Tuesday, 20 May 2025
สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์สำหรับทุกคน

คติประจำใจจาก "Anthony J. D'Angelo" (นักพูด และนักเขียนชาวอเมริกัน)

“Develop a passion for learning. If you do, you will never cease to grow.”

“จงพัฒนาความหลงใหลในการเรียนรู้ เพราะถ้าหากคุณทำได้ คุณจะไม่มีวันหยุดพัฒนา”


- Anthony J. D'Angelo (นักพูด และนักเขียนชาวอเมริกัน)

เปิดรายละเอียดการจัดตั้ง “โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร” ภายใต้แนวคิด “ให้เพื่อสร้าง” เพื่อเป็นโรงพยาบาลวิจัยนวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรครั้งแรกของประเทศไทย และอาเซียน

ปัจจุบันแม้ประเทศไทยจะมีคณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ ล่าสุดสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. เป็นอีกสถาบันที่มีแผนจัดตั้งโรงพยาบาลอีกแห่งในประเทศไทยขึ้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะ ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ได้เล่าถึงการจัดตั้งคณะแพทย์ศาสตร์ ของ สจล. ผ่านหนังสือ “คิดต่างสร้างการเปลี่ยนแปลง” ไว้ว่า

“หมอที่ประสบความสำเร็จในอนาคตต้องเก่งทั้งศาสตร์และศิลป์ ข้อหนึ่งที่เรายังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากความเก่งของนักศึกษาแพทย์ได้เต็มที่ก็คือ จริง ๆ คนที่จะเข้ามา เรียนหมอ คือ เด็กที่ได้ที่หนึ่งคณิตศาสตร์ ที่หนึ่งฟิสิกส์ พอมาเรียนกลับไม่ได้ใช้วิชาพวกนี้ พอเรียนจบออกไปก็รักษาคน แต่หมอในอนาคตต้องดีลกับเครื่องมือแพทย์ใหม่ ๆ ชิ้นหนึ่งราคาเป็นล้าน ๆ แล้วต้องซื้อทุกชิ้น เข็มฉีดยาก็ต้องซื้อ แล้วจะให้วิศวกรไปทำอุปกรณ์ทางการแพทย์ เขาก็ไม่เข้าใจ ทำไมไม่เอาหมอที่เก่งทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ไปต่อยอดสร้างองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรม คิดดูว่าประเทศไทยจะลดการนำเข้า ประหยัดงบประมาณทางสาธารณสุขได้กี่ล้านล้านบาท นี่คือความแตกต่างของคณะแพทยศาสตร์ ลาดกระบัง กับคณะแพทย์ที่อื่น ๆ”

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ เห็นว่า การเปิดคณะแพทยศาสตร์ ถือเป็นการช่วยสังคม ช่วยชีวิตคน และสามารถต่อยอดเป็นโรงพยาบาลได้ นั่นคือ “โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร” (KMC Hospital) ที่ไม่ใช่แค่ศูนย์การแพทย์เท่านั้น แต่เพื่อนำไปสู่ “โรงพยาบาลวิจัย” ในอนาคต รวมทั้งคณะแพทยศาสตร์ สจล. ที่นอกจากเชี่ยวชาญด้านการรักษา ยังต้องมีความเป็นนักวิจัยที่สามารถพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ และเรียนรู้ความเป็นสากล สู่การเป็น “หมอพันธุ์ใหม่” ที่เข้าใจบริบทการแพทย์ทั่วโลก และมีทักษะของศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) ความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ตลอดจนทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง

ทั้งนี้ “แพทย์” จึงเป็นอาชีพของโลก เพราะไม่ได้เป็นเพียงแพทย์ที่แค่จบการศึกษา หรือเป็นแพทย์ที่รักษาแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่สามารถเป็นหมอที่อื่นได้ทั่วโลก ที่มีความรู้รอบทั้งด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และความรู้สมัยใหม่ของโลก เพื่อให้เป็นแพทย์ที่ก้าวทันโลกยุคใหม่ และมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการรักษาโรคได้ด้วย

เพราะปัจจุบันประเทศไทย ต้องเสียเงินให้กับต่างชาตินับหลายหมื่นล้านบาท ในการซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เข้ามาใช้งาน ซึ่งหากแพทย์ของเรามีความรู้ และสามารถสร้างเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ ไม่ใช่แค่ลดการสูญเสียเงินให้กับต่างประเทศ แต่ยังได้เครื่องมือแพทย์ในราคาที่ถูกลง และมีประสิทธิภาพตามหลักการแพทย์แล้ว สิ่งเหล่านี้ยังได้ชื่อว่าเป็นนวัตกรรมและฝีมือของคนไทย เป็นความภาคภูมิใจ และสามารถสร้างรายได้กลับมาในอนาคตอีกด้วย

ดังนั้น แผนการจัดตั้ง “โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร” (KMC Hospital : King Mongkut Chaokhun Thahan Hospital) ภายใต้แนวคิด “ให้เพื่อสร้าง” เพื่อเป็นโรงพยาบาลวิจัยนวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรครั้งแรกของประเทศไทย และอาเซียน ที่พร้อมดูแลรักษาผู้ป่วย และเป็นศูนย์วิจัยเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ สร้างศูนย์รวมนวัตกรรม และสร้างองค์ความรู้ด้านเครื่องมือแพทย์ ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้หลากสาขา เพื่อผู้สูงอายุ คนพิการ รองรับวิกฤตสุขภาพ โรคระบาด หลังพบข้อจำกัดด้านการขาดโอกาสเข้าถึง ขาดแคลนนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงการลดการพึ่งพิงต่างชาติ


ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ: https://www.hfocus.org/content/2021/03/21316

คติประจำใจจาก "Arthur Ashe" นักเทนนิสผิวสีแชมป์แกรนด์สแลมคนแรก

“Start where you are. Use what you have. Do what you can.”

"จงเริ่มจากจุดที่คุณยืนอยู่ จงใช้ในสิ่งที่คุณมี และจงทำในสิ่งที่คุณสามารถทำได้"


Arthur Ashe (นักเทนนิสผิวสีแชมป์แกรนด์สแลมคนแรก)

หนุ่มหล่อมากความสามารถ! ‘โต๋ ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร’ ทั้งหน้าหล่อ เสียงเพราะ เล่นดนตรีเก่ง แถมยังเรียนดีจนคว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 มาครอง เรียกว่าเก่งครบทุกด้าน ชายในฝันของแท้

‘โต๋ ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร’ หนุ่มมากความสามารถในด้านงานเพลง ทั้งร้องเพลง และเล่นเครื่องดนตรีได้หลากหลายชิ้น รวมถึงชิ้นที่เด่นสุดก็คือเปียโน ถือว่าเป็นหนุ่มที่ดูดีมีเสน่ห์เวลาอยู่บนเวทีมาก ๆ และอีกมุมหนึ่งโต๋เป็นอีกคนที่เรียนเก่ง เพราะตอนที่เรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สามารถคว้า เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง จากคณะบริหารธุรกิจ เอกบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ มาครองได้สำเร็จ


ที่มา: https://www.sanook.com/campus/1262457/

เรื่องที่คนเก่งควรรู้ ก่อนตกหลุมพราง ฝึกเข้าใจคน พื้นฐานสำคัญในการนำไปสู่ความมั่นคง ความสำเร็จ และความสุขอย่างแท้จริง

ทุกวันนี้มีแต่คน อยากเป็นคนรวย อยากเป็นคนเก่ง และอยากเป็นคนประสบความสำเร็จ แต่น้อยนักที่จะมีคน อยากเป็นคนที่เข้าใจคน แปลกไหม ทั้งๆ ที่การเข้าใจคน คือพื้นฐานสำคัญในการนำไปสู่ความมั่นคง ความสำเร็จ และความสุขอย่างแท้จริง

ศาสตร์ของการพัฒนาคนมีให้ศึกษาอยู่ทั่วไป แต่ละแนวคิดมีปรัชญาที่น่าสนใจแตกต่างกันไป สำหรับผู้เขียนไปสะดุดหูกับปรัชญา “ขงจื้อ” ซึ่งเน้นในเรื่องการเข้าใจคน โดยใช้คุณธรรมนำชีวิต มาเป็นแก่นการสร้างความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตแบบยั่งยืน

ขงจื้อ ได้กล่าวไว้ว่า วิกฤตชีวิตเกิดขั้น 4 ช่วง ถ้าใครรู้เรื่องนี้จะเข้าใจชีวิตและบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างชาญฉลาด ถ้าพร้อมแล้ว มาดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง

• ช่วงแรก - ช่วงวัยรุ่น อายุ 13-25 ปี

ถ้าคนฝึกจิตมาดีแล้ว ย่อมไม่หมกมุ่นเรื่องกามารมณ์

ช่วงนี้เป็นช่วงฮอร์โมน กำลังพลุ่งพล่าน เสี่ยงต่อการหลงผิด คิดผิด พูดผิด ทำผิด ถ้ารู้ไม่เท่าทันก็อาจถูกกระแสสังคมชักจูงได้ง่าย เช่น คิดว่าการเสพยาเสพติดเป็นเรื่องเท่ การมีเพศสัมพันธ์กับหลายคนเป็นเรื่องธรรมดา หรือมีความคิดว่าการทำเรื่องผิดศีลธรรมได้เป็นเรื่องธรรมดา ใครๆ ก็ทำกัน ต้องคอยระมัดระวังในการคบเพื่อน และการเสพสื่อต่างๆ ควรคัดกรองให้ดีเสียก่อน

• ช่วงที่สอง - ช่วงวัยทำงาน อายุ 25 - 40 ปี

ถ้าคนฝึกจิตมาดีแล้ว ย่อมหลีกเลี่ยงการทะเลาะกับผู้อื่น

ช่วงนี้เป็นช่วงความคิดกำลังพลุ่งพล่าน มีความมั่นใจในตัวเองสูง ใช้ศักยภาพที่มี มุ่งสู่เป้าหมายในชีวิต มีความทะเยอทะยาน อยากได้อยากมีสูง เสี่ยงต่อการทะเลาะเบาะแว้ง ขัดแย้งกับบุคคลรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือคนในครอบครัว ทำให้มีความสัมพันธ์ไม่ดีกับผู้อื่น และอาจนำไปสู่ความหลงผิดคิดสบายทางลัด คิดกลโกง การแย่งชิงในรูปแบบต่าง ๆ ทิฐิมานะ กิเลส ตัณหา ความโกรธ เข้ามาในชีวิตได้ง่าย พยายามคิดบวก รักษาศีล ฝึกสมาธิ รักษาใจให้ดีเข้าไว้ อย่าให้ไหลไปกับอารมณ์และความคิดลบ

• ช่วงที่สาม - ช่วงวัยกลางคน อายุ 40 - 55 ปี

คนที่ฝึกจิตมาดีแล้ว ย่อมสามารถสร้างความสำเร็จในอาชีพ เพื่อความมั่นคงในชีวิต

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องพัฒนาตัวเอง ทุกมิติ ใช้สติและความรอบคอบ ใช้การบริหารจัดการเชิงระบบ ทบทวนตัวเอง เพื่อการแก้ไขข้อผิดพลาด มุ่งเรื่องการสร้างความมั่นคงแก่ครอบครัว เพื่อให้สังคมยอมรับ เมื่อทำงานหนัก ก็จะเกิดความเครียด จึงเสี่ยงต่อการใช้ชีวิตที่ขาดสมดุล เช่น อาจทำงานจนลืมสุขภาพ ทำงานจนลืมครอบครัว ทำงานจนลืมสังคมเพื่อนฝูง มีปัญหาครอบครัวแตกแยก ช่วงนี้จึงต้องใส่ใจสุขภาพร่างกายเป็นพิเศษ ในขณะเดียวกันก็ต้องบาลานซ์ เรื่องงานกับครอบครัวให้สมดุลควบคู่ไปด้วย

จากสถิติ ช่วงวัยนี้จะมีปัญหาสุขภาพจิต และนำไปสู่การนอกใจ และมีปัญหาหย่าร้างมากที่สุด ผู้หญิงเข้าสู่วัยทอง ส่วนผู้ชายก็เข้าสู่การแปรปรวนทางอารณ์ ทั้งคู่จึงตกอยู่ในสภาวะ “วิกฤตวัยกลางคน” ถ้ารู้ไม่เท่าทัน ก็หาทางออกแบบผิดๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาครอบครัวในรูปแบบต่าง ๆ

• ช่วงที่สี่ - ช่วงสูงวัย อายุ 55 ปีขึ้นไป

คนที่ฝึกจิตมาดี ย่อมเป็นที่เคารพนับถือ สามารถรักษาทรัพย์ที่หามาได้ และส่งต่อให้แก่ลูกหลาน

ช่วงนี้เป็นช่วงที่ควรทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ปล่อย ๆ วาง ๆ ใช้ชีวิตให้มีความสุขโดยไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน วางตัวควรค่าต่อการเคารพนับถือ และเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตแก่ลูกหลาน ช่วยเหลือ ให้แง่คิดมุมมองที่ดี

“ขงจื้อ” ได้กล่าวไว้ว่า ไม่ต้องกังวลว่าใครจะไม่เคารพนับถือเรา แต่ให้หันมาดูในสิ่งที่เรากำลังทำ ว่าควรค่าต่อการเคารพนับถือหรือไม่ ช่วงนี้ก็พยายามทำใจ ลดละเลิก ปล่อยวาง ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย คบเพื่อนให้น้อยลง เลือกทำในสิ่งที่มีความสุข ที่สำคัญความสุขของเราต้องไม่ทำให้ใครเดือดร้อน

จะเห็นได้ว่าการฝึกจิตให้นิ่ง มีสติ จะช่วยให้เราสามารถ ใช้ความรู้คู่คุณธรรม นำชีวิตสู่ความเจริญอย่างยั่งยืนได้

แต่ให้เข้าใจตรงกันนะคะว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร การศึกษาระดับไหน ยากดีมีจนเพียงใด ฝึกจิตมาดีแค่ไหน ก็มีสิทธิทำผิดพลาดกันทุกคน “เมื่อทำผิดพลาดก็ให้แก้ไขอย่าแก้ตัว” และ เมื่อมีการทำผิดครั้งต่อไป อนุญาตให้ผิดเรื่องใหม่ได้ แต่ห้ามทำผิดซ้ำเรื่องเดิม จะถือว่าเราไม่พัฒนา

ข่าวดีก็คือ ทุกคนสามารถสร้างความสุขและความสำเร็จในชีวิตได้เท่าเทียมกัน ด้วยการฝึกจิต

3 วิธีง่ายต่อการฝึกจิต

1.) ตั้งเป้าหมายชีวิต ในการรักษาศีล 5 อย่างตั้งใจ

2.) เป็นคนดี คิดดี พูดดี ทำดี ทำ 3 สิ่งนี้ด้วยหัวใจ

3.) ฝึกนั่งสมาธิ ให้จิตตื่นรู้ ทุกวัน

เห็นไหมคะ การใช้ชีวิตให้ดีไม่ใช่เรื่องยาก แต่คนส่วนมากไม่ค่อยทำ จงเริ่มต้นจากการเข้าใจคนค่ะ

.

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์

#Talktonitima


อ้างอิงข้อมูล: http://www.ci.au.edu/th/index.php/about/2015-08-24-11-58-20

วิกฤตโควิดทำร้านหนังสือในจีนปิดกิจการกว่า 1,500 แห่ง แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น กลับมีจำนวนร้านหนังสือ ‘เปิดใหม่’ มากกว่า 4,000 แห่งในปี 2020 ‘กรุงปักกิ่ง’ ครองแชมป์มีร้านหนังสือเปิดใหม่มากที่สุด

1.) วิกฤตโควิดทำให้ร้านหนังสือในจีนแบบมีหน้าร้าน ‘ปิด’ กิจการไปกว่า 1,500 แห่ง แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น กลับมีจำนวนร้านหนังสือ ‘เปิดใหม่’ มากกว่า 4,000 แห่งในปี 2020

2.) กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีนยังคงครองอันดับเมืองชั้นนำด้านร้านหนังสือของประเทศ มีร้านหนังสือเปิดใหม่ 639 แห่ง

3.) กรุงปักกิ่งจึงได้รับรางวัล ‘เมืองหลวงแห่งร้านหนังสือ’ ประจำปี 2020 มอบโดย...สมาคมผู้จัดจำหน่ายหนังสือและวารสารแห่งประเทศจีน และสถาบันวิจัยการพิมพ์เป่ยต้าว

4.) ปักกิ่งสมควรได้ตำแหน่งนี้จริงๆ เพราะร้านหนังสือส่วนใหญ่มีการปรับปรุงพัฒนาสินค้ารวดเร็วมาก ทั้งนี้เพราะมีหลังบ้านดี มีการสนับสนุนเชิงนโยบาย นำนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้

5.) ร้านหนังสือในปักกิ่งอีกกว่า 30 แห่ง ยังได้รับรางวัลร้านหนังสือที่มียอดขายและบริการยอดเยี่ยม และประยุกต์ใช้นวัตกรรมยอดเยี่ยมอีกด้วย

6.) ในช่วงวิกฤตโควิด ร้านหนังสือแบบมีหน้าร้านได้รับผลกระทบเต็มๆ เพราะค่าใช้จ่ายด้านการจัดการ มีต้นทุนค่าเช่าที่ แต่ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจหนังสือในจีนใช่ว่าจะเงียบเหงา เพราะร้านค้าหนังสือออนไลน์แข่งขันกันเข้มข้นมาก

7.) ด้วยเหตุนี้ ร้านหนังสือยุคนี้ต้องดำเนินควบคู่กันไปทั้งหน้าร้านและออนไลน์ กิจกรรมจำเป็นที่ต้องมีคือ การไลฟ์สตรีมมิ่ง เพื่อเพิ่มยอดขายและชดเชยรายได้ที่หายไปในช่วงวิกฤตโควิด

ขอบคุณภาพและข้อมูล จาก...China sees growth in bookstores despite COVID-19 epidemic | www.xinhuanet.com/english/2021-03/31/c_139847629.htm


ที่มา: https://www.facebook.com/178839832836368/posts/791961954857483/?sfnsn=mo

สงกรานต์ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน เป็นประเพณีที่มีคติข้อคิดต่าง ๆ สอดแทรกอยู่มากมาย สะท้อนความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน วันนี้เรามีเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับวันสงกรานต์มาฝาก!

เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับวันสงกรานต์

คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤตว่า “สํ-กรานต” ซึ่งแปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรือย้ายขึ้น โดยมีนัยความหมายว่า การเข้าสู่ศักราชราศีใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่

วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์

วันที่ ๑๔ เมษายน เรียกว่า วันเนา

วันที่ ๑๕ เมษายน เรียกว่า วันเถลิงศก

นางสงกรานต์ปี ๖๔ "รากษสเทวี" พยากรณ์น้ำมาก พืชผลเสียหาย ปวงชนร้อนใจ

สำหรับประเทศไทย ในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี นอกจากเป็นวันสงกรานต์แล้ว ยังถือเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ อีกด้วย วันนี้มีข้อมูลน่ารู้มาฝากกัน!

รัฐบาลกำหนดให้วันที่ 13 เมษายนเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ เพื่อให้ลูกหลานได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นบุพการี ผู้อาวุโสหรือผู้ใหญ่ในชุมชนที่เคยทำคุณประโยชน์แก่สังคมมาแล้ว

สำหรับที่มาของ "วันผู้สูงอายุ" นั้นเริ่มต้นขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้นได้มีการกำหนดนโยบายที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข โดยได้มอบให้กรมประชาสงเคราะห์จัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชราขึ้นในปี 2496 เพื่อให้การสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่เดือดร้อน ประสบปัญหาในการทำมาหากินและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้

ต่อมาในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็มีการสานต่อความสำคัญของ "วันผู้สูงอายุ" โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุ และได้เลือก "ดอกลำดวน" เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืน


ขอบคุณข้อมูลจาก: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/875735

วันที่ 14 เมษายน ถือเป็นวันครอบครัว ถูกกำหนดขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2532 เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัว และให้สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสพบปะกันได้โดยสะดวก

สำหรับที่มาของวันครอบครัวนั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรีซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เสนอมติโดย คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยและอนุมัติให้ วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี เป็นวันแห่งครอบครัว ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย เพราะโดยส่วนใหญ่ในวันนี้เป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสพบปะกันได้โดยสะดวก

วันครอบครัว ถูกกำหนดขึ้นก็เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของสถาบันครอบครัว และใช้เวลาว่างในวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้าและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว และสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัว

อีกทั้งช่วงเทศกาลสงกรานต์ถือเป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้เดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อรวมญาติ พบปะครอบครัว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบุพการีที่ล่วงลับไปแล้ว รดน้ำดำหัวขอพรผู้เฒ่าผู้แก่ เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล ความอบอุ่น และความสุขของครอบครัวตามประเพณีไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา


ขอบคุณข้อมูลจาก: https://www.posttoday.com/life/work-life-balance/620756


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top