Saturday, 5 April 2025
สหภาพยุโรป

'ไทย' หวัง!! รัฐบาลใหม่ ฟื้น FTA 'ไทย-อียู' อีกฟันเฟืองกอบกู้เศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น รัฐบาลใหม่ กับการฟื้นสัมพันธ์ FTA ไทย-อียู เมื่อวันที่ 17 ก.ย.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

สหภาพยุโรป (European Community) เป็นการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ทั้งในด้านความกว้างและความลึก กล่าวคือ มีประเทศสมาชิก 27 ประเทศ GDP รวมกันเป็นประมาณ 15 % และคิดเป็นอันดับ 3 ของโลก ในเชิงลึก ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปยอมสูญเสียอธิปไตยทางการเงิน โดยใช้เงินสกุลเดียว คือ ยูโร และมี European Central Bank เป็นธนาคารกลาง

แม้ว่าจะเป็นการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งและยิ่งใหญ่ที่สุด แต่ในทางปฏิบัติได้ก่อเกิดวิกฤตและผลกระทบทางเศรษฐกิจมากมาย...วิกฤตหนี้ยูโร เช่นปี 2015 และ Brexit ในปี 2016 ยังอยู่ในความทรงจำของผู้ติดตามเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของยุโรปอ่อนแอลงกว่าที่คาดการณ์ โดยเฉพาะหลังปี 2000 เป็นต้นมา เมื่อจีนเปิดเสรีและประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ทำให้ภาคธุรกิจของยุโรปกลับถูกทิ้งห่างในอุตสาหกรรมใหม่ แม้จะยังคงเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเก่าบางสาขา

เดิมทีไทยกับยุโรปมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมายาวนาน ยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย (รองจากจีนและสหรัฐฯ) ยุโรปเป็นนักลงทุนอันดับ 3 ในไทย (รองจากญี่ปุ่นและจีน) แต่ไทยยังไม่สามารถทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรปได้สำเร็จ โดยการเจรจา EU-Thailand FTA ซึ่งเริ่มต้นกว่า 10 ปีมาแล้ว ถูก EU สั่งระงับไปเนื่องจากมีการปฏิวัติรัฐประหารในประเทศไทย ขณะที่ เวียดนามได้บรรลุความตกลง FTA กับ EU สำเร็จแล้ว เมื่อ 2020  ทำให้อุตสาหกรรมเวียดนามสามารถส่งออกไปยัง EU แบบปลอดภาษี และได้เปรียบในเชิงการแข่งขันเหนืออุตสาหกรรมไทย

ถึงกระนั้น ก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่ไทยและ EU กำลังเริ่มกลับมานั่งโต๊ะเจรจา FTA ใหม่ น่าจะถือเป็นผลงานสำคัญชิ้นแรกของรัฐบาลใหม่ที่จะผลักดันให้ FTA กับ EU เกิดผลสำเร็จโดยเร็ว

‘อียู’ สั่งสอบรถยนต์ไฟฟ้าของ 'จีน' หลังพบราคาถูกเกินไป หวั่นยุโรปได้รับผลกระทบ หากเป็นการขายเพื่อตัดราคาคู่แข่ง

(14 ก.ย. 66) อียูจะทำการสืบสวนการอุดหนุนรถไฟฟ้าโดยภาครัฐจีน จากการเปิดเผยของอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อวันพุธ (13 ก.ย.) พร้อมประกาศปกป้องอุตสาหกรรมยุโรปจาก ‘ราคาขายต่ำแบบเทียมๆ’

"เวลานี้ตลาดโลกท่วมไปด้วยรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกกว่าของจีน และราคาของรถเหล่านั้นถูกคงไว้ในระดับต่ำแบบเทียมๆ ด้วยการอุดหนุนมหาศาลของภาครัฐ" ฟอน แดร์ ไลเอิน กล่าวระหว่างปราศรัยต่อรัฐสภายุโรปในสตาร์บวร์ก

ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวต่อว่าการสืบสวนนี้อาจนำมาซึ่งการที่สหภาพยุโรปกำหนดจัดเก็บภาษีกับรถยนต์ไฟฟ้าเหล่านั้น ที่เชื่อว่าถูกวางจำหน่ายในราคาถูกอย่างไม่ยุติธรรม ซึ่งเป็นการขายตัดราคาบรรดาคู่แข่งสัญชาติยุโรปทั้งหลาย "ยุโรปเปิดกว้างสำหรับการแข่งขัน แต่ไม่ใช่การแข่งขันที่นำไปสู่จุดเสื่อม"

มีรายงานข่าวว่า ฝรั่งเศสคือชาติที่ผลักดันให้ ฟอน แดร์ ไลเอิน เปิดการสืบสวน ท่ามกลางความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วยุโรป ต่อกรณีที่ทวีปแห่งนี้ต้องพึ่งพิงผลิตภัณฑ์ของจีน

บรรดาผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติยุโรปต่างชื่นชมการสืบสวนในครั้งนี้ โดยมองมันในฐานะสัญญาณในทางบวก "คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังตระหนักถึงสถานการณ์ที่ไม่สมดุลมากขึ้นเรื่อยๆ ที่อุตสาหกรรมของพวกเราต้องเผชิญ และกำลังพิจารณาอย่างเร่งด่วนต่อการแข่งขันที่บิดเบี้ยวในภาคอุตสาหกรรมของเรา" Sigrid de Vries ผู้อำนวยการทั่วไปของสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งยุโรปกล่าว

เธียร์รี เบรตอง หัวหน้าตลาดภายในของอียู กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เตือนเกี่ยวกับแนวโน้มหนึ่งที่กำลังก่อตัวขึ้น แนวโน้มที่ยุโรปกำลังถูกผลักไปเป็นผู้นำเข้าสุทธิยานยนต์ไฟฟ้าและแผงโซลาร์เซลล์

ขณะเดียวกัน พวกผู้เชี่ยวชาญบางส่วนมองว่า จีน อาจแซงหน้าญี่ปุ่น กลายเป็นชาติผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกในปีนี้

ฝรั่งเศสมีความกังวลอย่างยิ่งว่า ยุโรปจะตกเป็นฝ่ายตามหลังถ้าไม่ดำเนินการเชิงรุกมากกว่านี้ ยามที่ต้องเผชิญหน้ากับความเคลื่อนไหวต่างๆ ของจีน ที่มีการกีดกันทางการค้ามากกว่า

ก่อนหน้านี้ ฝรั่งเศสได้แถลงมาตรการต่างๆ ที่จะมอบการอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้าใหม่ บนพื้นฐานของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเหล่าผู้ผลิต ซึ่งมันจะทำให้รถยนต์ของจีนเจองานที่ยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากบ่อยครั้งที่ผู้ผลิตสัญชาติจีนมักพึ่งพิงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน

ฟอน แดร์ ไลเอิน เรียกร้องให้อียูกำหนดแนวทางของตนเองในการรับมือกับจีน แต่บรรดามหาอำนาจยักษ์ใหญ่ของยุโรปบางส่วนอยากให้ดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงถูกตัดขาดความสัมพันธ์ทางธุรกิจ

แม้แสดงออกด้วยคำพูดที่แข็งกร้าว แต่ ฟอน แดร์ ไลเอิน กล่าวเช่นกันว่า มันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับยุโรปที่ต้องธำรงไว้ซึ่งการติดต่อสื่อสารและการทูตกับจีน "เพราะว่ายังมีหัวข้อต่างๆ ที่เราสามารถและมีความร่วมมือระหว่างกัน ลดความเสี่ยง ไม่ใช่เพิ่มเป็นทวีคูณ นี่คือท่าทีของฉันที่มีต่อพวกผู้นำจีน ณ ที่ประชุมซัมมิตอียู-จีน ในช่วงปลายปี"

‘อียู’ เล็งยึดทรัพย์ ‘รัสเซีย’ ไปซื้ออาวุธป้อนยูเครน ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

เมื่อวานนี้ (20 มี.ค.67) วังเครมลินชี้ว่าสหภาพยุโรป (อียู) จะละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน หากว่าพวกเขาใช้ยึดทรัพย์สินของรัสเซียที่อายัดไว้ นำไปจัดหาอาวุธป้อนแก่ยูเครน

ทั้งนี้ บรรดาประเทศสมาชิกอียูถกเถียงกันมานานหลายเดือนว่าจะทำอย่างไรกับทรัพย์สินของรัสเซียที่อายัดไว้ โดยที่ โจเซฟ บอร์เรล หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศ ผลักดันแผนการหนึ่งในวันพุธ (20 มี.ค.) ให้นำดอกเบี้ยที่ได้จากทรัพย์สินของรัสเซียที่อายัดไว้ นำไปป้อนแก่เคียฟ

"พวกประเทศยุโรปทราบดีว่าความเสียหายจากการตัดสินใจลักษณะนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรกับเศรษฐกิจของพวกเขา ภาพลักษณ์ของพวกเขา ชื่อเสียงของพวกเขาในฐานะผู้รับประกันที่น่าเชื่อถือ" ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกวังเครามลินกล่าว "พวกเขาจะตกเป็นเป้าหมายของการดำเนินคดีไปอีกหลายทศวรรษ"

มาเรีย ชาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กล่าวในวันพุธ (20 มี.ค.) ว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่มอสโกจะต้องทำการตอบโต้การชิงทรัพย์และลักขโมยอย่างโจ่งแจ้งครั้งนี้

พวกเจ้าหน้าที่อียูประมาณการว่าข้อเสนอล่าสุดนี้ จะได้เงินทุนราว 3,000 ล้านยูโรต่อไป สำหรับนำไปช่วยเหลือยูเครน

ปัจจุบัน อียูอายัดทรัพย์สินต่างๆ ที่ธนาคารกลางรัสเซียถือครองอยู่ในสหภาพยุโรป อยู่ราว 200,000 ล้านยูโร ส่วนหนึ่งในมาตรการคว่ำบาตรลงโทษที่กำหนดเล่นงานมอสโก ต่อกรณีส่งทหารรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 โดยเงินทุนส่วนใหญ่ถือครองโดย Euroclear องค์กรที่ทำหน้าที่รับฝากหลักทรัพย์ ชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ระหว่างประเทศ ที่มีสำนักงานในเบลเยียม

ภายใต้แผนของอียู 90% ของเงินที่ดึงออกมาจากดอกเบี้ยจะถูกนำไปป้อนเข้าสู่กองทุนหนึ่งเพื่อใช้สำหรับเป็นทุนสำรองค่าใช้จ่ายด้านอาวุธสำหรับยูเครน ส่วนอีก 10% ที่เหลือ จะถูกป้อนเข้าสู่งบประมาณของอียู ซึ่งพวกเขาจะนำไปใช้เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมป้องกันตนเองของยูเครน

ความพยายามผลักดันของอียูในการควานหางบประมาณเพิ่มเติมสำหรับยูเครน มีขึ้นในขณะที่แพ็กเกจสนับสนุนมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากอเมริกา ชาติผู้หนุนหลังรายใหญ่ที่สุดของเคียฟ ยังคงติดแหง็กอยู่ในสภาคองเกรส

ท่ามกลางอาวุธที่ลดน้อยถอยลงในสงครามที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี ส่งผลให้กองกำลังยูเครนกำลังตกเป็นรองในแนวหน้าต่างๆ และประสบปัญหาในการสกัดการรุกคืบของรัสเซีย

รายงานข่าวระบุว่า พวกผู้นำอียูเตรียมหารือกันเกี่ยวกับข้อเสนอนี้ ณ ที่ประชุมซัมมิต ในบรัสเซลส์ ในวันที่ 21 มี.ค. และพวกเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเงินจะเริ่มถูกส่งป้อนเข้าไปช่วยยูเครนในเดือนกรกฎาคม หากว่าสามารถบรรลุข้อตกลงอย่างรวดเร็

พวกเจ้าหน้าที่อียูยืนยันว่าแผนของเขาฟังดูเหมือนมีความชอบธรรมตามกฎหมาย เพราะว่าดอกเบี้ยที่อยู่ในเป้าหมายของพวกเขาเป็นรายได้จากการรับฝากสินทรัพย์ ผลจากมาตรการคว่ำบาตร และไม่ได้เป็นของรัสเซีย

สมาชิกบางชาติของอียู อย่างเช่นเยอรมนี มีความระมัดระวังอย่างยิ่งต่อความเคลื่อนไหวใดๆ ที่อาจบ่อนทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างแดนต่อระบบการเงินของยุโรป แต่ในขณะเดียวกัน บรัสเซลส์ก็ถูกกดดันจากยูเครนและสหรัฐฯ ให้ดำเนินการมากกว่าที่เป็นอยู่ และทำการยึดทรัพย์สินทั้งหมดของรัฐบาลรัสเซีย มูลค่า 200,000 ล้านยูโร

‘จีน’ เตือน!! ‘สหภาพยุโรป’ ไม่ควรเลือกปฏิบัติกับ บ.ต่างชาติ หลังผู้ประกอบการจีนในยุโรป โดนบุกรุกสำนักงาน-ยึดอุปกรณ์

(25 เม.ย.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ของจีนกระตุ้นเตือนสหภาพยุโรป (EU) สร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้าง ยุติธรรม เที่ยงตรง และไม่เลือกปฏิบัติ สำหรับบริษัทต่างชาติในยุโรป

โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ เรียกร้องฝ่ายยุโรปหยุดและแก้ไขการกระทำที่ไม่ถูกต้อง หลังจากฝ่ายยุโรปบุกรุกเข้าสำนักงานของกลุ่มผู้ประกอบการจีนในยุโรปและยึดอุปกรณ์เมื่อวันอังคาร (23 เม.ย.) ที่ผ่านมา

ซึ่งจีนเป็นกังวลและคัดค้านการดำเนินการของสหภาพยุโรปอย่างจริงจัง เนื่องจากละเมิดขั้นตอนอันชอบธรรมตามกฎหมาย ขัดขวางการแข่งขันตามปกติ บั่นทอนความเชื่อมั่นของบริษัทต่างชาติทั้งหมดที่ดำเนินงานในยุโรปอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ จีนจะเฝ้าติดตามการดำเนินการของฝ่ายยุโรปในอนาคตอย่างใกล้ชิด และดำเนินทุกมาตรการอันจำเป็นต่อการคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมตามกฎหมายของบริษัทจีน

'จีน' เรียกร้อง 'สหภาพยุโรป' ทบทวนแผนรีดภาษีรถ EV นำเข้าจากจีน เตือน!! อย่าหลงเดินทางผิด เพียงเพื่อปกป้องอุตฯ ยานยนต์ของตัวเอง

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 67 รัฐบาลจีนเรียกร้องให้สหภาพยุโรปทบทวนแผนรีดภาษีรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากจีน และ ‘อย่าหลงเดินทางผิด’ เพียงเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ของตัวเอง หลังจากที่อียูได้ประกาศมาตรการขึ้นภาษีรถอีวีจีนสูงสุดในอัตรา 38.1% โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นไป

จีนยังขู่จะใช้มาตรการตอบโต้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ภายหลังจากที่คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้ประกาศแผนขึ้นภาษีดังกล่าว

“เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างและขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่โตแล้ว หากจีนและอียูสามารถร่วมมือกันในประเด็นการค้าและเศรษฐกิจได้ก็จะเป็นการดีที่สุด” บทความแสดงความคิดเห็นของสำนักข่าวซินหวา ระบุ

“อียูเองก็จะมีความคุ้มทุน (cost-effective) มากขึ้น หากอาศัยข้อได้เปรียบของจีนเพื่อนำไปพัฒนาอุตสาหกรรมรถอีวีของตนเอง”

ไม่ถึง 1 เดือนหลังจากที่สหรัฐฯ ขยับอัตราภาษีรถอีวีนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวเป็น 100% บรัสเซลส์ก็กระโดดร่วมวงต่อสู้นโยบายอุดหนุนของปักกิ่งโดยเตรียมที่จะขึ้นภาษีในอัตราตั้งแต่ 17.4% สำหรับรถยนต์ BYD และสูงสุด 38.1% สำหรับรถยนต์ SAIC นอกเหนือไปจากภาษีนำเข้ามาตรฐาน 10% ที่ใช้อยู่แล้ว และนั่นทำให้อัตราภาษีสูงสุดที่เรียกเก็บพุ่งขึ้นไปเกือบถึง 50% ทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของอียูแทบไม่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของบรรดาค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจีน เพราะเป็นสิ่งที่คาดการณ์กันไว้อยู่แล้ว โดยราคาหุ้น BYD ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงขยับพุ่งขึ้นกว่า 7% ในการซื้อขายช่วงเช้า ส่วนที่ตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้นก็ขยับขึ้น 4.5%

“อัตราภาษีที่อียูประกาศออกจะให้ผลในเชิงบวกกับ BYD ด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับที่เราคาดการณ์ไว้ว่าอาจจะสูงถึง 30% และนั่นทำให้ภาพรวมการส่งออกของ BYD ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปีนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น” 

รายงานของ Citi ระบุ ราคาหุ้น Geely Auto ขยับพุ่ง 2.5% และ Xpeng เพิ่มกว่า 2% เช่นเดียวกับหุ้นของ Nio ที่ปรับเพิ่ม 3.5% ขณะที่ราคาหุ้น SAIC Motor ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ปรับตัวลดลง 1%

ในทางกลับกัน ราคาหุ้นค่ายยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของยุโรปซึ่งมีจีนเป็นตลาดใหญ่กลับดิ่งลง (12 มิ.ย.) สืบเนื่องจากความกังวลว่าจีนอาจจะใช้มาตรการแก้แค้น

แม้ว่าค่ายรถยุโรปจะต้องเผชิญความท้าทายจากรถอีวีราคาถูกสัญชาติจีนที่หลั่งไหลเข้าสู่ภูมิภาค ทว่ามาตรการรีดภาษีของ EU กลับไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากอุตสาหกรรมรถยนต์สักเท่าไหร่

บรรดาค่ายรถเยอรมนีนั้นต้องพึ่งยอดขายในจีนมากเป็นพิเศษ และเกรงว่าจะถูกปักกิ่งเล่นงานแก้แค้น ขณะที่ค่ายรถยุโรปหลาย ๆ เจ้าก็นำเข้ารถยนต์ของตัวเองที่ผลิตในจีนเช่นกัน

อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เคยออกมาแถลงย้ำหลายครั้งว่ายุโรปจำเป็นที่จะต้องทำอะไรบางอย่าง เพื่อป้องกันไม่ให้จีนส่งรถอีวีที่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐเข้ามาท่วมตลาดยานยนต์ยุโรป

‘ดร.อักษรศรี’ เผย 'จีน' สั่งตรวจสอบเนื้อหมูยุโรปทุ่มตลาดจีนหรือไม่?

(18 มิ.ย.67) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เนื้อหากรณี 'จีนสั่งสอบเนื้อหมูยุโรปทุ่มตลาดในจีน'  จีนใช้พลังซื้อเป็นอาวุธ และโอกาสจะเกิดสงครามการค้าระหว่างจีน-สหภาพยุโรปหรือไม่ โดยระบุว่า...

เรื่องหมู ๆ แต่ไม่หมูสำหรับยุโรปแล้ว จีนสั่งสอบเนื้อหมูยุโรปทุ่มตลาดในจีน โดยใช้พลังซื้อจีนเป็นอาวุธ  ปีที่แล้ว 2023 จีนนำเข้าเนื้อหมูกว่า 2.2 แสนล้านบาท!! จีนเป็นประเทศที่กินหมูมากที่สุดในโลก และนำเข้าจำนวนมาก

(https://www.reuters.com/markets/commodities/china-opens-anti-dumping-probe-into-imported-pork-by-products-eu-2024-06-17/)

ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปประกาศเก็บภาษี จะเล่นงานรถยนต์ EV จีน ก็เลยต้องโดนเอาคืนบ้างนะ โอกาสจะเกิดสงครามการค้าหรือไม่

ทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรปเก็บภาษีรถยนต์ EV จีน แต่สหภาพยุโรปจะโดนจีนเอาคืนก่อน เพราะสหภาพยุโรปจะเก็บภาษี EV จีนในเดือนกรกฎาคมนี้ (ส่วนสหรัฐฯ แม้ประกาศก่อน แต่ยังไม่ขึ้นภาษีกับรถยนต์ EV ของจีนในทันที) 

เดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ สหภาพยุโรปจะเรียกเก็บภาษีรถยนต์ EV จีนเพิ่มเติมจากอัตราเดิมสูงถึงร้อยละ 38.1

คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศเมื่อวันพุธที่ 12 มิถุนายน 2024 ว่าอัตราภาษีชั่วคราวใหม่จะถูกนำมาใช้เพิ่มเติมจากภาษีปัจจุบันที่ร้อยละ 10

คณะกรรมาธิการกล่าวว่า รถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีนได้รับประโยชน์จากการอุดหนุนที่ไม่เป็นธรรม "ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจ" ของผู้ผลิตในสหภาพยุโรป

นอกจากนั้นยังระบุว่า มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม เว้นแต่การหารือกับจีนจะนำไปสู่ ‘แนวทางแก้ไขที่มีประสิทธิผล’

ภาษีเพิ่มเติมยังครอบคลุมถึงผู้ผลิตจากชาติตะวันตกในจีนด้วย

‘อียู’ ออกแถลงการณ์ แซะ 'ศาล รธน.' ยุบก้าวไกล ทำให้ไทยถอยหลังจากความหลากหลายทางการเมือง

เมื่อวานนี้ (7 ส.ค. 67) คณะผู้แทนสหภาพยุโรป (EEAS) ออกแถลงการณ์ Thailand: Statement by the Spokesperson on the dissolution of the main opposition party เนื้อหาระบุว่า การตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทยในการยุบพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่ง คือ พรรคก้าวไกล ถือเป็นการถอยหลังของความหลากหลายทางการเมืองของประเทศไทย ซึ่งพรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่นำหน้าในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 โดยมีคะแนนเสียงมากกว่า 14 ล้านเสียง (จากทั้งหมด 39 ล้านเสียง)

ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถทำงานได้หากขาดพรรคการเมืองและผู้สมัครจำนวนมาก การจำกัดการใช้เสรีภาพในการรวมตัวและการแสดงออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านกิจกรรมและการจัดตั้งพรรคการเมือง จะต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติและหลักการที่เกี่ยวข้องของตราสารระหว่างประเทศ รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองระหว่างประเทศ

สิ่งสำคัญคือทางการต้องแน่ใจว่าสมาชิกรัฐสภาที่ได้รับการเลือกตั้งโดยชอบธรรมทุกคนสามารถปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภาต่อไปได้ โดยไม่คำนึงถึงพรรคการเมืองที่พวกเขาได้รับเลือก

สหภาพยุโรป (EU) พร้อมที่จะขยายการมีส่วนร่วมกับประเทศไทยภายใต้ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือที่ลงนามเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2565 รวมถึงในประเด็นของความหลากหลายทางประชาธิปไตย เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และสิทธิมนุษยชน

‘จีน’ เรียกเก็บเงินประกันบรั่นดีสูงสุด 39% มาตรการตอบโต้ ‘อียู’ ขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้า

(10 ต.ค.67) จีน ตอบโต้การขึ้นภาษีอีวีของสหภาพยุโรป (อียู) โดยเรียกเก็บเงินค้ำประกันการนำเข้า ‘บรั่นดี’ จากอียูประมาณ 30.6% ถึง 39.0% ของมูลค่าการนำเข้า ฝรั่งเศสโดนหนักสุด เพราะครองส่วนแบ่งมากถึง 99% ของบรั่นดีที่จีนนำเข้าจากอียู

วันที่ 8 สิงหาคม 2024 รอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า จีนใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping Measure) ชั่วคราวกับสินค้าบรั่นดีนำเข้าจากสหภาพยุโรป หรืออียู (EU) ส่งผลกระทบหลายแบรนด์ตั้งแต่เฮนเนสซี (Hennessy) จนถึง เรมี่ มาร์ติน (Remy Martin) หลังจากที่สหภาพยุโรปโหวตขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี (EV) จากจีนเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา 

ฝรั่งเศสถูกมองว่าเป็นเป้าหมายของมาตรการนี้ เนื่องจากฝรั่งเศสสนับสนุนการขึ้นภาษีรถอีวีจีน ที่สำคัญจีนนำเข้าบรั่นดีจากฝรั่งเศสคิดเป็น 99% ของการนำเข้าบรั่นดีจากอียูในปี 2023 คิดเป็นมูลค่าแตะ 1,700 ล้านดอลลาร์ (ราว 56,000 ล้านบาท) 

กระทรวงพาณิชย์ของจีนกล่าวว่า การสอบสวนได้กำหนดไว้เบื้องต้นว่า การทุ่มตลาดบรั่นดีจากสหภาพยุโรปเป็นภัยคุกคามต่อภาคอุตสาหกรรมบรั่นดีของจีน และตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคมเป็นต้นไป ผู้นำเข้าบรั่นดีจากอียูจะต้องวางเงินค้ำประกัน (Security Deposits) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่อัตราประมาณ 34.8% ถึง 39.0% ของมูลค่านำเข้า

เฮนเนสซี และเรมี่ มาร์ติน เป็นแบรนด์บรั่นดีที่ได้รับผลกระทบมากสุด เนื่องจากผู้นำเข้าบรั่นดี 2 แบรนด์นี้ต้องวางเงินประกันสูงถึง 39.0% และ 38.1% ตามลำดับ ส่วนมาร์แตลล์ (Martell) ถูกเรียกเก็บต่ำสุดที่ 30.6%

เงินค้ำประกันที่เรียกเก็บนี้จะทำให้ต้นทุนล่วงหน้าของการนำเข้าบรั่นดีจากอียูเพิ่มขึ้น กระทรวงพาณิชย์จีนไม่ได้ให้รายละเอียดว่าผู้วางเงินค้ำประกันจะได้รับเงินคืนเมื่อไรและอย่างไร 

มาตรการลงโทษล่าสุดนี้เกิดขึ้นหลังสหภาพยุโรปโหวตขึ้นภาษีรถอีวีและจะบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ในเดือนสิงหาคมจีนได้แสดงไมตรีจิตโดยระงับแผนใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดบรั่นดีของสหภาพยุโรป แม้จะพิจารณาแล้วว่าบรั่นดีจากสหภาพยุโรปที่ขายในจีนนั้นขายในราคาต่ำกว่าตลาด ซึ่งในตอนนั้นกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่าการสอบสวนจะสิ้นสุดก่อนวันที่ 5 มกราคม และจะไม่มีการขยายการสืบสวน

กระทรวงพาณิชย์จีนเคยกล่าวก่อนหน้านี้ถึงข้อค้นพบจากการสืบสวนว่า ผู้ผลิตเหล้าจากยุโรปขายบรั่นดีในตลาดจีนที่มีผู้บริโภค 1,400 ล้านคน ในราคาที่มีส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด (Dumping Margin) อยู่ที่ 30.6% ถึง 39% ซึ่งถือเป็นการสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมสุราภายในประเทศจีน 

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปผ่านมติบังคับใช้อัตราภาษีนำเข้าเพิ่มเติมเป็นเวลา 5 ปี สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนต่อ โดยกำหนดอัตราภาษี 7.8% สำหรับเทสลา (Tesla) และ 35.3% สำหรับแบรนด์เอ็มจี (MG) ของบริษัทเอสเอไอซี (SAIC) และสำหรับผู้ผลิตรายอื่น ๆ ในจีนที่ไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวน เพิ่มเติมจากอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ทั่วไปที่เก็บ 10% แต่คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) กล่าวเปิดทางว่า เต็มใจที่จะดำเนินการเจรจาหาทางเลือกอื่นต่อไป แม้จะมีการประกาศขึ้นภาษีแล้วก็ตาม
 

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ บีบให้ยุโรปซื้อ ‘น้ำมัน - ก๊าซ’ จากสหรัฐฯ หากไม่อยากเจอ!! มาตรการลงโทษ ขึ้นภาษีศุลกากร

(21 ธ.ค. 67) ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตนเองว่า เขาได้แจ้งกับสหภาพยุโรป (อียู) ว่าอียูจะต้องลดช่องว่างการขาดดุลการค้ากับสหรัฐด้วยการซื้อน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้น อียูอาจต้องเผชิญการขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐเป็นรายต่อไป 

"ผมบอกกับสหภาพยุโรปว่าพวกเขาต้องชดเชยการขาดดุลมหาศาลกับสหรัฐ ด้วยการซื้อน้ำมัน และก๊าซในปริมาณมาก มิฉะนั้นจะต้องเจอภาษีศุลกากร” ทรัมป์โพสต์ข้อความทาง Truth Social 

ทั้งนี้ จากข้อมูลของทางการสหรัฐระบุว่า สหรัฐขาดดุลการค้าสินค้า และบริการกับอียูถึง 1.313 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2022

ทางด้านนักการทูตอาวุโสรายหนึ่งในอียูเปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า ไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไรกับท่าทีของทรัมป์ในครั้งนี้ และมองว่าพลังงานเป็น ‘ทางเลือกที่ดี’ หากจะต้องซื้อสินค้าจากสหรัฐมากขึ้น  

ขณะที่แหล่งข่าวนักการทูตอีกรายหนึ่งเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอล์ซ ของเยอรมนี ได้พูดคุยกับทรัมป์ในเรื่องนี้เมื่อคืนวันพฤหัสบดี ที่ผ่านมา หลังจากที่บรรดาผู้นำประเทศในอียูได้ประชุมร่วมกันเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้เกี่ยวกับประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอียู

ทรัมป์ โบ้ย 'อียู' เอาเปรียบสหรัฐฯ มานาน ต้องเจอกำแพงภาษี 25% อียูเตือนพร้อมโต้กลับ

(27 ก.พ.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า สหภาพยุโรป (อียู) เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อ 'เอารัดเอาเปรียบ' สหรัฐ พร้อมย้ำว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้ไขความเสียเปรียบที่เกิดขึ้นกับอเมริกา โดยหนึ่งในมาตรการหลักคือการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากอียูในอัตรา 25% ซึ่งรวมถึงภาษีนำเข้ารถยนต์ โดยรายละเอียดเพิ่มเติมจะมีการประกาศในภายหลัง

ด้านคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของอียู ออกแถลงการณ์โต้ว่า อียูเป็นตลาดการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสหรัฐมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม อียูพร้อมใช้มาตรการตอบโต้ทันที หากสหรัฐดำเนินนโยบายภาษีที่ไม่เป็นธรรม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ผลิตและผู้บริโภคในยุโรป

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเผยว่า สหรัฐขาดดุลการค้ากับอียูสูงถึง 235,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.94 ล้านล้านบาท) ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ทรัมป์ผลักดันมาตรการดังกล่าว

ผู้นำสหรัฐย้ำว่า วอชิงตันจำเป็นต้องเร่งแก้ไขความไม่สมดุลทางการค้า โดยกล่าวหาว่าอียูยังไม่นำเข้าสินค้าสหรัฐในระดับที่เพียงพอ โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ หากสถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง สหรัฐอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการภาษีที่เข้มงวดขึ้นเพื่อกดดันอียูให้เปิดตลาดมากขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top