Sunday, 20 April 2025
หนี้

หยุดอวดเครดิตทางสังคมด้วย ‘การสร้างหนี้’ เพราะ ศก.ยุคนี้ ‘ไม่มีหนี้ = ลาภอันประเสริฐ’

ความเชื่อที่กล่าวว่า การเป็นหนี้ เป็นการแสดงถึงการมีเครดิตที่ดี อาจใช้ไม่ได้กับสภาพเศรษฐกิจ และสังคมในยุคปัจจุบัน

เดือนมิถุนายน 2566 มีข้อมูลจาก บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ระบุว่าหนี้ครัวเรือนของไทย มีจำนวนสูงถึง 15.96 ล้านล้านบาท

สำหรับการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือ บุคคลกับสถาบันการเงิน อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยการกู้ยืมเงินกันเกินกว่า 2,000 บาท หากมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ยืมภายหลัง หากมีการผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้จะฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้

แต่หากมีการ ส่งข้อความทางแอปพลิเคชันต่าง ๆ มีข้อความการพูดคุย ยืมเงินกัน และสามารถระบุตัวตน ผู้ยืมได้ โดยเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีลักษณะ เข้าถึงได้ นำกลับมาใช้ได้ และความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ก็สามารถนำมาฟ้องร้องกันได้ 

ดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินกัน ห้ามคิดเกินร้อยละ 15 ต่อปี หรือร้อยละ 1.25 ต่อเดือน แต่หากเป็นสถาบันการเงิน อาจจะสามารถคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่านี้

ในส่วนของ ‘หนี้นอกระบบ’ คือ หนี้ที่เจ้าหนี้ไม่ใช่สถาบันการเงิน อาจมีการคิดดอกเบี้ยเป็นรายวันมากถึงร้อยละ 20 และมีการทวงหนี้กันแบบรุนแรง 

ทว่า การทวงหนี้มีกฎหมายควบคุม ต้องทวงกับตัวลูกหนี้เท่านั้น วันธรรมดาทวงได้ตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงสองทุ่ม วันเสาร์และอาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทวงได้ตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงหกโมงเย็น ห้ามข่มขู่ ห้ามใช้ความรุนแรงหรือดูหมิ่น จดหมายทวงหนี้ห้ามเป็นไปรษณียบัตรหรือเป็นจดหมายเปิดผนึก และห้ามทวงหนี้เกินวันละ 1 ครั้ง

การทวงหนี้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย มีโทษจำคุก ตั้งแต่ไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสน หรือสูงสุดจำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกินห้าแสน หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความจำเป็นในการใช้ชีวิต อาจเป็นเหตุผลสำคัญให้เราต้องยินยอมเป็นหนี้ อย่างไรก็ตามหากเราสามารถบริหารจัดการความจำเป็นให้พอดีกับการใช้ชีวิตได้ เราจะพบว่า การไม่เป็นหนี้นั้น เป็นลาภอันประเสริฐอย่างยิ่ง

‘ttb’ ห่วง!! ‘หนี้ครัวเรือน’ สิ้นปีนี้จะทะลัก 16.9 ล้านบาท ผลพวงจาก ศก.ขยายตัวช้า ทำให้รายได้ ปชช.ฟื้นตัวจำกัด

(26 ม.ค.67) ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย ณ สิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ 91.4% หรือราว 16.9 ล้านล้านบาท โดยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังคงน่าเป็นห่วงทั้งในมิติของปริมาณการก่อหนี้ที่ไม่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเร็วและคุณภาพหนี้มีแนวโน้มด้อยลง ส่วนหนึ่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเชื่องช้า ส่งผลให้ระดับรายได้ของครัวเรือนฟื้นตัวได้อย่างจำกัด ขณะที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้และคุณภาพของหนี้ อีกทั้งอุปสรรคจากการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบของลูกหนี้บางส่วน ทำให้ต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบและเผชิญกับปัญหาวังวนหนี้ไม่รู้จบ

หากกล่าวถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย แน่นอนว่าประเด็นหนี้ครัวเรือนสูงเรื้อรังมักถูกพูดถึงมาโดยตลอด โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ในระดับสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยใกล้เคียงกัน ทั้งยังสูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศที่มีรายได้และความมั่งคั่งสูงกว่า ล่าสุด ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 3 ของปี 2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) คิดเป็น 90.9% ต่อจีดีพี ซึ่งมีทิศทางชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากผู้ให้กู้หลักอย่างธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ สวนทางกับตัวเลขหนี้ที่มาจากกลุ่มบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคลที่เติบโตในอัตราเร่งสูงสุดในรอบทศวรรษ

นอกจากนี้ คุณภาพหนี้ครัวเรือนก็มีแนวโน้มด้อยลงจากสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ในระบบธนาคารพาณิชย์ที่สูงถึง 2.79% หรือเกือบ 1.52 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าถึง 3.6% ขณะที่สัดส่วนหนี้ค้างชำระระหว่าง 1-3 เดือน หรือ Stage 2 อยู่ที่ 6.66% หรือ 3.62 แสนล้านบาท ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่ง หรือราว 1.7 แสนล้านบาทมาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถที่เพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ และยังไม่นับรวมหนี้จากผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) อีกกว่า 35% ของทั้งระบบ

ซึ่ง ttb analytics ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นปี 2567 จะเพิ่มขึ้นเป็น 91.4% ต่อจีดีพี หรือราว 16.9 ล้านล้านบาท ซึ่งแม้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยจะขยายตัวชะลอลงในระยะหลัง แต่เป็นการลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว อีกทั้งอัตราการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนในระดับ 3-4 สูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวช้าลงทุกปี ทำให้ประเด็นหนี้ครัวเรือนไทยในระยะต่อไปยังมีความเปราะบางสูงจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

>> ปัจจัยแรก : เศรษฐกิจและระดับรายได้ฟื้นช้า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะมีทิศทางดีขึ้นจากปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่กลับมาขยายตัว แต่ด้วยรายได้จากการส่งออกกว่า 90% กระจุกตัวอยู่ในธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งยังมีการกระจุกตัวในมิติของจำนวนแรงงานที่ค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่ขับเคลื่อนจากธุรกิจขนาดเล็กกลับมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่า ทำให้ฐานะทางการเงินของผู้ประกอบการขนาดเล็กส่วนใหญ่ยังมีความเปราะบาง ซึ่งอาจกระทบต่อแรงงานที่มีมากถึง 71% ของแรงงานทั่วประเทศ ส่งผลให้ครัวเรือนบางส่วนอาจต้องกู้ยืมเพิ่มเติมเพื่อทดแทนสภาพคล่องที่หายไป

>> ปัจจัยที่สอง : ต้นทุนทางการเงินสูงกว่าในอดีต โดยในช่วงวิกฤตโควิด-19 เป็นจังหวะที่นโยบายทางการเงินผ่อนคลายและอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้การประเมินฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งเมื่อต้นทุนการกู้ยืมปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2566 โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยที่มีความอ่อนไหวต่อการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จึงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้ลูกหนี้มีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้ในอัตราเร่งชัดเจนขึ้น นอกจากนั้น ภาระหนี้ที่ถูกพักหรือเลื่อนออกไปก่อนหน้าจากผลของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในช่วงที่เกิดวิกฤตจะถูกนำมาคิดทบต้น และมีส่วนทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนในภาพรวมมีแนวโน้มปรับลดลงช้ากว่าปกติ

>> ปัจจัยที่สาม : พฤติกรรมการก่อหนี้โดยขาดวินัยทางการเงินที่ดี แม้การเพิ่มขึ้นของระดับหนี้ครัวเรือนจะสามารถกระตุ้นการบริโภคได้ในระยะสั้น แต่หนี้ที่สูงเกินระดับ 80% ต่อจีดีพี ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการบริโภคแล้ว แต่จะส่งผลเชิงลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยเกิน 80% ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 และเกือบ 1 ใน 3 เป็นการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต หรือเรียกได้ว่าเป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ (Non-Productive Loan) ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียงอย่างมาเลเซียและจีนที่ 14% และ 13% ตามลำดับ โดยเฉพาะในระยะหลัง การขยายตัวของสินเชื่อที่ไม่สร้างรายได้ รวมถึงความต้องการหนี้นอกระบบเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัย สะท้อนการสร้างหนี้อย่างผิดวัตถุประสงค์ และพฤติกรรมการก่อหนี้โดยขาดวินัยทางการเงินที่ดี ซึ่งหนี้ประเภทดังกล่าวจะต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยกู้ที่สูงกว่ามาก และเสี่ยงก่อให้เกิดเป็นกับดักหนี้ไม่สิ้นสุด ทำให้การลดลงของหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องค่อนข้างยาก

โดยสรุปตราบใดที่เศรษฐกิจฐานรากยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงและแข็งแกร่ง ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ก็อาจจะยังไม่กลับมาเป็นปกติ และคาดว่าภาระหนี้ที่สูงจะยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจต่อไป ฉะนั้นแล้ว การดำเนินการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนและเป็นระบบมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐานกระบวนการให้สินเชื่อและการปฏิบัติกับลูกหนี้อย่างเป็นธรรม (Responsible Lending) ครอบคลุมตลอดวงจรหนี้ของลูกหนี้ ควบคู่ไปกับมาตรการสนับสนุนให้มีการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามความเสี่ยง (Risk-Based Pricing) เพื่อกระตุ้นการปรับวินัยทางการเงินของครัวเรือนให้ดีขึ้น เพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินของครัวเรือนไทยได้ในระยะยาว

ศปน.ตร.แถลงผลการดำเนินการระดมกวาดล้างจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบทั่วประเทศ

ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  (ศปน.ตร.) แถลงผลการดำเนินการระดมกวาดล้างป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับ หนี้นอกระบบทั่วประเทศ ในห้วงระหว่างเดือน พ.ย.66-ก.พ.67 โดยบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งแก้ไขปัญหา และบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้การกำกับดูแลของ นายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้สิน ทั้งหนี้นอกระบบและ หนี้ในระบบ ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน จึงได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ  

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยและตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว อีกทั้งเพื่อเป็นการสนองตอบนโยบายรัฐบาล จึงสั่งการศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) ซึ่งมี พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ฯ และ พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็น รองผู้อำนวยการศูนย์ฯ ดำเนินการระดมกวาดล้างจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง ให้มีผลการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านกลไก สถานีตำรวจทั่วประเทศ และ หน่วยงานสืบสวนสอบสวนจากส่วนกลางทุกหน่วย พร้อมกำหนดแนวทางการดำเนินงานเชิงบูรณาการ เป็น 3 มิติ ได้แก่

1. มิติการบูรณาการด้านข้อมูล  เปิดให้บริการรับลงทะเบียนขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่สถานีตำรวจทุกแห่ง เพิ่มเติมจากศาลากลางจังหวัด  ที่ว่าการอำเภอ และ สำนักงานเขต เพื่อสนับสนุน และบูรณาการข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับกระทรวงมหาดไทย 

2. มิติการบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินการปราบปรามผู้กระทำความผิดทุกรูปแบบ ทั้ง On Ground และ Online อย่างจริงจัง บังคับใช้กฎหมายทุกฐานความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหนี้ที่มีพฤติการณ์ข่มขู่ ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้ และรับจำนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์โดยผิดกฎหมาย รวมทั้งขยายผลไปยังนายทุน ผู้อยู่เบื้องหลัง

3. มิติด้านการไกล่เกลี่ยเชิงบูรณาการ ได้ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  พิจารณาแนวทางการไกล่เกลี่ย เจรจาและประนอมข้อพิพาท เพื่อให้เกิดสัญญาที่เป็นธรรม และเป็นไปตามกฎหมาย    

วันที่ 23 ก.พ.67 ณ ห้องสารสิน ชั้น 2 อาคาร 1 ตร. โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานฯ และมี พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ต.โชคชัย งามวงศ์ รอง ผบช.ภ.1, พล.ต.ต.สุรจิต  ชิงนวรรณ์ รอง ผบช.ภ.2, พล.ต.ต.ชมชวิณ  ปุระธนานนท์ รอง ผบช.ภ.7, พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ. และ พ.ต.อ.วิชัย แดงประดับ รอง ผบก.สส.บช.น. เข้าร่วมแถลงผลการดำเนินการระดมกวาดล้างป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบทั่วประเทศ ในห้วงระหว่างเดือน พ.ย.66 - ก.พ.67 ซึ่งได้มีการดำเนินการระดมกวาดล้าง 3 ห้วง คือ ห้วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 24 พ.ย.66 ถึง 4 ธ.ค.66, ห้วงที่ 2 วันที่ 15 – 24 ม.ค.67 และห้วงที่ 3 วันที่ 12 – 21 ก.พ.67 โดยสามารถดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบได้ 2,182 ราย ผู้ต้องหา 2,296 คน คิดเป็นมูลหนี้รวมทั้งสิ้น 114,801,112 บาท ตรวจยึดของกลางหลายรายการ อาทิเช่น เงินสด อาวุธ บัญชีลูกค้า บัญชีธนาคาร รถยนต์ รถจักรยานยนต์ โฉนดที่ดิน และโทรศัพท์จำนวนมาก ซึ่งประเมินมูลค่าของกลางรวมทั้งสิ้น 63,694,336 บาท   

นอกจากนี้ยังพบว่า ผลการปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ นับตั้งแต่รัฐบาลได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ในวันที่ 28 พ.ย.66  ที่ผ่านมา มีผลการปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ระหว่าง 1 ธ.ค.66 – 31 ม.ค.67 จำนวนทั้งสิ้น 1,237 คดี ซึ่งมีผลการปฏิบัติที่สูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับห้วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยผลการปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ระหว่าง 1 ธ.ค.65 –31 ม.ค.66 มีจำนวนทั้งสิ้น 266 คดี
     
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) จะยังคง กวดขัน ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดี กับผู้กระทำความผิด อย่างต่อเนื่องต่อไป ในส่วนรายที่มีการจับกุมดำเนินคดีแล้ว ได้มีการเร่งรัดการทำสำนวนการสอบสวนให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลา รวมไปถึงการควบคุมสำนวนการสอบสวนให้มีความเห็นสั่งฟ้องต่อพนักงานอัยการ เพื่อให้การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้ความเชื่อมั่นว่า จะระดมทุกสรรพกำลัง เดินหน้าปราบปรามนายทุนเงินกู้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อปลดปล่อยลูกหนี้ ให้หลุดพ้นจากวงจรอันโหดร้ายนี้ และพร้อม
ร่วมบูรณาการกับทุกหน่วยงาน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้สำเร็จอย่างยั่งยืน ตามนโยบายรัฐบาลต่อไป
         
ทั้งนี้ ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบฯ ขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนมายังพี่น้องประชาชนหากต้องการกู้ยืมเงินควรศึกษาข้อมูล และเลือกกู้ยืมเงินกับทางสถาบันทางการเงินหรือผู้ให้บริการด้านสินเชื่อที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีความน่าเชื่อถือ และสามารถตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพที่หลอกลวงปล่อยเงินกู้นอกระบบ จนสร้างความเดือดร้อน หากตกเป็นเหยื่อหรือได้รับความเดือดร้อน สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน 1599 หรือลงทะเบียนขอความช่วยเหลือที่สถานีตำรวจทุกแห่ง ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ และ สำนักงานเขต

‘Gen-Y’ แบกหนี้อ่วม!! หลังปรับเกณฑ์จ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต 8% อึ้ง!! Q1/67 หนี้เสียพุ่ง!! 6.4 หมื่นลบ. - หนี้ต้องจับตา 1.2 หมื่นลบ.

(8 พ.ค. 67) เฟซบุ๊ก ‘Surapol Opasatien’ ของนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร โพสต์ข้อความแสดงความเป็นห่วงถึงหนี้บัตรเครดิต หลังสถาบันการเงินและผู้ให้บริการบัตรเครดิต ปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระขั้นต่ำใหม่ของบัตรเครดิต จากเดิม 5% ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 8% ตั้งแต่รอบบัญชีเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา ว่า…

ข้อมูลไตรมาสที่ 1/2567 เกี่ยวกับสินเชื่อบัตรเครดิตจากฐานข้อมูล​สถิติที่ไม่มีตัวตนของเครดิตบูโร​ พบว่า ตัวเลข​ ณ​ เดือนมีนาคม​ 2567​ ยอดหนี้บัตรเครดิตทั้งหมด​ 24 ล้านใบ เป็นเงิน​ 5.5 แสนล้านบาท เติบโต​ 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) ถ้าเทียบจากสิ้นปี​ 2566​ หดตัว​ 5.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (QoQ)

ส่วนตัวเลขบัญชีสินเชื่อบัตรเครดิตที่เป็น​หนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล (Non-Performing Loan หรือ NPLs)​ ค้างชำระเกิน​ 90 วันจะมีจำนวน​ประมาณ​ 1 ล้านบัตรเศษ คิดเป็นยอดเงิน​ 6.4 หมื่นล้านบาท เติบโต​ 14.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตนเริ่มไม่สบายใจ พอมาดูยอดหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (Special Mention Loan หรือ SM) ที่กำลังจะเป็นหนี้เสีย พบว่ามีจำนวนบัตรที่ชำระหนี้ได้แบบตะกุกตะกัก​ ติด ๆ ขัด ๆ​ 1.9 แสนบัตร​ คิดเป็นจำนวนเงิน​ 1.2 หมื่นล้านบาท เติบโต​ 32.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

"มาถึงตรงนี้เริ่มตาโตแล้วครับว่า​ แค่สามเดือนแรกของการปรับเพิ่มยอดชำระขั้นต่ำ ทำไมมันเกิดการกระโดดในหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ​ ตามต่อไปดูว่าแล้วมันโตจากปลายปี​ 2566​ เท่าใดก็พบว่า​เติบโตถึง​ 20.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ต้องบอกว่าเป็นอะไรที่ต้องระวังว่ามันจะไหลเพิ่ม​ ไหลแรงกว่าเดิมหรือไม่ นอกจากปัญหาค่าครองชีพแล้ว​ รายได้ไม่ฟื้นตัว​ เปราะบางจนนุ่มนิ่ม​ มันสะท้อนแล้วว่าชำระหนี้สินเชื่อนี้ได้ลำบากมากขึ้น​" นายสุรพล ระบุ

ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร กล่าวต่อว่า เมื่อนำข้อมูลบัตรเครดิตที่เป็นยอดหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ จำนวนเกือบ 2 แสนใบ เป็นบัตรที่เปิดมานานเท่าใด​ พบว่าเปิดบัตรมาไม่เกิน​ 2 ปี​ มีจำนวน​ 3.6 หมื่นใบ อยู่ในมือคนเจนวาย (Generation Y หรือผู้ที่เกิดปี 2524-2539) จำนวน 2.3 หมื่นใบ เปิดมามากกว่า​ 2 ปี แต่ไม่เกิน​ 4 ปี มีจำนวน​ 3.9 หมื่นใบ​ อยู่ในมือ​คนเจนวาย จำนวน 2.7 หมื่นใบ เจนเอ็กซ์ (Generation X หรือผู้ที่เกิดปี 2508-2523) จำนวน 9.2 พันใบ เปิดมามากกว่า​ 4 ปีแต่ไม่เกิน​ 6 ปี มีจำนวน​ 4.5 หมื่นใบ​ อยู่ในมือคน​เจนวาย จำนวน​ 3 หมื่นใบ​ เจนเอ็กซ์​ จำนวน 1.2 ​หมื่นใบ คำถามก็คือ​ หนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ จะไหลต่อเป็น​หนี้เสียอีกเท่าใด​ การกำหนดให้ชำระหนี้ขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจาก​ 5% เป็น​ 8% และ​ 10% ตามลำดับ​ ช่วยแก้ปัญหาหนี้ได้จริงหรือไม่ ตามเป้าประสงค์มาตรการ

"ความจริงคนเรามีบัตรเครดิตได้หลายใบ​ การเพิ่มอีก​ 3% ของยอดหนี้ในแต่ละใบ​ คนไม่เคยเป็นหนี้อาจนึกไม่ออกว่าจะหมุนหาจากไหนไปจ่ายได้​ และประการสุดท้าย ค่าใช้จ่ายทั้งหลายมันเริ่มเพิ่มอย่างชัดเจน เช่น​ ไข่ไก่​ ผักบางชนิด​ น้ำมันก็เริ่มขยับ​ เป็นต้น​ การท่องตำราแก้ปัญหากับการท่องยุทธ​จักรแบบเดินเผชิญสืบ​ มันใช้ใจที่ต่างกัน​ ตัวอย่างเรื่องนี้คือหนังชีวิตจริง​ แต่ถ้ามองเป็นหนังอานิเมะ​ มันก็อาจผิดเพี้ยน​ ต้องกลับมาดูกันเพราะแค่​ 3 เดือนกลิ่นมันแรงแบบโตขึ้น​ 32.4% เมื่อช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และ​ 20.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มันไม่ธรรมดานะครับ​ ตั้งโจทย์ผิด​ แต่ตอบโจทย์​ที่ผิดได้ถูก​ ผลลัพธ์​ผลผลิตมันจะผิดเพี้ยนไปหรือไม่​ วันนี้ฝนตกแล้ว​ ฝนหลังฝุ่นที่ร้อนระอุย่อมสวยงามเสมอ" นายสุรพล ระบุ

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ สถาบันการเงินและผู้ให้บริการบัตรเครดิต ปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระขั้นต่ำใหม่ของบัตรเครดิต จากเดิม 5% ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 8% ตั้งแต่รอบบัญชีเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา และจะเพิ่มขึ้นเป็น 10% สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ขอความร่วมมือให้สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และผู้ประกอบธุรกิจพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ หนึ่งในนั้นคือปรับลดอัตราผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำ ให้ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของยอดคงค้าง กระทั่งได้ออกมาตรการลดอัตราการผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำของบัตรเครดิต โดยให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจกำหนดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำของยอดคงค้างทั้งสิ้น สำหรับปี 2566 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 สำหรับปี 2567 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8 และตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไปไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10

'ผลสำรวจ' ชี้!! หนี้ครัวเรือนไทยปี 67 ทะลุ 6 แสน/ครัวเรือน สูงสุดในรอบ 16 ปี ส่วนใหญ่ก่อหนี้ที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น 'ลงทุน ประกอบอาชีพ-บ้าน-รถ'

(11 ก.ย. 67) นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจจากทั่วประเทศ จำนวน 1,300 ตัวอย่าง ตั้งแต่วันที่ 1-7 กันยายน 2567 พบว่า คนไทยมีหนี้เฉลี่ย 606,378 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.4% เพิ่มขึ้น 47,000 บาท

เมื่อเทียบจากปี 66 และ สูงสุดในรอบ 16 ปีตั้งแต่ทำการสำรวจในปี 52 ที่มีหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ 143,476.32 บาท ส่วนการผ่อนชำระต่อเดือนปี 67 อยู่ที่ 18,787.38 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่อยู่ 16,742 บาท 

และสูงสุดเป็นอันดับ 7 ของโลก คิดเป็น 90.4-90.8% ของจีดีพีประเทศ โดยมีอัตราภาระการผ่อนชำระ18,787บาท/เดือน

โดยสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนเกิดจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และ รายรับไม่พอกับรายจ่าย ประกอบกับ ปัจจุบันคนกู้หนี้นอกระบบมากกว่าในระบบมากขึ้น และจากผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าส่วนใหญ่ กู้เพื่อนำไปลงทุน ประกอบอาชีพ ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ซื้อสินทรัพย์คงทนอาทิ บ้าน และรถ ซึ่งเป็นหนี้ที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นส่งผลทางจิตวิทยา ด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างชาติ

"ปัญหาหนี้ครัวเรือนก่อนปี 2556 คนอื่นไม่ถึง 80% ต่อจีดีพี เรามีปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2557 อัตราการขยายตัว หรือ จีดีพีติดลบ ผ่านมา 11 ปี ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังไม่ถูกการแก้ไขให้ต่ำกว่า 80% ต่อจีดีพี"

อยากให้ภาครัฐชำแหละหนี้ให้ชัดเจน ยกตัวอย่าง ทางธกส. มีข้อมูลหนี้เกษตรกร ทางออมสิน มีข้อมูลหนี้ธนาคารประชาชน ทางธอส. มีข้อมูลหนี้บ้าน ถ้าทำได้เราจะหาวิธีแก้ที่ตรงจุด

อย่างไรก็ดี คาดว่าหากสามารถจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ตล็อตแรก 1.4 แสนล้านบาท ให้กลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน ภายใน 20 ก.ย. นี้ จะทำให้มีเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจ 2 รอบ ทำให้จีดีพีไตรมาส 4 โต 3.5-4% ผลักให้จีดีพีโตเพิ่มได้ 0.2-0.4 % และทำให้จีดีพีทั้งปีนี้ โตเพิ่มจาก 2.5% เป็น 2.8% ได้ เพราะมั่นใจว่ากลุ่มนี้จะมีการใช้จ่ายทันที

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จากการเปรียบเทียบรายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในปัจจุบันพบว่า จากกลุ่มตัวอย่างรายได้ต่อเดือนของครัวเรือน มีรายได้ 5,000-15,000 บาท 3% มีรายได้ 15,001-30,000 บาท 15.2% มีรายได้ 30,001-50,000 บาท 18% มีรายได้ 50,001-100,000 บาท 34.7% มีรายได้มากกว่า 100,000 บาทขึ้นไป 29.1%

ทั้งนี้ การเก็บออมเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินในปัจจุบัน พบว่า ไม่เคยเก็บออม 48.1% มีเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย 6 เดือนขึ้นไป 22.6% มีเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย 3-6 เดือน 16% มีแต่น้อยกว่าค่าใช้จ่าย 3 เดือน 13.3% ขณะที่การเก็บออมเทียบกับปีก่อน ลดลง 46.8% 

สำหรับพฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือน โดยสัดส่วนค่าใช้จ่ายของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์) 23.2% ค่าเดินทาง / ยานพาหนะ 10.2% ค่าที่อยู่อาศัย / เครื่องใช้ / เครื่องเรือน 8.7% ยาสูบ / เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 8.2% ของใช้ส่วนตัว 8.1% ค่าใช้ด้านการท่องเที่ยว 7.9% เวชภัณฑ์และค่ารักษาพยาบาล 7.1% ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา 7% ค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสาร 6.8% กิจกรรมศาสนา 6.8% และการบันเทิง จัดงานพิธี จัดเลี้ยง 6% 

หากเปรียบเทียบรายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในปัจจุบัน พบว่า รายได้ครัวเรือนน้อยกว่ารายจ่าย 46.3% รายได้ของครัวเรือนเท่ากับรายจ่าย 35% รายได้ครัวเรือนมากกว่ารายจ่าย 18.7%  

การแก้ไขปัญหากรณีที่รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายในปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาโดยการกู้ยืมจากแหล่งต่าง ๆ 55% มากจากการกดเงินสดจากบัตรเครดิต 24.8% กู้จากธนาคารพาณิชย์ 23.7% กู้ธนาคารเฉพาะกิจ 21.2% จำนำทรัพย์ที่มี 7.9% กู้เงินสหกรณ์ 7.6% เป็นต้น

โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาคนส่วนมาก 71.1% เคยผิดนัดชำระหนี้ และ 28.4 % ไม่เคย ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ผิดนัดชำระหนี้มากที่สุดคือ เศรษฐกิจไม่ดี รองลงมาคือรายได้ลดลง สภาพคล่องธุรกิจลดลง ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นเป็นต้น

‘อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี’ ผนึกกำลัง ’รวมไทยสร้างชาติ’ เสนอกฎหมาย ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ ปฏิรูปเครดิตบูโร

(10 ต.ค. 67) ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายเครดิตบูโรภาคประชาชน และสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติยื่น 'ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ...) พ.ศ. …' หรือ 'กฎหมายปฏิรูปเครดิตบูโร' 

ในการนี้ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายเครดิตบูโรภาคประชาชนร่วมกับนาย อนุชา บูรพชัยศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว  

ดร.อรรถวิชช์ กล่าวว่า “ร่างกฎหมายฉบับประชาชนและร่างฉบับพรรครวมไทยสร้างชาติมีเนื้อหาตรงกัน โดยมีสาระสำคัญคือ ลูกหนี้จ่ายหนี้ครบปิดบัญชี หรือ ผ่อน 6 เดือนติดต่อกันลบประวัติทันที และเปลี่ยนการแสดงผลเป็นคะแนนเครดิต (Credit Scoring) แทนการแสดงประวัติทั้งหมด รวมถึงฟรีค่าธรรมเนียมในการเช็กคะแนนเครดิตของตนเองด้วย ที่สำคัญที่สุดคือการลบประวัติผู้ที่มีประวัติเสียในเครดิตบูโรจากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นทันที

โดยกฎหมายเครดิตบูโรฉบับประชาชนได้รับการสนับสนุนจากองค์กรของผู้บริโภคโดยปัจจุบันมีประชาชนร่วมลงชื่อเสนอกฎหมาย ราว 6 พันคน มาวันนี้ได้แรงหนุนจากส.ส.พรรครวมไทยสร้างชาติด้วย ทำให้กฎหมายเข้าสู่สภาได้เร็วขึ้นมาก 

กฎหมายปฏิรูปเครดิตบูโรฉบับนี้จะเปลี่ยนโฉมการประเมินการให้สินเชื่อใหม่ ช่วยให้ประชาชนฟื้นตัวได้เร็วไม่ถูกแช่แข็ง สร้างการแข่งขันเรื่องอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร และทำให้ธนาคารมีความแม่นยำเพิ่มมากขึ้นในการประเมินสินเชื่ออีกด้วย โดยประชาชนสามารถมีส่วนร่วมเสนอกฎหมายได้ผ่าน เว็บไซต์ของรัฐสภา หรือ www.changeblacklist.org 

นายอนุชา บูรพชัยศรี เปิดเผยว่า พรรครวมไทยสร้างชาติเห็นถึงความสำคัญของการปฏิรูประบบข้อมูลเครดิตบูโรมาโดยตลอด เนื่องจากมีผู้ได้รับผลกระทบจากการเก็บข้อมูลเครดิตบูโรไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน ซึ่งจำนวนประมาณ 50% เกิดจากความยากลำบากในการดำเนินชีวิตการประกอบธุรกิจในช่วงสถานการณ์โควิด

การปฏิรูปการจัดเก็บข้อมูลเครดิตบูโรในครั้งนี้ เป็นการให้โอกาสในการพลิกฟื้นวิถีชีวิต และการประกอบธุรกิจของประชาชน จากเดิมหากมีประวัติที่ไม่ดีถูกจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลของเครดิตบูโร ประชาชนจำนวนมากสูญเสียความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ มีความจำเป็นต้องไปใช้บริการสินเชื่อนอกระบบ หรือที่รู้จักกันในชื่อ เงินกู้นอกระบบ

เงินกู้นอกระบบนี้เองที่สร้างปัญหาแก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด การทวงหนี้ที่โหดร้าย 

นายอนุชา กล่าวต่ออีกว่า นอกจากการแก้ไขกฎหมายเครดิตบูโรในครั้งนี้แล้ว ตนและพรรครวมไทยสร้างชาติมีความเห็นว่าจะต้องมีการดำเนินการด้านอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย ดังนี้

1.ต้องมีการปรับปรุงแนวคิดของการอนุมัติสินเชื่อของประเทศไทย รวมถึงแก้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อโดยเฉพาะในรายย่อย
2.หลักการเกี่ยวกับสินเชื่อต้องใช้มาตรฐานสากลเพื่อให้เหมาะสมกับทุก ๆ บริบท 
3.แม้จะมีการแก้ไขกฎหมายเครดิตบูโรในครั้งนี้แล้ว แต่จะต้องไม่ไปสร้างความเชื่อที่ผิดโดยเฉพาะในเรื่องความจำเป็นในการมีวินัยทางการเงิน การกู้ หรือขอสินเชื่อจะต้องไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้จ่ายเกินตัว และต้องป้องกันไม่ให้เกิด Moral hazard ทางการเงินโดยเฉพาะเรื่องการกู้เงินและการชำระหนี้

ถ้าดำเนินการตามสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ตนมั่นใจว่าจะทำให้เกิดผลดีกับระบบสินเชื่อในภาพรวม และก็เป็นผลดีกับทั้งลูกหนี้ และสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากคาดว่าร่างกฎหมายเครดิตบูโรฉบับนี้จะเข้าข่ายที่เป็นกฎหมายการเงิน ดังนั้นจึงต้องผ่านการรับรองจากนายกรัฐมนตรี จึงมีขั้นตอนที่อาจจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาพอสมควร แต่อย่างไรก็ตามตนในฐานะ สส. พรรคร่วมรัฐบาล และกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎร หรือ วิปรัฐบาล จะติดตามความคืบหน้าของกฎหมายฉบับนี้อย่างใกล้ชิด

‘กรณ์’ แนะซื้อหนี้ประชาชนขีดเส้นไม่เกิน 1 แสนบาท ชี้ ไม่ควรให้ผู้บริหารหนี้เอกชนมายุ่ง เลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน

‘กรณ์ จาติกวณิช’ แนะแนวทางซื้อหนี้ประชาชน ไม่ควรซื้อหนี้เสียทั้งหมด ขีดเส้นหนี้ไม่เกินแสนบาทต่อคน ควรใช้ AMC ของรัฐที่มีอยู่แล้วคือ SAM ซื้อหนี้จากธนาคาร ราคาตลาด 5-7% ของวงเงินหนี้

(20 มี.ค. 68) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็นการซื้อหนี้ประชาชน ว่า ซื้อหนี้?

พูดเรื่องช่วยคนติดหนี้ทีไร มักจะมีดราม่าทุกครั้ง การแสดงความเห็นหลากหลายเกิดขึ้นทันที บางครั้งก็เพราะเข้าใจผิดจากการสื่อสารที่ไม่เคลียร์ ผมเองเคยมีปัญหานี้กับเรื่องแบล็กลิสต์เครดิตบูโรมาก่อน ข้อเสนอการซื้อหนี้ครั้งนี้ก็ไม่ต่าง

การช่วยคนที่เป็นหนี้ให้มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่ เป็นเรื่องที่ผมเห็นดีด้วยอย่างมาก ผมจึงอยากชวนทุกคนให้ช่วยกันคิดและทำความเข้าใจกับสิ่งที่อดีตนายกฯ กำลังเสนอ และหาทางออกที่มีหลักอธิบายได้ ไม่เป็นประชานิยม (เกินไป) และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนให้กับกลุ่มทุนกลุ่มใด

โดยสรุป ผมว่าเรื่องการโยกหนี้จากบัญชีธนาคารไปอยู่ในบัญชีรัฐทำได้ครับ และหากทำถูกวิธีก็เป็นเรื่องที่ควรทำด้วย ส่วนอดีตนายกฯ จะทำแบบที่ผมคิดหรือไม่ผมไม่แน่ใจ ผมขอลองเสนอวิธีของผมแล้วกัน (ไม่ได้คิดเองทั้งหมด แต่คุยกับเพื่อนร่วมคิดหลายคน)

อันดับแรก : 2 อย่างที่ ‘ไม่ควรทำ’
1. ไม่ควรซื้อหนี้เสียทั้งหมด - เพราะต้องใช้เงินเยอะไป และ moral hazard มากเกินไป

2. ไม่ควรเอาผู้บริหารหนี้เอกชนมาเกี่ยวข้อง - เพราะจะมีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนมาเกี่ยวข้องกับการใช้เงินรัฐ

คราวนี้สิ่งที่ควรทำ
1. หนี้เสียในระบบบูโรตอนนี้มี ทั้งหมด 1.22 ล้านล้านบาท เป็นของลูกหนี้ 9.5 ล้านบัญชี รวม 5.4 ล้านคน - อย่างที่บอก เราไม่ควรซื้อหนี้ทั้งหมดนี้

2. รัฐควรขีดเส้นการช่วยเหลือที่ลูกหนี้ที่มีหนี้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ซึ่งจะครอบคลุม 3.5 ล้านคน หรือ 65% ของลูกหนี้เสียทั้งหมด!

3. ตามนี้ วงเงินหนี้เสียรวมที่รัฐจะดูแลจะเหลือเพียงประมาณ 120,000 ล้านบาท หรือ 10% ของหนี้เสียโดยรวม 

4. พูดง่ายๆ คือเราช่วยคนเล็กคนน้อยเท่านั้น ขาใหญ่มีวิธีอื่นที่ช่วยได้ เดี๋ยวค่อยว่ากัน

5. แหล่งที่มาของเงินคือ เราสามารถใช้เงินเหลือจาก FIDF ได้ เพราะรัฐได้มีมาตรการลดภาระการจ่ายเข้ากองทุนโดยธนาคารพานิชย์ไปแล้วครึ่งหนึ่ง เท่ากับปีละ 70,000 ล้าน 

6. รัฐควรใช้ AMC ของรัฐที่มีอยู่แล้วคือ SAM (กำกับดูแลโดยแบงก์ชาติ) ซื้อหนี้ส่วนนี้ออกมาจากธนาคารพานิชย์ ราคาตามราคาตลาดปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5-7% ของวงเงินหนี้

7. ส่วนนี้จะเป็นกำไรของธนาคารพาณิชย์ เพราะทุกธนาคารได้สำรองหนี้เสียไว้เต็ม 100% แล้วตามเงื่อนไขแบงก์ชาติ

8. หาก SAM ซื้อหนี้ตามราคานี้ วงเงินที่ต้องใช้จริงคือไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาท

9. จากนั้น SAM ควรตั้งเงื่อนไขให้ลูกหนี้ชำระหนี้ในราคาตีซัก 10-15% ของหนี้เดิม แลกกับการเคลียร์ประวัติในเครดิตบูโร - ลูกหนี้จะเหมือนได้เกิดใหม่ทันที กำไร (หากมี) ปันส่วนกลับไปให้ธนาคารพาณิชย์บางส่วนได้

10. ทั้งหมดนี้ต้องมีแบงก์ชาติเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อความเชื่อมั่น และเพราะมีการใช้หน่วยงานในสังกัด

ด้วยวิธีนี้ รัฐไม่ได้ใช้เงินภาษี (จริงๆ ก็คือใช้เงินของธนาคารพาณิชย์ที่จ่ายให้ FIDF นั่นแหละ) และจำนวนลูกหนี้ที่ติดบูโรในกลุ่มที่เปราะบางที่สุดได้ประโยชน์ถึง 3 ล้านกว่าคน

ข้อเสียคืออะไร?
1. ประเด็น moral hazard - การช่วยทุกกรณีมี moral hazard แต่กรณีนี้ผมได้เสนอให้ช่วยลูกหนี้รายเล็กที่สุดเท่านั้น 

2. ความเสี่ยงต่อกองทุนฟื้นฟู - อันนี้ขึ้นอยู่กับราคาที่ซื้อหนี้มาจากธนาคารพาณิชย์ แต่หากซื้อที่ไม่เกิน 5-7% ผมว่าความเสี่ยงอยู่ในระดับที่รับได้ 

3. ลูกหนี้อาจจะยังไม่พ้นบ่วงหนี้ เพราะหากเป็นหนี้เสียกับธนาคารพาณิชย์อยู่ ผมมั่นใจว่าคงจะมีหนี้นอกระบบอยู่ด้วยอีกไม่มากก็น้อย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top