Saturday, 5 April 2025
สหรัฐอเมริกา

ทรัมป์เผยแผนตั้ง 'External Revenue’ เก็บภาษีต่างชาติแทนเงินจากคนอเมริกัน

(21 ก.พ.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมยกเลิกกรมสรรพากรของสหรัฐฯ (IRS) และมีแผนจัดตั้ง External Revenue Service (ERS) ซึ่งจะมุ่งเน้นการจัดเก็บรายได้จากภาษีศุลกากรและธุรกรรมจากต่างประเทศ แทนการเก็บภาษีจากประชาชนและธุรกิจภายในประเทศ

โฮเวิร์ด ลัทนิค (Howard Lutnick) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ของทรัมป์ เปิดเผยกับ Fox News ว่า “เป้าหมายของทรัมป์คือการยกเลิก IRS และให้คนนอกเป็นผู้จ่ายภาษีแทน”

รัฐบาลทรัมป์ต้องการให้ ERS ดูแลการจัดเก็บภาษีศุลกากรและกำจัดช่องโหว่ทางภาษี โดยทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะสามารถสร้างรายได้ 1 ล้านล้านดอลลาร์ จากมาตรการนี้ พร้อมทั้งมอบหมายให้ "DOGE Task Force" ของอีลอน มัสก์ ค้นหาการทุจริตและความสูญเปล่าในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้อีก 1 ล้านล้านดอลลาร์

ทรัมป์เคยกล่าวถึงแนวคิดนี้ตั้งแต่ต้นปี 2024 แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า IRS จะถูกยกเลิกทั้งหมดหรือเพียงแค่ลดบทบาท

แม้ว่าทรัมป์จะกล่าวว่าภาษีศุลกากรเป็นรายได้จากต่างชาติ แต่นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าภาษีเหล่านี้มักถูกผลักภาระให้กับบริษัทและผู้บริโภคในสหรัฐฯ เอง 

ตามรายงานของ Axios หน่วยงานที่ดูแลการจัดเก็บภาษีศุลกากรในปัจจุบันคือกรมศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐฯ (CBP) ไม่ใช่ IRS ขณะที่ทรัมป์ยังคงยืนยันว่า "Tariff เป็นคำที่ไพเราะที่สุดในพจนานุกรมของผม"

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ทรัมป์เสนอให้เก็บภาษีศุลกากร 25% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมดจากเม็กซิโกและแคนาดา และ 10% สำหรับสินค้าจากจีน อย่างไรก็ตาม เขายอมระงับมาตรการกับเม็กซิโกและแคนาดาชั่วคราวเพื่อลดแรงกดดันทางเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าหากมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ อาจทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นถึง 272,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ

ทรัมป์ยังเสนอให้ ERS ดูแลภาษีจาก เรือสำราญต่างชาติ เรือบรรทุกน้ำมัน และผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ต้องเสียภาษีในสหรัฐฯ โดยลัทนิคยืนยันว่า 'ภาษีเหล่านี้จะถูกเก็บภายใต้รัฐบาลทรัมป์'

ในขณะที่ทรัมป์ผลักดัน ERS เขายังเคยกล่าวถึงแนวคิดการยกเลิกภาษีเงินได้ ซึ่งอาจทำให้ IRS หมดบทบาท อย่างไรก็ตาม IRS ยังเป็นผู้จัดเก็บภาษีเงินเดือน ภาษีประกันสังคม และภาษีมรดก ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาล

แม้ว่าทรัมป์จะมุ่งเปลี่ยนแปลงระบบภาษีให้พึ่งพารายได้จากภายนอก แต่ในทางปฏิบัติ ภาษีศุลกากรยังคงเป็นภาระของภาคเอกชนและประชาชนสหรัฐฯ การปฏิรูปครั้งนี้อาจเผชิญแรงต้านจากภาคธุรกิจและนักเศรษฐศาสตร์ที่มองว่าเป็นนโยบายที่เสี่ยงต่อเศรษฐกิจของประเทศ

‘สหรัฐอเมริกา’ ใช้!! ‘ยูเครน’ จนหมดประโยชน์ ก่อนเขี่ยทิ้ง แบบไร้ค่า ชี้!! เปลี่ยนผู้นำ เปลี่ยนนโยบาย ทิ้ง ‘เซเลนสกี้’ ให้กลายเป็น ‘ตัวตลก’

(22 ก.พ. 68) เพจ ‘สานต่อเจตนารมณ์ อาจารย์สมเกียรติ โอสถสภา’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

จากพัฒนาการล่าสุดในสงครามรัสเซีย-ยูเครน เห็นได้ชัดว่าทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไปตามที่เพจนี้เขียนเอาไว้ตั้งแต่สองปีที่แล้ว

กล่าวคือเมื่อสหรัฐเปลี่ยนผู้นำใหม่ก็เปลี่ยนนโยบายใหม่ ประเทศที่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นสนามรบหรือดำเนินการสงครามตัวแทนภายใต้รัฐบาลหนึ่ง สามารถถูกสหรัฐทิ้งแบบไร้ค่าภายใต้รัฐบาลใหม่

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วกับประเทศไทยในยุคสงครามเวียดนาม นี่คือบทเรียนที่เพจใช้เป็นหนึ่งใน argument ในการดึงโทนี่กลับมาจัดตั้งรัฐบาลอนุรักษ์นิยม เพื่อยับยั้งสีส้มที่ในขณะนั้นมีแนวทางพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสนามรบและเบี้ยในสงครามตัวแทนของสหรัฐกับจีน

จะให้ตั้งฐานทัพสหรัฐในไทยมายันกับฐานทัพเรือจีนในเขมรอะไรใช่มั๊ย ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงจะได้เป็นยูเครน 2 มากในห้วงเวลานั้น สุ่มเสี่ยงมากที่จะถูกใช้แล้วทิ้ง

จากทุกอย่างที่ทรัมป์และ J D Vance พูดออกมาในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าทั้ง ปธน. และ รอง ปธน. สหรัฐตามอ่านเพจนี้อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 2 ปี ทั้งสองท่านพูดและทำตามที่เพจนี้เขียนเอาไว้ทุกอย่าง ยูเครนถูกทิ้งแบบเบี้ยที่หมดประโยชน์ ยุโรปถูกด่าว่าโว๊คและโง่ เซเลนสกี้ถูกด่าว่าเป็นตัวตลกสิ้นคิดเห็นแก่เงิน ด่าตามบทความและคอมเม้นต์ของลูกเพจ เพจนี้ทุกอย่าง

พวกเราคือผู้นำทางความคิดของรัฐบาลสหรัฐที่มาก่อนกาลถึงสองปี 

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ สั่งปลด!! ‘ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วม’ เพื่อกำจัด!! ผู้นำที่สนับสนุน ‘ความหลากหลาย’ ในกองทัพ

(22 ก.พ. 68) เพจ ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

อวสานของ #Woke ในกองทัพ #สหรัฐฯ

Woke is dead. 

ทรัมป์สั่งปลดพลเอก ชาร์ลส์ คิว. บราวน์ ออกจากตำแหน่ง 'ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วม' ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักบินขับไล่ที่สร้างประวัติศาสตร์และเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการยอมรับ โดยเป็นการปลดออกนี้เป็นส่วนหนึ่งของทรัมป์ในโครงการกำจัดผู้นำที่สนับสนุนความหลากหลายในกองทัพ พร้อมเสนอชื่อพลโทกองทัพอากาศ แดน 'ราซิน' เคน ให้เป็นประธานคณะเสนาธิการทหารร่วม มาดำรงตำแหน่งแทน

ทรัมป์ยกย่องเคนว่าเป็น 'นักรบ' และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงแห่งชาติที่มีบทบาทสำคัญในการปราบกลุ่ม #IS #ISIS ได้อย่างรวดเร็ว

การเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงความเป็นผู้นำทางทหาร โดยทรัมป์เน้นย้ำถึงความแข็งแกร่ง การประสานงานระหว่างหน่วยงาน และลำดับความสำคัญด้านการป้องกันประเทศแบบ 'อเมริกาต้องมาก่อน' 'America First' 

“During my first term, Razin was instrumental in the complete annihilation of the ISIS caliphate. It was done in record setting time, a matter of weeks.

Many so-called military "geniuses" said it would take years to defeat ISIS. General Caine, on the other hand, said it could be done quickly, and he delivered.”

‘อีลอน มัสก์’ เล่นใหญ่!! ส่งอีเมลถึง ‘ข้าราชการสหรัฐฯ’ ถามชัด!! ‘คุณทำอะไรไปบ้าง’ ถ้าไม่ตอบ ถือว่าลาออก

(24 ก.พ. 68) อีลอน มัสก์ เล่นใหญ่! ส่งอีเมลถึงหน่วยงานรัฐทั่วอเมริกา ตั้งแต่ SEC, CDC ยัน NOAA สั่งให้ข้าราชการทุกคนรายงาน “คุณทำอะไรไปบ้างในสัปดาห์ที่ผ่านมา” พร้อมกำหนดเดดไลน์ชัด!! ใครไม่ตอบ = เท่ากับลาออก! งานนี้เล่นเอาข้าราชการใจหวิว เพราะถ้าตอบไม่ได้ ก็อาจถูกมองว่าอยู่ไปวันๆ ไม่มีผลงานให้จับต้อง

นี่ไม่ใช่แค่แนวคิดขำๆ แต่มัสก์เอาจริง! เขาใช้แนวทางบริหารแบบ ‘Demon Mode’ ที่เคยใช้ตอนเทกโอเวอร์ X (Twitter) จัดหนักให้ข้าราชการต้องลุกขึ้นมาทำงานจริง ไม่ใช่แค่เป็นฟันเฟืองระบบราชการที่ขยับช้า

แต่เรื่องยังไม่จบ!! สหภาพข้าราชการออกโรงค้านทันที ชี้ว่านี่เป็นการบริหารที่แข็งกร้าวและอาจละเมิดสิทธิพนักงานของรัฐ เพราะไม่ใช่ว่าทุกตำแหน่งจะสามารถเปิดเผยผลงานได้ทั้งหมด งานนี้ต้องจับตาดูกันว่า ‘มัสก์โมเดล’ จะได้ไปต่อ หรือจะโดนตีกลับจนต้องถอย

'ดร.ปิติ' ชี้ ระเบียบโลกใหม่กำลังจะอุบัติ หลัง 'สหรัฐฯ - รัสเซีย - เกาหลีเหนือ ไหลอยู่ฝั่งเดียวกัน

(25 ก.พ. 68)  รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ระเบียบโลกเปลี่ยนไปแล้ว

ใครจะไปเชื่อว่าเราจะได้เห็น รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และ เกาหลีเหนือ รวมกับประเทศอื่นๆ อีก 15 ประเทศ คัดค้านการเรียกร้องให้ลดระดับความรุนแรง คัดค้านการยุติการสู้รบโดยเร็ว และคัดค้านการยุติสงครามกับยูเครนโดยสันติ ในที่ประชุมสหประชาชาติ เนื่องในโอกาส 3 ปีสงครามยูเครนที่เป็นความขัดแย้งของรัสเซียกับพันธมิตร NATO ที่นำโดยสหรัฐเอง

ระเบียบใหม่ต่อจากนี้คือ

1. รัฐที่มีพลังอำนาจเหนือกว่า สามารถละเมิดอธิปไตยเข้ายึดครองพื้นที่ของรัฐที่มีพลังอำนาจอ่อนด้อยกว่าได้ หากการเข้ายึดครองนั้น สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐ

2.ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (ตามวิธีคิดของ Trump ที่ดูตัวเลขขาดดุล เกินดุลเป็นหลัก) คือกลไกขับเคลื่อนมิติความมั่นคง สงครามการค้า สงครามเศรษฐกิจ และสงครามในสนามรบจริง คือ สิ่งที่เจรจา ต่อรองแลกเปลี่ยนกันได้

ทรัมป์ โบ้ย 'อียู' เอาเปรียบสหรัฐฯ มานาน ต้องเจอกำแพงภาษี 25% อียูเตือนพร้อมโต้กลับ

(27 ก.พ.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า สหภาพยุโรป (อียู) เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อ 'เอารัดเอาเปรียบ' สหรัฐ พร้อมย้ำว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้ไขความเสียเปรียบที่เกิดขึ้นกับอเมริกา โดยหนึ่งในมาตรการหลักคือการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากอียูในอัตรา 25% ซึ่งรวมถึงภาษีนำเข้ารถยนต์ โดยรายละเอียดเพิ่มเติมจะมีการประกาศในภายหลัง

ด้านคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของอียู ออกแถลงการณ์โต้ว่า อียูเป็นตลาดการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสหรัฐมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม อียูพร้อมใช้มาตรการตอบโต้ทันที หากสหรัฐดำเนินนโยบายภาษีที่ไม่เป็นธรรม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ผลิตและผู้บริโภคในยุโรป

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเผยว่า สหรัฐขาดดุลการค้ากับอียูสูงถึง 235,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.94 ล้านล้านบาท) ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ทรัมป์ผลักดันมาตรการดังกล่าว

ผู้นำสหรัฐย้ำว่า วอชิงตันจำเป็นต้องเร่งแก้ไขความไม่สมดุลทางการค้า โดยกล่าวหาว่าอียูยังไม่นำเข้าสินค้าสหรัฐในระดับที่เพียงพอ โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ หากสถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง สหรัฐอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการภาษีที่เข้มงวดขึ้นเพื่อกดดันอียูให้เปิดตลาดมากขึ้น

สหรัฐประณามไทยส่ง 40 อุยกูร์กลับจีน แต่ตัวเองก็ไล่ตะเพิดผู้อพยพไม่ต่างกัน

(28 ก.พ. 68) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจต่อการที่รัฐบาลไทยส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์อย่างน้อย 40 คนกลับไปยังจีนเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวทำให้ชาวอุยกูร์ต้องกลับไปเผชิญสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยไม่มีหลักประกันในการได้รับกระบวนการทางกฎหมายที่เหมาะสม พร้อมย้ำว่ากลุ่มชาติพันธุ์นี้เคยถูกกดขี่ ข่มเหง บังคับใช้แรงงาน และทรมานภายใต้การปกครองของจีน

“ในฐานะพันธมิตรที่ยาวนานของไทย เรารู้สึกตกใจกับเหตุการณ์นี้ ซึ่งอาจขัดแย้งกับพันธกรณีของไทยตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน รวมถึงข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองบุคคลจากการบังคับให้หายสาบสูญ” แถลงการณ์ระบุ

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังชี้ว่า การส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีนขัดกับแนวทางดั้งเดิมของไทยที่ให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองกลุ่มผู้ลี้ภัยที่อยู่ในภาวะเปราะบาง ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทย และประเทศอื่น ๆ ที่มีชาวอุยกูร์ลี้ภัยอยู่ หลีกเลี่ยงการส่งพวกเขากลับไปยังจีน

สหรัฐฯ ย้ำข้อกล่าวหาต่อจีนว่า ทางการปักกิ่งภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในซินเจียง พร้อมเรียกร้องให้มีการติดตามตรวจสอบอย่างเข้มงวดเกี่ยวกับสวัสดิภาพของผู้ที่ถูกส่งตัวกลับ และให้รัฐบาลไทยแสดงความชัดเจนในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่สหรัฐอเมริกาออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของไทย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่านโยบายต่อต้านผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ขัดแย้งต่อหลักสิทธิมนุษยชนเช่นกัน 

สมาคมอุยกูร์ในสหรัฐฯ บุกสถานทูตไทย จี้ไทยรับผิดชอบ ส่ง 40 อุยกูร์กลับจีน

(28 ก.พ.68) สมาคมอุยกูร์ในสหรัฐอเมริกา (Uyghur American Association) ได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊ก พร้อมประณามการส่งตัวชาวอุยกูร์ 40 คนกลับจีนโดยรัฐบาลไทย โดยระบุว่า "พวกเรายืนหยัดหน้าสถานทูตไทยในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อประท้วงการส่งตัวชาวอุยกูร์ 40 คนกลับไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีประวัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอุยกูร์ ขณะนี้พวกเขากำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงถูกจับกุม ทรมาน และอาจถึงชีวิต"

การประท้วงครั้งนี้มีการมอบพวงหรีดสีดำให้กับสถานทูตไทยเพื่อแสดงความไว้อาลัยและปฏิเสธการกระทำที่ไม่ยุติธรรม โดยสมาคมฯ ขอขอบคุณผู้ร่วมชุมนุมที่ออกมาแสดงพลังและให้การสนับสนุนชาวอุยกูร์ในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม

ในระหว่างการชุมนุม ผู้ประท้วงได้ชูป้ายข้อความที่รุนแรง รวมถึง “แพทองธาร ชินวัตร มือของเธอเปื้อนเลือดของชาวอุยกูร์” “ประเทศไทยทรยศต่อสิทธิมนุษยชน” “ประเทศไทยสมรู้ร่วมคิดในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของชาวอุยกูร์” และ “ประเทศไทยล้มเหลวในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศในการปกป้องชีวิตมนุษย์”

‘ทรัมป์ – เซเลนสกี’ ปะทะคารมเดือดต่อหน้าสื่อ สุดท้ายดีลแร่ธาตุหายากล่มไม่เป็นท่า

(1 มี.ค.68) เอพี รายงานความคืบหน้าหลังการหารือข้อตกลงธาตุหายาก หรือธาตุแรร์เอิร์ธระหว่าง ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กับ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา เมื่อวันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ ลงเอยด้วยความล้มเหลว

โดยเซเลนสกียืนกรานว่า จะไม่เข้าร่วมการเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย จนกว่าจะมีหลักประกันด้านความปลอดภัยในการต่อต้านการโจมตีอีกครั้ง

ก่อนเสริมว่า การโต้เถียงอย่างดุเดือดกับประธานาธิบดีทรัมป์นั้น “ไม่ดีสำหรับทั้งสองฝ่าย” และว่า ทรัมป์ซึ่งยืนกรานว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย พร้อมจะยุติสงครามที่ยืดเยื้อมากว่า 3 ปี จำเป็นต้องเข้าใจว่ายูเครนไม่สามารถเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อรัสเซียได้ในทันที ขณะที่นายทรัมป์ตำหนินายเซเลนสกีว่าไม่ให้เกียรติและยกเลิกการลงนามข้อตกลง

การประชุมพิเศษที่ห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เปลี่ยนจากการหารือที่อาจสร้างประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นเหตุที่สร้างความตกตะลึงและอาจส่งผลกระทบไปทั่วโลก กำหนดเดิมนายเซเลนสกีคาดว่าจะลงนามในข้อตกลงที่อนุญาตให้สหรัฐเข้าถึงแร่ธาตุหายากของยูเครนได้มากขึ้น และจัดงานแถลงข่าวร่วมกัน แต่แผนดังกล่าวถูกยกเลิก หลังมีการโต้เถียงดุเดือดระหว่างสองผู้นำต่อหน้าสื่อมวลชน และยังไม่ชัดเจนว่าการพลิกผันครั้งนี้ จะส่งผลต่อข้อตกลงที่นายทรัมป์ยืนกรานว่ายูเครนจำเป็นต้องชดใช้เงินช่วยเหลือของสหรัฐกว่า 180,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6.1 ล้านล้านบาทอย่างไร

เซเลนสกีและคณะเดินทางออกจากทำเนียบขาวไม่นาน หลังจากนายทรัมป์ตะโกนใส่ และแสดงออกว่าดูถูกอย่างเปิดเผย ทรัมป์กล่าวกับเซเลนสกีว่า “คุณกำลังพนันกับสงครามโลกครั้งที่สามและสิ่งที่คุณทำอยู่นั้นไม่เคารพประเทศนี้เลย ประเทศนี้สนับสนุนคุณมากกว่าที่หลายคนบอกว่าควรสนับสนุนเสียอีก”

ช่วง 10 นาทีสุดท้ายของการประชุมเกือบ 45 นาที กลายเป็นการปะทะคารมอย่างตึงเครียดระหว่างนายทรัมป์ รองประธานาธิบดีเจดี แวนซ์ ของสหรัฐ และนายเซเลนสกี ซึ่งต้องการกดดันนายทรัมป์ไม่ให้ละทิ้งยูเครนและเตือนว่าอย่าไว้ใจนายปูตินมากเกินไป เพราะผู้นำรัสเซียล่มข้อตกลงหย่าศึกด้วยตัวเองมากถึง 25 ครั้ง

แต่นายทรัมป์กลับตะโกนใส่นายเซเลนสกี ก่อนตอบว่า นายปูตินไม่ได้ทำลายข้อตกลงกับตน และส่วนใหญ่หลบเลี่ยงคำถามเกี่ยวกับการเสนอหลักประกันความปลอดภัยให้กับยูเครน

สถานการณ์ยิ่งตึงเครียดหลังจากแวนซ์ท้าทายเซเลนสกีว่า “ท่านประธานาธิบดี ด้วยความเคารพผมคิดว่าการที่คุณมาที่ห้องรูปไข่เพื่อพยายามฟ้องร้องเรื่องนี้ต่อหน้าสื่ออเมริกันถือเป็นการไม่ให้เกียรติ”

เซเลนสกีพยายามคัดค้าน และทำให้นายทรัมป์พูดเสียงดังว่า “คุณกำลังพนันกับชีวิตของผู้คนนับล้าน” ในช่วงหนึ่งนายทรัมป์ประกาศว่าตัวเองอยู่ “ตรงกลาง” และไม่ได้อยู่ฝ่ายยูเครนหรือรัสเซียในความขัดแย้งนี้

ทั้งยังเยาะเย้ยความเกลียดชัง ที่เซเลนสกีมีต่อปูตินว่าเป็นอุปสรรคต่อสันติภาพ “คุณเห็นความเกลียดชังที่เขามีต่อปูตินไหม มันยากมากสำหรับผมที่จะทำข้อตกลงด้วยความเกลียดชังแบบนั้น”

ขณะที่พรรคเดโมแครตวิจารณ์นายทรัมป์ และรัฐบาลทันทีที่ล้มเหลวการบรรลุข้อตกลงกับยูเครน นายชัค ชูเมอร์ หัวหน้าวุฒิสภาพรรคเดโมแครต กล่าวว่า ทรัมป์และแวนซ์ “กำลังทำงานสกปรกให้ปูติน”

สหรัฐฯ ลั่นจะไม่ให้ความช่วยเหลือทางการทหารยูเครน อีกต่อไป หลังเกิดการโต้เถียงอย่างรุนแรงระหว่าง ทรัมป์ และ เซเลนสกี

(1 มี.ค.68) แคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แถลงว่า สหรัฐฯ จะไม่ให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนอีกต่อไป เนื่องจากสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการเจรจาสันติภาพเป็นอันดับแรก การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นหลังจากเกิดข้อโต้แย้งระหว่างการเยือนของประธานาธิบดี โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี

“เราจะไม่เขียนเช็คเปล่าอีกต่อไปสำหรับสงครามในประเทศที่อยู่ห่างไกลซึ่งไม่มีสันติภาพที่แท้จริงและยั่งยืน” ลีวิตต์ กล่าว

“เป็นเรื่องดีมากที่กล้องต่างๆได้มีการฉายภาพให้เห็นกันจะจะอย่างชัดเจน เพราะชาวอเมริกันและคนทั่วโลกได้เห็นสิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์และทีมงานของเขากำลังดีลกับประตูที่ปิดสนิทในระหว่างการเจรจากับยูเครน” เธอกล่าวเสริม

ก่อนหน้านี้ The Washington Post รายงานว่ารัฐบาลทรัมป์ยังไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ที่จะระงับการจัดส่งความช่วยเหลือทางทหารทั้งหมดไปยังยูเครน ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top