใช้

แนวทางที่ 3 ‘เปิดเผยข้อมูล’ ต้องมีการเปิดเผยตัวตนที่ชัดเจน ที่สามารถเจาะจงไปได้ว่าคนนี้คือใคร เช่น นอร์เวย์ ออกกฎหมายกำหนดให้อินฟลูเอนเซอร์ต้องแจ้งรายละเอียดภาพบุคคลที่ใช้สำหรับการขายและโฆษณาสินค้าบนโซเชียลมีเดียต่อหน่วยงานรัฐ

แนวทางที่ 4 ‘ควบคุมเนื้อหา’ เป็นกลไกที่มองถึงการควบคุมเนื้อหาที่มีความอ่อนไหว หรือข้อมูลที่อาจผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนได้ เช่น ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กำหนดให้อินฟลูเอนเซอร์ ต้องจดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากสภาสื่อแห่งชาติ (NMC) เพื่อป้องกันการโฆษณาที่ ผิดกฎหมาย และการให้ข้อมูลที่ผิดพลาดหรืออันตรายต่อสาธารณะ

“ต้องบอกก่อนว่า ไม่ใช่ว่าเป็นอินฟลูเอนเซอร์แล้วต้องขอใบอนุญาต แต่จะเป็นเฉพาะคอนเทนต์เท่านั้นที่ต้องขอใบอนุญาต เช่น การเงินการธนาคาร การทำเสริมความงาม การรักษาโรค ต้องเป็นคนเฉพาะกลุ่มนี้เท่านั้นที่จะพูดได้ เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะพูดเรื่องรักษาโรคได้ แต่ต้องเป็นหมอจริง ๆ เท่านั้น” ผศ.ดร.เอมผกากล่าว

แนวทางที่ 5 ‘ทำแนวทางหรือข้อแนะนำ’ ไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมาย แต่เป็นการทำคู่มือแนะนำอินฟลูเอนเซอร์ สำหรับบางประเทศที่ยังไม่รู้ว่าจะออกกฎหมายรูปแบบไหน โดยทำเป็นคู่มือแนะนำไปก่อนว่าสิ่งไหนทำได้หรือไม่ได้ ให้เรียนรู้ ตระหนัก จากกฎหมายที่มีในปัจจุบัน

แม้ว่า ประเทศไทยยังไม่มีกฎระเบียบสำหรับกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์อย่างชัดเจน จะมีเพียงกฎหมายควบคุม เช่น พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 และพ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 รวมทั้งอยู่ระหว่างพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. ที่มีความพยายามปรับปรุงการกำกับดูแลการนำเสนอข้อมูลให้เท่าทันสื่อปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีร่าง พ.ร.บ.อาหาร ฉบับสภาผู้บริโภค ที่เพิ่มกำหนดนิยาม ให้ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร ซึ่งครอบคลุมถึงพรีเซนเตอร์ ที่ทำการโฆษณาอาหาร จะต้องรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาด้วย

อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยจะขยายการกำกับดูแลให้ครอบคลุมกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์อาจต้องทบทวนการกำหนดนิยามของสื่อออนไลน์ให้มีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงแนวทางการกำกับดูแลที่สอดคล้องกับการผลิตเนื้อหา อาจต้องศึกษาจากตัวอย่างของกฎหมายและมาตรการของต่างประเทศเพิ่มเติม เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทสังคมไทยต่อไป

สำหรับแนวทางที่ทำได้ในประเทศไทย ผศ.ดร.เอมผกาให้ข้อเสนอว่า “แนวทางที่สามารถทำได้ในเลยน่าจะเป็น การเปิดเผยว่าคอนเทนต์นี้คือการโฆษณา เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการตัดสินใจ รวมถึงการตีความว่าอินฟลูเอนเซอร์เป็นผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้รับผิดบางอย่างที่กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคนั้นมีกลไกบังคับใช้สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ระมัดระวังในการรับโฆษณาสินค้ามากยิ่งขึ้น ส่วนการควบคุมเนื้อหาอาจารย์มองว่าเป็นแนวทางที่ดีเพื่อป้องกันข้อมูลข่าวปลอม แต่อาจขัดต่อบริบทสังคมไทย เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ถือว่าเป็นความท้าทายในการควบคุมเนื้อหาและการรักษาสิทธิแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย”

‘นิด้าโพล’ เผยผลสำรวจ ปชช. ไม่เชื่อสินค้าที่ ‘ดารา-อินฟลูฯ’ รีวิว ชี้!! ร้องเรียนกับสื่อ ได้รับความเป็นธรรม รวดเร็วกว่าไปหา ‘สคบ.’

(20 ต.ค. 67)  ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง ‘ใครจะคุ้มครองผู้บริโภค’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15-16 ตุลาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการโฆษณาสินค้าของดารา และอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) คนดัง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการโฆษณาสินค้าของดารา อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของประชาชน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 42.21 ระบุว่า ไม่ส่งผลเลย รองลงมา ร้อยละ 22.98 ระบุว่า ส่งผลมาก ร้อยละ 19.01 ระบุว่า ค่อนข้างส่งผล และร้อยละ 15.80 ระบุว่า ไม่ค่อยส่งผล

ด้านความเชื่อของประชาชนที่มีต่อดารา อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ใช้สินค้าจากการโฆษณาจริง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 52.29 ระบุว่า ไม่เชื่อว่าใช้สินค้านั้นจริง รองลงมา ร้อยละ 22.98 ระบุว่า เชื่อว่าใช้สินค้านั้นเป็นบางครั้ง ร้อยละ 20.53 ระบุว่า เชื่อว่าใช้สินค้านั้นเฉพาะตอนโฆษณา ร้อยละ 3.89 ระบุว่า เชื่อว่าใช้สินค้านั้นจริง และร้อยละ 0.31 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความรู้สึกของประชาชนต่อการโฆษณาสินค้าที่มีของแถมจำนวนมาก และ/หรือ ลดราคาเยอะ ๆ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.12 ระบุว่า จะตั้งข้อสงสัยว่า คุณภาพสินค้าอาจไม่ดี รองลงมา ร้อยละ 30.23 ระบุว่า เป็นแค่วิธีการโฆษณาชวนเชื่อ ร้อยละ 23.89 ระบุว่า ไม่คิดจะซื้อสินค้าที่โฆษณาแบบนี้ ร้อยละ 19.47 ระบุว่า จะตั้งข้อสงสัยว่า มีเงื่อนไขอะไรแอบแฝงอยู่หรือเปล่า ร้อยละ 19.24 ระบุว่า จะตั้งข้อสงสัยว่า ต้นทุนสินค้าน่าจะถูกมาก ร้อยละ 17.94 ระบุว่า จะตั้งข้อสงสัยว่า สินค้านั้นอาจใกล้หมดอายุการใช้งาน ร้อยละ 8.63 ระบุว่า จะขอเปรียบเทียบคุณภาพกับสินค้าที่เหมือนกันหรือใกล้เคียงก่อนตัดสินใจ ร้อยละ 8.17 ระบุว่า จะขอเปรียบเทียบราคากับสินค้าที่เหมือนกันหรือใกล้เคียงก่อนตัดสินใจ ร้อยละ 7.02 ระบุว่า จะลองสั่งมาใช้ดู ร้อยละ 4.27 ระบุว่า ถ้าเป็นสินค้าที่ใช้เป็นประจำ จะซื้อสินค้านั้นทันที ร้อยละ 2.14 ระบุว่า สนใจที่จะซื้อสินค้านั้นทันที (แม้ว่าจะไม่เคยใช้ก็ตาม) และร้อยละ 0.38 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับการร้องเรียนจากการถูกเอาเปรียบหรือหลอกลวงให้ซื้อสินค้าหรือลงทุน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 41.22 ระบุว่า ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ รองลงมา ร้อยละ 30.08 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร้อยละ 25.19 ระบุว่า ไม่ร้องเรียนใด ๆ ร้อยละ 15.50 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับสื่อ ร้อยละ 12.06 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับศิลปิน ดารา หรือจิตอาสาคนดัง เช่น หนุ่ม กรรชัย กัน จอมพลัง บุ๋ม ปนัดดา เป็นต้น ร้อยละ 5.57 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง (ไม่รวม สคบ.) ร้อยละ 2.60 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับทนายคนดัง ร้อยละ 1.68 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่เกี่ยวข้อง เช่น มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค และร้อยละ 0.92 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับนักการเมือง

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการร้องเรียนที่ได้รับความเป็นธรรมเร็วที่สุดจากการถูกเอาเปรียบหรือหลอกลวงให้ซื้อสินค้าหรือลงทุน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 24.81 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับสื่อ รองลงมา ร้อยละ 23.05 ระบุว่า ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ร้อยละ 15.88 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับศิลปิน ดารา หรือจิตอาสาคนดัง เช่น หนุ่ม กรรชัย กัน จอมพลัง บุ๋ม ปนัดดา เป็นต้น ร้อยละ 15.80 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และไม่ร้องเรียนใด ๆ ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 1.91 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับทนายคนดัง ร้อยละ 1.45 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง (ไม่รวม สคบ.) ร้อยละ 0.92 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่เกี่ยวข้อง เช่น มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ร้อยละ 0.07 ระบุว่า ไปร้องเรียนกับนักการเมือง และร้อยละ 0.31 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

‘บิ๊กเต่า’ เล็งแจ้ง!! อีกหลายข้อหา ‘สามารถ’ หลังพบเส้นทางการเงิน พบเอี่ยว!! ‘รีดไถผู้ประกอบการ - พนันบอล’ ยัน!! มีหลักฐานชัดเจน

(1 ธ.ค. 67) ที่ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รองผบ.ช.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มกับนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ว่า จากการตรวจสอบยอดเงิน 100 กว่าล้านในบัญชี มีการแตกไปในหลายเส้นทางการเงิน และเมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา เราพบร่องรอยการโอนเงินเข้าบัญชีของนายสามารถ ประมาณ 500,000 บาท จึงเรียกเป้าหมายคนดังกล่าวมาพูดคุย พร้อมนำหลักฐานมาแสดง ซึ่งเข้าข่ายกรรโชกทรัพย์จึงน่าจะมีการแจ้งข้อหานี้กับนายสามารถอีกหนึ่งคดี

พล.ต.ต.จรูญเกียรติ กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 2 บุคคลใกล้ชิดนายสามารถ ที่มีการเรียกเข้ามาสอบปากคำ ให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี ได้บอกถึงเส้นเงิน ที่ตัวเขาเป็นคนถือบัญชี ซึ่งนายสามารถอ้างว่า เป็นเงินใช้หนี้ และให้โอนเข้ามาในบัญชีนี้ และพบว่ามีการโอนเงินเข้ามา 2 ส่วน คือ บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป แต่ไม่ใช่จากนายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือ บอสพอล แต่เป็นหนึ่งในบอสของ ดิไอคอน ประมาณ 3 ล้านบาท โดยต้องตรวจสอบว่าเป็นการโอนเข้ามา เพราะบอสพอล เป็นคนสั่งการหรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาแล้วเป็นการเรียกรับ ตำรวจสอบสวนกลางจะเป็นคนสอบเอง แต่หากพบว่าโอนเข้ามาจากบริษัท ดิไอคอน จะเข้าข่ายคดีฟอกเงินเพิ่มอีกหนึ่งคดี ตอนนี้ได้ประสานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อที่จะสอบปากคำพยานคนดังกล่าวในสัปดาห์หน้า ส่วนเงินในบัญชีอีกส่วนเป็นการโอนเข้ามาของผู้ประกอบการที่ถูกรีดไถ จำนวน 500,000 บาท ซึ่งมีการแจงความไว้แล้ว

พล.ต.ต.จรูญเกียรติ กล่าวต่อว่า ส่วนอื่นๆที่เราได้มีการตรวจสอบ พบว่าเกิดเหตุในลักษณะนี้ กับอีกหลายคนและอีกหลายส่วน และบางส่วนยังไม่ให้ความร่วมมือ เราจึงพยายามพูดคุย และพบว่าเกี่ยวข้องกับคนในหลายแวดวง ทางข้าราชการ หรือแม้แต่บุคคลที่บริษัท ดิไอคอน จ้างงาน ซึ่งมีเส้นเงินเชื่อมโยง ดังนั้น ต้องมีการตรวจสอบบัญชีอีกหลายส่วน ทั้งนี้ เส้นเงินที่เราแตกออกไปหลายส่วนนั้น อยู่ในจำนวน 100 กว่าล้านบาท ซึ่งเงินบางส่วนเราเห็นแล้วว่าน่าจะเป็นเงินที่มาจากการเล่นพนันบอล ซึ่งพบจากคนใกล้ชิด ประมาณ 30 ล้านบาทและเสียไปประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งยังเหลืออีก 50-60 ล้านบาท ที่ต้องตรวจสอบที่มาที่ไป ดังนั้นตำรวจสอบสวนกลางต้องตรวจสอบให้ละเอียดว่าเส้นเงินไปถึงใครบ้าง เพื่อพยายามที่จะเรียกบุคคลนั้นๆเข้ามาสอบปากคำ และยืนยันว่าจะดำเนินคดีในทุกเรื่อง

เมื่อถามถึงที่นายสามารถ ระบุว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการถูกดำเนินคดี และมีการอดข้าวประท้วง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ กล่าวว่า เราไม่อยากให้มีการอดอาหารประท้วง และยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทำไปตามพยานหลักฐาน ไม่ได้กลั่นแกล้ง การตรวจสอบเส้นเงินเป็นวิทยาศาสตร์ และผู้เสียหายก็มีอยู่จริง

"นายสามารถ ต้องยอมรับสภาพว่าสิ่งที่ทำจะทิ้งหลักฐานไว้ สิ่งเหล่านี้กำลังตามหลอกหลอน ให้ต้องถูกดำเนินคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีใครที่จะไปกลั่นแกล้ง แต่นายสามารถเป็นบุคคลคนหนึ่งที่เราต้องการ นำเข้าสู่การบังคับใช้กฎหมาย และนำเข้าสู่สำนวนคดี เพราะมีคลิปเสียงชัดเจนในการเรียกรับ และมีคำพูดค่อนข้างดูถูกข้าราชการ ในการแต่งตั้งข้าราชการเข้าไปดูแลบอสพอล หรือช่วยเหลือผู้ประกอบการ ดังนั้น เราต้องมีความพยายาม ต้องดำเนินการแม้บอสพอล จะไม่ได้มีการร้องทุกข์ดำเนินคดี ยืนยัน ไม่มีการกลั่นแกล้งและขอให้ไปสู้กันในชั้นศาล หากมีพยานที่สามารถหักล้างเหตุผลได้ ก็ไม่จำเป็นต้องอดข้าว ขณะนี้ยังมีเวลาแก้ไข หากกระทำผิดก็ต้องชดใช้ ในสิ่งที่ทำไว้" พล.ต.ต.จรูญเกียรติ กล่าว

เมื่อถามต่อว่าจะมีการมอบของขวัญช่วงปีใหม่ให้กับอินฟลูเอนเซอร์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีดิไอคอนอีกหรือไม่ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ กล่าวว่า เป็นเรื่องของการปัดกวาดทางสังคมให้สะอาด ให้บรรดาอินฟลูเอนเซอร์เพจต่างๆ เข้ามาสู่ระบบเคารพกฎหมาย เพราะที่ผ่านมามีการบูลลี่หน่วยงานรัฐ โดยไม่มีหลักฐาน แต่ยืนยันพวกเราไม่ใช่คนไร้น้ำใจ หรือเป็นคนใจร้าย แต่ทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)ระบุว่าสิ่งใดที่ทำให้สังคมไขว้เขว ใส่ร้ายสังคม ใส่ร้ายข้าราชการ เราต้องปัดกวาด รวมถึงหากข้าราชการตำรวจมีการกระทำความผิด ก็ต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดเอาออกไปเช่นกัน ก็เป็นการกวาดบ้านตัวเอง เป็นการทำทุกหน่วยงานให้เป็นของขวัญให้กับพี่น้องประชาชนในช่วงปีใหม่

ทรัมป์เจาะสื่อใหม่!! ไฟเขียวทำเนียบขาวรับอินฟลูฯ ทำข่าว ยอดขอรับบัตรสื่อทะลุ 7,400 ในวันเดียว

(31 ม.ค.68) ทำเนียบขาวสร้างกระแสใหญ่หลังประกาศเปิดโอกาสให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์ และพอดแคสเตอร์ เข้าร่วมการแถลงข่าวได้อย่างเป็นทางการ ล่าสุด มีคำขอรับบัตรประจำตัวสื่อมวลชนมากกว่า 7,400 รายการ ในเวลาเพียงหนึ่งวันเท่านั้น หลังประกาศนโยบายนี้เมื่อวันอังคารที่ 25 มกราคม  

แคโรไลน์ เลวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว เปิดเผยว่า การตัดสินใจครั้งนี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของชาวอเมริกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาเสพข่าวผ่านพอดแคสต์ บล็อก และโซเชียลมีเดีย แทนสื่อดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์  

ผลสำรวจล่าสุดจากศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) ยืนยันว่า อินฟลูเอนเซอร์และสื่อออนไลน์กลายเป็นแหล่งข่าวหลักสำหรับคนอายุต่ำกว่า 30 ปี โดยเกือบ 40% ของกลุ่มนี้พึ่งพาอินฟลูเอนเซอร์ในการติดตามข่าวสารและการเมือง การเปิดพื้นที่ให้สื่อทางเลือกเหล่านี้จึงเป็นโอกาสให้พวกเขาตั้งคำถามกับรัฐบาลได้โดยตรง  

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา พรรคเดโมแครตได้เชิญคอนเทนต์ครีเอเตอร์กว่า 200 คนมาร่วมรายงานข่าวการเลือกตั้ง ขณะที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีซีก็ร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์หลายสิบคนในการทำข่าวโอลิมปิกปารีส 2024 โดยมอบบัตรผู้สื่อข่าวให้เหมือนนักข่าวมืออาชีพ  

นอกจากนี้ กลยุทธ์การสื่อสารผ่านพอดแคสต์ของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังถูกมองว่าประสบความสำเร็จในการดึงดูดผู้มีสิทธิเลือกตั้งวัยรุ่นชายที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม โดยทรัมป์เคยให้สัมภาษณ์กับพอดแคสเตอร์ชื่อดังอย่าง โจ โรแกน, โลแกน พอล และธีโอ วอน ซึ่งช่วยเพิ่มความนิยมในกลุ่มนี้อย่างมาก

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของทำเนียบขาวไม่เพียงสะท้อนถึงการปรับตัวต่อเทรนด์สื่อสมัยใหม่ แต่ยังเป็นการท้าทายบทบาทของสื่อดั้งเดิมที่อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในยุคที่ทุกคนสามารถเป็น 'ผู้สื่อข่าว' ได้

คาดปี 68 ไทยมีอินฟลูเอนเซอร์ทะลุ 3 ล้าน หน้าใหม่วันละ 2,740 คน แบรนด์จับตา เงินโฆษณาพุ่ง

(4 ก.พ. 68) MI GROUP เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับวงการอินฟลูเอนเซอร์ไทย โดยคาดการณ์ว่าปีนี้จำนวนอินฟลูเอนเซอร์ในประเทศไทยจะแตะเกือบ 3 ล้านราย เพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านคนจากปีก่อน ซึ่งคิดเป็น 4.5% ของประชากรไทย สะท้อนถึงความนิยมอาชีพนี้ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีคนไทยหันมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์เฉลี่ยวันละเกือบ 2,740 คน หรือประมาณ 114 คนต่อชั่วโมง

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MI GROUP เปิดเผยว่า สื่อดิจิทัลยังคงเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารและการตลาดในปีนี้ โดยคาดว่ามูลค่าตลาดจะแตะ 38,938 ล้านบาท เติบโตขึ้น 15% จากปีก่อน และครองสัดส่วนถึง 45% ของเม็ดเงินโฆษณาและสื่อสารการตลาดทั้งหมด 

ที่น่าสนใจคือ 1 ใน 3 ของเม็ดเงินสื่อดิจิทัลจะถูกใช้ไปกับ "อินฟลูเอนเซอร์" บนแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของครีเอเตอร์ในตลาดไทย ที่แบรนด์ต่างๆ เลือกใช้เพื่อเพิ่มยอดขายโดยตรงมากกว่าการสร้างแบรนด์ 

MI GROUP ประเมินว่าการเติบโตของอินฟลูเอนเซอร์ในไทยมาจากกลุ่ม Micro และ Nano อินฟลูเอนเซอร์เป็นหลัก ซึ่งประกอบด้วยผู้ใช้จริง พ่อค้า แม่ค้า นักขาย รวมถึงมืออาชีพและสมัครเล่นที่ทำ Affiliate Marketing ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ 

นอกจากนี้ ตลาดไทยยังให้ความสำคัญกับครีเอเตอร์มากกว่าประเทศอื่นๆ ส่งผลให้แบรนด์ต่างๆ เลือกใช้งบประมาณในส่วนนี้มากเป็นพิเศษ โดยเม็ดเงินที่ลงไปในอินฟลูเอนเซอร์คิดเป็น 1 ใน 3 ของเม็ดเงินสื่อดิจิทัลทั้งหมด 

สรุปแล้ว วงการอินฟลูเอนเซอร์ไทยกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด พร้อมกับบทบาทที่สำคัญในกลยุทธ์การตลาดของแบรนด์ต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการขยายตัวของสื่อดิจิทัลที่ยังคงครองตำแหน่งผู้นำในอุตสาหกรรมสื่อและการโฆษณา

‘สรรพากร’ เตือน!! อินฟลูฯ – ค้าออนไลน์ ยื่นแบบภาษี หลีกเลี่ยง!! โดนค่าปรับ อ่วม!

(22 มี.ค. 68) การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้มีรายได้ปี 2567 กรมสรรพากร ได้กำหนดให้ผู้มีเงินได้ทุกอาชีพยื่นแบบแสดงรายการภาษี ภ.ง.ด. 90/91 ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 มีนาคม 2568 หากยื่นผ่านระบบออนไลน์ เช่น D-MyTax หรือ e-Filing สามารถยื่นได้ถึง 8 เมษายน 2568

นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ปัจจุบันการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถือว่าเป็นรายได้อันดับ 3 ของกรมฯ โดยจัดเก็บอยู่ประมาณปีละ 4 แสนล้านบาท โดยในปีนี้หลังจากมีการเปิดให้ยื่นแบบภาษีแล้วประมาณ 3 เดือน

ปัจจุบันข้อมูลถึงวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมามีการยื่นแบบเข้ามาประมาณ 7.4 ล้านแบบสูงกว่าปีก่อน 13% มีการขอคืนประมาณ 3.5 ล้านแบบ หรือประมาณ 46.9% โดยกรมมีการคืนภาษีไปแล้วประมาณ 82% ส่วนที่เหลืออีก 18% ยังติดเกณฑ์ตรวจของกรมสรรพากรอาจเป็นเรื่องของเอกสาร หรือขั้นตอนที่กรมฯตรวจสอบพบว่ามีรายได้อื่น ๆ ส่วนที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติมนั้นคาดว่าส่วนใหญ่จะทยอยยื่นเข้ามาเพิ่มขึ้นหลังจากนี้

อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า ในภาพรวมคนที่ยื่นแบบภาษีอยู่แล้วแบบที่เป็นมนุษย์เงินเดือนไม่น่าห่วงเท่ากับกลุ่มที่ไม่ยื่นภาษี คือมีเงินได้แต่ไม่เคยยื่นแบบภาษีเลย โดยจากข้อมูลในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มที่ไม่ยื่นภาษีคือกลุ่มที่เป็นคนรุ่นใหม่ หรือเพิ่งเริ่มประกอบอาชีพ โดยเป็นกลุ่มอาชีพที่สอดคล้องกับกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับดิจิทัล เช่น การขายของออนไลน์ การทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อินฟลูเอนเซอร์ รับรีวิวสินค้า ซึ่งกรมฯก็มีการหารือกันว่าต้องให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ

ทั้งนี้ จนถึงขณะนี้ก็เหลือเวลาประมาณ 10 กว่าวันในการยื่นแบบภาษีขอให้ยื่นแบบภาษี ส่วนยื่นผิดถูกนั้นยังสามารถคุยกันได้ แต่ถ้าไม่ได้ยื่นเลยอีก 2-3 ปี กรมฯตรวจเจอแน่เพราะในเรื่องของธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทิ้งร่องรอยไว้อยู่แล้ว ขณะที่กรมฯเองในโครงสร้างก็มีหน่วยงานที่ตามเรื่องนี้โดยตรง

กลุ่มที่เป็นห่วงคือการขายของออนไลน์ การทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อินฟลูเอนเซอร์ รับรีวิวสินค้า เพราะดูข้อมูลแล้วไม่ยื่นกันเลย เราอยากให้มีการยื่นภาษีให้ถูกต้องและให้ความสำคัญมากเพราะการมาเรียกปรับทีหลังไม่มีประโยชน์ต่อทั้งกรมฯและผู้เสียภาษี

กลุ่มอาชีพอินฟลูเอนเซอร์ ขายของออนไลน์ และรับรีวิวสินค้า ในการยื่นภาษีต้องดูว่าประเภทของรายได้เป็นอย่างไร ดังนี้

1.กรณีรับเป็นค่าจ้างก็เหมือนการยื่นแบบรายได้ปกติ 

2.กรณีมีต้นทุนในการรีวิวสินค้าก็หักค่าใช้จ่ายและยื่นรายได้ตามจริง 

3.กรณีเป็นผู้มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษี VAT ที่ต้องนำภาษีส่งให้รัฐ 

4.กรณีรายได้ที่รับในรูปแบบสินค้า เช่น ที่พัก อาหารในโรงแรม ต้องคิดเสมือนเป็นเงินได้ และประเมินเป็นรายได้ที่นำส่งรายได้และต้องยื่นแบบให้ถูกต้องเช่นกัน

ทั้งนี้ อาชีพอินฟลูฯ ต้องยื่นรายได้กลางปีด้วยไม่ใช่แค่ยื่นภาษีต้นปีแล้วจบ รวมทั้งค่าลดหย่อนภาษีมีเช่นเดียวผู้มีเงินได้อื่น โดยขอลดหย่อนภาษีได้กว่า 20 รายการ คิดเป็นค่าลดหย่อนเต็มจำนวนสูงสุดมากกว่า 1 ล้านบาทต่อปี ซึ่งต้องบริหารจัดการการลดหย่อนภาษี โดยปรึกษาได้ที่กรมสรรพากรทั้งในสำนักงานสรรพากรพื้นที่และช่องทางออนไลน์

ในส่วนของการลงโทษคนที่ไม่เสียภาษีเงินได้ อธิบดีกรมสรรพากรระบุว่า จะมีทั้งโทษแพ่งและอาญาซึ่งในปัจจุบันมักจะใช้โทษทางแพ่งโดยมีทั้งส่วนของเบี้ยปรับและเงินเพิ่มโดยค่าปรับนั้นมีตั้งแต่ 0 – 2 เท่าของภาษีที่ต้องจ่าย นอกจากนั้นยังมีส่วนเงินเพิ่มคิดที่อัตรา 1.5% ต่อเดือน ซึ่งหากปรับกันเต็มที่นั้นอาจเกินกว่ามูลค่าภาษีที่ต้องเสียจริงกว่า 4 เท่า  ตรงนี้เชื่อว่าไม่มีใครอยากจ่าย ส่วนโทษทางอาญากรมฯก็ไม่อยากจะใช้โทษทางอาญายกเว้นว่าเป็นการกระทำที่มีความผิดร้ายแรงมาก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top