Monday, 7 July 2025
สุริยะ_จึงรุ่งเรืองกิจ

'รัดเกล้า' เผย!! 'นายกฯ-สุริยะ' มั่นใจความคืบหน้าท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3  ทุกแผนงานเสร็จทันกำหนด มิ.ย.69 พร้อมรับนักลงทุน-ลดต้นทุนขนส่งไทย

เมื่อวานนี้ (23 มิ.ย.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ติดตามและเร่งรัดการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ณ ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะร่วมลงพื้นที่ และมีนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ผู้บริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้แทนกิจการการค้าร่วม CNNC ร่วมให้การต้อนรับ

นางรัดเกล้า เปิดเผยอีกว่า การมาติดตามโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เป็นการติดตามความคืบหน้าของนายกฯ หลังจากการตรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาได้เดินทางมาตรวจ พบว่ามีความล่าช้า แต่ภายใต้การนำของนายสุริยะ ก็สามารถที่จะแก้ไขได้เหลือร้อยละ 4 และจะดำเนินการก่อสร้างได้ภายในสิ้นปีหน้า ทำให้การก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้คือเดือนมิถุนายน 2569 ซึ่งทางทีมงานมีความกระตือรือร้น และตนเองให้กำลังใจ ทุกคน พูดคุยปัญหาอย่างตรงไปตรงมา และทราบว่าการนำหินเข้ามามีปัญหา ซึ่งนายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ก็ได้ดำเนินการเรื่องนี้แล้ว โดยเชื่อว่าทุกอย่างจะดำเนินการต่อไปได้เพราะทุกคนต้องทำงานแข่งกับเวลา

ด้านผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนงานที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเล มีกิจการร่วมค้า CNNC เป็นผู้รับจ้าง มูลค่างานรวม 21,320 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยงานถมทะเลทั้งหมดประมาณ 2,846 ไร่ หรือ 4.5 ล้านตารางเมตร งานขุดลอกร่องน้ำและแอ่งจอดเรือให้มีระดับความลึก 18.5 เมตร และงานเขื่อนกันคลื่น ทั้งนี้  เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมามีความคืบหน้าเพียง 13.26%  ซึ่งหลังจากที่นายกฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามและได้มีข้อสั่งการให้ กทท. เร่งรัดการก่อสร้างให้ทันตามแผน  ทาง กทท. ได้กวดขัน ติดตามการบริหารสัญญาและควบคุมการทำงานของผู้รับจ้างตามข้อสั่งการ สามารถเร่งรัดได้เนื้องานเพิ่มขึ้นกว่า 17%

ผู้ควบคุมงานก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเลอีกด้วยว่า ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ดำเนินงานได้ 31.12% จากแผนปฏิบัติงาน 35.11% แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะดำเนินงานอย่างเต็มที่ แต่ยังคงล่าช้ากว่าแผน 3.99% ซึ่งผู้ควบคุมงานได้จัดทำแผนเร่งรัดการปฏิบัติงาน โดยเพิ่มเครื่องจักรทางบก ทางน้ำ และแรงงานให้สัมพันธ์กัน เพื่อให้สามารถขุดลอก ได้มากกว่า 2,000,000 ลบ.ม. ต่อเดือน ตามเป้าหมาย ทั้งนี้ ได้กำกับดูแลและควบคุมเร่งรัดการทำงานให้ผู้รับจ้างมีผลงานโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 3% ต่อเดือน

ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวเพิ่มเติมว่าจากปัจจุบันผลงานก่อสร้างของผู้รับจ้างยังมีความล่าช้ากว่าแผนฯ   แต่ก็มีความคืบหน้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมั่นใจว่าการก่อสร้างงานทางทะเลจะดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนภายในมิถุนายน 2569 รวมถึงจะไม่กระทบกับสัญญาของบริษัทเอกชนคู่สัญญาบริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ที่ กทท. จะต้องมีการส่งมอบเฉพาะพื้นที่งานถมทะเลท่าเทียบเรือ F1 ปัจจุบันมีความคืบหน้าการถมไปกว่า 97% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกรกฎาคม 2567 นี้ หลังจากนั้นจะมีเวลาอีกประมาณ 1 ปีเศษ ที่จะต้องการตรวจสอบการปรับปรุงคุณภาพพื้นที่ เพื่อเตรียมส่งมอบให้กับบริษัท จีพีซี ได้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2568 

ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวต่อไปว่า งานส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้วเสร็จเมื่อเร็วๆ นี้โดยบริษัทไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา ที่วงเงิน 7,298 ล้านบาท ซึ่งเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางประมาณ 160 ล้านบาท กทท. สามารถลงนามในสัญญาได้ภายในต้นกรกฎาคม 2567 สำหรับงานส่วนที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ มูลค่า 799 ล้านบาท และส่วนที่ 4 งานจัดหาประกอบและติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับขนย้ายสินค้า พร้อมออกแบบประกอบและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสำหรับบริหารท่าเรือและโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2,257 ล้านบาท ทั้งสองส่วนอยู่ระหว่างการสรรหาผู้รับจ้างจัดทำเอกสารประกวดราคา คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงปลายปี 2567 นี้ 

“โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการรองรับปริมาณตู้สินค้าที่จะเพิ่มขึ้น  หากโครงการแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการจะสามารถรองรับปริมาณการขนส่งตู้สินค้าได้เพิ่มขึ้นอีก 7 ล้านทีอียูต่อปี ประกอบด้วยท่าเรือ F1 จำนวน 2 ล้านทีอียูต่อปี ท่าเรือ F2 จำนวน 2 ล้านทีอียูต่อปีท่าเรือ E จำนวน 3 ล้านทีอียูต่อปี ซึ่งเมื่อรวมกับขีดความสามารถเดิมของท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 1 และ 2 ที่ 11 ล้านทีอียูต่อปี  จะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังมีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ถึง 18 ล้านทีอียูต่อปี  ในส่วนนี้จะทำให้เพิ่มปริมาณการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟและท่าเรือชายฝั่ง รวมถึงการเชื่อมโยงการขนส่งทางรางกับท่าเรือบกให้เพิ่มมากขึ้นด้วย เป็นการเพิ่มศักยภาพและรองรับการขยายตัวสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจการลงทุนของประเทศอย่างมหาศาล จะช่วยสนับสนุนให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค อีกทั้งช่วยสนับสนุนการลดต้นทุนการขนส่งโดยรวมของประเทศจากร้อยละ 14 ของ GDP เหลือร้อยละ 12 ของ GDP สอดรับนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์มุ่งให้ไทย เป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคต่อไป” นางรัดเกล้า ย้ำ

'สุริยะ' แย้มข่าวดี!! มอเตอร์เวย์ 'บางปะอิน-โคราช' ลุ้นเปิดทั้งเส้นต้นปี 69 อำนวยความสะดวกการเดินทาง-บรรเทาการจราจรหนาแน่นบน ถ.มิตรภาพ

(24 มิ.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) เร่งรัดดำเนินการก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน - นครราชสีมา หมายเลข 6 (M6) ระยะทาง 196 กิโลเมตร (กม.) โดยความคืบหน้าการดำเนินการก่อสร้างฯ จากข้อมูล ณ พฤษภาคม 2567 งานด้านโยธา มีความก้าวหน้า 95.20% ล่าสุดก่อสร้างแล้วเสร็จ 31 สัญญา และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 9 สัญญา 

ขณะที่งานระบบ มีความก้าวหน้า 39.86% ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างด่านเก็บค่าผ่านทาง 9 ด่าน ส่วนงานก่อสร้างที่พักริมทาง 15 แห่ง ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ คาดว่า จะเริ่มก่อสร้างในเดือนมิถุนายน 2568 และจะเปิดให้บริการบางส่วนได้ในช่วงเดือนมิถุนายน 2569 

ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะเปิดให้บริการตลอดเส้นทาง โดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางภายในปี 2568 ก่อนจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2569 ต่อไป

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ยังได้สั่งการให้ ทล. เร่งก่อสร้างมอเตอร์เวย์ M6 ช่วงหินกอง - ปากช่อง ระยะทาง 87 กม. ซึ่งเป็นช่วงที่การจราจรบนถนนมิตรภาพที่มีความหนาแน่น โดยตั้งเป้าหมายจะเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ที่จะถึงนี้ โดยในระยะแรก จะเปิดให้บริการ 1 ฝั่งจราจร 

ทั้งนี้ การเปิดให้บริการมอเตอร์เวย์ M6 เพิ่มเติมในช่วงหินกอง - ปากช่องนั้น จะทำให้ประชาชนสามารถใช้บริการมอเตอร์เวย์ M6 รวมระยะทางประมาณ 164 กม. จากที่ในปัจจุบัน ทล. ได้เปิดให้ประชาชนได้บริการแล้ว ตั้งแต่ช่วงอำเภอปากช่อง - ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ระยะทาง 77 กม. 

อย่างไรก็ตาม การเปิดให้บริการมอเตอร์เวย์ M6 นั้น จะช่วยเพิ่มทางเลือก และอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน อีกทั้งยังแบ่งเบาการจราจรหนาแน่นบนถนนมิตรภาพ ที่ในช่วงเทศกาลต่างๆ  จะมีประชาชนใช้เส้นทางดังกล่าว เดินทางไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยว ตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย

'กฤชนนท์' ลงพื้นที่สายสีแดงจัดแผน 'เพิ่มรถสาธารณะ-จุดจอดรถ' แย้ม!! นโยบายรถไฟฟ้า 20 ตลอดสาย หนุนผู้ใช้บริการพุ่งเกินคาด

(25 มิ.ย. 67) นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคมและโฆษกกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการผลักดัน นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรองนายกรัฐมนตรี โดยนำร่อง 2 โครงการ คือ 

1.โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จำนวน 10 สถานี และช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน 4 สถานี

2. โครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ จำนวน 16 สถานี ซึ่งขณะนี้มีประชาชนเข้าใช้บริการเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

โดยจากการลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีรังสิต โดยได้มีการเจรจากับประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ระบบขนส่งเสริม หรือ Feeder System ยังไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน โดยเฉพาะด้านของรถสาธารณะ และสถานที่จอดรถยนต์บริเวณสถานี ซึ่งขณะนี้ทุกหน่วยงานได้จัดทำแผนและเตรียมดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

นายกฤชนนท์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ทางหน่วยงาน กรมการขนส่งทางบก ได้จัดเตรียมแผนเพิ่มจำนวนการเดินรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะ โดยจะเข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกจังหวัดปทุมธานี ภายในช่วง กรกฎาคม 2567 โดยจากแผนเบื้องต้น จะให้เอกชนเดินรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะเพิ่มอีก 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 วงกลมรังสิต / เส้นทางที่ 2 รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต / เส้นทางที่ 3 รังสิต-โรงพยาบาลกรุงสยามเซนต์คาร์ลอส และเส้นทางที่ 4 รังสิต คลอง 7 และเตรียมเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป 

จากปัจจุบันนี้ที่มีรถโดยสารสองแถวขนาดเล็ก สีแดง และสีเขียว จำนวน 4 เส้นทาง วิ่งให้บริการตั้งแต่เปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง ได้แก่ เส้นทาง 6188 รังสิต-จารุศร / เส้นทาง 1008 รังสิต-อำเภอหนองเสือ / เส้นทาง 1116 รังสิต-สถานีรถไฟเชียงราก และเส้นทาง 381 รังสิต-องครักษ์ 

นอกจากนี้ทางหน่วยงาน รฟท. ยังมีแผนที่จะปรับปรุงพื้นที่ เพื่อให้มีสถานที่จอดรถเพิ่มเป็น 200-300 คัน จากปัจจุบันที่สามารถจอดได้ 100 คัน พร้อมทั้งเร่งดำเนินการพัฒนาแผนการก่อสร้างเป็นอาคารจอดรถยนต์เพิ่มเติมต่อไป

‘สุริยะ’ อัปเดตความคืบหน้า ‘รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย’ ปักธง!! เข็น ‘ทุกสี-ทุกสาย’ เข้าร่วมภายในเดือน ก.ย.68

(28 มิ.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ยืนยันว่านโยบายนี้จะแล้วเสร็จ รถไฟฟ้าทุกสีทุกสายจะมีค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสายตามเป้าหมายในเดือน ก.ย. 2568

ทั้งนี้ในปัจจุบันกระทรวงฯ อยู่ระหว่างเจรจากับเอกชนคู่สัญญา และผลักดันพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อให้มีผลในการปรับโครงสร้างและบูรณาการรถไฟฟ้าทุกโครงการ

"การปรับลดราคาค่าโดยสารนั้น รัฐบาลยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อสัญญาสัมปทาน เพราะรัฐบาลจะจัดหาวงเงินชดเชยรายได้ที่หายไป" นายสุริยะ กล่าว

ขณะเดียวกันในปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางจัดหาเงินชดเชย คาดว่าจะจัดตั้งเป็นกองทุนตั๋วร่วมที่นำเงินมาจากหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล และรายได้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

ส่วนผลการศึกษาเบื้องต้น คาดว่าจะจัดใช้วงเงินชดเชยประมาณ 8 พันล้านบาทต่อปี โดยหากปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ปริมาณจ่ายเงินชดเชยก็จะลดลงอย่างต่อเนื่อง 

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงฯ อยู่ระหว่างผลักดันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกเส้นทางให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายในปี 2568

จากข้อมูลการศึกษาล่าสุด มั่นใจว่าในช่วงกลางปี 2568 จะสามารถนำรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้ว 3 สายในปัจจุบัน เข้าร่วมนโยบายดังกล่าว ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง
เนื่องจากทั้ง 3 โครงการดังกล่าว อยู่ภายใต้การดูแลของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สามารถเจรจากับเอกชนคู่สัญญาและปรับลดราคาค่าโดยสารได้ ซึ่งทางภาครัฐจะจัดหาเงินชดเชยรายได้ที่หายไป โดยไม่ให้กระทบต่อสัญญาสัมปทาน

“ขณะนี้รถไฟฟ้าที่พร้อมจะปรับราคาตามนโยบาย 20 บาทตลอดสาย จะเป็นรถไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้การกำกับของ รฟม. ส่วนรถไฟฟ้าสายอื่นที่มีสัญญาสัมปทาน เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียว ก็คงต้องรอให้ พรบ.ตั๋วร่วมมีผลบังคับใช้ จะมีผลในการปรับโครงสร้างราคาค่าโดยสาร ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลภายในปี 2568” นายสุริยะ กล่าว

สำหรับปัจจุบันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เริ่มใช้ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยจากข้อมูลตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 จนถึงวันที่ 31 พ.ค.2567 หรือประมาณ 7 เดือนครึ่ง พบว่า ปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยรวม 2 สาย 20.86 ล้านคน เพิ่มขึ้น 17.94%

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 (16 ต.ค.2565-31 พ.ค.2566) ซึ่งผู้โดยสารอยู่ที่ 17.68 ล้านคน โดยสายสีแดง ผู้โดยสาร 6.21 ล้านคน เพิ่มขึ้น 27.61%

นอกจากนี้สายสีม่วง ผู้โดยสาร 14.29 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11.53% ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้บริการ ส่งผลให้การสูญเสียรายได้ของทั้ง 2 สายลดลงจากที่คาดการณ์ว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี

‘สุริยะ’ ตั้งเป้ายกระดับ ‘ไทย’ สู่ศูนย์กลางการบินในอาเซียน พร้อมดันสนามบินไทยติด 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก

เมื่อวานนี้ (3 ก.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานและกล่าวงาน Dinner Talk เนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี การดำเนินงาน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) โดยมี นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน โดยมี พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการ ทอท. นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ให้การต้อนรับ

นายสุริยะกล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ Thailand Vision โดยมุ่งพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน และตั้งเป้าประเทศไทยจะก้าวไปเป็นที่ 1 ของภูมิภาค โดยยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) นั้น รัฐบาลจะใช้ศักยภาพและทรัพยากรของประเทศไทยที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทุกด้านเพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจ เนื่องจากประเทศไทยมีขนาดพื้นที่เป็นอันดับที่ 50 ของโลก แต่มีผู้เดินทางจากทั่วทุกมุมโลกมาเยือนอยู่ในอันดับที่ 8 ของโลก

ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2567 (เดือนตุลาคม 2566-พฤษภาคม 2567) ฟื้นตัวจนเกือบจะเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยมีผู้โดยสารรวม 81.05 ล้านคน ฟื้นตัว 83.4% เมื่อเทียบกับช่วงปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด-19) แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 48.95 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 32.09 ล้านคน ฟื้นตัว 80% ขณะที่มีเที่ยวบินรวม 490,970 เที่ยวบิน ฟื้นตัว 80.9% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 274,410 เที่ยวบิน ฟื้นตัว 83.5% และเที่ยวบินภายในประเทศ 216,560 เที่ยวบิน ฟื้นตัว 77.9% โดยในอีก 5 ปี (ปี 2572) คาดว่าทั้ง 6 สนามบินจะมีผู้โดยสารประมาณ 170 ล้านคน และมีเที่ยวบินประมาณ 1 ล้านเที่ยวบิน และในอีก 10 ปี (ปี 2577) คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 210 ล้านคน และมีเที่ยวบินประมาณ 1.2 ล้านเที่ยวบิน

นายกีรติกล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารอินเดีย, ยุโรป และอเมริกา มีจำนวนสูงกว่าเมื่อปี 62 ไปแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการบินฟื้นตัวกลับมา แต่ยังรอผู้โดยสารจีน ซึ่งขณะนี้กลับมาประมาณ 65% เทียบจากก่อนโควิด ส่วนอีก 35% คาดว่าจะกลับมาในปี 68 ซึ่งจะทำให้ปริมาณผู้โดยสารในภาพรวมกลับมาที่ 140 ล้านคนต่อปีเท่ากับปี 62

นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพของสนามบินให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า ล้านคนต่อปี เพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน จึงต้องเร่งดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานให้มีความพร้อมรองรับการเดินทางในอนาคต โดยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่มีผู้โดยสารมาใช้บริการมากที่สุดกว่า 40 ล้านคน อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดโครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) คาดว่าจะเพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารได้อีก 81,000 ตารางเมตร และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดให้บริการทางวิ่งเส้นที่ 3 ในช่วงเดือน ก.ย. 2567 ทำให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น จาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

ได้วางแผนดำเนินโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันตก (West Expansion) โครงการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (Satellite 2 : SAT-2) โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) และโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 เมื่อทุกโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่า ทสภ.จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

นายกีรติกล่าวว่า “จากการดำเนินการของ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานเชียงใหม่ที่ผ่านมาในช่วงระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม 66-30 มีนาคม 67 เทียบกับช่วงก่อนดำเนินการ (ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม 65-25 มีนาคม 66) สามารถบริหารจัดการเที่ยวบินได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยดอนเมืองสามารถเพิ่ม slot เที่ยวบินจากเดิม 50 เที่ยวบิน เป็น 57 เที่ยวบิน ทำให้ผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 12% รายได้เพิ่มขึ้น 520 ล้านบาท” 

“ส่วน ทภก.สามารถเพิ่ม slot เที่ยวบินจากเดิม 20 เที่ยวบิน เป็น 25 เที่ยวบิน ทำให้ผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 18% รายได้เพิ่มขึ้น 640 ล้านบาท และ ทชม.ซึ่งได้ขยายระยะเวลาในการเปิดให้บริการเป็น 24 ชั่วโมง ทำให้มีผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 5% และมีรายได้เพิ่มขึ้น 80 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าหากเปิดใช้งานทางวิ่งเส้นที่ 3 ทสภ.จะทำให้ในปี 68 มีเที่ยวบินเพิ่มเป็น 75 เที่ยวบิน มีรายได้ 4,718.24 ล้านบาท ปี 69 จะมีเที่ยวบิน 85 เที่ยวบิน มีรายได้ 8,561.54 ล้านบาท และปี 70 จะมีเที่ยวบิน 94 เที่ยวบิน และมีรายได้ 9,090.52 ล้านบาท” 

'คกก.' ไฟเขียว!! ขายเหล้า 5 วันพระใหญ่ ใน 6 สนามบินได้ เชื่อ!! กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วน 'สถานีรถไฟ-ในขบวน' รอพิจารณา

(5 ก.ค. 67) คกก. นโยบายฯ เห็นชอบ ให้ท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทอท. จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันห้ามขายได้ ส่วนสถานีรถไฟให้ทบทวนมาตรการป้องกันควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกครั้ง

คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ประชุมเข้มเรื่องการขอยกเว้นสำหรับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันห้ามขาย ณ ท่าอากาศยาน และพิจารณาแนวทางการขอยกเว้นสถานที่ หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในบริเวณสถานีรถไฟ

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ที่รัฐสภา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 3/2567โดยมี นายแพทย์อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค คณะผู้บริหารกรมควบคุมโรค และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายสุริยะ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ได้ร่วมกันพิจารณาในประเด็น หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า ซึ่งระยะเวลาในการออกประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นี้ จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 หลังจากนี้จะต้องนำไปแจ้งเวียนประเทศสมาชิก WTO อย่างน้อย 60 วัน หากพิจารณาแล้วเห็นว่าเนื้อหาในร่างประกาศมีผลบังคับใช้กับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการ จำเป็นต้องพิจารณาร่างประกาศด้วยความละเอียดรอบคอบ มีหลักฐานทางวิชาการและวิทยาศาสตร์สนับสนุนด้วย

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันห้ามขาย ณ ท่าอากาศยานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต หาดใหญ่ ได้มีการพิจารณาเห็นชอบ ให้ปรับปรุงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 คือ วันอาสาฬหบูชา วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ให้สามารถจำหน่ายได้ ในอาคารอากาศยานนานาชาติ เพื่อให้เกิดการใช้จ่าย สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และเป็นการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศ

ในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ขอพิจารณาแนวทางการขอยกเว้นสถานที่ หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในบริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถที่อยู่บนทางรถไฟ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศนั้นได้ให้ คกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับ รฟท.หารือแนวทางและมาตรการควบคุมป้องกันด้านสาธารณสุขและการท่องเที่ยว และร่างกฎหมายส่งให้ คกก.นโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ พิจารณาถึงความเหมาะสมและผลกระทบ ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจและผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนต่อไป

นอกจากนี้ ที่ยังได้มีมติเห็นชอบ ร่างคำสั่งคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการจัดหาหรือจัดตั้งกองทุนเพื่อการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้มีปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ต้องการเข้ารับการบำบัดรักษาเพื่อการเลิกดื่ม สามารถเข้าสู่ระบบบำบัดรักษา และเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย

นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้วันเข้าพรรษาของทุกปีเป็น ‘วันงดดื่มสุราแห่งชาติ’ ในปีนี้ กรมควบคุมโรค ได้จัดกิจกรรมรณรงค์วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ประจำปี 2567 ขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม 2567 ณ บริเวณลานหน้าห้อง MCC Hall ชั้น 4 เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน จังหวัดนนทบุรี ภายใต้ธีมงาน ‘หยุดเหล้า หยุดอันตรายต่อผู้อื่น (Stop Alcohol Stop Harm to Other) ’ โดยมุ่งเน้นรณรงค์ในกลุ่มเด็กเยาวชน และผู้หญิง เพื่อให้เยาวชนรุ่นใหม่ ตระหนักถึงอันตรายของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกระตุ้นให้เกิดการลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมมีกิจกรรม ‘เชิญ ชวน เชียร์ ลด ละ เลิกเหล้า เข้าสู่ระบบบำบัดรักษา’ ด้วยการลงนาม ผ่านระบบออนไลน์ ผ่าน QR Code หรือเว็บไซต์www.noalcohol.ddc.moph.go.th เพื่อร่วมงดเหล้าในช่วงเข้าพรรษาตลอดระยะเวลา 3 เดือน นำสู่การเลิกเหล้าตลอดชีวิต”

‘สุริยะ’ นำชาวคมนาคมร่วมโครงการ ‘คมนาคมร้อยดวงใจ เทิดไท้องค์ราชัน’ มอบทุนการศึกษา-บริจาคโลหิต ถวาย ‘ในหลวง’ เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

(24 ก.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ข้าราชการและพนักงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมทั้ง 22 หน่วยงาน ได้พร้อมใจกันจัดทำโครงการ ‘คมนาคมร้อยดวงใจ เทิดไท้องค์ราชัน’ ถวายพระพรชัยมงคล และถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน 

โดยได้มอบธงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติให้กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ประกาศเจตจำนงการบรรลุเป้าหมายในการบริจาคโลหิตร่วมกันของบุคลากรกระทรวงฯ รวมทั้งสิ้น 2 ล้านซีซี ถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมอบทุนการศึกษา จำนวน 172 ทุน ให้กับนักเรียนในโรงเรียนบริเวณรอบท่าเรือกรุงเทพ เพื่อเพิ่มโอกาสและสร้างขวัญกำลังใจให้กับเยาวชน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการสร้าง และพัฒนาสังคม รวมถึงประเทศชาติที่ยั่งยืนในอนาคตต่อไป

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ผู้บริหารและพนักงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมมีความปลาบปลื้มปีติเป็นล้นพ้นที่ได้มาร่วมกันแสดงออกถึงความจงรักภักดี ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อมอย่างหาที่สุดมิได้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ ด้วยพระราชวิริยะอุตสาหะทรงดำรงพระองค์เป็นแบบอย่างแก่ข้าราชการทั้งปวงในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขของปวงประชา ซึ่งข้าราชการและพนักงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมทุกคนจักได้น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติตามให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เพื่อสนองพระราชปณิธานด้วยความจงรักภักดีสืบไป

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานในสังกัดได้ร่วมกันดำเนินโครงการคมนาคมร้อยดวงใจ เทิดไท้องค์ราชัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยในวันนี้ (24 ก.ค. 67) ผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงานในสังกัด รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้แทนสายการเดินเรือ ผู้ประกอบการ และประชาชนในชุมชนรอบพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ จำนวน 7,200 คน ได้รวมตัวกัน ณ บริเวณลานริมน้ำ อาคาร OB ท่าเรือกรุงเทพเพื่อร่วมกันแสดงความจงรักภักดีและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างพร้อมเพรียงกัน พร้อม ๆ กับข้าราชการและพนักงานหน่วยงานสังกัดกระทรวงฯ ในภูมิภาคทั่วประเทศ 

ซึ่งในโอกาสนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบธงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ ให้กับหัวหน้าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ และส่งต่อให้ส่วนราชการที่มีหน่วยงานในส่วนภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 72 ผืน พร้อมทั้งมอบทุนการศึกษา จำนวน 172 ทุน ให้กับนักเรียน จำนวน 6 โรงเรียน บริเวณรอบท่าเรือกรุงเทพ ประกอบด้วย โรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา โรงเรียนวัดคลองเตย โรงเรียนวัดสะพาน โรงเรียนสามัคคีสงเคราะห์ โรงเรียนไทยประสิทธิ์ศาสตร์ และโรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนไทยด้วย

ในโอกาสนี้ กระทรวงคมนาคมได้ร่วมสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดำเนินโครงการรวมน้ำใจบริจาคโลหิต ต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ โดยมีเป้าหมายในปี 2567 จำนวน 2 ล้านซีซี ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นมา มีผู้บริหารและบุคลากรของกระทรวงฯ ได้ร่วมกันบริจาคโลหิตไปแล้วมากกว่า 1.4 ล้านซีซี ในวันนี้จึงได้มอบป้ายประกาศเจตจำนงการบริจาคโลหิตของกระทรวงคมนาคมให้กับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติเพื่อเป็นการกำหนดเป้าหมายร่วมกันและเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2567 บุคลากรของกระทรวงคมนาคมจะรวมใจกันบริจาคโลหิตจนครบ 2 ล้านซีซี เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดี ๆ ในการเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ที่จำเป็นต้องใช้โลหิตและนำไปช่วยชีวิตผู้ป่วยทั่วประเทศต่อไป

'สุริยะ' ชวน 'ญี่ปุ่น' ลงทุนรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย พร้อมดึงร่วมพัฒนาระบบ AGT 'สายสีน้ำตาล-เทา-สีเงิน'

เมื่อวานนี้ (13 ส.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้การต้อนรับ นายโอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย พร้อมคณะ เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง ณ ห้องรับรอง กระทรวงคมนาคม โดยได้หารือถึงความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยและหน่วยงานในประเทศญี่ปุ่น พร้อมติดตามความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า วันนี้ได้มีโอกาสหารือในประเด็นการขอรับความช่วยเหลือด้านการซ่อมบำรุงรถไฟสายสีแดงจากญี่ปุ่น โดยให้ความสนใจกับกลุ่มบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านรถไฟที่มีชื่อเสียงด้านการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง การบำรุงรักษาที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย อีกทั้งได้เชิญชวนญี่ปุ่นพิจารณาร่วมลงทุนในโครงการส่วนต่อขยายรถไฟสายสีแดง ซึ่งปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดและเอกสารที่เกี่ยวข้องสำหรับส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ได้แก่ 

1) บางซื่อ - พญาไท - มักกะสัน - หัวหมาก และบางซื่อ - ห้วยลำโพง 
2) รังสิต - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
และ 3) ศิริราช - ตลิ่งชัน - ศาลายา เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งเมื่อกระบวนการเสร็จสิ้นจะเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมรถไฟของญี่ปุ่นในการพิจารณาลงทุนก่อสร้างต่อไป 

นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ด้วยความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีระบบขนส่งมวลชนนำทางอัตโนมัติ (AGT) มาใช้กับรถไฟฟ้าสายสีทอง เราจึงมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความร่วมมือกับญี่ปุ่นในการต่อยอดเทคโนโลยีนี้ไปยังโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล, สายสีเทา และสายสีเงิน และขอขอบคุณญี่ปุ่นสำหรับความร่วมมือในโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะบางซื่อ ระหว่างองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองแห่งญี่ปุ่น (UR) กับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ซึ่งผลลัพธ์ของโครงการได้เน้นย้ำถึงความสำคัญการพัฒนาโครงการที่ผสมผสานการใช้ประโยชน์ที่ดินรอบสถานีขนส่ง (TOD) ในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน"

ในส่วนของความร่วมมือระหว่างกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) กับกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ภายใต้ความตกลงระหว่างกระทรวงคมนาคมไทย - ญี่ปุ่นด้านการจัดการจราจรและเทคโนโลยีทางถนนนั้น ที่ผ่านมาได้มีการหารือและการเยี่ยมชมพื้นที่ก่อสร้างต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระบบสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะ ระบบ SCADA (ระบบตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Real-Time) และโครงการก่อสร้างอุโมงค์และสะพาน โดยกระทรวงคมนาคมจะให้การสนับสนุนการศึกษาดูงานระหว่างกันอย่างต่อเนื่องต่อไป

'สุริยะ' มั่นใจ!! 'อุ๊งอิ๊ง' มุ่งมั่นทำงาน คนไทยฝากความหวังได้ เชื่อ!! บทเรียนในอดีตช่วยให้ไม่พลาด ส่วนอายุน้อยไม่ใช่ปัญหา

(16 ส.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวภายหลัง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้รับการโหวตจากสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า…

ต้องขอแสดงความยินดีกับนายกฯ คนใหม่ ซึ่งเป็นคนที่ 3 แล้วของคนในตระกูลชินวัตร น.ส.แพทองธารอยู่ในแวดวงการเมืองตั้งแต่สมัยที่ตนเป็นเลขาธิการพรรคไทยรักไทยแล้ว ซึ่งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไม่ว่าจะไปไหนก็จะพา น.ส.แพทองธารไปด้วย เชื่อว่า น.ส.แพทองธารได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการเมืองมานาน และตอนที่ น.ส.แพทองธาร มาเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็มีการสะสมประสบการณ์มาเรื่อย ๆ จึงคิดว่า เมื่อ น.ส.แพทองธารมารับตำแหน่งนายกฯ ในวันนี้ ได้รับเสียงโหวตจากสภาฯ และหลังจากได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ อย่างเป็นทางการ ก็เชื่อมั่นว่า น.ส.แพทองธารจะสามารถช่วยประเทศชาติได้หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ได้อย่างดี

ต่อคำถามที่ว่า แม้ น.ส.แพทองธารจะตามนายทักษิณมานาน แต่ด้วยอายุและประสบการณ์ยังน้อยเกินไปสำหรับการเป็นนายกฯ ที่จะมาบริหารประเทศ นายสุริยะ กล่าวว่า ยุคนี้เป็นยุคของคนรุ่นใหม่ อย่างนายกฯฝรั่งเศสก็อายุยังน้อย ฉะนั้น คนรุ่นใหม่มีความกระฉับกระเฉง โลกวันนี้ไม่ได้แข่งกันที่ความใหญ่ แต่มันแข่งกันที่ความรวดเร็ว โลกยุคใหม่ คนรุ่นใหม่ จะทำได้ดีมาก ตนเชื่อมั่นอย่างนั้น

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า มองอย่างไรที่คนมองว่า น.ส.แพทองธารอาจจะมีจุดจบทางการเมืองเหมือนกับพ่อและอา นายสุริยะ กล่าวว่า ตนไม่เชื่ออย่างนั้น แต่เชื่อว่า ถ้าตราบใดที่เรามีบทเรียนในอดีตอยู่แล้ว ที่ผ่านมามีความผิดพลาดอย่างไร แต่ต้องยอมรับว่า ในอดีตมันมีระบบที่เข้ามาพยายามทำลายระบอบประชาธิปไตย แต่ทุกครั้งเราก็กลับมาได้ ดังนั้น จึงเชื่อว่า จากบทเรียนที่ผ่านมา นายกฯ คนใหม่จะเอาบทเรียนในอดีตมาพิจารณา

ผู้สื่อข่าวถามซักต่อว่า เรื่องของดิจิทัลวอลเล็ต ไม่น่าห่วงสำหรับนายกฯ ใหม่ใช่หรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า โครงการนี้หลังจากฟอร์มรัฐบาลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางพรรคร่วมรัฐบาลจะมาดูกันอีกทีว่า จะดำเนินการกันอย่างไร 

ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มว่า ยังต้องรับฟังความคิดเห็นจากรัฐบาลอีกหรือ ในเมื่อให้ประชาชนลงทะเบียนไปแล้ว นายสุริยะ กล่าวว่า เนื่องจากตอนนี้มีการเปลี่ยนนายกฯ คนใหม่ พรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องมาคุยกันอีกครั้ง 

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ยืนยันว่าโครงการนี้จะไม่หยุดชะงักกลางคันใช่หรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า รอพรรคร่วมรัฐบาลคุยกันอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ประชาชนฝากความหวังกับนายกฯ คนใหม่ได้ใช่หรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า เชื่อว่า น.ส.แพทองธาร จะมุ่งมั่นและตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ในส่วนของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลทุกคนก็มั่นใจว่า น.ส.แพทองธาร จะทำหน้าที่ได้ดี ฉะนั้น มั่นใจว่า ประชาชนฝากความหวังไว้ได้

'สุริยะ' แจงปมแนวคิด 'ซื้อคืนรถไฟฟ้า-ลุยจ้างเอกชนเดินรถ' หวังให้รัฐมีอิสระในการกำหนดนโยบาย โดยเฉพาะ 20 บาทตลอดสาย

(26 ส.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแนวคิดการซื้อสัมปทานการบริหารโครงการรถไฟฟ้าจากภาคเอกชนคืนกลับมาเป็นของรัฐบาลว่า แนวคิดดังกล่าวกระทรวงคมนาคมได้ทำการศึกษาอยู่แล้ว โดยศึกษาจากต่างประเทศหลาย ๆ ประเทศ เพื่อให้รัฐบาลสามารถควบคุมอัตราค่าโดยสาร สอดคล้องนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรัฐบาลที่ต้องการลดค่าครองชีพด้านการเดินทางให้กับประชาชน

ทั้งนี้ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ยึดสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าโดยไม่คำนึงถึงสัญญาที่จัดทำไว้กับเอกชน ผู้ประกอบการแต่อย่างใด โดยจะยึดถือสัญญาที่ได้ทำไว้กับเอกชนเป็นหลัก แต่ยังเป็นเพียงแนวคิดที่รัฐบาลอาจจะพิจารณาถึงแนวทางความเป็นไปได้ในการซื้อ คืนระบบการเดินรถที่เอกชนได้ลงทุนไป รวมถึงสิทธิ์ในส่วนการให้บริการเดินรถตามสัญญาที่รัฐบาลได้ทำไว้กับเอกชนกลับคืนมา ซึ่งรัฐบาลจะยังคงจ้างเอกชนรายเดิมเป็นผู้เดินรถต่อไป อย่างไรก็ตาม จะทำให้รัฐบาลมีอิสระในการกำหนดนโยบายในเรื่องอัตราค่าโดยสาร และสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายได้โดยไม่กระทบกับสัญญาสัมปทานเดิม

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมเตรียมหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาถึงแนวทางที่จะสามารถดำเนินการผ่านการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) โดยยึดภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการดังกล่าว และนำรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ส่งเข้ากองทุนฯ ที่จะจัดตั้งขึ้น เพื่อสนับสนุนในการรณรงค์ให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น รวมถึงยังเป็นการแก้ปัญหาจราจรจิดขัดอีกด้วย

สำหรับรูปแบบการซื้อสัมปทานการบริหารโครงการรถไฟฟ้านั้น จะเจรจาร่วมกับเอกชนเพื่อปรับสัญญาสัมปทานจากรูปแบบ PPP Net Cost หรือเอกชนได้รับสิทธิ์ในการลงทุน ระบบเดินรถ และให้บริการเดินรถ พร้อมทั้งเป็นผู้จัดเก็บรายได้ รวมถึงจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลงในสัญญา โดยเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบ PPP Gross Cost ที่ภาครัฐเป็นผู้จัดเก็บรายได้เองทั้งหมด และรัฐชดเชยค่าใช้จ่ายลงทุนระบบเดินรถใน ส่วนที่เอกชนได้ลงทุนไปในระบบเดินรถคืนให้บริษัทเอกชนคู่สัญญาและรัฐจะจ้างเอกชนคู่สัญญารายเดิมเป็นผู้ให้บริการเดินรถจนกว่าสัญญาสัมปทานเดินจะสิ้นสุดลง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะไม่กระทบกับสัญญาของเอกชนอย่างแน่นอน

“ข้อเท็จจริงของแนวคิดเป็นเพียงต้องการจะสื่อให้เห็นว่า เป็นการทำเพื่อแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน โดย ประชาชนจะได้รับบริการรถไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง สอดคล้องกับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในทุกสีทุกเส้นทาง และเมื่อราคาค่าโดยสารถูกลง มั่นใจว่า จะมีผู้โดยสารมาใช้มากขึ้น ดังเช่น สายสีแดง และสายสีม่วงที่ได้มีการลดราคาไปแล้ว ซึ่งก็จะทำให้ส่งผลถึงสภาพการจราจรในถนนตามแนวเส้นทางนั้น ๆ ก็จะติดขัดน้อยลง โดยผมขอยืนยันอีกครั้งว่า ไม่ได้เป็นการยึดสัมปทานคืนจากเอกชนแต่อย่างใด แต่เป็นการซื้อคืนระบบเดินรถและสิทธิ์การเดินรถ แล้วจ้างเดินรถ โดยเปลี่ยนสัญญาจากรูปแบบ PPP Net Cross เป็น PPP Gross Cost ซึ่งประชาชนได้ประโยชน์ ผมอยากสร้างความเชื่อมั่นว่า เราไม่ได้ไปยึดสัมปทาน อาจจะมีการตีความผิด เพราะถ้าพูดแบบนั้น ต่อไปใครจะกล้าเข้ามาลงทุนกับรัฐอีกในอนาคต” นายสุริยะ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top