Tuesday, 21 May 2024
อัครเดช_วงษ์พิทักษ์โรจน์

กมธ.อุตฯ ถกเครียด!! ปมลักลอบขนกากพิษร้ายแรงหมื่นตันกองมหาชัย  จี้!! ผู้ว่าฯ ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ เพราะเป็นสารพิษอันตรายก่อมะเร็ง

เมื่อวันที่ 3 มี.ค.67 ที่รัฐสภา นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า ทาง กมธ.ได้พิจารณาสอบข้อเท็จจริงกรณีมีการร้องเรียนว่า มีบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดตาก ได้ขายกากแร่สังกะสีและกากแร่แคดเมียมที่ฝังกลบในจังหวัดตาก ขายให้กับบริษัทหนึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เนื่องจากกากแร่ดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็ง กมธ.จึงได้เชิญหลายหน่วยงานมาชี้แจง

นายอัครเดช กล่าวว่า ทางกมธ.ได้เชิญอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รองอธิบดีกรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ตัวแทนอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ตัวแทนอธิบดีกรมอนามัย และผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.) มาให้ข้อมูลทราบว่า ทางอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครได้อายัดกากแร่ดังกล่าวไว้แล้วเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา กรมอนามัยให้ข้อมูลว่ากากแร่ปนเปื้อนแคดเมียมเป็นสารก่อมะเร็งในกรณีได้สัมผัส สูดดมหรือปนเปื้อนไหลไปยังแหล่งน้ำ ถ้าประชาชนดื่มกินจะเป็นอันตราย รวมถึงสัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าวด้วย การลักลอบขนย้ายกากแร่มีพิษอันตรายร้ายแรงดังกล่าวมีการละเมิดกฎหมายหลายข้อ

นายอัครเดช กล่าวว่า ทางผู้บังคับการ ปทส.ให้ข้อมูล กมธ.ว่า ในจังหวัดตากยังพบการกระทำความผิดตามกฎหมายอยู่ โดยล่าสุดยังมีการใช้เครื่องจักรกลหนักเข้าไปทำงานบริเวณหลุมเก็บกากแร่อันตราย ขณะที่ทางตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครรายงานว่า จะกลับไปพิจารณาประกาศให้พื้นที่กองเก็บกากเเร่มีพิษอันตรายในจังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เพราะมีข้อมูลถูกนำไปเก็บไว้ในโรงงานแห่งหนึ่งกว่า 10,000 ตัน ใส่ในถุงบิ๊กแบ็กกว่า 1 พันกว่าถุง เป็นการกองเก็บอย่างผิดกฎหมาย ผิดหลักเกณฑ์การจัดเก็บวัตถุอันตราย

ทั้งนี้ การเก็บสารอันตรายต้องเก็บในบ่อคอนกรีตปกคลุมด้วยผ้าใบอย่างดีและเทคอนกรีตหนา 50 ซม. และใน EIA ระบุชัดต้องไม่มีการขนย้ายจากบ่อ แต่ปรากฏว่ามีการขนย้ายออกมาที่จังหวัดสมุทรสาคร ถือเป็นการกระทำความผิดที่รุนแรงมาก จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบด้านสุขภาพอนามัย เพราะเก็บใส่ถุงบิ๊กแบ็กในอาคารและนอกอาคารพันกว่าถุง ประเมินคร่าว ๆ เกือบหมื่นตัน

“ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบโรงงานที่เก็บกากแร่มีพิษอันตราย ได้ฟังประกาศจากทางจังหวัดสมุทรสาครที่จะประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ และต้องดำเนินคดีกับบริษัทต้นทางและบริษัทปลายทางด้วย รวมถึงต้องดูแลเยียวยาพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งในจังหวัดตาก และจังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วนก่อนที่จะสายเกินไป...

"อย่างไรก็ตาม เวลานี้ กมธ.ได้เจอนักลงทุนต่างประเทศทำผิดกฎหมายหลายราย ทั้งการสวมสิทธิ์ การประกอบธุรกิจที่ไม่ตรงกับที่ขออนุญาต การละเมิดกฎหมาย อย่างการขนย้ายกากแร่มีพิษอันตรายครั้งนี้ สืบแล้วบริษัทปลายทางเป็นบริษัทจากต่างประเทศรายหนึ่งที่มารับซื้อแล้วทำผิดกฎหมาย ถือว่าเสี่ยงต่อคนไทยที่จะได้รับผลกระทบ กมธ.จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกคำสั่งทางปกครองอย่างเร่งด่วน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างรอบคอบรัดกุม” นายอัครเดช กล่าว

‘กมธ.อุตฯ’ ลงพื้นที่สอบข้อเท็จจริงโรงงานเครนถล่ม จ.ระยอง สั่งดำเนินคดีผู้กระทำผิด - ตั้ง คกก.ตรวจสอบโรงงานเพิ่มเติม

(5 เม.ย. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมกมธ. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เหตุเครนถล่มที่โรงงานเหล็กในพื้นที่ ม.2 ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมี นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง พล.ต.ต.พงศ์พันธ์ วงษ์มณีเทศ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระยอง อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง แรงงานจังหวัดระยอง พร้อมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ที่ห้องประชุม อบต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง

นายอัครเดช ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า กมธ.ได้รับการชี้แจงจากผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องว่า เหตุการณ์เครนถล่ม มีผู้เสียชีวิต 7 ราย เป็นแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา 6 ราย จีน 1 ราย ทางบริษัทได้จ่ายเงินเยียวยาให้ตามกฎหมายทุกรายแล้ว

ขณะที่ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระยองได้ชี้แจงว่า ได้ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตตามขั้นตอนตามกฎหมายแล้ว กมธ.ได้ย้ำขอให้แรงงานจังหวัดระยองได้เข้ามาดูแลการทำงานของแรงงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และให้มีการจ้างงานถูกต้องตามกฎหมาย หากเป็นแรงงานต่างด้าว ต้องเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย

นายอัครเดช กล่าวว่า ส่วนที่ 2 ในเรื่องการก่อสร้างพบว่าทาวเวอร์เครนที่ล้มได้รับรายงานจากปลัดอบต.ตาสิทธิ์ว่า ไม่มีการขออนุญาตติดตั้ง ทางกมธ.จึงให้หน่วยงานไปแจ้งความดำเนินคดีตามขั้นตอน และขอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัด ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อหาข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่อบต.ตาสิทธิ์ ที่มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ที่ปล่อยให้มีการติดตั้งเครนโดยไม่มีการขออนุญาต ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัด จะตั้งกรรมการมาสอบสวนก่อนจะรายงานผลสอบให้กมธ.ได้ทราบต่อไป

สำหรับ ส่วนที่ 3 การติดตั้งเครื่องจักร ทางอุตสาหกรรมจังหวัดชี้แจงว่า ได้มีการขออนุญาตก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและติดตั้งเครื่องจักรตาม พ.ร.บ.โรงงานอย่างถูกต้อง แต่ กมธ.ได้เน้นย้ำให้ตรวจสอบการติดตั้งเครื่องจักรให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด ไม่ควรนำเครื่องจักรที่ไม่มีความปลอดภัยและไม่ได้มาตรฐานมาติดตั้งในพื้นที่ จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนโดยรอบ เป็นอันตรายต่อพนักงานที่มาปฏิบัติงานในโรงงาน และให้อุตสาหกรรมจังหวัด และแรงงานจังหวัดตรวจสอบโรงงานอย่างเข้มงวดกับผู้ประกอบการ เพื่อความปลอดภัยของทุกส่วน

นอกจากนั้น กมธ.ขอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ตั้งคณะกรรมการพิเศษจากหลายหน่วยงานขึ้นมาบูรณาการในการทำงานร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตรวจสอบโรงงานแห่งนี้ โดยตรวจสอบการติดตั้งเครื่องจักรและการก่อสร้างให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเข้มงวด และขอให้จังหวัดตั้งคณะกรรมการอีกหนึ่งชุดเพื่อตรวจสอบโรงงานทั่วจังหวัดระยองว่า มีการละเมิดกฎหมายในการติดตั้งเครนก่อสร้างในลักษณะนี้เพิ่มอีกหรือไม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

อย่างไรก็ตาม การมาของ กมธ.ครั้งนี้เชื่อว่า จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนทั่วทั้งจังหวัดได้ โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดระยองได้เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการฯที่จะมีการตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดดังกล่าว

เมื่อถามว่า เรื่องที่แรงงานเมียนมาเคยประท้วงให้ตรวจสอบอาจจะมีการฝังศพแรงงานไว้ในพื้นที่โรงงาน นายอัครเดช กล่าวว่า ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระยองชี้แจงว่า ได้ลงไปตรวจสอบพื้นที่ร่วมกับฝ่ายปกครองแล้ว ไม่พบแต่อย่างใด และสภาพพื้นที่ก็ไม่สามารถนำศพไปฝังได้ แต่ถ้าประชาชนมีข้อมูลเพิ่มเติมสามารถแจ้งมายังกมธ.ได้ จะตรวจสอบเพิ่มเติมให้

เมื่อถามว่า เจ้าของโรงงานได้ดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่ นายอัครเดช กล่าวว่า ตรวจสอบแล้ว เจ้าของเป็นคนจีน มีการขออนุญาตจากอุตสาหกรรมจังหวัดระยองอย่างถูกต้อง

‘อัครเดช’ เปิดไทม์ไลน์ปม ‘กากแคดเมียมอันตราย’ ลั่น!! จนท.รัฐ เอี่ยว ต้องถูก ‘สอบสวน-ดำเนินการ’

“กากแคดเมียมเมื่อผ่านกระบวนการหลอมเพื่อสกัดสิ่งที่อยู่ภายในมีมูลค่าการซื้อขายสูงถึงตันละประมาณ 200,000 บาท จึงเป็นผลประโยชน์ที่ใครก็อยากได้”

เป็นข้อมูลจาก ‘นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์’ ประธานกรรมาธิการอุตสาหกรรม สส.ราชบุรี โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่ชี้ให้เห็นถึงเม็ดเงินมหาศาลจาก ‘กากแคดเมียม-สังกะสี’ ที่เป็นข่าวดังครึกโครมอยู่ขณะนี้ หลังมีการขุดและลักลอบขนย้ายจากจังหวัดตาก กว่า 15,000 ตัน กระจายไปซุกไว้ตามจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลการตรวจพบโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ล่าสุดพบในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ สมุทรสาครและชลบุรี

นายอัครเดช เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า “กมธ.อุตสาหกรรม ได้ติดตามเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นปี 2567 เพราะได้รับการร้องเรียนมีการนำกากอุตสาหกรรม ที่คาดว่าจะไม่ถูกกฎหมายจำนวนมากเคลื่อนย้ายออกจากจังหวัดตาก ณ ขณะนั้นยังไม่ทราบว่าจะไปยังที่ใด ซึ่งตามรายงานกากแร่นี้ระบุไว้ว่า ‘มีอันตรายห้ามเคลื่อนย้าย’

>> กุมภาพันธ์ 2567
ประธานกรรมาธิการอุตสาหกรรม เล่าต่อไปว่า จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการสืบสวนสอบสวนเชิงลึก กระทั่งมีการเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดตาก อุตสาหกรรมจังหวัดตาก มาให้ข้อมูลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ทั้ง 2 หน่วยงาน มอบให้ผู้แทนคือรองผู้ว่าฯ และผู้แทนอุตสาหกรรมจังหวัดมาชี้แจง ระบุว่า พื้นที่เหมืองเก่าใน อ.แม่สอด ส่งคืนพื้นที่ให้กรมป่าไม้ไม่มีการทำเหมือง

>> มีนาคม 2567
จากนั้นต้นเดือนมีนาคม 2567 กมธ.อุตสาหกรรม เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอีกครั้ง เพราะได้รับข้อมูลว่า มีการย้ายกากแร่จาก อ.แม่สอด มาจาก จ.ตาก ทุกหน่วยงานจึงช่วยตรวจสอบ โดยเฉพาะกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่แจ้งว่า การตรวจสอบสามารถทำได้เพราะมีการลงทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในใบขนย้าย

ต่อมาวันที่ 27 มีนาคม 2567 กรรมาธิการฯ ได้เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมอีกครั้ง ซึ่งอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ชี้แจงว่า เป็นผู้เซ็นอนุมัติให้มีการขนย้ายกากแร่ดังกล่าวออกไปที่ จ.สมุทรสาคร

แต่ทางรองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตั้งข้อสังเกตว่า ปลายทางไม่น่าจะรับกากแร่ที่ขนไปได้ แคดเมียมเป็นโลหะหนัก โรงงานปลายทางไม่สามารถหลอมโลหะอันตรายได้ เพราะเป็นโรงหลอมอะลูมิเนียมที่ไม่อันตราย

“ในวันนั้นที่ปรึกษากรรมาธิการอุตสาหกรรม สอบถามกับทางอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เรื่องการขนย้ายกากดังกล่าว เพราะในข้อมูลทาง EIA ระบุชัดว่า จะต้องใช้วิธีการฝังกลบตามกระบวนการเท่านั้น แต่ทางอุตสาหกรรมจังหวัดตาก แจ้งว่า ขอกลับไปตรวจสอบก่อน”

>> เมษายน 2567
ประธานกมธ. เล่าอีกว่า และเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 จึงเชิญ 8 หน่วยงานมาประชุม และมีความเห็นว่า กากดังกล่าวเป็นอันตราย

โดยในที่ประชุม ผู้แทนกรมโรงงานฯ นำผลการตรวจสอบตัวอย่างกากแร่ที่พบในโรงงานสมุทรสาคร มาชี้แจง ว่า ผลการวิเคราะห์พบกากแคดเมียมมีความเข้มข้นสูงถึง 40% ถือว่าเป็นอันตรายมาก

“ในฐานะ ปธ.กมธ.อุตสาหกรรม จะปล่อยเรื่องนี้เงียบไม่ได้ กรณีนี้ จนท.รัฐ จะต้องถูกสอบสวนหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด”

ส่วนล่าสุดวันนี้ (9 เม.ย.67) แฟนเพจเฟซบุ๊ก ‘ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB)’ ได้เปิดเผยภาพและข้อมูล การเข้าตรวจค้นโรงงานแห่งที่ 4 ย่านคลองมะเดื่อ สมุทรสาคร พร้อมระบุว่า เจอแคดเมียมอีกเกือบ 1,000 ตัน

โดยด้านพล.ต.ต วัชรินทร์ พูสิทธ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผบก.ปทส.) กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ สามารถตรวจพบกากแคดเมียมได้อีก 1,000 ตันที่โกดังแห่งหนึ่งใน อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร พร้อมทั้งเรียกประชุมคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน เพื่อวางแนวทางการทำงานร่วมกับกรมโรงงาน ในการตรวจสอบว่าโรงงานดังกล่าวได้รับอนุญาตให้ครอบครองวัตถุอันตรายหรือไม่ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม รวมทั้งความผิดอื่น ๆ เช่น พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และพ.ร.บ.คนเข้าเมืองเพิ่มเติมต่อไป

‘ประธาน กมธ.อุตฯ’ เร่งล่าตัวคนผิด กรณีขนย้ายกากแคดเมียม ลั่น!! ไม่ยอมให้เอาชีวิตของพี่น้องประชาชนเป็นตัวประกัน

เมื่อไม่นานมานี้ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า ในวันนี้ (17 เม.ย.) เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา กมธ.อุตสาหกรรมได้เชิญหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ 6 หน่วยงานหลักที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ดำเนินการกับกากแร่แคดเมียม มาประชุมที่สภาฯเพื่อติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการ โดยเฉพาะการขนย้ายกากแคดเมียม

เนื่องจากประชาชนกังวลใจว่า จะขนย้ายอย่างไรให้ปลอดภัยที่สุด การประชุมในวันพรุ่งนี้จะมีแผนงานที่ชัดเจนออกมาแจ้งให้ประชาชนทราบว่า หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐจะดำเนินการอย่างไรบ้าง

กมธ.ได้รับการร้องเรียนว่า กากแคดเมียมที่อายัดไว้ทำไมปล่อยทิ้งไว้ตามจุดต่าง ๆ ไม่หาตู้คอนเทนเนอร์มาบรรจุกากแคดเมียม กมธ.มีความห่วงใยในสถานการณ์ดังกล่าวจึงจะไปเร่งรัดให้เกิดความรวดเร็วยิ่งขึ้น ส่วนการขนย้ายจะเข้าไปดูรายละเอียดว่าขนย้ายอย่างไร โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงว่า ขนอย่างไรให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด เพราะประชาชนเป็นห่วงมาก และขอบอกประชาชนว่า ไม่ต้องเป็นห่วง กมธ.จะตรวจสอบการขนกากแคดเมียมของหน่วยงานภาครัฐอย่างเข้มข้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชนมากที่สุด ตั้งแต่ต้นทาง ระหว่างทางจนถึงปลายทาง

นอกจากนี้ จะได้สอบถาม กระทรวงสาธารณสุข และกรมควบคุมมลพิษว่าได้ติดตามดำเนินการกรณีนี้ที่เป็นผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนและสิ่งแวดล้อมว่าได้ดำเนินการไปถึงไหนและมีผลการดำเนินการเป็นอย่างไรแล้วบ้าง

สำหรับ การสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด กมธ.จะติดตามสอบถามกับบก.ปทส.ว่า สอบสวนถึงไหนแล้ว การขนย้ายกากแคดเมียมเป็นหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนการสอบสวนดำเนินคดีเป็นหน้าที่ของบก.ปทส. ในเบื้องต้นยืนยันได้ว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐรับผลประโยชน์ในเรื่องนี้แน่นอนจึงสามารถขนย้ายกากแร่อันตรายจากจังหวัดตากมาเก็บไว้ที่จังหวัดสมุทรสาครแล้วกระจายไปยังจุดต่าง ๆ ทั้งชลบุรีและกรุงเทพมหานครได้ ทาง กมธ.อุตสาหกรรมมีข้อมูลเชิงลึกแล้ว

นายอัครเดช ขอยืนยันว่า จะติดตามตรวจสอบเอาคนทำความผิดที่รับผลประโยชน์และทำผิดกฎหมายมาลงโทษให้ได้กมธ.จะไม่ยอมให้เอาชีวิตของพี่น้องประชาชนเป็นตัวประกัน จะติดตามหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนสบายใจ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาไม่ได้เงียบ กมธ.ยังคงติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด แล้วจะรายงานผลให้ประชาชนทราบเป็นระยะ เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญจะไม่ปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก

ล่าสุด (17 เม.ย. 67) ที่รัฐสภา นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ที่ประชุมกมธ. ได้เชิญ 6 หน่วยงาน เพื่อพิจารณาแก้ปัญหากากแร่แคดเมียม โดยให้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมมาบูรณาการหลักร่วมกับ 5 หน่วยงาน โดยนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มาชี้แจง ซึ่งคงจะได้ทราบข้อเท็จจริง 

อย่างไรก็ตามได้รับทราบจากข่าวว่าจะมีการเริ่มเคลื่อนย้ายกากแร่แคดเมียมในวันที่ 7 พ.ค. ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าทำไมถึงช้า เพราะอะไร ดังนั้นตนจะได้สอบถามในที่ประชุมว่าจะเลื่อนการเคลื่อนย้ายให้เร็วกว่าวันที่ 7 พ.ค. ได้หรือไม่ รวมทั้งเรื่องการจัดการกากแร่แคดเมียมที่ตรวจพบทั้งที่จังหวัดสมุทรสาคร ชลบุรี และจ.ตาก จะดำเนินการอย่างไร

นายอัครเดช กล่าวต่อว่า ถ้ามีขนย้ายควรจะมีตู้คอนเทนเนอร์มาบรรจุเพื่อไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายระหว่างขนย้ายของแคดเมียมได้อย่างไร เพื่อจะได้ป้องกันปัญหา และผลกระทบที่จะเกิดกับพี่น้องประชาชนที่อาศัยบริเวณโดยรอบ ได้ดำเนินการไปอย่างไรแล้วบ้าง โดยจะมีการเสนอให้ซีลสองรอบ และใส่ไปในตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแล้วค่อยขนย้ายไป จ.ตาก โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นถ้าผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการได้รัฐก็ต้องนำงบประมาณไปดำเนินการก่อน ส่วนขั้นตอนการฟ้องร้องค่าใช้จ่ายต้องให้รัฐไปฟ้องร้องกับผู้ประกอบการออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพราะหากจะรอให้ผู้ประกอบการพร้อม ตนคิดว่าไม่ทันและจะเป็นอันตรายต่อพี่น้องประชาชน 

เมื่อถามว่าทางกมธ.ได้รับเสียงสะท้อนจากประชาชนในพื้นที่อย่างไรบ้าง นายอัครเดช กล่าวว่า ในส่วนของกมธ.ได้มีการสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ยังไม่ได้ลงพื้นที่จริง แต่เรามีแผนที่จะลงไปติดตามการฝังกลบแคดเมียมที่ จ.ตาก ซึ่งเดิมวางไว้ประมาณต้นพ.ค. แต่เนื่องจากมีการเลื่อนการกำหนดการขนย้ายในวันที่ 7 พ.ค. ก็ต้องมาหารือในที่ประชุมกมธ.กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจริง ๆ แล้วจะสามารถขนย้ายได้เมื่อไหร่แน่ เพราะเดิมทราบจากรมว.อุตสาหกรรมการว่าจะเริ่มมีการขนย้ายประมาณวันที่ 17 เม.ย. จึงต้องสอบถามเหตุผลจากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่มาชี้แจงว่าทำไมจึงเลื่อนเป็นวันที่ 7 พ.ค.

ต่อข้อถามว่ามองการทำงานของรมว.อุตสาหกรรม ซึ่งอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติด้วยกันอย่างไร นายอัครเดช กล่าวว่า ในส่วนของรมว.อุตสาหกรรมเป็นฝ่ายบริหารท่านก็ทำหน้าที่ของท่าน ในฐานะที่เป็นรัฐบาล ส่วนตนในฐานะประธานกมธ.อุตสาหกรรมเราก็ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินเพราะเป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญเราก็ทำงานคู่ขนานกันไป ถึงแม้เราจะมาจากพรรคเดียวกัน แต่บทบาทหน้าที่ก็ต้องทำ เพื่อให้ประชาชนและประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งเรื่องนี้ทั้งตนและน.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ก็ได้พูดคุยกันเป็นระยะอยู่แล้ว เพื่อหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งรัฐมนตรีก็ไม่ได้นิ่งเฉย และลงพื้นที่ติดตามปัญหาจนได้คืนกากแคดเมียมเกือบครบแล้ว 

เมื่อถามว่ายืนยันได้หรือไม่ที่ทางกมธ.ระบุว่ามีข้อมูลเชิงลึกในเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐรับผลประโยชน์ว่าได้ข้อมูลมาทางไหน นายอัครเดช กล่าวว่า เราทราบเหตุการณ์นี้เพราะมีคนมาร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่รัฐรับผลประโยชน์ในเรื่องของการย้ายกากแร่แคดเมียม ซึ่งเป็นหน่วยงานภายที่ร้องมา ทางกมธ.จึงได้มีการตรวจสอบประมาณเดือนม.ค. เรายังไม่รู้ว่าเป็นกากแร่อะไร จนรับทราบเบื้องต้นว่าต้นทางอยู่ที่ จ.ตาก จนมีการสอบสวนหาข้อเท็จจริง โดยกมธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวช้องมาสอบ ซึ่งครั้งแรกเราพุ่งเป้าไปที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นพื้นที่เหมืองแร่สังกะสีเก่า แต่ได้ข้อมูลไม่ชัดเจน จนการประชุมนัดที่ 4 เราถึงทราบและแถลงข่าวให้รัฐบาลไปดำเนินการ และให้รปะชาชนเฝ้าระวัง 

“ถือเป็นโชคดีของคนไทยที่เราเจอเร็ว ไม่ใช่ว่าต้องให้พี่น้องประชาชนล้มป่วยก่อนเหมือนในต่างประเทศ แล้วเราค่อยมาสืบหากันว่าพี่น้องประชาชนล้มป่วย เสียชีวิตเพราะอะไร” นายอัครเดช กล่าว

เมื่อถามว่าเจ้าหน้ารัฐที่ถูกต้องเรียนเป็นระดับท้องที่ต้นทาง ปลายทาง หรือกำกับดูแลใบอนุญาต นายอัครเดช กล่าวว่า ในเอกสารที่มีการส่งมาร้องเรียนเบื้องต้นมีทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่มาจากระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนจะเป็นต้นทาง ปลายทาง หรือระดับไหนขอรอให้เกิดความชัดเจนอีกครั้ง ดังนั้นในที่ประชุมกมธ.ก็จะมีการติดตามการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ประกอบการต้นทาง ปลายทาง หรือส่วนที่จะเตรียมการส่งออก ละเมิดกฎหมายและผิดกฎหมายข้อไหน และหน่วยงานไหน จะดำเนินคดีอย่างไร

เมื่อถามว่าการขนย้ายไปฝังกลบที่จ.ตาก มีความเสี่ยงระหว่างขนย้าย รวมทั้งผลกระทบกับพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงจะดำเนินการอย่างไร นายอัครเดช กล่าวว่า ในอีไอเอผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมระบุชัดเจนที่เป็นส่วนหนึ่งที่อนุญาตคือ จ.ตาก ประกอบการทำเหมืองแร่ และถลุงแร่สังกะสี และกากแร่แคดเมียม ซึ่งในใบอนุญาตมีอีไอเอ ที่ระบุไว้ว่าจะต้องมีการฝังกลบที่จ.ตาก ฉะนั้นเมื่อมีการละเมิดอีไอเอ เอาออกมานอกพื้นที่ ซึ่งขั้นตอนเจ้าหน้าที่รัฐได้มีคำสั่งทางปกครองไปแล้วว่าให้ขนกลับไปเก็บที่เดิมภายใน 7 วัน ซึ่งเป็นมาตรการทางกฎหมาย ฉะนั้นต้องขนกลับไปเก็บที่เดิมก่อน 

ส่วนอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะย้ายที่ฝังกลบหรือจะดำเนินการอย่างไรกับกากแร่แคดเมียม ซึ่งวันนี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจก็ต้องไปทำอีไอเอเพิ่ม และต้องศึกษากฎหมายด้วยว่าอนุญาตให้ทำอย่างไร และต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ใช่ว่านักวิชาการหรือใครอยากให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้มันทำไม่ได้ เพราะต้องปฏิบัติตามกฎหมายก่อน และถ้าไม่เปิดช่องให้ในอนาคตมีความจำเป็นต้องดำเนินการ เราในฐานะ สส. ที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีหน้าที่แก้กฎหมายเราก็พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็น เพื่อแก้กฎหมายดังกล่าวเพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด 

ต่อข้อถามว่ามีข้อมูลทุนจีนเทาเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ ประธานกมธ.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ในการข่าวทราบว่าผู้ประกอบการต่างประเทศที่เป็นคนจีน เตรียมส่งออก และมีการจับกุมดำเนินคดีไปแล้ว มีความเชื่อมโยงกันหมดในตัวละคร ตั้งแต่ต้นทางที่จ.สมุทรสาคร ก็เป็นคนจีน จะมีการขนย้ายไปที่อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และเตรียมส่งออกก็เป็นคนจีน เจ้าของโรงงานที่ไปตรวจพบกากแร่แคดเมืยม ที่ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และเป็นผู้ประกอบการคนจีนที่กมธ.อุตสาหกรรมเคยทำเรื่องนี้ พบว่าโรงงานทำผิดกฎหมายและให้เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ไปจับกุมดำเนินคดีมาแล้ว 

จะเห็นได้ว่าตัวละครที่เป็นคนจีนมีทั้งหมด 3 ตัวละคร ตัวละครสุดท้ายต้นทางที่จ.สมุทรสาครที่เป็นโรงหลอม ก็มีผู้ประกอบการคนจีนที่สวมสิทธิ์หลบเลี่ยงภาษี ซึ่งเป็นเรื่องที่กมธ.กำลังจะสอบว่าจริง ๆ แล้วมีการกระทำความผิดตามที่ประกอบการโรงหลอมคนไทยร้องเรียนมาหรือไม่ จึงจะเห็นได้ว่ามีทั้งหมด 4 ตัวละครที่เป็นคนจีน ซึ่งเชื่อมโยงกันหมดเป็นเครือข่าย 

“ผมจึงเรียกร้องให้นายกฯ หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นวาระแห่งชาติในการดำเนินการกับนักลงทุนจีนสีเทาทางด้านอุตสาหกรรมที่ละเมิดกฎหมาย เพราะ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ทุนจีนก็กระทำความผิดซ้ำซาก ทำให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องชาวชลบุรีอย่างต่อเนื่องรุนแรง ซึ่งทางกมธ.เคยสอบสวนและให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินคดีมาแล้ว” นายอัครเดช กล่าว

เมื่อถามถึงผลตรวจปัสสาวะประชาชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่ จ.สมุทรสาคร จะต้องสอบหรือไม่ว่าแคดเมียมได้มีการรั่วไหลออกไปแล้วหรือไม่ นายอัครเดช กล่าวว่า ที่ จ.สมุทรสาครได้รับทราบจากจังหวัดว่ามีการตรวจพบคนในโรงงานมีค่าแคดเมียมเกิน ส่วนนอกโรงงานก็มีค่าแคดเมียมเกินเหมือนกัน ในที่ประชุมกมธ. วันนี้จะได้รับทราบจากจังหวัดสมุทรสาครอย่างเป็นทางการว่าค่าแคดเมียมเกินไปเท่าไหร่และจะดำเนินอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องไปดูแล และผู้ประกอบการที่กระทำความผิดจะต้องรับผิดชอบด้วย และอีกส่วนที่สำคัญคือสารที่ตกค้างไม่ว่าในดิน อากาศ น้ำ จะดำเนินการตรวจสอบอย่างไรให้ประชาชนมีความอุ่นใจ เพราะ จ.สมุทรสาคร เป็นแหล่งอุตสาหกรรม จะต้องทำอย่างไรให้ประชาชนเกิดความปลอดภัย

'อัครเดช' เผย!! 4 รัฐมนตรี รทสช. ทำงานทุ่มเท มีผลงานต่อเนื่อง ยัน!! นายกฯ ไม่มีสัญญาณปรับครม. แต่ถ้ามีโปรดรอฟังจากพรรค

(17 เม.ย. 67) ที่รัฐสภา นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในส่วนของ รทสช. ว่า เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา ตนได้คุยกับ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค รทสช.ยืนยันว่าการปรับ ครม. ยังไม่มีการติดต่อมาจากนายกรัฐมนตรี ส่วนในอนาคต เป็นเรื่องที่นายกฯ กับหัวหน้าพรรคฯ จะคุยกัน และทางพรรคยังไม่มีการเคลื่อนไหวอะไร หากมีความคืบหน้าก็จะแถลงให้ประชาชนได้รับทราบ  

เมื่อถามว่า มองการทำงานของ 4 รัฐมนตรี ของรทสช.เป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่? นายอัครเดช กล่าวว่า "การทำงานของทั้ง 4 รัฐมนตรีในโควตาของรวมไทยสร้างชาติทุกท่าน ทำงานด้วยความทุ่มเท ตนสัมผัสได้ อย่างนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรคฯ ที่เป็นรองนายกฯ และรมว.พลังงาน ก็มุ่งมั่น ตั้งใจ ที่จะแก้ปัญหาพลังงาน รวมถึงโครงสร้าง ทั้งไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซ โดยทำอย่างเป็นระบบ และปฏิรูปเพื่อสร้างความยั่งยืน เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับพี่น้องประชาชน...

"ส่วนน.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ก็ได้นิ่งนอนใจในการแก้ปัญหาแคดเมียม ทันที ส่วนรัฐมนตรีช่วยอีกสองคน ทั้งนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง และนายอนุชา นาคาศัย รมช.เกษตรฯ ก็ตั้งใจทำงาน และมีผลงานต่อเนื่อง ดังนั้นการปรับครม.ผู้ใหญ่ก็ต้องคุยกัน"

เมื่อถามถึงความกังวลกรณี ของนายพีระพันธุ์ ที่พบปัญหาราคาพลังงาน อาจถูกหยิบยกเป็นเหตุผลให้นายกฯ พิจารณาปรับครม.ได้? โฆษก รทสช. กล่าวว่า "เป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสำคัญ ซึ่งเกิดจากปัญหาสงคราม นายพีระพันธุ์ก็พยายามทำอยู่สุดความสามารถ เพื่อตรึงราคาน้ำมัน จึงอยากให้พี่น้องประชาชนเข้าใจ เนื่องจากเรานำเข้าจากต่างประเทศ ปัจจัยราคาน้ำมันดิบ เราไม่สามารถกำหนดได้ แต่สิ่งสำคัญ คือการตรึงราคาขายปลีก เชื่อมั่นในความมุ่งมั่นของนายพีระพันธุ์ในการตรึงราคาน้ำมัน ส่วนสุดท้ายจะตรึงได้ถึงเมื่อไหร่ ก็อยู่ที่สถานการณ์ และอยากสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ว่านายพีระพันธุ์ เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว ปฏิรูปโครงสร้างเชื้อเพลิง อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ระยะสั้น เราเป็นห่วง เพราะมีเหตุการณ์ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่คิดว่าท่านให้กระทบกับประชาชนน้อยที่สุด เพื่อให้คลายความกังวลตรงนี้"

ต่อข้อถามถึงกระแสข่าวพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ว่าอาจถูกปรับ 2 คน แล้วดึง นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค รทสช. และนายสุชาติ ชมกลิ่น รองหัวหน้าพรรค รทสช. เข้ามาแทน? นายอัครเดช กล่าวว่า "ข่าวก็คือข่าว แต่ถ้าเป็นจริง ก็ต้องฟังจากหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือตนในฐานะโฆษกพรรค ที่ได้รับมอบหมาย แต่ข่าวที่ออกมาคิดว่าไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล และพรรคฯ ด้วย ยืนยันว่าเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ตอนคุยกันยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ขอให้สบายใจได้พรรครทสช.ไม่มีปัญหาการปรับครม."
เมื่อถามว่า ในอนาคตจะมีชื่อนายอัครเดช ติดโผล ครม.หรือไม่? นายอัครเดช กล่าวว่า "ตนเป็นประธานกมธ.อุตสาหกรรม ก็โอเคแล้ว ตนก็ทำงานเต็มที่ ส่วนในอนาคตเป็นเรื่องที่ประชาชนตัดสินใจ"

'รทสช.' เห็นด้วยกับแนวทางแก้ไข รธน.ของรัฐบาลทุกประการ เพราะมั่นคงในการแก้ไข โดยไม่แตะต้องหมวด 1 หมวด 2

(24 เม.ย.67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการ เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญและเห็นควรจัดให้มีการออกเสียงประชามติ จำนวน 3 ครั้ง รวมถึงควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 เพื่อให้กฎหมายดังกล่าวสามารถเป็นเครื่องมือทางประชาธิปไตยที่จะช่วยส่งเสริมประชาชนแสดงเจตจำนงในเรื่องต่าง ๆ ได้โดยตรงว่า พรรค รทสช.เห็นด้วยกับแนวทางของ ครม.ทุกประการ

นายอัครเดช กล่าวอีกว่า การออกเสียงประชามติ 3 ครั้งแม้จะถูกติติงว่า จะใช้งบประมาณจำนวนมากก็ตาม แต่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามเนื่องจากการทำประชามติรอบแรกศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้แล้วต้องทำ ตามที่มีผู้เคยยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งคำวินัยของศาลรัฐธรรมนูญจะผูกพันทุกองค์กร ส่วนครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 เป็นการทำประชามติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ดังนั้นการทำ 3 ครั้งเป็นการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญ

“พรรครวมไทยสร้างชาติขอย้ำจุดยืนเดิมที่มั่นคงให้ไว้ตั้งแต่เข้าร่วมรัฐบาล หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเด็ดขาด พรรคได้ยืนหยัดในจุดยืนนี้มาโดยตลอดและจะยืนหยัดต่อไป ส่วนเนื้อหาอื่นจะแก้ไขอะไรบ้างก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเช่นเดียวกัน” โฆษกพรรค รทสช.ย้ำ

‘อัครเดช’ จี้ ‘เศรษฐา’ เร่งแก้ปัญหา กากสารเคมีอุตสาหกรรม ชี้!! บังคับใช้กฎหมายหย่อนยาน ต้องรีบจัดการ หวั่นก่อปัญหาระยะยาว

(28 เม.ย. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ที่เกิดเหตุไฟไหม้โกดังเก็บกากสารเคมีอุตสาหกรรม บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ในอำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เมื่อวานนี้ ถือว่าเป็นเรื่องดี ที่นายกรัฐมนตรีจะได้ไปเห็นสภาพปัญหาจริงที่เกิดขึ้นว่า เรื่องกากสารเคมีอุตสาหกรรมเป็นปัญหาใหญ่และกระทบกับพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้ทราบอยู่แล้วว่าปัญหานี้ไม่ได้เกิดเฉพาะที่จังหวัดระยอง และหากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ก็อาจจะเกิดปัญหาเช่นนี้ซ้ำขึ้นได้อีกในอนาคต ดังนั้นตอนนี้เป็นโอกาสดีที่นายกรัฐมนตรีจะได้กำชับหน่วยงานรัฐได้เร่งสำรวจโรงงานประเภทนี้ทั้งหมดทั่วประเทศ และเข้าไปบริหารจัดการ

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการแก้ปัญหาในระยะยาว ที่จะต้องมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้จริงจัง เพราะที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหาเรื่องการกำกับดูแลผู้ประกอบ กรณีการที่ประกอบกิจการรับกำจัดกากของเสียจากอุตสาหกรรมไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่หน่วยงานของภาครัฐ ต้องดำเนินการจริงจัง ต้องไม่ปล่อยให้เกิดความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมาย การรับสินบน การทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้นนายกรัฐมนตรีต้องเร่งไปดำเนินการจัดการ เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เป็นปัญหาในระยะยาวได้” นายอัครเดช กล่าว

ประธาน กมธ.อุตสาหกรรม ยังได้เรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีอีกว่า ในตอนนี้สิ่งที่สำคัญสำหรับกรณีที่จังหวัดระยอง นายกรัฐมนตรีต้องเร่งให้การเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากควันพิษ หรือผลกระทบจากสารพิษ เพราะปัจจุบันเข้าใจว่าการแก้ปัญหาในพื้นที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งสะท้อนได้จากการที่ประชาชนยังมีการออกมาร้องเรียนถึงความล่าช้าจากการดำเนินการแก้ไขปัญหาจากเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม และจังหวัดระยอง ฉะนั้นตอนนี้นายกรัฐมนตรีต้องลงมากวดขันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ลงมาแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนเร่งด่วน และที่สำคัญต้องไม่ให้เกิดปัญหาแบบนี้ในพื้นที่อื่นอีก เพราะถือว่าที่จังหวัดระยองเป็นบทเรียนที่สำคัญที่ผู้ประกอบการกำจัดกากสารเคมีอุตสาหกรรมแล้วทำให้เกิดเหตุไฟไหม้ จะด้วยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ดี

“ดังนั้นต้องมีมาตรการการรองรับกรณีแบบนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีก รวมถึงต้องเร่งดำเนินการกับกากสารเคมีที่เหลืออยู่ ตลอดจนต้องดำเนินการสอบสวนหาสาเหตุของการเกิดเหตุไฟไหม้ครั้งนี้อย่างจริงจัง ว่าเกิดเพราะอะไร มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่” นายอัครเดช กล่าว

‘อัครเดช’ หนุนนายกฯ ดัน ‘ไฟไหม้กากสารเคมีอุตฯ’ เป็นเรื่องสำคัญ ชี้!! หมักหมม มานานหลายปี ต้องสร้างความเชื่อมั่น เร่งหาคนผิดมาลงโทษ

(4 พ.ค.67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม(กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและฝ่ายความมั่นคงมาช่วยแก้ปัญหาไฟไหม้โรงงานเก็บกากสารเคมี รวมถึงการที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้สั่งให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดทั่วประเทศเข้ามาช่วยสำรวจร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ถือว่าเป็นเรื่องดีที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และคิดว่าการมอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการดูแล ถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะเป็นเรื่องที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องบูรณาการหลายกระทรวงเข้ามาดำเนินการ

“การที่ต้องเอาฝ่ายความมั่นคงมาช่วยและเอากระทรวงอื่นๆมาร่วมแก้ปัญหา ถือว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว ที่จะต้องบูรณาการทุกหน่วยงาน ดังนั้นที่ท่านนายกฯได้สั่งการให้หน่วยงานความมั่นคงเข้ามาช่วย และ พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ามาช่วยกระทรวงอุตสาหกรรมถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และตอนนี้รัฐมนตรีอุตสาหกรรมก็ลงมาดูแลปัญหาด้วยตัวเอง ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเป็นเรื่องที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องบูรณาการหลายกระทรวงเข้ามาดำเนินการเรื่องนี้ จึงต้องได้รับความร่วมมือจากกระทรวงอื่นด้วย” ประธาน กมธ.อุตสาหกรรม กล่าว

นายอัครเดช ยังย้ำอีกว่า ปัญหานี้ตนต้องการให้นายกรัฐมนตรี ยกเป็นปัญหาระดับชาติ เพราะที่ต้องเป็นปัญหาระดับชาติ เนื่องจากเป็นปัญหาที่หมักหมมมาหลายปี ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดราชบุรี พระนครศรีอยุธยา ระยอง และจากที่ทราบก็ยังมีอีกหลายจังหวัดที่มีการกองเก็บกากดังกล่าวอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ปราจีนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐมเป็นต้น ซึ่งถ้ามีการเกิดเหตุซ้ำขึ้นมาอีกจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะตอนนี้ประชาชนให้ความสนใจเรื่องนี้มาก ฉะนั้นเรื่องการป้องกันเหตุไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคตเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเป็นความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อภาครัฐ ซึ่งการที่นายกรัฐมนตรี กับ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพพยากรธรรมชาติฯ ลงมาช่วยกระทรวงอุตสาหกรรมดูแล ก็จะทำให้การควบคุมตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญการเกิดเหตุที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้นจะต้องหาผู้กระทำความผิดให้ได้ ต้องสอบสวนให้ได้อย่างรวดเร็ว และต้องตอบสังคมให้ได้ว่ามันเป็นที่การวางเพลิง หรือเป็นที่อุบัติเหตุ และถ้ามันเป็นการวางเพลิงต้องหาผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้

‘กมธ.อุตฯ’ หารืออุปทูตจีน เห็นพ้องกำราบทุนจีนเทา ยัน!! มีนักลงทุนไม่กี่ราย ที่มาละเมิดกฎหมายไทย

กมธ.อุตฯ หารืออุปทูตจีน เห็นพ้องกำราบทุนจีนเทา หนุนการลงทุนด้านอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด สร้างแพลตฟอร์มเพื่อหนุนการใช้ซัพพลายเชนของไทย จ่อหารือพาณิชย์ก่อนรับจดทะเบียนบริษัทจีน ต้องมีใบรับรองจากสถานทูตจีน

(16 พ.ค.67) ที่รัฐสภา นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สส.ราชบุรี เขต 4 และโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ กับ นางสาวจาง เซียวเซียว (Ms. Zhang Xiaoxiao) อุปทูตด้านเศรษฐกิจและการค้าประจำสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และคณะ เกี่ยวกับการค้าและการลงทุนด้านอุตสาหกรรมว่า ในการหารือครั้งนี้ ได้เน้นในเรื่องของการสร้างช่องทางการสื่อสารระหว่างสถานทูตจีนกับคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม ซึ่งจะสร้างความสัมพันธ์ร่วมกันในการค้าการลงทุนทางด้านอุตสาหกรรม

นายอัครเดช กล่าวต่อว่า ทางฝ่ายจีนได้ขอให้ไทยสนับสนุนการสร้างซับพลายเชน เพื่อให้จีนและไทยได้มีโอกาสสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งเป็นความต้องการของไทย เพราะปัจจุบันนักลงทุนของจีนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ยังมีการใช้ทรัพยากรในไทยค่อนข้างน้อย จึงเป็นไปตามความคิดเห็นร่วมกันที่ทั้ง 2 ฝ่าย เสริมสร้างการลงทุนด้วยการ สร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาในการใช้ซับพลายเชนของไทยมากขึ้น

นายอัครเดช บอกอีกว่า นอกจากนี้รัฐบาลจีน ยังต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดเพิ่มเติม ซึ่งตรงกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่ปัจจุบันนี้ พลังงานสะอาดยังมีส่วนที่ต่ำอยู่เพียง 10% โดยรัฐบาลจีนมีความต้องการที่จะลงทุนในเรื่องของพลังงานสะอาดมากขึ้น ถือว่าจะช่วยลด PM 2.5 ในไทยด้วย

ประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ทางสถานทูตจีน ยังได้หารือในเรื่องของแรงงาน โดยต้องการให้มีการเพิ่มความสะดวกในการขยาย หรือขอใบอนุญาตการทำงานของผู้เชี่ยวชาญด้านการติดตั้งเครื่องจักร หรือผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันนี้ใบอนุญาต จะต้องใช้เวลาในการขอค่อนข้างนาน โดยตนได้รับเรื่องมาปรึกษากับทางกรรมาธิการแรงงานและกระทรวงแรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้การค้า การลงทุนราบรื่นมากยิ่งขึ้น

“นักลงทุนจากจีน ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนที่มีคุณภาพ และมีศักยภาพในการลงทุน ที่สามารถจะพัฒนาประเทศไทยและเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีนักลงทุนเพียงไม่กี่ราย ที่มาละเมิดกฎหมาย โดยจะได้มีการประสานงานร่วมกันระหว่างไทยและจีน ในการส่งข้อมูลของนักลงทุนจีนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไทย ให้ทางการจีนได้รับทราบ เพื่อร่วมกันควบคุม” นายอัครเดช กล่าว

นายอัครเดช บอกต่อว่า ในส่วนของนักลงทุนจีนที่มีคุณภาพและปฏิบัติตามกฎหมายไทยที่มีอยู่จำนวนมาก ก็พร้อมจะสนับสนุนให้มีการลงทุนมากขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ยังได้มีการประสานกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อจดทะเบียนการค้า โดยต่อไปจะให้มีการไปรับทราบนโยบายของทางสถานทูตจีนก่อน ซึ่งตนจะเชิญกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เข้าหาหรือว่าก่อนจะรับจดทะเบียนนักลงทุนจากทางจีน จะต้องมีการขอใบแนะนำหรือใบส่งตัวจากทางสถานทูตจีน เพื่อให้กรมธุรกิจการค้าพิจารณาก่อนรับจดทะเบียน เพื่อเป็นการควบคุมนักธุรกิจจีนที่ไม่ปฏิบัติตามกฏหมาย จะทำให้การค้าการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศราบรื่นมากยิ่งขึ้นในอนาคต

‘รทสช.’ ย้ำ!! จุดยืนคัดค้านนิรโทษกรรมคนผิด ‘ม.112’ ยกกรณี ‘บุ้ง’ เกิดจากการฝ่าฝืน กฎหมายไม่ได้เป็นปัญหา

(18 พ.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกรณีที่มีการออกมาเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเรียกร้องให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายมาตรา 112 ภายหลังจากที่มีการเสียชีวิตของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ว่า พรรครวมไทยสร้างชาติขอแสดงจุดยืนจะคัดค้านไม่ให้มีการนิรโทษให้กับผู้กระทำในมาตรา112 และคัดค้านไม่ให้มีการแก้มาตรา112 เพราะประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 ไม่ได้เป็นปัญหา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่เกิดจากการกระทำความผิดที่ฝ่าฝืนกฎหมายมาตรา112 อีกทั้งมาตรา112ไม่เคยทำให้คนปกติทั่วไปได้รับความเดือดร้อน

นายอัครเดช กล่าวว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 นั้นเป็นกฎหมายที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นความมั่นคงของรัฐ ดังนั้นกรณีที่เกิดจะต้องไปดูว่าสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากการทำผิดอะไร มีบุคคลใครอยู่เบื้องหลัง อีกทั้งกระบวนการในการพิจารณาคดีก็เป็นอำนาจศาลที่จะให้ประกันตัวหรือไม่ ซึ่งหากได้รับการประกันตัวแล้วก็จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลสั่ง แต่หากมีการฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันตัวก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมายโดยยกเลิกการประกันตัวเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว

“ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ไม่เช่นนั้นประเทศชาติจะเดินต่อไม่ได้ และการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดมาตรา 112 นั้นไม่ได้มีเป็นมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เป็นเรื่องของความมั่นคงของรัฐ ไม่ใช่คดีที่มีมูลเหตุทางการเมืองเนื่องจากสถาบันอยู่เหนือการเมือง จึงไม่ควรมีการนิรโทษกรรม และการแก้ไขมาตรา112 ก็จะกระทบความมั่นคงของประเทศ พรรครวมไทยสร้างชาติจึงขอคัดค้าน” โฆษก รทสช. กล่าวทิ้งท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top