Sunday, 19 May 2024
อาชญากรรม

เปิดคำสารภาพของสาววัย 20 ปี ผู้ก่อเหตุไล่แทงคนบนรถไฟโตเกียว ภัยเงียบแห่งสังคมญี่ปุ่น ภายใต้อาชญากรรมด้วยเหตุจูงใจที่ ‘ไร้เหตุจูงใจ’

ปี 2024 นี้ ไม่น่าจะใช่ปีที่ดีของชาวญี่ปุ่นสักเท่าไหร่ เพราะมีเหตุการณ์ร้ายแรงตั้งแต่ต้นปี ทั้งแผ่นดินไหว สึนามิ เครื่องบินชนกัน ยัน ไฟไหม้ตึก

เช่นเดียวกับคดีที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ บนรถไฟฟ้ากลางกรุงโตเกียว เมื่อมีคนร้ายใช้มีดไล่แทงผู้คนบนรถไฟสาย ‘JR Yamanote’ ขณะมุ่งหน้าไปสถานีอากิฮาบาระ เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บเป็นชาย 4 คน

เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นในช่วงกลางดึก ราวๆ 23.50 น. ของคืนวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา เมื่อมีหญิงสาวอายุราวๆ 20 ปี ใช้มีดทำครัวไล่แทงผู้โดยสารบนขบวนรถไฟสาย JR Yamanote หนึ่งในสายรถไฟหลักชื่อดังของกรุงโตเกียว เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บเป็นชาย 4 คน และ 3 ใน 4 คน ถูกแทงบริเวณกลางหลัง และ ทรวงอก มีอาการบาดเจ็บสาหัส ส่วนอีกคนโชคดีได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย

หลังเกิดเหตุ ทางการโตเกียวสั่งหยุดเดินรถไฟ Yamanote ที่สถานีอากิฮาบาระชั่วคราว และได้จับกุมหญิงสาวอายุราวๆ 20 ปี ที่เป็นคนร้าย โดยไม่มีการเปิดเผยชื่อออกสื่อ

และสิ่งที่ได้จากการสอบปากคำคนร้ายสาววัย 20 กว่าๆ นั้น ชวนตะลึงยิ่งกว่าการก่อเหตุของเธอเสียอีก เมื่อเธอให้การรับสารภาพกับตำรวจได้อย่างหน้าตาเฉยว่า “ฉันขึ้นรถไฟมาจากสถานีอุเอโนะ มาเพื่อตั้งใจจะฆ่าคนค่ะ”

ซึ่งเธอมีเจตนามาก่อเหตุจริงๆ เมื่อตำรวจพบหลักฐานเป็นมีดทำครัวที่ใช้ก่อเหตุตกอยู่ภายในรถไฟ และยังพบมีดสำรองอีก 1 เล่มในกระเป๋าของเธอ เรียกได้ว่าเตรียมเผื่อไว้เลย หากมีดเล่มแรกถูกแย่งไป

เจ้าหน้าที่ตำรวจโตเกียวยังหาข้อสรุปสาเหตุจูงใจในการก่อเหตุของเธอได้ แต่หญิงสาวยอมรับว่า เธอมีอาการป่วยทางจิต ที่ส่งผลต่อการกระทำของเธอ แต่ถึงจะอ้างความเจ็บป่วยทางจิตใจ ตำรวจก็จำเป็นต้องตั้งข้อหา ‘เจตนาฆ่า’ ไว้ก่อน และเชื่อว่า คนร้ายกับผู้เคราะห์ร้ายทั้ง 4 คน ไม่เกี่ยวข้องกัน หรือเคยรู้จักกันมาก่อน

อย่างที่รู้กันดีว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดอาชญากรรมต่ำมาก เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร และมีกฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวดมากๆ แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ กลับมีคดีไล่แทงคนในที่สาธารณะ การลอบวางเพลิง หรือการก่อเหตุด้วยปืน และระเบิดที่ประดิษฐ์ขึ้นเองเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

และสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่ารูปแบบการก่อเหตุ ก็คือเหตุจูงใจของคนร้าย เพราะหลายครั้งที่เกิดคดีในญี่ปุ่น มักได้รับคำตอบจากคนร้ายว่า “ก่อเหตุเพราะแค่อยากฆ่าใครสักคนเฉยๆ”

ดังเหตุการณ์ร้ายแรงที่เคยเกิดขึ้นในย่านอากิฮาบาระ เช่นกัน เมื่อเดือนมิถุนายน 2008 ‘นายคาโต้ โทโมฮิโระ’ ชายหนุ่มวัย 25 ปี ได้ขับรถไล่ชนผู้คนขณะกำลังข้ามถนนในย่านนี้เป็นจำนวนมาก แล้วยังเอามีดออกมาไล่แทงผู้คนบนท้องถนน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 7 คน และบาดเจ็บอีกนับ 10 คน

หลังก่อเหตุ ตำรวจพบหลักฐานในโทรศัพท์มือถือของเขา เป็นข้อความที่นอกเหนือจากการแสดงความน้อยเนื้อต่ำใจในตัวเอง อกหัก แฟนทิ้ง ตกงาน พ่อแม่ไม่รัก ยังมีข้อความที่พิมพ์อย่างชัดเจนว่า “ฉันตั้งใจจะฆ่าคนที่อากิฮาบาระ”

คาโต้ โทโมฮิโระ ถูกตัดสินประหารชีวิตและเพิ่งจะประหารไปเมื่อปี 2022 นี้เอง…

ส่วนอีกคดีที่สะเทือนญี่ปุ่นไม่แพ้กัน คือ เหตุไล่แทงที่เมืองซากะมิฮาระ ในจังหวัดคานาคาวะ เมื่อปี 2016 โดย ‘นายอุเมะมัทสุ ซาโตชิ’ หนุ่มวัย 26 ปี อดีตลูกจ้างศูนย์พยาบาลผู้สูงอายุ ก่อเหตุใช้มีดที่พกมาเป็นจำนวนมาก บุกเข้าไปแทงคนชราภายในศูนย์พักพิง เสียชีวิตไปถึง 19 คน 
ต่อมา นายซาโตชิ ได้เขียนคำรับสารภาพว่า เขาตั้งใจก่อเหตุสังหารคนชรา และ คนพิการ เพื่อประโยชน์ของประเทศญี่ปุ่น และ รักษาสันติภาพของโลก ทั้งยังช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ และ ป้องกันสงครามโลกครั้งที่ 3!!

การก่ออาชญากรรมด้วยเหตุจูงใจ ที่ไร้เหตุจูงใจ จึงไม่ต่างจากภัยเงียบในสังคมของคนญี่ปุ่นอย่างหนึ่ง เพราะเราไม่อาจรู้เลยว่า คนที่ยืนรอรถไฟอยู่ข้างๆ เราในวันนี้ มีอารมณ์อยากฆ่าใครบางคนขึ้นมาหรือเปล่า…

ตร. เผย สถิติอายัดเงินทัน สูงขึ้น 6 เท่า! อายัดได้รวม 1,789 ล้านบาท หลัง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้

วันนี้ (12 มกราคม 2567) พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยการออกกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จากการถูกหลอกลวงจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยกฎหมายได้ให้อำนาจธนาคารในการอายัดเงินชั่วคราวเป็นระยะเวลา 72 ชั่วโมง ทันทีที่มีผู้เสียหายแจ้งว่าถูกหลอกลวงจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ก่อนที่ผู้เสียหายจะไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีและพนักงานสอบสวนจะแจ้งให้ธนาคารทราบเพื่ออายัดเงินจำนวนดังกล่าวต่อไป ซึ่งปัจจุบันผู้เสียหายสามารถแจ้งเหตุเบื้องต้นเพื่อให้ดำเนินการอายัดบัญชีชั่วคราวได้ที่สายด่วน 1441 นั้น

สำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า สถิติการอายัดเงินที่ผู้เสียหายโอนให้กับกลุ่มมิจฉาชีพสูงขึ้นจากเดิมกว่า 6 เท่า โดยก่อนหน้าที่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 16 มีนาคม 2566) สถิติการขออายัดเงินรวม 1,346 ล้านบาท อายัดเงินได้ทันเพียง 53 ล้านบาท “คิดเป็นร้อยละ 3.9” ของจำนวนเงินที่ขออายัด

ส่วนสถิติหลังจากที่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ (ระหว่างวันที่ 17 มีนาคม - 31 ธันวาคม 2566) มีสถิติการขออายัดเงินรวม 7,496 ล้านบาท อายัดเงินได้ทัน 1,789 ล้านบาท “คิดเป็นร้อยละ 23.9” ของจำนวนเงินที่ขออายัด ซึ่งสูงกว่าเดิมถึง 6 เท่า

อย่างไรก็ตาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอเรียนว่า แม้ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถอายัดเงินที่ผู้เสียหายโอนให้กลุ่มมิจฉาชีพได้มากขึ้น แต่ก็ยังมีเงินอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถอายัดได้ทัน จึงขอให้พี่น้องประชาชนระมัดระวังไม่หลงเชื่อสิ่งที่เห็น หรือได้ยินบนโลกออนไลน์ ตามหลัก “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

สุดท้ายนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

หลักสูตรสืบสวนคดีอาญา ท๊อปจี สานตำนานสร้างนักสืบ ต่อสู้อาชญากรรมยุคใหม่

วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 น. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.  เป็นประธาน พร้อมด้วย พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. ดูแลงานสืบสวน, และ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วย ผบ.ตร. ให้เกียรติเดินทางเป็นประธานพิธีเปิดหลักสูตรสืบสวนคดีอาญา ขั้นพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือ สืบสวน TOP G หลักสูตรสืบสวนที่มีความเข้มข้น และเฉพาะทาง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

โดยมี พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น./ผู้อำนวยการฝึกอบรม, พล.ต.ต.พิทักษ์ อุทัยธรรม รอง ผบช. ประจำ สง.ผบ.ตร., พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น./รองผู้อำนวยการฝึกอบรม, พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น./ผู้อำนวยการฝึกอบรม, พล.ต.ต. ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง โฆษก ตร., คณะครูพี่เลี้ยง และผู้เข้ารับการฝึกอบรม 30 คน ณ ห้องประชุมอัจฉริยะ ชั้น 4 อาคารกองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล

ย้อนไปเมื่อปี 2540 พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในขณะนั้น ได้มีแนวคิดสร้าง “ปฐมบทของชีวิตนักสืบ” เมืองหลวง โดยมอบหมาย พล.ต.ต.ปรีชา ธิมามนตรี อดีตรอง ผบช.สตม. ตำนานนักสืบระดับอาจารย์ โดยมี พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปรมาจารย์นักสืบ เป็นหนึ่งในครูฝึก บ่มเพาะตำนาน 30 นักสืบ ซึ่งต่อมาในปัจจุบัน 30 นักสืบดังกล่าว ได้กลายมาเป็น นักสืบมือฉกาจคลี่คลายคดีสำคัญหลายคดี อย่าง พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล
​ต่อมาในปัจจุบัน ตามวิสัยทัศน์ของ พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์  สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คือ การมุ่งเน้นการสร้างองค์กรตำรวจให้เป็น “องค์กรปราบปรามอาชญากรรมและบังคับใช้กฎหมายในระดับมาตรฐานสากลที่ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธา” และค่านิยมหลัก “พิทักษ์ราษฎร์ ปราบภัย รับใช้ประชาชน” เป็นการเน้นย้ำการบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องการพัฒนาบุคลากรให้เท่าทันกับรูปแบบอาชญากรรมใหม่ๆ  

โดยเฉพาะการสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงและการรวบรวมพยานหลักฐานของการกระทำความผิด  เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นศรัทธาในองค์กรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทว่าในปัจจุบัน ข้าราชการตำรวจฝ่ายสืบสวนระดับปฏิบัติการมีจำนวนไม่เพียงพอต่ออาชญากรรมที่เพิ่มมากขึ้น และมีรูปแบบการกระทำความผิดที่ซับซ้อนและทวีความรุนแรง ทำให้ต้องฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านเทคโนโลยีการสืบสวน ที่ทันสมัยให้เท่าทันกับสังคมยุค 5G  ตลอดจนการปลูกฝังคุณธรรม อุดมการณ์ จิตวิญญาณ และการอุทิศตนของข้าราชการตำรวจฝ่ายสืบสวนให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ
​จึงได้มอบหมาย พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จัดทัพ นำโดย พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล , พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล คัดสรรค์ข้าราชการตำรวจระดับรองสารวัตรหรือเทียบเท่า ชั้นยศ ร้อยตำรวจโท-ร้อยตำรวจเอก สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน และได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการ จำนวน 30 คน เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมเป็นยอดนักสืบ เป็นเวลา 20 สัปดาห์ ณ กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ภายใต้โครงการฝึกอบรมหลักสูตรการสืบสวนคดีอาญา ขั้นพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (TOPG)

ตำรวจ - กสทช. - กรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดปฏิบัติการ TAKE DOWN SCAMMER ทลายฐานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ค้น 3 จุด นครศรีธรรมราช รวบ 63 ต่างชาติ - ไทย ซุกโรงแรม โกดังของมือ 2 ยึดซิมผีนับพัน

จากนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กวดขัน ปราบปรามอย่างเด็ดขาดกับอาชญากรรมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งสร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ( รอง ผบ.ตร. ) รักษาราชการแทน ผบ.ตร. จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยตำรวจในพื้นที่บูรณาการหาข่าว ปราบปรามขยายผลให้ถึงผู้บงการ ยึดทรัพย์ และนำตัวมาดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด ซึ่งได้ปรากฏทางการสืบสวนพบว่า มีกลุ่มแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติมาตั้งฐานอยู่ทางภาคใต้ จึงได้สั่งการให้ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. บูรณการกำลังเข้าปฏิบัติการ

วันนี้ ( 29 มีนาคม 2567 ) เวลา 16.30 น. ที่ สภ.ฉวาง จว.นครศรีธรรมราช พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. ดูแลงานด้านอาชญากรรมเทคโนโลยี ร่วมกับ พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช. ) ด้านกฎหมาย ในฐานะประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ นายไตรรัตน์ วิริยะศิรติกุล รักษาการ เลขาธิการ กสทช. พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทน อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงผลการปฏิบัติการจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ขบวนการหลอกลวงประชาชนทางออนไลน์เครือข่ายใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมี พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี( ผบช.สอท. ) , พล.ต.ท.สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8, พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ภูมิพัฒน์ ภัทรศรีวงษ์ชัย ผบก.สอท.5, พล.ต.ต.สมชาย ซื่อต่อตระกูล ผบก.ภ.จว.นครศรีธรรมราช และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมแถลง

พล.ต.ท.ธัชชัยฯ เปิดเผยว่า จากการสืบสวนสอบสวนเชิงรุกของตำรวจ ร่วมกับ กสทช.และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ พบความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนร้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ผนวกกับการตรวจสอบแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ตำรวจ สอท. 5 จึงได้รวบรวมพยานหลักฐาน ขออนุมัติหมายค้นจากศาล เข้าตรวจค้น 3 จุด จุดแรกโรงแรมแห่งหนึ่งในตำบลจันดี อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรรมราช และอีก 2 จุด คือ บ้านพัก ใน อ.ฉวาง ขยายผลไปยัง โกดังจำหน่ายสินค้าญี่ปุ่นมือสอง ในพื้นที่ อ.นาบอน จ.นครศรีธธรมราช พบผู้ต้องหา และของกลางจำนวนมาก โดยพบความเชื่อมโยงกัน สถานที่ดังกล่าวถูกใช้เป็นฐานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ ที่ทำเป็นขบวนการแบ่งหน้าที่กันทำอย่างชัดเจน โดยจับกุมผู้ร่วมขบวนการได้ 63 ราย สัญชาติไทย 12 ราย สัญชาติอื่น 51 ราย พร้อมของกลางประกอบด้วย

1. คอมพิวเตอร์ 223 เครื่อง
2. โทรศัพท์มือถือ และซิมการ์ดผี 1,300 รายการ
3. เราเตอร์กระจายสัญญาณ 12 เครื่อง
4 .สมุดบัญชีธนาคาร ( บัญชีม้า )  80 เล่ม

ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า ดำเนินคดีกลุ่มผู้ต้องหา ในความผิด ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ, พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าวฯ, พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี, พ.ร.บ.โทรคมนาคมฯ, พ.ร.บ.ศุลกากรฯ และ ประกาศ กสทช. เรื่อง การยืนยันตัวตนและข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการฯ และจะมีการขยายผลการกระทำผิดไปถึงทุกคนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดำเนินการยึดทรัพย์อย่างเด็ดขาด

“แก๊งนี้ถือเป็นองค์กรอาชญากรรมขนาดใหญ่ โดยในครั้งนี้ทางทูตตำรวจจีน และญี่ปุ่น ได้เข้าร่วมตรวจสอบการกระทำผิดเพื่อนำไปสู่การขยายผลการกระทำผิดในประเทศจีนและญี่ปุ่นต่อไป ซึ่งการจับกุมในครั้งนี้เป็นการตอบสนองนโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่ง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง” พล.ต.ท.ธัชชัยฯ กล่าว 

ด้าน พล.ต.อ.ณัฐธรฯ กล่าวว่า จากการตรวจสอบการสื่อสารข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลที่บันทึกไว้ในระบบคอมพิวเตอร์  และซักถามกลุ่มผู้ต้องหาพบว่าแก๊งหลอกลวงทางออนไลน์แก๊งนี้มีพฤติการณ์ดังนี้

• หาเหยื่อผ่านทางช่องทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะแอปพลิเคชันเทเลแกรม
• ชักชวนเหยื่อให้ช่วยแนะนำรีวิวโรงแรม รีสอร์ท ที่พัก ต่าง ๆ โดยล่อลวงว่าจะได้รับรางวัลตอบแทนเป็นที่พัก หรือตั๋วเครื่องบินฟรี
• หลอกให้เหยื่อกรอกข้อมูลส่วนบุคคลต่าง ๆ
• เมื่อเหยื่อหลงกลจะส่งข้อความแนบลิงก์เพื่อยืนยันการรับรางวัล ทั้งที่ความจริงเป็นลิงก์อันตราย ติดตั้งแอปฯ ควบคุมโทรศัพท์มือถือจากระยะไกล ( รีโมท )
• จากนั้นคนร้ายจะใช้ข้อมูลส่วนตัวที่เหยื่อให้ไว้เข้าถึงบัญชีธนาคารผ่านโมบายแบงก์กิ้ง ดูดเงินออกจากบัญชีของเหยื่อ นอกจากนี้ยังมีกลอุบายหลอกให้ลงทุนด้วยวิธีต่าง ๆ ด้วย
 
พล.ต.อ.ณัฐธรฯ กล่าวด้วยว่า ในการจับกุมครั้งนี้ ตำรวจ กสทช. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ  ได้ทำการรื้อถอน และตรวจยึดอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี, คอมพิวเตอร์, โทรศัพท์มือถือ, รวมทั้งซิมการ์ด ซึ่งเป็น ซิมผี ไม่ได้ลงทะเบียนหรือลงทะเบียนไม่ถูกต้องตามกฎหมายและประกาศ กสทช.กำหนด ไปตรวจสอบทางเทคนิคเพื่อขยายผลไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความมุ่งมั่นในการป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างจริงจัง เด็ดขาด

ทั้งนี้ขอย้ำเตือนภัยแก่พี่น้องประชาชนขอให้ระมัดระวังไม่หลงเชื่อกลลวงของมิจฉาชีพออนไลน์ ที่ใช้อุบายต่าง ๆ ในการล่อลวง และหากตกเป็นเหยื่อสามารถแจ้งเหตุ อายัดเงินด่วน ได้ทางสายด่วน โทร.1441 ศูนย์ AOC โดยไม่มีช่องทางไลน์ หรือเพจเฟซบุ๊กใด ๆ และสามารถแจ้งความออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th ช่องทางเดียวเท่านั้น โดยไม่มีช่องทางไลน์ หรือเพจเฟซบุ๊ก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top