Tuesday, 14 May 2024
สุโขทัย

สุโขทัย – เทียน “ตะคันดินเผา” สืบสานความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรมดั้งเดิมของสุโขทัย

พิธีเผาเทียนนั้นถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญในงานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในค่ำคืนวันเพ็ญเดือน 12 โดยใช้  “ตะคัน” หรือถ้วยเทียนบูชา ที่เป็นภาชนะดินเผาบรรจุขี้ผึ้งไขเปรียง มีไส้เชื้อเพลิง จุดแล้วมีแสงสว่าง คนโบราณจึงเรียกว่า “เผาเทียน” เมื่อนำไปวางตามฐาน หรือระเบียงโบสถ์ วิหาร เจดีย์ เกิดเป็นแสงระยิบระยับนับร้อยนับพัน ถือเป็นบุญกุศลที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมศรัทธา

“บ้านตะคัน คุณจูคุณจิต” ที่ชุมชนบ้านใหม่ตะพังทอง ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย โดยมีคุณชัยรัตน์ ภุมราเศวต หรือลุงจู อายุ 59 ปี เล่าให้ฟังว่า “ตะคัน” หรือ “ตะคันดินเผา” มีลักษณะคล้ายจานขนาดเล็กที่ทำมาจากดินโดยการนำไปปั้นให้เป็นรูปทรงแล้วนำไปเผา บางบ้านใช้สำหรับวางเทียนอบ วางกำยาน แต่บางบ้านก็นำตะคันมาใส่น้ำมันหรือเทียนขี้ผึ้งและใส่ไส้เส้นด้ายใช้เพื่อจุดไฟ นำไปตกแต่งสถานที่ก็มี อาทิ รีสอร์ท โรงแรม ร้านกาแฟ หรือนำไปประกอบการแสดงร่ายรำก็มี

ปัจจุบันที่นี่เปิดเป็น “ศูนย์การเรียนรู้บ้านตะคัน” โดยจะมีผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้การทำตะคันดินเผากันมากมาย จึงรู้สึกภูมิใจได้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดสุโขทัยต่อการสืบสานการทำตะคันดินเผา และเพิ่มบรรยากาศความสวยงามให้กับงานลอยกระทงสุโขทัยมาทุกปี

สุโขทัย - อบจ.สุโขทัย องค์กรที่มีผลงานยอดเยี่ยมและดีเด่นในการป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปี 2564

นายมนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.สุโขทัย เข้ารับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณองค์กรที่มีผลงานยอดเยี่ยมและดีเด่นในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปี 2564 ด้านการส่งเสริมการแก้ไขปัญหายาเสพติด จากนายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก

โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณฯ ผ่านระบบการถ่ายทอดสดออนไลน์ จากทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564

อบจ.สุโขทัย ได้รับเลือกเป็นองค์กรที่มีผลงานระดับดีเด่น ด้านการส่งเสริมการแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นองค์กรที่ส่งเสริม สนับสนุนบุคลากรและงบประมาณ ของ อบจ.สุโขทัย บูรณาการร่วมกับ ศอ.ปส.จ.สุโขทัย ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ จ.สุโขทัย ทั้ง 9 อำเภอ ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ได้ดำเนินการบูรณาการด้านกำลังคน ด้านพื้นที่ ด้านข้อมูลข่าวสารต่อเนื่อง และทันต่อเหตุการณ์ 

ทั้งยังได้ให้การสนับสนุนให้ผู้นำชุมชน รวมทั้งเครือข่ายอาสาสมัคร ที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังการแพร่กระจายของยาเสพติด โดยการออกสุ่มตรวจปัสสาวะในชุมชน ให้ความรู้และบทลงโทษที่จะตามมาในชีวิตและครอบครัวของคนในพื้นที่เสี่ยงมาอย่างต่อเนื่อง และยังเพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในชุมชนในพื้นที่ด้วย ซึ่งผู้นำชุมชนและหน่วยงานในท้องที่ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ โดยการประสานและทาง อบจ.สุโขทัยให้ความร่วมมือและเล็งเห็นถึงความสำคัญ ในการแก้ไข ป้องกันปัญหายาเสพติดในพื้นที่ท้องถิ่นต่าง ๆ ในจังหวัดสุโขทัย ณ ห้องประชุมสองแคว สำนักงาน ปปส. ภาค 6 จ.พิษณุโลก


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา จ.สุโขทัย

สุโขทัย - อบจ.สุโขทัย ช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อน แก่ประชาชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้มีรายได้

วันที่ 5 กรกฏาคม 2564 นายมนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.สุโขทัย มอบหมายให้ นางกัลยากร จั่นแก้ว เลขานุการ อบจ. นางสาวศรีสุรางค์ จูทอง หัวหน้าสำนักปลัด อบจ. พร้อม บุคลากรในสังกัด อบจ.สุโขทัย ลงพื้นที่มอบเงินช่วยเหลือ ตามโครงการ อบจ.สุโขทัย ช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อน ประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้มีรายได้น้อย ในพื้นที่ จ.สุโขทัย รายละ 3,000 บาท ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในเขต ต.บ้านกล้วย ในเขต ต.ธานี อ.เมืองสุโขทัย ณ สำนักงานเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี และในเขต ต.ไกรนอก ต.กกแรต ต.บ้านใหม่สุขเกษม อ.กงไกรลาศ  ณ หอประชุม อบต.ไกรนอก

โดยมีนายเชนท์ ผาสุก สมาชิกสภา อบจ.สุโขทัย อ.เมือง เขต 1 นายประทีป สุริเย สมาชิกสภา อบจ.สุโขทัย อ.เมือง เขต 2 นายลูกคิด ไกรสีกาจ สมาชิกสภา อบจ.สุโขทัย อ.กงไกรลาศ เขต 1 นายพัฒ ตั้งเบญจผล สมาชิกสภา อบจ.สุโขทัย อ.กงไกรลาศ เขต 2 ผู้นำท้องที่-ท้องถิ่น และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่มอบเงินตามโครงการดังกล่าว

สุโขทัย – ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย พร้อมภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนามของจังหวัดสุโขทัย

วันนี้ (6 กรกฎาคม 2564) เวลา 10.30 น. ที่อาคารชวนชม มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตสุโขทัย อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย นายวิรุฬ พรรณเทวี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย พร้อมด้วยนายสุชาติ ทีคะสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ดร.นพ.ปองพล วรปาณิ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย นพ.มาโนช อู่วุฒิพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุโขทัย บุคลากรทางการแพทย์และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานที่โรงพยาบาลสนามของจังหวัดสุโขทัย ที่อาคารชวนชม มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตสุโขทัย ซึ่งเป็นตึก 4 ชั้น และสามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียว ได้สูงสุด 120 ราย โดยเบื้องต้นขณะนี้อาคารชวนชมมีผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารับการรักษาอยู่จำนวน 2 รายด้วยกัน

นายวิรุฬ พรรณเทวี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยกล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากพี่น้องชาวจังหวัดสุโขทัยได้โทรประสานขอกลับมารักษาตัวที่จังหวัดสุโขทัย ทั้งนี้อยากขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนที่ประสงค์จะขอกลับเข้ามารักษา ให้โทรประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย ก่อนที่จะเดินมาเข้ามาในพื้นที่ของจังหวัดสุโขทัยด้วย


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา จ.สุโขทัย

สุโขทัย – ไม่ทอดทิ้ง อบจ.สุโขทัย ร่วมใจธอส. ส่งมอบบ้านให้แก่ผู้ด้อยโอกาส อยู่ดีมีสุข

นายมนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.สุโขทัย พร้อมด้วยนายสมพร นกหงส์ สมาชิกสภา อบจ.สุโขทัย อ.เมืองสุโขทัย เขต 4 นางกิตติพร ชุ่มชื่น ผอ.กองพัสดุและทรัพย์สิน และบุคลากรในสังกัด อบจ.สุโขทัย ร่วมพิธีส่งมอบบ้าน ตามโครงการ “สร้าง ซ่อม ที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ ผู้สูงอายุ และผู้พิการ” ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยประจำปี 2564

โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สนับสนุนงบประมาณจำนวน 204,000 บาท และ อบจ.สุโขทัย เป็นผู้ประสานงานในการก่อสร้างและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยตามโครงการดังกล่าว ให้แก่ นางแฉล้ม อาจวง เนื่องจากบ้านพักอาศัยเดิมมีสภาพเก่าทรุดโทรม อยู่กันหลายคน และไม่มีความปลอดภัย มีความเสี่ยง และไม่คุ้มแดด ลม และฝน เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายคนในครอบครัวได้ และสุขภาพจิตวิตกกังวนของคนในครอบครัว ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย(อบจ.สุโขทัย) โดยนายมนู พุกประเสริฐนายก อบจ.หลังได้ทราบข้อมูลจากพื้นที่ จึงได้ดำเนินการประสานไปยัง ธนาคาร ธอส. เพื่อให้ความช่วยเหลือร่วมกัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของครอบครัวนี้ รวมทั้งผู้ด้อยโอกาส ที่มีข้อมูล เพื่อให้มีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย สุขลักษณะ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ณ หมู่12 ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.สุโขทัย เมื่อ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา จ.สุโขทัย

สุโขทัย - ติดโบว์ประกวดภาพถ่าย "สุโขทัยเมืองแห่งหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and folk art)" ภาพสวยในแดนรุ่งอรุณแห่งความสุข

วันนี้ที่ห้องประชุมชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย นางศศิธร  สุดเจริญ ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุโขทัย และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นายกสมาคมสื่อฯ ช่างภาพอาวุโส ประธานชมรมช่างภาพฯ ตัวแทนหน่วยงานด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาคัดเลือกภาพเพื่อตัดสินภาพที่จะได้รับรางวัลในกิจกรรมการประกวดภาพถ่าย "สุโขทัยเมืองแห่งหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and folk art)" ภายใตัโครงการพัฒนาจังหวัดสุโขทัยมุ่งสู่จังหวัดนวัตกรรมและสร้างสรรค์ (Creative City)

และจะมีการจัดแสดงภาพถ่ายที่รับรางวัลและภาพที่ได้รับความสนใจ มีจุดเด่น ให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่ชื่นชมได้ชมความสวยของภาพถ่าย ณ จุดแสดงภาพถ่าย ตามกำหนดวันและเวลาให้ทราบอีกครั้งในจังหวัดสุโขทัย

โดยกิจกรรมครั้งนี้มีผู้ส่งภาพเข้าประกวดจำนวน 26 คน จากช่างภาพมืออาชีพและสมัครเล่น และผู้ที่ชื่นชอบในการถ่ายภาพในจังหวัดสุโขทัย และจากต่างจังหวัดทั้งจังหวัดสุรินทร์ ,กาฬสินธุ์ ,อุดรธานี ,ชัยภูมิ ,เชียงใหม่ ,นนทบุรี ,พิจิตร ,พิษณุโลก ,กรุงเทพ มีอายุระหว่าง ได้รับความสนใจจากหลายวัย ตั้งแต่อายุ 19 ปี ในระดับเยาวชนถือว่ากิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น รวมถึงวัยเกษียณในวัย 63 ปี ผู้ส่งภาพประกวดมีทั้งชายและหญิง ประกอบอาชีพ ช่างภาพอิสระ ข้าราชการ แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ ครู มัคคุเทศก์ ค้าขาย พนักงานบริษัท รับจ้างและนักเรียนนักศึกษา มีจำนวนภาพที่ส่งถึงสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุโขทัยเพื่อคัดและทำการประกวดทั้งสิ้น 151 ภาพ

ผลการประกวดมีดังนี้

   1. รางวัลที่ 1 เงินรางวัล 20,000.- บาท พร้อมโล่รางวัล

     ชื่อภาพ เส้นสายลายศิลป์ ของ นายเสกสรร เสาวรส

  2. รางวัลที่ 2 เงินรางวัล 15,000.- บาท พร้อมโล่รางวัล

     ชื่อภาพ ปั้นเครื่องสังคโลกภูมิปัญญาที่ล้ำค่า ของดีศรีสัชนาลัย ของ นางสาวจิรา ชุมศรี

 3. รางวัลที่ 3 เงินรางวัล 10,000.- บาท พร้อมโล่รางวัล

     ชื่อภาพ อวดลวดลายผ้าตีนจก ของ  นายทศพร สหกูล

 4. รางวัลชมเชย พร้อมเกียรติบัตร จำนวน 3 รางวัลๆ ละ 3,000.- บาท

     ชื่อภาพ จำตาสอนไว้ นกคุ้มสุโขทัย คุ้มภัยลูกหลานร่มเย็น ของ นายนครินทร์ เขื่อนเพชร

     ชื่อภาพ เรือนไทยจำลอง(ใหญ่)  ของ นายชนินทร์ แซ่ฟุ้ง

     ชื่อภาพ รักษาศิลปะวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ ของ นายณภัทร ศรีนามฉ่ำ

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุโขทัย 055612286


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา จ.สุโขทัย

สุโขทัย - วิทยาลัยเกษตรสุโขทัย ติวเกษตรยุคใหม่ ใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาผลผลิตยั่งยืน

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย ฝ่ายพัฒนากิจการนักเรียน นักศึกษา ได้ดำเนินโครงการอบรมพัฒนาผู้เรียนสู่การเป็นเกษตรสมัยใหม่ ให้แก่นักเรียน นักศึกษา เพื่อพัฒนาให้เกษตรกรรุ่นใหม่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการเกษตรกรรมหรือเกษตร 4.0 โดยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการเพาะปลูก ณ ห้องประชุมอาคาร 8 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564

นายนิมิตร อาศัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย กล่าวว่าโครงการนี้ เป็นแนวคิดของคณะผู้บริหารและครูผู้สอน ในการต้องการเสริมการทำเกษตรแบบดั่งเดิมเพื่อต่อยอดทักษะและความรู้สู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างองค์ความรู้ ขยายผลสู่นักเรียน นักศึกษา และชุมชนให้มีคุณภาพสู่การเป็นเกษตรสมัยใหม่ การเกษตรกรรมหรือเกษตร 4.0 นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ควบคู่ในการเพาะปลูก 

วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย เป็นวิทยาลัยเกษตร หรือโรงเรียนที่ได้เป็นตัวแทนของจังหวัดสุโขทัย ในการประกวดโครงการต่าง ๆ ของภาคเกษตรระดับประเทศ ที่เน้นการทางเกษตรอินทรีย์ และต้องการต่อยอดเทคโนโลยี 4.0 โดยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ในการเพาะปลูก มาผสมผสานกับการเกษตรแบบดั่งเดิม และเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชน นักเรียน นักศึกษา แก้ปัญหาผลผลิตตกต่ำ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในปัจจุบัน ทำให้เกิดภาวะขาดทุน และการใช้สารเคมีในการปลูกพืชทำให้เกิดสารพิษจากการสัมผัสโดยตรงมากเกินไปของเกษตรกร ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาประชาชนเป็นโรคต่าง ๆ

ดังนั้นจึงมอบหมายให้ฝ่ายพัฒนากิจการนักเรียน นักศึกษา ได้จัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียน นักศึกษา เพื่อพัฒนาให้เกษตรกรรุ่นใหม่ ได้ทดลองฝึกใช้ และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ควบคู่ในการเพาะปลูก และแลกเปลี่ยนความรู้กัน เพื่อนำสิ่งที่ดีที่สุด ที่นักเรียน นักศึกษา ยอมรับและเต็มใจ เห็นด้วยจากความคิดที่ได้นำมาทดลอง และแลกเปลี่ยนความคิดกัน เนื่องจากปัจจัยด้านสภาพอากาศ และการใช้แรงงาน ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น และปรับเปลี่ยนตลอดเวลา 

ดังนั้นทางวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย จึงเห็นถึงความสำคัญนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ควบคู่ในการเพาะปลูกในปัจจุบัน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนให้มีองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาใช้ ในการศึกษาผลิตการเป็นผู้ผลิตพืชผัก ผลไม้ และเกษตกรรมด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ส่งผลให้นักเรียน นักศึกษา ได้รับการพัฒนาทักษะวิชาการ รวมถึงกระบวนการเรียนรู้ในการทำงานเป็นทีม มีทักษะการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา สามารถนำความรู้ด้านเทคโนโลยียุค 4.0 ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ก่อให้เกิดรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น พึ่งพาตนเองได้ ลดการย้ายถิ่นฐานไปทำงานในเมือง เด็กรักถิ่นเกิดของตนเองเป็นประโยชน์ต่อชุมชนโดยรอบ และจังหวัดสุโขทัย และสามารถสร้างอาชีพได้อย่างแท้จริง

นายนิมิตร อาศัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย กล่าวเพิ่มเติมว่าวัตถุประสงค์ มุ่งสร้างให้เยาวชนเป็นเด็กเก่งและเด็กดี ของสังคมและประเทศชาติ โดยเน้นพัฒนาด้านทักษะและสมรรถนะมากขึ้น เพื่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเรียนรู้นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และต่อยอดสู่อาชีพ การพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตนักเรียน นักศึกษา และอาชีพที่เติบโต  เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษารู้เครื่องมือใช้งาน อุปกรณ์ควบคุม และการเขียนโปรแกรม ควบคุมอุปกรณ์เทคโนโลยีสุโขทัย

ส่งเสริมให้นักเรียนสามารถต่อยอดความรู้ไปสู่นวัตกรรมใหม่ เพื่อพัฒนารูปแบบวิธีการเดิม เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนสามารถนำนวัตกรรมไปสู่ชุมชน ต่อยอดให้ความรู้แก่ชุมชนยั่งยืนได้


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา จ.สุโขทัย

สุโขทัย – เทศบาลเมืองสุโขทัย เปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีน Sinopharm (ซิโนฟาร์ม) 5,000 โดสให้ประชาชน

วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 เวลา 11.00 น. นายวิรุฬ พรรณเทวี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ที่มาตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่เทศบาล และประชาชนในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี ที่มาลงทะเบียนรับวัคซีน Sinopharm (ซิโนฟาร์ม) เป็นวันแรก โดยมีนายขรรค์ชัย ดอนพิมพา นายกเทศมนตรีเมืองสุโขทัยธานี พร้อมคณะผู้บริหารเทศบาลฯ พนักงานเทศบาล ให้การต้อนรับ

สำหรับประชาชนในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี จะได้ลงทะเบียนเพื่อรับการฉีดวัคซีน Sinopharm (ซิโนฟาร์ม) อย่างทั่วถึงตามเป้าที่ตั้งไว้ของผู้บริหารเทศบาลฯ หลังที่ทางคณะผู้บริหารเทศบาลและสภาเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี ได้ทำการขอรับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มจากทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 5,000 โดส ซึ่งรอบแรกได้มา 400 โดส ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะให้กลุ่มเปราะบางก่อน และอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มีทะเบียนบ้านในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี และจะทยอยจัดสรรมาจนครบ ตามที่ทางเทศบาลเมืองสุโขทัยธานีได้เร่งขอรับการจัดซื้อในครั้งนี้

ทำการเปิดจอง ตั้งแต่วันนี้ 21-25 กรกฏาคม 2564 เวลา 09.00 น.-16.00 น. บริเวณอาคารเฉลิมพระเกียรติ พระแม่ย่า(ตึกใหม่) และอาคารงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (อาคารดับเพลิง) เทศบาลเมืองสุโขทัยธานี โดยเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี ได้กำหนดขั้นตอนการลงทะเบียนไว้อย่างชัดเจน ปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A กระทรวงสาธารณสุขโดยเคร่งครัด


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา จ.สุโขทัย

สุโขทัย – ซาลาเปา 20 ไส้โบราณของอร่อยสโขทัย ราคาไม่แพง ลิ้มรสสูตรดั่งเดิม 100 ปี

ของอร่อยในสุโขทัยอีกชนิดที่ขึ้นชื่อ มีสาขาหลายอำเภอหลายจังหวัด หากพูดถึงซาลาเปา ภาษาจีนเรียก เปาจึ หรือ เปา เป็นอาหารทำด้วยแป้งปั้นเป็นลูก ใส่ไส้ต่าง ๆ เช่น เนื้อ หรือผัก แล้วนึ่งให้สุกและเสน่ห์ที่ไม่เหมือนใคร คือที่จังหวัดสุโขทัย หนุ่มสาวรุ่นใหม่สืบทอดเจตนารมณ์คนรุ่นอากง ที่ริเริ่มคิดสูตรและทำซาลาเปามาตั้งแต่อยู่ที่จีน และก็สืบต่อกิจการขายซาลาเปามาเรื่อย ๆ จนมารุ่นพ่อที่ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย และเป็นครอบครัวซาลาเปาที่คนสุโขทัยรู้จักดี ซาลาเปาโบราณปัจจุบันเป็นที่หากินได้ยากมาก ๆ จึงไม่อยากให้พลาดโอกาสลิ้มรสซาลาเปาโบราณที่มีตำนานมากกว่า 100 ปี

คุณเจตน์ เลิศจรูญวิทย์ อายุ 36 ปี ทายาทอีกรุ่นของรุ่นซาลาเปา 20 ไส้โบราณ เป็นรุ่นหลานของร้าน “ซาลาเปาโบราณ in สุโขทัย” ได้เล่าว่าด้วยความภาคภูมิใจในการสืบทอดจากรุ่นอากงให้ฟังว่า การที่ทำซาลาเปาสูตรโบราณ และยังทำอยู่ถึงทุกวันนี้ เพราะอยากให้คนรุ่นหลังได้รู้จักและลองกินซาลาเปาโบราณที่ยังมีวิธีทำแบบดั้งเดิม แต่จะมีไส้ที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากที่อื่น และหลากหลาย ที่ดั้งเดิมก็จะเป็น ไส้ถั่วดำ หรือ ไส้ดำ นับเป็นซาลาเปาไส้หวาน สุดคลาสสิค ไส้หมูสับ หมูสับไข่เค็ม หมูแดง ถั่วเหลือง ถั่วดำ งาดำ ถั่วแดง เผือก ครีม ใบเตยและออกไส้ตามความนิยมของท้องตลาดเช่นไส้ช็อคลาวา ลาวาชาเขียว ลาวาไข่เค็ม ลาวามันม่วง ไส้ฝอยทอง ไส้กรอกชีส ฮ่องเต้ ไส้ผัก(เจ)สำหรับคนรักสุขภาพ ไส้แน่น เต็ม ๆ คำ แป้งของร้านซาลาเปาโบราณ in สุโขทัย จะเป็นสีขาวสวยละมุนตา มีส่วนผสมพิเศษในการผสมแป้ง และยังเป็นแป้งที่นวดและปั้นเอง ทำให้แป้งเหนียวหนุบหนับ สูตรลับเฉพาะตามแบบฉบับซาลาเปาโบราณยิ่งถ้าได้ลองทานหมั่นโถว เมื่อเคี้ยวไปแล้วตัวเนื้อแป้งจะได้รสชาติหวาน ๆ และไม่ติดฟันให้น่ารำคาญ

น.ส.ปวีณา ทองเยี่ยม อายุ 34 ปี ซึ่งเป็นภรรยา คุณเจตน์  เลิศจรูญวิทย์ เจ้าของร้านซาลาเปาโบราณ in สุโขทัย และเป็นผู้ดูแลร้านบอกว่านอกจากซาลาเปาแล้วยังมีขนมจีบ อาหารว่างประเภทคาวแบบนึ่งของจีนที่เป็นเมนูห้ามพลาด เพราะวัตถุดิบที่ใช้จะคัดเลือกตั้งแต่แป้งที่ห่อ จะใช้แป้งไข่ที่ต้องสั่งจากเยาวราช ใช้เครื่องสามเกลอที่ปรุงด้วยพริกไทยพิเศษที่จะหอมกว่าปกติ หมูบดจะผสมมันเล็กน้อยเพื่อให้มีรสนุ่มลิ้น ใส่เห็ดหอมเพื่อเพิ่มรสชาติ คลุกเคล้ากับแครอท ซอสต่าง ๆ และน้ำมันงา และห่อกันแบบอวบ ๆ เต็มปากเต็มคำ นอกจากนี้ทางร้านยังรับจัดเบรก งานเลี้ยง ประชุม สัมมนา รับรองอร่อย สะอาด ถูกหลักอนามัย ซื้อทานเองก็ถูกปาก ซื้อเป็นของฝากก็ถูกใจ ร้านซาลาเปาโบราณ in สาขาเมืองสุโขทัย ตั้งอยู่เลขที่ 2/1 ถ.บาลเมือง ตรงข้ามป้อมตำรวจชุมชนธานี สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 096-1655122 ร้านซาลาเปาโบราณ in สุโขทัย หรือถ้าไม่สะดวกเดินทาง สามารถสั่งได้ทุกแอพพิเคชั่น รอรับความอร่อยที่บ้านได้เลย


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา จ.สุโขทัย

สุโขทัย - นายกมนู ห่วงคนสุโขทัยไม่วางใจสถานการณ์ รุดสั่งจองวัคซีนโมเดอร์นา จากสภากาชาดไทย

อบจ.สุโขทัย โดยนายมนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.สุโขทัย สั่งจองวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 (โมเดอร์นา) จากสภากาชาดไทย เพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่ จ.สุโขทัย ไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยได้จัดทำแผนดำเนินการฉีดวัคซีน ตามที่สภากาชาดไทยกำหนด ในกลุ่มประชาชนเป้าหมาย 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง สตรีมีครรภ์ ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 มาก่อน  บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล ในถิ่นทุรกันดาร ผู้ที่ทำงานประจำอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูผู้สอนในโรงเรียนอนุบาล หรือครู อาจารย์ ผู้ที่ทำหน้าที่สอนหนังสือในโรงเรียน ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 มาก่อน บุคลากรที่ต้องออกปฏิบัติงานสัมผัสประชาชน ตามโครงการฉีดวัคซีนของ อบจ. ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 มาก่อน และบุคคลที่ยังไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ เนื่องจากติดขัดระเบียบหรือกฎหมาย และเสนอต่อสภากาชาดไทย เพื่อให้ชาวสุโขทัยได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง ในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และสร้างความเชื่อมั่น ในการป้องกันโรคโควิด – 19 ในพื้นที่ และลดติดเชื้อของประเทศ

นอกจากนี้นายมนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.สุโขทัย ได้ชี้แจงข้อสงสัยเรื่องวัคซีนที่หลายคนต้องการทราบ ของการสั่งจองวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของอบจ.สุโขทัย โดยได้สั่งจองวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่เปิดให้สั่งจองในลำดับแรกจำนวน 100,000 โดส โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 88,800,000 บาท บวกค่าทำการฉีดพร้อมอุปกรณ์ที่ทางสาธารณสุข จ.สุโขทัยแจ้งมา เข็มละ 90 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 97,800,000 บาท

ต่อมาทางสภากาชาดไทยเปิดให้จองวัคซีนโมเดอร์นา ทางอบจ.สุโขทัย เห็นว่าใช้งบประมาณจองซิโนฟาร์มไปค่อนข้างเยอะแล้ว จึงจองโมเดอร์นาไปอีก 10,000 โดส ใช้งบ 11,000,000 บาท รวมวัคซีนทั้งสองชนิดจำนวน 110,000 โดส ซึ่งจะสามารถดูแลทั่วถึงทุกกลุ่ม ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการฉีดต้น ๆ ทั้ง 2 สถาบันเป็นผู้กำหนดมาทั้งสิ้น อบจ. มิได้เป็นผู้กำหนด

อบจ.สุโขทัย ขอยืนยันว่า ได้จัดเตรียมงบประมาณไว้พร้อมแล้ว หากทั้งสองสถาบันจัดสรรวัคซีนมาให้ครับ ทั้งนี้วัคซีนจะมาได้เมื่อไหร่ขึ้นอยู่กับทาง 2 สถาบันจะหาวัคซีนได้ แต่ก็คอยติดตาม แต่ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ก็ได้ติดต่อ ติดตาม สอบถามไปอย่างต่อเนื่องทั้ง 2 สถาบัน และจะรีบแจ้งถึงประชาชนในพื้นที่ทันทีที่ได้รับความชัดเจนจากทั้ง 2 สถาบัน ที่เราได้ขอสั่งจองไว้


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา จ.สุโขทัย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top