Monday, 21 April 2025
สังคมสูงวัย

'อ.พงษ์ภาณุ' ห่วง!! สังคมไทยสูงวัยไม่พอ แต่คนรุ่นใหม่ เมินมีลูก เพราะห่วงภาระบาน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น สังคมไทยใต้ปีกสังคมสูงวัย และ สถานการณ์ในยุโรปที่ต้องจับตา เมื่อวันที่ 22 ต.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

10 ปีที่แล้วโลกเริ่มมีประชากรสูงวัยจากประเทศที่ร่ำรวย เช่น ประเทศญี่ปุ่น สังคมผู้สูงอายุจึงเริ่มเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ได้แก่ คนเสียชีวิตช้าลง คนเกิดน้อยลง ซึ่งปัญหาเด็กเกิดน้อยลงเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน โดยอัตราที่เหมาะสมคือแต่ละครอบครัวต้องมีบุตร 2.1 คน ตามหลักเศรษฐศาสตร์ แต่ปัจจุบันนี้อัตราการเกิดต่ำกว่า 2.1 คน 

สำหรับประเทศไทยอัตราการเกิดเหลือเพียง 1.3 คน ต่อครอบครัว แสดงว่า Generation ถัดไปประชากรจะเริ่มลดลง 

นิด้าโพลสำรวจพบกลุ่มตัวอย่างคนไทย ปรากฏว่าสาเหตุที่ไม่อยากมีลูก…

- ร้อยละ 38.32 ระบุว่า ไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูก และเป็นห่วงว่าลูกเราจะอยู่อย่างไรในสภาพสังคมปัจจุบัน 
- ร้อยละ 37.72 ระบุว่า ไม่อยากมีภาระต้องดูแลลูก 
- ร้อยละ 33.23 ระบุว่า ต้องการชีวิตอิสระ 
- ร้อยละ 17.66 ระบุว่า กลัวเลี้ยงลูกได้ไม่ดี 
- ร้อยละ 13.77 ระบุว่า อยากให้ความสำคัญกับงานมากกว่า 
- ร้อยละ 5.39 ระบุว่า สุขภาพตนเองหรือคู่ครองไม่ค่อยดี 
- ร้อยละ 2.10 ระบุว่า กลัวพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์จะไม่ดี ทำให้ลูกที่เกิดมาไม่ดีไปด้วย
- และร้อยละ 0.90 ระบุว่า กลัวกรรมตามสนองเนื่องจากเคยทำไม่ดีไว้กับพ่อ แม่ 

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงมาตรการที่รัฐควรสนับสนุนเพื่อให้คนไทยมีลูก…

- ร้อยละ 65.19 ระบุว่า สนับสนุนการศึกษาฟรีในประเทศจนถึงขั้นสูงสุดสำหรับคนมีลูก
- ร้อยละ 63.66 ระบุว่า รัฐอุดหนุนค่าเลี้ยงดูลูกจนถึงอายุ 15 ปี 
- ร้อยละ 30.00 ระบุว่า ลดภาษีเงินได้สำหรับคนมีลูก 
- ร้อยละ 29.47 ระบุว่า เพิ่มวันลาให้แม่และพ่อในการเลี้ยงดูลูก 
- ร้อยละ 21.91 ระบุว่า มีเงินรางวัลจูงใจที่สูงสำหรับเด็กแรกเกิด 
- ร้อยละ 19.92 ระบุว่า อุดหนุนทางการเงินแม่ พ่อเลี้ยงเดี่ยว 
- ร้อยละ 17.18 ระบุว่า พัฒนาและอุดหนุนการเงินศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก 
- ร้อยละ 9.85 ระบุว่า มีบริการฟรี ศูนย์ผู้มีบุตรยาก 
- ร้อยละ 7.48 ระบุว่า เพิ่มภาษีเงินได้สำหรับคนไม่มีลูก 
- ร้อยละ 5.50 ระบุว่า รัฐเปิดช่องทางในการอุ้มบุญมากขึ้น
- ร้อยละ 4.89 ระบุว่า รัฐมีหน่วยงานจัดหาคู่ให้กับคนไทย 
- ร้อยละ 2.75 ระบุว่า รัฐไม่จำเป็นต้องมีมาตรการใด ๆ 
- และร้อยละ 0.76 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

อาจารย์พงษ์ภาณุ กล่าวถึงตัวอย่างมาตรการที่รัฐควรสนับสนุน เช่น ประเทศสิงคโปร์ มีลูกจ่ายทันที 10,000 เหรียญ และจากผลการสำรวจของนิด้าโพลข้างต้นนี้ สรุปได้ว่าคนไทยอยากให้รัฐจัดสวัสดิการให้ แต่ถ้าเป็นการให้ทุนการศึกษาบุตรหลาน น่าจะเหมาะสมกว่าการสนับสนุนการศึกษาฟรีในประเทศจนถึงขั้นสูงสุดสำหรับคนมีลูก ส่วนปัญหาผู้สูงอายุที่ส่งผลกระทบ ได้แก่...

1.แรงงาน ดูผลของเศรษฐกิจซึ่งขึ้นอยู่กำลังแรงงาน ทุน และเทคโนโลยี เห็นว่าจะเกิดภาระค่าใช้จ่ายของผู้สูงวัยขึ้น ถ้าไม่ได้เก็บออมไว้ก่อนอาจประสบปัญหาได้ 

2.ทุน ถึงแม้ผู้สูงอายุมากขึ้นทำให้เกิดการออมจากกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้นก็เป็นไปได้ แต่บางส่วนที่ไม่มีรายได้ ไม่มีบำนาญก็ไม่สามารถลงทุนได้ 

3.เรื่องเทคโนโลยี ผู้สูงวัยมีประสบการณ์มากกว่า แต่เด็กรุ่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าต้องผสมผสานให้ดี โดยรัฐควรมองว่าทำอย่างไรให้มีแรงงานเพิ่มมากขึ้น ทำอย่างไรให้คนเกิดมากขึ้นได้หรือไม่ หรือขยายอายุเกษียณราชการให้ช้าลง ซึ่งควรพิจารณาโดยเร็ว 

อีกประเด็นคือ ควรเคลื่อนย้ายแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาในไทยโดยเฉพาะแรงงานมีฝีมือ เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ควรเปิดเสรีแรงงานระดับมืออาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ถ้ารัฐไม่เร่งแก้ไขจะประสบปัญหากับการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในภาคบริการในอนาคต

นอกจากเรื่องสังคมผู้สูงวัยแล้ว อาจารย์พงษ์ภาณุ ได้เล่าถึง สถานการณ์เศรษฐกิจยุโรปในปัจจุบัน โดยกล่าวถึงที่มาของการรวมกันของสหภาพยุโรปหรือ EU ซึ่งยุโรปในอดีตเกิดสงครามเยอะมาก การรวมตัวกันของ EU ก็เพื่อป้องกันการเกิดสงคราม และทำให้ยุโรปมีอำนาจต่อรองมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในยุโรปที่มีขนาดเล็ก เกี่ยวกับการค้าขายและการลงทุน 

อย่างไรก็ตาม ยุโรปก็ยังมีข้อเสีย โดยมีวิกฤตเกิดขึ้นมาเป็นครั้งคราว เช่น วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป ประสบปัญหาเศรษฐกิจรุนแรง ซึ่งวันนี้ต้องยอมรับว่าภาคธุรกิจของจีนและสหรัฐอเมริกาขึ้นมาโดดเด่นกว่ายุโรปแล้ว เพราะธุรกิจยุโรปยังอยู่ในอุตสาหกรรมเก่า ซึ่งจีนและสหรัฐอเมริกา มีธุรกิจไอที ที่ก้าวนำยุโรปไปแล้ว 

ขณะเดียวกันประเทศที่เป็นแกนกลางของยุโรป เช่นเยอรมนี ตอนนี้เศรษฐกิจก็กำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามยูเครน-รัสเซีย อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากตลาดรถยนต์หดตัวลงอย่างรวดเร็ว และมีคู่แข่งรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV จากจีน ซึ่งแตกต่างกับประเทศฝรั่งเศส ที่ลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐานอย่างมหาศาล เศรษฐกิจเข้มแข็ง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้า Luxury แถมยังได้ลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่เพื่อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในฝรั่งเศส รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ทำรายได้หลัก ซึ่งฝรั่งเศสมีนโยบายหลายอย่างที่สนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง 

ขณะที่นโยบายด้านอาหารและเครื่องดื่มของฝรั่งเศสก็ส่งเสริมให้เกิดการเติบโต ซึ่งแตกต่างกับไทยที่มีนโยบายเก็บภาษีเครื่องดื่มแพงมาก เพราะฉะนั้นประเทศไทยควรมองจุดนี้ แล้วหันมาส่งเสริมนโยบายด้านอาหารและเครื่องดื่มให้มากขึ้นด้วย 

ส่วนบทบาทของไทยกับยุโรป มองว่าควรเจรจาเปิดการค้าเสรี ไทย-ยุโรป อย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก

‘สมศักดิ์’ เผย คณะกรรมการผู้สูงอายุฯ เคาะให้รางวัล ‘เจ้าสัวธนินท์’ ชี้ มีผลงานช่วยเหลือสังคม ผลักดันให้เยาวชน มีการศึกษา เรียนรู้ อย่างเท่าเทียม

(16 มี.ค.67) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ ได้ไปเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เพื่อพิจารณาการขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ พร้อมรับทราบข้อเสนอเชิงนโยบายวิกฤตประชากรและสังคมสูงวัย และข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการขับเคลื่อนสังคมสูงวัย โดยมีการนำเสนอเรื่องที่น่าสนใจ คือ ธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สมาชิก แลกเปลี่ยนบริการขั้นพื้นฐาน โดยบันทึกเวลาไว้ในบัญชีธนาคาร เพื่อเบิกเวลามาใช้ยามจำเป็น ซึ่งจะมีผู้จัดการ เป็นผู้ประสานการบริการ มีธนาคารเวลาแล้ว 32 ประเทศ ใน 8 ทวีป เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ซึ่งในประเทศไทย มีการดำเนินงานธนาคารเวลา แล้ว 80 พื้นที่ โดยรูปแบบในประเทศไทย ยังเป็นการเก็บเวลา เพื่อแลกกับเวลาเท่านั้น ยังไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ เพราะต้องการทำให้ทุกคนรู้สึกเท่าเทียม เวลาจึงมีค่าเท่ากันทั้งหมด ซึ่งตนมองว่า เป็นสิ่งที่ดี ที่เราสามารถไปบริการคนอื่น เพื่อเก็บเวลามาใช้ในวันที่เราต้องมีผู้ช่วยไปทำธุระ เช่น ไปซื้อของ ไปโรงพยาบาล โดยที่ประชุม ก็มีการเสนอแนะให้เก็บเวลาเป็นดิจิทัลด้วย เพราะจะได้สามารถบันทึกเวลาได้ยาวนาน

“ที่ประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ยังได้มีการพิจารณารายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อประกาศสดุดีเกียรติคุณผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี 2567 โดยได้มีการสรรหาผู้สูงอายุ ที่เป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม ซึ่งมีผู้ได้รับเสนอรายชื่อจำนวน 53 ราย โดยเมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ ที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบให้ นายธนินท์ เจียรวนนท์ อายุ 85 ปี เป็นผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี 2567 เพราะที่ผ่านมา นายธนินท์ ได้ช่วยเหลือสังคม ด้วยการขับเคลื่อนโครงการทรูปลูกปัญญา เป็นการมอบโอกาสการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม พร้อมสนับสนุนด้านการศึกษาแก่เยาวชนของชาติ มาเป็นเวลากว่า 40 ปี จึงประกาศสดุดีเกียรติคุณยกย่องให้เป็นผู้สูงอายุแห่งชาติ” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

'กระทรวงแรงงาน' จับมือ 'ซีพี แอ็กซ์ตร้า' ส่งเสริมการมีงานทำ ฝึกทักษะผู้สูงอายุ รองรับสังคมสูงวัย ในโครงการ '60 ยังแจ๋ว'

วันที่ 20 มิ.ย.67 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายนายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ ระหว่าง กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ร่วมผนึกกำลังสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป  เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี ควบคู่การเพิ่มบทบาทและสร้างคุณค่าทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมให้ผู้สูงวัย โดยโครงการ “60 ยังแจ๋ว” ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 
1.การจ้างงานผู้สูงอายุ ปฏิบัติงานในสาขาของ แม็คโคร และ โลตัส 
2. “เถ้าแก่วัยเก๋า” โครงการฝึกอาชีพ สร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุที่ต้องการทำงานอิสระหรือมีธุรกิจของตนเอง และ 3. “ตลาดสุขใจวัยเก๋า” เปิดพื้นที่จำหน่ายสินค้าให้กับพ่อค้าแม่ค้าสูงวัยในพื้นที่ของสาขาแม็คโคร-โลตัส โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตอกย้ำการสร้างงาน สร้างอาชีพ เป็นแพลตฟอร์มแห่งโอกาสให้กับคนไทย

นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” ทำให้ต้องมีการขับเคลื่อนการส่งเสริมการมีงานทำแก่ผู้สูงอายุให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้มีงานทำในอาชีพที่เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ สร้างหลักประกันที่มั่นคงด้านรายได้ สร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจให้แก่ผู้สูงอายุ ตลอดจนเป็นการเพิ่มบทบาทและคุณค่าของผู้สูงอายุด้วยการมีส่วนร่วมในเชิงเศรษฐกิจ ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐในด้านสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ จึงจัดทำบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ ระหว่างกรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ทั้ง 3 ฝ่ายจะร่วมมือในการขับเคลื่อนมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยกรมการจัดหางาน ทำหน้าที่ส่งเสริมการมีงานทำในตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำหน้าที่สนับสนุนหลักสูตรการฝึกอบรม และการจัดฝึกอบรมส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความรู้ ทักษะ สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ เช่น การทำเบเกอรี่ การประกอบอาหารว่างและเครื่องดื่ม การทำอาหารจานด่วนเพื่อจำหน่าย การประกอบอาหารไทยเชิงธุรกิจออนไลน์ เป็นต้น ระยะเวลาการฝึก 18-30 ชั่วโมง      

ในส่วนของ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน)(แม็คโคร - โลตัส) จะจ้างงานผู้สูงอายุตามกรอบนโยบายที่สถานประกอบการกำหนด และเตรียมความพร้อมรองรับการจ้างงานผู้สูงอายุ พร้อมกับจัดส่งตำแหน่งงานว่างสำหรับผู้สูงอายุให้กรมการจัดหางาน และร่วมจัดหลักสูตรการฝึกอบรมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

ด้านนายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ เป็นการแสดงเจตจำนงถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วน ที่จะสร้างกรอบความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีงานทำ เพราะผู้สูงอายุมีความเพียบพร้อมไปด้วย วัยวุฒิ คุณวุฒิ และประสบการณ์จากการทำงานและการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้ใช้แรงงานได้เป็นอย่างดี โดยมีเป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุภายในปี พ.ศ. 2567 จำนวน 800 คน เบื้องต้นบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า พร้อมรับผู้สูงอายุทำงานในสถานประกอบการแม็คโคร และโลตัส ในงานที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ เป็นงานที่ไม่หนัก และไม่เป็นอันตราย อาทิ ตำแหน่งจัดเรียงสินค้า ตำแหน่งบริการลูกค้า ณ จุดบริการลูกค้า เป็นต้น มีรายได้ไม่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ควบคู่กับการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับผู้สูงอายุด้วย

นายธานินทร์ บูรณมานิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ซีพี แอ็กซ์ตร้า ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัย (aging society) ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยบริษัทฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ผนึกกำลังกับกระทรวงแรงงาน ในโครงการ “60 ยังแจ๋ว” ร่วมส่งเสริมการสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงวัยในสังคม โดยการจ้างงานผู้สูงอายุทำงานในสาขาแม็คโคร-โลตัส รวมถึงส่งเสริมทักษะอาชีพ และเปิดพื้นที่ให้จำหน่ายสินค้า ทั้งนี้ ซีพี แอ็กซ์ตร้า พร้อมสนับสนุนความแตกต่าง ความหลากหลาย เปิดกว้างรับคนทำงานตามความสามารถและทักษะ ควบคู่การเป็นแพลตฟอร์มแห่งโอกาสให้กับทุกคน”  

นอกจาก การจ้างงานแล้ว ซีพี แอ็กซ์ตร้า ยังได้มีกิจกรรมสนับสนุนผู้สูงอายุอย่างครบวงจร ทั้ง
“เถ้าแก่วัยเก๋า” ที่ขยายโอกาสให้ผู้สูงอายุทั่วประเทศ ได้รับการฝึกอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเอง และโครงการ “ตลาดสุขใจวัยเก๋า” ที่เปิดพื้นที่จำหน่ายสินค้า ขยายช่องทางจำหน่ายช่วยพ่อค้าแม่ค้าสูงวัยในแต่ละชุมชนได้เข้าถึงลูกค้าผ่านสาขาของ แม็คโคร – โลตัส โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นขององค์กรในสร้างคุณค่าและประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่สังคม (Social impact & economic contribution) ขยายโอกาสสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้กับผู้สูงวัย ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและมีความสนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อได้ที่ แม็คโคร และ โลตัส หรือติดต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job center) อาคาร 3 ชั้น ด้านหน้ากระทรวงแรงงาน เว็บไซต์ ไทยมีงานทำ.doe.go.th หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694  

หาทางออก!! แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ในเวทีสานพลังไทย รับมือ!! ‘สังคมสูงวัย’

(10 ธ.ค. 67) ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช  ผู้ทรงคุณวุฒิ ประธานการประชุมกล่าวเปิดว่า มุมมองของคนไทยต่อ ‘สังคมสูงวัย’ ยังค่อนข้างแคบ หลายคนยังมองว่าสังคมสูงวัยเป็นเรื่องของ ‘ผู้สูงอายุ’ เท่านั้น โดยเน้นไปที่ความจำเป็นในการดูแลสุขภาพ หรือการจัดสวัสดิการสำหรับผู้สูงวัย แต่ในความเป็นจริง สังคมสูงวัยคือเรื่องของ ‘ทุกคน’ และทุกช่วงวัยในสังคม  พร้อมเสนอข้อคิดมุมมองเพื่อการเตรียมรับมือสังคมสูงวัยไว้  5 ประการ คือ

(1) รณรงค์สร้างความรู้ ว่าผู้สูงอายุ คือพลัง ไม่ใช่ภาระ ผู้สูงวัยมีศักยภาพที่จะเป็น ‘ครูชีวิต’ ที่ดีได้  การเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่จำกัดเฉพาะช่วงวัยใดวัยหนึ่ง แต่เป็นพื้นฐานที่ทุกคนควรมี เพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงรอบตัว

(2) ให้มีกลไกสานพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน ให้เข้ามาขับเคลื่อนงานในลักษณะการนำหมู่ (Collective Leaderships) 

(3) ปรับสภาพแวดล้อมทั้งในเชิงพื้นที่และกลไกให้เอื้อต่อการดำรงชีวิต การทำงาน และการเรียนรู้ร่วมกันของผู้สูงอายุและคนทุกวัย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย

(4) ใช้วัฒนธรรม ‘สังคมเกื้อกูล’ เป็นธงนำ ใช้รูปแบบวัฒนธรรมของการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และ 

(5) ขยายผลนวัตกรรมและรูปธรรมความสำเร็จไปสู่วงกว้าง อย่างการปรับตัวของภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และประชาชน

“การที่ 12 องค์กรร่วมกันสานพลังทำงานนี้บนแนวคิด สานพลังไทย รับมือสังคมสูงวัย ไปด้วยกัน  เป็นการเดินในทิศทางที่ถูกต้อง เหมาะสม   และมองว่าการเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นโอกาสที่เราจะร่วมมือกันสร้างสรรค์สังคมที่เป็นสุข สังคมที่เกื้อกูลกัน สามารถเติบโตไปพร้อมกันได้อย่างยั่งยืน มุ่งมั่นที่จะใช้ศักยภาพของตนเอง และส่งเสริมการใช้ศักยภาพของผู้สูงวัยอย่างมีคุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด” นายแพทย์วิจารณ์ กล่าว

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าการขับเคลื่อนเพื่อรองรับสังคมสูงวัย เป็นภารกิจใหญ่และสำคัญ มีทั้งโอกาสและความท้าทายมากมาย ไม่สามารถดำเนินการเพียงลำพังโดยกลไกภาครัฐเท่านั้น จำเป็นต้องมีการสานพลังทั้งสังคม เพื่อการขับเคลื่อนร่วมกันอย่างเป็นระบบ และเกิด ความรับผิดชอบร่วมและการขับเคลื่อน ซึ่งการจัดประชุมวิชาการครั้งนี้  เพื่อให้เกิดการสานพลังองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานโยบายรองรับสังคมสูงวัย  พัฒนาวิชาการและองค์ความรู้จากประสบการณ์ขององค์กรภาคีเครือข่าย และสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายนำไปสู่ขับเคลื่อนรองรับสังคมสูงวัยทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ 

รศ.ดร.เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง  ผู้ทรงคุณวุฒิและอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘สังคมสูงวัย…จุดเปลี่ยนสู่ศักยภาพใหม่ของสังคมไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า’ โดยกล่าวว่า หากปล่อยปัญหาเรื่องสังคมสูงวัยไปไม่มีการดำเนินการใดๆ  และยังคงให้มีปัญหาผลกระทบในอีกสิบปีข้างหน้าจะหนักขึ้นไปเรื่อยๆ เช่น ยังไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการแก้ไขปัญหาเด็กเกิดใหม่ลและความพร้อมของครอบครัวที่มีคุณภาพก็ลดน้อยลง  ผู้สูงวัยไม่สามารถพึ่งพิงตนเองได้จึงเป็นภาระของวัยคนทำงาน ไม่มีเงินออม คนจน ความเหลื่อมล้ำ อาชญากรรมจะมีมากขึ้น รัฐเก็บภาษีอากรได้น้อยลงเพราะคนทำงานมีน้อยลง ขณะที่หนี้สาธารณะมีมากขึ้น สวัสดิการมีไม่เพียงพอ ยังไม่สามารถพึ่งพาเทคโนโลยีได้แม้มีหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุแต่ก็ไม่อาจฝากชีวิตได้  มองว่าทุกภาคส่วนต้องร่วมแก้ไขปัญหาเดี๋ยวนี้ ช่วยกันปลุกเตือนให้ทุกคนได้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนประเทศไทยด้วยการสานพลัง มีระบบช่วยดูแลผู้สูงอายุ มีการปรับสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้เอื้อกับผู้สูงวัย รัฐบาลส่วนกลางต้องรับผิดชอบและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยเฉพาะ คิดและทำให้ประชากรแก่ให้ช้า โดยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงและมีสุขภาพดียาวนานที่สุด  ให้ระยะเวลาเจ็บป่วยเกิดสั้นที่สุด พึ่งพาตัวเองให้ยาวที่สุด เสริมทัศนคติให้ระยะเวลาทำงานยาวขึ้น ออมตั้งแต่วัยหนุ่มสาว เพราะออมเมื่อสูงอายุแล้วจะไม่ทัน

นายวีระศักดิ์  โควสุรัตน์  ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรและอดีตสมาชิกวุฒิสภา  ปาฐกถาก่อนปิดการประชุม ในหัวข้อ ‘ต่อยอดจุดแข็งประเทศไทย ไปสู่  Smart Aging Society’  กล่าวว่า สถานการณ์โครงสร้างประชากรทั่วโลกที่ลดน้อยลง ฐานปิรามิดประชากรใน 100 ปีข้างหน้า จะผอมลงมาก  และสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ทำให้คนไม่กล้ามีลูก ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ทางการเมืองในช่วง  20 ปีที่ผ่านมาไม่มีเสถียรภาพ จึงไม่มีสมาธิที่จะเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างประชากรที่ลดน้อยลง  สภาพโลกร้อนขึ้นไม่หยุด รวมถึงนโยบายเลือกเฟ้นคนเข้าเมือง นโยบายถิ่นที่อยู่ นโยบายสัญชาติ ที่น่าจะสามารถเลือกสรรคนมีความสามารถจากทั่วโลกมาร่วมพัฒนาบ้านเมือง  เพราะเราไม่มีทางผลิตประชากรเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทันในเวลาอันใกล้นี้  

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ประธานกรรมการบริหารโครงการสานพลังพัฒนาโยบายรองรับสังคมสูงวัย เพื่อสุขภาวะองค์รวม พ.ศ. 2568 และอดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวปิดเวทีว่า การขับเคลื่อนสังคมสูงวัยต้องมีการปรับความคิดว่าไม่ใช่เรื่องผู้สูงอายุเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้อง เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องช่วยกันขยับทั้งภาครัฐ  ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ  เพื่อสร้างสังคมที่ Smart  และเชื่อมั่นว่าทำได้  เวทีที่จัดขึ้นเป็นเพียง  1 กิจกรรมในความพยายามที่ต้องทำต่อเนื่อง  เหมือนการวิ่งมาราธอน  เพื่อร่วมกันสร้างความรู้และปัญญาจากงานที่จัด  โดยจะมีการสรุปประมวลเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย  ข้อเสนอไปสู่การพัฒนาปฏิบัติ   บางเรื่องอาจต้องมีการศึกษาวิจัยต่อจากเวทีในครั้งนี้  มีหลายหน่วยงานที่มาได้รู้จักว่ากลุ่มไหน ทำอะไร  ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันแล้ว ยังประสานทำงานร่วมกันต่อไปอีกด้วย  

การประชุมวิชาการ (Mini-symposium) สานพลังไทย รับมือสังคมสูงวัย ไปด้วยกัน  (Smart Aging Society : Together, We can)  จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับมูลนิธิสานพลังเพื่อแผ่นดิน (มสผ.) และองค์กรเจ้าภาพอีก 10 องค์กร ได้แก่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นเวทีคู่ขนานกับการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 2567 มีผู้เข้าร่วมกว่า200 คน จากภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และนักวิชาการ  พบว่าเรื่อง ‘สังคมสูงวัย’ ยังไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง มีเพียงการดูแลสวัสดิการ สงเคราะห์ช่วยเหลือผู้สูงอายุ  และคาดว่าจะผลิตแรงงานไม่ทันกับความต้องการ ระบบโครงสร้าง ยังไม่รองรับความเปลี่ยนแปลงในสังคมที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก เด็กเกิดน้อย แรงงานลดลง พร้อมนำเสนอ 14 กรณีตัวอย่างขับเคลื่อนสังคมสูงวัยแลกเปลี่ยนประสบการณ์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top